ฉบับที่ 247 “ทิ้ง” เพื่อโลก

        หลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินเรื่องของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนกันมาพอสมควร เราได้รับข้อมูลเรื่องผลกระทบของการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตระหนักว่า “การคัดแยกขยะ” นั้นมีส่วนอย่างยิ่งในการลดโลกร้อน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ บ้างก็ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ถูกต้อง แม้จะมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อน เช่น ขวด กล่อง ถุง หรือแพ็คเกจต่างๆ ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท ผู้ผลิตแต่ละเจ้าให้ความสนใจในเรื่องนี้ต่างกัน ในขณะที่ภาครัฐของหลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ             เรามาดูกรณีตัวอย่างจากออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก ที่รัฐบาลร่วมกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดทำฉลากที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง รองรับการนำกลับไปแปรรูปมาใช้ใหม่ และกรณีของสิงคโปร์ที่ใช้วิธีส่งเสริมให้แบรนด์ต่างๆ “ลดขนาด” ของบรรจุภัณฑ์ ด้วยการให้ “โลโก้” ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ได้  ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์          ก่อนหน้านี้คนออสเตรเลียมีความสับสนอยู่ไม่น้อยกับ “ฉลากรีไซเคิล” ที่มีถึง 200 รูปแบบ ผู้ผลิตที่นั่นให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ต่างคนต่างก็คิดรูปแบบเฉพาะออกมาใช้กับสินค้าตัวเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ “ตามไม่ทัน” จึงยังคง “ทิ้งผิด” อยู่นั่นเอง ความพยายามนั้นจึงเท่ากับสูญเปล่า          ต่อมาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แก้เกมด้วยการใช้ระบบฉลากรีไซเคิลที่เรียกกันว่า ARL (Australasian Recycling Label) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย APCO หรือ Australian Packaging Covenant Organization ร่วมกับ Planet Ark และ PREP (Packaging Recyclability Evaluation Postal) Design         คณะกรรมการที่ดูแลโครงการนี้แบ่งออกเป็นสองชุด ได้แก่ คณะที่ดูแลเรื่องข้อมูล (ซึ่งต้องมีความแม่นยำสูงมาก) และคณะที่ดูแลเรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สมาชิกของทั้งสองคณะประกอบด้วยตัวแทนจากแบรนด์/ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมรีไซเคิล/จัดการขยะ ตัวแทนจากรัฐบาล และองค์กรไม่แสวงหากำไร           ผลิตภัณฑ์ภายใต้ระบบ ARL (สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ) จะมีสัญลักษณ์ 3 รูปแบบได้แก่         -        ลูกศรทึบวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้ (เจอถังรีไซเคิลที่ไหน ทิ้งได้เลย)         -        ลูกศรโปร่งวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้แบบมีเงื่อนไขตามที่แจ้งไว้ใต้สัญลักษณ์         -        ถังขยะ หมายถึง ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ทางเดียวที่ไปคือบ่อขยะ           ทั้งหมดนี้จะระบุชัดเจนว่าชิ้นส่วนไหน ต้องทิ้งอย่างไร          เช่น ตัวอย่างนี้ ส่วนที่เป็นกล่อง สามารถใส่ลงในถังรับขยะรีไซเคิลได้เลย ในขณะที่พลาสติกที่ห่อหุ้มมาจะต้องนำไป “ส่งคืนร้าน” ส่วนฝานั้นให้ทิ้งเป็นขยะทั่วไป          หัวใจของความสำเร็จของโครงการนี้คือข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ (ปัจจุบันเป็นแบบสมัครใจ) จะต้องประเมิน “ความสามารถในการรีไซเคิล” ของแพ็คเกจสินค้าตัวเอง โดยอ้างอิงกับฐานข้อมูลของ PREP ซึ่งมีการอัปเดตทุกปี โครงการนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนด้วยการช่วยผู้ประกอบการออกแบบแพ็คเกจที่ตอบโจทย์เรื่องรักษ์โลกด้วย          ออสเตรเลียตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2025 แพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือ ย่อยสลายได้   เดนมาร์ก          ระบบ Pant A, B, C ของเดนมาร์กเป็นอีกตัวอย่างที่ยืนยันว่า จะมีการส่งต่อ “ขยะ” ไปสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น หากผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและได้ผลตอบแทนเป็นเงิน            Pant ในภาษาแดนิช แปลว่า “มัดจำ” เมื่อซื้อเครื่องดื่มในเดนมาร์ก ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ามัดจำขวดหรือกระป๋องให้กับทางร้าน โดยร้านจะคำนวณค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ที่หน้าเคาน์เตอร์ตามอัตราต่อไปนี้           เมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มาคืนกับ “ตู้รับคืนอัตโนมัติ” ที่ตั้งอยู่ตามร้านค้าหรือปั๊มน้ำมันที่ร่วม โครงการ ซึ่งมีอยู่ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ตู้ดังกล่าวก็จะออก “ใบเสร็จ” ให้ผู้บริโภคนำไปใช้ซื้อของในร้าน หรือจะรับเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน           หรือใครจะเก็บรวบรวมไว้ที่บ้านให้ได้เยอะๆ ก่อนก็ไม่ว่ากัน กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถนำขวดหรือกระป๋องไปคืนที่ “Pantstation” ซึ่งสามารถรับได้ครั้งละ 90 ชิ้น ปัจจุบันมีสถานีรับคืนอยู่ใน 12 เมืองทั่วประเทศ          ขวดหรือกระป๋องจากตู้เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง Dansk Retursystem องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเดนมาร์ก ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ไปจนถึงการหลอมเพื่อผลิตขวดหรือกระป๋องขึ้นมาใหม่          จากข้อมูลของ DR การหลอมกระป๋องใช้แล้วขึ้นมาใหม่ ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตกระป๋องขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นถึงร้อยละ 95         โครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2002 โดยผู้ผลิตเบียร์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง          ข้อมูลในปี 2019 ระบุว่าอัตราการส่งคืนขวด/กระป๋องเครื่องดื่ม โดยผู้บริโภคสูงถึงร้อยละ 92         นอกจากเดนมาร์กแล้ว โมเดลการมัดจำขวดก็มีใช้ในเยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์เช่นกัน  สิงคโปร์         กรณีของสิงคโปร์นั้นแม้จะไม่ใช่เรื่องการรีไซเคิล แต่ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นการ “ตัดตอน” การใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น          ตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มโครงการติด “โลโก้” ให้กับสินค้าที่มีการปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลง SPA (Singapore Packaging Agreement) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใส่บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินปริมาณสิ่งของด้านใน และเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น           สินค้าที่จะติดโลโก้ “Reduced packaging” ภายใต้โครงการ LPRP (The Logo for Products with Reduced Packaging) จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโครงการ โดยผู้ผลิตจะต้องส่งหลักฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการลดปริมาณการใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการใช้โลโก้ดังกล่าว   ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ระบุว่าโครงการนี้สามารถลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 54,000 ตัน และประหยัดเงินค่าวัตถุดิบได้ 130 ล้านเหรียญ   เอกสารอ้างอิง รายงานกรณีศึกษาโดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International)  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย One Planet    https://www.consumersinternational.org/media/361469/unep_ci_2021_arl_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361467/unep_ci_2021_pantabc_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361470/unep_ci_2021_lprp_case_study.pdf

อ่านเพิ่มเติม >