ฉบับที่ 156 คือหัตถาครองพิภพ : คือการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ

โดยสามัญสำนึกของคนทั่วไปนั้น ละครก็คือละคร ชีวิตจริงก็คือชีวิตจริง โลกความเป็นละครกับโลกความเป็นจริง เป็นสองโลกที่แบ่งแยกหลุดขาดออกจากกัน เพราะละครเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น จึงมีสถานะเป็นเพียงจินตนาการที่มนุษย์เราวาดไว้เท่านั้น แต่ทว่า ยังมีอีกคำอธิบายหนึ่งที่แย้งว่า ไม่เคยมีหรอกที่ความเป็นละครกับความเป็นจริงจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ทั้งละครและของจริงต่างก็มีจังหวะจะโคนที่โยกย้ายถ่ายโอนไปมา เป็นสองโลกที่สานไขว้กันไว้ได้อย่างแนบแน่นเลยทีเดียว ตามคำอธิบายแบบหลังนี้เอง หากเราจะทำความเข้าใจความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองในแต่ละยุคสมัยให้ถ่องแท้ได้แล้ว ก็อาจพิจารณาผ่านภาพที่ฉายอยู่ในจอละครโทรทัศน์ได้เช่นกัน ทั้งนี้     ภายใต้กระแสการเมืองเข้มข้นที่เข้าไปล่วงลึกอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยในห้วงนี้ โลกแห่งละครก็ขานรับกับโครงสร้างแห่งความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวของมวลชนได้เป็นอย่างดี หาก "การเมือง" ในชีวิตจริงถูกนิยามว่าเป็น "เวทีของการต่อรองช่วงชิงอำนาจ" ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกันแล้วไซร้ ภาพวิธีคิดแบบนี้ก็คงไม่ต่างไปจาก "การเมือง" ของตัวละครต่างๆ ที่วนว่ายอยู่ในละครเรื่อง "คือหัตถาครองพิภพ" เท่าใดนัก   แม้ว่า ณ ขณะที่ผู้เขียนกำลังปิดต้นฉบับบทวิจารณ์ละคร "คือหัตถาครองพิภพ" อยู่นั้น ละครได้ดำเนินมาเพียงราวครึ่งเรื่อง แต่ด้วยโครงเรื่องที่น่าสนใจและสอดรับกับสถานการณ์ความเป็นไปในสังคมการเมืองร่วมยุค ผมจึงขออนุญาตคุณผู้อ่านหยิบเรื่องราวของละครมาตั้งข้อสังเกตให้ร่วมถกเถียงพินิจพิเคราะห์กัน ประเด็นเชิง "การเมือง" ในละคร "คือหัตถาครองพิภพ" เริ่มต้นขึ้นเมื่อ "ศรี" ถูกจับคลุมถุงชนให้ต้องแต่งงานกับชายที่เธอไม่ได้รักครั้งแล้วครั้งเล่า อันเนื่องมาจากครอบครัวของศรีต้องการดองเธอเพื่อประสานผลประโยชน์กับกลุ่มคนในแวดวงที่เท่าเทียมหรือสูงศักดิ์ชั้นกว่า แต่เพราะเหตุที่ศรีเองก็มิได้มีจิตปฏิพัทธ์ที่จะร่วมเรียงเคียงหัวใจกับชายใด (หรือในบางหลืบมุมของละครก็ซ่อนสื่อความนัยว่า เธอเองก็อาจมีรสนิยมแบบหญิงรักหญิงก็เป็นได้) ในท้ายที่สุด เมื่อมิอาจขัดใจบิดามารดา ศรีจึงตัดสินใจเลือกแต่งงานกับชายสักคนหนึ่งอย่าง "พระยาสมิติภูมิ" ขุนนางไทยแต่เป็นชาวต่างชาติ ด้วยเหตุผลเดียวเพียงเพราะว่า "เขาน่าจะเป็นคนดี" และให้เธอมีอำนาจสูงสุดในเรือนหลังใหญ่ แล้วปมมูลเหตุสำคัญก็เกิดขึ้นตามมาอีก เมื่อศรี (ซึ่งตอนนี้ก็คือ "คุณหญิงศรี" ตามศักดิ์ขุนนางของสามี) ได้แต่งงานไป แต่มิอาจร่วมหลับนอนมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา และเธอเองก็ไม่ได้ปรารถนาจะให้กำเนิดลูกได้ตามความคาดหวังของท่านเจ้าคุณผู้สามีอีก ภายใต้เรือนหลังใหญ่ของท่านเจ้าคุณพระยาสมิติภูมิ ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของสังคมการเมืองแบบบุรุษเพศเป็นใหญ่ ละครก็ได้แสดงให้เราเห็นว่า หากผู้หญิงคนหนึ่งไม่ต้องการจะร่วมเรียงเคียงข้างหมอนของสามี เธอจะต้องใช้กลยุทธ์วางเหลี่ยมเดินแต้มในเกมแต่ละยกอย่างไร เริ่มต้นก็จากการแสร้งทำป่วยด้วยการร้องเสียงดังโหยหวนทุกครั้งที่ท่านเจ้าคุณมาถูกเนื้อต้องตัว จนท่านเจ้าคุณตกใจ ซึ่งก็บอกเป็นนัยอีกด้านหนึ่งด้วยว่า อาการ "ความเจ็บไข้ได้ป่วย" ก็สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น "การเมือง" ได้เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ "การป่วยการเมือง" นั้น ทำได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว คุณหญิงศรีจึงต้องเดินเกมถัดมา ด้วยการจัดส่งสาวใช้ในบ้านขึ้นไปร่วมหอลงโรงกับท่านเจ้าคุณแทน ไม่ว่าจะเป็นสองพี่น้อง "สังวร" กับ "สังเวียน" หรือแม้แต่บ่าวที่คิดคดหักหลังตลอดเวลาอย่าง "น้อย" และเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้โอกาสเขยิบสถานะจาก "บ่าว" ขึ้นมาเป็น "เมียบ่าว" นั่นก็หมายความว่า อำนาจของผู้หญิงที่มี "ทุนสัญลักษณ์" แบบใหม่กลุ่มนี้ ก็มีอันต้องเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น คุณหญิงศรีจึงมิเพียงแค่ต้องต่อรองอำนาจกับท่านเจ้าคุณเท่านั้น เธอยังต้องเดินเกมช่วงชิงผลประโยชน์กับบรรดาเมียบ่าวมือใหม่ไปด้วยเช่นกัน สำหรับคุณหญิงศรีแล้ว "คืออำนาจ" ใน "หัตถา" เท่านั้น จึงจะ "ครองพิภพ" บนเกมการเมืองในเรือนของท่านเจ้าคุณได้ ดังนั้น หลังจากที่คุณหญิงศรีผลักดันให้บ่าวขึ้นมาเป็นเมียบ่าว เธอก็ต้องลงมือจัดการลิดปีกลิดหางของบรรดาอนุภรรยาเหล่านั้นลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยหลักแห่ง "อำนาจ" ที่ต้อง "สำแดงให้เห็น" แต่ "จับมือใครดมพิสูจน์ต้นตอไม่ได้" คุณหญิงศรีจึงเลือกใช้มือของ "เมี้ยน" บ่าวผู้ภักดีต่อนาย ไปจัดการใส่ไคล้จนท่านเจ้าคุณอัปเปหิสังวรออกไปจากเรือน และเมี้ยนเองก็ยืมมือของ "นายยอด" บ่าวอีกคน ไปจัดการจัดเก็บสังเวียนจนออกไปจากวังวนแห่งอำนาจเสียอีกคน ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็ได้สร้างตัวละครหญิงอีกคนหนึ่งอย่าง "สะบันงา" ขึ้นมา เป็นตัวละครที่คุณหญิงศรีรักปานแก้วตาดวงใจ แต่กลับเป็นที่หมายปองเลี้ยงต้อยของท่านเจ้าคุณมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หากอำนาจเป็นสิ่งที่สิงสู่ไม่เข้าใครออกใคร และขึ้นอยู่กับจังหวะการเดินหมากแต่ละตัวของแต่ละฝ่ายผลประโยชน์ ในท้ายที่สุด ภายใต้ร่มการเมืองเรื่องเพศแบบนี้ คุณหญิงศรีก็ต้องยอมเอาตัวเข้าแลกเพื่อปกป้องสะบันงาเอาไว้ แม้ในภายหลังจากนั้น สะบันงาก็ได้ตกมาเป็นภรรยาผู้ไม่จำยอมของท่านเจ้าคุณด้วยเช่นกัน ในท่ามกลางการเมืองทั้งในและนอกสภา ที่ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์เป็นสงครามคุกรุ่นอยู่ ณ ขณะนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกที่โลกแห่งละครจะสอดประสานขานรับอารมณ์ความรู้สึกดังที่ได้กล่าวมา ดังนั้น สำหรับตัวคุณหญิงศรีแล้ว "คือหัตถา" เท่านั้น ที่จะ "ครองพิภพ" ได้ ก็คงคล้ายๆ กับโลกความเป็นจริงที่ว่า "คือการเมืองก็เป็นเรื่องของอำนาจ" ไม่แตกต่างกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point