ฉบับที่ 208 ห้างติดฉลากใหม่ทับข้อมูลเดิม

เดี๋ยวนี้ห้างต่างๆ มีการขายผลไม้สดปอกเปลือกจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการรับประทาน แต่หากเราซื้อสินค้ามาแล้วพบว่า สินค้านั้นมีบางอย่างผิดปกติ เราจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร คุณภูผาซื้อเม็ดบัวต้มสุกจากร้านโกเด้นเพลส มาจำนวน 1 กล่อง เมื่อเปิดกล่องเพื่อจะทานพบว่าเม็ดบัวมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงตรวจสอบฉลากดูพบว่า มีการติดฉลากใหม่ทับฉลากเก่า โดยเปลี่ยนวันที่ผลิตและวันหมดอายุใหม่ จากฉลากเดิมที่หมดอายุไปแล้ว วันรุ่งขึ้นเขาจึงไปติดต่อร้านโกเด้นเพลสสาขาที่ซื้อสินค้าว่า เมื่อวานได้ซื้อเม็ดบัวต้มสุกไป แล้วพบว่าเป็นของเก่าแต่มีการติดฉลากใหม่ทับ เขาจึงต้องการให้ทางร้านคืนเงินเมื่อได้ฟังคุณภูผาทักเช่นนั้น พนักงานหันไปคุยกันว่า “ของที่พลัสไปเมื่อวานลูกค้าบอกว่าเสีย”  ทำให้คุณภูผารู้สึกว่าพนักงานน่าจะทำแบบนี้เป็นประจำหรือไม่ พนักงานอีกคนหนึ่งจึงรับกล่องสินค้าพร้อมหยิบกล่องเม็ดบัวที่เหลือในชั้นวางไปด้วย จากนั้นขอใบเสร็จเพื่อไปยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าในเครื่องคิดเงิน และคืนเงินให้ตามราคาที่ได้ซื้อไป โดยไม่มีการขอโทษหรือรับผิดใดๆ จากพนักงานเลย คุณภูผารู้สึกว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า การกระทำของโกเด้นเพลสเป็นการจำหน่ายสินค้าหมดอายุ ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 การจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ผู้ร้องถ่ายรูปสินค้าและใบเสร็จ นำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานอย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ได้ไปแจ้งความตามคำแนะนำ เนื่องจากได้ให้ใบเสร็จและคืนสินค้าให้โกเด้นเพลสแล้วไม่ได้ถ่ายภาพเก็บไว้ ศูนย์พิทักษ์จึงนัดเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทฯ บริษัทฯ ชี้แจงว่าไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน และปัจจุบันได้ลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดการฝึกอบรมพนักงานใหม่ทั้งหมดเรื่องการตรวจสอบสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จบรรจุแพ็ค สุดท้ายได้กล่าวขอโทษคุณภูผา ซึ่งไม่ได้ติดใจเอาเรื่องอะไรกับบริษัทอีก เพียงขอให้บริษัทฯ ทำหนังสือขอโทษและชี้แจงเรื่องมาตรการในการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีระบบตรวจสอบสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับผู้บริโภครายอื่นอีก ศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็ได้แนะนำให้บริษัทฯ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์เพื่อเป็นช่องทางติดต่อระหว่างลูกค้าและบริษัทด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >