ฉบับที่ 265 ส่วนต่าง 0.75 สตางค์

        ชายคนหนึ่งรู้สึกมาโดยตลอดว่า มือถือแบบเติมเงินที่เขาใช้ มักถูกตัดเงินไม่ค่อยตรงตามการใช้งาน ในความเข้าใจของเขา โปรฯ หรือแพ็กเกจ หรือรายการส่งเสริมการขายที่เขาใช้ คิคค่าโทรนาทีละ 70 สตางค์ แต่เงินในระบบที่เขาเติมไว้มักถูกตัดออกไปเกินปริมาณการใช้งานทำให้เงินหมดลงเร็วเกินควรอย่างไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน แต่เขาก็ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขารู้สึกว่าเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด         จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 เขาโทรออก 1 ครั้งโดยใช้เวลาคุยประมาณ 50 วินาที ก่อนการโทรครั้งนั้นเขาได้ตรวจสอบเงินคงเหลือในระบบ และพบว่ามีจำนวน 197.45 บาท แต่หลังการโทร เงินคงเหลืออยู่ที่ 196.64 บาท ซึ่งเขาได้เก็บภาพหน้าจอยอดเงินคงเหลือทั้งสองช่วงนั้นไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงบันทึกประวัติการโทรรายการดังกล่าว ด้วยหลักฐานเหล่านี้ เขาจึงร้องเรียนเข้ามายัง กสทช.         ข้อเรียกร้องของเขาคือ ต้องการให้บริษัทผู้ให้บริการคืนเงินที่เก็บไปเกิน และมีหนังสือชี้แจงรายละเอียด พร้อมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือตรวจสอบว่ามีการทำผิดหรือไม่ หากผิดก็ขอให้ลงโทษด้วย         น้ำเสียงของการร้องเรียนกรณีนี้จึงผสมผสานทั้งการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ส่วนตนกับการธำรงความเป็นธรรมและความถูกต้อง        สำหรับข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงมา บ่งบอกให้รู้ว่า โปรฯ ที่ผู้ร้องใช้คือนาทีละ 75 สตางค์ โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจำนวนที่เรียกเก็บจึงเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย         ข้อชี้แจงของบริษัทถือว่าฟังขึ้นและมีความกระจ่างในทางหลักการเหตุผล ดูเผิน ๆ แล้ว เรื่องร้องเรียนนี้จึงสมควรที่จะยุติลงได้ ถ้าหากว่าจะไม่มีปีศาจอยู่ในรายละเอียด กล่าวคือ เมื่อนำยอด 197.45 เป็นตัวตั้ง ลบด้วย 196.64 เท่ากับว่าราคาที่บริษัทเก็บในการโทร 1 นาทีนั้นคือ 81 สตางค์ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ที่เก็บไปจึงอยู่ที่ 6 สตางค์ แต่ด้วยอัตรา vat ของไทย 7% เมื่อคิดเทียบกับต้นเงิน 75 สตางค์แล้ว vat ต้องอยู่ที่ 5.25 สตางค์         ราคาของการโทรรายการนี้รวม vat จึงอยู่ที่ 80.25 สตางค์ หรือถ้าไม่ต้องการให้มีเศษ ก็ควรเก็บที่ 80 สตางค์เท่านั้น เนื่องจากหลักการปัดเศษทางภาษีใช้หลักเดียวกับคณิตศาสตร์ทั่วไป นั่นคือถ้าน้อยกว่า 5 ต้องปัดลง         เนื่องจากผู้ร้องเรียนสำคัญผิดว่า ตนเองใช้โปรฯ นาทีละ 70 สตางค์ อีกทั้งยังคิดเลขผิด จึงนิยามปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าแพ็กเกจหรือสัญญา แต่ผลการตรวจสอบทำให้พบว่า ปัญหาของกรณีนี้เป็นเรื่องการปัดเศษภาษีโดยไม่ถูกต้อง         แม้ความไม่ถูกต้องที่ว่าจะทำให้ผลลัพธ์ในเชิงตัวเงินก่อให้เกิดส่วนต่างเพียงไม่ถึง 1 สตางค์ แต่กรณีนี้กลับสะท้อนประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การปัดเศษเช่นนี้ดูจะเป็นแนวปฏิบัติปกติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มิติที่เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้าแล้วก็คือ การปัดเศษเรื่องเวลาการโทร และที่จริงแล้วก็มีการปัดเศษในเรื่องปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย โดยอุตสาหกรรมนี้เลือกปัดเศษในทิศทางปัดขึ้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นยังไม่ใช่การปัดในระดับยอดรวม แต่ปัดเศษในทุก ๆ ครั้งของการโทรเลยทีเดียว         ในเรื่องของการปัดเศษเวลาการโทร ทั้งๆ ที่เมื่อหลายปีก่อน มีกระแสการรณรงค์เรื่องการคิดค่าโทรหรือค่าใช้บริการโทรคมนาคมโดยรวม “ตามจริง” ในความหมายที่ว่า ใช้เท่าไรก็คิดเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมและ กสทช. กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในแนวทางที่ว่า เป็นเรื่องของการจัดโปรฯ หรือแพ็กเกจ ซึ่งโปรฯ แบบนาทีทำให้คิดอัตราค่าบริการต่ำได้ และการมีโปรฯ ทั้งแบบนาทีและวินาที ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น         จนปัจจุบันการคิดค่าบริการแบบปัดเศษจึงยังคงเป็นแนวปฏิบัติปกติเพียงแต่ในตลาดเพิ่มการมีโปรฯ หรือแพ็กเกจแบบคิดค่าบริการเป็นวินาทีให้เลือกใช้ด้วย        กลับมาในกรณีการปัดเศษ vat เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นการปัดเศษลักษณะรายครั้งเช่นเดียวกัน  ส่วนต่างระดับเศษเสี้ยวของสตางค์ที่แสนเล็กน้อยนี้ แท้แล้วจึงไม่เล็กน้อยเลยเมื่อคิดเป็นยอดในเชิงสะสมที่ผู้บริโภคแต่ละคนต้องจ่ายและยิ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอย่างยิ่งสำหรับในมุมของผู้รับ ในเมื่อจำนวนผู้ใช้บริการมือถือในประเทศนี้มีมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ         0.75 สตางค์ต่อการโทร 1 ครั้ง สมมติโทรเพียงวันละสองครั้ง ส่วนต่างก็จะกลายเป็น 1.5 สตางค์ต่อวัน และกลายเป็นปีละกว่า 5 บาท  หากคูณด้วยจำนวนคนเพียง 10 ล้านคน เงินส่วนต่างที่เริ่มจากเสี้ยวสตางค์ก็จะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 50 ล้านบาท         กรณีนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องร้องเรียน โดยที่การลงแรงของผู้บริโภคที่ละเอียดละออคนหนึ่ง ทำให้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นได้ถูกสะท้อนออกมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 วุ่นวายมากไปไหมกับการจ่ายค่าโทรศัพท์แบบไร้ใบแจ้งหนี้

        คุณนิดดูแลบ้านพัก 3 หลัง จึงใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลายเลขหมาย โดยทุกเลขหมายมีชื่อผู้ใช้บริการเป็นชื่อเธอคนเดียว  ซึ่งแต่ละเลขหมายจะแยกจ่ายตามคนที่อยู่อาศัยหลักๆ ของบ้านนั้นๆ  ตัวเธอเองรับจ่ายค่าบริการของบ้านที่ดินแดง น้องสาวจ่ายค่าบริการของบ้านที่ราชเทวี ส่วนน้องชายจ่ายของบ้านที่บางเขน เวลาไปจ่ายเงินก็ใช้เพียงการบอกบ้านเลขที่บ้าน ไม่เคยต้องถือใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการไปให้ยุ่งยาก เพราะเธอรักษ์โลกช่วยลดการใช้กระดาษจึงระบุต่อผู้ให้บริการว่า ขอไม่รับใบแจ้งค่าใช้บริการแบบกระดาษ  ให้ทางบริษัทฯ ส่ง SMS แจ้งค่าบริการมาแทน         วันหนึ่งของเดือนที่อากาศร้อนมากๆ แต่วันนั้นอากาศค่อนข้างเย็นสบาย คุณนิดจึงเดินออกจากบ้านตอนบ่ายแก่เพื่อไปจ่ายเงินค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลังที่เธอรับผิดชอบที่ร้านรับจ่ายค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านอนุเสาวรีย์ชัย  เมื่อถึงร้านเธอจดเลขที่บัตรประชาชนเหมือนเคย แล้วบอกว่า จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้านเลขที่ 9999 (เลขสมมติ) เขตดินแดง... พร้อมกับส่งบัตรเครดิตให้พนักงาน         คุณพนักงานของร้านก้มหน้าสักพัก พร้อมยื่นใบเสร็จกลับมาให้ คุณนิดอ่านดูรายละเอียดเห็นเป็นบ้านเลขที่น้องสาว จึงบอกว่า “ไม่ใช่ค่ะน้อง ทำอย่างไรดีคะ อันนี้มันเป็นค่าใช้จ่ายที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวี ไม่ใช่บ้านเลขที่ของพี่”  พนักงานตอบว่า “ระบบของเราดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายแยกตามบ้านเลขที่ที่ใช้งานไม่ได้ ถ้าจะดูรายละเอียดได้ คุณลูกค้าต้องไปที่สำนักงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในห้างต่างๆ ร้านเรามีแต่ยอดที่เป็นยอดรวมตามชื่อลูกค้า เนื่องจากเป็นร้านดีลเลอร์ ไม่ใช่ร้านที่เป็นสาขาของบริษัทโดยตรง”           คุณนิดจึงแย้งว่าตนเองแจ้งเลขที่บัตรปรระชาชนพร้อมกับเลขที่บ้านให้แล้วนะ ทำไมคุณพนักงานไม่บอกหรือแจ้งข้อจำกัดนี้ให้ทราบก่อน พนักงานกล่าวขอโทษพร้อมกับทำเรื่องคืนเงินให้คุณนิด พร้อมกับแจ้งว่าหากคุณนิดมีรหัสลูกค้าจะทดลองจ่ายอีกรอบก็ได้ ทางเจ้าหน้าที่จะทำคืนเงินให้หากไม่ใช่บ้านเลขที่ของคุณนิด         คุณนิดค้นเลขรหัสลูกค้าที่มี SMS มาที่เธอ  2 หมายเลขให้กับทางเจ้าหน้าที่ไป เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งใบเสร็จให้เธออีกครั้ง คราวนี้ทั้ง 2 บิล แจ้งรายละเอียดว่า บ้านที่ใช้บริการเป็นเลขที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวีเหมือนเดิมแม้ว่าตัวเลขบนบิลจะไม่ใช่ยอดเงินเดียวกันก็ตาม  อย่างไรก็ตามพนักงานได้รีบทำเงินคืนให้คุณนิดตามที่เขารับปากไว้  คุณนิดนั้นรับบัตรเครดิตคืนมาแบบหงุดหงิดเพราะแค่จ่ายบิลก็ไม่สำเร็จ หลังตรวจสอบวงเงินในบัตรเรียบร้อยว่าครบถ้วน เธอก็เก็บของเตรียมกลับบ้าน แต่ก็ฝากเรื่องกับพนักงานไว้ว่า เดี๋ยววันนี้ขอกลับไปโทรคุยกับคอลเซ็นเตอร์ก่อน           คุณนิดถึงบ้านอีกครึ่งชั่วโมงถัดมา เธอโทรปรึกษาคอลเซ็นเตอร์บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น  น้องน้ำหวานพนักงานรับสายแจ้งว่า  “ระบบของเรา สามารถบอกรายละเอียดได้นะคะ หน่วยงานที่เป็นสถานที่รับชำระเงินทั้งที่เป็นสาขาของเราและดีลเลอร์ต่างๆ สามารถแจ้งรายละเอียดกับลูกค้าได้ค่ะ  และคุณลูกค้าสามารถจ่ายค่าบริการผ่านแอปของเราได้นะคะ กดเลือกบ้านเลขที่ที่ต้องการได้เลยนะคะ คุณลูกค้ามีเรื่องสอบถามเพิ่มเติมไหมคะ” คุณนิดไม่มีเรื่องแจ้งเพิ่ม เพียงแต่ย้ำกับน้องน้ำหวานไปถึงเรื่องการให้บริการของบริษัทที่ควรจะมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องให้ผู้บริโภคเสียเวลาแบบที่คุณนิดเจอมา           หลังจากดำเนินการด้วยตนเองไปแล้ว คุณนิดก็คิดได้ว่าน่าจะมาเล่าประสบการณ์ให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับทราบไว้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยดำเนินการย้ำกับผู้ประกอบการบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ว่า ไหนๆ ก็มีทางเลือกในการจ่ายหนี้แบบไม่ใช่ใบแจ้งหนี้ (กระดาษ) ก็ช่วยทำให้ทุกช่องทางได้มาตรฐานเดียวกันด้วย        แนวทางแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับเรื่องราวของคุณนิดไว้และพร้อมจะดำเนินการนำข้อเสนอของคุณนิดสู่ผู้ประกอบการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 มีปัญหา ค่าเน็ต ค่าโทร อย่าลืมให้บริษัท โชว์หลักฐาน พิสูจน์ความจริง

ในโลกยุค 4.0 อย่างทุกวันนี้ บริการโทรคมนาคม ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน บางคนตื่นขึ้นมาก็ต้องควานหาโทรศัพท์มือถือก่อนเลย เช็คข้อความในไลน์ ตลอดวันจะทำธุรกิจ ติดต่อค้าขาย คุยกับเพื่อนฝูง ครอบครัวก็ต้องใช้โทรศัพท์  อินเทอร์เน็ต ก่อนนอนก็ยังต้อง อัพเดท สเตสัส ราตรีสวัสดิ์ ในเฟซบุ๊ค  บริการเหล่านี้ ไม่ใช่ของฟรี ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าบริการมาก อย่างน้อยก็หลักร้อยต่อเดือน หรือบางคนถ้าเลือกใช้แพคเก็จแบบจัดเต็มทั้งเน็ต ทั้งโทร ก็อาจจะต้องจ่ายถึงหลักพันบาทยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งมีปัญหามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการที่ถูกเรียกเก็บ  “ไม่เคยสมัครใช้บริการ แต่มีรายการเรียกเก็บค่า sms ดูดวง / ข่าวซุปซิปดารา” “ใช้ WiFi ที่บ้าน แต่ทำไมถูกเก็บค่าเน็ตมือถือ”  “ถูกคิดค่าบริการส่วนเกินแพคเก็จ ทั้งที่ใช้งานนิดเดียว”ฯลฯ เมื่อบริษัทมีบิลเรียกเก็บค่าบริการมา แต่ผู้บริโภคยืนยันว่า “ฉันไม่ได้ใช้” ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน ปัญหาจึงเกิดขึ้น จริงๆ แล้วปัญหานี้พิสูจน์ได้ไม่ยาก เพราะการกระทำทุกอย่างในระบบโทรคมนาคม จะมีการเก็บข้อมูลไว้ในระบบทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการสมัครใช้บริการ เมื่อวันที่เท่าไร เวลาอะไร ใช้บริการกี่นาที เริ่มกี่โมง จบกี่โมง ใช้บริการจากบริเวณไหน ฯลฯ ซึ่งข้อมูล รายละเอียดเหล่านี้จะอยู่ในมือบริษัทผู้ให้บริการ  ถ้าบริษัทผู้ประกอบการ ยอมเอาข้อมูลออกมายืนยัน พิสูจน์ข้อโต้แย้งของผู้ใช้บริการมันก็จบ แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะพูดลอยๆ ว่าคิดค่าบริการถูกต้องแล้ว โดยไม่ได้แสดงหลักฐานอะไรประกอบ แล้วอย่างนี้จะให้ผู้ใช้บริการเชื่อได้อย่างไรล่ะ ครับ  เมื่อฝ่ายที่กุมข้อมูลไว้ในมือ ไม่ยอมคายหลักฐานออกมา กฎหมายจึงต้องกำหนดเรื่อง “ภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof)” ไว้ให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการคิดค่าบริการโทรคมนาคม เมื่อมีการโต้แย้งว่า คิดค่าบริการผิดพลาด ไม่เป็นไปตามสัญญา หรือ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  โดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 47 มาตรา 48 และ ประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ ข้อ 13 และ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 นั้น บัญญัติไว้สอดคล้องกัน ว่า เมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่ถูกต้อง ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการ เพราะผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นฝ่ายที่ครอบครองข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคม  ดังนั้นหากผู้ให้บริการสามารถนำพยาน หลักฐานมาแสดง เพื่อพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการจริง และผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าบริการเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา และเรียกเก็บตามอัตราค่าบริการที่ตกลงกันแล้ว ผู้ให้บริการก็ย่อมมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการได้ แต่หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่า ผู้ร้องเรียนได้ใช้บริการจริง หรือผู้ให้บริการได้เรียกเก็บค่าบริการตรงตามเงื่อนไขของสัญญา ผู้ให้บริการก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการ อันเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายทั่วไป ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการ และต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบภายในระยะเวลา 60 วันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการนั้นสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการในจำนวนที่ผู้ใช้บริการได้โต้แย้งนั้น    การกำหนดระยะเวลา 60 วันนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เมื่อผู้ให้บริการไม่สามารถหาพยาน หลักฐาน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของตน มาพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการที่ผู้ใช้บริการโต้แย้งได้ภายใน 60 วัน ผู้ใช้บริการจึงย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ค่าบริการที่โต้แย้งนั้นได้  หลักฐานที่จะพิสูจน์ยืนยันว่าผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการโทรคมนาคม หรือไม่ อย่างไรนั้น  จะต้องเป็นหลักฐานที่ไม่อาจแก้ไขดัดแปลงได้ อาทิ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์(log file) ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ แสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ หลักฐาน เช่น ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ (log file) นี้ จึงจะเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ว่า ผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการ GPRS Roaming ของบริษัท ฯ จริง หรือไม่  ส่วนใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการ ที่ถึงแม้จะแสดงข้อมูลว่า มีการใช้บริการอะไรบ้าง เมื่อวันที่เท่าไร แต่ใบแจ้งค่าใช้บริการนั้น ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการได้ เพราะเป็นเอกสารที่บริษัท ทำขึ้นเองฝ่ายเดียว สามารถแก้ไข ดัดแปลงได้  ดังนั้น ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะค่าโทร ค่าเน็ต อย่าลังเลใจที่จะใช้สิทธิตรวจสอบกับผู้ให้บริการ ให้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐาน พิสูจน์ว่ารายการที่เรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าร้องเรียนแล้ว ผู้ให้บริการนิ่งเฉย ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ยืนยันถึงความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการนั้นได้ภายในระยะเวลา 60 วัน ผู้บริโภคก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการส่วนที่โต้แย้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ไม่ปัดเศษเป็นนาทีมีแต่ได้

ตัวแทนผู้บริโภคของบริษัทมีความพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากว่า หากทำวินาทีจะทำให้คนใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจ่ายแพงขึ้น บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อย 26 จะทำให้ตัดทางเลือกของผู้บริโภค เพราะจะเหลือเพียงโปรโมชั่นเดียว หรือแม้แต่บอกว่า การออกโปรโมชั่นเดิมแบบวินาทีของบริษัททำให้ผู้บริโภค จ่ายแพงกว่า เช่น เดิม 99 สตางค์ต่อนาที หากเป็นวินาทีจะตกอยู่ที่ 1.6 สตางค์ แต่โปรแบบนาทีก็ยังถูกกว่า หรือยกตัวอย่างเบอร์เติมเงิน นาทีแรก 99 สตางค์ นาทีต่อไปนาทีละ 25 สตางค์ ถ้าถามประชาชนว่าจะเลือกแบบไหน ประชาชนก็ต้องเลือกแบบนาทีเพราะถูกกว่าเรื่องผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น ไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นการนับเวลาการใช้โทรศัพท์ หากเราได้ใช้เต็มจำนวนไม่ปัดเศษวินาทีเป็นนาที เราสามารถลดแพ็คเกจให้ราคาถูกลง ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งระบบรายเดือนและระบบเติมเงินในการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตส่วนเรื่องโปรวินาทีทำให้ราคาที่เราจ่ายแพงขึ้น เป็นเพราะผู้ประกอบการได้นำ “โปรวินาที” มาเสนอเป็น “ทางเลือก” แก่ผู้บริโภคเพียงแค่ 1 โปร เท่านั้น ในที่สุดโปรวินาทีที่ออกมาก็กลายเป็น “โปรสับขาหลอก” ที่ออกแบบมาให้ไม่มีใครเลือกใช้อีก ขณะที่โปรทั่วไปก็ยังมีลูกค้าหนาแน่นเหมือนเดิม บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่เป็นจริง เพราะเรื่องนี้บริษัทคัดค้านเต็มที่ ถึงขนาดลงขันกันมากกว่าร้อยล้าน หากบริษัทได้ประโยชน์ย่อมเห็นด้วยหรือสนับสนุนอย่างแน่นอน ที่สำคัญบริษัทคงไม่ยินดีลดกำไรของตนเองหาก กสทช.ไม่มีการกำกับดูแลใดๆเรื่องตัดทางเลือก ก็ขออธิบายว่า ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะสิ่งที่เสนอเป็นเพียงการนับจำนวนที่ใช้โดยไม่ปัดเศษ ไม่ได้จำกัดการทำโปรโมชั่นของบริษัท เหมือนเราได้รับส้มเต็มกิโล แต่เป็นนาทีโทรศัพท์เต็มตามจำนวนของโปรโมชั่น และบริษัทยังสามารถมีโปรโมชั่นได้ตามเดิม เพียงแต่การคิดค่าโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตให้คิดตามจริงไม่ปัดเศษ เพื่อให้ได้สิทธิเต็มจำนวนตามแพ็คเกจ จึงเป็นที่มาของมติ กสทช. 17 พฤษภาคม 2559 ว่า “ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย” แต่ไม่มีการบังคับให้บริษัททำจริงใน 8 เดือนที่ผ่านมา แถมยังได้แก้ไขให้บริษัททำเพียง 50% ของการส่งเสริมการขายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ส่วนข้ออ้างของนักวิชาการ ว่า กสทช. ไม่ควรกำกับเรื่องนี้ แต่ควรทำให้การใช้โทรศัพท์(เสียง)ฟรี เพราะปัจจุบันเราสามารถโทรศัพท์โดยผ่านระบบไลน์โดยไม่ต้องเสียเงิน ก็ต้องบอกว่า “ไม่คัดค้าน” ผู้บริโภคก็ยินดีหาก กสทช.จะสามารถกำกับให้โทรศัพท์โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ขณะที่บริษัทยังคิดเงินอยู่ทุกเดือนเช่นปัจจุบัน ก็ต้องกำกับให้คิดเงินอย่างเป็นธรรม และต้องเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่ให้เลือกความเป็นธรรมเพียง 50%เรื่องนี้ คงไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย คงสำเร็จไปเมื่อสองปีที่แล้ว แต่เพราะความยากนี่แหละ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้มีโอกาสร่วมมือกัน ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที (2)

หลักการสำคัญของข้อเสนอให้คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง ก็คือ “หลักความเป็นธรรม ใช้เท่าไร ก็ควรจ่ายเท่านั้น”  ในอดีต การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาทีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านเทคนิคของระบบนับเวลาและคิดคำนวณค่าบริการที่ยังไม่ทันสมัย เป็นระบบอนาล็อก ที่ไม่สามารถคำนวณนับแบบละเอียดได้ จึงต้องมีการปัดเศษการโทรเป็นนาที แต่ทุกวันนี้ ระบบโทรคมนาคมพัฒนาไปมาก เป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว การบันทึกข้อมูลการใช้งานทำได้ละเอียดมาก ๆ  แม้กระทั่งหน่วยที่เล็กกว่าวินาทีก็สามารถคำนวณนับได้ และถ้าดูข้อมูลในใบแจ้งค่าใช้บริการดี ๆ จะเห็นว่า ข้อมูลระยะเวลาการใช้งานโทรศัพท์ที่บริษัทบันทึกไว้นั้น มีหน่วยเป็นวินาทีด้วยซ้ำไป แล้วจึงค่อยมาปัดเศษการใช้งานเป็นนาทีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว การคำนวณนับค่าบริการเป็นวินาทีนั้น ตรงไปตรงมาและยุ่งยากน้อยกว่าการต้องไปปัดเศษเสียอีก  คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคดิจิตอล การคิดแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีต่างหากที่เป็นเรื่องล้าสมัย และไม่เป็นธรรม  ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส จึงเลิกใช้ระบบปัดเศษกันแล้ว และมีกฎหมายห้ามปัดเศษ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  แพ็คเกจค่าบริการโทรศัพท์ในบ้านเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเหมาจ่าย เช่น “จ่าย 190 บาท รับสิทธิโทรออกทุกเครือข่าย 250 นาที ค่าบริการส่วนเกินคิดค่าบริการนาทีละ 0.99 บาท” แต่พอใช้งานจริง เมื่อถูกปัดเศษการใช้งานทุกครั้งที่โทร ผู้ใช้บริการก็จะไม่สามารถใช้งานได้เต็มตามสิทธิ แถมบางรายอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะ ด้วยวิธีการคำนวณนับระยะเวลาการใช้งานแบบปัดเศษ ทั้งที่ถ้านับระยะเวลากันจริง ๆ ใช้งานไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจด้วยซ้ำ เรียกว่า โดนเอาเปรียบถึง 2 ต่อเลยทีเดียว  ที่สำคัญ เงื่อนไขการปัดเศษการโทรจากวินาทีเป็นนาทีนี้ หลายกรณีก็มิได้มีการเขียนเอาไว้ในสัญญาการใช้บริการ หรือแจ้งไว้ในรายการส่งเสริมการขายด้วยซ้ำ จึงเท่ากับว่า ค่ายมือถือกำลังทำผิดสัญญา ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ใช้บริการก็มีสิทธิฟ้องร้อง ให้ศาลสั่งให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา คือ คิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริง และให้คืนเงินส่วนที่บริษัทได้เรียกเก็บไปโดยมิได้มีการใช้งานจริง  แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการฟ้องร้อง หลายคนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย เสียเงิน เสียเวลา แถมไม่รู้ว่าฟ้องไปแล้วจะชนะหรือไม่ คิดแล้วยังไง ก็ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปไม่กี่บาท ยอมทนก้มหน้า ถูกเอาเปรียบต่อไปดีกว่า  ระบบศาลยุติธรรมเองก็เห็นถึงข้อจำกัดนี้ จึงมีการพัฒนาปรับปรุง กระบวนฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ขึ้น โดยเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ ด้วยการดำเนินคดีเพียงคดีเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนเยอะ ๆ แต่ความเสียหายของแต่ละคนไม่มาก และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน และข้อกฎหมายเหมือนกัน เช่น คดีผู้บริโภค คดีผิดสัญญา คดีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะมีโจทก์ผู้ริเริ่มคดี ดำเนินการแทนผู้เสียหายคนอื่น ๆ และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน เพียงแต่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่มไปด้วย  การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องและดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว  ล่าสุด(12 มกราคม 2560) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย เตรียมรวบรวมผู้เสียหายจากการถูกคิดค่าบริการเกินกว่าที่ใช้งานจริงเนื่องจากถูกปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์ ฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทมือถือต่าง ๆ และขอให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาคิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริงเป็นวินาที โดยไม่ปัดเศษ  สำหรับผู้บริโภคท่านใดที่สนใจ สามารถมีส่วนร่วมพิสูจน์ปัญหาค่าโทรปัดเศษด้วยตัวท่านเอง โดยขอบันทึกการโทรย้อนหลังเพื่อนับวินาทีและเงินที่หายไป (Call Detail Record ) ผ่านคอลเซ็นเตอร์ในเครือข่ายที่ท่านใช้งาน  ครับ ช่วยกันไปขอบันทึกการใช้โทรศัพท์ ที่ให้บริการมือถือที่เราใช้อยู่ ย้อนหลังได้กี่เดือนเอามาให้หมด มาดูกับประวัติการโทรของว่า เราถูกเอารัดเอาเปรียบไปเท่าไร หากเห็นว่าตัวท่านเสียหายจากการปัดเศษค่าโทร และอยากร่วมฟ้องคดี สามารถติดต่อมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งทางเฟสบุ๊ค และเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร่วมลงชื่อกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดี แบบกลุ่ม class action >>> https://goo.gl/PgmPDM 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที

ถ้า “ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม กับ 4 ขีด แล้วแม่ค้าบอกว่าจะขอปัดเศษ 4 ขีด เป็น 2 กิโลกรัม” หรือ “เติมน้ำมัน 30.2 ลิตร แต่ต้องจ่ายเงินเต็ม 31 ลิตร” ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครยอมแน่ ๆ แต่กับค่าโทรศัพท์ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เรากลับต้องยอมจ่ายค่าโทรหรือค่าเน็ตในส่วนที่เราไม่ได้ใช้งานจริง เพราะถูกปัดเศษการใช้งาน แพคเก็จการใช้งานโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ มักจะกำหนดสิทธิโทรฟรีไว้จำนวนหนึ่ง ถ้าโทรเกินจากนั้นก็จะต้องจ่ายค่าโทรเพิ่มจากแพคเก็จ ดังนั้น การปัดเศษการใช้งานจากวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้งาน จะทำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น โทรครั้งที่ นับระยะเวลาตามการใช้งานจริง ปัดเศษวินาทีเป็นนาที1.    2 นาที 30 วินาที 3 นาที2.    1 นาที 10 วินาที 2 นาที3.    4 นาที 5 วินาที 5 นาที4.   20 วินาที 1 นาที5.    1 นาที 15 วินาที 2 นาทีรวม 9 นาที 20 วินาที 13 นาทีจากข้างต้น ถ้ากำหนดให้สิทธิโทรฟรี ได้ 10 นาที ส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้านับระยะเวลาตามที่ใช้งานจริง ผู้บริโภคใช้ไม่ถึง 10 นาที จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้านับแบบปัดเศษวินาทีเป็น 1 นาทีทุกครั้งที่ใช้งาน จะถือว่าใช้ครบ 10 นาทีตั้งแต่การโทรครั้งที่ 3 ดังนั้น โทรเกินไป 3 นาที ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 4.50 บาท คำถามคือ ผู้บริโภคใช้งานจริงแค่ 9 นาที 20 วินาที แต่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินจากแพ็คเกจ การนับระยะเวลาแบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภค หรือไม่ ในขณะที่ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในแต่ละครั้งเป็นนาทีโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที แต่ในสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กลับกำหนดการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายประเภทเสียง โดยให้เรียกเก็บเป็นนาที การนับจำนวนนาทีให้คิดจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมดที่ต้องเรียกเก็บเงินระหว่างกันตามที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ หมายความว่า “ต้นทุนการให้บริการประเภทเสียงที่บริษัทผู้ให้บริการต้องจ่ายนั้น คิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษของวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้โทรศัพท์”การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาที อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่มีมูลค่าไม่กี่บาทกี่สตางค์สำหรับผู้ใช้บริการ แต่ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์ การนับเวลาแบบปัดเศษแบบนี้ สร้างรายได้จำนวนมหาศาล ลองคิดคำนวณแบบคร่าว ๆ ว่า ใน 1 วัน ปัดเศษวินาที เป็นนาที แค่ 1 ครั้ง ค่าโทรนาทีละ 1 บาท บริษัท ก็ได้ส่วนเกินนี้ไป อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 90 ล้านราย คิดแล้วก็ประมาณ 2,700 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 32,400 ล้านบาท เรื่องการปัดเศษ ค่าโทรศัพท์จากวินาที เป็นหนึ่งนาที จึงเป็นเรื่องเล็กที่มีมูลค่ามหาศาล และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อ ต้นปี 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นวาระปฏิรูป เสนอให้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม คิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาที ในตอนนั้นหลายคนหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะหน่วยงานต่าง ๆ พากันออกมารับลูกอย่างคึกคัก เห็นด้วยว่าสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม แต่ดูเหมือนระยะเวลา เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังคงไปไม่ถึงไหน ค่ายมือถือ ยังคงคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งาน มีเพียงโปรโมชั่นไม่กี่แพคเก็จที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ทั้งที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล 4G (คลื่น 1800 MHz. และ 900 MHz.) ว่า ผู้ที่ให้บริการ 4G จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีงานนี้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่จบง่าย ๆ ดังนั้น มาต่อกันฉบับหน้าว่า พลังผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เรียกเก็บเงินเกินโปรโมชั่น

โปรโมชั่นส่วนใหญ่ มักมีเงื่อนไขยิบย่อยที่อาจทำให้เราลืมสังเกตได้ ซึ่งเรามักจะมารู้ทีหลังก็เมื่อตอนที่จะต้องจ่ายเงินค่าบริการ เหมือนดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณชูชัยแจ้งว่าได้เปิดใช้บริการของ ทรูอินเทอร์เน็ต โดยเลือกใช้โปรโมชั่นซุปเปอร์สปีด ไฟเบอร์ (Super Speed Fiber) เหมาจ่ายราคา 799 บาท/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ซึ่งสามารถโทรฟรี 50 นาทีและเล่นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30 เม็กกะไบต์ อย่างไรก็ตามเขาพบว่ามีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม เดือนละ 100 – 120 บาททุกเดือน ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการเกินโปรโมชั่นที่กำหนดไว้ จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องนำเอกสารสำคัญ เช่น ใบเรียกเก็บเงิน ใบเสร็จรับเงิน ใบโฆษณาต่างๆ มาเป็นหลักฐานประกอบการร้องเรียน จากนั้นจึงแจ้งเรื่องไปยังบริษัทดังกล่าว ซึ่งภายหลังการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้แจ้งกลับว่า กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินราคาโปรโมชั่น เนื่องจากผู้ร้องได้ใช้เบอร์โทรศัพท์บ้าน โทรออกไปยังหมายเลขพิเศษ เช่น เบอร์โทรที่มี 4 หลัก ซึ่งการโทรไปยังเลขหมายดังกล่าว ไม่อยู่ในเงื่อนไขการโทรฟรี ทำให้ต้องจ่ายครั้งละ 3 บาท รวมทั้งมีการโทรเข้าบ้านด้วยกันเอง ทำให้ผู้ร้องต้องเสียค่าบริการเพิ่ม เพราะตามโปรโมชั่นการโทรฟรี 50 นาที สามารถใช้โทรเข้าเบอร์มือถือ (ทุกเครือข่าย) ได้เท่านั้น ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับคำอธิบายดังกล่าวก็เข้าใจและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 Call center ปฏิบัติการ โทรหาเธอวันละ 3 เวลา

  ฉลาดซื้อลงเรื่องทดสอบประสิทธิภาพของโทรศัพท์มือถือมาแล้วหลายครั้ง คราวนี้ขอลองทดสอบดูการให้บริการลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์หรือคอลเซ็นเตอร์ ของแต่ละเครือข่ายดูบ้าง หลายคนคงอยากรู้ว่าคนอื่นๆ ที่เป็นลูกค้าของเครือข่ายอื่นๆ เขาต้องรอนานเหมือนเราหรือเปล่า  อาสาสมัครช่างโทรของเรา รับหน้าที่โทรเข้า Call center ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 บริษัท ได้แก่ AIS DTAC และTRUE MOVE วันละ 3 เวลา (09:00 น. 12:30 น. และ 20:00 น.) ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มิใช่เพื่อการเม้าท์มอยด้วยความคิดถึง แต่เพื่อจับเวลาในการรอสาย   โดยเริ่มนับจากเวลาที่โทรติด จากนั้นฟังขั้นตอนต่างๆ จากระบบให้ข้อมูลอัตโนมัติของเครือข่าย จนกระทั่งได้ข้อมูลว่าต้องกดหมายเลขอะไรเพื่อติดต่อโอเปอเรเตอร์ และหยุดนับเวลาเมื่อโอเปอเรเตอร์รับสาย แต่ทั้งนี้อาสาสมัครจะวางสายเองถ้าต้องรอมากกว่า 5 นาที   จากการโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ของแต่ละบริษัท บริษัทละ 45 ครั้ง ทำให้เราได้ข้อมูลเรื่องระยะเวลาในการรอสายมาเล่าสู่กันฟังดังนี้   เวลาเฉลี่ยในการรอสายของแต่ละเครือข่าย1 นาที 15 วินาที  DTAC  1 นาที 59 วินาที  TRUE MOVE 2 นาที 39 วินาที  AIS   เวลาเฉลี่ยในการรอสายเมื่อโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ ในช่วงเวลาต่างๆ ของแต่ละเครือข่าย เวลา / เครือข่าย AIS DTAC TRUE MOVE 9:00 น. 3 นาที 03 วินาที 1 นาที 12 วินาที 1 นาที 46 วินาที 12:30 น. 1นาที 52 วินาที 1 นาที 49 วินาที 1 นาที 58 วินาที 20:00 น. 3 นาที 04 วินาที 1 นาที 56 วินาที 3 นาที 02 วินาที   • ถ้าคุณเป็นลูกค้า AIS เวลาที่เหมาะจะโทรปรึกษาคอลเซ็นเตอร์ คือช่วงเที่ยงๆ เพราะตอนเช้าและหัวค่ำนั้นคุณอาจจะต้องรอไม่ต่ำกว่า 3 นาที• ลูกค้า DTAC นั้นจะโทรเช้า เที่ยง หรือเย็นก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ข่าวดีคือรอไม่เกิน 2 นาที• ลูกค้า TRUE MOVE กรุณาอย่าโทรช่วงหัวค่ำเพราะต้องรอมากกว่า 3 นาที เปลี่ยนมาโทรช่วงเช้าหรือเที่ยงจะดีกว่า___  อาสาสมัครของเราทดลองโทรเข้าไปขอข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนไปใช้บริการของเครือข่ายอื่น พบว่าแต่ละเครือข่ายยินดีให้ข้อมูลด้วยความเต็มใจ พูดจาสุภาพ และไม่พยายามจะตื้อให้เราใช้เครือข่ายเดิมต่อแต่อย่างใด ___ โพลล์ “ครอบครัวฉลาดซื้อ” รอสายกันนานไหมคราวนี้เราได้รับความร่วมมือจาก “ครอบครัวฉลาดซื้อ” สมาชิกฉลาดซื้อ และผู้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่ององค์การอิสระผู้บริโภคที่โรงแรมเอเชีย ในวันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน 2554 ทั้งหมด 275 คน ในการช่วยให้ข้อมูลเรื่องการรอสายรับบริการจากศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์   ___  ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 275 คน• ร้อยละ 37 เป็นลูกค้าของดีแทค DTAC • ร้อยละ 35.8 เป็นลูกค้าของเอไอเอส AIS• ร้อยละ 24.2 เป็นลูกค้าของทรูมูฟ TRUE MOVE• ร้อยละ 3 เป็นลูกค้าของฮัทช์ HUTCHผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87.5) ใช้บริการมาแล้วกว่าสองปี ___ • ร้อยละ 76.8 ของผู้ให้ข้อมูล เคยประสบปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาเรื่องระบบสัญญาณ   ร้อยละ 59.5  ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบริการเสริมต่างๆ  ร้อยละ 20 ปัญหาค่าบริการ    ร้อยละ 13.6 และปัญหาอื่นๆ     ร้อยละ 6.8   • การสำรวจครั้งนี้พบว่า  ทรูมูฟ มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 82.8เอไอเอส มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา ร้อยละ 75.3ฮัทช์ มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 75ดีแทค มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 74.7  • สามอันดับปัญหายอดฮิตปัญหาเรื่องสัญญาณ  ร้อยละ 59.7ปัญหาเรื่องบริการเสริม  ร้อยละ 19.9ปัญหาเรื่องค่าใช้บริการ  ร้อยละ 13.4   • ร้อยละ 75.8 ของผู้ให้ข้อมูล เคยใช้บริการคอลเซ็นเตอร์ ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 34.2  รอสายประมาณ 3 ถึง 5 นาที ร้อยละ 32.9  รอสายน้อยกว่า 3 นาที ร้อยละ 21  รอสาย 5 ถึง 10 นาที ร้อยละ 11.9  รอสายเป็นเวลามากกว่า 10 นาที  ----ร้อยละ 12 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยรอสายมากกว่า 10 นาทีร้อยละ 38.5 ของคนที่เคยรอสายนานกว่า 10 นาทีเป็นลูกค้าของ TRUE MOVE ----

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 “ฮัลโหล ฮัลโหล ...ใช้โปรฯ ไหนอยู่ค่ะ”

มาเลือกซิมและโปรโมชั่มมือถือให้เหมาะกับการใช้งานกันดีกว่า   “โทรศัพท์มือถือ” กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะมันมีประโยชน์อย่างมากในการติดต่อสื่อสาร การทำงาน เรียกว่าโทรศัพท์มือถือช่วยทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น บางคนถึงขั้นยอมรับว่าถ้าขาดโทรศัพท์มือถือไปก็เหมือนกับขาดใจ ทำอะไรไม่ถูกกันเลยทีเดียว   ยิ่งทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาออกมาให้มีระบบการทำงานและลูกเล่นต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้ง ถ่ายรูป ฟังเพลง เล่นอินเตอร์เน็ต (ฉลาดซื้อเราก็นำเสนอผลทดสอบประสิทธิภาพต่างๆ ของโทรศัพท์มือถืออยู่บ่อยๆ) แต่ไม่ว่าโทรศัพท์มือถือจะถูกพัฒนาไปไกลแค่ไหน หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของโทรศัพท์มือถือก็คือ “การเป็นอุปกรณ์สำหรับติดต่อสื่อสาร” ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องพึ่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือจากผู้ให้บริการ ซึ่งในบ้านเราก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า แต่ว่ามีรูปแบบการใช้งานออกมาให้เลือกมากมายจนทำเอาผู้บริโภคอย่างเรามึนแล้วมึนอีกกว่าจะเลือกได้ ฉลาดซื้อขออาสาคัดเลือกซิมและโปรโมชั่น โดยเราจะขอเลือกมาเฉพาะที่เป็นโปรโมชั่น ”แบบเติมเงิน” เพราะในบ้านเรามีผู้ใช้ระบบนี้ถึง 90%1 ของคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด มาลองดูกันสิว่าซิมแบบไหน โปรโมชั่นอะไร ที่คุ้มค่าคุ้มราคาและเหมาะกับการใช้งานของแต่ละคนมากที่สุด   (1รายงานโครงการวิจัยระบบวิเคราะห์รายการส่งเสริมการขายในกิจการโทรคมนาคม โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง)++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   มาเลือกซิมและโปรโมชั่นมือถือที่เหมาะสมกับการใช้งานกันดีกว่า   คุยสั้น เมาท์ขำๆ พูดไม่กี่คำก็รู้เรื่อง   ซิมที่อยากแนะนำ เครือข่าย ค่าโทรนาทีแรก นาทีต่อไป ราคา ค่าโทรที่ได้รับเมื่อเปิดใช้ซิม เงื่อนไขที่ควรรู้ ซิมฮักกัน ทรูมูฟ 75 สตางค์ 75 สตางค์ 49 15 บาท -ได้สิทธิ์สมัครโปรโทรไม่อั้น 3 วัน 9 บาท ในเครือข่ายทรูมูฟ ช่วงเวลา 23.00 น.- 16.59 น -ฟรี SMS 10 ครั้ง และ EDGE/GPRS 30 นาที แต่ต้องใช้ภายใน 30 วันหลังจากเปิดใช้บริการ ซิมถูกใจ ทรูมูฟ 99 สตางค์ 99 สตางค์ 49 บาท 75 บาท -ได้รับโบนัสโทรฟรีเท่ากับมูลค่าของเงินที่เติม -ได้รับวันใช้งานเพิ่มเป็น 2 เท่าจากการเติมเงิน -ฟรี (SMS) จำนวน 10 ข้อความ และบริการ EDGE/GPRS 100 นาที แต่ต้องใช้ภายในระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่เปิดใช้บริการ ซิมสะตอ ดีแทค 30 วินาทีแรก 30 สตางค์ ต่อไปคิดนาทีละ 1 บาท 1 บาท 49 บาท 15 บาท   ฉลาดซื้อแนะนำ สำหรับคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือติดสื่อสารพูดคุยเรื่องสั้นๆ ครั้งหนึ่งไม่ถึงนาทีหรือแค่ไม่กี่นาที เวลาเลือกโปรโมชั่นซิมแบบเติมเงิน ควรดูที่ค่าโทรนาทีแรกเป็นหลัก เพราะเราคุยสั้น ถ้าคุยไม่ถึงนาทีจะยิ่งคุ้มค่าและประหยัดมาก แต่การศึกษาข้อมูลค่าโทรนาทีถัดไปเอาไว้ด้วยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะแม้จะเป็นคนคุยสั้นแต่บางครั้งก็อาจเผลอคุยยาวโดยไม่รู้ตัว คุยนาน เมาท์กระจาย โทรได้ทั้งวัน(ทุกเครือข่าย) ซิมที่อยากแนะนำ เครือข่าย ค่าโทรนาทีแรก นาทีต่อไป ราคา ค่าโทรที่ได้รับเมื่อเปิดใช้ซิม เงื่อนไขที่ควรรู้ ซิมแฮปปี้ ดีแทค 2 บาท 25 สตางค์ 99 บาท และ 199 บาท -ราคา 99 บาท ได้ 35 บาท -ราคา 199 บาท ได้ 50 บาท + SMS/MMS ในเครือข่ายดีแทค 250 บาท ค่าโทรเฉพาะช่วง 4 ทุ่ม – 6 โมงเย็น นอกช่วงเวลา คิดค่าโทรนาทีแรก 2 บาท ต่อไปคิดนาทีละ 1 บาท   ซิมวัน-ทู-คอล เอไอเอส 2 บาท 50 สตางค์ 99 35 บาท ทันทีเมื่อเปิดใช้บริการ และรับเพิ่มเติมอีกเดือนละ 30 บาท ในเดือนที่ 2 และ 3   ซิมสุดคุ้ม ทรูมูฟ 1 บาท 77 สตางค์ 1 บาท เมื่อซื้อของใน 7-11 ครบ 40 บาท หรือชำระค่าบริการเคาเตอร์เซอร์วิส 1 บิล 30 บาท -ได้รับโบนัสโทรเพิ่มเท่ากับมูลค่าของเงินที่เติม สำหรับใช้โทรไปยังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเครือข่ายทรูมูฟ ช่วงเวลา 23.00 – 16.59 น. เท่านั้น -ได้รับวันใช้งานพิเศษเพิ่มเป็น 2 เท่าจากการเติมเงินตามปกติ     (เฉพาะเครือข่ายเดียวกัน) ซิมที่อยากแนะนำ เครือข่าย ค่าโทร ราคา ค่าโทรที่ได้รับเมื่อเปิดใช้ซิม เงื่อนไขที่ควรรู้ ซิมไชโย ทรูมูฟ นาทีละ 50 สตางค์ ตลอด 24 ชม. 49 บาท และ 99 บาท -ราคา 49 บาท ได้ 15 บาท -ราคา 99 บาท ได้ 35บาท   ซิมสุดคุ้ม ทรูมูฟ นาทีละ 77 สตางค์ ตลอด 24 ชม. 1 บาท เมื่อซื้อของใน เซเว่น อีเลเว่น ครบ 40 บาท หรือชำระค่าบริการเคาเตอร์เซอร์วิส 1 บิล 30 บาท -ได้รับโบนัสโทรเพิ่มเท่ากับมูลค่าของเงินที่เติม สำหรับใช้โทรไปยังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเครือข่ายทรูมูฟ ช่วงเวลา 23.00 – 16.59 น. เท่านั้น -ได้รับวันใช้งานพิเศษเพิ่มเป็น 2 เท่าจากการเติมเงินตามปกติ ซิมรีโมท ทรูมูฟ ครั้งละ 1 บาท โดยเลือกช่วงเวลาระหว่าง 05.00 – 16.59 น. หรือ17.00 – 04.59 น.  ช่วงใดช่วงหนึ่ง โดยโทรได้นานสูงสุดครั้งละ 30 นาที และตั้งแต่นาทีที่ 31 เป็นต้นไป คิดค่าใช้บริการนาทีละ 1.25 บาท 49 บาท 15 บาท ผู้ใช้บริการสามารถเลือกเปลี่ยนช่วงเวลาได้ตลอด โดยไม่เสียค่าบริการเฉพาะการเปลี่ยนแพ็กเกจครั้งแรกของแต่ละวัน หลังจากนั้นคิดค่าบริการในการเปลี่ยนแพ็กเกจครั้งละ 5 บาท     ฉลาดซื้อแนะนำ คนที่ชอบคุยโทรศัพท์นานๆ ต้องดูที่ค่าโทรเฉลี่ยแต่ละนาที และต้องดูเรื่องข้อจำกัดต่างๆ ที่ผู้ให้บริการกำหนดเอาไว้ให้ดี เช่น การจำกัดช่วงเวลา การกำหนดค่าโทรที่แตกต่างกันของเบอร์ในเครือข่ายกับนอกเครือข่าย คนที่ชอบคุยนานๆ ถือเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์มากที่สุดตามปริมาณการโทร ดังนั้นจึงควรศึกษาเรื่องโปรโมชั่นต่างๆ ให้มากที่สุด เพราะนอกจากโปรโมชั่นหลักจากซิมที่ใช้อยู่แล้ว เดี๋ยวยังมีโปรโมชั่นเสริมอื่นๆ สำหรับคนโทรนานให้เลือกใช้ เช่น โทรถูก 1 เบอร์พิเศษ หรือคิดค่าโทรแบบเหมาจ่ายเป็นช่วงเวลา   โทรน้อย ชอบให้คนอื่นโทรหา แบบว่ามีโทรศัพท์ไว้รับอย่างเดียว ชื่อซิม เครือข่าย จำนวนวันที่ได้ ค่าโทรนาทีแรก ราคา ค่าโทรที่ได้รับเมื่อเปิดใช้ซิม เงื่อนไขที่ควรรู้ ซิมเปิ้ล ดีแทค 365 วัน แต่ต้องเติมเงินอย่างน้อย 1 ครั้ง ช่วง 90 วันแรกตั้งแต่เปิดใช้ โทรนาทีละ 1 บาท ทุกเครือข่าย 24 ชม. หลังจาก 90 วันแรก คิดค่าโทรนาทีละ 2 บาท   49 บาท 15 บาท   ซิมสวัสดี น้าน นาน เอไอเอส 365 วัน แต่ต้องเติมเงินอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกเครือข่าย นาทีละ 2.50 บาท 24 ชั่วโมง 50 บาท 15 บาท ระงับการให้บริการ ในกรณีที่ไม่มีการโทรออก รับสาย หรือ เติมเงิน เป็นเวลานาน 90 วัน   ซิมไชโย ทรูมูฟ 365 วัน แต่ต้องเติมเงินอย่างน้อย 1 ครั้ง โทรในเครือข่ายทรูมูฟ คิดค่าใช้บริการนาทีละ 50 สตางค์ ตลอด 24 ชม. โทรนอกเครือข่าย คิดค่าใช้บริการนาทีละ 1 บาท 50 สตางค์ ตลอด 24 ชม 49 บาท 15 บาท ระงับการให้บริการ ในกรณีที่ไม่มีการโทรออก รับสาย หรือ เติมเงิน เป็นเวลานาน 90 วัน และยกเลิกบริการทันทีหากระงับให้บริการติดต่อกันเกิน 18 วัน ฉลาดซื้อแนะนำ สำหรับคนที่ตั้งใจจะมีโทรศัพท์ไว้สำหรับให้คนอื่นโทรหามากว่าโทรหาคนอื่น เรื่องจำนวนวันใช้งานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ไว้ก็คือ ไม่ว่าโปรโมชั่นนั้นจะบอกว่าแจกวันหรือเติมเงินแล้วอยู่นานขนาดไหน เต็มที่ก็ไม่มีทางมากกว่า 1 ปี  โชว์เบอร์แต่ไม่โชว์ใจ...10 เรื่องที่ควรรู้ไว้ก่อนเติมเงิน 1.การเติมเงินสามารถทำได้หลายช่องทาง ตั้งแต่ บัตรเติมเงิน เคาน์เตอร์เซอร์วิส ตู้ ATM ผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์  หรือแม้แต่ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ (เฉพาะของทรูมูฟ)  2.ถ้าเติมเงินมือถือเรียบร้อยแล้วต้องมี sms แจ้งเตือนยอดเงินคงเหลือและวันหมดอายุ  3.ถ้าเผอิญเป็นคนมือหนักขูดรหัสบัตรเติมเงินแล้วตัวเลขหาย ไม่ต้องตกใจ สามารถนำไปเปลี่ยนบัตรใหม่ได้ที่สำนักงานของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่เราใช้บริการ  4.เวลาซื้อบัตรเติมเงินมือถือต้องดูเรื่องวันหมดอายุให้ดี เพราะถ้าซื้อมาแล้วหมดอายุ ไม่สามารถเอาไปเปลี่ยนหรือแลกคืนได้  5.ขั้นต่ำสุดในการเติมเงินคือ 10 บาท   6.ไม่ว่าจะเติมเงินมากแค่ไหน (สูงสุดของเอไอเอส คือ 1,500 บาท, ทรูมูฟอยู่ที่ 1,000 บาท และดีแทคอยู่ที่ 800 บาท) ยังไงเราก็ได้วันใช้งานไม่เกิน 1 ปี   7.คนที่อยากเปลี่ยนโปรโมชั่นต้องจ่าย 30 บาท   8.ทุกอัตราค่าบริการไม่ว่าจะเป็นค่าโทร sms mms อินเตอร์เน็ต อย่าลืมบวกค่าภาษีอีก 7%   9.Call center ของทุกเครือข่ายไม่ได้โทรฟรี   10.ถ้ากดรหัสเติมเงินผิดเกิน 4 ครั้ง ติดต่อกัน หมายเลขโทรศัพท์ของเราถูกระงับการให้บริการ2 (2ที่มา ถาม-ตอบ ทุกปัญหา ทุกบริการ ทุกการใช้งาน ของ วัน-ทู-คอล!)     ---------------------------------------------------------------------- ซิม (sim) คือแผ่นวงจรขนาดเล็กที่เก็บหน่วยความจำข้อมูลเอาไว้เป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือนกับสมองของคนที่มีหน้าที่จดจำสิ่งต่างๆ รวมทั้งคอยสั่งการการทำงานของโทรศัพท์มือถือ ---------------------------------------------------------------------- การให้บริการโทรศัพท์มือถือมีอยู่ 2 ระบบ คือ   แบบจดทะเบียน (postpaid) เป็นแบบที่ต้องมีการทำสัญญาระหว่างผู้ใช้กับผู้ให้บริการ จ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน   แบบเติมเงิน (prepaid) เป็นระบบที่ผู้ใช้ควบคุมการจ่ายเอง แค่ซื้อบัตรเติมเงินก็ใช้โทรศัพท์ได้เลย ง่ายและสะดวก แต่ผู้ใช้ระบบเติมเงินต้องคอยตรวจสอบค่าบริการเป็นระยะ รวมทั้งตรวจสอบยอดเงินคงเหลือ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่วางไว้ ----------------------------------------------------------------------   โทรเท่าทัน...ศึกษาการเลือกโปรโมชั่น   @ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไขอย่างละเอียด เพราะโปรโมชั่นเดี๋ยวนี้มีเงื่อนไขให้อ่านกันเล่นๆ 10 – 20 ข้อ ถ้าไม่อ่านและทำความเข้าใจให้ดี อาจมีปัญหาตามมาที่หลัง   @ ต้องดูข้อยกเว้นของแต่ละโปรโมชั่น เช่น โปรโมชั่นนี้มีเงื่อนไขสำหรับใครบ้าง อาจเฉพาะแค่ลูกค้าใหม่เท่านั้น   @ ดูระยะเวลาของโปรโมชั่น เริ่มใช้เมื่อไหร่ หมดอายุวันไหน บางโปรโมชั่นให้ค่าโทรถูกแต่ใช้ได้แค่ 3 เดือน หลังจากนั้นก็ปรับให้แพงขึ้น ซึ่งผู้บริโภคบางคนไม่ทราบก็ยังใช้โปรโมชั่นนั้นต่อไปเพราะคิดว่ายังคิดค่าโทรถูกเหมือนตอนแรก   @ การคิดค่าโทร ว่าเป็นการคิดในอัตรานาทีละเท่าไหร่ และมีการแบ่งช่วงเวลาการใช้ด้วยหรือเปล่า ถ้ามีแล้วแบ่งเป็นช่วงเวลาใดบ้าง เพราะแน่นอนว่าเมื่อมีการแบ่งช่วงเวลาอัตราค่าโทรก็ย่อมแตกต่างกัน ยิ่งบางโปรโมชั่นคิดในอัตราที่แตกต่างกันมากๆ เช่น โทรช่วง 6 โมงเช้า – 6 โมงเย็น คิดนาทีละ 25 สตางค์ ถ้าช่วงเวลาอื่น คิดนาทีละ 2 บาท เป็นต้น   @ การคิดค่าโทรจริง ว่าค่าโทรที่แจ้งในโปรโมชั่น รวมภาษีแล้วหรือยัง หากโทรเกินเป็นเศษของนาที คิดค่าบริการเป็นนาทีหรือวินาที รวมทั้งค่าบริการส่วนเกินอื่นๆ ทั้ง sms mms อินเตอร์เน็ต การขอเปลี่ยนโปรโมชั่น   @ สิทธิของโปรโมชั่น เช่น ให้ค่าโทรฟรีเท่าไหร่ ให้ได้เฉพาะช่วงไหน มีวันหมดอายุหรือเปล่า เป็นค่าโทรเฉพาะในประเทศ ฯลฯ     ---------------------------------------------------------------------- ประเทศไทยมีคนใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ประมาณ 34.8 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีถึง 31.5 ล้านคน ที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน   (ที่มา : สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในครัวเรือน พ.ศ. 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)   AIS มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 43.61 รองลงมาคือ DTAC มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 29.80 TrueMove มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 23.76 (ที่มา: สำนักพัฒนานโยบายและกฎกติกา สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ----------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 116 คนใช้โทร WE PCT เจ็บ โดน“ทรู”หักดิบ เลิกโปรโมชั่นโทรฟรี 1 ตุลาคม 53

สัญญาให้ซื้อเครื่องไม่คิดค่าโทร 1 ปี พอซื้อมาใช้ไม่ถึงเดือนกลับถูกเลิกสัญญาโทรฟรีทรูอ้างสัญญาเขียนไว้ชัดสามารถเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เชื่อมีลูกค้าทรูหลังหักต้องถูกเก็บค่าโทรหลายรายแน่หากปล่อยให้ทรูเปลี่ยนโปรโมชั่นได้โดยไม่มีเงื่อนไขในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้มีโปรโมชั่นของทรูชื่อเก๋ “WE PCT พวกเราแน่นปึ๊ก” ออกมาเชิญชวนลูกค้าที่ชอบโทรราคาถูกด้วยการขายมือถือ PCT แถมโปรโมชั่นให้โทรฟรีทุกเครือข่ายนาน 1 ปี ตัวที่หนึ่งชื่อ Plus Phone ราคา 3,990 บาท ตัวที่สองชื่อ We Phone 2,990 บาท ถ้าคิดแปรเป็นค่าโทร PCT ตัวแรกตกเดือนละ 332.50 บาท ตัวที่สองเท่ากับเดือนละ 249.16 บาท เห็นโปรอย่างนี้ผู้บริโภคที่ชอบของถูกก็น้ำลายไหลล่ะครับ ค่าโทรต่อเดือนแค่ 200-300 บาทแถมยังได้ PCT มาใช้สบายๆ อย่างนี้ ก็พากันไปซื้อล่ะครับ แต่ได้ใช้กันยังไม่ทันพ้นปี กรกฎาคมที่ผ่านมาทรูกลับแจ้งยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีหน้าตาเฉย บอกไม่เอาแล้ว ขีดเส้นตายวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีทั้งหมด และให้ลูกค้าเลือกโปรโมชั่นใหม่ 2 ทางเลือก ตัวที่หนึ่ง ให้โทรฟรีได้เฉพาะเครือข่ายของทรูตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เครือข่ายอื่นคิดนาทีละ 50 สตางค์ ตัวที่สอง Sim ถูก มูลค่า 49 บาท ค่าโทรทุกเครือข่ายนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 50 สตางค์ โทรครบ 5 บาทโทรครั้งต่อไปนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 25 สตางค์“ดู ดู๊ ดู ดู ทรูทำ ทำไม ทรู ทำกับฉันได้...” ถูกบอกเลิกสัญญากันอย่างหักดิบแบบนี้ ผู้บริโภคที่หลงไปซื้อมือถือ PCT ของ ทรู ก็ต้องร้องเพลงนี้กันล่ะครับ ผู้บริโภครายหนึ่งบอกว่า ผมเพิ่งซื้อเครื่องพีซีทีมาเมื่อ 30 มิ.ย. 53 ไม่กี่วันก็โดนประกาศยกเลิกโปรโทรฟรี 12 เดือน เอาเฉยเลย เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคชัดๆ หลายคนอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือในการฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างให้หน่อย เพราะไม่มีปัญญาไปจ้างทนายความมาสู้คดีกับบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่อย่างทรูได้แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เชิญผู้ร้องเรียนในปัญหาเดียวกันนี้พร้อมตัวแทนของบริษัท เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นจำกัด บริษัทเครือข่ายของทรูในฐานะผู้ให้บริการและออกโปรโมชั่น ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ได้เสนอการเยียวยาให้กับผู้บริโภคเพื่อการขอเปลี่ยนสัญญาใหม่ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าโทรกับเครือข่ายอื่น ด้วยการให้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของทรูในอัตรา 640.93 บาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นระยะเวลา 12 เดือน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,691.16 บาท ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ปี แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปฏิเสธ พร้อมยืนยันเสนอให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามสัญญาของโปรโมชั่นเดิมที่ทำไว้กับผู้บริโภคจนกว่าจะถึงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของโปรโมชั่น หรือจนกว่าผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกเปลี่ยนโปรโมชั่นเอง ตัวแทนบริษัทฯ รับที่จะส่งเรื่องนี้ให้ผู้บริหารได้พิจารณาทบทวนกันอีกครั้งเรื่องนี้ต้องตามติดๆ ครับ ถ้าหากบริษัทฯยังยืนยันที่จะบังคับเปลี่ยนโปรโมชั่นในวันที่  1 ตุลาคม 2553  ที่จะถึงนี้ สงสัย “WE PCT พวกเราแน่นปึ๊ก” มีเรื่องขึ้นศาลเป็นคดีผู้บริโภคบานตะไทแน่ เพราะงานนี้ผู้บริโภคสุดทนจริงๆ“สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป”ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ค่าโทรโผล่ที่ไอร์แลนด์

“ดิฉันโดนเรียกเก็บค่าบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศไปประเทศไอร์แลนด์ 2 รอบบิลติด ทั้งที่ไม่มีคนรู้จักหรือเคยโทรออกไปประเทศนี้เลยค่ะ”คุณมนต์ชิตาลูกค้าทรูมูฟร้องทุกข์“ตอนที่ได้รับบิลแรกได้โทรกลับไปสอบถามที่คอลเซนเตอร์ เค้าบอกว่าตรวจสอบแล้วว่าเป็นเครื่องของเราโทรออกไป แต่เรายืนยันว่าไม่ได้โทรออกไปจริงๆ ให้ตรวจสอบอีกครั้ง เพราะเคยทำมือถือหาย ไม่รู้ว่าซิม เก่าโดนใช้หรือเปล่า แต่ถูกปฏิเสธทันที ว่าเป็นไปไม่ได้”“ดิฉันยุ่งๆ เลยไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก พอบิลมาอีกครั้ง ก็มีโทรไปประเทศเดิม เบอร์เดิมอีก ดิฉันโมโหมาก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ พนักงานถามว่า มือกดไปโดนรึเปล่าคะ หรือมีการโทรออกเองอัตโนมัติหรือเปล่าคะ”เจอคำถามแบบนั้นคุณมนต์ชิตาก็ได้แต่คิดใจว่า มือใครมันจะสามารถกดไปโดนเบอร์เดียวกันถึง 6 ครั้งในเวลาที่ต่างกัน และอีกอย่างก็ไม่มีเบอร์นี้บันทึกไว้อยู่ในเครื่อง ดังนั้นโทรศัพท์คงไม่มีทางโทรออกได้เองแน่“ดิฉันที่เป็นเจ้าของเครื่อง ยืนยันว่าไม่ได้โทร เขายังบอกว่าโทร ดิฉันเลยบอกว่าจะให้สาบานมั้ย เพราะไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไรแล้ว เขายังถามต่ออีกว่า มีคนอื่นเอาไปใช้มั้ย คือวันๆ ได้แต่เลี้ยงลูกอยู่ในบ้าน ลูกอายุ 1 ขวบ 6 เดือน แถมยังไม่เคยมีเพื่อนอยู่ที่ประเทศไอร์แลนด์ หรือถ้าลูกเอาไปกดเล่น ก็คงจะไม่กดได้เบอร์เหมือนกันทุกครั้งใช่มั้ยคะ แล้วคงจะไม่รู้ว่าโทรไปต่างประเทศต้องเริ่มกดด้วย 006 แน่ๆ” เมื่อเซ็งสุดๆ กับผีคอลเซนเตอร์ คุณมนต์ชิตาจึงขอปิดบริการเบอร์มือถือเจ้าปัญหา แต่ผีคอลเซนเตอร์กลับโยกโย้เยกเย้แจ้งว่า จะต้องไปปิดที่ทรูชอปสาขาใดก็ได้ แต่บ้านของคุณมนต์ชิตาอยู่ต่างจังหวัด และไม่ได้อยู่ในอำเภอที่มีทรูชอป“แล้วดิฉันจะทำอย่างไรหล่ะคะ ถ้ารอบบิลหน้า มันมีโทรไปไอร์แลนด์อีก พวกพนักงานโง่ไม่สามารถตอบได้ จนดิฉันต้องบอกว่าทำไมไม่ระงับการโทรออกไปต่างประเทศให้ลูกค้า ถ้าเค้าบอกว่าไม่ได้โทร ทำไมพวกคุณไม่เสนอให้เค้าระงับสัญญาณโทรออกต่างประเทศ”“ดิฉันบอกพนักงานว่าดิฉันจะจ่ายแต่ยอดที่ดิฉันใช้จริง ที่ไม่ได้ใช้จะไม่จ่าย และตอนนี้มีจดหมายจากทนายมา ดิฉันควรทำอย่างไรคะ”แนวทางแก้ไขปัญหาตามกฎหมายโทรคมนาคมผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธค่าใช้บริการที่ไม่ถูกต้องได้ แต่การแจ้งไปที่คอลเซนเตอร์มักไม่ค่อยได้เรื่องแถมยังทำให้รำคาญใจเสียอีก วิธีที่ได้ผลกว่าคือให้แจ้งเป็นหนังสือจะเป็นรูปของจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับหรืออีเมล์ก็ได้ส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการและให้จดหมายมีน้ำหนักมากขึ้นก็ให้สำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยเมื่อส่งจดหมายออกไปแล้ว กฎหมายโทรคมนาคมจะบังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นทางการครับ และกฎหมายโทรคมนาคมได้บังคับให้ผู้ให้บริการต้องมีคำชี้แจงกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน ถ้าไม่ตอบมาภายใน 60 วัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะหมดสิทธิ์ในการเรียกเก็บเงินที่มีปัญหากันอยู่ทันทีคุณมนต์ชิตาใช้วิธีเขียนเรื่องร้องเรียนไปที่ www.truemove.com ไม่นานมีพนักงานของทรูมูฟติดต่อกลับมา แจ้งว่ายินดีจะยกเว้นการเรียกเก็บเงินจำนวนที่ทักท้วงให้ แต่ขอให้เซ็นเอกสารที่มีใจความว่าผู้ร้องไม่ติดใจเอาความกับบริษัททรูมูฟอีกต่อไป คุณมนต์ชิตาเห็นว่ายอดเงินตรงกันจึงตกลงเซ็นยินยอมยุติเรื่องโดยไม่คิดเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 โทรโปรฯไหน? ไม่เกิน 99 สต.

  ข่าวเรื่องการประมูล 3G อาจจะเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงการสื่อสารในรอบปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกคนต้องให้ความสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของคนใช้โทรศัพท์มือถือโดยตรง นั่นก็คือการประกาศของคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่อง “อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555” ที่มีเนื้อหาว่าด้วยการกำหนดค่าโทรสูงสุด โดยตามประกาศฉบับนี้ได้บังคับไว้ว่า ห้ามบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกำหนดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์ ประกาศฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2555 แต่ว่าทาง กสทช. ก็ผ่อนผันให้กับบรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือจนถึงสิ้นปี 2555 ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่าน ถือเป็นวันดีเดย์ที่ทาง กสทช.จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจังและจะมีบทลงโทษกับค่ายมือถือที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ   แม้ค่ายโทรศัพท์มือถือดูเหมือนจะตื่นตัวรับประกาศฉบับนี้ ด้วยการออกโปรโมชั่นใหม่ๆ รับค่าโทรนาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ แต่ว่าก็ยังมีโปรโมชั่นค่าบริการทั้งแบบเติมเงินและแบบรายเดือนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคิดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์   ฉลาดซื้อจึงขออาสาสำรวจโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือว่าตอนนี้มีโปรโมชั่นไหนที่ทำตามประกาศและยังมีโปรโมชั่นไหนยังคิดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์ เพื่อเป็นข้อมูลให้สำหรับคนที่กำลังมองหาโปรโมชั่นค่าโทรมือถือที่น่าจะคุ้มค่าและเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคนมากที่สุด   โปรโมชั่นค่าโทรแบบเติมเงินที่คิดค่าโทรไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ เครือข่าย  ชื่อโปรโมชั่น ค่าโทรหาเบอร์เครือข่ายเดียวกัน ค่าโทรหาเบอร์ต่างเครือข่าย โปรโมชั่นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับค่าโทร         ดีแทค ซิมปาท่องโก๋ นาทีละ 66 สต. นาทีละ 99 สต. โทรหาอีก 1 เบอร์พิเศษ นาทีละ 2 สตางค์ ซิม 2499 แฮปปี้ทั่วเมือง นาทีแรก 99 สต. นาทีต่อไป 24 สต. นาทีละ 99 สต. - ซิม 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ นาทีละ 15 สต. ช่วง 4 ทุ่ม - 10 โมงเช้า นอกช่วงเวลา นาทีละ 99 สต. นาทีละ 99 สต. - ซิมสามก๊ก นาทีละ 49 สตางค์ ช่วงตี 5 – 5 โมงเย็น นอกช่วงเวลา นาทีละ 99 สตางค์ - ซิมคงกระพัน นาทีละ 99 สต. - เอไอเอส โปร 30 กำลังดี นาทีละ 99 สต. -         ทรูมูฟ ซิมฮักกัน นาทีละ 75 สต. เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนเงินที่เติม ซิมถูกใจ นาทีละ 99 สต. เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนเงินที่เติม ซิมอะเมซิ่ง นาทีละ 24 สต. นาทีละ 99 สต. - โปรเบิ้ลเบิ้ล นาทีละ 99 สต. เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนเงินที่เติม     โปรโมชั่นค่าโทรแบบเติมเงินที่คิดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์ เครือข่าย   ชื่อโปรโมชั่น ค่าโทรหาเบอร์เครือข่ายเดียวกัน ค่าโทรหาเบอร์ต่างเครือข่าย โปรโมชั่นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับค่าโทร           ดีแทค ซิมม่วนซื่นทั้งปี ตี 5 – 5 โมงเย็น นาทีละ 50 สต. เมื่อโทรเบอร์ในเครือข่ายที่เปิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 1 บ. โทรฟรีช่วงเทศกาล 500 นาที ซิมแฮปปี้นาทีละ 40 สต. นาทีแรก 1.80 บ. นาทีต่อ 40 สต. - ซิมเปิ้ล นาทีละ 2 บ. โทร 1 เบอร์พิเศษในเครือข่าย นาทีละ 50 สตางค์                 เอไอเอส   โปร รักทุกค่าย อัตรานาทีแรก 2 บ.ต่อไปนาทีละ 50 สต. - โปร One-2-Call! Grammy Music SIM ชั่วโมงละ 1 บ. ในเครือข่าย AIS ช่วงเวลา 23.00 น.-17.00 น. (นอกเวลานาทีละ 1 บ.) นาทีละ 1 บ. มีค่าบริการสัปดาห์ละ 29 บ. โปร หวานเย็น ตั้งแต่ 22.00-18.00 น. นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 25 สต. นอกช่วงเวลา นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 1 บ. - โปร โทรยกแก๊งค์ โทรระหว่างหมายเลขในโปรโมชั่น นาทีแรก 1 บ. นาทีต่อไป 25 สต. โทรหมายเลขอื่น ทุกเครือข่าย นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 1 บ. มีค่าบริการเดือนละ 19 บ. โปร รักทุกค่าย นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 50 สต. -             ทรูมูฟ ซิมสุดคุ้ม นาทีละ 1 บ. นาทีแรก 3 บ. นาทีต่อไป  1 บ. เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนการใช้ ซิมว้าวว์ นาทีแรก 1.80 บ. นาทีต่อไป 39 สต.   - โปรโทรฟรียกก๊วน 24 ชั่วโมง นาทีแรก 1 บ. นาทีต่อไป 50 สต. นาทีละ 1.25 สต. โทร 3 เบอร์คนสนิท นาทีแรก 1 บ. นาทีต่อไป 25 สต. ได้สิทธิ์โทรฟรีเมื่อใช้ตามจำนวนที่กำหนด โปรห่วงใย 39 สต. นาทีแรก 1.80 บ. นาทีต่อไป 39 สต.   - โปรเบิ้ลเบิ้ล นาทีละ 99 สตางค์ เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนเงินที่เติม   -โปรโมชั่นค่าโทรที่นำมาเปรียบเทียบเป็นรูปแบบเติมเงินและเป็นโปรโมชั่นที่เน้นการโทรเป็นหลัก   -สำรวจล่าสุดเดือนมีนาคม 2556   การห้ามกำหนดค่าบริการโทรศัพท์มือด้วยระบบเสียงเกินนาทีละ 99 สตางค์ มีผลบังคับใช้กับ เอไอเอส และ ดีแทค เท่านั้น ไม่มีผลกับ ทรูมูฟ ตามเงื่อนไขในประกาศที่จะควบคุมเฉพาะผู้ให้บริการที่มีลักษณะเป็น “ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่งวัดจากส่วนแบ่งทางการตลาด ถ้าเจ้าไหนมีส่วนแบ่งมากกว่า 25% จึงจะถือว่ามีแนวโน้มเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ตามประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552” ซึ่ง ทรูมูฟ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 23% ส่วน เอไอเอส อยู่ที่ประมาณ 43% และ ดีแทค อยู่ที่ 30%   แพ็คเก็จรายเดือนค่าโทรส่วนเกินยังเกิน 99 สตางค์ จากการสำรวจค่าโทรศัพท์มือถือแบบเหมาจ่ายรายเดือนจะมีค่าโทรเฉลี่ยอยู่ที่ 74 สตางค์ – 1 บาทต่อนาที แต่ยังมีการคิดค่าโทรส่วนเกินอยู่ที่ 1บาท – 1.50 บาทต่อนาที ซึ่งเกิน 99 สตางค์ตามประกาศของ กสทช. ซึ่งเมื่อยังมีการละเมิดคำสั่งอยู่แบบนี้ ทาง กสทช. จะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าปรับทางปกครอง โดยมีการกำหนดอัตราค่าปรับวันละ 100,000 บาท   สำหรับใครที่พบว่าตัวเองยังใช้โปรโมชั่นมือถือที่คิดค่าบริการเกิน 99 สตางค์ สามารถแจ้งเปลี่ยนแพ็คเก็จหรือย้ายค่ายผู้ให้บริการ ซึ่งหากผู้ให้บริการรายใดปฏิเสธการให้บริการ หรือแม้แต่เห็นว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช. โทร. 1200, ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ   สำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของตัวเองก่อนเลือกโปรโมชั่น 1.ปริมาณการโทร – จำนวนเวลาที่ใช้โทรในแต่ละครั้งมากน้อยแค่ไหน เพราะถึงแม้จะเลือกใช้โปรฯ ที่มีค่าโทรนาทีละ 99 สตางค์ แต่ถ้าหากต้องโทรคุยครั้งละ 10 – 20 นาที ค่าโทรที่ต้องเสียก็จะแพงกว่าโปรฯ ค่าโทรที่เริ่มต้นนาทีแรก 2 บาท แต่นาทีต่อไปคิดนาทีละ 50 สตางค์ เพราะฉะนั้นต้องดูให้แน่ใจว่าเรามีพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์แบบไหน ถ้าเป็นประเภทคุยสั้นคุยไม่นาน ก็ควรเลือกที่คิดค่าโทรถูกตั้งแต่นาทีแรก คือไม่เกิน 99 สตางค์ แต่หากเป็นคนที่คุยนานก็ต้องดูเรื่องค่าโทรเฉลี่ย   นอกจากนี้ยังมีโปรฯ ที่ออกแบบเพื่อการโทรหาเบอร์ที่เราเลือกให้เป็นเบอร์พิเศษ เช่น “ซิมปาท่องโก๋” และ “ซิมเปิ้ล” ของดีแทค หรือ “โปรโทรฟรียกก๊วน 24 ชั่วโมง” ของทรูมูฟ ที่ให้สิทธิโทรหาราคาถูกกับเบอร์พิเศษที่เรากำหนดได้เอง 1 เบอร์สำหรับ“ซิมปาท่องโก๋” และ “ซิมเปิ้ล” หรือถึง 3 เบอร์สำหรับ “โปรโทรฟรียกก๊วน 24 ชั่วโมง” แต่แน่นอนว่าเฉพาะเบอร์โทรที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ซึ่งโปรฯ แบบนี้ก็ยิ่งทำให้คนที่มีเบอร์ที่ต้องโทรหาประจำใช้งานได้ถูกลงไปอีก   2.ช่วงเวลาที่ใช้งาน – มีหลายโปรฯ ที่มีการใช้เงื่อนของเวลามาเป็นตัวกำหนดการใช้งาน ซึ่งถ้าโทรตามช่วงเวลาที่โปรฯ กำหนดค่าโทรก็จะถูกมาก เช่น “ซิม 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ” ของดีแทค คิดค่าโทรนาทีละ 15 สต. ช่วง 4 ทุ่ม - 10 โมงเช้า, “ซิมสามก๊ก” ของดีแทค คิดค่าโทรนาทีละ 49 สตางค์ ช่วงตี 5 – 5 โมงเย็น หรือ โปรฯ  One-2-Call! Grammy Music SIM ของเอไอเอส คิดค่าโทรชั่วโมงละ 1 บ. ช่วงเวลา 23.00 น.-17.00 น. เป็นต้น แต่การใช้โปรฯ เหล่านี้ต้องไม่ลืมดูเรื่องของค่าโทรนอกเวลาโปรฯ และเบอร์ที่โทรหาจำกัดเฉพาะเบอร์ในเครือข่ายเดียวกันเท่านั้นหรือไม่   3.ลักษณะการใช้งาน - เพราะเดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือถูกยกระดับกลายเป็น “สมาร์ทโฟน” ไม่ใช่แค่ไว้โทรอย่างเดียว แต่ยังใช้ต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อติดต่อหากันได้ เพราะฉะนั้นถ้าใครใช้มือถือเพื่อเล่นอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ก็ต้องเลือกแพ็คเก็จที่เน้นบริการอินเทอร์เน็ต ส่วนค่าโทรก็ต้องดูตามความเหมาะสม ถ้าให้ดีก็อย่าให้เกินนาทีละ 99 สตางค์

อ่านเพิ่มเติม >