ฉบับที่ 265 กระแสต่างแดน

ถูกใจสิ่งนี้        ชาวเน็ตจีนแห่สรรเสริญมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหูหนาน ที่ใช้วิธีการอันแยบยลในการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงิน         จากการวิเคราะห์ข้อมูล “บิ้กดาต้า” เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินซื้ออาหารกลางวันของนักศึกษา 40,000 กว่าคน มหาวิทยาลัยพบว่ามีอย่างน้อย 2,000 คน ที่กินข้าวในโรงอาหารวันละ 3 มื้อ โดยใช้เงินไปไม่ถึง 11 หยวน (ประมาณ 55 บาท)         มหาวิทยาลัยจะพิจารณาว่านักศึกษาคนใดในกลุ่มนี้สมควรได้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะโอนมูลค่าเครดิต 200 หยวนเข้าไปใน “บัตรอาหาร” โดยอัตโนมัติ โดยจะโอนให้ปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กันยายน และ พฤศจิกายน         ผู้บริหารบอกว่าเด็กที่ฐานะทางบ้านยากจนส่วนใหญ่จะไม่กล้าติดต่อขอความช่วยเหลือ จึงเลือกใช้วิธีนี้เพราะสามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้กินอาหารอิ่ม โดยไม่ต้องรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นฉลากไม่เป็นมิตร         องค์กรผู้บริโภคยุโรป (BEUC) เรียกร้องให้แบนคำว่า “carbon neutral” “CO2 neutral” หรือ “climate positive” บนฉลากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรป        การสำรวจพบว่าข้อความคลุมเครือเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสินค้าที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มประเทศสมาชิก         นอกจากฉลากหรือสัญลักษณ์ที่อ้างความ “เป็นมิตรต่อโลก” ในยุโรปที่มีมากถึง 230 แบบ จะสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ทั้งที่จริงๆ แล้วบริษัทเพียงใช้วิธีปลูกป่าเพื่อนำมาหักล้าง โดยยังคงสร้างคาร์บอนต่อไป และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่สร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นต้น          ปัจจุบัน “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ที่ใช้กันทั่วโลกมีถึง 450 แบบ จึงน่าจะมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าตัวเองได้เลือกสินค้าที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อุปสรรคสำคัญ         สหประชาชาติระบุ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามของรัฐในการจัดหาแหล่งน้ำดื่มสะอาดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรายงานล่าสุดจาก UN University ที่สำรวจอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดใน 109 ประเทศ ยังพบความเหลื่อมล้ำอีกด้วย น้ำดื่มบรรจุขวดในซีกโลกเหนือจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้คนซื้อดื่มเพราะต้องการน้ำที่รสชาติดีและดีต่อสุขภาพแต่ผู้คนในซีกโลกใต้ต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดเพราะต้องการน้ำดื่มสะอาด และกำไรมหาศาลของบริษัทน้ำดื่มในเอเชียแปซิฟิกก็ตอกย้ำความเฉื่อยชาของภาครัฐในการลงทุนกับระบบน้ำดื่มสาธารณะ ที่น่าสนใจคือผู้คนยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย แต่แทบไม่มีการสุ่มตรวจคุณภาพโดยภาครัฐเลยธุรกิจที่ดึงน้ำมาใช้ด้วยต้นทุนต่ำและผลิตน้ำบรรจุขวดขายในราคาแพงกว่าน้ำประปาถึง 150 – 1,000 เท่านี้ยังเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน เพราะนอกจากจะสร้างขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ด้วยไต้หวันจะไม่ทน         ไต้หวันเตรียมเสนอร่างกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนนในเดือนเมษายนนี้จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เครือข่ายถนนของไต้หวันถือเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอยู่ที่ 12.67 คนต่อประชากร 100,000 คนการจราจรในไต้หวันได้รับการขนานนามจากสื่อว่าไม่ต่างอะไรกับสนามรบ และยังเป็นนรกสำหรับคนเดินถนนโดยแท้ ในปี 2565 มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่หยุดรถที่ทางม้าลายให้คนข้ามถึง 50,000 รายรายงานข่าวระบุว่าปัญหาหลักของถนนไต้หวันคือการออกแบบและการก่อสร้างที่ล้าสมัย บวกกับการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงเพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากเกินไป ถนนในไต้หวันทำมาเพื่อรองรับรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก (แนวคิดเดียวกับถนนอเมริกาในยุค 60) ขนส่งมวลชนและคนเดินถนนจึงถูกละเลยการเพิ่มจำนวนไฟจราจรและกล้องวงจรปิดพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสิ่งที่ไต้หวันต้องเปลี่ยนจริงๆ คือการออกแบบถนน และการปรับทัศนคติของผู้ขับขี่รถยนต์ ต้องมากกว่าหนึ่ง        นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลจะทบทวนการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรมโดยแต่ละกระทรวงได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาเหตุผลและความเป็นมาที่รัฐบาลเคยให้สิทธิดังกล่าวกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำการประเมินอย่างรอบคอบและเป็นธรรมว่าจะให้สิทธินั้นต่อหรือไม่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ต่ออายุสัมปทานแบบผูกขาดให้กับบริษัท Puspakom ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตรวจสภาพรถยนต์ตาม พรบ. ขนส่งทางบก ค.ศ. 1987 แต่เพียงผู้เดียวในมาเลเซียตั้งแต่ปี 1994 ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหมายความว่าเมื่ออายุสัมปทานดังกล่าวหมดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทอื่นที่ผ่านคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดก็สามารถประกอบกิจการดังกล่าวแข่งกับ Puspakom ที่ได้รับสัมปทานต่ออีก 15 ปีได้ เป็นที่ยินดีของผู้บริโภคที่จะไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องทนกับภาวะไร้ทางเลือกอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ฮาวทู (ไม่) ทิ้ง

         ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงผลกระทบจากการกินการใช้สินค้า/บริการ และต้องการทางเลือกที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แพ็คเกจรีไซเคิลได้         ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มาดูกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ผลิตค่ายใหญ่ มีการปรับปรุงแพ็คเกจให้เหลือเป็น “ขยะ” น้อยลง และให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องวิธีการ “ทิ้ง”หรือ “รีไซเคิล” แพ็คเกจที่ใช้แล้วหรือไม่           Consumers International หรือสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกใน 9 ประเทศ (บราซิล โปรตุเกส ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินเดีย และฮ่องกง ทั้งหมดนี้มีผู้บริโภครวมกันไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านคน) ทำการสำรวจบรรจุภัณฑ์ของกินของใช้ยอดนิยม 11 ชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ว่าสามารถคัดแยกไปรีไซเคิลได้สะดวกหรือไม่และมีฉลากที่ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด         มีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจดังนี้        · ในภาพรวม ร้อยละ 35 ของแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่สำรวจยังเป็นภาระในการรีไซเคิล        · ถ้าเฉลี่ยเป็นรายชิ้นจะพบว่า ร้อยละ 17 ของแพ็คเกจแต่ละชิ้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และยิ่งเป็นพลาสติกชิ้นบางเบา ก็ยิ่งยากต่อการรีไซเคิล        · เมื่อเทียบแพ็คเกจสินค้า 11 ชนิด ในแต่ละประเทศ ฮ่องกงมีสัดส่วนของแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด ในขณะที่บราซิลมี “ขยะ” เหลือทิ้งมากที่สุด          ·  สำหรับอีก 7 ประเทศ ดูได้จากตารางด้านล่างนี้                   · ฉลากสินค้าเหล่านี้ในทุกประเทศที่สำรวจ ไม่ระบุวิธี “ทิ้ง” บางชนิดมีแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่ฉลากกลับไม่แจ้งไว้ หรือกรณี M&M ของโปรตุเกส ที่แพ็คเกจระบุว่าให้นำไปทิ้งลงถัง ทั้งๆ ที่มันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%        · ฉลากมีข้อความที่ไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยผู้บริโภคในประเทศ เช่น ฉลากน้ำแร่ซานเพลลิกรีโน ที่ขายในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ กลับมีการแสดงสัญลักษณ์แบบที่ใช้ในยุโรป        · จากการเปรียบเทียบฉลากสินค้า 11 ชนิด ใน 9 ประเทศ พบว่า ออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศส มีสินค้าที่มีฉลากให้ข้อมูลรีไซเคิลมากกว่า 8 ชนิด อินเดีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีระหว่าง 5 – 8 ชนิด ฮ่องกงและโปรตุเกสมีไม่เกิน 4 ชนิด                     โดยสรุป ผู้บริโภคใน 9 ประเทศที่ทำการสำรวจรู้สึกว่า การคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ฉลากที่ไม่ชัดเจนหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรับผิดชอบต่อโลกเป็นเรื่องยาก หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน ภาระเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ของผู้บริโภคอย่างเดียว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ รวมถึงภาครัฐที่ปัจจุบันยังมีระดับการจัดการเรื่องนี้แตกต่างกันไป ก็ควรมีกฎเกณฑ์ในเรื่องฉลากและมีศูนย์รีไซเคิลไว้รองรับด้วย           หลัก 7R ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถใช้เพื่อช่วยลดขยะ        REFUSE         ปฏิเสธสิ่งที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม            REDUCE        ลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงเลือกสินค้าที่สามารถใช้งานได้นานขึ้น        REUSE           ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง        REFILL           เลือกใช้สินค้าชนิดเติมได้ เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์        REPAIR          ซ่อมแซมเพื่อให้สามารถใช้ต่อได้ แทนที่จะปลดระวางมันไปเป็นขยะ        RETURN        เลือกสินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้          RECYCLE     แยกขยะที่ยังมีประโยชน์ออกมาเพื่อส่งแปรรูป  

อ่านเพิ่มเติม >