ฉบับที่ 230 LDL ในเลือดสูงแล้วอายุยืน...จริงหรือ

        วงการวิทยาศาสตร์สุขภาพเชื่อกันมานานแล้วว่า คอเลสเตอรอล นั้นถ้ามีมากเกินไปในร่างกาย (โดยเฉพาะที่ปรากฏในเลือด) เป็นดัชนีที่ชี้ถึงความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดทั้งที่หัวใจและสมอง อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ในเรื่องนี้ยังมีข้อยกเว้นบ้าง เพราะคอเรสเตอรอลนั้นเป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย มิเช่นนั้นร่างกายคงไม่สร้างขึ้นมา        หน้าที่สำคัญหนึ่งของคอเลสเตอรอลคือ เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ที่ทำให้ผนังเซลล์มีความยืดหยุ่นพอดี สามารถทำหน้าที่ได้ตามปรกติที่ควรเป็น อีกทั้งผู้ที่จบการศึกษาด้านพิษวิทยาย่อมตระหนักดีว่า สารพิษส่วนใหญ่ในร่างกายมนุษย์นั้นมักถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับออกจากร่างกายที่ออร์กาเนลในเซลล์ที่เรียกว่า ไมโครโซม (แหล่งรวมของระบบเอ็นซัมเปลี่ยนแปลงสารพิษ ที่สำคัญคือ ระบบไซโตโครม พี-450) ซึ่งมีงานวิจัยที่นานกว่า 50 ปีแล้วบอกว่า ไมโครโซมนั้นมีองค์ประกอบหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้คือ คอเลสเตอรอล ภายหลังอีกไม่นานก็มีการค้นพบว่า ไมโครโซมนั้นจริงแล้วคือ ผนังเซลล์ที่ม้วนพับเข้าไปอยู่ในเซลล์ในช่วงที่ไม่มีการแบ่งเซลล์ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่พบว่า คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบสำคัญของออร์กาเนลนี้ ทั้งนี้เพราะความอ่อนตัวของผนังเซลล์ (cell membrane fluidity) ที่พอเหมาะพอดีจะส่งผลถึงการทำหน้าที่ทางชีวภาพของผนังเซลล์นั้นถูกกำหนดด้วยปริมาณคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม ซึ่งสามารถดูได้จากหลายคลิปใน YouTube เช่น เรื่อง Cholesterol and Fatty Acids Regulate Membrane Fluidity ที่ https://www.youtube.com/watch?v=wnBTZ02wnAE        อีกข้อสังเกตหนึ่งที่ควรคำนึงคือ ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโตนั้นโอกาสที่จะพบว่าความเข้มข้นของคอเรสเตอรอลในเลือดสูงมีน้อยมาก ทั้งนี้เพราะร่างกายเด็กคงนำคอเลสเตอรอลไปใช้สร้างผนังเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ได้หมด แต่เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยที่การสร้างเซลล์น้อยลงแต่ระดับการสร้างคอเรสเตอรอลยังคงที่ โอกาสที่ความเข้มข้นของคอเรสเตอรอลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นจนก่อปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโอกาสอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและสมองจึงอาจเกิดได้ ในคนที่กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ จนเกิดการออกซิเดชั่นที่ทำลายชั้นไขมันของผนังเซลล์ด้วยอนุมูลอิสระ ซึ่งเกิดขึ้นในเซลล์ที่ประกอบเป็นผิวหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดไม่ราบเรียบเหมือนปรกติ ดังนั้นในคนที่ขาดการออกแรงกายจนเลือดไม่มีโอกาสสูบฉีดแรงๆ เป็นครั้งคราว คอเลสเตอรอลที่เคลื่อนตัวช้าๆ ในเส้นเลือดจึงมีโอกาสตกตะกอนเกาะติดกับผนังเส้นเลือดที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอนุมูลอิสระ (ในลักษณะการเกิดตะกรันในท่อประปาเหล็กซึ่งเป็นสนิม) ซึ่งเมื่อมากขึ้นย่อมขัดขวางการไหลของเลือดที่นำออกซิเจนไปส่งให้เซลล์ในที่สุด และถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดที่เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือสมอง โอกาสเสียชีวิตก็จะสูงขึ้น         ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดเนื่องจากการมีระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือดของคนไทยนั้น เริ่มเป็นไปด้วยดีในปัจจุบัน เนื่องจากมีการรนณรงค์ของหน่วยงานด้านสุขภาพ เห็นได้จากการที่คนไทยเริ่มมีการออกกำลังกายมากขึ้น กินอาหารระมัดระวังขึ้น แม้จะรู้ว่าคอเลสเตอรอลไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวในการก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดของหัวใจและสมอง แต่การระวังในการกินอาหารนั้น เป็นเรื่องดีซึ่งส่งผลในการลดความเสี่ยงที่น่าสะพรึงกลัว อย่างไรก็ดีปัจจุบันกลับมีคนไทยบางคนเริ่มออกมาพูดตามที่ฝรั่งเขียนบทความในเว็บต่างๆ ซึ่งอ้างว่ามาจากบทความวิชาการในหลายเว็บเช่น Daily Mail, Guardian, Independent, Telegraph, BBC Radio Four และอื่น ๆ ว่าการเพิ่มขึ้นของคอเรสเตอรอลในเลือดเมื่ออายุเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี เพราะมีงานวิชาการบ่งชี้ว่าสัมพันธ์กับการมีอายุที่ยืนยาวขึ้น (นี่เป็นการค้านกับความคิดเดิม) อีกทั้งยังแนะนำให้เกิดแนวความคิดในการเลิกกินยากลุ่มสแตตินที่หมอมักสั่งให้กินเมื่อตรวจพบว่า มีค่า LDL ในเลือดสูงเกินระดับปรกติ เพราะเข้าใจว่ามันไม่ก่อประโยชน์         แนวความคิดที่มีการกล่าวถึงนั้นสืบเนื่องมาจากงานวิชาการของกลุ่มนักวิจัยนานาชาติที่มี Magle Stora Kyrkogata ซึ่งสังกัดมหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดนเป็นชื่อต้นของบทความเรื่อง Lack of an association or an inverse association between low-density lipoprotein cholesterol and mortality in the elderly: a systematic review ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Open ของปี 2016 รายงานชิ้นนี้เป็น “การนำผลการวิจัยเดิม 19 ฉบับ มาพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับ LDL-คอเลสเตอรอลและความเสี่ยงโดยรวมของการเสียชีวิตในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี” แล้วได้ผลสรุปว่า “การมีคอเลสเตอรอลไม่ดีคือ LDL ในเลือดสูงเมื่อคนมีอายุเกิน 60 ปีแล้ว อายุจะยืนยาวโดยไม่มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งยาสแตตินที่แพทย์มักให้กินเมื่อค่า LDL ในเลือดสูงนั้นมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลย”         ทว่าปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นก็ไม่ต่างจากที่เริ่มเกิดในต่างประเทศ เพราะเริ่มมีเหล่าบุคคลซึ่งมีเบื้องหลังการขายสินค้าไขมันบางประเภทได้เริ่มนำข้อมูลจากบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ที่อ้างถึงข้อมูลจากบทความวิจัย (ที่จะกล่าวถึงต่อไป) ซึ่งดูมีปัญหาในการแปรผลตามความเห็นของผู้รู้ในวงการสุขภาพเกี่ยวกับการบริโภคอาหารไขมัน สิ่งที่น่าสนใจคือ คนไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าไขมัน LDL ในเลือดสูงและต้องกินยากลุ่มสแตตินนั้น ดูเหมือนว่าจะยอมรับกับข้อมูลดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยไม่ใช้กาลามสูตร 10 อาจเป็นเพราะมันตรงกับความต้องการส่วนลึกที่ไม่อยากพะวงต่อค่า LDL และการกินยาสแตติน         บทความดังกล่าวใน BMJ Open ของปี 2016 นั้นได้ถูกวิจารณ์ถึงความหละหลวมในการศึกษา ซึ่งอ่านได้จากบทความเรื่อง Flawed cholesterol study makes headlines ในเว็บ www.bhf.org.uk ซึ่งกล่าวประมาณว่า จำนวนของผู้ถูกสำรวจในการศึกษานั้นนับรวมได้เกือบ 70,000 คน แต่มีเพียง 9 จาก 19 การศึกษาเท่านั้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด โดย 2 ใน 3 ของจำนวนอาสาสมัครนั้นมาจากเพียงการศึกษาเดียว (คือ งานวิจัยของนักวิจัยชาวเดนมาร์คจากมหาวิทยาลัย University of Southern Denmark เรื่อง Association of lipoprotein levels with mortality in subjects aged 50+ without previous diabetes or cardiovascular disease ในวารสาร Scandinavian Journal of Primary Health Care ในปี 2013) ซึ่งหมายความว่า การกระจายตัวของอาสาสมัครที่นำมาพิจารณานั้นไม่ได้เป็นการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเช่นที่ควรเป็นตามวิธีการสำรวจในการทำวิจัย ซึ่งอาจส่งผลต่อการสรุปผลในบทความ         สำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสอ่านบทความวิจัยตัวจริงของกลุ่มนักวิจัยเดนมาร์คจะพบความเป็นจริงว่า งานวิจัยนั้นมีข้อสรุปมากกว่าที่บทความจาก BMJ Open ของปี 2016 ยกมาอ้าง คือ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีระดับคอเลสเตอรอลรวม HDL-คอเลสเตอรอล หรือ LDL-คอเลสเตอรอล สูงได้ปราศจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ซึ่งรวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (coronary heart disease) และเส้นเลือดในสมองอุดตัน (stroke) หรือเบาหวาน มีอัตราการตาย (ก่อนวัยอันควร) ต่ำ แต่ยังปรากฏว่า การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลโดยใช้ยาสแตตินนั้นยังให้ประโยชน์ต่อคนไข้ในการเอาชีวิตรอดโดยไม่มีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอล และพบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงนั้นมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) อย่างเด่นชัดในสตรีสูงวัย         สิ่งที่สำคัญคือ มีงานวิจัยเยอะมากที่รายงานผลว่า ยากลุ่มสแตตินนั้นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคหัวใจ (อาจมีผู้ตั้งประเด็นว่า งานวิจัยเหล่านั้นอาจได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตยากลุ่มสแตติน ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ต้องหาหลักฐานกันต่อไป) ซึ่งบทความใน BMJ Open ของปี 2016 ไม่ได้กล่าวถึงในรายงาน อีกทั้งการที่อาสาสมัคร (อายุเกิน 50 ปี) ที่มี LDL สูงและถูกพิจารณาว่ามีอายุยืนนั้น อาจเป็นเพราะได้เริ่มกินยาสแตตินหรือเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารเพื่อลดการรับคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายแล้ว และอาจมีการเพิ่มการออกกำลังกายเข้าไปในชีวิตประจำวันด้วย จึงมีผลให้ความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจลดลง แม้ว่าระดับคอเรสเตอรอลจะไม่ลดลงเท่าค่าเฉลี่ยของคนปรกติ แต่ก็เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในระดับหนึ่ง และที่แน่ ๆ คือ นักวิจัยชาวสวีเดน ที่ออกมาป่วนว่าระดับคอเลสเตอรอลสูงนั้นดี ไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนไข้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 คอเลสเตอรอล..อาจไม่เลวอย่างที่คิด

ทุกครั้งก่อนกินข้าวผู้เขียนมักสำรวจอาหารในจานว่า ครบห้าหมู่หรือไม่ ถ้าเป็นการกินที่บ้านส่วนใหญ่มักครบ แต่ถ้าต้องกินนอกบ้านแล้วส่วนใหญ่ต้องกำหนดว่า เมื่อกลับถึงบ้านควรไปกินอะไรเพิ่มบ้าง นอกจากจำแนกอาหารว่าครบห้าหมู่หรือไม่แล้ว สิ่งหนึ่งที่พยายามสังเกตคือ อาหารจานนั้นน่าจะมีคอเลสเตอรอลมากหรือน้อย โดยดูจากองค์ประกอบส่วนที่เป็นไขมันและส่วนที่เป็นหนังเช่น หนังหมู ทั้งนี้เพราะเราถูกสอนมาให้เลี่ยงไขมันชนิดนี้เพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดเกี่ยวกับเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจและสมองอย่างไรก็ดีในระยะหลังนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาของคอเลสเตอรอลต่อสุขภาพของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะข้อมูลจากการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการนั้นต่างไปจากเดิมคือ มีมุมมองในการทำวิจัยเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลที่กว้างไกลกว่าเดิม ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่าต่อดังนี้ข้อมูลจากอินเตอร์กล่าวว่า ทุกๆ 5 ปี หน่วยงานรัฐการของสหรัฐอเมริกาคือ กระทรวงเกษตร (US. Department of Agriculture หรือ USDA )และกระทรวงสาธารณสุข (US. Department of Health and Human Services หรือ USHHS ) มีความร่วมมือในการสร้าง ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนในชาติ หรือ Nation's dietary guidelines ซึ่งเป็นการระบุชนิดของอาหารและวิธีการบริโภคที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งในด้านน้ำหนักตัวและการป้องกันโรค ข้อแนะนำนี้มีการนำไปใช้ประยุกต์กับโครงการต่างๆของรัฐที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของประชาชน เช่น โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับข้อแนะนำของปี 2015 เพื่อใช้ในช่วงปี 2016-2020 นั้นเป็นการแนะนำในกรอบกว้างๆ ที่หวังลดการได้รับสารอาหารบางชนิดที่มากเกินพอดีของคนอเมริกัน โดยรายงานของกรรมการที่สร้างข้อแนะนำนี้ยังยึดโยงกับข้อแนะนำในปี 2010 เป็นหลัก ซึ่งกล่าวถึงความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยของอาหารต่างๆ เช่น ความปลอดภัยของกาแฟ คาเฟอีนและน้ำตาลเทียมชนิดแอสปาเตม แต่มีสิ่งซึ่งค่อนข้างสำคัญเกิดขึ้นในคำแนะนำใหม่นี้คือ การไม่กล่าวถึงการจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารที่คนอเมริกันกินในแต่ละวัน จากเอกสาร Scientific Report of the 2015 Dietary Guidelines Advisory Committee ของสหรัฐอเมริกานั้นกล่าวว่า ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกันแต่เดิมนั้น ได้เคยแนะนำให้กินคอเลสเตอรอล ซึ่งอยู่ในอาหารต่างๆ รวมกันไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน(ซึ่งเท่ากับกินไข่ได้สองฟองต่อวันเท่านั้น) เพราะระดับความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นในระบบไหลเวียนโลหิต เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการตีบตันของเส้นเลือด ถ้าเกิดขึ้นที่หัวใจอาจทำให้คุณหัวใจวายตาย (heart attack) หรือถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมอง(stroke ) อาจนำสู่การเป็นอัมพาตบางส่วนของร่างกาย ดังนั้นข้อแนะนำในการบริโภคอาหารของคนอเมริกันเก่าในปี 2010-–2015 จึงมุ่งเน้นให้ประชาชนมองเห็นถึงอันตรายที่เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลสูงในระบบเลือดกว่าคนปรกติทั่วไป ทว่าในข้อแนะนำใหม่ที่จะใช้ต่อไปอีก 5 ปีนั้น ไม่จัดคอเลสเตอรอลเป็นสารอาหารที่ต้องกังวลในการกินเกินแล้ว เพราะคณะกรรมการผู้สร้างข้อแนะนำกล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ไม่ได้แสดงว่าปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารนั้นมีความสัมพันธ์กับคอเลสเตอรอลในเลือด จริงๆ แล้วร่างกายเราเองสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเพื่อใช้เองทุกวัน ซึ่งอาจมากกว่าปริมาณที่กินจากอาหาร ทั้งนี้ขึ้นกับข้อกำหนดทางพันธุกรรมว่า ร่างกายของแต่ละคนต้องการใช้คอเรสเตอรอลเท่าไรและกำจัดได้ดีเพียงใด ทั้งนี้เพราะอนุพันธ์ของคอเลสเตอรอลนั้น เป็นสารที่ร่างกายใช้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดช่วงเช้าและเย็น นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนบางชนิดและเปลี่ยนเป็นเกลือน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยไขมันจากอาหารที่เรากินเข้าไป อีกประการหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากๆ คือ คอเลสเตอรอลนั้น เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นที่ต้องมีสอดแทรกในชั้นไขมันที่ทำหน้าที่เป็นผนังเซลล์ หรือผนังออร์กาเนล (คือเอ็นโดพลาสมิคเร็ทติคิวลัม) ของเซลล์ซึ่งเป็นบริเวณสร้างโปรตีนในเซลล์และทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารพิษก่อนถูกกำจัดออกจากร่างกายอาหารที่สามารถเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย ได้แก่ ไข่แดง หนังสัตว์ต่างๆ(โดยเฉพาะหนังของขาหมูพะโล้) เนื้อติดมัน หอยนางรม กุ้ง นม เนย เป็นต้น ส่วนการสร้างขึ้นเองในร่างกายนั้น ร่างกายเราสร้างได้จากไขมันธรรมดาที่กินเข้าสู่ร่างกาย โดยเซลล์ตับนั้น เป็นเซลล์ที่รับผิดชอบงานนี้ราวร้อยละ 20-25 ดังนั้นการกินอาหารไขมันสูงจึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการสร้างคอเลสเตอรอลของร่างกายสู่ระดับสูงสุดได้ประเด็นที่น่าสนใจคือ บางขณะที่เราต้องการอาหารไขมันสูง เพื่อให้ได้พลังงานเนื่องจากต้องอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น อาจมีไขมันส่วนที่กินเกินไปเพิ่มการสร้างคอเลสเตอรอลได้ ดังนั้นประชาชนจึงควรทราบวิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอล   วิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอลโดยหลักการแล้วทำได้โดยการเพิ่มอาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินเข้าไปในมื้ออาหาร เพื่อเร่งให้มีการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นสารอื่น อาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินสูง ได้แก่ แตงต่างๆ มะม่วง แอปเปิ้ล ถั่วหลายชนิดมีเพคตินสูง สำหรับผลไม้นั้นเป็นที่รู้กันว่า ส้มต่างๆ เป็นแหล่งสำคัญของเพคติน ที่น่าสนใจมากคือ ขนมเปลือกส้มโอซึ่งเป็นการสกัดเอาเพคตินจากส่วนสีขาวของเปลือกมาผสมน้ำตาลแล้วทิ้งให้แข็งตัว ดังนั้นถ้าทำให้ขนมนี้มีปริมาณน้ำตาลต่ำ ขนมเปลือกส้มโอก็จะเป็นแหล่งที่ดีของเพคตินในราคาไม่แพงนัก บทบาทของเพคตินในการลดคอเลสเตอรอลคือ เพคตินสามารถจับเกลือน้ำดีในลำไส้ใหญ่แล้วพาเกลือน้ำดีออกจากร่างกายไปกับอุจจาระ ซึ่งเป็นการลดการดูดซึมเกลือน้ำดีกลับไปยังถุงน้ำดี(เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่) การลดปริมาณเกลือน้ำดีนี้เป็นการบังคับให้ตับต้องนำเอาคอเลสเตอรอลในเลือดที่ไหลผ่านตับไปสร้างเป็นเกลือน้ำดีใหม่ จึงทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง ประเด็นสำคัญของคอเลสเตอรอลที่เกี่ยวกับสุขภาพของท่านประเด็นสำคัญคือ คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบของไลโปโปรตีนสำคัญในเลือด ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า low density lipoprotein (LDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 25 คอเลสเตอรอลร้อยละ 50 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 21) ซึ่งควรมีในเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หรือ 10 มิลลิลิตร) และ high density lipoprotein (HDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 33 คอเลสเตอรอลร้อยละ 30 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 29) ซึ่งควรมีในเลือดไม่ต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไขมันทั้งสองนี้ได้ถูกแปลให้เข้าใจง่ายว่าเป็น คอเลสเตอรอลเลวและคอเลสเตอรอลดี ตามลำดับ เพราะว่าไลโปโปรตีนชนิดแรกนั้น ถ้ามีมากในเลือดแล้วจะเป็นดัชนีว่า หัวใจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสูง ส่วนไลโปโปรตีนชนิดหลัง ถ้ามีมากในเลือด ก็หมายความว่า หัวใจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังขึ้นกับปัจจัยทาง พันธุกรรมและการใช้พลังงานในแต่ละวันด้วยอย่างไรก็ดีแม้ว่านักวิทยาศาสตร์สุขภาพชาวอเมริกันจะเห็นพ้องต้องกันในปัจจุบันว่า ความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลในเลือดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไรแล้ว ท่านผู้บริโภคอย่าละเลยหลักการสำคัญทางโภชนาการที่ว่า ไม่พึงกินอะไรให้อิ่มมากเกินจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารมันๆ นั้นควรกลัวเข้าไว้ มิเช่นนั้นเวลาไปตรวจสุขภาพแล้วผลเลือดออกมาว่า คอเลสเตอรอลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป คุณหมอที่ดูแลสุขภาพท่านอาจมีเคืองได้ในฐานที่ท่านไม่ใส่ใจในคำแนะนำ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point