ฉบับที่ 223 กำลังเช็กเอ้าต์ ทำไมจะกลายเป็นเช็กอิน

        การเข้าใช้บริการแอปพลิเคชันทั้งหลาย เราควรมีความระมัดระวัง อย่ามือลั่น โดยเฉพาะหากต้องมีการจ่ายเงินเพราะหากมันไม่ใช่ กว่าที่จะทำเรื่องขอเงินกลับมันจะใช้เวลานานทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ  แต่บางทีเราไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด เพียงแค่เลื่อนดูรายการบางอย่างกลับกลายเป็นเงินหายไปไม่เสียอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างไรดี         ขอนำเรื่องของคุณพรทวี ซึ่งกำลังมีความสุขอยู่ดีๆ กับการเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันที่ 13 และ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา และขณะกำลังเช็กเอาต์ออกจากโรงแรม A ในวันที่ 14 คุณพรทวีได้เข้าไปดูรายการในแอปพลิเคชันของ agoda โดยกดดูราคาห้องพักที่โรงแรม A ขณะที่กดดูรายละเอียดของห้องพักหน้าถัดไป กลับกลายเป็นการยืนยันการจองห้องพักของโรงแรม A ในวันที่ 14 พฤษภาคม พร้อมกับยืนยันการชำระเงินโดยตัดบัตรเครดิตของคุณพรทวีจำนวน 2,476 บาท แบบรวดเร็ว โดยที่คุณพรทวีไม่ได้กดทำรายการจองห้องพักใดๆ เลย         ด้วยความตกใจจึงแจ้งให้พนักงานโรงแรมทราบทันที แต่ทางโรงแรมบอกว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ คุณพรทวีต้องติดต่อกับ agoda โดยตรง พอคุณพรทวีติดต่อไปที่ agoda แจ้งเรื่องผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทางพนักงานของ agoda ได้ระบุว่ารับเรื่องร้องเรียนไว้แล้วและจะยกเลิกรายการจองดังกล่าวให้ พร้อมคืนเงินเข้าระบบบัตรเครดิต         “ตอนนั้นก็คิดว่า เรื่องคงเคลียร์แล้ว แต่ต่อมาได้ใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตว่า ค้างชำระและต้องชำระเงินภายในวันที่ 1 กรกฎาคม พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.7 ไม่เข้าใจเลยว่า ทำไม agoda จึงไม่ทำเรื่องของตนให้เรียบร้อย ทั้งที่แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขทันทีที่เกิดเรื่องแล้ว”         จึงขอคำปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         การติดต่อกับ agoda ซึ่งเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันและแอปฯ มีการทำรายการผิดพลาดเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่คุณพรทวีควรทำเพิ่มคือ การติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งเรื่องดังกล่าว และปฏิเสธการจ่ายเงินที่ตนเองไม่ได้ใช้บริการคือ การจองห้องพักของวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อให้ทางบัตรเครดิตกับ บ.agoda ได้ประสานงานเรื่องการคืนเงินกันให้เรียบร้อย ไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภค เรื่องนี้อยู่ระหว่างเจรจาให้ทาง agoda ดูแลแก้ไขปัญหาให้กับคุณพรทวี   ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเห็นว่าน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้บริโภคท่านอื่นจึงนำมาเสนอไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 กระแสต่างแดน

ไม่มีเซอร์ไพรซ์        ลูกค้าเว็บจองโรงแรม แอร์บีเอ็นบี ในยุโรป สามารถจองห้องได้อย่างสบายใจ เพราะต่อไปนี้เขาจะแจ้งค่าธรรมเนียมทุกอย่าง (รวมถึงค่าทำความสะอาดและภาษีท้องถิ่น) ไว้ในหน้าแรก         ผู้บริโภคยังจะได้ทราบด้วยว่าเจ้าของห้องพักดังกล่าว เป็นชาวบ้านทั่วไปที่แบ่งห้องให้เช่าหรือผู้ประกอบการด้านที่พักโดยตรง ในกรณีที่เกิดปัญหาก็มีลิงก์ไปยังแพลทฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที         นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถฟ้องร้องต่อศาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่เสียสิทธิในการฟ้องร้อง “เจ้าบ้าน” ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอื่นๆ กับตนเอง             บริษัทบอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบอย่างชัดเจน และไม่ปิดโอกาสผู้ใช้ในการปฏิเสธสัญญา         เหตุที่บริษัทสัญชาติอเมริกันยอมทำตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหลายล้านยูโรนั่นเองเค็มแถวหน้า        จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเกลือสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยควีนแมรี่แห่งลอนดอนพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวจีนบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 กรัม ในขณะที่เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป ก็บริโภคเกลือวันละเกือบ 9 กรัม         มีเพียงเด็กเล็กวัย 3 ถึง 6 ปีที่บริโภคเกลือวันละ 5 กรัม (ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคเกลือที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ)         นักวิจัยพบว่าอัตราการบริโภคเกลือในหมู่ประชากรทางเหนือของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผักสดให้รับประทานตลอดทั้งปีจึงไม่ต้องพึ่งพาผักดอง         แต่กลับพบการบริโภคเกลือที่สูงขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ เพราะผู้คนนิยมรับประทานอาหารแปรรูปและซื้ออาหารนอกบ้านทานมากขึ้น         นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่ชอบทานเค็มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเค็มด้วย สถิติยังระบุว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดันสูงที่เกิดจากการบริโภคเกลือมากเกินไปด้วย  “เมดอินเวียดนาม”        บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน Asanzo ของเวียดนาม มีเรื่องต้องอธิบายผู้บริโภค เมื่อถูกเปิดโปงว่าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ “ผลิตในเวียดนาม” ของบริษัท มีส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 ที่ผลิตมาจากจีนก่อนหน้านี้ผู้ผลิตกุญแจยี่ห้อ “มินไค” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ได้เริ่มนำเข้ากุญแจจากประเทศจีนมาติดฉลากเป็นยี่ห้อตนเอง ประทับตรา “ISO 9000-2000” และ “สินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม”         ปลายปี 2017 “ไคซิลค์” ก็ออกมายอมรับว่านำเข้าผ้าไหมจากจีนเข้ามาตีตราขายเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองในเวียดนามมาเป็นสิบปีแล้ว ความแตกเพราะลูกค้าที่ซื้อผ้าพันคอไป 60 ชิ้น (ในราคาชิ้นละประมาณ 850 บาท) พบว่าผ้าผืนหนึ่งมีทั้งฉลาก “ผลิตในประเทศจีน” และฉลาก “ผลิตในเวียดนาม”         ทั้งหมดนี้สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้บริโภคที่เวียดนามอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบอกว่าเรื่องนี้ทำกันทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย เพราะปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะเข้าข่ายเป็น “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง” และ “ผลิตในเวียดนาม”“ไม่เอาหลอด”        กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งอาหาร/เครื่องดื่มออนไลน์ เพื่อลดภาระในการคัดแยกขยะ เอเลมี ผู้ให้บริการส่งอาหารบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีถึง 4,100 คำสั่งซื้อที่มีข้อความกำกับมาด้วย หนี่งในสี่ของคำสั่งซื้อระบุว่า “ขอซุปน้อยลง” ที่เหลือก็เป็นทำนอง “ขอข้าวน้อย” “ไม่เอาพริกไทยซอง” “แกะย่างไม่เอาไม้เสียบ” เป็นต้น         เหม่ยถวน ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งระบุว่ามีคำสั่งซื้อที่ระบุว่า “ไม่เอาช้อน/ซ้อม/ตะเกียบ” เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสี่เท่า และ “หลอด” ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกก็เป็นที่รังเกียจเช่นกันยกตัวอย่างกรณีชานมไข่มุก หากกินไม่หมดก็ต้องเทน้ำชาลงซิงค์ ทิ้งเม็ดไข่มุกลงในถังขยะเปียก และนำแก้วไปทิ้งในถังรีไซเคิล         เว็บไซต์ Caijing.com พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50,000 คน จะเลิกกินชานมเพราะขั้นตอนการแยกขยะที่ยุ่งยากซับซ้อนรอได้ก็เขียวได้         ในทางทฤษฏี อีคอมเมิร์ซเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขับรถบรรทุกออกมารอบเดียวแต่ส่งของให้กับผู้คนได้มากมายมันย่อมดีกว่าให้แต่ละคนขับรถไปห้างกันเอง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี 2012 ก็ยืนยันว่าการสั่งซื้อแบบนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80         แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ารถส่งของนำสินค้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อน้อยกว่า 6 รายต่อเที่ยว มันจะไม่ช่วยอะไร ยิ่งถ้าต้องนำส่งแบบทันทีโดยไม่รอรวมกับใครก็ยิ่งแล้วใหญ่ เฉลี่ยแล้วถ้ารถต้องออกไปโดยมีของส่งเพียงหนึ่งชิ้น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีที่มีของเต็มรถถึง 35 เท่า         นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการเลือกรับสินค้า “ภายในวันเดียว” เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการฟรี (เพราะบริษัทแบกรับต้นทุนไว้) ทั้งที่อาจจะไม่ได้รีบใช้        ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออกเป็นปุ่ม “จัดส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ผู้บริโภคเลือกคลิก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ยินดีที่จะรอ หากช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้

อ่านเพิ่มเติม >