ฉบับที่ 138 ค่าจอดรถแสนแพงที่ตลาด อ.ต.ก.?

การจอดรถนานไปหน่อย...ถ้าจอดแถวที่บ้านคงไม่เป็นไร แต่ถ้ามาจอดในสถานที่ที่มีการเรียกเก็บค่าจอด ควรตรวจสอบราคาค่าจอดให้แน่ใจเสียก่อน เผลอจอดนานไปมีสิทธิเจอค่าจอดประเภทที่ใช้จัดการคนชอบจอดรถนาน เจ็บกระเป๋าแน่คุณสุเทพ ร้องเรียนมาว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ตนเข้าไปจอดรถที่ตลาด อ.ต.ก.ตรงข้ามสวนจตุจักรตอนเข้าไปพนักงานให้บัตรจอดรถ  ตอกเวลา 11.23 น. คุณสุเทพบอกว่าไปรับประทานอาหาร ทำธุระจนถึงเวลา 17.58 น. จึงได้ขับรถออกแล้วยื่นบัตรจอดรถให้เจ้าหน้าที่เก็บบัตร“พนักงานเก็บบัตรบอกผมว่า ค่าจอดรถ 500 บาท ผมตกใจมาก อะไรจะแพงขนาดนั้น ขนาดสนามบินสุวรรณภูมิ จอดทั้งวันยังไม่ถึง 300 บาทเลย”“เขาบอกเป็นระเบียบที่นี่ ผมเหลือบไปเห็นที่ป้ายข้างป้อมของเจ้าหน้าที่เก็บบัตรก็ตกใจอีก จอด 15 นาที ฟรี , 15 นาที -  ชม. 100 บ. ,1-2 ชม. 200 บ. 2-3 ชม. 300 บ. 3-4 ชม.400 บ. 4-5 ชม. 500 บ. นี้ประเทศไทยหรือเปล่า และที่แห่งนี้ก็เป็นตลาดเพื่อเกษตรกร มาขูดรีดกับประชาชนในการเก็บค่าจอดรถ แต่ยังไงผมก็จ่าย 500 บ.ให้พนักงานเพื่อตัดปัญหา”“ผมลองโทรไปถาม ทาง ผอ.ตลาด อ.ต.ก. ว่าเก็บค่าจอดแพงเกินไป ผมจะร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เขาบอกเชิญเลย ดังนั้นผมขอร้องเรียนมา ณ ที่นี้เพื่อให้ นำข้อมูลที่ผมแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่ประสบความเดือดร้อนเช่นผม” แนวทางแก้ไขปัญหา จากรายละเอียดที่ได้แจ้งมาพบว่า คุณสุเทพใช้เวลาจอดรถนานถึง 6 ชั่วโมง 35 นาทีการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน เราได้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์พบว่าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ได้ออกประกาศเรื่องอัตราค่าบริการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ในวันธรรมดา-วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งใช้เรียกเก็บกับบุคคลทั่วไปตามนี้(1)   30 นาทีแรก ไม่คิดค่าจอด(2)   เกิน 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง          คิดค่าจอดคันละ 10 บาท(3)   เกิน 1 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 20 บาท(4)   เกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 40 บาท(5)   เกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 100 บาท(6)   เกิน 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 200 บาท(7)   เกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 400 บาท(8)   เกินกว่า 6 ชั่วโมง                              คิดค่าจอดคันละ 500 บาทกรณีบัตรหาย คิดค่าปรับใบละ 300 บาท (ไม่รวมค่าจอดรถยนต์)ประกาศดังกล่าว เป็นประกาศที่มีการแก้ไขจากประกาศฉบับเดิม ซึ่งป้ายราคาค่าจอดรถยังคงปรากฏอยู่  ณ ที่ช่องทางเก็บค่าจอดรถของตลาด อ.ต.ก.นั้นยังเป็นอัตราราคาเดิม ซึ่งมีช่วงเวลาจอดรถที่ผู้จอดรถได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่แน่ ๆ หากจอดรถนานเกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไปจะถูกเก็บค่าจอดคันละ 500 บาทเรามีหนังสือไปที่ อ.ต.ก. เพื่อสอบถามถึงโครงสร้างราคาค่าจอดรถ ได้รับคำชี้แจงจาก อ.ต.ก.ว่าประการที่หนึ่ง ตามประกาศดังกล่าว จะเห็นว่าค่าจอดรถยนต์ของตลาด อ.ต.ก.คิดราคาไม่สูงเกินกว่า 10-40 บาท หากจอดไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอสำหรับการใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 95 จอดภายในเวลานี้ประการที่สอง อ.ต.ก.จำเป็นจะต้องกำหนดราคาจอดรถยนต์ให้สูงมากหลังจากช่วงเวลานี้ เนื่องจาก อ.ต.ก.มีที่จอดรถยนต์จำกัดเพียง 580 คัน แต่มีผู้มาใช้บริการวันละ 1,500 – 2,500 คัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้มาใช้ลานจอดรถยนต์เพื่อเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่การใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และทำให้ที่จอดรถยนต์ไม่มีเพียงพอ สำหรับผู้มาใช้บริการตลาดคนอื่นๆประการที่สาม กรณีนี้ผู้ใช้บริการจอดรถยนต์นานกว่า 6 ชั่วโมง โดยอาจจะไม่ทราบว่าจะต้องเสียค่าจอดสูงหากจอดเกินกว่าหกชั่วโมง ซึ่งหากมาใช้บริการตลาด อ.ต.ก.เป็นเวลานานมากเช่นนี้ อาจติดต่อขอให้ อ.ต.ก.พิจารณาลดหย่อนเป็นกรณีๆ ต่อไปใครที่จะจอดรถนานๆ นานแบบปาเข้าไปครึ่งค่อนวันกับตลาด อ.ต.ก. ทราบแล้วเปลี่ยน...เปลี่ยนที่จอดด่วน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 จอดที่ไหน? จ่ายเยอะสุด

  หลังจากการมาของนโยบายรถคันแรก รถราบนท้องถนนก็ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรถเยอะขึ้นปัญหาที่ตามมาไม่ได้มีแค่รถติด แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เป็นความทุกข์ของคนมีรถนั้นก็คือ การหาที่จอด เพราะเดี๋ยวนี้ที่จอดรถไม่ได้หาง่ายๆ แถมที่สำคัญที่จอดรถส่วนใหญ่ไม่ได้มีไว้ให้จอดฟรีๆ ต้องมีการจ่ายค่าบริการ แต่ละที่ก็คิดราคาถูกแพงไม่เท่ากัน ฉลาดซื้อ จึงอยากช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคนมีรถที่ต้องเดินทางไปทำธุระตามที่ต่างๆ อยู่เป็นประจำ ด้วยการสำรวจข้อมูลค่าบริการที่จอดรถของอาคารพาณิชย์ชื่อดังที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญๆ  ในกทม. ว่าแต่ละที่เขาคิดค่าบริการกันยังไง ราคาเท่าไหร่ จะได้เตรียมตังค์ เตรียมใจ ก่อนจะเอารถไปจอด   จอดฟรี แต่แค่ 15 นาทีนะ แม้ว่าในการสำรวจครั้งนี้ฉลาดซื้อได้พบว่า “ของฟรียังมีในโลก” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจแต่อย่างใด เพราะแม้ที่จอดรถหลายๆ ที่จะมีเวลาให้จอดฟรี แต่ส่วนใหญ่ก็อนุโลมให้เฉพาะแค่ 10 – 15 นาทีแรกเท่านั้น เต็มที่ก็คือให้จอดฟรีได้ครึ่งชั่วโมง อาคารที่ให้จอดฟรีได้ครึ่งชั่วโมงก็มีอย่างเช่น อาคารบีบี Bangkok Business Building ถ.อโศก, อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร, อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี, อาคารเพลิตจิต ทาวเวอร์ และ อาคารเมืองไทย-ภัทร ถ.รัชดาภิเษก   ซึ่งการมีช่วงเวลาที่รถเข้าไปจอดในอาคารโดยไม่เสียค่าบริการ แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ยังถือเป็นประโยชน์กับคนที่ใช้รถ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้จอดที่อาคารนั้นๆ เป็นประจำ คนที่ไม่เคยทราบราคาค่าที่จอดมาก่อน อย่างน้อยๆ ก็จะได้มีโอกาสตัดสินใจเมื่อเห็นราคา ว่าจะเลือกจอดที่นี่หรือย้ายไปจอดที่อื่น เพราะเป็นข้อกำหนดโดยกรมการค้าภายในอยู่แล้วว่า อาคารสถานที่ที่ให้บริการที่จอดรถต้องมีการแจ้งราคากับผู้ใช้บริการ โดยต้องแจงรายละเอียดการคิดราคาค่าบริการทั้งจัดทำเป็นป้ายให้อ่านชัดเจนและทำเป็นข้อมูลลงในบัตรจอดรถที่ต้องได้รับทุกครั้งเมื่อมาใช้บริการ จ่าย 100 ได้จอด 1 ชั่วโมง ใครที่ดีใจที่ได้มีรถไว้ใช้จากนโยบายรถคันแรก ก็อย่าลืมเตรียมใจว่าจากนี้ไปค่าใช้จ่ายต่างๆ กำลังเดินทางมาดูดเงินจากกระเป๋าคุณ ทั้งค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน และที่หลายคนอาจลืมคิดไปแต่ถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ไม่น้อยก็คือ รายจ่ายค่าที่จอดรถ อาจจะดูน่าตกใจแต่ว่าเป็นเรื่องจริง ที่เดี๋ยวนี้ค่าบริการที่จอดรถมีราคาสูงถึงชั่วโมงละ 100 บาท ซึ่งจากการสำรวจเราพบหลายอาคารที่คิดค่าบริการจอดรถชั่วโมงละ 100 บาท ไม่ว่าจะเป็น อาคาร Interchange ถ.อโศก-สุขุมวิท, อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุมวิท-รัชดาภิเษก, อาคาร Q House ถ.พระราม 4 และ อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร ที่สำคัญคือเศษของชั่วโมงที่เกินมาก็ถือว่าเป็นหนึ่งชั่วโมง บัตรจอดรถเป็นของมีค่า...ต้องรักษาเท่าชีวิต ค่าจอดรถที่ว่าสูงแล้ว ยังไม่เท่าราคาบัตรจอดรถ ทั้งๆ ที่เป็นแค่กระดาษแผ่นเล็กๆ ใบหนึ่งแต่อาจมีค่าสูงถึง 500 บาท ในกรณีถ้าเราทำบัตรจอดรถที่ได้รับมาหายไป ซึ่งการที่บัตรจอดรถมีค่าสูงขนาดนี้เป็นเพราะนี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ไว้แสดงว่าได้มีการทำสัญญาร่วมกันระหว่างเจ้าของรถและอาคารที่ให้บริการที่จอดรถ เผื่อหากเกิดกรณีที่รถหายหรือทรัพย์สินที่อยู่ในรถถูกขโมย บัตรจอดรถจะช่วยยืนยันว่าเราในฐานะเจ้าของรถได้มาใช้บริการจริง นำไปใช้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องความรับผิดชอบกับเจ้าของอาคารที่เราไปจอดรถ   ไม่ได้ประทับตรา ไม่ได้สิทธิ อาคารต่างๆ ที่ให้บริการที่จอดรถส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ที่เป็นที่ตั้งของร้านค้าและสำนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งใครที่มาจอดรถแล้วใช้บริการหรือติดต่อธุระต่างๆ ต้องอย่าลืมใช้สิทธิประทับตราลงบนบัตรจอดรถ เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถจ่ายค่าที่จอดรถได้ถูกลง บางที่ก็ให้สิทธิจอดฟรีได้นานขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง – 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเวลาไปจอดรถไม่ว่าที่ไหนอย่าลืมมองหาจุดประทับตราเพื่อจะได้ช่วยประหยัดค่าจอดรถ สคบ. ขอความร่วมมือ ให้จอดฟรี 1 ชั่วโมง 15 นาที เรื่องของการคิดราคาค่าบริการที่จอดรถนั้น ในบ้านเราไม่ได้มีกฎหมายใดๆ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานเอาไว้ จึงทำให้แต่ละที่มีการคิดราคาแตกต่างกันไป แต่เมื่อปลายปีที่แล้วมีข่าวว่าทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ กรมการค้าภายใน และ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและผู้ให้บริการที่จอดรถของเอกชนทั่วประเทศ ว่าต้องอนุญาตให้ผู้ใช้รถสามารถจอดรถได้ฟรีเป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 15 นาที หลังจากนั้นจึงค่อยมีการคิดค่าบริการ แต่จากผลสำรวจจะเห็นว่าที่จอดรถทุกแห่งที่เราทำการสำรวจ ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ สคบ.เรียกร้องเลยแม้แต่แห่งเดียว (นอกเสียจากจะเป็นการคิดค่าบริการจอดรถที่มีการประทับตรา) เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่ออกมานั้นไม่ได้เป็นข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ แต่เป็นเพียงแต่ขอกำหนดแบบสมัครใจเท่านั้น   มาตรฐานสถานที่จอดรถ -อาคารจอดรถยนต์ต้องสร้างด้วยวัตถุทนไฟทั้งหมด -อาคารจอดรถยนต์ให้สร้างได้สูงไม่เกินสิบชั้นจากระดับพื้นดิน -อาคารจอดรถยนต์ที่สูงเกินหนึ่งชั้น ต้องมีการเปิดโล่งอย่างน้อยสองด้าน ส่วนเปิดโล่งต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ผนังด้านนั้น -อาคารจอดรถยนต์ที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ต้องจัดให้มีเครื่องระบายอากาศภายในชั้นนั้นๆ -ทุกส่วนของอาคารจอดรถยนต์ต้องให้มีแสงสว่างแลเห็นได้ชัดทั้งกลางวันและกลางคืน -ต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่เพียงพอ หนึ่งเครื่องต่อจำนวนที่จอดรถยนต์ทุกๆ ห้าสิบคัน -พื้นที่สำหรับจอดรถ 1 คัน ถ้าเป็นแบบที่จอดขนานกับแนวเดินรถ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร ส่วนถ้าเป็นแบบพื้นที่จอดที่ขนานกับแนวเดินรถ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 5 เมตร -ที่จอดรถแต่ละคัน ต้องมีเครื่องหมายแสดงลักษณะและขอบเขตของที่จอดรถไว้ให้ปรากฏบนพื้น ที่มา : ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ. 2521 และ กฎกระทรวง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เมื่อ “รถหาย” สถานที่ที่รับจอดรถต้องรับผิดชอบหรือไม่? ถ้าลองสังเกตในบัตรจอดรถ จะเห็นข้อความประมาณว่า “บัตรนี้ไม่ถือเป็นการรับฝากรถ อาคารไม่รับผิดชอบใดๆ กรณีเกิดการสูญหายหรือเสียของรถและทรัพย์สินใดๆ” ทำให้หลายคนมีข้อกังวลว่าถ้าหากนำรถไปจอดแล้วรถหายหรือทรัพย์สินในรถถูกขโมยจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของอาคารได้หรือไม่ ซึ่งแม้เจ้าของอาคารจะมีการระบุข้อความที่ไม่ขอแสดงความรับผิดชอบใดๆ เอาไว้ แต่ในทางกฎหมายเราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ เพียงแต่ต้องมีหลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าเราได้นำรถไปจอดที่สถานที่ดังกล่าวจริง เช่น บัตรจอดรถ หรือใบเสร็จจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในอาคารนั้นๆ ซึ่งเราสามารถแจ้งเรื่องไปยัง สคบ. ให้ช่วยดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายได้   ข้อมูลสำรวจอัตราค่าบริการที่จอดรถยนต์ของอาคารพาณิชย์ชื่อดังใน กทม. 1. อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 2 ชั่วโมงแรก   2. อาคารเมืองไทย-ภัทร ถ.รัชดาภิเษก 1 ชั่วโมง 10 บาท 2 ชั่วโมง 30 บาท 3 ชั่วโมง 70 บาท ชั่วโมงที่ 4 เป็นต้นไป คิดเพิ่มชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 30 นาทีแรก 3. อาคารเพลินจิต ทาวเวอร์ ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด) 4. อาคารบางกอกทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี เวลา 07.01 – 19.00 น. ชั่วโมงละ 20 บาท เวลา 19.01 – 24.00 น. ชั่วโมงละ 60 บาท เวลา 24.01 – 07.00 น. ชั่วโมงละ 120 บาท   5. อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ  ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 2 ชั่วโมงแรก   6. อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ ถ.สีลม ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 1 ชั่วโมงแรก   7. อาคารสีบุญเรือง ถ.สีลม ชั่วโมงละ 35 บาท ฟรี 10 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด)   8. อาคารเสริมมิตร ทาวเวอร์ ถ.อโศก ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 10 นาทีแรก จอดเกิน 8 ชั่วโมง คิดชั่วโมงละ 50 บาท ถ้ามีประทับตรา จอดฟรี   9. อาคารบีบี (Bangkok Business Building) ถ.อโศก ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ลดราคา 50%   10. อาคารลุมพินี ถ.พระราม 4 ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ 1 ครั้ง ชั่วโมงแรกฟรี ชั่วโมงต่อไป 20 บาท ถ้ามีตราประทับ 2 ครั้ง จอดฟรี (บริษัทเจ้าของตราประทับนั้นเป็นผู้จ่าย) *หมายเหตุ ตราประทับ 2 ครั้ง ต้องมาจากบริษัทเดียวกัน 11. ที่จอดรถเท็กซัส เยาวราช ชั่วโมงแรก 40 บาท ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ถัดไป 20 บาท   12. อาคารกาญจนทัต ทาวเวอร์ เยาวราช ชั่วโมงละ 50 บาท ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด)   13. อาคาร Park Ventures ถ.วิทยุ ชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 15 นาทีแรก   14. อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ฟรี 1 ชั่วโมงแรก ชั่วโมงต่อไปขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ   15. อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุวิท-รัชดาภิเษก ชั่วโมงแรก 100 บาท ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงถัดไป 50 บาท ฟรี 15 นาทีแรก   16. อาคาร Interchange ถ.อโศก-สุขุมวิท ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 10 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 1 – 2 ชั่วโมงแรก (ขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ)   17. อาคารQ House ถ.พระราม 4 ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ)  

อ่านเพิ่มเติม >