ฉบับที่ 249 แม่อุ๊ยป่วยหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอเยียวยาค่ารักษา

        ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่าหากใครฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อที่รัฐบาลจัดสรรให้แล้วเกิดอาการแพ้และอาการไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิต ในทุกกรณีที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนนี้ ให้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปก่อนได้ แต่อาจไม่ได้รับการเยียวยาทุกกรณี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะพิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ ประกอบกันด้วย         แม่อุ๊ยวันดี อยู่ที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกที่โรงพยาบาลฮอดไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์ วันนั้นแม่อุ๊ยเริ่มรู้สึกเวียนหัว ร้อนตามตัว พอลุกมาเข้าห้องน้ำตอน 3 ทุ่ม ก็เป็นลมล้มหมดสติไป หลานจึงพาไปโรงพยาบาลฮอด แต่อาการแม่อุ๊ยไม่ดีขึ้นจึงถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลมหาราชทันที และนอนรักษาตัวอยู่ 2 คืน คุณหมอวินิจฉัยว่าแม่อุ๊ยวันดีเป็นเส้นเลือดตีบที่หัวใจ ต้องเจาะที่ต้นคอและต้นขา และกินยาต่อเนื่อง จากนั้นก็ถูกส่งตัวมานอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจอมทองอีกคืนหนึ่งจึงกลับบ้านได้ โดยหมอนัดมาตรวจอาการอีกทุกๆ 2 อาทิตย์ เป็นเวลา 1 ปี           ทุกวันนี้แม่อุ๊ยวันดีได้เงินเบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาทและหลานให้อีก 500 บาทเท่านั้น อาการเจ็บป่วยทำให้แม่อุ๊ยได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีอย่างเมื่อก่อน และยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องด้วย  จึงได้ให้หลานร้องเรียนมายัง เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ตนเองจะเรียกร้องค่าเยียวยาจากไหนได้บ้างไหม เพื่อมาจ่ายค่ารักษาอาการป่วยต่อเนื่องนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำให้ ครอบครัวแม่อุ๊ยวันดีเตรียมข้อมูลสำหรับยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนแล้ว โดยทำตามขั้นตอนที่ สปสช.ประกาศไว้ในเอกสารวิธียื่นคำร้องขอรับ “เงินช่วยเหลือเบื้องต้น” ที่ต้องยื่นภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย         ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง คือ ผู้เสียหายหรือทายาท ถ้าไม่มีทายาท ผู้อุปการะหรือผู้ดูแลใกล้ชิดกันมาต่อเนื่องพอสมควร หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ สามารถยื่นคำร้องแทนได้ โดยต้องเตรียมเอกสารประกอบ ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน  ความเห็นจากแพทย์ที่รักษาและการหยุดพักงาน  บันทึกเหตุการณ์ก่อนและหลังฉีดจนมีอาการข้างเคียง หรือสำเนาใบมรณบัตร(กรณีที่เสียชีวิต) ไปยื่นได้ที่โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (13 เขต ทั่วประเทศ)         หลังจากยื่นคำร้องแล้ว หากคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช. พิจารณาลงมติว่าเห็นชอบที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ ทางสปสช.จะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วัน หลังจากมีมติ โดยอัตราการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น คือ เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 400,000 บาท เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 240,000 บาท บาดเจ็บ/บาดเจ็บต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้หากไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 รู้เท่าทันการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด

        ขณะนี้นโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยให้ใช้การฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ อาจเป็นวัคซีนทางเลือก เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ทำให้ประชาชนจำนวนมากกังวลว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดจะเกิดประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะมีหมอบางคนออกมาคัดค้านการฉีดวัคซีนสลับชนิดดังกล่าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ประเทศทางยุโรปเริ่มใช้มาตรการฉีดวัคซีนสลับชนิด         ในขณะนี้ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปกว่า 1.2 พันล้านโดสแล้ว และเริ่มมีบางประเทศแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มแรกเป็นวัคซีนชนิดหนึ่ง และเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่ง         มาตรการดังกล่าวเริ่มจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ที่ผู้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมีอาการของลิ่มเลือดอุดตัน จึงให้ฉีดวัคซีนเข็มสองเป็นวัคซีนอีกชนิดเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีน พบว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดทำให้มีภูมิต้านทานเชื้อโควิด-19 เหมือนหรือสูงกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียว และทำให้การกระจายการฉีดวัคซีนสามารถทำได้ง่ายและมากขึ้น การฉีดวัคซีนสลับชนิดไม่ใช่เรื่องใหม่ มีประโยชน์         การใช้วัคซีนสลับชนิดเริ่มมีมาตั้งแต่ทศวรรษในปีค.ศ. 1990-1999 โดยใช้ในนักวิจัยเรื่องเอชไอวี         นอกจากนี้ การใช้วัคซีนสลับชนิดยังช่วยหลีกเลี่ยงภูมิต้านทานที่มีต่อวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และยังทำให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคหรือโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น         อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสลับชนิดนั้นต้องมีการประเมิน เพราะในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดมากเพียงพอ และต้องประเมินผลด้านความปลอดภัยในการใช้ โดยเฉพาะการใช้วัคซีน mRNA (ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา) สลับกับวัคซีนที่ใช้อดีโนไวรัส (ของแอสตร้าเซนเนก้า) ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน         การฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด อาจช่วยในการต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัส เพราะทำให้เกิดภูมิต้านทานกว้างขึ้น ซึ่งช่วยในการป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ดีขึ้น ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสลับชนิด         มีการศึกษาเบื้องต้นในหลายประเทศ เช่น ในสเปน ศึกษาในอาสาสมัคร 600 คน  ในสหราชอาณาจักร ศึกษาในอาสาสมัคร 830 คน พบว่า มีภูมิต้านทานสูงกว่าการรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาในจำนวนอาสาสมัครที่น้อย และระยะเวลาสั้น จึงต้องติดตามผลต่อไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้หน่วยงานด้านสุขภาพเป็นผู้พิจารณา         องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรให้แต่ละคนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดหรือไม่ด้วยตนเอง แต่ขอให้หน่วยงานด้านสุขภาพของแต่ละประเทศเป็นผู้พิจารณาและกำหนดแนวทางบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่ ขณะนี้ ยังต้องรอข้อมูลการประเมินผลการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด การศึกษาภูมิต้านทาน และความปลอดภัย         สำหรับประเทศไทย การฉีดวัคซีนสลับชนิดไม่ใช่เกิดจากวัคซีนที่ฉีดไม่มีคุณภาพ จึงต้องเปลี่ยนวัคซีน แต่เพราะมีการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดจะมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นจาการฉีดวัคซีนชนิดเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 รู้เท่าทันผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19

        เดือนมิถุนายน เป็นช่วงการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 กันอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชนไทยให้มากที่สุด มีข่าวต่างๆ มากมายว่า วัคซีนที่ไทยใช้นั้นไม่ดี ไม่ปลอดภัยเท่ากับของอเมริกา และมีผู้เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนในประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้คนไทยกลัวการฉีดวัคซีน อยากได้วัคซีนที่ปลอดภัยกว่านี้ มารู้เท่าทันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดกันเถอะ รายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดในสหรัฐอเมริกา        ในอเมริกาจะมีระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยทุกๆ วันศุกร์ จะรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนทุกชนิด         ข้อมูลระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2563 – 28 พฤษภาคม 2564 มีการรายงานว่า         อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดมีจำนวนทั้งหมด 294,801 ราย จากการฉีดวัคซีนทั้งหมด 292.1 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 0.1         ในจำนวนนี้ เป็นวัคซีนโมเดอร์นา 123 ล้านโดส เป็นวัคซีนไฟเซอร์ 158 ล้านโดส และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 11 ล้านโดส         มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 25,359 ราย มีผู้เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีน 5,165 ราย         โดยร้อยละ 24 เสียชีวิตหลังการฉีดภายใน 48 ชั่วโมง ร้อยละ 38 เสียชีวิตหลังการฉีดภายใน 24 ชั่วโมง ที่เกิดในผู้ที่ได้รับวัคซีนและป่วยภายใน 48 ชั่วโมง         ร้อยละ 52 ที่เสียชีวิตเป็นผู้หญิง ร้อยละ 45 เป็นผู้ชาย ที่เหลือไม่ได้ระบุเพศ         อายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตคือ 74.4 ปี         ร้อยละ 17 ที่เสียชีวิต เกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ         หญิงที่ตั้งครรภ์ 1,831 ราย เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ในจำนวนนี้ มี 596 รายที่แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด         เกิดอาการอัมพาตของใบหน้า (Bell’s Palsy) 2,876 ราย เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ร้อยละ 41 วัคซีนโมเดอร์นา ร้อยละ 41 และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 9         มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน 5,159 รายงาน  จากวัคซีนไฟเซอร์ 2,213 รายงาน จากวัคซีนโมเดอร์นา 1,617 รายงาน และจากวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 1,289 รายงาน         มีรายงานการเกิดการอาการแพ้รุนแรง 83,684 รายงาน จากวัคซีนไฟเซอร์ ร้อยละ 40 จากวัคซีนโมเดอร์นา ร้อยละ 51 และจากวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 9     รายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดในไทย         เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ สะสม 7,003,783 โดส แล้ว ฉีดเข็มแรก 5,114,755 ราย เข็มสอง 1,889,028 ราย         พบอาการไม่พึงประสงค์ ทั้งวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซเนก้า         มีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 68 ราย โดยจำนวน 13 ราย ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน อีก 55 รายรอการพิจารณา         เป็นการฉีดวัคซิโนแวค 3,214,385 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ 993 ราย (เฉพาะที่ต้องนอนโรงพยาบาล) คิดเป็น 20 ราย ต่อ 1 แสนโดส  พบมากที่สุดคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ผื่น         เป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1,943,693 โดส พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รับรักษา 472 ราย คิดเป็น 24 ราย ต่อ 1 แสนโดส พบมากคือ อาการไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว         สรุป  วัคซีนที่เชื่อว่าดีที่สุดนั้น มีอาการไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกัน และอาจมีมากกว่าวัคซีนที่ฉีดในไทยอย่างเห็นได้ชัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เป็นโรคความจำเสื่อมจริงหรือ

หลายคนไม่กล้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพราะกลัวว่าจะเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ เนื่องจากมีเว็บไซต์ของการแพทย์ทางเลือกหลายเว็บไซต์จากต่างประเทศกล่าวถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ยอมเป็นไข้หวัดใหญ่ดีกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คืออะไรวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดปีละครั้ง และต้องฉีดทุกปี วัคซีนนี้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทบต่อทางเดินหายใจส่วนบนเป็นหลัก ซึ่งมีอาการไข้ ไอ บวม และอาจเกิดอาการปอดอักเสบหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ปอดบวม  ทุกปีวัคซีนนี้ต้องคัดเชื้อที่คิดว่าจะเกิดการระบาดในปีนั้น และสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดได้ประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอัลไซเมอร์จริงหรือ สมาคมอัลไซเมอร์แห่งอเมริกา แถลงว่า ความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่(หรือสารเคมีในวัคซีน) ก่อความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์นั้น เป็นความหลงเชื่อที่ผิด และไม่เป็นความจริง เหตุที่เชื่อนั้นเพราะ วัคซีนจะมีสารปรอทซึ่งเป็นสารกันเสื่อมของวัคซีนบางชนิด(วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นการฉีดแค่ครั้งเดียว จึงไม่ต้องใช้สารนี้)  หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรค ได้ทำการวิจัยและพบว่า ปริมาณของปรอทนั้นมีปริมาณน้อย และไม่มีอันตรายมากไปกว่าการบวมและแดงเล็กน้อยเมื่อฉีดวัคซีนงานวิจัยกลับบอกผลตรงกันข้ามจากการทบทวนงานวิจัยในหลายๆ ที่ พบว่า งานวิจัยในวารสาร Canadian Medical Journal ปีค.ศ. 2001 มีการวิจัยในประชากร 4, ราย  392 รายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ มีความเสี่ยงลดลงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก หรือโปลิโอ  งานวิจัยนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีแนวโน้มการเกิดอัลไซเมอร์มากกว่ารายงานอีกเรื่องในวารสาร JAMA ค.ศ. 2004 พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้สูงอายุ สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงในการตายจากสาเหตุต่างๆ ทุกประเภท  ซึ่งในวารสาร Pubmed ได้นำบทคัดย่อไปเผยแพร่ในวารสารงานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ การศึกษาล่าสุดในไต้หวัน ปีค.ศ. 2016 เป็นการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จำนวน 11,943 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 48 และที่เหลืออีก 6,192 ราย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการลดลงของการเกิดโรคความจำเสื่อมโดยสรุป ความเชื่อเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ นั้น ไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนความเชื่อดังกล่าว  ในทางตรงข้าม กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กลับมีความเสี่ยงและการเกิดโรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์ลดลง

อ่านเพิ่มเติม >