ฉบับที่ 269 สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี   สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานีได้รายงานผลการเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินในตลาดชุมชน 19 ตลาด พื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยสรุปพบว่า จาก 100 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป         นี่คือปรากฏการณ์ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งสำคัญ   สิรินนา เพชรรัตน์ นายกสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร” และ “ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ”       จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่         เราเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี  2544  ประเด็นหลักที่เราเริ่มทำงานตั้งแต่แรกคือ เรื่องความปลอดภัยในอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางต่างๆ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวผู้บริโภคมากๆ           ประเด็นแรกที่เราเฝ้าระวังคือ เรื่องถังน้ำดื่มปลอดภัยขนาด 20 ลิตร และช่วงปี 2544-2545 เราร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ 11 จังหวัดทำคาราวานรณรงค์สถานการณ์เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย แล้วตัวเราก็เข้ามาทำงานในจังหวะนี้มาเป็นอาสาสมัครก่อน แล้วก็ทำมาต่อเนื่อง เครือข่ายผู้บริโภคเราขับเคลื่อนร่วมกันมาตลอด ในประเด็น 8 ด้าน หลักๆ   เราทำงานมีกรอบร่วมกันแบบนี้ มีเอกภาพ เพียงแต่ในพื้นที่อาจจะมีศักยภาพในการทำงานแต่ละเรื่องได้แตกต่างกันออกไป         ถามถึงความสนใจจนถึงตอนนี้ เราเลยทำงานเพื่อผู้บริโภคมา 20 ปีแล้ว ปัญหาไม่ได้หมดไป แล้วมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หลากหลายมาก เช่น การใส่ฟอร์มาลินเข้าไปในอาหารมากขึ้น หลายชนิดที่เราคิดว่าจะไม่ได้เห็นเราก็ได้เห็น การเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งล่าสุด ทำไมสนใจเรื่องฟอร์มาลิน         เราสนใจเรื่องฟอร์มาลินเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน  แล้วในบางพื้นที่สถานการณ์หนักขึ้นด้วย เช่นจะเห็นว่าบางจังหวัดเขาเฝ้าระวังโดยเฉพาะในร้านหมูกระทะเลย แต่การแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง คอยกำกับดูแล  ถูกทำให้เป็นบทบาทของบางหน่วยงานเท่านั้น ขณะที่เรามีการกระจายอำนาจ มีหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ในระดับท้องที่ที่สามารถทำเรื่องนี้ได้  เราก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการปัญหาให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเลยสนใจสำรวจ เฝ้าระวังในพื้นที่ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตลาดนัดในชุมชน แล้วจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่ที่ติดทะเล  เลยอยากรู้ว่าอาหารทะเลบ้านเรามีการปนเปื้อนฟอร์มาลินไหมนี่คือจุดเริ่มต้น การสำรวจ เฝ้าระวังมีแผนการทำงานอย่างไร         พอเราพูดคุยกันว่า อยากจะเฝ้าระวังเรื่องนี้นะเราจึงเริ่มพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน  คือเราไม่ได้คิดว่า อยากตรวจก็ตรวจ  เราเองก็ทำความเข้าใจต่อการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหาร         เราเข้าไปขอคำปรึกษา คำแนะนำ ขอความรู้จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานีให้ข้อมูลเราก่อนว่า จริงๆ แล้ว ฟอร์มาลินปัญหามันคืออะไร ปนเปื้อนในอาหารไปเพื่ออะไร ปกติเราเจอฟอร์มาลินที่ไหนบ้างเพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างในการที่เราจะตรวจฟอร์มาลิน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 ได้ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมให้เราและเครือข่ายของเรา  ในการใช้ชุดทดสอบการเก็บตัวอย่างมาช่วยดำเนินการตรวจตัวอย่างอาหารที่เก็บมาและทบทวนผลการตรวจ ทำให้เราพร้อมจริงๆ ที่จะตรวจเรื่องของอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินได้  ในกระบวนการทำงาน คนทำงาน เครือข่ายก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพไปด้วย        ใช่ เรามีการพัฒนาศักยภาพคนที่ลงไปเก็บตัวอย่าง ให้เขาเข้าใจเรื่องฟอร์มาลินก่อนว่าคืออะไร เพราะมีทั้งฟอร์มาลินตามธรรมชาติและเติมเข้าไปจนปนเปื้อนนะ  แล้วการเก็บตัวอย่างต้องสังเกตอะไร แยกแยะกันอย่างไร เครือข่ายเราจะรู้         สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี ทำงานกับเครือข่ายมาโดยตลอด การเฝ้าระวังครั้งนี้เครือข่ายของเราใน 8 อำเภอเข้ามาช่วยกันทำคือ  เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอพุนพิน อำเภอวิภาวดี อำเภอตาขุน อำเภอชัยบุรีและกลุ่มเมล็ดพันธุ์บันเทิง จึงเก็บได้ประมาณ 100 ตัวอย่าง สมาคมฯ ไม่อาจจะทำเองได้  เราไปเก็บทุกอำเภอไม่ได้  ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เครือข่ายผู้บริโภคที่อยู่ในอำเภอต่างๆ เป็นกลไกที่จะช่วยสมาคมฯ ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค ช่วงที่เกิดโควิด เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องของการจำหน่ายฟ้าทลายโจร  ล่าสุดเราเฝ้าระวังเรื่องถังแก๊สหุงต้มที่หมดอายุ เราก็ทำด้วยกันเป็นเครือข่าย  การทำงานกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี  เป็นอย่างไร         พอมีความร่วมมือกับหน่วยงาน เราคิดว่ามันดีมาก หนึ่งในแง่ของงานวิชาการที่ทำให้เข้าใจบริบทมากขึ้น เพราะฟอร์มาลินในธรรมชาติก็มี บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้อยู่ก็มีทำให้เราเห็นประเด็นมากขึ้น สองการสนับสนุนงานเชิงวิชาการของเขาช่วยให้เรามั่นใจต่อการทดสอบตัวอย่างต่างๆ  และการสนับสนุนในกระบวนการทดสอบ การเก็บตัวอย่าง ทำให้เราสามารถเก็บตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ออกมาก็ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ได้กลั่นแกล้งกัน อย่างน้อยมีกระบวนการเก็บที่ถูกต้องใช้ชุดทดสอบที่ถูกต้อง เราก็คิดว่ามันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งคนทำงานและข้อมูลที่เราได้ผลออกมา   ผลการเฝ้าระวังอาหารครั้งนี้ บอกอะไรกับเราคนทำงานบ้าง         ผลทดสอบออกมาบอกเลยว่า แม้ว่าเราจะอยู่ใกล้ทะเล แต่ไม่ได้หมายความว่า อาหารทะเลที่ขายในตลาดชุมชนของเราจะไม่มีฟอร์มาลิน แต่จริงๆ แล้วเรื่องความปลอดภัยในอาหารตลอดที่ทำงานมา เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่มาตลอด แต่กระบวนการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังทำแยกส่วน แต่ครั้งนี้เรามีความตั้งใจให้เรื่องการเฝ้าระวังมีการมาบูรณาการกัน มาสร้างองค์ความรู้ที่เราต้องช่วยกันสร้างให้กับผู้บริโภค รับรู้และมีความเข้าใจ หลังจากนี้มีแผนการทำงาน ในระยะต่อไปอย่างไร         ตอนนี้หลังจากเราได้รายงานผลการเฝ้าระวัง อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ผลการตรวจ 100 ตัวอย่าง พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินกว่า 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป หลังจากเราได้ข้อมูลมาแล้วเราก็ชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันและเราทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 หน่วยงานในพื้นที่ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. เพราะเขามี  อสม. ที่เป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังในพื้นที่ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เราคิดว่า 3 หน่วยงานหลักที่อยู่ในระดับพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ เราเชิญเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราว่าที่ผ่านมา เขาทำงานอย่างไรและพอเราเจอแบบนี้ เราจะช่วยกันทำงานต่อไปอย่างไร  และเรามีข้อเสนออยากให้เขากับเรามาทำงานด้วยกัน เป็นขั้นตอนต่อไป         เราตรวจครั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือกับเขาก่อน ให้รู้สถานการณ์ด้วยกันก่อนว่าตรวจแล้วยังเจอนะ มีนะ แล้วเราจะร่วมกันทำงานอย่างไร เราหวังผลการทำงานร่วมกันในระยะยาว  แต่ถ้ายังไม่เกิดการทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เราก็ตรวจซ้ำ และจะเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังสุขภาพของตัวเองด้วยแต่คือต้องบอกว่าเรื่องนี้  เรามีกฎหมายที่กำกับดูแลพอสมควรเรามีหน่วยงานที่อยู่ในระดับพื้นที่ ท้องถิ่นก็ไม่น้อย หน่วยงานเหล่านี้อาจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้มากขึ้นบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น คือฟอร์มาลินไม่ได้กินแล้วตายคาปาก  แต่ตามกฎหมายใส่ไม่ได้ มันไม่ควรมีในอาหาร เราคิดว่าถ้ามีการบังคับใช้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้ประกอบการจะกลัวเกรงเรื่องนี้มากขึ้น เพราะจากการตรวจ เราก็พบว่ามี 1 อำเภอที่ไม่เจอเลย  อาสาสมัครเราก็บอกว่า เป็นเพราะเขามีการเฝ้าระวัง / ตรวจอย่างต่อเนื่อง  ผู้ประกอบการเองจึงยังต้องระมัดระวังในการเอาของมาขาย  วิธีการนี้ยังช่วยได้ นี่คือการบังคับใช้กฎหมาย ใช้มาตรการทางสังคม ในการที่จะช่วยกันทำให้เรื่องนี้หายไปหรือน้อยลง แต่สุดท้ายมาตรการที่สำคัญอย่างมากด้วย คือทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเรื่องนี้เพื่อป้องกันตัวเองได้ เช่นการล้าง ทำความสะอาด เพราะเราไม่ได้ตรวจเจอแค่ในหมึกกรอบแต่มีในเล็บมือนาง สไบนาง  ถั่วงอก ซึ่งหลายครั้งเราไม่ได้ปรุกให้สุก กินดิบๆ เลยก็มี มันยิ่งทำให้ร่างกายรับฟอร์มาลินเข้าไปมาก  มองความเข้มแข็งของการทำงานในพื้นที่ว่ามี จุดอ่อน – จุดแข็งที่จะพัฒนาต่อไปอย่างไร         ถ้าเรื่องความเข้มแข็งอย่างแรกเลย ในฐานะเราองค์กรที่ทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เรามีความแน่วแน่ มีจุดยืนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร  สองเราคิดว่าการทำงานเรื่องนี้ได้ เราต้องมีเครือข่าย ถ้าทำงานแบบไม่มีเครือข่ายเราไม่สามารถจะทำงานตรงนี้ได้เลย  เราเก็บไม่ได้หมดแบบนี้ เราต้องยกความดี ขอบคุณเครือข่ายที่เราทำงานด้วยกัน สาม พอเราทำงานมาระดับหนึ่ง เราจะพบว่า งานวิชาการมีความสำคัญมาก  ถ้าเรามีกลไกที่เป็นวิชาการมาช่วยเราทำงานได้จะช่วยให้งานเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ส่วนหนึ่งเมื่อเราทำงาน แล้วเราเห็นองคาพยพในการทำงานว่ามีใครบ้าง แล้วเข้าไปชวนเขามาทำงานด้วยกัน พี่มองว่างานคุ้มครองผู้บริโภคจะได้รับการพัฒนา คิดว่าเป็นสี่ส่วนสำคัญที่จะช่วยการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่เข้มแข็ง  ความท้าทายที่มองเห็นในการทำงานต่อไป คือเรื่องอะไรบ้าง         เราเองก็ติดตามสถานการณ์ภาพรวมในประเทศตลอดว่ามีเรื่องอะไรบ้างแล้วเรากลับมามองในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้างเช่นกัน อย่างเรื่องหมูกระทะ เราก็เอ๊ะนะ  มีความน่าสนใจหลายเรื่องเป็นประเด็นความท้าทายในระดับชาติก็เป็นความท้าทายที่จะนำมาเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วยทำเป็นโมเดลเล็กๆ พื้นที่เล็กๆ อาจจะต้องสอดคล้องกันไปด้วย  ส่วนประเด็นในพื้นที่หลายเรื่องก็มีความเฉพาะได้แต่ต้องดูว่าผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องนี้มากแค่ไหน เช่น ยาสมุนไพรที่ผลิตในพื้นที่หลายเรื่องมีความท้าทายที่จะเข้าไปจัดการอย่างเป็นระบบ    สิ่งที่อยากฝาก          เรื่องความปลอดภัยในอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากและประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภคหลายเรื่องมากๆ ก็มีความท้าทาย ขณะที่หน่วยงานรัฐที่บทบาทในการกำกับดูแลไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำ อย่างเรื่องอาหารเรามีตลาดจำนวนมากเขาไม่สามารถทำได้จริง แต่การทำงานด้วยกันเฝ้าระวังด้วยกัน เราภาคประชาชนมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/ จังหวัด ท่านมีอำนาจอยู่ก็ใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ในบริบทของตัวเองหรือบางหน่วยงานมีความรู้ทางวิชาการเราก็มาช่วยกัน เรามีคน เขามีวิชาการเขามีกฎหมาย ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่ายทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >