ฉบับที่ 275 เบอร์มือถือ...สูญได้...งอกได้ "...ภาพสะท้อนความหละหลวมของผู้ให้บริการ"

        ชายคนหนึ่งประสบเหตุการณ์ระดับ “แจ็กพ็อต” เกี่ยวกับเบอร์มือถือภายในระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเศษ เริ่มจากที่จู่ๆ ในช่วงเย็นวันหนึ่งปลายเดือนพฤษภาคม เขาได้รับ SMS หรือข้อความสั้นว่ามีการลงทะเบียนเบอร์ที่ใช้งานอยู่ตามปกติของเขาโดยบุคคลอื่น จากนั้นซิมการ์ดมือถือของเขาก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมา เมื่อติดต่อบริษัทผู้ให้บริการจึงทราบว่าเบอร์ของเขากลายเป็นของคนอื่นแล้ว ดีที่เขาจัดการเรื่องอย่างค่อนข้างรวดเร็วจนเบอร์ดังกล่าวถูกโอนกลับมาเป็นชื่อของเขาอีกครั้งหนึ่งในวันถัดมา แต่ภายในเวลาเพียงคืนเดียวนั้น เบอร์ดังกล่าวก็ถูกนำไปทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแจ้งย้ายค่ายมือถือแล้วด้วย         ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ชายคนเดิมนี้ก็ประสบปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือในส่วนของเบอร์ที่เขาไม่ได้เปิด ซ้ำร้าย ปลายเดือนเดียวกันยังถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือเพิ่มเติมอีกเบอร์หนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเบอร์ที่เขาทั้งไม่ได้เปิดและไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกัน         นั่นหมายความว่า ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ชายคนนี้ถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือถึง 3 เบอร์ ทั้งๆ ที่เขาใช้งานมือถือเพียงเบอร์เดียวและเครื่องเดียว แต่มีเบอร์งอกแฝงมาถึง 2 เบอร์         ทั้งกรณีเบอร์งอกและเบอร์สูญต่างนำมาสู่การเสียทรัพย์ และดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลหรือมิจฉาชีพทั้งคู่ โดยในกรณีเบอร์งอกเป็นเรื่องของการถูกอ้างชื่อใช้บริการโทรคมนาคมแล้วโยนหนี้ให้ ส่วนใหญ่แล้ว กว่าผู้ถูกแอบอ้างใช้ชื่อเปิดเบอร์จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงรอบชำระค่าบริการและถูกเรียกเก็บค่าบริการมาในนามของตน ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเช่นนี้จึงมีภาระต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้น คนกลางอย่างผู้ให้บริการมือถือก็มักยกเว้นหนี้ให้         อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาค่าบริการแล้ว การถูกแอบอ้างเปิดเบอร์ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ตามมาได้ไม่ต่างจากกรณีถูกฉกเบอร์ นั่นคืออาจมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือแล้วสร้างหนี้ไว้ให้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น อาจมีการทำธุรกรรมในลักษณะที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้ผู้ถูกแอบอ้างชื่อต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย         นอกจากนี้ ทั้งเรื่องเบอร์สูญและเบอร์งอกต่างก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการไม่อาจระมัดระวังได้เอง และไม่มีแนวทางที่จะดูแลตัวเองได้มากนัก หลักๆ แล้วเป็นเรื่องที่ขึ้นกับกระบวนการขั้นตอนการทำงานของบริษัทผู้ให้บริการ ที่จะต้องมีแนวปฏิบัติที่รัดกุมและมีมาตรการควบคุมให้ผู้ปฏิบัติและผู้เกี่ยวข้องทำตามโดยเคร่งครัด ในขั้นตอนการลงทะเบียนใช้บริการ         ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนให้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการที่จะต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดบริการ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงศูนย์หรือสำนักงานให้บริการลูกค้าของผู้ให้บริการ และร้านค้าหรือจุดให้บริการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำการตลาด หรือให้บริการใดๆ ในนามบริษัทผู้ให้บริการ         ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญๆ ในการลงทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเอกสารหลักฐานแสดงตัวตน เช่น ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่ผู้ให้บริการต้องมีการออกแบบมาตรฐานและวิธีการในการลงทะเบียน ให้จุดบริการต่างๆ ต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         ในกรณีของชายผู้ประสบเหตุถูกลอบเปิดเบอร์ในชื่อของเขาถึง 2 เบอร์ภายในเดือนเดียว ตามที่เล่าข้างต้น ผลจากการร้องเรียนทำให้พบว่า ต้นเหตุเกิดจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และหลักเกณฑ์ตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งในที่สุด บริษัทผู้ให้บริการก็ได้ยกเลิกสัญญากับร้านค้าดังกล่าว รวมถึงยกเว้นค่าบริการให้แก่ชายที่ร้องเรียน         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการตามแก้ไขคลี่คลายปัญหาในภายหลัง โดยที่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ทำอะไรผิดต้องเผชิญปัญหาและได้รับผลกระทบบางประการไปแล้ว         ส่วนในกรณีเบอร์สูญนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมในการลงทะเบียนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกบริการของคนหนึ่งและเข้าสู่บริการของอีกคนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรต้องมีความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุม เช่นเดียวกัน แต่ในมิติด้านนี้ กสทช. ยังไม่ได้วางกติกาที่ชัดเจน         สำหรับในรายของชายคนดังกล่าว ปรากฏว่า บริษัทผู้ให้บริการมือถือได้ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันจะมีเพียงเฉพาะผู้จดทะเบียนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการกรอกรหัส OTP ส่วนในขั้นตอนการแสดงตนใหม่ ทางบริษัทผู้ให้บริการก็ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการใหม่ต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายภาพเซลฟี่ตนเองเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนด้วย ทั้งนี้ ทางบริษัทผู้ให้บริการยืนยันว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน หรือขั้นตอนการลงทะเบียนแสดงตนใหม่ผ่านทางแอปพลิเคชันนั้นมีความปลอดภัย และถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของเลขหมายที่ประสงค์จะโอนย้ายเลขหมายหรือเบอร์ให้แก่บุคคลอื่น         จากข้อชี้แจงดังกล่าวของบริษัทฯ สะท้อนถึงมุมคิดที่น่าจะมีความผิดพลาดและขาดความสมดุลระหว่างเรื่องการอำนวยความสะดวกกับความปลอดภัย           ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่บริษัทฯ มีมุมมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน ทั้งที่ความหมายแท้จริงเป็นเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของหรือคนครอบครองเดิมอย่างชัดเจน การยอมให้ใช้ช่องทางแอปพลิเคชันจึงนับว่าหละหลวมเกินไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสวมรอยโดยบุคคลอื่นเข้ามาแอบอ้างขอเปลี่ยนชื่อและลงทะเบียนใหม่         เช่นเดียวกับเรื่องการยกเลิกบริการที่จำเป็นต้องมีกระบวนการขั้นตอนพิสูจน์ตัวตนของผู้ที่ใช้บริการให้ชัดแจ้งว่ามีความประสงค์เลิกใช้เลขหมายดังกล่าวแล้วจริงๆ ดังนั้น กระบวนการและขั้นตอนในการยกเลิกบริการจึงควรต้องเข้มงวดไม่น้อยกว่าขั้นตอนจากการสมัครหรือลงทะเบียนเข้าสู่การใช้บริการ หรืออาจควรเข้มงวดกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบัน เลขหมายมือถือกลายเป็นสิ่งที่ผูกกับตัวตนของผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง         การอำนวยความสะดวกเรื่องการเปลี่ยนชื่อคนครอบครองเลขหมายมือถือผ่านแอปพลิเคชันของทางค่ายมือถือจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรยกเลิก เพราะตราบเท่าที่เปิดช่องทางนี้ไว้ก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาการสูญเบอร์ขึ้นได้ โดยที่ฝั่งผู้ใช้บริการไม่มีทางที่จะป้องกันหรือปกป้องตัวเองได้เลย จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น         ทั้งนี้ จะว่าไปแล้ว เรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วลงทะเบียนใหม่ได้ทันทีเช่นนี้เท่ากับรวมเอาทั้งกระบวนการขั้นตอนการยกเลิกบริการและกระบวนการขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าสู่บริการเข้ามาเป็นขั้นตอนเดียว จึงไม่ควรเป็นเรื่องปล่อยให้ทำได้อย่างง่ายๆ และขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม อย่างที่สุด เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดการฉกหรือช่วงชิงเบอร์กันได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ผลทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ

        ใครอยากรู้ว่า call center มือถือค่ายไหนติดต่อได้ไวทันใจ หรือต้องรอนาน ตามมาๆ         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่  AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566   วิธีการทดสอบ         ผู้ทดสอบจะใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่าย (AIS 1175, DTAC 1678, NT 1888 และ TRUE 1242) โดยแบ่งขั้นตอนการติดต่อเป็นการเปลี่ยนโปรโมชั่น การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ การย้ายค่าย และปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะโทร.ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.00 – 18.00 น.และ 19.00 – 23.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลา 9.00 – 16.00 น. และ 19.00 – 23.00 น. โดยจับเวลาตั้งแต่เริ่มต้นที่ 0.01 จนถึงได้พูดคุยกับโอเปอเรเตอร์ ผลการทดสอบ        เมื่อใช้เครือข่าย AIS โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.TRUE (6.31)          2.AIS (3.10)             3.DTAC (2.37)            4.NT (0.40)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (5.27)          2.AIS (2.46)             3.DTAC (2.06)            4.NT (0.53)         การย้ายเครือข่าย =>                                             1.TRUE (5.11)          2.DTAC (2.56)           3.AIS (2.24)               4.NT (1.37)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>          1.TRUE (4.33)          2.DTAC (3.02)           3.AIS (2.42)               4.NT (0.58)         ·     ลูกค้า AIS หากต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่นและมีปัญหาสัญญาณหายฯ ควรโทร.ในวันทำงานช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ส่วนใครจะถามเรื่องค่าใช้จ่ายผิดปกติและการย้ายค่าย แนะนำให้โทร.ในวันหยุดตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น     เมื่อใช้เครือข่าย DTAC โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.AIS (6.47)            2.DTAC (3.56)            3.TRUE (3.39)              4.NT (1.21)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (5.02)          2.AIS (2.48)               3.DTAC (2.23)              4.NT (1.18)        การย้ายเครือข่าย =>                                             1.AIS (3.43)             2.TRUE (1.15)            3.DTAC (1.13)              4.NT (1.01)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>           1.DTAC (4.08)         2.AIS (3.05)               3.TRUE (2.58)              4.NT (0.43)         ·     ลูกค้า DTAC แนะนำให้โทร.ในวันทำงานช่วงค่ำ 1 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม แต่หากต้องการย้ายค่ายโทร.ช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จะเร็วกว่า และเลี่ยงติดต่อในวันหยุดเพราะจะต้องรอนานกว่า      เมื่อใช้เครือข่าย NT โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.TRUE (3.52)          2.AIS (3.24)                3.DTAC (1.54)             4.NT (0.47)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (3.30)          2.AIS (3.18)                3.DTAC (1.39)             4.NT (1.16)         การย้ายเครือข่าย =>                                             1.TRUE (9.45)         2.DTAC (3.35)             3.AIS (2.13)                4.NT (0.38)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>           1.TRUE (4.00)          2.AIS (2.40)                3.DTAC (1.47)             4.NT (0.38)        ·     ลูกค้า NT โทร.ถามทุกเรื่องได้จากโอเปอเรเตอร์โดยตรง ทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม รอสายนานสุดไม่เกิน 4 นาที แต่ถ้าอยากให้ไวแบบไม่ถึงนาทีก็โทร.ช่วงค่ำวันหยุดได้เลย     เมื่อใช้เครือข่าย TRUE โทร.ออก call center แต่ละเครือข่าย มีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                     1.TRUE (4.29)          2.AIS (3.30)                3.DTAC (2.57)             4.NT (0.39)         การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                        1.TRUE (3.01)          2.AIS (2.55)                3.DTAC (2.27)             4.NT (1.06)        การย้ายเครือข่าย =>                                          1.TRUE (5.03)          2.AIS (2.48)                3.DTAC (2.22)             4.NT (0.59)         ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>        1.TRUE (3.00)         2.AIS (2.53)                 3.DTAC (2.20)             4.NT(1.00)         ·     ลูกค้า TRUE แนะนำให้โทร.ในวันทำงานช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น แต่หากต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่น ให้โทร.ช่วงค่ำๆ จะเร็วกว่า  *หมายเหตุ ลูกค้าในที่นี้ คือ ผู้ใช้เบอร์ที่โทร.ออก และเบอร์ติดต่อ call center เป็นของเครือข่ายเดียวกัน     เมื่อใช้โทรศัพท์พื้นฐาน โทร. ออก call center แต่ละเครือข่าย มีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                     1.AIS (3.14)            2.DTAC (2.14)                3.TRUE (2.06)            4.NT (1.01)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                       1.AIS (2.48)            2.DTAC (2.40)                3.TRUE (2.22)            4.NT (0.57)        การย้ายเครือข่าย =>                                         1.TRUE (3.09)         2.DTAC (1.35)                3.NT (1.02)                4.AIS (0.55)         ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>       1.AIS (3.17)            2.TRUE (1.52)                3.DTAC (1.48)            4.NT (0.52)         ·     ผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานโทร.ออก ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในอันดับ 1 น้อยกว่าใช้ทุกค่ายโทร.ออก ยกเว้นใช้เครือข่าย TRUE โทร.ออก เรื่องปัญหาสัญญาณฯ  ข้อสังเกต         ·          call center ของ TRUE ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน เมื่อโทร.ออกด้วยเบอร์ของ AIS, NT และ TRUE  เอง บางครั้งพนักงานมีการตัดสาย        ·          call center ของ NT ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยเร็วสุดทุกขั้นตอน เมื่อโทร.ออกด้วยเบอร์มือถือของทุกค่าย และติดต่อพนักงานได้ทุกครั้ง        ·          call center ของ AIS, DTAC และ TRUE มีบางครั้งที่ติดต่อพนักงานไม่ได้        ·          call center ของ DTAC และ TRUE มีบางครั้งที่พนักงานติดต่อกลับ        ·          ระยะเวลานานสุดที่จับเวลาได้คือ 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE ในขั้นตอนการย้ายค่าย ช่วงวันและเวลาทำงาน        ·          ระยะเวลาเร็วสุดที่จับเวลาได้คือ 0.30 นาที เมื่อใช้เบอร์โทรศัพท์พื้นฐานโทร.ไปยัง call center ของ NT ในขั้นตอนสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายผิดปกติ ช่วงวันและเวลาทำงาน สรุปผลโพลล์         จากการสำรวจเรื่อง call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร         จำนวน 1,116 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 4 -10 กันยายน 2566         ·        ร้อยละ     46.6            เป็นลูกค้าของ AIS        ·        ร้อยละ     33.4            เป็นลูกค้าของ TRUE        ·        ร้อยละ     18               เป็นลูกค้าของ DTAC        ·        ร้อยละ     2                 เป็นลูกค้าของ NT         ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88.4) เคยโทร.ติดต่อ Call Center โดยมีผู้ใช้ทั้งเบอร์แบบหมายเลข 4 ตัว (ร้อยละ 50.8)        และแบบหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 02 (ร้อยละ49.2) พอๆ กัน ในเรื่องต่างๆ ดังนี้        ·        ร้อยละ    44.4        ใช้งานอินเทอร์เนตไม่ได้        ·        ร้อยละ    44           ค่าบริการผิดปกติ        ·        ร้อยละ    43.2        ตรวจสอบการใช้งาน        ·        ร้อยละ    26.6        โทรเข้า/ออกไม่ได้        ·        ร้อยละ    25.4        เปลี่ยนโปรโมชั่น        ·        ร้อยละ    23.1        สอบถามโปรโมชั่น         เหตุผลในการย้ายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ได้แก่        ·        ร้อยละ     38.9       ได้รับโปรโมชั่นที่ดีกว่าจากกการย้าย           ·        ร้อยละ    24.5        ลดค่าใช้จ่าย                  ·        ร้อยละ    17.4        เปลี่ยนเครื่องมือถือ        ·        ร้อยละ    17.4        ปัญหาสัญญาณมือถือ                  ·        ร้อยละ    1.8         อื่นๆ                                                                                                 เมื่อถามว่าเคยโทร.หา call center แล้วรอนานแค่ไหนกว่าจะได้คุยสายกับเจ้าหน้าที่ คำตอบคือ        ·  11 – 15    นาที          ร้อยละ    31.5        ·  6 – 10      นาที          ร้อยละ    25.3        ·  16 – 20    นาที          ร้อยละ    16        ·  1 – 5        นาที          ร้อยละ    15.5        ·  21 – 25    นาที          ร้อยละ    5.6        ·  26 -30      นาที          ร้อยละ    2.9        ·  น้อยกว่า 1 นาที          ร้อยละ    1.9        ·  มากกว่า 30 นาที        ร้อยละ    1.3 จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ร้อยละ 92.5 คิดว่าภาครัฐควรมีการแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบ Cell Broadcasting ด้วยการส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยตรง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2559“บินถูกแต่ไม่มีที่นั่ง” โฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาถูกของบรรดาสายบิน “โลว์คอสต์” ต่างๆ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำและกลุ่มผู้ที่รักการท่องเที่ยว แต่ล่าสุดได้เกิดปัญหาจากโฆษณาโปรโมชั่นของสายบินโลว์คอสต์ที่สร้างความเข้าใจผิดกับผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ต้องออกมาเตือนพร้อมกำหนดแนวทางให้กับบรรดาสายการบินต่างๆ ในการทำโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาถูกโดย สคบ.ออกมาเตือนสายการบินโลว์คอสต์แห่งหนึ่ง ที่มีการโฆษณาว่าบินเที่ยวออสเตรเลียจ่ายเพียง 1,200 บาท ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่า ราคาที่โฆษณามีที่นั่งจำกัดแค่ 1-2 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวถือเป็นโฆษณาในลักษณะที่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะเป็นการโฆษณาโดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทาง สคบ.จึงทำเอกสารชี้แจงไปยังผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน ว่าการโฆษณาโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาพิเศษต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องระบุข้อความให้ชัดเจน ครบถ้วน เกี่ยวกับเงื่อนไขและรายละเอียด วันเริ่มต้น วันสิ้นสุดของโปรโมชั่นที่โฆษณา จำนวนที่นั่งที่มีให้ หากผู้ประกอบการธุรกิจรายใด กระทำการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจะมีความผิดตามกฎหมาย ถอนทะเบียน 40 ตำรับยาต้านแบคทีเรีย ทำคนป่วยเพราะดื้อยามีข้อมูลว่าในแต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 - 38,000 คน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าว “เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย” โดยเป็นการแถลงข้อมูลที่ได้จากการศึกษารายการยาต้านแบคทีเรียในประเทศ พบว่ามีมากกว่า 40 สูตรยาตำรับ ที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทยเนื่องจากเป็นยาที่ไม่ได้มีประสิทธิผลในการรักษาโรค เช่น “ยาอมแก้เจ็บคอ” ที่ไม่ควรมียาต้านแบคทีเรียเป็นส่วนประกอบ เพราะโรคเจ็บคอมากกว่า 80% ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดจากแบคทีเรียปริมาณยาก็ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อในลำคอให้หาย แถมการกลืนยาลงสู่กระเพาะอาหารยังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาของแบคทีเรียในลำไส้ หรือ ยาต้านแบคทีเรียที่เป็นสูตรผสมชนิดฉีด ที่ไม่ควรเป็นสูตรผสมเพราะอาจเกิดปัญหาประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับทั้งนี้จะมีการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถอนบัญชียาเหล่านี้ออกจากประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียาดังกล่าวได้ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ www.thaihealth.or.th10 อาการป่วยใช้สิทธิ์ฉุกเฉินได้ทันทีฟรี 24 ชม. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต 10 อาการ เพื่อเป็นหลักให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ในการใช้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สายด่วน 1669 ซึ่งหากพบผู้ป่วยด้วยอาการ 10 ลักษณะต่อไปนี้ สามารถเข้ารับการรักษากรณีฉุกเฉินได้ทันที ไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอด 24 ชั่วโมง1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ, 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง, 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือ มีอาการชักร่วม, 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง, 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือ ชักต่อเนื่องไม่หยุด, 6.ได้รับบาดเจ็บ ต่อสมอง ต่อกระดูกสันหลัง มีแขนขาอ่อนแรง มีบาดแผลที่เสียเลือดมาก ถูกไฟฟ้าแรงสูง แผลไฟไหม้บริเวณกว้าง, 7.ถูกยิง ถูกแทง ที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะสาคัญ, 8.งูพิษกัด ซึม หายใจลำบาก หนังตาตก, 9.ตั้งครรภ์และชัก ตกเลือดมาก มีน้ำเดิน เด็กโผล่ และ 10.บาดเจ็บต่อดวงตาจากสารพิษ มองไม่ชัดคนไทยถูกค่ายมือถือเอาเปรียบ?รู้หรือไม่ว่า? คนไทยต้องจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือสูงกว่าความเป็นจริง  หลังจากมีข่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ได้เรียกให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาให้ข้อมูลที่ทั้ง 3 บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรู คิดค่าบริการเกินกว่าที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้บริการ ซึ่งทาง กสทช. ก็รับว่าปัจจุบันทั้ง 3 ค่ายมือถือยังมีการคิดค่าบริการที่สูงกว่าอัตราที่ กสทช. กำหนดโดยตามประกาศ เรื่องอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ 2.1 จิกะเฮิรตซ์ (GHz) ที่ กสทช. กำหนดนั้น การคิดค่าบริการจะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง แยกเป็น การบริการเสียง ห้ามเกินนาทีละ 69 สตางค์ บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 1.15 บาท/ ข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ไม่เกิน 3.11 บาท/ข้อความ และบริการอินเตอร์เน็ต (Mobile Internet) ไม่เกิน 0.26 บาท/เมกกะไบค์ (MB)ซึ่งจากนี้ กสทช. ต้องทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เร่งดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการค่ายมือถือที่เอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบโปรโมชั่นต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนด สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหากพบว่าค่าบริการที่ใช้อยู่สูงกว่าอัตราที่ทาง กสทช. กำหนด สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช.1200 ฉลากอาหารแบบใหม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภควอนรัฐเดินหน้าอย่ายกเลิกคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) นำเสนอผลการสำรวจการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร พบว่าส่วนใหญ่มีการปรับปรุงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยข้อมูลผลสำรวจที่ได้นำมาใช้เป็นข้อมูลโต้แย้งกับแนวคิดของประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขอให้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว ให้กลับมาใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคน้อยกว่าฉบับที่ 367 โดยประชารัฐกลุ่มนี้อ้างว่า ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 เพราะมีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและสับสน และไม่สามารถทำฉลากใช้ร่วมกับประเทศอื่นได้ ต้องมีสต็อกฉลากเฉพาะขายในประเทศไทยทำให้ต้นทุนสูง    ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 จะมีการให้แสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่าประกาศฉบับที่ 194 เช่น สำหรับผู้แพ้อาหาร กรณีใช้ส่วนประกอบหรือปนเปื้อนในกระบวนการผลิตของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไข่ ถั่ว นม นอกจากนี้ต้องแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะหรือตัวเลขตามระบบเลขรหัสสากล (International Numbering System : INS for Food Additives)รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะอนุกรรมการฯ คอบช. กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจฉลากแสดงชัดเจนว่า ข้ออ้างของประชารัฐที่ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 นั้น ไม่เป็นความจริง จึงขอเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว และให้มีกระบวนการตรวจสอบการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >