ฉบับที่ 159 ผลของการทำสัญญาค้ำประกันโดยประมาทเลินเล่อ

อุทาหรณ์จากการทำสัญญาค้ำประกันโดยประมาท จากเรื่องที่ นาย ก. ในที่นี้คือ จำเลยที่ 2  ลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้ไว้แก่โจทก์ นาย ก.  ถูก นาง ศ. หลอกว่า เป็นการค้ำประกันให้ นาง ศ.  และต่อมา นาง ศ. กับพวกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 (คนที่นาย ก. ไม่รู้จัก) ต่อโจทก์ ในการเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์  ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้แล้วนำออกขายได้ราคาไม่คุ้มกับความเสียหายของโจทก์  จึงได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 (ซึ่งเข้าสำนวนไทยว่า เนื้อไม่กิน แต่ได้กระดูกแขวนคอ) ให้การต่อสู้คดีว่า เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ศาลยกฟ้อง(ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ) มาดูกันว่าศาลฎีกาจะตัดสินว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่  357/2548 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ... ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์  โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น   คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2  ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาค้ำประกันนาง ศ.    มิใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะไม่สามารถบังคับจำเลยที่ 2 ได้ และการลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ไม่ได้กรอกข้อความเนื่องจากถูกนาง ศ. หลอกลวง จึงไม่ใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกัน ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมกับมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้ไว้แก่โจทก์นั้น  เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง แม้นาง ศ. กับพวกจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยกรอกข้อความในหนังสือค้ำประกันให้ผิดไปจากเจตนาของจำเลยที่ 2 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158**   จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว  ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น “ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ท่านผู้อ่านอย่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเปล่าใดๆ ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความดังกรณีนี้เป็นอันขาด และการทำนิติกรรมใดๆ ควรไปทำด้วยตนเอง  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/ทะเบียนบ้านจะมอบให้ใครนำไปใช้เรื่องอะไรให้เขียนให้ชัดเจนว่ามอบให้ไปทำอะไร ช่องว่างที่เหลือแบบฟอร์มของสัญญาให้ใช้ไม้บรรทัดขีดออก เพื่อป้องการการเติมข้อความอื่น **ปพพ. มาตรา 158 ความสำคัญผิด ตาม มาตรา 156 หรือ มาตรา 157 ซึ่ง เกิดขึ้น โดย ความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง ของบุคคล ผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้น จะถือเอา ความสำคัญผิดนั้น มาใช้เป็นประโยชน์ แก่ตน ไม่ได้   //

อ่านเพิ่มเติม >