ฉบับที่ 153 รู้เท่าทันคีเลชั่น 3

ในฉบับนี้จะมาถึงข้อยุติเรื่อง การบำบัดด้วยคีเลชั่นมีประสิทธิผลต่อการรักษาหัวใจหลอดเลือดตีบหรือไม่ ซึ่งเราคงต้องดูผลการศึกษาวิจัยของ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา หรือ National Institutes of Health (NIH) ซึ่งรายงานเมื่อวันอังคารที่ 25 มีนาคม  2013 และปรับปรุงล่าสุด 30 เมษายน  2013  รวมทั้งได้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารของสมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาหรือ Journal of the American Medical association (JAMA, March 27, 2013—Vol 309, No. 12) การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาระยะยาวถึง 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2554 ใช้งบประมาณ 31 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำการศึกษาในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไปจำนวนทั้งสิ้น 1,708 คน ในสถานพยาบาล 134 แห่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา  ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกามีรายงานในปี พ.ศ. 2551 ว่า ในระหว่าง พ.ศ. 2545 – 2550  มีการเพิ่มขึ้นของการใช้คีเลชั่นบำบัดถึงร้อยละ 68 หรือในประชากร 111,000 คน  ซึ่งสารไดโซเดียม EDTA นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาไม่รับรองให้ใช้ในการรักษาโรคหัวใจ   การศึกษานี้ทำการศึกษาผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจนเกิดอาการของกล้ามเนื้อหัวใจวายอย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนหน้าการศึกษา(เฉลี่ย 4.5 ปี) และทำการศึกษาโดยมีกลุ่มควบคุม  ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารคีเลชั่น(ไดโซเดียม EDTA) 40 ครั้ง รวมทั้งการได้รับการกินวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณสูงเช่นเดียวกับที่กลุ่มควบคุมได้รับผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ได้รับอยู่ก่อน เช่น แอสไพริน และยารักษาโรคหัวใจอื่นๆ  การศึกษาได้ทำการติดตามผลเป็นเวลา 1-5 ปี (เฉลี่ย 55 สัปดาห์)  ผลการศึกษาพบว่า  เมื่อสิ้นสุดการบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับคีเลชั่นเกิดผลต่างๆ ได้แก่ การเสียชีวิต การเกิดหัวใจวาย เส้นเลือดสมองตีบ หรืออาการเจ็บกล้ามเนื้อหัวใจจนต้องรับรักษาในโรงพยาบาล ในผู้ป่วย 222 ราย(ร้อยละ 26) และในกลุ่มควบคุม 261 ราย (ร้อยละ 30)  และพบว่า ต้องทำการรักษาการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มที่บำบัดด้วยคีเลชั่น ร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ร้อยละ 18 รายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา สรุปผลการศึกษาว่า การฉีดสารไดโซเดียม EDTA สามารถลดความเสี่ยงของอาการต่างๆ ของหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ผู้ทำการศึกษาระบุว่า ผลการศึกษายังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้การบำบัดด้วยคีเลชั่นเป็นการรักษาปกติหรือมาตรฐานสำหรับโรคหลอดหัวใจตีบหรือหัวใจวาย และมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะพิจารณารับเป็นการรักษาปรกติหรือมาตรฐาน รวมทั้งสารคีเลชั่น EDTA ที่ใช้ยังมีวิตามินซี วิตามินบี และสารอื่นๆ ในปริมาณสูง นพ. เกอวาสิโอ เอ. ลามาส ผู้วิจัยหลักและประธานของอายุรกรรมและหัวหน้าของแผนกหัวใจ มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ศูนย์การแพทย์เมาท์ไซนาย ในไมอามี กล่าวว่า “การบำบัดด้วยคีเลชั่นจะทำได้อย่างปลอดภัยเมื่อมีการควบคุมค่าคงที่หรือตัวแปรต่างๆ อย่างเข้มงวดและมีคุณภาพ  และภายใต้สภาวะดังกล่าว การบำบัดจึงจะเกิดผลพอควร  ความปลอดภัยเป็นปัจจัยและตัวแปรสำคัญตลอดระยะของการศึกษา” ดร. แกรี่ เอช. กิบบอนส์ ผู้อำนวยการสถาบันหัวใจ ปอดและเลือดแห่งชาติของ NIH (NHLBI) กล่าวว่า “การวิจัยเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าใจผลอย่างถ่องแท้ก่อนที่การบำบัดแบบนี้จะถูกรับเข้าเป็นเวชปฏิบัติทางคลินิกสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจวาย  เรายังไม่รู้ชัดเจนว่า การบำบัดนี้สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะได้รับผลดี หรือมันทำงานอย่างไร” ท่านผู้อ่านคงได้ข้อสรุปจากการวิจัยนี้อย่างชัดเจนแล้ว ต่อไปคงเป็นหน้าที่ของแพทยสภา ราชวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องทำความชัดเจนเรื่องนี้ให้กับประชาชนต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 152 รู้เท่าทันคีเลชั่น 2

ในฉบับก่อน  การทำคีเลชั่นบำบัดนั้นมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างระบบการแพทย์ตามมาตรฐานกับระบบการแพทย์ทางเลือก ทำให้คณะกรรมการคัดกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ทำการพิจารณาเรื่องนี้และจัดทำรายงานความเห็นเรื่องคีเลชั่นบำบัดเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ว่า 1.1    ยังไม่มีหลักฐานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เพียงพอที่ยืนยันว่า การบำบัดด้วย คีเลชั่นจะรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริง  จึงยังไม่ควรเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในการให้บริการ 1.2    การให้การบำบัดด้วยคีเลชั่นในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ต้องใช้เป็นโครงการศึกษาวิจัยในคนเท่านั้น  ไม่สามารถใช้เพื่อการบริการและการรักษาในระบบบริการปกติ  การวิจัยในคนต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด การประชุมวิชาการการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติครั้งที่ 6 วันที่ 2 - 4 กันยายน พ.ศ. 2552 ได้มีการจัดอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “การบำบัดด้วยคีเลชั่น รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริงหรือ” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร  ข้อสรุปทางวิชาการมีดังนี้ 2.1 นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ได้กล่าวในการอภิปรายทางวิชาการประจำปีว่า  นายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทบทวนเอกสารความรู้จากแหล่งข้อมูลสำคัญ 4 แหล่ง (สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา, สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา, COCHRANE และ สถาบันการแพทย์ทางเลือกในมหาวิทยาลัยของแคนาดา  ในปีพ.ศ. 2552 พบว่า 1)  สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา มีรายงานสรุปว่า ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะยืนยันว่า การบำบัดด้วยคีเลชั่นรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้ผล 2) สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแลการวิจัยทางการแพทย์ การสาธารณสุข สุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกราบงานว่า ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าวิธีนี้ใช้ได้ผล  และพบว่าอาจไม่มีความปลอดภัยโดยเฉพาะหากใช้โดยคนที่ไม่มีความรู้พอ NIH จึงมีการลงทุนการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ โดยใช้อาสาสมัครเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี (เสร็จในปีพ.ศ. 2553) จึงจะสามารถสรุปประสิทธิผลของคีเลชั่นบำบัดได้  และเนื่องจากเป็นการศึกษาวิจัย  จึงต้องให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยว่า เป็นการศึกษาวิจัย  ยังไม่ใช่มาตรฐานการรักษา  มีความเสี่ยงอะไร  และไม่สามารถเก็บ “ค่ารักษา” จากอาสาสมัครได้ 3)  โคเครน (COCHRANE) เป็นองค์กรที่รวบรวมผลการวิจัยต่างๆ ได้ทำการอภิวิเคราะห์ (metaanalysis) ได้ข้อสรุปว่า คีเลชั่นยังเป็นวิธีการรักษาซึ่งไม่มีหลักฐานที่พบว่าได้ผล 4) สถาบันการแพทย์ทางเลือกในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศแคนาดา มีรายงานว่า  ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่พบว่าได้ผล 2.2  นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ได้กล่าวในการประชุมวิชาการว่า “องค์กรที่เป็นตัวชี้นำสังคมในแง่วิชาการความรู้คือโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัย  ถ้าโรงเรียนแพทย์ 3 แห่งหลักขึ้นไปทำก็เชื่อมั่นได้  เพราะโรงเรียนแพทย์เป็นแหล่งที่มีการพิสูจน์ทดลอง  ต้องสอนนักเรียนแพทย์เพื่อรักษาคน  ถ้าไม่มีการรักษา (คีเลชั่นบำบัด) ในโรงเรียนแพทย์  ขอให้รอก่อน....การรักษาที่จะนำไปใช้ เป็นงานวิจัยหรือการรักษา  ดูให้ดี  เท่าที่ทราบยังไม่มีโรงเรียนแพทย์ใดในประเทศไทยที่ทำคีเลชั่น” 2.3  นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ได้กล่าวว่า ตามปฏิญญาเฮลซิงกิ กำหนดหลักจริยธรรมของแพทย์ไว้ว่า ถ้าหากยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แพทย์มีสิทธินำการรักษาใหม่ๆ มาใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย  ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจมีวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้วหลายวิธี  การนำวิธีการรักษาที่นอกเหนือจากนี้ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับ  ไม่เช่นนั้นแพทย์ที่นำไปใช้ถือว่าผิดจริยธรรม  ควรรอผลการวิจัยของ NIH เสียก่อน หน้ากระดาษหมดอีกแล้ว  คงต้องต่อในฉบับหน้า  ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย  เราจะดูผลการวิจัยของ NIH ว่าคีเลชั่นบำบัดสามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริงหรือไม่

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 รู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัด ตอนที่ 1

หลายท่านโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบคงรู้จักหรือได้รับการชักชวนให้ทำคีเลชั่นบำบัด  แม้กระทั่งบางคนที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ  เพียงแค่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง  โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งหรือแพทย์ในคลินิกเอกชนบางคนก็เสนอให้ทำเพื่อช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น  ดูราวกับว่าการบำบัดด้วยคีเลชั่นนั้นเป็นการบำบัดสารพัดนึก  สามารถช่วยบำบัดอาการต่างๆ ได้แทบทุกอาการ  โรงพยาบาลของรัฐบางแห่งถึงกับทำแผ่นพับเสนอการทำคีเลชั่นบำบัดโดยข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้ส่วนหนึ่ง  และต้องจ่ายสมทบเองอีกส่วนหนึ่ง คีเลชั่นบำบัดคืออะไร  สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง  สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้จริงหรือไม่ ระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยรับรองเป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์หรือยัง  มีความเสี่ยงและอันตรายหรือไม่ เราควรรู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัด  ดังต่อไปนี้ คีเลชั่นบำบัด (Chelation therapy) คือ การดึงเอาโลหะหนักในร่างกายออกมาโดยใช้สารเคมี EDTA (ethylene diamine tetra-acetic acid) ฉีดเข้าไปในร่างกาย  เดิมใช้กับคนไข้ธาลัสซีเมีย  เนื่องจากมีเหล็กสะสมมาก สะสมในตับ ตับอ่อน หัวใจ และอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาพิษตะกั่ว ปรอท ซึ่งเป็นการรักษาที่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันรับรองให้เป็นวิธีการรักษาโรคดังกล่าว ต่อมามีการใช้คีเลชั่นบำบัดในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบราวปี พ.ศ. 2493 เพราะเชื่อว่า การเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นเพราะมีแคลเซียมเกาะตามหลอดเลือดต่างๆ ในร่างกาย การฉีด EDTA จะช่วยดึงแคลเซียมออกจากหลอดเลือด  ทำให้การตีบของหลอดเลือดลดน้อยลง มีการใช้คีเลชั่นบำบัดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยโรงพยาบาลของภาคเอกชนและถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลและคลินิกแพทย์เอกชนหลายแห่งที่มีการให้บริการการบำบัดด้วยคีเลชั่นโดยบอกว่าสามารถบำบัดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ต้องทำการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด  นอกจากนี้สถานบริการของภาครัฐบางแห่งทำการโฆษณาการบริการบำบัดด้วยคีเลชั่น  และข้าราชการสามารถเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลางได้ สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดทำแนวเวชปฏิบัติที่ดีในการบำบัดด้วยคีเลชั่น และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมเพื่อเสนอแนะให้กับบุคลากรสาธารณสุขในหน่วยงาน หรือสถานบริการที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค (การทำแนวเวชปฏิบัตินั้นหมายถึง แนวทางการบำบัดรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขกำหนดขึ้นหรือนำมาใช้เพื่อเป็นการให้การรักษาผู้ป่วย ซึ่งหมายความว่า การบริการนั้นๆ เป็นที่รับรองประสิทธิผล ความปลอดภัย ตามพ.ร.บ.การประกอบวิชาชีพหรือการประกอบโรคศิลปะที่เกี่ยวข้อง) การทำคีเลชั่นบำบัดมีการใช้สารสองตัว  ได้แก่ สารไดโซเดียมอีดีทีเอ ซึ่งมีแต่โซเดียม ไม่มีแคลเซียม โซเดียมเป็นตัวดึงแคลเซียมออกจากหลอดเลือดหัวใจ ใช้บำบัดธาลัสซีเมีย และ สารแคลเซียมไดโซเดียมอีดีทีเอ ซี่งมีแคลเซียม  สารตัวนี้จะไม่ดึงแคลเซียม  ใช้ดึงโลหะหนัก  ใช้รักษาพิษตะกั่ว  ในประเทศไทยมีการใช้สารทั้งสองชนิด ในอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตจากการใช้สารไดโซเดียมอีดีทีเอ ประมาณ 20 ราย กลางปี พ.ศ. 2551  ทำให้บริษัทยาสองแห่งที่ขายยานี้ในอเมริกาถอนยาตัวนี้ออกจากตลาดยาในอเมริกา  แต่ในประเทศไทยยังมีการใช้ยาตัวนี้อยู่ สถาบันหลักของอเมริกาได้แก่ สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา, สมาคมแพทย์อเมริกา, FDA (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา), ศูนย์การควบคุมและป้องกันโรค  และอีกหลายหน่วยงานมีความเห็นตรงกันว่า  ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้คีเลชั่นบำบัดในการรักษาโรคอื่นที่นอกเหนือจากรักษาโรคพิษจากโลหะหนัก การทำคีเลชั่นบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสในการได้รับการรักษาที่ดีและอยู่ในมาตรฐานการรักษาที่ยอมรับ  เช่น การควบคุมอาหาร  การออกกำลังกาย  และการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด   ท่านผู้อ่านคงจะเห็นข้อมูลเบื้องต้น 9 ข้อที่กล่าวมาว่า  ในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากยังไม่รับรองการทำคีเลชั่นให้เป็นการรักษามาตรฐานสำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบเพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอ  แต่ในประเทศไทยมีการส่งเสริมการใช้อย่างแพร่หลายทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน  เราจะรู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัดอย่างไรดี  คงต้องติดตามต่อฉบับหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point