ฉบับที่ 241 ใบแจ้งหนี้ที่ไม่แจ้งยอดหนี้

        หลายบริษัทไฟแนนซ์เมื่อเราซึ่งเป็นลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ของเราจะถูกโอนไปให้สำนักงานทนายความมารับคดีไปทำ ซึ่งเวลาที่ผู้บริโภคจะติดต่อเรื่องราวก็ต้องทำกับสำนักงานทนายความ เพราะบริษัทไฟแนนซ์บอกว่า ให้ติดต่อสำนักงานทนายความเลย แต่หากสำนักงานทนายความไม่ยอมแจ้งยอดหนี้ว่าจริงๆ คือเท่าไร ลูกหนี้อย่างเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง         ศาลมีคำพิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้ส่วนต่างค่ารถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 172,000 บาท  ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์เจ้านี้ได้ให้สำนักงานทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่แรก เวลาติดต่อเรื่องการชำระหนี้ก็จะต้องติดต่อสำนักงานทนายความนี้ หลังจากมีคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน สำนักงานทนายความโทรศัพท์มาติดตามให้เขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทบทุกวัน จนกระทั่งเขาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ในวันชำระหนี้ทนายความให้เขาไปรอที่ธนาคารเพื่อจะให้ชำระหนี้ ทนายความจะส่งเอกสารในการชำระหนี้มาให้         เมื่อเขาไปถึงธนาคารก็บอกทนายไปว่ามาถึงแล้ว สักพักทนายส่งเอกสารใบแจ้งหนี้มาให้ ในใบแจ้งหนี้มีแต่ชื่อตัวเขาและคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระหนี้เท่านั้น เขางงว่าทำไมทนายความส่งมาให้แบบนี้ไม่เห็นบอกยอดหนี้ที่เขาต้องชำระเลย เขาจึงสอบถามทนายความไปว่าทำไมไม่แจ้งยอดหนี้มาในใบแจ้งหนี้ ทนายความก็บอกเพียงแต่ว่าให้เอาเอกสารนี้ยื่นให้ธนาคาร ใบแจ้งหนี้มีเท่าที่เห็นไม่มีการบอกตัวเลขยอดหนี้ ซ้ำทนายความยังขู่ให้โอนทันที แต่คุณภูผา “ไม่ไว้ใจ” สงสัยว่าทำไมทนายความถึงไม่แจ้งยอดหนี้ในใบแจ้งหนี้ บอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นผู้ร้องสามารถแจ้งทนายความได้เลยว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ควรต้องรู้รายละเอียดในการชำระหนี้ของตนเอง ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดยอดหนี้ก็คงไม่สามารถชำระหนี้ได้         ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกขู่ อาจเข้าข่ายเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ประจำจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งกรณีของผู้ร้องเป็นทนายความด้วย ผู้ร้องสามารถร้องเรียนมรรยาททนายความกับทนายความ และสำนักงานทนายความได้ที่ สภาทนายความฯ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 โดนยึดบ้านไม่รู้ตัว

การตกลงซื้ออะไรก็ตาม หากเราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชำระให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะหากเราผิดนัดติดๆ กันหลายงวด อาจทำให้เสียเครดิตหรือถูกยึดสิ่งของนั้นคืนไปไม่รู้ตัวได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติและตกลงชำระค่างวดๆ ละ 2,500 บาท โดยให้ตัดยอดผ่านบัญชีธนาคารในวันที่ 11 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดชำระของเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีการตัดยอดค่างวดดังกล่าว คุณสมชายจึงตัดสินใจไปชำระเงินกับธนาคาร เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่ธนาคารกลับปฏิเสธการชำระเงิน โดยแจ้งว่า ทางการเคหะได้ซื้อบ้านของเขาคืนไปแล้ว ซึ่งหากเขาต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปติดต่อกับทางการเคหะแห่งชาติด้วยตนเองภายหลังพูดคุยกับการเคหะแห่งชาติก็ได้รับคำยืนยันว่า บ้านของเขาถูกซื้อคืนไปจริง เนื่องจากคุณสมชายผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากต้องการบ้านคืนจริงๆ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาใหม่ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทสำหรับการทำสัญญาใหม่ คุณสมชายมีข้อสังเกตซึ่งได้ชี้แจงกับการเคหะฯ ว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองผิดนัดชำระค่างวด เนื่องจากสั่งตัดยอดจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ทางการเคหะฯ จึงแนะนำให้เขาโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดการชำระเงินกับธนาคาร เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเมื่อคุณสมชายติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลการชำระเงินค่างวดย้อนหลังก็พบว่า ตั้งแต่ตกลงผ่อนชำระค่างวดบ้านมา 7 เดือน มีบางเดือนติดกันที่ธนาคารไม่สามารถตัดยอดชำระได้ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทำให้เกิดยอดค้างชำระและดอกเบี้ยสะสม รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการเคหะซื้อบ้านคืนไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเขาไม่ทราบเลยว่า ตนเองผิดนัดชำระค่างวด เพราะธนาคารไม่เคยส่งหนังสือหรือเอกสารแจ้งเตือนให้ไปชำระยอดที่ค้างอยู่ รวมทั้งทางการเคหะก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ก่อนซื้อบ้านคืนไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ดำเนินการช่วยผู้ร้องโดยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ, กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหัวหน้าสำนักงานเคหะนนทบุรี 1 เพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ร้องต้องการบ้านคืนและใช้สัญญาในเงื่อนไขเดิม คือ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่พร้อมชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท แต่ไม่ขอเสียค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีซื้อบ้านคืนและทำสัญญาใหม่จำนวน 20,000 บาท ซึ่งภายหลังการเจรจาทางธนาคารได้ยินยอมข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบกันไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน หากว่าท่านได้ทำสัญญาการผ่อนชำระเงินค่างวดใดๆ ท่านควรตรวจสอบสถานะทางบัญชีว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่างวดในสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้หรือไม่ และควรมีเอกสารการรับเงินจากคู่สัญญาที่ท่านได้ทำไว้ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินการใดๆ หากเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 3)

บริการโทรคมนาคม มือถือ อินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ สมัครง่ายแต่เลิกยาก เพราะทุกบริษัทมัวแต่แข่งกัน หาลูกค้า จนอาจลืมใส่ใจพัฒนาคุณภาพบริการให้เพียงพอกับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น หลายคนอยากยกเลิกบริการที่ใช้อยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะบริษัทจะมีข้ออ้างสารพัดที่จะปฏิเสธ ไม่ให้เรายกเลิกบริการได้ง่าย ๆ ซึ่งผมได้แนะนำวิธีรับมือไว้ 2 ตอนแล้ว สรุปสั้น ๆ อีกครั้ง ก็คือ คุณสามารถยกเลิกบริการโทรคมนาคมได้ โดยการทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งให้บริษัทรับรู้ จะส่งจดหมาย แฟกซ์ หรือ อีเมล์ ก็ได้ทั้งนั้น แค่แจ้งแล้วจบเลย สำหรับคนที่ใช้แบบรายเดือน (Post Paid) เมื่อจะยกเลิกบริการ จะมีประเด็นเรื่องการคิดค่าบริการเดือนสุดท้ายที่ต้องดูให้ดี เพราะรายการส่งเสริมการขายทุกวันนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นแพ็คเกจแบบเหมาจ่ายรายเดือน เช่น จ่าย 540 บาท โทรฟรีได้ 550 นาที และเล่นเน็ตได้ไม่อั้น ค่าโทรส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้าคุณจะยกเลิกบริการในระหว่างที่ยังไม่ครบรอบบิล คำถามคือ คุณจะต้องจ่ายค่าบริการเต็มจำนวนไหม โดยหลักทั่วไป คำตอบ คือ จ่ายตามสัดส่วนการใช้งานจริง ไม่ต้องจ่ายเต็มแพ็คเกจ เช่น ถ้ายกเลิกบริการตอนครึ่งเดือน ก็จ่ายแค่ครึ่งเดียว 270 บาท แต่ในชีวิตจริง มันอาจจะไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากเสียเปรียบบริษัท พอรู้ว่าจะกลางเดือนนี้จะยกเลิกบริการ ก็เลยใช้สิทธิโทรเต็มที่ โทรไป 540 นาที แต่ปรากฏว่าโดนบริษัทคิดค่าบริการเพิ่ม โดยอ้างว่าใช้บริการครึ่งเดือน บริษัทก็ลดค่าบริการให้ครึ่งหนึ่งแล้ว แต่สิทธิในการใช้บริการโทรฟรีก็ต้องลดลงครึ่งหนึ่งเช่นกัน จึงเหลือสิทธิโทรฟรีแค่ 275 นาที ดังนั้น ส่วนที่เกินไป 265 นาที จะต้องจ่ายในอัตรานาทีละ 1.50 บาท ต้องจ่ายเพิ่มอีก 397.50 บาทสรุปว่า ลูกค้าใช้แพ็คเกจ 540 บาท/เดือน แต่พอยกเลิกบริการระหว่างรอบบิล กลายเป็นว่าต้องจ่ายเงิน 667.50 บาท ซึ่งแพงกว่าแพ็คเกจที่ใช้งานเต็มเดือนซะอีก งานนี้จึงมีการร้องเรียนว่าบริษัทคิดค่าบริการเกิน เขาควรจ่ายแค่ 270 บาทเท่านั้น เพราะยังโทรไม่เกินแพ็คเกจเลย ซึ่งบริษัทก็โต้แย้งว่า ถ้าจ่ายค่าบริการแค่ครึ่งเดียวแต่ใช้สิทธิเต็มที่ขนาดนี้เขาก็เสียเปรียบเหมือนกันตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเรื่องจริงนะครับ ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ว่า บริษัทมีสิทธิปรับลดระยะเวลาการโทรฟรี และคิดค่าบริการแบบเฉลี่ยตามสัดส่วนวันที่มีการใช้งานจริง (คือ มีสิทธิคิดค่าบริการแค่ 270 บาท และลดสิทธิโทรฟรีเหลือแค่ 275 นาที) แต่ในกรณีนี้ บริษัทจะคิดค่าบริการในส่วนที่เกินจากสิทธิโทรฟรีโดยเฉลี่ยในอัตรา 1.50 บาท/นาที ไม่ได้ เพราะผู้ร้องเรียนมิได้ใช้สิทธิโทรฟรีเกินจากแพ็คเกจ (ผู้ร้องเรียนใช้โทรศัพท์ไป 540 นาที เกินจากสิทธิโดยเฉลี่ยไป 265 นาที แต่ไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจทั้งหมด 550 นาที) ค่าโทรในส่วนที่เกินสิทธิการใช้งานโดยเฉลี่ย จะต้องคิดในอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย คือ คิดตามราคาที่แท้จริงของบริการที่มีการใช้งาน สำหรับแพ็คเกจที่รวมทั้งค่าโทรและค่าเน็ตไว้ด้วยกัน ก็ต้องแยกแยะว่าค่าบริการแต่ละประเภท คิดอัตราเท่าไร ซึ่งอาจจะซับซ้อนหน่อยแต่สามารถทำได้ครับ โดยสรุป ตามตัวอย่างที่ยกมา อัตราค่าโทรในแพ็คเกจจะอยู่ที่ประมาณ 0.23 /นาที ดังนั้นส่วนที่เกินมาจากสิทธิโดยเฉลี่ย 265 นาที จะต้องคิดในอัตรานาทีละ 0.23 บาท ซึ่งเป็นเงินแค่ 60.95 บาท สรุปว่า ผู้บริโภคต้องจ่าย 270 + 60.95 = 330.95 บาท แต่บริษัทคิดเงินไป 667.50 บาท ก็ต้องคืนส่วนต่างให้ผู้บริโภคส่วนใครที่ใช้บริการแบบเติมเงิน (Pre Paid) เมื่อยกเลิกบริการก็จะไม่ต้องวุ่นวายกับการคิดคำนวณค่าบริการเดือนสุดท้าย แต่อย่าลืมตรวจสอบว่ามีเงินคงเหลือในระบบหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเงินเหลือ คุณสามารถขอคืนจากผู้ให้บริการได้นะครับ เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองไว้ ในข้อ 34 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 “เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ ในการคืนเงินดังกล่าว เมื่อผู้ให้บริการได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้ใช้บริการหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ใช้บริการอย่างถูกต้องแล้ว ให้ผู้ให้บริการคืนเงินภายในสามสิบวันนับแต่วันเลิกสัญญาทั้งนี้ การคืนเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ อาจคืนด้วยเงินสด เช็ค หรือนำเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการ หรือตามวิธีการที่ผู้ใช้บริการได้แจ้งความประสงค์ไว้ กรณีผู้ให้บริการไม่สามารถคืนเงินค้างชำระให้แก่ผู้ใช้บริการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดผู้ให้บริการจะต้องชำระค่าเสียประโยชน์ในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการคิดจากผู้ใช้บริการกรณีผู้ใช้บริการผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการแก่ผู้ให้บริการ แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ใช้บริการที่จะเรียกค่าเสียหายอย่างอื่น” ก็เป็นอันว่า ถ้าทำตามคำแนะนำทั้ง 3 ตอนที่ผ่านมา ก็รับรองว่า ท่านผู้อ่านจะสามารถยกเลิกบริการโทรคมนาคมได้แบบ Happy Ending แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >