ฉบับที่ 221 ขึ้นเครื่องบินไม่ได้เพราะใช้ชื่อย่อ

        หลายครั้งที่เราเคยชินกับการทำบางสิ่งลงไปแล้ว และทำซ้ำโดยคิดไม่ถึงว่าจะเกิดความผิดพลาดในภายหลัง กรณีต่อไปนี้อาจเป็นบทเรียนสำคัญที่เป็นอุทาหรณ์ว่า เราต้องใส่ใจต่อการติดตามข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยเสมอ          คุณเรือง มีชื่อจริงและนามสกุลที่ค่อนข้างยาว โดยเฉพาะเมื่อต้องสะกดเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นในการจองตั๋วเดินทางท่องเที่ยวผ่าน Trip.com คุณเรือง จึงใช้ชื่อย่อแค่ตัวอักษร R (คุณเรืองบอกว่า ทางเว็บไซต์ให้ใส่แค่ชื่อย่อได้) แต่เมื่อถึงวันเดินทางจริง ทางสายการบินแจ้งว่า ไม่สามารถให้คุณเรืองขึ้นเครื่องบินได้ แม้ว่าจะมีการจองตั๋วผ่านเว็บไซต์จริง           “ผมเคยไปกับสายการบินหนึ่งโดยใช้ชื่อย่อเช่นกัน ไม่มีปัญหาอะไรเลย และหลักฐานยืนยันก็คือบัตรประชาชนก็ใช้ยืนยันตัวตนได้แล้ว แต่ทางสายการบินนี้ยืนยันว่าจะต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ทั้งหมด พร้อมบอกด้วยว่า ทำไมลูกค้าไม่พิมพ์ข้อความจากหน้าจอที่ทำการจองตั๋วไว้ ระบุด้วยว่านโยบายแต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน”               อย่างไรก็ตามคุณเรืองต้องเดินทางพร้อมเพื่อนจึงซื้อตั๋วใหม่ทั้งหมด แต่ได้ทำเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วย “สายการบินคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับก็ได้ แต่ไม่ควรให้ผมซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่โดยไม่รับภาระอะไรเลย” แนวทางแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แจ้งเรื่องต่อสายการบินและสำนักงานการบินพลเรือน เพื่อขอทราบรายละเอียดเงื่อนไขและช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้กับคุณเรืองว่ากรณีดังกล่าว สายการบินไม่ยินยอมให้คุณเรืองคุณเครื่องนั้น ทำได้หรือไม่ และจำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ทั้งหมดหรือไม่           และจากหนังสือตอบกลับของ กทพ. แจ้งว่า จากการตรวจสอบกับทาง Trip.com พบว่า “ทางระบบมีการแจ้งเตือนผู้ร้องขณะกรอกชื่อผู้โดยสารแล้วว่า ชื่อและนามสกุลต้องตรงกับเอกสารยืนยันตัวตน การที่ผู้ร้องถูกปฏิเสธการเดินทางเนื่องจากชื่อตามเอกสารยืนยันตัวตน(บัตรประชาชน) ไม่ตรงกับชื่อในเอกสารการเดินทาง(ตั๋วโดยสาร) จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีชื่อตามเอกสารยืนยันการเดินทาง จึงเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทสายการบิน ทั้งนี้ตามที่ผู้ร้องอ้างว่า เคยใช้ชื่อย่อในการเดินทางได้นั้น พบว่าผู้ร้องไม่มีหลักฐานยืนยันกรณีดังกล่าวอ้าง และตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง แผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 การเข้าพื้นที่เขตการบินจะถูกจำกัดเฉพาะผู้โดยสารที่แท้จริงและจะต้องถูกตรวจสอบเอกสารสำหรับการเดินทางฉบับจริงและถูกต้อง พร้อมเอกสารที่ยืนยันตัวตนที่ออกโดยรัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติหากเอกสารยืนยันการเดินทางมีการระบุชื่อผู้โดยสารไม่ตรงกับชื่อในเอกสารยืนยันตัวตน บุคคลดังกล่าวจะไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่เขตการบินได้”           ดังนั้นด้วยเงื่อนไขนี้ การถูกปฏิเสธการเดินทางของคุณเรืองทางสายการบินสามารถทำได้ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมหรือการระบุให้ซื้อตั๋วใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 จองตั๋วเครื่องบินพลาด ระวังค่าธรรมเนียมแพง

        การทำธุรกรรมทางออนไลน์ ก่อนจะคลิกเพื่อตกลงในเงื่อนไขใดๆ ควรพิจารณารายการให้ละเอียดรอบคอบสักนิด เพราะหากพลาดแล้ว และการแก้ไขก็อาจไม่ง่ายอีกทั้งยังต้องเสียเงินที่เรียกว่า ค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนสูงด้วย          เรื่องนี้ได้รับการร้องทุกข์จากคุณกรณ์ ซึ่งซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านระบบการจองตั๋ว และชำระเงินด้วยระบบ E-Banking หลังจากชำระเงินสำเร็จ คุณกรณ์จึงพบว่าตนเองซื้อตั๋วผิด จากที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอุดรธานี กลายเป็นซื้อตั๋วเดินทางจากอุดรธานีมาที่ปลายทางกรุงเทพฯ จึงรีบโทรศัพท์ติดต่อคอลเซนเตอร์ของทางสายการบินเพื่อขอแจ้งเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้ถูกต้อง คำตอบในครั้งแรกคือ ทำไม่ได้และทางพนักงานแนะนำให้แจ้งธนาคารที่คุณกรณ์ใช้ในการจ่ายเงิน เมื่อคุณกรณ์โทรไปธนาคารตามที่ได้รับคำแนะนำ พบว่ายอดเงินได้ถูกตัดแล้วและไม่สามารถนำเงินกลับได้ แนะนำว่าให้โทรไปยังส่วนที่เป็นบริการตัวกลางชำระเงิน ก็ได้คำตอบกลับมาว่า เงินถูกโอนไปที่สายการบินแล้ว เรียกคืนไม่ได้เช่นกัน แนะนำให้โทรกลับไปที่สายการบินอีกครั้ง           คราวนี้เมื่อโทรไปที่สายการบิน ทางพนักงานแจ้งว่าสามารถเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ แต่มีค่าธรรมเนียม คือ (1) 500 บาทต่อการอัพเกรดที่นั่ง (2) ราคาค่าโดยสารที่ปรับขึ้นไปจาก 1,500 เป็น 2,000 บาท คุณกรณ์ต้องจ่ายส่วนต่างนี้ และ (3) ค่าปรับในการเปลี่ยนเที่ยวเดินทาง 500 บาท คุณกรณ์รู้สึกไม่เห็นด้วย ที่ถูกคิดค่าธรรมเนียมสูงขนาดนี้ “ถึงผมจะซื้อตั๋วผิด แต่ก็รีบติดต่อขอเปลี่ยนแปลงทันที ควรทำได้โดยมีค่าปรับในการเปลี่ยนเที่ยวบินตามสมควร มิใช่ราคาแพงกว่าค่าตั๋ว”  แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อกับทางสายการบินเพื่อขอทราบรายละเอียดการคิดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวเดินทางและขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง และอีกทางหนึ่งได้แจ้งเรื่องต่อทางสำนักงานการบินพลเรือนเพื่อขอให้ช่วยบรรเทาปัญหาให้ผู้บริโภค ต่อมาได้รับการชี้แจงจากทางสำนักงานการบินพลเรือน(กพท.) ว่า “การสลับต้นทางกับปลายทางไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบการสำรองที่นั่งของสายการบิน เพราะทางบริษัทสายการบินดังกล่าวได้แสดงรายละเอียดเส้นทางและปลายทางไว้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อบัตรโดยสารที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดการเดินทางและข้อมูลผู้โดยสารให้ถูกต้อง และจะต้องศึกษาและตกลงยอมรับเงื่อนไขในการขนส่งก่อนการชำระเงิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินหลังจากชำระเงิน ผู้ร้องจะต้องชำระค่าธรรมเนียม โดยค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการขนส่งของบริษัทสายการบิน ได้รับความเห็นชอบจาก กพท.แล้ว บริษัทฯ จึงสามารถดำเนินการได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จองตั๋วเครื่องบินผ่านเอเยนต์ เครื่องล่าช้าขอเคลมได้

        มีหลายเรื่องที่บางคนอาจเห็นว่าเสียเวลา เช่นการร้องเรียนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการที่แย่ของผู้ประกอบการ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่อยากให้คิดเช่นนั้น การร้องทุกข์หนึ่งครั้งย่อมดีกว่า การบ่นปากเปล่า เพราะไม่เพียงช่วยให้ผู้ให้บริการได้ตระหนักถึงปัญหาตลอดจนหาแนวทางแก้ไข ยังช่วยให้เกิดบทเรียนกับบุคคลอื่นอีกด้วย         เช่นกรณีของคุณเด่น ที่ใช้บริการจองเที่ยวบินเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตกับทาง Traveloka มีกำหนดเดินทางวันที่  8 กรกฎาคม ปีที่แล้ว เที่ยวบินกำหนดเวลาการเดินทาง 10.55 น. สายการบินไลอ้อนแอร์ ปรากฏว่าเที่ยวบินล่าช้ากว่ากำหนดไปเกือบสามชั่วโมง โดยไม่แจ้งสาเหตุแห่งความล่าช้าแก่ผู้โดยสาร คุณเด่นไม่สามารถทนรอต่อไปโดยไม่ทราบว่าจะได้เดินทางเมื่อไรกันแน่ จึงทำเรื่องขอเงินค่าโดยสารคืนกับทางสายการบิน ทางพนักงานสายการบินแจ้งว่าจะคืนเงินให้แต่ขอให้คุณเด่นติดต่อขอคืนเงินผ่านทางเว็บ Traveloka  “ดิฉันก็ทำเรื่องติดต่อประสานงานผ่านทั้ง สายการบินไลอ้อนแอร์และทางเว็บ Traveloka  แต่เหมือนทั้งคู่เกี่ยงกันไปมาไม่ยอมรับผิดชอบ สองเดือนแล้ว ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึง บ.ไทย ไลอ้อนแอร์ บ.ทราเวลโลก้า และกรมการบินพลเรือน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับคุณเด่น เบื้องต้นทางทราเวลโลก้าแจ้งว่า ตรวจสอบกับทางสายการบินแล้ว ทางสายการบินแจ้งว่า “หมายเลขรหัสการจองของคุณเด่น” ไม่สามารถขอเงินคืนได้ เนื่องจากเที่ยวบินไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางศูนย์ฯ ได้พยายามติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับทางคุณเด่น จนในที่สุดทางสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ แจ้งกลับมาว่า “กรณีขอเงินคืนจะสามารถย้อนหลังได้ไม่เกิน 90 วันและจะติดต่อกับทราเวลโลก้าก่อนว่าจะดำเนินการคืนเงินให้กับลูกค้าได้หรือไม่”         ย่างเข้าปลายเดือนมกราคม 2562 ทางสายการบินโทรแจ้งว่า หมายเลขรหัสจองของคุณเด่นได้รับการพิจารณาคืนเงินแบบ Full Refund ซึ่งกำหนดคืนภายใน 45 วัน โดยสายการบินแจ้งเรื่องไปที่เอเยนต์ซี่แล้ว ภายใน 30 วันให้ตรวจสอบการคืนเงินจากเอเยนต์ซี่ได้ จึงแจ้งเรื่องให้คุณเด่นทราบความคืบหน้าว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 30 วัน ต่อมาเดือนมีนาคมเมื่อสอบถามกับคุณเด่นว่าได้รับการติดต่อคืนเงินหรือยัง จึงทราบว่า ยังไม่ได้รับการคืนเงิน จึงติดต่อกลับสายการบิน ได้รับแจ้งว่าสายการบินคืนเงินให้ทางทราเวลโลก้าแล้ว เมื่อสอบถามทราเวลโลก้า กลับระบุว่า ได้รับเงินจากสายการบินจริง แต่ไม่เต็มจำนวน จึงขอประสานงานกับทางสายการบินก่อนและจะแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง สุดท้ายคุณเด่นก็ได้รับเงินค่าตั๋วคืนเต็มจำนวน แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน คมนาคม เปิดสิทธิ์ชดเชยผู้โดยสารเที่ยวบินดีเลย์รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาสายการบินล่าช้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น กพท. กำชับไปยังทุกสายการบินให้เร่งแก้ไขปัญหารวมทั้งให้การดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนตาม เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเที่ยวบินดีเลย์สามารถขอใช้สิทธิ์ชดเชย ได้ดังต่อไปนี้สำหรับเที่ยวบินประจำภายในประเทศ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553กรณียกเลิกเที่ยวบิน หรือ ปฏิเสธการขนส่ง ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ2. ได้รับการดูแลจากสายการบิน อาหารและเครื่องดื่ม, โทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail, ที่พักพร้อมการขนส่งระหว่างสนามบินกับที่พัก (ถ้าต้องค้างคืน) และ3. ได้รับค่าชดเชย 1,200 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือสายการบินได้แจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือ สายการบินเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้ภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิมสำหรับกรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน กรณีไม่ประสงค์จะเดินทางต่อ2. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมงอาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น3. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ, ค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าเที่ยวบินล่าช้าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย4. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินทั้งนี้ หากสายการบินไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนมาที่ กพท. E-mail : info@caat.or.th โทรศัพท์ 0-2568-8800ที่มา https://www.khaosod.co.th/economics/news_920242

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 แอปพลิเคชันจองเที่ยวบินพลาด

        ทุกวันนี้ต้องยกให้เทคโนโลยีเป็นเสมือนหัวใจของทุกสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามารองรับไว้เกือบจะทั้งหมดแล้ว ยิ่งการจองตั๋วเครื่องบิน เราแทบไม่ต้องพูดคุยกับมนุษย์ คุณทำได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส  อย่างไรก็ตามเรื่องความผิดพลาดจากเทคโนโลยีนั้นหลายครั้งก็เกิดขึ้นได้ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ         คุณแมงมุม ซึ่งรักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ มีแผนการเดินทางไปญี่ปุ่น ณ เมืองโอซาก้า ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ตอนนั้นจึงเข้าแอปพลิเคชั่นของสายการบินนกสกู๊ต โดยกรอกข้อมูลต่างๆ ไปตามปกติ โดยระบุต้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางโอซาก้า  พร้อมชำระเงินจนเรียบร้อย แต่เมื่อได้ทบทวนรายการอีกครั้งกลับพบว่า เส้นทางขาไปแทนที่จะเป็น กรุงเทพ-โอซาก้า ได้สลับเป็น โอซาก้า-กรุงเทพ แทน ซึ่งแน่นอนว่าความผิดพลาดนี้คุณแมงมุมมั่นใจว่าเกิดจากแอปพลิเคชันมิได้เกิดจากตนเอง จึงโทรศัพท์ติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของสายการบินนกสกู๊ตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว         เมื่อติดต่อไปคอลเซนเตอร์กลับระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะแอปพลิเคชันไม่มีทางพลาด น่าจะเป็นคุณแมงมุมเองที่กรอกข้อมูลผิด         เจอคำตอบแบบนี้เข้าไป คุณแมงมุมก็ไม่ยอมจำนนโดยง่ายเพราะเธอมั่นใจว่า เธอทำทุกอย่างถูกต้อง จึงทดลองจองตั๋วผ่านแอปพลิเคชันอีกครั้ง ก็พบว่าเมื่อเมื่อกดเลือกต้นทางปลายทางในตอนแรกแล้ว ระหว่างที่ทำการเลือกวันเดินทางในขั้นตอนถัดมา ระบบได้สลับต้นทางปลายทางเองโดยอัตโนมัติ ความผิดพลาดนี้จึงควรเป็นสิ่งที่สายการบินต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค คุณแมงมุมจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อรับเรื่องจากคุณแมงมุม ทางศูนย์ฯ ได้ติดต่อประสานงานกับบริษัทนกสกู๊ต เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง ซึ่งได้รับแจ้งในเวลาถัดมาจากคุณแมงมุมว่า ทางสายการบินได้ปรับแก้ตั๋วเดินทางให้ถูกต้องเป็นกรุงเทพ-โอซาก้า เรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างที่ควรเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ถูกยกเลิกเที่ยวบิน แถมคืนเงินไม่ครบ

คุณอาทรร้องเรียนสั้นๆ มาว่า....ผมได้จองตั๋วเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลอมโบ ศรีลังกา เพื่อไปท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2555 ปรากฎว่าทางสายการบินแจ้งยกเลิกครับ และแจ้งว่าจะคืนเงินให้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าตั๋วและค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่จะไม่คืนเงินในส่วนที่ซื้อเพิ่มเติมคือ ค่าโหลดกระเป๋าและค่าอาหารบนเครื่อง และยังไม่สามารถแจ้งให้โอนเงินเข้าบัญชีได้อีกครับ จะโอนเงินผ่านช่องทางที่ซื้อเข้ามาเท่านั้น คือผ่านทางบัตรเครดิตให้ซึ่งเงินก็จะไปอยู่ในบัตรไม่สามารถเบิกมาได้เป็นเงินสด แถมยังคืนไม่ครบอีกจึงอยากจะขอปรึกษาว่าผมจะดำเนินการอย่างไรได้บ้างครับ รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งๆ ที่เป็นความผิดของตนเองแท้ๆ ที่ยกเลิกไฟท์การบิน ทำให้เกิดความเสียหายแถมยังรับผิดชอบแบบครึ่งๆ กลางๆ อีกครับ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ หรือเครื่องบิน ล้วนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายในเรื่อง “รับขนคนโดยสาร” ที่มีข้อกำหนดหลักๆ สรุปเป็นภาษาให้พอเข้าใจได้ว่า ผู้ประกอบการรับส่งผู้โดยสารจะต้องรับผิดต่อผู้โดยสารในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวผู้โดยสาร หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆ ที่เป็นผลโดยตรงจากการที่ต้องชักช้าในการขนส่งผู้โดยสาร เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้โดยสารเอง ในขณะที่กระทรวงคมนาคม ได้ออกประกาศเรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 แม้จะบังคับใช้เฉพาะสายการบินของไทย และบินในเส้นทางภายในประเทศ แต่ก็พอนำมาเทียบเคียงเรียกร้องสิทธิให้กับผู้โดยสารท่านนี้ได้ประกาศฉบับนี้ได้กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในกรณีการยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง ว่าสายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร โดยมีทางเลือกให้ผู้โดยสาร 2 ทาง ทางเลือกแรกคือ รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไป หากสายการบินจะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียม จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น ทางเลือกที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกัน วันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจัดให้ได้ โดยสายการบินต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่หากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นมีค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นที่ต่ำกว่าจำนวนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสารได้ชำระไว้แล้ว สายการบินต้องชำระเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารด้วยสำหรับวิธีปฏิบัติในการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสารนั้น สายการบินจะต้องคืนเงินให้ผู้โดยด้วยวิธีการที่ผู้โดยสารเลือก เช่น เงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น ซึ่งประกาศฉบับนี้ยังได้กำหนดระยะเวลาการคืนเงินด้วย คือ(ก) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน (ข) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิตต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วันระเบียบนี้แม้จะไม่ใช่ระเบียบที่ใช้กับการบินระหว่างประเทศ แต่ก็ใช้เป็นหลักในการเรียกร้องสิทธิของเราได้ เบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหาการถูกแจ้งยกเลิกเที่ยวบินและต้องการเรียกร้องเงินคืนให้ผู้โดยสารทำหนังสือจะเป็นจดหมายหรืออีเมล์ก็ได้ไปถึงสายการบินเพื่อแสดงเจตจำนงความต้องการของตนเองให้ชัดเจน และกำหนดวิธีการคืนเงินให้ชัดเจนด้วย เท่านี้ก็ถือเป็นการประกาศสิทธิของผู้บริโภคที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบแล้วครับ ผลที่ได้รับก็ไม่นานเกินรอ และดีกว่าโทรคุยอย่างเดียวแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >