ฉบับที่ 227 เขาวานให้หนูเป็นสายลับ : อย่าเห็นหนูเป็นสนามอารมณ์

              คำภาษิตโบราณกล่าวกันว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” จริงๆ แล้ว ปมปัญหาในความเปรียบนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวของ “ลูกสาว” ของบ้าน หรืออยู่ที่ “ส้วม” อันเป็นสถานที่ที่เราใช้ขับถ่ายของเสียแต่อย่างใด แต่ปัญหาลึกๆ น่าจะมาจากทัศนะที่สังคมให้คุณค่ากับ “ลูกสาว” และ “ส้วม” ไปในทิศทางลบกันมากกว่า        นั่นหมายความว่า หากสังคมเห็นว่า ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งชีวิตที่มีคุณค่าไม่ต่างจากบุรุษเพศ เราก็จะผาดตามามอง “ลูกสาว” กันเสียใหม่ว่า เธอก็ไม่ได้แตกต่างจาก “ลูกชาย” แต่อย่างใดเลย และก็เช่นเดียวกัน หากเราเลือกเปลี่ยนระบบคิดต่อ “ส้วม” เสียใหม่ว่า แม้จะเป็นสถานที่ที่มนุษย์ปลดปล่อยปฏิกูลของร่างกาย แต่ถ้าเราขาดซึ่งห้องน้ำที่เราเรียกกันว่า “ส้วม” เสียแล้ว ชีวิตของคนเราก็น่าจะบังเกิดความทุกข์ระทมกันเพียงใด         ทั้ง “ลูกสาว” และทั้ง “ส้วม” ต่างจึงมีคุณค่าในตัวมันเอง และมิอาจมองข้ามการดำรงอยู่ของทั้งสองสิ่งนี้ไปได้เลย ปัญหาจึงเป็นดังที่ได้กล่าวไว้ก็คือ น่าจะเป็นเพราะโลกทัศน์ที่มนุษย์เรากดทับคุณค่าของ “ส้วม” ให้ไร้ซึ่งความสำคัญ และผลักไสให้ “ลูกสาว” มีสถานะไม่ต่างจาก “ส้วม” ที่เราต่างนิยามเอาไว้ด้วยความรังเกียจรังงอนนั่นเอง         และจะเกิดอะไรขึ้นหากวันดีคืนดี นางเอกละครโทรทัศน์กลับถูกสร้างให้มีชื่อที่เรียกว่า “ส้วม” แถมยังเป็น “ส้วม” ที่ “เขาๆ” ผู้ชายทั้งหลายต้อง “วานให้เธอกลายมาเป็นสายลับ” กันอีก...???         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ” เริ่มต้นเปิดเรื่องแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครนางเอก ที่แม้จะมีชื่อจริงตั้งว่า “ฐานะมาศ” แต่ชื่อเล่นของเธอก็คือ “ส้วม” ผู้มีนิสัยประจำตัวอันประหลาด เพราะไม่เพียงจะชอบเข้าห้องน้ำนานๆ แต่ในยามค่ำคืนที่นอนไม่หลับ เธอก็ยังชอบลุกขึ้นมาขัดส้วมเป็นประจำ         ด้วยความที่ส้วมเติบโตมาในสลัม และสลัมเองก็มีภาพลักษณ์ว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและมั่วสุมไปด้วยด้านมืดของสังคมไทย ผู้หญิงอย่างส้วมที่เติบโตมาบนกองขยะและสิ่งเน่าเหม็นของสลัม ก็เลยถูกประทับตราว่า เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้มีคุณค่าในสายตาหรือการรับรู้ของนานาอารยชนไปโดยปริยาย        แม้จะเป็นน้องนางกลางสลัมแลนด์ แต่ส้วมก็ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตา เปิดฉากมาเราจึงเห็นส้วมขะมักเขม้นนั่งท่องตำราเรียนวิชากฎหมายอย่างตั้งใจ สลับกับภาพการทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าบ่อนให้กับ “บุญยืน” ผู้เป็นมารดา พร้อมๆ กับคอยวิ่งหนีตำรวจกันเป็นที่ขำขันหรรษากันตั้งแต่ฉากแรกๆ ของเรื่อง         แต่อย่างไรก็ดี ภายใต้เนื้อเรื่องที่ดู “เบาสมอง” แบบโรแมนติกคอมเมดี้เช่นนี้ ละครกลับเผยให้เห็นว่า ปัญหาของสลัมไม่ใช่จะเป็นเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม หรือเพราะสลัมเป็นย่านที่อยู่ของผู้ยากไร้ไม่มีอันจะกิน แต่เป็นเพราะการที่คนอื่นๆ รอบนอกสลัมต่างหากที่คอยจ้องเอารัดเอาเปรียบสรรพชีวิต โดยเฉพาะกับมนุษย์เพศหญิงที่พำนักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดแห่งนี้         การขูดรีดเอาเปรียบต่อชีวิตผู้หญิงถูกสะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านการกระทำรุนแรง ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัวจนถึงสังคมใหญ่แบบภาพรวม แบบเดียวกับที่ “สิงห์” จอมโจรที่สวมรอยเป็นพ่อเลี้ยงของส้วมมักกระทำรุนแรงทางกายอยู่เสมอๆ ทั้งต่อเธอ ต่อมารดา และต่อ “อ้อย” ผู้เป็นพี่สาวของส้วม ไปจนถึงการนำเสนอตัวละคร “เสี่ยฮะ” เจ้าของผับในคราบนักบุญ ที่เบื้องหลังก็ใช้สลัมเป็นแหล่งค้ายาเสพติดและค้ากาม โดยไม่เคยเห็นว่า ผู้หญิงที่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์เยี่ยงนี้เป็นมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อแต่อย่างใด         เพราะสัมผัสถึงการเอารัดเอาเปรียบมนุษย์เพศหญิงอยู่ทุกวี่วัน ในขณะเดียวกัน เพราะส้วมเองก็มีสัมผัสพิเศษที่สามารถเห็นวิญญาณคนตาย และเธอเองก็ถูกร้องขอความช่วยเหลือจากวิญญาณของ “แป๋ว” หญิงสาวที่ถูกฆาตกรรมเนื่องจากเข้ามาในวังวนของการค้าประเวณี ส้วมจึงได้ข้อสรุปว่า ตราบใดที่ผู้หญิงยังถูกมองเป็นเพียงวัตถุที่รองรับความรุนแรงต่างๆ ตราบนั้นผู้หญิงก็ยังไม่อาจหลุดพ้นการเป็น “สนามอารมณ์” ที่สังคมจะขูดรีดเอาเปรียบได้ไม่สิ้นไม่สุด         ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “ทวนเทพ” หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับเรื่องคดีเสี่ยฮะ และปลอมตัวมาเป็นคนเก็บของเก่าในสลัม ได้ขอความช่วยเหลือส้วมให้มาร่วมกับหน่วยงานลับที่ชื่อ “สโนว์ไวท์” ส้วมจึงตอบตกลง และเริ่มต้นภารกิจ “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ” ในครั้งนี้ที่ตั้งชื่ออย่างน่าเอ็นดูว่า “ล่าแม่เลี้ยงใจร้าย”          หลังจากก้าวมาเป็นสายลับอันเป็นเงื่อนปมที่ละครได้ผูกโยงเอาไว้ ส้วมก็ได้มาประสบพบรักกับพระเอก “ดนุรุจ” นายตำรวจหนุ่มอีกคนที่ตามสืบคดีเสี่ยฮะ และแม้เขากับเธอจะไม่ลงรอยกินเส้นกันในช่วงแรกๆ แต่ภายหลังเมื่อดนุรุจกับส้วมต้องจัดพลัดจับผลูมาสวมรอยแต่งงานกันเพียงในนาม เขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ผู้หญิงอย่างส้วมเท่านั้นที่จะทำให้ “บ้านกลายเป็นบ้าน” และเติมเต็มชีวิตที่ต้องปกปิดปมเจ็บปวดที่กำพร้าบุพการีมาตั้งแต่เด็ก          ในอีกด้านหนึ่ง ยิ่งสืบคดีของเสี่ยฮะไปมากเท่าไร สายลับส้วมสาวก็ยิ่งค้นพบว่า ระบอบแห่งการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบสตรีเพศนั้น ไม่เพียงแต่ซับซ้อน หากยังฝังลึกเข้าไปในหลืบเร้นแห่งสำนึกและความคิดของผู้คนในสังคม เพราะแม้แต่กับผู้หญิงก็สามารถกระทำต่อเพื่อนผู้หญิงด้วยกันได้ทั้งกายวาจาและจิตใจ         ไม่ว่าจะเป็น “ดาวิกา” ที่มองส้วมเป็นศัตรูหัวใจและกดข่มผู้หญิงด้วยทัศนะที่ว่า ขนาดชื่อของนางเอกส้วมยังฟังดูสกปรกเลย หรือ “สุชาวดี” ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นของเสี่ยฮะ ที่เบื้องหลังก็อยู่ร่วมกับบิดาในขบวนการค้าประเวณี จนส้วมเคยเอ่ยปากถึงเธอว่า “น่ากลัวเสียยิ่งกว่าผี” หรือแม้แต่กับติ่งเกาหลี “หนึ่งธิดา” ที่ครั้งหนึ่งก็ถูกเป่าหูให้รังเกียจส้วม โดยเกือบลืมไปว่าทั้งคู่เคยเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่วัยเด็ก        ผู้คนรอบข้างที่ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายซึ่งต่างกดทับศักดิ์ศรีแห่งสตรีเพศเช่นนี้เอง ทำให้ครั้งหนึ่งส้วมได้เปรยกับดนุรุจถึงชะตากรรมของผู้หญิงสลัมอย่างเธอว่า “ฉันต้องตัดสินตัวเองตลอด เพราะทุกครั้งที่ฉันลืมตัว ก็จะมีคนอย่างพวกคุณคอยตัดสินตัวฉัน และเหยียบย่ำฉันอยู่ตลอดเวลา...”        ด้วยพล็อตเรื่องแนวโรแมนติกคอมเมดี้เช่นนี้ เราอาจจะเดาได้ไม่ยากว่า ภายหลังภารกิจ “ล่าแม่เลี้ยงใจร้าย” สิ้นสุดลงได้ เพราะความช่วยเหลือจากสายลับเช่นส้วม เสี่ยฮะแอนด์เดอะแก๊งก็ต้องถูก “ลงโทษเชิงสัญลักษณ์” ให้ตายหรือติดคุกกันไป ในขณะที่ตัวละครฝั่งคุณธรรมก็จะได้ “รางวัลตอบแทนความดี” แบบที่หนึ่งธิดาได้เข้าพิธีวิวาห์กับ “สารวัตรเผด็จ” และส้วมกับดนุรุจก็ปรับความเข้าใจจนแฮปปี้เอนดิ้งกันไปในที่สุด        แต่อีกด้านหนึ่ง ละครที่ดู “เบาสมอง” ก็ชวนให้เรา “หนักสมอง” ขบคิดและเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้วยว่า “สองมือที่ทำให้โลกหมุนไป” ของผู้หญิงนั้น ถือเป็นศักยภาพด้านที่สร้างสรรค์ของสังคม หาใช่จะเป็นแหล่งระบายสิ่งปฏิกูล หรือใครจะอ้างสิทธิ์ผลักไสกระทำรุนแรงต่อทั้งร่างกายและจิตใจได้ เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งส้วมเคยระเบิดเสียงแห่งสตรีเพศออกมาว่า “ใช่...กูชื่อส้วม แต่ไม่ใช่ว่ากูจะเป็นส้วมให้ใครขับถ่ายใส่อยู่ทุกวี่วัน…”

อ่านเพิ่มเติม >