ฉบับที่ 242 เมียจำเป็น : โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร

                ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไป โลกแห่งความจริงกับโลกของละครเป็นสองโลกที่มีเส้นกั้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน โลกแห่งความจริงเป็นโลกทางกายภาพที่มนุษย์เราสัมผัส จับต้อง และใช้ชีวิตอยู่อาศัยจริงๆ ในขณะที่โลกของละครเป็นจินตนาการที่ถูกสมมติขึ้นด้วยภาษาสัญลักษณ์         อย่างไรก็ดี นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์นามอุโฆษอย่างคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้เคยโต้แย้งว่า จริงๆ แล้ว โลกแห่งความจริงกับโลกของละครไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง แต่กลับไขว้ฟั่นพันผูกกันอย่างแนบแน่น จนแม้ในบางครั้ง เรื่องจริงกับเรื่องจินตนาการก็แยกแยะออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว         กับละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดรามาเรื่อง “เมียจำเป็น” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า โลกแห่งละครที่มนุษย์เราดื่มด่ำประหนึ่ง “มหากาพย์แห่งความรื่นรมย์” อยู่นั้น หาใช่เพียงแค่เรื่องประโลมโลกย์ไร้สาระแต่อย่างใดไม่ หากแต่ทุกวันนี้โลกทัศน์ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้อรรถรสแห่งละคร ได้ก่อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกจริงๆ ในชีวิตประจำวันของคนเราไปเสียแล้ว         ด้วยโครงเรื่องคลาสสิก (กึ่งๆ จะเหลือเชื่อแต่ก็เป็นจริงได้) ที่สาวใช้สู้ชีวิตอย่าง “ตะวัน” ได้ประสบพบรักและลงเอยแต่งงานกับ “โตมร” พระเอกหนุ่มลูกชายเศรษฐีเจ้าของสวนยางที่ภูเก็ต แม้จะดูเป็นพล็อตที่มีให้เห็นทั่วไปในละครหลังข่าว แต่ลีลาอารมณ์ของเรื่องที่ผูกให้มีลักษณะเสียดสีล้อเลียน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นแนว “parody” นั้น ก็ชวนให้เราพร้อมจะ “ขบ” คิด ก่อนที่จะแอบขำ “ขัน” อยู่ในที         เริ่มต้นเปิดฉากละครด้วยภาพของตะวัน หญิงสาวผู้ต่อสู้ชีวิตด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน กอปรกับ “เดือน” ผู้เป็นแม่ก็ป่วยกระเสาะกระแสะอีก ตะวันจึงรับจ้างทำงานเป็นแม่บ้านพาร์ตไทม์ จนเป็นที่ไวรัลกันปากต่อปากว่า เธอเป็นแม่บ้านรับจ้างมือหนึ่ง ที่ดูแลทำความสะอาดบ้านได้อย่างเกินล้น ล้างจานได้สะอาดหมดจด รวมไปถึงมีกรรไกรตัดเล็บติดตัว พร้อมปฏิบัติภารกิจผู้พิทักษ์สุขอนามัยอย่างเต็มที่         ตัดสลับภาพมาที่โตมร หนุ่มนักเรียนนอกเนื้อหอม แม้ด้านหนึ่งเขาจะชอบวางมาดไม่ต่างจากพระเอกละครโทรทัศน์ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นลูกเศรษฐีผู้มีน้ำใจกับคนรอบข้าง และก็เป็นไปตามสูตรของละครแนวพระเอกผู้ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด” โตมรก็ถูกพ่อแม่จับคลุมถุงชนให้หมั้นหมายเพื่อแต่งงานกับ “หยาดฟ้า” ผู้ที่ไม่เคยเจอหน้าเจอตากันมาก่อน         เพราะโตมรต้องการปฏิเสธสภาวะคลุมถุงชนครั้งนี้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อดูตัวว่าที่เจ้าสาว โดยหวังว่าจะได้จัดการถอนหมั้นเธอให้จบไป นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่พระเอกหนุ่มกับนางเอกแม่บ้านพาร์ตไทม์ได้มาพบเจอกัน โดยมีเหตุให้โตมรเข้าใจผิดว่า แม่บ้านออนไลน์อย่างตะวันก็คือหญิงสาวที่เป็นคู่หมั้นหมายของเขาจริงๆ         จากนั้น เมื่อในทางหนึ่งหยาดฟ้าที่คบหาอยู่กับชายหนุ่มเจ้าชู้ไก่แจ้อย่าง “บรรเลง” ก็ไม่อยากแต่งงานกับชายหนุ่มบ้านนอกที่เธอไม่รู้จักมักจี่มาก่อน กับอีกทางหนึ่ง ตะวันก็ต้องการเงินมารักษาแม่ที่ป่วยออดๆ แอดๆ กลเกมสลับตัวของผู้หญิงสองคนจึงเกิดขึ้น ตะวันในนามของหยาดฟ้าเลยตกลงปลงใจมายอมรับสภาพเป็น “เมียจำเป็น” ณ นิวาสถานของพระเอกหนุ่มโตมรในที่สุด         เมื่อต้องกลายมาเป็น “เมียจำเป็น” ตะวันก็ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งขันที่หมายมาดจะเข้ามาช่วงชิงบทบาทความเป็น “เมีย” ของนายหัวโตมร ไม่ว่าจะเป็น “โสภิต” เลขาคู่ใจ แต่คิดกับพระเอกหนุ่มเกินคำว่าเพื่อน หรือ “กิ่งแก้ว” พยาบาลของ “คุณน้อย” น้องสาวพิการของโตมร ที่อยากเลื่อนขึ้นมาเป็นพี่สะใภ้มากกว่า รวมไปถึงหยาดฟ้าตัวจริงเอง ที่ภายหลังก็คิดจะเลิกร้างกับบรรเลง เพื่อมาเป็นภรรยาเจ้าของสวนยาง        จากความขัดแย้งของเรื่องที่นางเอกยากจนต้องมาต่อสู้กับบรรดานางร้ายผู้มีหมุดหมายเป็นพระเอกหนุ่มคนเดียวกันเช่นนี้ ละครก็เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า สำหรับคนชั้นล่างแล้ว “ความจำเป็น” ทางเศรษฐกิจสังคมก็คือ ตัวแปรต้นที่ทำให้ตะวันจำยอมตัดสินใจมารับบทบาทความเป็น “เมียแบบจำเป็น”         ตรงกันข้ามกับบรรดาคนชั้นนำที่มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ใน “ความไม่จำเป็น” แต่อย่างใด ทว่าคนกลุ่มนี้กลับใช้อำนาจและพยายามทุกวิถีทางที่จะครอบครองสถานะความเป็น “เมีย” เพียงเพื่อสนอง “ความปรารถนา” มากกว่า “ความจำเป็น” ของตนเท่านั้น         คู่ขนานไปกับการนำเสนอความขัดแย้งระหว่าง “ความจำเป็น” กับ “ความปรารถนา” นั้น ด้วยวิธีเล่าเรื่องแนวเสียดสีชวนขัน ในเวลาเดียวกัน เราจึงได้เห็นอีกมุมหนึ่งของการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครเอกที่ผิดแผกไปจากการรับรู้แบบเดิมๆ ของผู้ชม         แม้พระเอกนางเอกจะต่างกันด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคม แต่ทั้งคู่ก็ถูกออกแบบให้กลายเป็นคนที่ชอบดูละครโทรทัศน์เป็นชีวิตจิตใจ แม้พระเอกหนุ่มจะเป็นเจ้าของสวนยางที่มั่งคั่ง แต่เขาก็ติดละครหลังข่าวแบบงอมแงม เช่นเดียวกับตะวันที่เมื่อทำงานเสร็จ ก็ต้องรีบกลับบ้านมาดูละครภาคค่ำทุกๆ คืน         การโคจรมาเจอกันของแฟนคลับละครจอแก้ว ไม่เพียงจะทำให้คนสองคนได้ปรับจูนรสนิยมในการคบหากันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว พร้อมๆ กันนั้น ความคิด การกระทำ และประสบการณ์ชีวิตของพระเอกนางเอกก็ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจากละครโทรทัศน์หลากหลายเรื่องที่ทั้งคู่รับชมมาตั้งแต่เด็กๆ        ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกที่หลายฉากหลายสถานการณ์ที่ปรากฏในละคร “เมียจำเป็น” จึงช่างดูคุ้นตาแฟนานุแฟนของละครภาคค่ำยิ่งนัก         ตั้งแต่ฉากที่ตะวันผูกผมเปียถือกระเป๋าเดินเข้าบ้านหลังใหญ่ของคุณโตมร ที่ยั่วล้อฉากคลาสสิกของ “บ้านทรายทอง” ฉากน้องสาวพิการที่หวงพี่ชายจนเกลียดนางเอกแสนดีเหมือนพล็อตในละคร “รักประกาศิต” เนื้อเรื่องที่เล่นสลับตัวนางเอกมาแต่งงานหลอกๆ คล้ายกับเรื่องราวในละครทีวีหลายๆ เรื่อง ไปจนถึงฉากที่นางเอกถูกกักขังทรมานในบ้านร้างที่ก็อปปี้ตัดแปะมาจากละครเรื่อง “จำเลยรัก”        ด้วยเส้นเรื่องที่ “ยำใหญ่” ละครเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกหลายเรื่องและเอามาล้อเล่นเสียดสีแบบนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เรา “ขบขัน” กับความซ้ำซากจนกลายเป็นความคุ้นชินในชีวิตผู้ชมเท่านั้น หากแต่อีกด้านหนึ่ง ก็ชวนหัวชวนคิดไปด้วยว่า ตกลงแล้วระหว่างละครกับชีวิตจริง อะไรที่กำหนดอะไรกันแน่        ในขณะที่ชีวิตจริงของคนเราก็ถูกสะท้อนเป็นภาพอยู่ในโลกแห่งละคร แต่ในเวลาเดียวกัน ละครที่เราสัมผัสอยู่ทุกวันก็ได้ย้อนยอกจนกลายมาเป็นชีวิตจริงของคนหลายๆ คน เพราะฉะนั้น ประโยคที่โตมรหันมามองกล้องและพูดด้วยเสียงก้องตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “ผู้หญิงดีๆ ที่ไหนจะยอมมาเป็นเมียจำเป็น” ก็อาจจะมีสักวันหนึ่ง ที่ “ความจำเป็น” จะทำให้ผู้หญิงดีๆ บางคนต้องลุกขึ้นมายินยอมสวมบทเป็น “เมียจำเป็น” ได้เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ฉลากโภชนาการ สิ่งจำเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพ

ความสำคัญและระดับการควบคุมข้อมูลโภชนาการหรือฉลากโภชนาการ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงคุณค่าทางด้านโภชนาการหรือปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายจะได้รับเมื่อรับประทานเข้าไป และเป็นการยกระดับให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมกับการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้บริโภคพึงได้รับ ดังนั้นหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชนในทุกประเทศทั่วโลก จึงต่างให้ความสำคัญกับการแสดงฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างไรก็ตามระดับการแสดงข้อมูลโภชนาการมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก(Mandatory) เป็นลักษณะบังคับว่าต้องมี ถ้าไม่มี จะมีบทลงโทษ และกลุ่มที่ผู้ประกอบการสามารถแสดงฉลากได้ตามความสมัครใจ (Voluntary) คือ กฎหมายไม่บังคับ – จะแสดงฉลากหรือไม่ก็ได้1) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่กฎหมายบังคับให้มีการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลัมเบีย, เอกวาดอร์, ปารากวัย, อุรุกวัย, อิสราเอล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, จีน (+ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง), เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ไทย, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์  ซึ่งประเทศเหล่านี้จะกำหนดตามกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องแสดงฉลากโภชนาการถึงแม้ว่าจะไม่มีการแสดงคำกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือคำกล่าวอ้างทางสุขภาพก็ตาม โดยจะกำหนดว่าสารอาหารตัวใดจะต้องถูกแสดงบ้างและจะแสดงในลักษณะใด (เช่น ต่อ 100 กรัม หรือ ต่อหน่วยบริโภค เป็นต้น) นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีการแสดงรูปแบบอื่น ๆ ของฉลากโภชนาการได้โดยสมัครใจ อีกด้วย 2) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่ให้มีการแสดงฉลากโภชนาการโดยสมัครใจโดยรัฐให้การสนับสนุนแนวทางในการแสดงข้อมูล ได้แก่ กลุ่มประเทศอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) (ประกอบด้วย บาห์เรน, คูเวต, กาตาร์, โอมาน, ซาอุดิอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรต: ยูเออี), เวเนซุเอล่า, ตุรกี, สิงโปร์, ฟิลิปปินส์, ญี่ปุ่น, เคนยา, เมาริเทียส, ไนจีเรีย, และอาฟริกาใต้ ซึ่งกฎหมายของประเทศกลุ่มนี้จะให้รัฐเป็นผู้กำหนดว่าสารอาหารใดบ้างที่ต้องมีการแสดงบนฉลากและต้องแสดงฉลากในลักษณะใดแต่ไม่ได้บังคับว่าจะต้องแสดงเว้นเสียแต่ว่ามีการกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารนั้น ๆ หรือเป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อการควบคุมน้ำหนัก   ภาพประกอบ : แผนภูมิภาพแสดงการแบ่งกลุ่มประเทศที่มีการแสดงฉลากโภชนาการตามกฎหมายกระแสโลกในการทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสโลกในเรื่องการแสดงข้อมูลโภชนาการได้มุ่งไปสู่การทำเป็นกฎหมายภาคบังคับ เห็นได้จากการที่ มาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) (Codex Alimentarius Commission, 2012) ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2555 นั้น ได้แนะนำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับแม้ว่าอาหารนั้นจะไม่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการก็ตามในหลายประเทศที่เคยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นกฎหมายฉลากโภชนาการแบบภาคบังคับ เช่น ประเทศจีนก่อนหน้านี้ใช้กฎหมายฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ต่อมาเมื่อได้นำมาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) มาใช้ จึงเปลี่ยนให้ฉลากโภชนาการเป็นฉลากภาคบังคับและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ด้านสหภาพยุโรป (อียู) ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการให้ข้อมูลด้านอาหารแก่ผู้บริโภคในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ซึ่งทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 แต่ยังมีหลายสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องทำก่อนถึงกำหนดในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 หนึ่งในนั้นคือ การหาข้อสรุปว่า รูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการ แบบใดเหมาะสม เข้าใจง่าย และจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด จึงทำให้มีการสนับสนุนทุนทำโครงการวิจัย ชื่อว่า FLABEL ที่พบข้อมูลว่า ใน 27 ประเทศสมาชิกของอียูและตุรกี มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 85 จาก 5 กลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหลังบรรจุภัณฑ์ (Back of Pack : BOP) มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 48 ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (Front of Pack : FOP) นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 84 ของผลิตภัณฑ์จะแสดงข้อมูลโภชนาการใน รูปแบบเป็นตาราง หรือ เป็นเส้นตรง (ตารางโภชนาการหรือกรอบข้อความโภชนาการ) โดยที่มีเพียงร้อยละ 1 แสดงข้อมูลด้วยสัญลักษณ์สุขภาพ (health logos) และในบรรดาฉลากแบบ แสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้า ทั้งหมด รูปแบบฉลาก หวาน มัน เค็ม (Guideline Daily Amounts :GDA) และ การกล่าวอ้างทางโภชนาการ เป็นรูปแบบที่แพร่หลายที่สุด ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานกลางของฉลากโภชนาการแบบแสดงข้อมูลด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (FOP)การโต้เถียงเรื่องการใช้ฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ของโลก ส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในทวีปเอเชีย ได้สร้างความประหลาดใจแก่โลก โดยได้ประกาศใช้ การแสดงฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแสดงในรูปแบบที่เรียกว่า ฉลาก “หวาน มัน เค็ม” (GDA) เป็นประเทศแรกในเดือน พ.ค. 2554 โดยประกาศใช้ในขนมเด็ก 5 กลุ่ม หลังจากนั้นฉลากรูปแบบนี้ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลในหลายประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา) โดยมีสิ่งที่รัฐต้องตัดสินใจคือ จะทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้านี้เป็นกฎหมายภาคบังคับหรือไม่ และถ้าใช่ ควรที่จะต้องเพิ่มเติมเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจของคุณค่าทางโภชนาการที่แสดงผ่านการใส่สี (แบบสีสัญญาณไฟจราจร) หรือ การให้สัญลักษณ์ “เครื่องหมายสุขภาพ” (ตราที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีโภชนาการเหมาะสมตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ตรารูปหัวใจ : สมาร์ทฮาร์ท, เครื่องหมายรูปรูกุญแจสีเขียว) หรือให้ข้อมูลเป็นเปอร์เซ็นของการบริโภคต่อวัน เช่น ฉลาก หวาน มัน เค็ม : GDA ท่ามกลางการตัดสินใจต่าง ๆ เหล่านี้ รูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light) ของสหราชอาณาจักร (UK) เป็นจุดสนใจและได้รับการโต้เถียงอย่างกว้างขวาง กลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก องค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) สายสุขภาพ และบางรัฐบาลในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ได้ประกาศสนับสนุนรูปแบบฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์แบบสีสัญญาณไฟจราจรของสหราชอาณาจักรขณะที่รัฐบาลทั้งหลายกำลังตัดสินใจว่าจะใช้ฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยข้องต่าง ๆ ของตนอย่างไรนั้น รูปแบบย่อยทั้งหลายของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็แพร่หลายไปภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล, องค์กรระหว่างประเทศ, NGOs, กลุ่มองค์กรภาคอุตสาหรรม และบริษัทต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโภชนาการได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการหลอมรวมเป็นรูปแบบเดียวกันจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ นปี พ.ศ. 2555 แผนกสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรได้เสนอรูปแบบฉลากที่รวมฉลาก GDA เข้ากับสีสัญญาณไฟจราจร และ ตัวหนังสือบรรยายโภชนาการ อย่างไรก็ตามยังคงมีการโต้เถียงในเรื่อง การระบุคำบรรยายใต้สัญลักษณ์สีสัญญาณไฟจราจรว่า “สูง” “ปานกลาง” และ “ต่ำ” บนฉลาก และ เกณฑ์ทางโภชนาการควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งรูปแบบนี้ถูกนำไปใช้โดยความสมัครใจของร้านขายปลีกขนาดใหญ่ทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อย แต่ผู้ผลิตอาหารจำนวนมากยังคงลังเลที่จะเข้าร่วมดำเนินการในสหรัฐอเมริกา มีรายงานระยะที่ 1 จาก the Institute of Medicine (IOM) Committee ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 แนะนำว่า ควรต้องมีระบบเฉพาะในการระบุข้อมูลโภชนาการที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค 4 ประเภท คือ ค่าพลังงาน (แคลอรี่), หน่วยบริโภค (serving size), ไขมันทรานส์ (trans fat), ไขมันอิ่มตัวและโซเดียม ส่วนในรายงานระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ได้ระบุเรื่องของการเปิดกว้างของผู้บริโภค ความเข้าใจ และความสามารถในการการใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้ให้คำแนะนำแก่ อย. (USFDA) และหน่วยงานด้านเกษตร (USDA) ของสหรัฐไว้ว่า ควรต้องมีการพัฒนา ทดสอบและบังคับใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และได้ให้คำแนะนำให้การบังคับใช้มาตรการฉลากนี้ว่า จะต้องเกิดจากความมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และกลุ่มผู้มีความสนใจที่หลากหลาย สำหรับรูปแบบฉลากที่แนะนำนั้น IOM เสนอให้แสดงเป็นสัญลักษณ์แสดงปริมาณแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและแสดงคะแนนเป็นดาวโดยเทียบจากคุณค่าทางโภชนาการ ด้านไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โซเดียม และน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ที่ต่ำกว่าเกณฑ์โภชนาการ  ไม่เพียงแค่ภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องฉลากโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มภาคเอกชนของสหรัฐฯ ได้แก่ สมาคมร้านค้าของชำ สถาบันการตลาดอาหาร และผู้แทนของบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และและกลุ่มผู้ค้าปลีก ได้นำเสนอ ฉลากแบบสมัครใจเรียกว่า fact-based FOP nutrition labelling ที่แสดงข้อมูลพลังงาน และสารอาหารสำคัญ (ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และน้ำตาล) ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง อย. ของ สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนฉลากแบบนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า  ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสารอาหารของผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของกระแสการทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์กลายเป็นมาตรฐานสากลคือ การที่ สหภาพยุโรป ได้ประกาศใช้กฎหมาย ข้อมูลด้านอาหารเพื่อผู้บริโภค ที่อนุญาตให้มีการใช้ฉลากโภชนาการแบบสมัครใจในบางรูปแบบได้ ทำให้มีการแสดงข้อมูลทางโภชนาการ สี ภาพ หรือ สัญลักษณ์ ซึ่งต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ได้มีการออกเอกสารถาม-ตอบ (Q&A) เพื่อสร้างความชัดเจนในการบังคับใช้มาตรการนี้ออกมา โดยในเอกสารได้ยืนยันว่า กิโลจูล (หน่วยของค่าพลังงาน)สามารถใช้ได้บนฉลากโภชนาการแบบสมัครใจด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว ๆ หรือจะแสดงคู่กันกับ กิโลแคลอรี ก็ได้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในงานประชุมของรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการพัฒนาฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่เข้าใจและแปลความได้ง่าย แต่ยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนการแสดงฉลากรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยทันที ซึ่งต่อมา ในประเทศออสเตรเลีย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศขึ้นชุดหนึ่งขึ้นมาทำงานในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับในนิวซีแลนด์ ที่ได้มีกลุ่มทำงานมาพัฒนาแนวทางและคำแนะนำต่อการจัดทำฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าผลิตภัณฑ์ แต่มิได้มีรูปแบบเฉพาะเจาะจงออกมาเช่นกัน ซึ่งความน่าจะเป็นของรูปแบบฉลากโภชนาการของทั้งสองประเทศนี้น่าจะมีความคล้ายคลึงกันมาทางฝั่งทวีปเอเซียกันบ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ประเทศเกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ประกาศใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยสมัครใจในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก และภายหลังเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกระดับการแสดงฉลากในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรในขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มเป็นกฎหมายภาคบังคับโดยให้มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งการกระทำนี้ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรภายใต้กฎหมายภาคบังคับ นับแต่นั้น ได้มีการผ่านร่างกฎหมายสองฉบับ ฉบับแรก ว่าด้วยการแสดงฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรในอาหารที่เด็กชื่นชอบได้แก่ ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม กับ กฎหมายฉบับที่สองซึ่งกำหนดให้มีการแสดงฉลากโภชนาการทั้งแบบสีสัญญาณไฟจราจรและแบบคุณค่าทางโภชนาการต่อวันที่ใส่สีเพื่อแสดงเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจ การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นรุ่งอรุณแห่งมาตรการฉลากโภชนาการที่น่าจะช่วยให้ประเทศอื่น ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค เจริญรอยตาม ก็เป็นได้ข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบฉลากโภชนาการยังไม่ยุติข้อถกเถียงที่ว่ารูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดจะมีประสิทธิภาพที่สุด จะดำเนินต่อไปในยุโรป, เอเซีย-แปซิฟิค, และอเมริกา ในช่วงอนาคตอันใกล้ การศึกษาวิจัยที่มากขึ้นจะเป็นประโยชน์และช่วยยืนยันประเด็นนี้ รัฐบาล NGOs ผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าปลีกได้ร่วมกันสำรวจว่า รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดที่ผู้บริโภคชื่นชอบที่สุด ด้วยเหตุผลใด และรูปแบบใดจะส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อและการสร้างสมดุลในการเลือก แม้จะมีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ให้คำตอบได้ แต่ยังคงไม่มีข้อสรุปใด ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายว่าจะไปในทิศทางใดกัน อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหารที่ง่ายกว่าในปัจจุบันแก่ผู้บริโภค ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ แบบภาคบังคับ เป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่ช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย และเหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อเมื่อมันเหมาะสมต่อหน้าที่ของมัน ซึ่งก็คือ ผู้บริโภคมีความเข้าใจและใช้มัน ในสหรัฐฯ ความความเติบโตทางความเห็นที่ว่า ข้อมูลโภชนาการแบบเดิม ๆ อย่างเดียวไม่เพียงพอ หรือ มันไม่สามารถเข้าใจและใช้ได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่อีกแล้ว อย. สหรัฐฯ จึงได้ประกาศภารกิจเร่งด่วนในการทบทวนการแสดงโภชนาการในรูปแบบ ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการเสียใหม่ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้าผลิตภัณฑ์ (FOP) ขณะที่ฉลากหวาน มัน เค็ม (GDA) ได้รับการสนับสนุนจำนวนมากจากกลุ่มผู้ผลิตอาหาร และผู้กำหนดนโยบาย ความเป็นประโยชน์ในการเป็นแนวทางประกอบการเลือกของผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการให้การศึกษาผู้บริโภคให้สามารถใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร------------------------------สถานการณ์ด้านฉลากโภชนาการของประเทศไทย นับแต่การประกาศใช้ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2541 ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการควบคุมฉลากโภชนาการแบบสมัครใจมาโดยตลอด จนถึงการบังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม (จีดีเอ) ในปี พ.ศ. 2554 ที่ยกระดับการควบคุมทางกฎหมายของฉลากโภชนาการจากสมัครใจมาสู่กฎหมายภาคบังคับ โดยควบคุมการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร กลุ่มขนมขบเคี้ยว 5 ประเภท ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดกรอบหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, และเวเฟอร์สอดไส้ แต่ก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการอย่างต่อเนื่อง  ย้อนไปในปี พ.ศ. 2553 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระบุว่า ให้มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย(ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์) ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร จึงนำมาซึ่งการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและนำเสนอรูปแบบฉลากสีสัญญาณไฟจราจรแก่ อย. อย่างไรก็ตาม อย. กลับได้ประกาศใช้ฉลากหวาน มัน เค็ม แทนที่ฉลากสีสัญญาณไฟจราจรตามมติสมัชชา และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา อย. ได้ขยายการควบคุมจากผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว 5 ประเภทมาเป็น อาหาร 5 กลุ่ม ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบหรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส, สาหร่ายทอด หรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอด หรืออบกรอบหรือปรุงรส), ช็อกโกแลต, ผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, เวเฟอร์สอดไส้, คุ้กกี้, เค้ก, และ พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้), อาหารกึ่งสำเร็จรูป (ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้นไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตามพร้อมซองเครื่องปรุง, และ ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง), และอาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย  นอกจากการทำให้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากแบบบังคับแล้ว อย. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานวิชาการในการทำการศึกษารูปแบบฉลากโภชนาการแบบสัญลักษณ์สุขภาพและได้ออกประกาศให้มีการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจขึ้นมาอีก 1 รูปแบบ ใช้ชื่อว่า สัญลักษณ์โภชนาการ (สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ) โดยได้มีการประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่ง ทางเลือกสุขภาพนี้ คือเครื่องหมายที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีปริมาณสาร อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดีต่อสุขภาพ  ด้านฝั่งองค์กรภาคประชาสังคมได้มีการรณรงค์เพื่อผลักดัน ให้ อย. พิจารณาบังคับให้ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร แทนที่ฉลากแบบหวาน มัน เค็ม โดยได้มีดัดแปลงรูปแบบจากรูปแบบของสหราชอาณาจักรมาเป็นสัญญาณไฟจราจรแบบไทย และได้นำประเด็นเข้าสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน พัฒนาเด็กและอาจารย์ในโรงเรียนให้มีความรู้ในการอ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสามารถใส่สีสัญญาณไฟจราจรลงบนฉลากอาหารได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มทำงานในโรงเรียนจำนวน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายผล ขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมใน 8 จังหวัดของภาคตะวันตกตามการแบ่งเขตขององค์กรผู้บริโภค ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉลากโภชนาการรูปแบบใดจะเหมาะสมสำหรับประเทศไทย สมควรหรือไม่ที่ควรต้องมีรูปแบบเดียว หรือจะให้มีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจนั้น ยังคงต้องการการศึกษาเพื่อยืนยัน ว่าฉลากรูปแบบใดกันแน่ ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคมากที่สุดข้อมูล Global Update on Nutrition Labelling Executive Summary January 2015Published by the European Food Information Council. www.eufic.org/upl/1/default/doc/GlobalUpdateExecSumJan2015.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 81 วัคซีน ความจำเป็นหรืออุบายขายโรค

โลกยุคนี้ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญมาก ให้ผลได้ทั้งบวกและลบกับทุกคนบนโลกใบนี้ ยิ่งเป็นข้อมูลด้านสุขภาพ ยิ่งสำคัญ และยิ่งต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะข้อมูลที่ถูกนำเสนอเพื่อให้ซื้อหรือใช้บริการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเด็ก  คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ฉลาดซื้อสนใจทำสำรวจ เรื่องการบริการวัคซีนในโรงเรียน ด้วยเหตุจากผู้ปกครองหลายคนสอบถามเข้ามาว่า จดหมายที่โรงเรียนนำมาแจกให้และมีข้อความเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคให้ลูกหลานนั้นจะทำอย่างไรดี ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อดี  ฉลาดซื้อจึงจัดเวทีเล็กๆ ร่วมกับเครือข่ายพ่อแม่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พบว่า ยังมีผู้ปกครองหลายคนที่ไม่รู้เรื่องการให้บริการวัคซีนอย่างเพียงพอสำหรับการตัดสินใจ ส่วนใหญ่ก็จะยินดีให้เด็กรับวัคซีนไว้ก่อน นัยว่า “กันไว้ดีกว่าแก้”  ข้อดีคือป้องกันย่อมดีกว่ารักษา แต่ค่าบริการก็ไม่ใช่น้อยๆ และบางครั้งก็เป็นการฉีดวัคซีนซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายพ่อแม่ จึงได้ลองทำแบบสำรวจเล็กๆ เพื่อวัดความรู้เรื่องวัคซีนของคุณพ่อคุณแม่ขึ้น และดูแนวโน้มของการเสนอบริการวัคซีนทางเลือกที่รุกเข้าสู่สถานศึกษา  แบบสอบถามทั้งหมดได้จากผู้ปกครองจากโรงเรียนประเทืองทิพย์ พระมหาไถ่  สายน้ำทิพย์ อนุบาลโชคชัย  สายน้ำผึ้ง เทพศิรินทร์ วัฒนาวิทยาลัย และอื่นๆ จำนวน 301 ราย  เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 78.4 ชั้นมัธยมศึกษาร้อยละ 21.6   ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่เป็นคุณแม่อายุ 31-45 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี  ร้อยละ 46.7 มัธยมปลาย ร้อยละ 21 ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 78 คิดว่า บุตรของตนได้รับวัคซีนครบตามมาตรฐาน แต่ความจริงคือ… วัคซีนบังคับ หมายถึง วัคซีนที่รัฐจัดบริการให้ฟรีแก่เด็กตั้งแต่แรกเกิด  เพื่อลดอัตราการป่วยและตายจากโรคติดเชื้อต่างๆ ได้แก่ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบบี คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้สมองอักเสบ (เด็กทุกคนจะมีสมุดคู่มือการฉีดวัคซีนประจำตัว)วัคซีนบังคับ...ไม่รู้ว่าฟรีจึงต้องเสียสตางค์จากการสำรวจของฉลาดซื้อพบว่า วัคซีนวัณโรค ร้อยละ 88.7 คิดว่าได้รับแล้ว ในจำนวนนี้ ร้อยละ 87.9 ได้รับที่โรงพยาบาล  ส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนจะดำเนินการให้วัคซีนนี้ซ้ำในระดับป.1แต่มีผู้ตอบว่า ได้รับวัคซีนตัวนี้ที่โรงเรียนเพียง ร้อยละ 0.8 ซึ่งหมายถึง อาจมีปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง เช่นเดียวกับวัคซีนคอตีบ บาดทะยักซึ่งเด็กนักเรียนควรได้รับครั้งที่ 5 เมื่อชั้น ป. 6 แต่มีผู้ปกครองตอบมาว่า ได้รับจากโรงเรียนน้อยกว่าร้อยละ 1วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ และตับอักเสบบี เป็นวัคซีนบังคับซึ่งผู้ปกครองมากกว่าร้อยละ 90 คิดว่า ได้รับแล้วที่โรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่   วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งเป็นวัคซีนบังคับเช่นกันต้องได้รับสองครั้งที่อายุ 9 เดือน และ 5 ปี รวมทั้งวัคซีนไข้สมองอักเสบที่ต้องได้รับสามครั้งที่อายุหนึ่งปี เป็นต้นไป แต่ผู้ปกครองรับรู้ว่าได้รับวัคซีนทั้งสี่ชนิดนี้แล้วเพียงร้อยละ 80-85 เท่านั้น  ส่วนใหญ่ได้รับที่โรงพยาบาล ผู้ปกครองรับรู้ว่า โรงเรียนมีส่วนในการให้วัคซีนนี้เพียงร้อยละ 1.8 1สำหรับหัดเยอรมัน วัคซีนอีกสามชนิด โรงเรียนมีส่วนในการให้ต่ำกว่าร้อยละ 1วัคซีนชุดนี้รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาวัคซีนแก่เด็กทั้งหมดอย่างเพียงพอ และเด็กทุกคนต้องได้รับโดยไม่ต้องจ่าย อย่างไรก็ตามผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงจ่ายค่าวัคซีนในการฉีดที่คลินิก โรงพยาบาล โดยไม่ได้รับรู้เรื่องการจัดสรรงบประมาณโดยรัฐบาล มีเพียงโปลิโอเท่านั้นที่ผู้ปกครองร้อยละ 82 คิดว่า รัฐบาลจัดหาวัคซีนให้ฟรี สำหรับวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยักนั้นผู้ปกครองร้อยละ 58 รับรู้เรื่องการฉีดฟรี  วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม และตับอักเสบบีนั้นผู้ปกครองรับรู้เพียงร้อยละ 37-39  และน้อยกว่าร้อยละ 29 ในไข้สมองอักเสบวัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนนอกโปรแกรมบังคับ เป็นวัคซีนที่ไม่จำเป็นต้องฉีดในเด็กทุกราย แต่สามารถเลือกฉีดได้ตามความเหมาะสม เช่น มีการระบาดของโรคติดเชื้อบางอย่าง หรือเด็กต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โรคอีสุกอีใส เป็นต้นวัคซีนนอกโปรแกรมบังคับวัคซีนนอกโปรแกรมบังคับซึ่งมีในตลาดมานานระยะหนึ่งแล้ว  เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ ซึ่งสามารถให้ได้ตั้งแต่อายุสองปีครึ่ง มีผู้ปกครองรับรู้ว่าบุตรได้รับแล้วร้อยละ 68 โดยเป็นการได้รับที่โรงเรียนร้อยละ 1.8 เท่านั้น เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคสุกใส ซึ่งสามารถให้ได้ตั้งแต่อายุหนึ่งปีเป็นต้นไป มีผู้ปกครองรับรู้ว่าบุตรได้รับแล้วร้อยละ 50 โดยเป็นการได้รับที่โรงเรียนร้อยละ 1.5 เท่านั้น  สำหรับวัคซีนใหม่นั้นได้แก่     ไข้หวัดใหญ่  IPD  มะเร็งปากมดลูก มีผู้ปกครองรับรู้ว่าบุตรได้รับแล้วร้อยละ 30, 17, 0.5 ตามลำดับ โดยที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการให้ที่โรงเรียนในสัดส่วนสูงกว่าวัคซีนอื่นคือร้อยละ 8อย่างไรก็ตามวัคซีนใหม่เหล่านี้มีราคาสูงเนื่องจากไม่เป็นวัคซีนบังคับ รัฐบาลมิได้จัดการกลไกการตลาดเพื่อลดราคา ขณะเดียวกันนักวิชาการได้ให้ข้อมูลประชาชนในวงกว้างในเรื่องความจำเป็น คุณประโยชน์ที่ได้รับ ประกอบกับโรงพยาบาลเอกชนมีการเดินตลาดโรงเรียนเพื่อขายวัคซีนเป็นลอตใหญ่ๆโดยร่วมมือกับโรงเรียนออกจดหมายถึงผู้ปกครองลักษณะการสื่อความรู้ กระบวนการดังกล่าวเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองก็จริงแต่เป็นการกดดันผู้ปกครองให้ไม่มีทางเลือก เนื่องจากไม่มีเหตุผลใดจากข้อมูลที่ได้รับที่จะตัดสินใจไม่ให้ลูกฉีดวัคซีน นอกจากไม่ยอมจ่ายเงินเท่านั้น หากวัคซีนใหม่เหล่านี้มีความจำเป็นจริง นักวิชาการควรดำเนินการแสดงประโยชน์และความคุ้มทุนต่อรัฐบาล เพื่อต่อรองให้เด็กทุกคนได้รับเท่าเทียมกัน  การขายวัคซีนนั้นไม่ควรให้มีการเดินซื้อขายผ่านโรงเรียนยอย่างเสรีโดยพนักงานขายตรง และให้ข้อมูลสุขภาพเชิงโฆษณาแม้ว่าข้อมูลจะมีประโยชน์ก็ตาม แต่เป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการป้องกันโรค โดยซ่อนเร้นการไม่ยอมแก้ไขกลไกตลาดเพื่อลดราคาลง ทั้งนี้ทั้งนั้นประโยชน์มิได้คำนึงถึงเด็กที่จะได้รับวัคซีนนี้น แต่คำนึงถึงกำไรสูงสุดที่บริษัทผู้ผลิตจะได้รับ รวมทั้งผลประโยชน์เล็กน้อยที่โรงพยาบาลและโรงเรียนจะได้รับเป็นค่ายี่ปั๊ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ความจำเป็นที่ถูกมองข้าม

ห้องน้ำ ถือเป็นเรื่องที่หลายๆ คนให้ความสำคัญไม่ว่าจะไปที่ไหน ขอให้รู้ว่ามีห้องน้ำอยู่ใกล้ๆ เวลาปวดหนักปวดเบาก็รู้สึกอุ่นใจ ซึ่งสำหรับผู้พิการเองก็เช่นกัน พวกเขาก็ต้องการรู้สึกอุ่นใจว่าที่ที่พวกเขากำลังจะไปนั้นมีห้องน้ำที่ออกแบบมาสำหรับพวกเขา ห้องน้ำแบบเฉพาะเพื่อให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำไมต้องมีห้องน้ำเฉพาะสำหรับผู้พิการผู้พิการไม่ต้องการเป็นภาระของสังคม และอยากทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ด้วยความบกพร่องทางร่างกายทำให้มีหลายกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ผู้พิการไม่สามารถทำได้เหมือนคนปกติ ที่ชัดที่สุดก็เห็นจะเป็นการทำธุระต่างๆ ในห้องน้ำ โดยเฉพาะกับผู้พิการที่ต้องนั่งอยู่บนรถวีลแชร์ ที่ส่วนใหญ่ล้วนมีปัญหาบกพร่องทางร่างกายบางส่วนไม่สามารถขยับได้ ทำให้การพยุงตัวเพื่อขึ้นนั่งบนโถส้วม การใช้อ่างล้างมือ รวมถึงการอาบน้ำในห้องน้ำแบบปกติเป็นไปอย่างยากลำบาก การมีห้องน้ำที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์ทำธุระในห้องน้ำได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ห้องน้ำคนพิการหายากจังเวลาที่ปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ แต่มองซ้ายมองขวาก็ไม่รู้ว่าสุขาอยู่หนใด หลายๆ คนคงเข้าใจว่าช่างเป็นช่วงเวลาที่แสนทุกข์ทรมานใจ ขนาดคนปกติธรรมดาที่พอจะหาห้องน้ำได้ไม่ยากยังเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ แล้วถ้าเป็นคนพิการต้องมาจะเรื่องแบบนี้คงเดาไม่ยากว่าจะรู้สึกแย่แค่ไหน นั้นเป็นเพราะห้องน้ำสำหรับคนพิการในเมืองไทยหาได้ยากเย็นยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แสดงให้เห็นว่าคนพิการยังคงถูกมองข้ามในสังคม แม้ว่าห้องน้ำคนพิการจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่คนพิการควรได้รับ แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้คนพิการก็ยังต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก เพราะการช่วยเหลือจากสังคมยังมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ห้องน้ำสาธารณะที่คนนิยมเลือกใช้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น ในห้างสรรพสินค้า รองลงมาก็คือ ในร้านอาหาร สถานที่ราชการ โรงแรมและสวนสาธารณะ ซึ่งสถานที่ที่กล่าวมา แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีห้องน้ำสำหรับคนพิการ และบางทีถึงแม้จะมีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ แต่ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะถึงแม้จะติดป้ายบอกว่าเป็น ห้องน้ำคนพิการแต่การออกแบบกลับไม่เอื้ออำนวย อย่างเช่นระหว่างทางไปห้องน้ำกลับเป็นทางที่เป็นขั้นบันได พื้นที่ในห้องน้ำแคบเกินไป หรือปัญหาพื้นๆ ที่คนปกติก็มักเจอกันเป็นประจำอย่าง น้ำไม่ไหล ไม่มีกระดาษทิชชู ห้องน้ำสกปรก ซ้ำร้ายที่สุดคือห้องน้ำถูกล็อคหรือถูกทำให้กลายเป็นห้องเก็บของ “ฉลาดซื้อ” จึงอยากทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ไปถึงหน่วยงานราชการและเจ้าของกิจการต่างๆ ช่วยสละพื้นที่เล็กๆ ในอาคารสถานที่ที่ท่านดูแล แบ่งมาสร้างเป็นห้องน้ำสำหรับผู้พิการที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยกันสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมของเรา ***ปีนี้รัฐบาลจัดงานใหญ่สำหรับคนพิการขึ้นถึง 2 งาน คือ “มหกรรมต้นแบบคนพิการไทย” และ “งานมหกรรมวันคนพิการสากลประจำปี 2552” ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนพิการจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ห้องน้ำคนพิการที่ดีควรมีอะไรบ้าง-ประตูห้องน้ำควรเป็นแบบบานเลื่อน หรือถ้าเป็นแบบบานพับก็ควรเป็นแบบที่เปิดออกสู่ด้านนอก โดยเปิดออกได้ไม่น้อยกว่า 90 องศา และมีความกว้างของประตูไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ที่สำคัญคือประตูควรเปิดได้ง่าย ใช้แรงไม่มากในการเปิด เหมาะกับผู้พิการที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ -ที่พื้นจากภายนอกสู่ห้อง ควรเป็นพื้นเรียบเสมอกัน ถ้าหากพื้นมีความต่างระดับกันต้องทำทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ด้วย -มีราวจับจากประตูไปถึงยังจุดต่างๆ ทั้งอ่างล้างมือ โถส้วม โดยราวจับต้องมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร และต้องมีราวจับทั้งแนวตั้งและแนวนอน ตรงบริเวณข้างอ่างล้างมือทั้ง 2 ฝั่ง และด้านข้างโถส้วม เพื่อช่วยในการพยุงตัว -อ่างล้างมือควรสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 80 เซนติเมตร โดยขอบอ่างต้องอยู่ห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 45 เซนติเมตร -โถส้วมควรเป็นชนิดนั่งราบ สูงจากพื้นประมาณ 45 เซนติเมตร มีพนักพิงหลัง และที่ปล่อยน้ำให้เป็นแบบคันโยก -พื้นห้องน้ำควรทำจากวัสดุที่ไม่ลื่น กันน้ำ และมีระบบระบายน้ำที่ดี -พื้นที่ว่างภายในห้องน้ำควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เพื่อให้รถวีลแชร์สามารถหมุนกลับตัวได้ -สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องน้ำ ควรอยู่สูงจากพื้นระหว่าง 0.25 - 1.20 เมตร -ติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉิน สำหรับให้ผู้พิการที่อยู่ในห้องน้ำติดต่อมายังบุคคลภายนอก กรณีต้องการความช่วยเหลือ -ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านกด ก้านโยกหรือให้ดีที่สุดคือเป็นระบบแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ-มีอักษรเบรลล์บอกให้ทราบว่านี้คือห้องน้ำสำหรับคนพิการหรือบอกให้ทราบว่าเป็นห้องน้ำหญิงหรือชาย สำหรับห้องน้ำทั่วไป *** ข้อมูลจาก “คู่มือการออกแบบสภาพแวดล้อมสำหรับคนพิการและคนทุกวัย” สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ “ระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2544”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point