ฉบับที่ 195 บอกเลิกสัญญาจองรถได้หรือไม่

เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยตัดสินใจวางเงินมัดจำจองรถ แต่มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะไม่อยากได้รถคันดังกล่าวแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งมักเกิดคำถามตามมาว่า เงินจองที่เสียไป จะสามารถขอคืนได้หรือไม่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจตัดสินจองรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ภายในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา โดยชำระเงินจองเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอพบว่า ตนเองประสบปัญหาด้านการเงิน และเกรงว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถในอนาคตได้ จึงต้องการยกเลิกการซื้อรถดังกล่าว เธอแจ้งความจำนงกลับไปที่บริษัทพร้อมขอเงินจองคืน ซึ่งพนักงานตอบกลับมาว่า สามารถคืนเงินให้ได้เมื่อจบงานมอเตอร์โชว์ อย่างไรก็ตามเมื่อจบงานดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงการคืนเงินมาตลอด คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ หากมีเหตุแห่งการบอกเลิก ซึ่งตามมาตรา 378 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ดังนี้ข้อ 3 ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้3.1 ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น3.2 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด3.3 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา3.4 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาข้อ 4 ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังนั้นหากไม่มีเหตุให้บอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดเบื้องต้น ผู้ร้องจะไม่สามารถเรียกร้องเงินจองหรือเงินมัดจำคืนได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ เสนอว่าสามารถช่วยให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทรถยนต์ เพื่อขอให้มีการคืนเงินบางส่วนได้ ซึ่งจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไป แต่ผู้ร้องได้ขอกลับไปตัดสินใจก่อน และจะแจ้งความจำนงมายังมูลนิธิฯ ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 คนคอนจองรถ โดนเซลล์อมเงิน

คุณสุรางค์ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองปากพนัง นครศรีธรรมราช ใช้รถฮอนด้า ซีวิค ปี 2002 อยากจะขายรถเพื่อเอาเงินไปซื้อรถคันใหม่เธอเที่ยวตระเวนไปตามศูนย์ซื้อ-ขายรถหลายแห่งในเมืองนครฯ ก็ยังไม่เจอศูนย์รถที่ให้ราคาที่ถูกใจ ท้ายสุดมาเจอกับพนักงานขายรถยอดแสบ นายทวี ปานถนอม ของบริษัท จ.วินิต จำกัด จึงได้เรื่องนายทวีบอกรับซื้อรถของคุณสุรางค์ที่นำมาเสนอขาย แต่ขอโทรศัพท์ไปสอบถามราคากับผู้ประเมินราคารถก่อน ซึ่งคุณสุรางค์ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่นานนายทวีวางโทรศัพท์หันมาบอกว่าผู้ประเมินฯ ให้ราคาอยู่ที่ 320,000 บาท คุณสุรางค์นึกกระหยิ่มเพราะได้ราคาสูงกว่าที่บริษัทอื่นประเมินราคามา แถมรถใหม่ที่จะซื้อนายทวีบอกว่าจะได้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 1.99% และอาจน้อยกว่านี้อีกขึ้นอยู่กับเงินดาวน์คุณสุรางค์ดีดลูกคิดในใจ ว้าว ...ดอกเบี้ยต่ำกว่าหลายๆ บริษัทที่ไปคุยมา ราคาและเงื่อนไขซื้อขายดีขนาดนี้ “อย่าปล่อยให้หลุดมือเชียว” จึงตกลงใจที่จะซื้อขายรถกับบริษัท จ.วินิต ผ่านทางนายทวีทันทีตอนนั้นเป็นช่วงเย็นนายทวีบอกว่าศูนย์จะปิดบริการแล้วไม่สะดวกในเรื่องเอกสารและการออกใบเสร็จบอกว่าจะนำเอกสารสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ถึงที่ทำงานเลยในวันรุ่งขึ้น ส่วนรถคันเก่าจะทำสัญญาซื้อขายในวันออกรถใหม่คุณสุรางค์ไม่ได้เอะใจอะไร คิดแต่ว่าช่างเป็นวันที่ดีจริงๆ ได้มาเจอศูนย์ขายรถที่ให้ราคารับซื้อรถเก่าที่สูง แถมจะได้สินเชื่อผ่อนรถใหม่ดอกถูกแสนถูกอีก หาที่ไหนไม่ได้แล้ว วันรุ่งขึ้นนายทวี มาหาคุณสุรางค์ถึงที่ทำงานที่เทศบาลปากพนังในชุดพนักงานบริษัท จ.วินิต จำกัด มีป้ายชื่อพนักงานแขวนคอมาพร้อมสรรพ นำใบสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ คุณสุรางค์เซ็นต์เสร็จก็ล้วงเงิน 5,000 บาทจ่ายเป็นค่าจองรถไป นายทวีให้สำเนาใบจองรถที่มีหัวเป็นชื่อบริษัท จ. วินิตเป็นหลักฐาน พร้อมหยอดข้อเสนอใหม่ก่อนจากว่า จะรีบติดต่อธนาคารเรื่องขอสินเชื่อให้ถ้ารีบทำในช่วงนี้จะได้ดอกเบี้ย 1.55% พอได้ยินดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าครั้งแรก คุณสุรางค์น้ำตาแทบเล็ดไม่คิดว่าจะมีเซลล์แสนดีขนาดนี้อยู่ในโลก รีบขอบอกขอบใจนายทวีเป็นการใหญ่สามวันต่อมาหลังเซ็นต์สัญญาจองรถ นายทวีพาผู้ชายคนหนึ่งมาหาคุณสุรางค์ แนะนำตัวว่าอยู่แผนกสินเชื่อ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครศรีธรรมราช รับผิดชอบการทำสินเชื่อรถยนต์ และนำเอกสารการขอสินเชื่อให้คุณสุรางค์เซ็นต์ ส่วนนายทวีบอกว่าจะได้รับรถภายในกลางเดือนถัดไป หลังเซ็นต์สัญญาขอสินเชื่อไป 2-3 วัน ก็มีโทรศัพท์มาหาคุณสุรางค์เป็นเสียงผู้หญิงบอกว่าโทรจากธนาคารไทยพาณิชย์ ขอสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จอง และแจ้งว่าจะดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่พิจารณาต่อไป ทำให้คุณสุรางค์มั่นใจว่านายทวีได้ดำเนินการจองรถให้จริงกระบวนการต้มเหยื่อยังไม่จบ จากนั้นไม่นานนายทวีโทรมาหาเหยื่ออยู่หลายครั้งเพื่อหลอกล่อให้ใส่อุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติม คุณสุรางค์ทนลูกตื๊อไม่ไหวจึงตกปากรับคำซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติมเป็นเงินอีก 33,000 บาท โดยที่นายทวีอาศัยจังหวะน้ำท่วมใหญ่เข้านครศรีธรรมราชอ้างเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง ขอให้คุณสุรางค์โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง คุณสุรางค์โอนเงินให้โดยไม่เอะใจอะไรเพราะคิดว่ายังพอมีใบโอนเงินของธนาคารเป็นหลักฐานอยู่ต่อมาก่อนถึงเวลารับรถ 1 สัปดาห์ นายทวีโทรมาหาเหยื่อบอกว่า ตอนนี้มีคนสั่งจองรถเป็นจำนวนมาก อาจมีปัญหาไม่ได้รับรถตามกำหนด ขอให้คุณสุรางค์จ่ายเงินค่าล็อครถจำนวน 20,000 บาท ไม่งั้นอาจมีคนอื่นแย่งไปได้คุณสุรางค์โดนรีดเงินไปแล้ว 38,000 บาท(5,000+33,000) พอได้ยินค่าล็อครถอีก 20,000 บาทก็ถึงกับสะอึก “มีด้วยเหรอค่าล็อครถ” คุณสุรางค์ขอวางสายกับนายทวี แล้วโทรไปหาน้องเขยที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยใช้บริการกับบริษัทมิตซูบิชิผู้ผลิตรถปาเจโรเรื่องค่าล็อครถ 20,000 บาท น้องเขยยืนยันว่ามีจริง คุณสุรางค์จึงเดินทางไปที่บริษัท จ.วินิตเพื่อจะจ่ายเงินค่าล็อครถ 20,000 บาทผ่านนายทวี แต่ก่อนจ่ายเงินคุณสุรางค์เอ่ยขอใบเสร็จรับเงิน นายทวีบอกว่าจะออกให้ในวันที่ออกรถทีเดียวทั้งหมด คุณสุรางค์จึงถามหาใบเสร็จรับเงินชั่วคราว นายทวีก็บ่ายเบี่ยงบอกว่าต้องขอเวลาสัก 1 ชั่วโมงจะไปถามหัวหน้าดูก่อนและจะไปช่วยเพื่อนพนักงานขนของด้วย“แค่ขอใบเสร็จ ให้รอนานขนาดนี้ กลับบ้านดีกว่า” คุณสุรางค์บอกกับตัวเองกลับมาถึงบ้านไม่ถึง 20 นาที นายทวีได้โทรมาหาบอกว่า ปรึกษากับหัวหน้าแล้วให้ออกใบเสร็จได้ และจะไปขอรับเงินที่บ้านพักของคุณสุรางค์เลยเพื่อจะได้รีบกลับมาดำเนินการส่งเรื่องให้บริษัทใหญ่ภายในวันนี้ คุณสุรางค์จึงตกลงไม่นานนายทวีได้มารับเงินสดค่าล็อครถ 20,000 บาทจากคุณสุรางค์ แต่แทนที่จะได้รับเป็นใบเสร็จรับเงิน นายทวีกลับใช้ใบสั่งจองรถยนต์ของบริษัท จ.วินิต เป็นหลักฐานการรับเงินแทน คุณสุรางค์นึกสงสัยแต่เห็นหัวเห็นตราของบริษัทในกระดาษ คิดว่าไม่มีปัญหาจึงยอมจ่ายเงินให้ไปหลังจากจ่ายเงินไปแล้วคุณสุรางค์ยังรู้สึกไม่สบายใจเรื่องหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้จากนายทวีที่เป็นใบสั่งจองรถทั้งหมด หยิบขึ้นมาเทียบดูก็เห็นความผิดปกติ ใบแรกที่ได้รับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 073 ส่วนใบที่สองที่เพิ่งได้มากลับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 065 ซึ่งย้อนหลังไปอีก กำลังมึนๆ งงๆ กับตัวเลขในใบสั่งจองรถอยู่ นายทวีได้โทรศัพท์เข้ามาพอดี บอกว่าจะขอค่ามัดจำรถอีก 30,000 บาท คุณสุรางค์นึกในใจจ่ายไปแล้ว 58,000 บาท ยังไม่เห็นหน้ากระโปรงรถเลย นี่จะเอาอีก 30,000 บาท สงสัยจะโดนต้มเสียแล้ว จึงบอกกับนายทวีว่าเดี๋ยวจะจัดการให้แล้ววางสายทันที แนวทางแก้ไขปัญหาคุณสุรางค์ได้ติดต่อกลับไปที่บริษัท จ.วินิต และนำหลักฐานใบจองรถที่ได้รับจากนายทวีให้บริษัทฯตรวจสอบ บริษัทฯ ตรวจสอบแล้วบอกว่า ไม่เคยมีการจองรถคันนี้ และไม่มีการนำเงินเข้าบริษัทฯ เลย แต่บริษัทฯ จะรับผิดชอบทั้งหมด ตอนนี้อย่าเพิ่งกระโตกกระตากและให้หยุดการติดต่อกับนายทวี ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นเพียงพนักงานชั่วคราวยังไม่ได้รับการบรรจุจากบริษัทฯ และขณะที่บริษัทฯ ทราบเรื่องนายทวีก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขายให้บริษัทฯ อยู่ บริษัทฯ จึงไปขอยึดรถจักรยานยนต์ของนายทวีไว้เป็นประกันก่อนจากนั้นคุณสุรางค์และเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้พากันไปหาพ่อแม่ของนายทวีถึงบ้าน ก็ทราบว่าพ่อแม่มีฐานะยากจนไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายแทนลูกชายได้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จึงแนะนำให้คุณสุรางค์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายทวีที่สถานีตำรวจภูธรปากพนัง และบริษัทฯ เสนอที่จะชดใช้เงินเฉพาะตามหลักฐานของบริษัทฯ คือเงินจองและเงินค่าล็อกรถรวม 25,000 บาท คุณสุรางค์ไม่ตกลง ต่อมาได้มีการเจรจากันอีกครั้งที่สถานีตำรวจ ท้ายสุดคุณสุรางค์ยอมรับเงินจากนายทวีที่ 50,000 บาท ที่เหลือ 8,000 บาทนั้น ยินยอมลดให้นายทวี โดยได้มีการทำบันทึกเป็นหลักฐานไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาอีกต่อไป พอทำบันทึกออกมาเช่นนี้ เป็นผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของนายทวีทันทีเรื่องนี้มาถึงมูลนิธิฯ หลังจากที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงที่ว่ามาเรียบร้อยแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจึงเป็นอันต้องยุติไปด้วย จึงนำเรื่องมาแจ้งเตือนให้ระวังภัยโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >