ฉบับที่ 207 เลี้ยงสัตว์ รบกวนชาวบ้าน

สำหรับใครที่เคยมีประสบการณ์เดือดร้อนรำคาญ เพราะเพื่อนบ้านเลี้ยงสัตว์มากมายหลายชนิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องกลิ่น เสียง หรือกระทบต่อสุขภาพก็ตาม ลองมาดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กัน ว่าเขามีวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรคุณทินกรเป็นหนึ่งในผู้พักอาศัยของหมู่บ้านชื่อดังย่านรังสิต ซึ่งได้เพื่อนข้างบ้านที่มีพฤติกรรมชอบเลี้ยงเป็ดและไก่ แต่นั่นจะไม่ใช่ปัญหาเลย หากเพื่อนข้างบ้านของเขาไม่ได้เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  และปล่อยให้สัตว์ทั้งสองชนิดกีดขวางทางสัญจรสาธารณะภายในหมู่บ้าน มากไปกว่านั้นยังนำแผ่นคอนกรีตมาวางในที่ถนนสาธารณะเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ทางสัญจรสกปรกและมีเชื้อโรคแม้เขาจะพยายามแสดงความไม่ประทับใจในพฤติกรรมดังกล่าว ให้เพื่อนบ้านรับรู้ด้วยการว่ากล่าวตักเตือน แต่ก็ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่งผลให้คุณทินกรส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการที่เพื่อนบ้านนำเป็ดและไก่จำนวนมากมาเลี้ยงและปล่อยให้เดินขับถ่าย ไปตามพื้นที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน อาจถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม 2560) มาตรา 25 (2) ซึ่งกำหนดไว้ว่าการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนข้างเคียง หรือแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง เช่น การเลี้ยงสัตว์ในที่ หรือวิธีใด หรือมีจำนวนเกินสมควร จนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ โดยการการเลี้ยงสัตว์ในที่นี้ หมายถึงการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่ 1) สถานที่เลี้ยงไม่เหมาะสม สกปรก มีกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค เป็นต้น 2) โดยวิธีการเลี้ยงที่รบกวนความเป็นอยู่ ของผู้อาศัยข้างเคียง เช่น การปล่อยให้สัตว์ไปกินพืชผักของคนข้างบ้าน หรือปล่อยให้ไปถ่ายบ้านข้างเคียง เป็นต้น 3) เลี้ยงจำนวนมากเกินไป เช่น สถานที่เลี้ยงคับแคบ อยู่ใกล้บ้านข้างเคียง แต่ก็เลี้ยงจำนวนมาก จนเกิดเสียงร้องดัง มีกลิ่นสาบ หรือกลิ่นมูลเหม็น เป็นต้น ซึ่งฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบและออกคำสั่งให้ผู้ที่ก่อเหตุรำคาญนั้นระงับหรือแก้ไขเหตุนั้นได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือถึงฝ่ายปกครองท้องถิ่นประจำจังหวัด (รูปแบบของการฝ่ายปกครองท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล/ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังสำนักงานเทศบาลประจำจังหวัด ก็ได้ส่งหนังสือตอบกลับผลการดำเนินการมาว่า ได้ออกคำสั่งให้คู่กรณีแก้ไขปัญหาด้วยการเลี้ยงไก่และเป็ดแบบมีรั้วรอบ พร้อมให้ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและความสกปรกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ร้องพอใจในการดำเนินการดังกล่าวและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ชาวบ้านร้องขี้ไก่เหม็น

แต่โดนนายทุนฟาร์มไก่ฟ้อง เรียกเงิน 2.3 ล้านฟาร์มไก่ขนาดยักษ์ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.3 ล้านบาทกับชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา รวม 27 รายฐานแจ้งเท็จและหมิ่นประมาท กล่าวหาฟาร์มมีขี้ไก่เหม็นสร้างเดือดร้อนรำคาญไม่หยุดหย่อนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่ามีชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิงจำนวน 27 รายถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิดคือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท โดยมีชาวบ้านจำนวน 26 รายถูกเรียกค่าเสียหายรายละ 50,000 บาท และอีกหนึ่งรายซึ่งเป็นแกนนำถูกเรียกค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ขอให้มูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าช่วยเหลือในกระบวนการพิจารณาคดีด้วยจุดเริ่มต้นของปัญหา เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อบริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัวกิจการเลี้ยงไก่นั้น ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องควบคุมตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แต่ปรากฏว่า อบต.ลาดกระทิงในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ กลับปล่อยปละละเลยให้บริษัท บุญแปดฯ เลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงรวมเป็นไก่ไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาตมากถึง 350,000 ตัว และยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้นชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นขี้ไก่มาโดยตลอดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ทิศทางลมจะพาไป ช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยในเดือนกรกฎาคม 2549 ชาวบ้านมีหนังสือร้องเรียนไปที่ อบต.ลาดกระทิงพร้อมทั้งได้ร้องเรียนไปยังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลให้ชาวบ้านทราบว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่แห่งนี้ มีฝุ่นและมลพิษที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งสถานประกอบกิจการยังตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัย อยู่ใกล้ชุมชน วัดและโรงเรียน ก่อให้เกิดเหตุรำคาญส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง จึงให้ อบต.ลาดกระทิง ดำเนินการแก้ไขเหตุรำคาญและควบคุมการประกอบกิจการฟาร์มไก่ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดแต่อบต.ลาดกระทิง ไม่สามารถบังคับให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้ อีกทั้งยังฝ่าฝืนคำสั่งของ อบต.ลาดกระทิง โดยนำไก่มาเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนอีก จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2551 อบต.ลาดกระทิง จึงมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้ แต่ฟาร์มไก่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ขณะที่ชาวบ้านต้องคอยรับลมที่มีกลิ่นขี้ไก่ผสมอยู่แทบทุกวันต่อมาในเดือนมิถุนายน 2552 ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552ศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษาคดีให้ อบต.ลาดกระทิง ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ระงับเหตุรำคาญจากการเลี้ยงไก่ของบริษัทบุญแปดฯให้หมดสิ้นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา พร้อมทั้งให้ อบต.ลาดกระทิง พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัท บุญแปดฯกรณีมีการฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ปรับปรุงแก้ไขเหตุรำคาญโดยให้พิจารณาดำเนินคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา กับให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการนำไก่ไปเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนเลี้ยงไก่ภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากมีการฝ่าฝืนให้พิจารณาดำเนินคดีตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535หลังคำพิพากษาฯ อบต.ลาดกระทิงได้แจ้งให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปรับปรุงและระงับปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นให้หมดสิ้นโดยลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ชาวบ้านได้รับหนังสือขอความร่วมมือให้ความเห็นจากอบต. โดยหนังสือดังกล่าวแจ้งว่า ผู้ประกอบได้มีการแก้ไขปรับปรุงและระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปแล้ว จึงขอความเห็นจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบันโดยมีชาวบ้านยินยอมให้ความเห็นกับ อบต.ลาดกระทิงจำนวน 27 ราย ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดให้ความเห็นว่า ยังได้รับกลิ่นเหม็นอยู่ โดยมีอาการแสบจมูก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน และหงุดหงิด รำคาญ อบต.ลาดกระทิงได้นำรายชื่อ ที่อยู่และความเห็นของชาวบ้านทั้งหมดแจ้งให้บริษัท บุญแปดรับทราบแทนที่บริษัท บุญแปดฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการของตัวเองให้ดีขึ้น กลับใช้เหตุดังกล่าวมาฟ้องร้องเอาผิดกับชาวบ้านทั้งคดีอาญาและแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงินกว่า 2.3 ล้านบาทและล่าสุดทราบว่า อบต.ลาดกระทิงถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 5 แสนบาทด้วยเช่นกัน แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในกระบวนการพิจารณาคดี และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษจิกายน 2553 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านไปรวมฟังการพิจารณาคดีนับ 100 ราย ซึ่งในการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น ศาลได้สอบถามถึงสาเหตุที่บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้าน เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วได้ให้ความเห็นว่า ชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องใช้สิทธิร้องเรียนไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขและบริษัทฯ รับทราบแล้วก็ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไข ชาวบ้านได้ทำตามสิทธิที่ตัวเองมีไม่ได้แจ้งเท็จ อีกทั้งยังเป็นการดีที่จะทำให้บริษัทฯ มีการพัฒนาคุณภาพจึงควรมีการพูดคุยกับชาวบ้านมากกว่าฟ้องร้อง และศาลได้แจ้งให้บริษัทฯ ปรับปรุงการประกอบการของตนโดยมีระยะเวลาที่จะพิสูจน์ต่อจากนี้ และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันใหม่โดยให้รวมทุกคดีในวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 น.โดยผู้พิพากษาได้ฝากให้ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจฯ แจ้งแก่โจทก์ว่า หวังว่าโจทก์จะถอนฟ้องชาวบ้าน และนัดหน้าขอให้โจทก์เข้ามาด้วยตนเอง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นกลางมาพูดคุยกันจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >