ฉบับที่ 258 8 ปี พลเอกประยุทธ์ 8 ปีแผนพลังงานไฟฟ้า ทำไมค่าไฟฟ้าแพง?

        พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงวันนี้ก็เกิน 8 ปีไปแล้ว ข้อถกเถียงในประเด็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ในที่นี้ผมจะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าไฟฟ้า ว่าในช่วง 8 ปีดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและเพราะอะไร โดยจะนำเสนอเพียง 3 ประการต่อไปนี้         ประการที่หนึ่ง สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าฐานได้เพิ่มขึ้นจาก 2.07 บาทต่อหน่วยในกลางปี 2557 เป็น 2.57 บาทต่อหน่วยในปลายปี 2558 และเป็น 3.25 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 2565)  หรือเพิ่มขึ้น 57% ในช่วง 8 ปี เฉลี่ยร้อยละ 7.13 ต่อปี         โดยปกติครอบครัวคนชั้นกลางจะใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วยต่อเดือน  โดยอัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบก้าวหน้า คือยิ่งใช้มาก อัตราต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ผมลองใช้เว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อคำนวณค่าไฟฟ้า พบว่า ถ้าใช้เดือนละ 600 หน่วย อัตราเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.06 บาทต่อหน่วย เห็นไหมครับว่ามันมากกว่า 3.25 บาทซึ่งเป็นอัตราสำหรับผู้ใช้ 150 หน่วย  ถ้าขยับขึ้นเป็น 1,000 หน่วย อัตราก็จะกระโดดไปที่ 4.20 บาทต่อหน่วย         ที่กล่าวมาแล้วเป็นเฉพาะค่าไฟฟ้าฐานเท่านั้น แต่ค่าไฟฟ้าจริงๆที่เราจ่ายประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน อีก 2 ส่วนที่เหลือคือ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือที่เรารู้จักกันว่า ค่าเอฟที และค่าบริการ 38.22 บาทต่อเดือน จากนั้นก็ตบท้ายด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มของทั้งสามส่วนอีก 7%         ปัจจุบัน ค่าเอฟที(ซึ่งมาจาก (1) ค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. (2) ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และ (3) ค่านโยบายของรัฐบาลของงวดใหม่ที่ผันแปรไปจากค่าไฟฟ้าฐาน) เท่ากับ 93.43 บาทต่อหน่วย คิดเบ็ดเสร็จแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าจำนวน 1,000 หน่วยต่อเดือนจะต้องจ่ายเท่ากับ 5,530.03 บาท เฉลี่ย 5.53 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าใช้เพียง 900 หน่วย ค่าเฉลี่ยต่อหน่วยก็จะลดลงมาเหลือ 5.51 บาท         ภาพข้างล่างนี้แสดงสถิติของค่าเอฟทีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับข้อสรุปค่าไฟฟ้าฐานที่ผมค้นคว้ามาประกอบครับ           ประการที่สอง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มจาก 29% ในสิ้นปี 2557 เป็น 51% ในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565         นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(หรือPDP) มาแล้ว 3 แผน คือ PDP2015 , PDP2018 และ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และกำลังจะมี PDP2022 ในเร็วๆ นี้         แผนพีดีพีก็คือแผนที่กำหนดว่าในปีใดจะมีโรงไฟฟ้าจำนวนเท่าใดเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า ใช้เชื้ออะไรบ้าง และให้รัฐหรือเอกชนเป็นเจ้าของอย่างละเท่าใด         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ตอนสิ้นปี 2557 กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบมีจำนวน 34,668 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ. 45% แต่พอถึงสิ้นเดือน พฤษภาคม 2565 กำลังการผลิตทั้งระบบมี 50,515 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.เพียง 31% เท่านั้น         นี่คือการคุมกำเนิดหรือจำกัดการเติบโตของ กฟผ. แล้วหันมาส่งเสริมโรงไฟฟ้าเอกชน ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนร่ำรวยมหาศาลอย่างรวดเร็ว         ประการที่สาม  ค่าไฟฟ้าแพงเพราะนโยบายเอื้อกลุ่มทุนให้ใช้ก๊าซฯของรัฐบาล         ไฟฟ้าที่คนไทยใช้ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 2 แสนล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 60% ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แต่การจัดหาก๊าซฯมาจาก 4 แหล่ง คือ (1) แหล่งในประเทศไทย (2) นำเข้าจากเมียนมา (3) แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และ (4) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยที่ LNG นำเข้าจะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับอีก 3 แหล่งที่เหลือ  ปริมาณการจัดหาและการใช้ดังแสดงในภาพถัดไป           เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง (ฮาโรลด์ ลาสเวลล์, 1902-1978) ได้กล่าวอย่างสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “การเมืองคือการตัดสินใจว่าจะให้ใครได้อะไร เมื่อใดและอย่างไร” (“Politics is who gets what, when, and how.”)         ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ คือสามารถอัดก๊าซฯให้เป็นของเหลวแล้วบรรจุใส่ถัง สามารถขนส่งทางเรือได้ เริ่มนำเข้ามาเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2553 แต่เริ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยพลเอกประยุทธ์         สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจคือ เมื่อเรามีก๊าซฯจำนวนจำกัด เราควรจะตัดสินใจให้ใครได้ใช้ก่อน ระหว่างภาคการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศซึ่งส่วนมากเป็นคนยากจน มีหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น แถมต้องประสบกับภัยพิบัติจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 กับภาคปิโตรเคมีซึ่งสร้างกำไรได้มหาศาลให้กับผู้ถือหุ้นไม่กี่หมื่นราย         ด้วยเหตุทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ขณะเดียวกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ถูกบอนไซและเป็นหนี้แทนประชาชนกว่า 8 หมื่นล้านบาท แต่ภาคธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติได้ร่ำรวยอย่างมหาศาล        ความจริงเรื่องทำนองนี้มีการก่อตัวให้เราเห็นแนวโน้มมานานแล้ว แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นตัวเร่งให้ความหายนะรวดเร็วและรุนแรงขึ้น  ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้าที่พลเอกประยุทธ์จะเข้ามา ประชาชนได้เรียกร้องให้มีการประเทศในหลายด้านรวมทั้งการปฏิรูปพลังงานด้วย  แต่แล้วนอกจากจะไม่ได้ปฏิรูปแล้วยังได้ซ้ำเติมให้สถานการณ์สาหัสกว่าเดิมมากๆ

อ่านเพิ่มเติม >