ฉบับที่ 250 ดูอย่างไรว่า “งานวิจัย” เชื่อได้

        ข้อมูลงานวิจัยทางวิชาการมักถูกใช้ในการตัดสินใจว่า ควรหรือไม่ควรเชื่อ เมื่อมีการกล่าวถึง เช่นในกรณีการอ้างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในการขายสินค้าที่อ้างว่า มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งโดยหลักการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วเรามักกล่าวถึง กาลามสูตร 10 ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพื่อช่วยผู้บริโภคให้ คิดก่อนเชื่อ เพื่อพิจารณาว่า สิ่งใดเชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้นั้น ผู้บริโภคควรใช้ข้อมูลอะไรช่วยในการคิด ซึ่งคำตอบง่าย ๆ คือ ใช้ข้อมูลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้ แต่ยังมีคำถามที่ตามต่อมาคือ งานวิจัยที่ตีพิมพ์นั้นเชื่อได้เสมอหรือ ซึ่งคำตอบคือ “ไม่เสมอไป” ดังนั้นในการอ้างอิงเอกสารทางวิชาการมาประกอบการโฆษณาสินค้าของผู้ขายนั้นทำให้จำเป็นต้องพิจารณาว่า  ผลงานวิจัยนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งลำดับแรกที่ควรทำคือ ดูจากการที่วารสารที่ตีพิมพ์บทความนั้นมีกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมของบทความที่รอบคอบสามารถจับผิดจับถูกในข้อมูลที่แสดงไว้ในบทความอย่างไร โดยกระบวนการซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการปัจจุบันคือ การทำ peer review ต้นฉบับบทความก่อนสำนักพิมพ์ตัดสินใจตีพิมพ์ในวารสาร (peer-reviewed journals)         จากเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง Peer Review (THE NUTS AND BOLTS A guide for early career researchers) ตีพิมพ์ในเว็บ https://senseaboutscience.org เมื่อ 10 กันยายน 2021 นั้นมีข้อมูลหลายประเด็นซึ่งน่าสนใจเพื่อนำมาใช้ในการประเมินว่า ควรใช้งานวิชาการในวารสารใดเพื่อการตัดสินใจเชื่อคำกล่าวถึงคุณภาพของสินค้าเพื่อสุขภาพตามหลักกาลามสูตร 10         ความหมายในภาษาไทยของคำว่า peer-review นั้นน่าจะเป็น การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน ซึ่งเป็นกระบวนการของวารสารที่เมื่อได้รับต้นฉบับบทความแล้ว บรรณาธิการหรือคณะบรรณาธิการต้องพิจารณาตรวจบทความว่า สมควรรับหรือไม่รับก็ได้ (ถ้ากล้าพอ) แต่เพื่อกันข้อครหานินทาจากสังคมนักวิชาการ กองบรรณาธิการมักตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ (โดยทั่วไปมักมีจำนวน 2-3 คน) ซึ่งเป็นผู้รู้ที่มีความรู้เสมอกันในสาขาวิชาดังกล่าว ที่พอจะเข้าใจลักษณะของงานวิจัยนั้น เป็นกรรมการผู้พิจารณาตรวจสอบอ่านบทความว่า เป็นผลงานที่ดีและมีคุณภาพในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่         ในการค้นหาชื่อของผู้เชี่ยวชาญนั้น วารสารมักเลือกจากฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในประเทศหรือต่างประเทศที่วารสารเข้าถึงได้ หรือจาก "PubMed" ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับการอ้างอิงบทคัดย่อ (ตลอดจึงการ download บางบทความที่เป็นตัวจริงที่ตีพิมพ์แล้ว) ซึ่งทำให้เห็นชื่อของนักวิจัยที่ทำงานในแต่ละสาขาที่มีผลงานถูกตีพิมพ์ในระดับน่าจะแสดงความเชี่ยวชาญได้ อย่างไรก็ดีบรรณาธิการหลายคนมีความเห็นว่า ควรเลี่ยงที่จะเลือกเชิญนักวิจัยระดับโลก (น่าจะหมายถึงคนที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ) มาช่วยตรวจสอบบทความที่ถูกเสนอเพื่อการตีพิมพ์ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิระดับนี้มักยุ่งเกินไปจนทำให้กระบวนการคัดเลือกบทความเพื่อวารสารแต่ละเล่มช้า จนในบางโอกาสผู้เชี่ยวชาญอาจให้ลูกศิษย์หรือนักวิจัยระดับรองในหน่วยงานทำแทน         กระบวนการทำ peer review ที่นิยมทำนั้นมี 3 แบบคือ แบบรู้เขาแต่เขาไม่รู้เรา (Single-Blind Review) ซึ่งกรรมการรู้ว่าใครเป็นคนเขียนต้นฉบับแต่ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตรวจทาน กระบวนการนี้ช่วยให้กรรมการสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา วิจารณ์โดยไม่ต้องกลัวว่าผู้เขียนจะตอบโต้ อย่างไรก็ดีข้อด้อยของกระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นถ้าได้กรรมการที่ไร้ยางอาย หาทางชะลอกระบวนการตรวจสอบก่อนตีพิมพ์แล้วขโมยแนวคิดไปทำวิจัยเสียเอง ส่วนแบบเขาไม่รู้เราและเราก็ไม่รู้เขา (Double-Blind Review) นั้นกรรมการไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่งและเจ้าของต้นฉบับก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตรวจทาน กระบวนการนี้น่าจะลดความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรู้ว่า ใครเป็นผู้แต่งและสามารถประเมินความเหมาะสมของผลงานด้วยตัวงานเอง อย่างไรก็ดีแม้ต้นฉบับไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน กรรมการ peer review อาจเดาได้ว่าใครคือเจ้าของต้นฉบับบทความได้หากผู้เขียนได้อ้างอิงบทความของตนเองหลายเรื่องในบทความ ส่วนกระบวนการแบบเปิดหน้าชก (Open Review) นั้นกรรมการผู้ประเมินรู้ว่าใครคือผู้เขียนและผู้เขียนรู้ว่าใครเป็นผู้ประเมิน ในกรณีที่วารสารเลือกใช้กระบวนการนี้มักมีการระบุชื่อผู้ประเมินควบคู่ไปกับบทความที่ตีพิมพ์ เพื่อให้กรรมการได้รับเครดิตสาธารณะสำหรับความเสียสละในการอ่าน ซึ่งเป็นการแสดงความโปร่งใส เพิ่มความรับผิดชอบของกรรมการให้มากขึ้นและน่าจะลดโอกาสในการมีอคติหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม         ประเด็นสำคัญที่ต้องดูในการทำ peer review คือ 1.) ความสำคัญของบทความต่อสังคมทางวิชาการ 2.) การอธิบายกระบวนการทำวิจัยอย่างชัดเจน (เพียงพอสำหรับนักวิจัยคนอื่นทำซ้ำได้) เพื่อตอบสมมุติฐานที่กำหนดไว้ 3.) การวิเคราะห์ผลการศึกษาทางสถิติเหมาะสม 4.) การอภิปรายผลจากงานวิจัยนั้นดูมีความสำคัญทางวิชาการและคำนึงถึงข้อจำกัดของการศึกษาว่ามีทางแก้ไขหรือป้องกันหรือไม่ 5.) งานวิจัยนั้นเป็นนวัตกรรมหรือเป็นสิ่งที่ค้นพบใหม่และ/หรือก่อความท้าทายกระบวนทัศน์ที่มีอยู่เดิมหรือเพิ่มความรู้ที่มีอยู่ 6.) การนำเสนอผลการวิจัยนั้นต้องปรับปรุงหรือไม่และผลนั้นเป็นการตอบคำถามที่ตั้งไว้หรือไม่ 7.) หากศึกษาในมนุษย์ เนื้อเยื่อของมนุษย์ หรือมีสัตว์เกี่ยวข้อง ต้องได้รับการอนุมัติด้านจริยธรรมจากหน่วยงานที่ดูแลการทำวิจัย 8.) ข้อสรุปผลการวิจัยหรือ conclusion นั้นเหมาะสม สะท้อนประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้แต่ต้นโดยไม่เสนอแนวคิดใหม่ที่ไม่เกี่ยวในการทำวิจัย ตั้งคำถามที่ท้าทายโดยอ้างอิงผลการศึกษาที่ค้นพบเพื่อเรียกร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง         ประเด็นการแอบนำเสนอผลงานวิจัยของผู้อื่นในรูปแบบงานวิจัยของผู้เขียนต้นฉบับเองซึ่งเรียกว่า plagiarism นั้น ผู้ เชี่ยวชาญบางคนสามารถมองเห็นได้ว่า บทความที่กำลังตรวจสอบนั้นคล้ายกับบทความอื่นที่เคยได้อ่าน หรืออาจจำเป็นต้องใช้คำสำคัญ (key words) ค้นหาบทความในแนวเดียวกันจากฐานข้อมูลที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่พบความคล้ายกันแบบไม่บังเอิญกรรมการควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันทีพร้อมหลักฐาน         ในกรณีที่เจ้าของต้นฉบับสร้างข้อมูลเทียมในต้นฉบับอย่างระมัดระวัง การตรวจจับอาจยากมาก ตัวอย่างเช่น กรณีภาพถ่ายที่เคยมีการตีพิมพ์แล้วถูกนำเปลี่ยนสีและติดป้ายกำกับใหม่ให้ดูเป็นข้อมูลใหม่ หรือการลบบางส่วนของภาพทิ้ง อย่างไรก็ดีในบางกรณีผู้เชี่ยวชาญอาจสามารถสังเกตความผิดปรกติของข้อมูลตัวเลขที่ขัดต่อกฎทางคณิตศาสตร์ งานที่ขาดการสุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม ขนาดกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดในการศึกษาต่างกันมากอย่างไม่มีเหตุผล การวิเคราะห์ทางสถิติที่ไม่มีความหมายหรือผิดหลักการพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ควรรู้ ผลการศึกษาที่ดูดีเกินไปเช่น ค่าการเบี่ยงเบนมาตรฐานแคบจนไม่น่าเชื่อ หรือผลการจากกราฟที่แสดงความสัมพันธ์เป็นเส้นตรงเกินไปทั้งที่เป็นทำวิจัยในสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย         มีปรากฏการณ์หนึ่งที่สามารถเกิดได้หลังจากที่บทความได้รับการตีพิมพ์แล้วคือ ผู้อ่านบางคนสามารถตรวจจับได้ว่า เกิดความผิดปรกติในบทความ (เช่น การลอกเลียนบางส่วนหรือทั้งหมดหรือตกแต่งตัวเลขที่เป็นผลจากการวิจัย) แล้วแจ้งต่อบรรณาธิการ ซึ่งวารสารที่ดีมักทำการถอนบทความนั้นออกเหมือนไม่ได้ตีพิมพ์ (retraction) โดยเอกสารการแจ้งถอนนั้นมักปรากฏควบคู่ไปกับบทความที่ตีพิมพ์ออนไลน์ หรือประทับคำว่า Retraction บนบทความ ผู้ที่สนใจในประเด็นดังกล่าวสามารถติดตามได้ในเว็บ Retraction Watch (https://retractionwatch.com)         ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ที่มีขอบเขตทางวิชาการกว้างและมีผู้นิยมส่งผลงานเป็นจำนวนมาก เช่นวารสาร Science หรือ Nature หลายบทความอาจได้รับการปฏิเสธแม้มีคุณภาพดีพอควรแต่ทางบรรณาธิการยังรู้สึกว่า ยังไม่โดดเด่นกระทบใจคนในวงการวิชาการ ส่วนวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น PLOS ONE, Scientific Reports และ Peer J ใช้กระบวนการ peer review ที่เคร่งครัดเพียงเพื่อตัดสินความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์และระเบียบวิธีเท่านั้น จึงทำให้วารสารเหล่านี้แทบจะตีพิมพ์บทความทั้งหมดที่ปฏิบัติตรงตามมาตรฐานที่จำเป็นของความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเจ้าของต้นฉบับบางคนทำให้เกิดขึ้นได้แม้เนื้องานอาจดูไม่ดี) สำหรับวารสารเฉพาะทางที่มีจำนวนการเผยแพร่ต่อผู้อ่านค่อนข้างน้อยจึงมักมีผู้เสนอต้นฉบับบทความเพื่อขอตีพิมพ์น้อย ทำให้การแข่งขันเพื่อการตีพิมพ์ไม่สูงนัก อัตราการตอบรับเพื่อตีพิมพ์เฉลี่ยจึงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง         การที่ต้นฉบับบทความวิชาการบางเรื่องได้รับการตีพิมพ์ยากนั้น อาจเนื่องจากเป็นสาขาวิชาเฉพาะที่ลงลึกมากจนหากรรมการที่เข้าใจได้ยากหรือคุณภาพงานไม่อยู่ในระดับที่ peer-reviewed journals ยอมรับ เจ้าของบทความ เช่น อาจารย์หรือนักวิจัยในหลายประเทศที่จำเป็นต้องมีผลงานในทุกปีมิเช่นนั้นอนาคตอาจมืดมลจนจำเป็นต้องเลือกไปใช้บริการจากวารสารประเภท จ่ายครบตีพิมพ์แน่ โดยวารสารลักษณะนี้เป็นของสำนักพิมพ์ที่ถูกเรียกว่า predatory publisher (สำนักพิมพ์นักล่าเหยื่อ) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ แต่จัดทำวารสารเพื่อหารายได้เข้าตนเองเป็นหลัก กระบวนการทุกอย่างในการตีพิมพ์รวดเร็วทันใจมาก ในบางกรณีอาจพบว่าตัววารสารนั้นไม่ได้ดำเนินการโดยสำนักพิมพ์ที่เป็นเรื่องเป็นราวแต่มักมีเว็บไซต์ซึ่งดูดี รายชื่อวารสารหลอกลวงเหล่านี้หาดูได้จาก Beall’s list of predatory publishers ซึ่งเป็นรายชื่อวารสารและสำนักพิมพ์ที่เข้าข่ายซึ่งนักวิชาการที่ดีไม่ควรส่งต้นฉบับงานวิจัยไปตีพิมพ์ เพราะถึงตีพิมพ์แล้วผลงานนั้นอาจไม่ได้รับการพิจารณาว่ามีมาตรฐานพอในการขอตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ รายชื่อนี้จัดทำโดยบรรณารักษ์ชื่อ Associate Professor Jeffrey Beall สังกัด University of Colorado สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ในการทบทวนกระบวนการทำงานและคุณภาพของวารสารจากสำนักพิมพ์จำนวนมาก จนเห็นความแตกต่างของวารสารที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีวารสารที่มีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและ/หรือออนไลน์แต่ไม่อยู่ใน Beall’s list นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามีคุณภาพดี แต่เพราะอาจเป็นเพียงวารสารประจำถิ่นที่ไม่ประสงค์ในการเผยแพร่การค้นพบสู่วงการวิชาการระดับนานาชาติ วารสารลักษณะนี้หาดูได้ไม่ยากนักในประเทศที่พัฒนาแล้วได้แค่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถพัฒนาต่อไปให้ดีกว่านี้         ข้อสังเกตง่าย ๆ ของ predatory publishers คือ 1.) เป็น วารสาร online แทบทั้งนั้น อาจมีการพิมพ์เป็นตัวเล่มบ้างเช่นกันพอเป็นกระสาย 2.) มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ในราคาสูง 3.) มีกระบวนการพิจารณาเรื่องเพื่อตีพิมพ์รวดเร็วทันใจ ประเมินต้นฉบับบทความแบบอะลุ่มอล่วยพอเป็นพิธี 4.) สำนักพิมพ์ของวารสารมักตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่น่าเชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานั้นๆ แต่หลายสำนักพิมพ์นั้นก็ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และบางประเทศในยุโรป 5.) วารสารเหล่านี้มักตั้งชื่อให้คล้ายคลึงกับวารสารมีชื่อเสียงที่มีมานานแล้วเพียงแต่ใช้วิธีลวงตา เช่นเติม s ไปท้ายชื่อวารสารเดิมหรือถ้าเดิมมี s ก็ตัดออกเสีย 6.) บทความที่ตีพิมพ์มักใช้ภาษาที่ผิดไวยากรณ์บ้าง สะกดคำผิด เป็นต้น         วารสารประเภท predatory journals นั้นเป็นแหล่งตีพิมพ์ยอดนิยมของคนที่เรียนออนไลน์เพื่อขอรับปริญญาขั้นสูงจากมหาวิทยาลัยห้องแถวในหลายประเทศ ซึ่งเจ้าของบทความไม่ได้เรียนจริงหรือแม้มีวิทยานิพนธ์ก็ใช้วิธีแอบทำสำเนาจากวิทยานิพนธ์ของคนอื่นที่มีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ท แล้วนำมาดัดแปลงโดยอาจอาศัยความช่วยเหลือจากมือปืนอาชีพในบางสาขาวิชาแล้วทำรูปเล่มให้ดูดี เพียงเพื่อใช้ลงใน social media ต่าง ๆ เพื่อลวงสังคมว่าได้จบในสาขาวิชาหนึ่งในขั้นสูงแบบเดียวกับคนที่เขาใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าจะได้มา คนประเภทนี้มีเสนอหน้ามากพอควรในสังคมโลกปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >