ฉบับที่ 270 กระแสต่างแดน

ขอที่ปูผ้า        ชาวบ้านบนเกาะพารอส ประเทศกรีซ พากันนุ่งผ้าเช็ดตัวออกมาเรียกร้องการเข้าใช้พื้นที่บนหาดทราย หลังกิจการบาร์ชายหาดรุกพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง จนไม่เหลือที่ให้คนท้องถิ่นมาปูผ้านอนอาบแดดได้โดยไม่ต้องเสียเงิน         กิจการ “ให้เช่าเก้าอี้อาบแดด” กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ใครก็อยากเข้ามาลงทุน เพราะเรียกเก็บค่าเช่าแพงๆ จากนักท่องเที่ยวได้ แค่เตียงผ้าใบสองตัวกับร่มอีกหนึ่งคัน ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ยูโร (ประมาณ 3,800 บาท) แล้ว         โดยทั่วไปร้านค้าต้องได้รับอนุญาตก่อนจะให้บริการเช่าเตียงและร่มได้ แต่ส่วนใหญ่มักใช้พื้นที่เกินจากที่ขอไว้         “ม็อบผ้าเช็ดตัว” ทำให้เกิดกระแสขอคืนพื้นที่บนชายหาดของเกาะยอดนิยมทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ มีทั้งการเดินประท้วงและการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ         ชายหาดกว่า 16,000 กิโลเมตรของกรีซ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละหลายล้านคนในช่วงวันหยุดฤดูร้อน พกร่มให้หล่อ        ตลาดร่มสำหรับผู้ชายในญี่ปุ่นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ชายเริ่มหันมาใช้ร่มกันมากขึ้น         ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นบอกว่าปีนี้ยอดขาย “ร่มผู้ชาย” เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า ห้างบอกว่าจากร่มในสต็อก 600 รุ่น มีถึง 80 รุ่น ที่เป็นร่มสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ         ร่มที่ลูกค้าชายชอบคือร่มสีเข้ม เช่น สีดำ กรมท่า และน้ำเงิน เป็นแบบพับได้หลายตอนและมีขนาดเล็กใส่กระเป๋าสะดวก (ในขณะที่ผู้หญิงชอบร่มที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนเพื่อให้เปิด/ปิดได้ง่าย ไม่เกี่ยงขนาด)         สาเหตุที่ผู้ชายนิยมกางร่มมากขึ้นเพราะเหตุผลด้านการดูแลผิว ผู้อยู่เบื้องหลังได้แก่บรรดาบริษัทเครื่องสำอางที่ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดลูกค้าผู้ชายในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องสำอางผู้ชายของญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30  ตลาดผลิตภัณฑ์กันแดด/แก้ผิวไหม้ ก็โตขึ้นร้อยละ 20 เช่นกัน         ห้างวิเคราะห์ต่อว่าการประชุมออนไลน์มีส่วนทำให้ผู้ชายใส่ใจรูปลักษณ์ตัวเองมากขึ้น เพราะได้เห็นหน้าตัวเองบนจอภาพพร้อมกับหน้าของผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่น   ไม่รับเงินสด         เป็นอีกเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้บริโภคเสมอ เมื่อผู้ประกอบการยืนยันว่า “ไม่รับเงินสด” โดยเฉพาะเมื่อเป็นบริการรถสาธารณะ         กฎหมายของเดนมาร์ก จึงกำหนดให้ธุรกิจขนส่งไม่สามารถปฏิเสธเงินสดได้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายว่าด้วยการชำระเงิน ที่กำหนดให้ธุรกิจต้องรับชำระเงินเป็นเงินสด แม้แต่การปฏิเสธ “แบงค์ใหญ่” เพราะไม่มีเงินทอน ก็ใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้         แต่ Midttrafik ผู้ประกอบการรถเมล์สาธารณะในเมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์ก กลับยืนยันว่าตั้งแต่พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เขาจะไม่รับชำระค่าโดยสารเป็นเงินสดแล้ว          เทศบาลเมืองออฮุสแถลงว่าบริษัทไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาผู้โดยสารจะจ่ายค่าโดยสารเป็นเงินสดกับเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่ประตูกลางหรือประตูหลังของรถ เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ต้องยกเครื่องเหล่านี้ออกไปทำลาย ช่องทางชำระด้วยเงินสดจึงหมดไปโดยปริยาย อยากระบาย         บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาที่กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันจัดให้ฟรีสามครั้งสำหรับคนอายุ 15 ถึง 30 ปี ได้รับการตอบรับดีเกินคาด         ผู้อำนวยการกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ กล่าวว่าโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ “คนไข้” จำนวน 6,000 คน ปัจจุบันมีคนมาจองพบจิตแพทย์ในคลินิกและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเต็มหมดแล้ว         สาเหตุที่มีโครงการนี้ขึ้นมาก็เพราะ นอกจากภาวะหดหู่และโดดเดี่ยวในช่วงที่มีการระบาดของโควิดที่ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกับเพื่อนแล้ว คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะจมอยู่กับอินเทอร์เน็ต ขาดทักษะทางสังคมและคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาก็มีสถิติการหย่าร้างสูงขึ้น         กรมฯ มองว่า การตอบรับอย่างท่วมท้นนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะอย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ไม่กลัวที่จะเล่าปัญหาตนเองให้คนอื่นฟัง ต่างกับคนรุ่นก่อนหน้าที่เลือกจะไม่ปรึกษาใครเพราะกลัวเสียภาพพจน์   แก้ขาดทุน         ปีหน้าผู้โดยสารรถไฟในเนเธอร์แลนด์จะต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียมชั่วโมงเร่งด่วน” ร้อยละ 7 หลังรัฐบาลอนุมัติแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของการรถไฟเนเธอร์แลนด์ (NS) ที่ต้องการนำเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยกับรายได้ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อย         รัฐบาลยังเว้นการเรียกเก็บภาษีปีละ 80 ล้านยูโรจากบริษัท และให้เงินช่วยเหลือปีละ 13 ล้านยูโรด้วย ซึ่งกรณีหลังนี้องค์กร Alliance of Passenger Rail New Entrants (ALLRAIL) ออกมาค้านว่าน่าจะผิดกฎสหภาพยุโรป ที่ระบุว่ากิจการแสวงหากำไรที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วยค่าโดยสารและรายได้อื่น ไม่สมควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป         ที่แน่นอนคือสัญญาการเดินรถระหว่างประเทศของ NS กำลังจะสิ้นสุดลง สหภาพยุโรปกำหนดว่าตั้งแต่ 25 ธันวาคมปีนี้เป็นต้นไป ต้องมีการประมูลรับสัมปทานกิจการรถไฟระหว่างประเทศกันใหม่ ขณะนี้มีผู้ประกอบการจากเยอรมนี อิตาลี รวมถึงบริษัทร่วมทุนเนเธอร์แลนด์/เบลเยียมก็แสดงความสนใจเข้ามาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กระแสต่างแดน

บราซูก้า!! ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านี้ อาดิดาสได้เปิดตัวลูกฟุตบอล “จาบูลานี” ที่ว่ากันว่ากลมที่สุด ตั้งแต่มีการผลิตลูกฟุตบอลมา เพราะมีชิ้นส่วนเพียง 8 ชิ้นและไม่มีรอยเย็บ แต่เมื่อเหนือฟ้ายังมีฟ้า เทพกว่า “จาบูลานี” ก็ยังมี “บราซูก้า” ลูกฟุตบอลที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนเพียง 6 ชิ้น ที่อาดิดาสผลิตขึ้นเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 นี้ กระแสต่างแดนฉบับนี้จึงขอพาคุณเยี่ยมชมโรงงานผลิตลูกฟุตบอลบราซูก้า ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เรามาดูกระบวนการผลิตและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของแบรนด์อาดิดาสไปพร้อมๆ กัน บราซูก้ามีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนคือ ลูกบอลชั้นใน ทำจากยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ และชั้นนอกที่ทำจากหนังเทียม ลูกบอลชั้นในที่ทำจากยางจะถูกสูบลมเข้า ทากาว แล้วปิดทับด้วยชิ้นผ้า หลังจากผ่านการตรวจเช็คขนาด ลูกบอลจะถูกทากาวทับอีกรอบก่อนนำไปอบ ลูกบอลที่สูบลมแล้วจะถูกปล่อยทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ลูกที่รั่วจะถูกนำไปทำลาย ชั้นนอกของลูกบอลประกอบด้วยพื้นผิว 2 ชั้น ชั้นในซึ่งทำด้วยโฟมจะนุ่มและหนากว่า ขั้นตอนนี้มีเสียงดังมาก จากการสังเกตพบว่าพนักงานไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงใดๆ อาดิดาสให้ข้อมูลว่าระดับเสียงในโรงงานไม่เกินมาตรฐาน(ทั้งของจีนและของนานาชาติ) แต่โรงงานก็กำลังพยายามลดเสียงลงด้วยการปรับแต่งเครื่องจักรและการติดตั้งอุปกรณ์ตัดเสียง   พื้นผิวลูกบอลชั้นนอกจะมีการพิมพ์ลวดลายเฉพาะของบราซูก้า โดยใช้เครื่องพิมพ์ทั้งหมด 10 เครื่อง (1 เครื่องต่อ 1 สี) จากนั้นเคลือบด้วยฟิล์มเพื่อป้องกันการขูดขีด ขั้นตอนนี้มีกลิ่นของสารเคมีค่อนข้างมาก พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากาก โรงงานจึงมีกฎให้พนักงานอยู่ในพื้นที่พิมพ์งานต่อครั้งได้ไม่เกิน 20 นาที อาดิดาสแจ้งว่าโรงงานใช้เฉพาะสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และมีการจัดตรวจสุขภาพให้พนักงานเป็นประจำ ลูกบอลด้านนอกทั้งสองชั้นจะถูกประกบเข้าหากันด้วยกาวและแรงอัดจากเครื่องจักร จากนั้นโลโก้ของอาดิดาสและฟีฟ่าจะถูกพิมพ์ลงไป และเคลือบด้วยแผ่นฟิล์มอีกครั้ง จากนั้นชิ้นส่วนทั้ง 4 ชิ้นจะถูกนำมาทากาวให้ติดกันก่อนนำมาครอบทับลูกบอลชั้นใน จากนั้นอีก 2 ชิ้นที่เหลือจะถูกติดลงไป ขั้นตอนนี้จะทำโดยผู้หญิงเท่านั้น ทางโรงงานบอกว่านิ้วของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขั้นตอนสุดท้ายคือการอบด้วยความร้อน (thermal bonding) เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนติดกันโดยไม่ต้องเย็บ ลูกฟุตบอลที่ทำเสร็จแล้วจะต้องถูกสังเกตอาการเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถ้าพบว่ามีการรั่วไหลของอากาศมันจะไม่ได้ไปต่อ ส่วนลูกที่สอบผ่านก็จะถูกนำไปจัดลงกล่องเพื่อส่งขายต่อไป   รักษาสิทธิเป็นที่สุด ถ้าเขาไม่ได้ตำแหน่งโจรตัวอย่างไปครองแล้ว เราคงจะยกตำแหน่งผู้บริโภคที่ใช้สิทธิยอดเยี่ยมให้เขาไป หัวขโมยชาวโปแลนด์นายนี้รอบคอบมาก เขาจะสำรวจราคาสินค้าในซูเปอร์มาเก็ตก่อนลงมือเสมอ เนื่องจากกฎหมายของโปแลนด์ระบุว่าการขโมยสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่า 420 ซวอตี(ประมาณ 4,500 บาท) นั้นมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แต่คราวนี้ร้านค้าเจ้ากรรมดันติดป้ายราคาผิด ทำให้ขโมยรายนี้ฉกข้าวของไปในราคาที่เกินความตั้งใจไปประมาณ 20 บาท เมื่อถูกจับได้เขาจึงต้องรับโทษหนัก แม้ตัวจะอยู่ในคุก แต่เขาก็ประกาศกร้าวว่าจะฟ้องซูเปอร์มาเก็ตเจ้านี้ โทษฐานติดราคาหลอกลวงผู้บริโภค …   ได้โปรดอย่ามาตั๋ว เมืองท่องเที่ยวหลักของเวียดนามอย่างฮานอยและฮอยอัน สูญเสียรายได้ประมาณร้อยละ 40 ให้กับมือดีที่มาตัดหน้าขายตั๋วปลอมเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงามระดับมรดกโลกของเขา ทั้งๆ ที่ราคาตั๋วจริงก็ไม่ได้แพงเว่อร์เสียหน่อย ตั๋วสำหรับชาวต่างชาติราคา 120,000 ดอง (ประมาณ 185 บาท) สำหรับคนท้องถิ่น 80,000 ดอง(ประมาณ 120 บาท) และยังสามารถใช้เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวได้ถึง 5 แห่ง แต่เชื่อหรือไม่ว่าร้อยละ 90 ของนักท่องเที่ยวไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเขาต้องซื้อบัตรผ่านประตูเพื่อเข้าชมเมืองเก่าเหล่านี้ เพราะบริษัททัวร์บางเจ้าลดต้นทุนด้วยการพานักท่องเที่ยวเข้าชมหลังเวลา 6 โมงเย็น (ซึ่งเป็นเวลาที่ให้เข้าฟรี) หรือไกด์บางคนก็พานักท่องเที่ยวซอกแซกหลบจุดที่จะต้องจ่ายค่าผ่านประตูไปเสียดื้อๆ มีผู้คนทั้งในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่าเงินค่าตั๋วนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อการซ่อมแซมตึกรามบ้านเรือนเก่าและโบราณสถานอื่นๆ ในพื้นที่มรดกโลกนั่นเอง ข่าวบอกว่าเวียดนามจะคิดระบบตั๋วเข้าชมที่จะทำให้รัฐมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยออกมาภายในปี 2558 นี้ หาดนี้ไม่มีคู่แข่ง อิตาลีมีระบบการบริหารจัดการชายหาดที่ไม่ซ้ำใคร ชายหาดความยาว 7,500 กิโลเมตรนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการอยู่ 28,000 ใบ และมันแทบไม่เคยถูกเปลี่ยนมือ เพราะผู้ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม หรือให้เช่าร่ม ในปัจจุบันก็คือลูกหลานตัวเป็นๆ ของผู้ที่เคยได้สัมปทานจากรัฐในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข่าวบอกว่ารัฐเก็บค่าเช่าจาก “ธุรกิจครอบครัว” เหล่านี้ปีละ 3,570 ยูโร แต่ใครที่ไปเช่าช่วงต่ออาจต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึงปีละ 250,000 ยูโร แน่นอน ... ชายหาดที่สามารถสร้างรายได้ถึง 10,000 ล้านยูโรต่อปีนั้นย่อมดึงดูดใจนักลงทุนจากทุกแห่งหน แต่ปัญหามันอยู่ที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือทุนใหญ่จากต่างประเทศยังหาโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการครอบครัวไม่ได้เสียที เมื่อ 8 ปีก่อน สหภาพยุโรปประกาศให้ประเทศสมาชิกเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในธุรกิจหลายๆประเภท และบอกให้อิตาลีนำใบอนุญาต 28,000 นี้ออกมาประมูลด้วย ตอนนั้นอิตาลีเตะถ่วงด้วยการขอเวลาไปจนถึงปี 2015 แต่เมือถึงปี 2012 รัฐบาลอิตาลีซึ่งถูกกดดันโดย “ครอบครัว” เหล่านี้ก็ออกกฎหมายที่กำหนดเวลาการประมูลไว้ที่ปี 2020 เสียเลย อีก 6 ปี เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ...   //

อ่านเพิ่มเติม >