ฉบับที่ 270 ขอบังคับคดีกับบุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญาประนีประนอมได้หรือไม่

        การบังคับคดี โดยปกติจะกระทำได้ก็เฉพาะคู่ความผู้ที่แพ้คดีและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บางกรณี บุคคลภายนอกก็อาจถูกบังคับคดีได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา อย่างเช่นในกรณีที่หยิบยกในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ นาย ส. ซึ่งเดิมมิใช่คู่ความในคดีเป็นบุคคลภายนอก แต่ในระหว่างดำเนินคดี ได้ยินยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในคดี  ต่อมาเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ นาย ส. ซึ่งแม้เป็นบุคคลภายนอกคดี แต่เมื่อยอมตกลงรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แล้วต่อมา นาย ส.ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ก็มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนาย ส. ได้ เนื่องจากถือได้ว่านาย ส. อยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ และต้องดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564  คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564         แม้ ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274  แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 และโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากมาตรา 274  ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274  วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่ ส. ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกยินยอมเข้ามาผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ร่วมรับผิดกับจำเลยมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เกร็ดความรู้เพิ่มเติม สำหรับหลายท่านที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิบังคับคดี ในบางครั้งการบังคับคดี หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบว่าทรัพย์สินลูกหนี้ตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2559          คำร้องของโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์ของจำเลยแล้ว  ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  แต่ตามฐานะความเป็นอยู่ของจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว  ย่อมมีความหมายในตัวเองว่าโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถติดตามจนพบเพื่อบังคับคดีได้จึงต้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนให้ได้ความจริง  การที่โจทก์ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้เพราะยังไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใด   กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเป็นที่แน่ชัดแล้ว  แต่จะอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 277  เป็นเครื่องมือติดตามตัวทรัพย์สิน  หรือเพื่อให้ทราบสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น จึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องของโจทก์และมีหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา    

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 241 ใบแจ้งหนี้ที่ไม่แจ้งยอดหนี้

        หลายบริษัทไฟแนนซ์เมื่อเราซึ่งเป็นลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ของเราจะถูกโอนไปให้สำนักงานทนายความมารับคดีไปทำ ซึ่งเวลาที่ผู้บริโภคจะติดต่อเรื่องราวก็ต้องทำกับสำนักงานทนายความ เพราะบริษัทไฟแนนซ์บอกว่า ให้ติดต่อสำนักงานทนายความเลย แต่หากสำนักงานทนายความไม่ยอมแจ้งยอดหนี้ว่าจริงๆ คือเท่าไร ลูกหนี้อย่างเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง         ศาลมีคำพิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้ส่วนต่างค่ารถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 172,000 บาท  ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์เจ้านี้ได้ให้สำนักงานทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่แรก เวลาติดต่อเรื่องการชำระหนี้ก็จะต้องติดต่อสำนักงานทนายความนี้ หลังจากมีคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน สำนักงานทนายความโทรศัพท์มาติดตามให้เขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทบทุกวัน จนกระทั่งเขาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ในวันชำระหนี้ทนายความให้เขาไปรอที่ธนาคารเพื่อจะให้ชำระหนี้ ทนายความจะส่งเอกสารในการชำระหนี้มาให้         เมื่อเขาไปถึงธนาคารก็บอกทนายไปว่ามาถึงแล้ว สักพักทนายส่งเอกสารใบแจ้งหนี้มาให้ ในใบแจ้งหนี้มีแต่ชื่อตัวเขาและคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระหนี้เท่านั้น เขางงว่าทำไมทนายความส่งมาให้แบบนี้ไม่เห็นบอกยอดหนี้ที่เขาต้องชำระเลย เขาจึงสอบถามทนายความไปว่าทำไมไม่แจ้งยอดหนี้มาในใบแจ้งหนี้ ทนายความก็บอกเพียงแต่ว่าให้เอาเอกสารนี้ยื่นให้ธนาคาร ใบแจ้งหนี้มีเท่าที่เห็นไม่มีการบอกตัวเลขยอดหนี้ ซ้ำทนายความยังขู่ให้โอนทันที แต่คุณภูผา “ไม่ไว้ใจ” สงสัยว่าทำไมทนายความถึงไม่แจ้งยอดหนี้ในใบแจ้งหนี้ บอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นผู้ร้องสามารถแจ้งทนายความได้เลยว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ควรต้องรู้รายละเอียดในการชำระหนี้ของตนเอง ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดยอดหนี้ก็คงไม่สามารถชำระหนี้ได้         ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกขู่ อาจเข้าข่ายเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ประจำจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งกรณีของผู้ร้องเป็นทนายความด้วย ผู้ร้องสามารถร้องเรียนมรรยาททนายความกับทนายความ และสำนักงานทนายความได้ที่ สภาทนายความฯ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ด่วนค่ะ หนูจะถูกยึดบ้านไหม

        กริ้ง กริ้ง กริ้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิฯ “สวัสดีค่ะพี่ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ” ผู้ร้อง “พี่ค่ะ พอดีว่าหนูเป็นหนี้บัครเครดิต... ประมาณ พี่ขา บ้านหนูจะถูกยึดไหมค่ะ เป็นหนี้เขา120,000 บาท แล้วหนูผิดนัดชำระหนี้เพราะหนูตกงานและหมุนเงินไม่ทัน” เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามว่าอยู่ในขั้นตอนใด ถูกฟ้องหรือยัง ผู้ร้องตอบเสียงสั่นๆ ว่า “ถูกฟ้องแล้วค่ะ บริษัทบัตรเครดิตฟ้องหนูที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2561 โน้นค่ะ วันที่เขานัดหนูก็ไปศาลมาค่ะ หนูทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทบัตรเครดิตที่เป็นเจ้าหนี้หนูว่า หนูจะชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหนูก็ไม่มีรายได้ค่ะ หนูเลยไม่สามารถผ่อนเขาได้ตามที่ตกลงไว้ ตอนนี้บริษัทเขาก็ตั้งเรื่องบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์หนูค่ะ หนูต้องทำยังไงดีค่ะพี่”          “ผู้ร้องมีทรัพย์สินอะไรบ้างไหม เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินฝาก”         “หนูมีบ้านพร้อมที่ดินหนึ่งหลังค่ะ แต่เป็นชื่อร่วมหนูกับน้องชาย”         “ใจเย็นๆ ครับ ผู้ร้องสามารถเลือกจัดการปัญหาได้ 3 ทาง อย่างนี้นะครับ”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ช่องทางแรก ถ้าผู้ร้องไม่ต้องการให้บ้านของผู้ร้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องติดต่อกับเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อผ่อนชำระหนี้ โดยผู้ร้องต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะตกลงกับเจ้าหนี้ที่ตัวเลขเท่าไร เพราะถ้าประนอมหนี้ได้ก็จะต้องชำระให้ครบทุกงวดผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้         ช่องทางที่สอง ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงด้วย ก่อนที่จะบังคับคดีผู้ร้องสามารถติดต่อที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเพื่อประนอมหนี้ได้อีกครั้งในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะบังคับคดี โดยทางกรมบังคับคดีจะเรียกเจ้าหนี้และผู้ร้องเข้ามาคุยกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสามารถตกลงกันได้และตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกแล้วเจ้าหนี้ไม่มา กรมบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเจ้าหนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นหลัก ว่าจะเห็นใจผู้ร้องหรือไม่         ช่องทางที่สาม ถ้าไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่อนชำระอีก ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้จะให้ปิดด้วยเงินก้อนเดียวโดยอาจยอมลดยอดหนี้ลงมา ผู้ร้องก็ต้องดูว่าสามารถรวบรวมเงินจากพี่น้องหรือญาติคนไหนได้บ้างเพื่อนำมาปิดบัญชีนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยหาทางชำระหนี้กับผู้ที่หยิบยืมมาในภายหลัง         ถ้าทั้งสามช่องทางข้างต้นผู้ร้องไม่สามารถทำได้ และยังต้องการบ้านไว้ ผู้ร้องก็อาจจะต้องหาคนเข้ามาช้อนซื้อทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้บ้านตกเป็นของผู้อื่นและบ้านที่จะขายจะได้มีราคาไม่ต่ำมากจนเกินไปและอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้         ในส่วนบ้านของผู้ร้องที่จะถูกบังคับคดีเป็นชื่อของผู้ร้องและน้องชาย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิร่วม เพราะฉะนั้นก่อนมีการขายทอดตลาดผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอกันส่วนเอาไว้ให้กับน้องชาย เพราะถ้าไม่กันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดแล้วน้องชายจะไม่ได้เงินในส่วนของเขา เจ้าหนี้ก็จะนำไปชำระหนี้หมด แต่ถ้ามีการกันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดได้เงินแล้วเงินจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของผู้ร้องก็จะนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต (ถ้าเหลือก็ต้องคืนให้กับผู้ร้อง ถ้าไม่พอก็ต้องก็ต้องยึดทรัพย์สินอื่นอีก) อีกส่วนหนึ่งก็จะกันไว้ให้กับน้องชายของผู้ร้องไม่นำมาชำระหนี้เพราะไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตกับผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ศาลพิพากษาจ่ายเท่านี้ แต่เจ้าหนี้ให้จ่ายเพิ่มต้องทำอย่างไร

        ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนคงเคยมีปัญหาว่า เมื่อศาลให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นจำนวนเงินหนึ่ง หรือระบุว่า ชำระจำนวนหนึ่ง เมื่อถึงคราวจ่ายจริงเจ้าหนี้กลับบอกให้ชำระอีกยอดหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าคำพิพากษา ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้เรื่องมันจบโดยไม่เสียหายเกินไป            คุณบุปผาเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะ ราคา 600,000 บาท ให้ลูกชายกับธนาคารแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกชายของเธอไม่ส่งค่างวดรถ จนทำให้ธนาคารมายึดรถยนต์ไป และเมื่อธนาคารนำรถออกขายทอดตลาดแล้วปรากฎว่า มีส่วนต่างที่ลูกชายต้องชำระเพิ่มอีก 300,000 บาท ธนาคารจึงมาฟ้องเรียกเงินส่วนต่าง 300,000 บาทนั้น เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 15,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 6,000 บาท กับลูกชายซึ่งเป็นลูกหนี้ เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องคุณบุปผาในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยที่ 2          ต่อมาลูกชายของเธอเสียชีวิตกะทันหัน อย่างไรก็ตามเธอได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในฐานะผู้ค้ำประกันจนศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (ลูกชาย) ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 9,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 3,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 162,000 บาท และเธอในฐานะผู้ค้ำประกัน ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 6,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 2,000 บาท เนื่องจากธนาคารมีหนังสือถึงผู้ค้ำประกัน เรื่องการประมูลรถยนต์เกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นเหตุผลและรายละเอียดในคำพิพากษา และให้ชำระค่าทนายความอีก 3,000 บาท         หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว ประมาณหนึ่งเดือนสำนักงานทนายความตัวแทนของธนาคารที่ดำเนินการฟ้องคดีคุณบุปผาโทรศัพท์มาทวงถามให้เธอชำระหนี้ทุกวัน ถ้าวันไหนไม่รับสายก็โทรมาหลายครั้ง แต่เมื่อได้พูดคุยทางเจ้าหน้าที่ของทางสำนักงานทนาย ซึ่งแจ้งว่าตนอยู่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน บอกว่าเธอมียอดหนี้ประมาณเกือบ 200,000 บาท อ้างว่า “ยึดยอดหนี้ตามหมายบังคับคดีและบวกดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไป”         เธอจึงขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยอ่านคำบังคับให้ฟัง “ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จังหวัดนครปฐม ที่บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 162,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (18 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ หากชำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแทนโจทก์ แต่ค่าขาดประโยชน์ให้รับผิดไม่เกิน 6,000 บาท ค่าติดตามไม่เกิน 2,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกนี้ขอให้ยก” เธอตกใจมาก เพราะว่าเพิ่งผ่านมา 1 เดือน จากยอดหนี้ไม่ถึง 170,000 บาท ทำไมยอดหนี้ถึงเพิ่มขึ้น 20,000 กว่าบาท เริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจคำพิพากษาผิดหรือเปล่า จึงปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องไปคัดคำพิพากษาของศาลคดีของผู้ร้อง และยื่นคำร้องให้นิติกรศาลคำนวณเงินที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและคำบังคับในฐานะจำเลยที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) ให้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจา และขอให้สำนักงานทนายความชี้แจงรายละเอียดหนี้ของผู้ร้องว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทำไมยอดหนี้ถึงสูงขึ้น เช่น จำนวนเงินที่ศาลให้ชำระ ดอกเบี้ย ฯลฯ         ทั้งนี้หากว่าเจ้าหนี้ไม่ชี้แจงยอดหนี้ ผู้ร้องหรือคุณบุปผาสามารถอ้างสิทธิของลูกหนี้ (ลูกหนี้มีสิทธิรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามประมลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558)         ต่อเมื่อได้เอกสารชี้แจงจำนวนยอดหนี้ที่ต้องถูกต้องแล้วจึงค่อยชำระหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ออกเอกสารที่มีข้อความประมาณว่า เมื่อได้ชำระหนี้จำนวนนี้แล้ว ถือว่าไม่เป้นหนี้สินต่อกันอีก หรือขอใบเสร็จรับเงินในการชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่สามารถออกเอกสารเรื่องการชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่สามารถออกใบเสร็จให้ได้ ลูกหนี้ไม่ควรชำระหนี้โดยเด็ดขาด เพราะไม่มีเอกสารอะไรยืนยันเลยว่า ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ครบถ้วนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 235 ชำระภาษีรถประจำปีแบบ New Normal ผ่าน “DLT Vehicle Tax”

        กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ต้องลดการเดินทางไม่ไปอยู่ในพื้นที่แออัด ต้องป้องกันตนเองโดยการลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ แถมช่วงนี้ยังต้องช่วยกันรักษาการ์ดไม่ให้ตก เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง ดังนั้นไม่แปลกที่หน่วยงานต่างๆ ยังคงออกเทคโนโลยีมาสนับสนุนบริการในรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง         ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มช่องทางการชำระภาษีรถประจำปีแบบ New Normal ผ่านแอปพลิเคชันชำระภาษีรถประจำปีที่มีชื่อว่า “DLT Vehicle Tax” และเปิดบริการตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติที่ชื่อ “Kiosk” เรียบร้อยแล้ว         การชำระภาษีรถด้วยตนเองง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ซึ่งในขั้นตอนแรกต้องลงทะเบียนชื่อ นามสกุล เมล เลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ โดยระบบจะส่งรหัส OTP ผ่านเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้เพื่อให้เข้าไปตั้งรหัส PIN Code ของแอปฯ ต่อจากนั้นให้เลือกปุ่มชำระภาษีรถ จะปรากฎขั้นตอนการชำระภาษี 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 เลือกรูปแบบชำระภาษี ขั้นที่ 2 เลือกประเภทรถ ขั้นที่ 3 บันทึกข้อมูลทะเบียนรถ และขั้นที่ 4 บันทึกข้อมูลประกันภัยรถ         ขั้นที่ 1 การเลือกรูปแบบชำระภาษีจะให้เลือกชำระภาษีรถตนเองหรือชำระภาษีแทนเจ้าของรถ โดยจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถนั้น ต่อจากนั้นแอปฯ จะไปขั้นที่ 2 ให้เลือกประเภทรถ 4 ประเภท ดังนี้ รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ในกรณีที่เป็นรถที่มีอายุเกิน 7 ปีจะไม่สามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax และตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ได้         เมื่อไปถึงขั้นที่ 3 จะให้บันทึกข้อมูลทะเบียนรถและจังหวัดของรถ ขั้นสุดท้ายจะให้กรอกรายละเอียดของข้อมูลประกันภัยรถ เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วแอปพลิเคชั่นจะให้ QR Code สำหรับนำไปชำระภาษีผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ หลังจากชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงเครื่องหมายการเสียภาษีรถชั่วคราวในระหว่างที่รอรับเครื่องหมายฉบับจริง โดยสามารถขอรับเครื่องหมายฉบับจริงได้ 2 วิธี คือ เลือกให้จัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ หรือรับเอกสารด้วยตนเองที่ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) สำนักงานกรมการขนส่งทางบก         ทั้งนี้สามารถชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) สำนักงานกรมการขนส่งทางบกได้ ซึ่งทำตามขั้นตอนเหมือนกับแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax แต่จะได้รับเครื่องหมายฉบับจริงทันที      ใครมีรถยนต์ที่ถึงเวลาต้องชำระภาษีประจำปีแล้ว แต่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปชำระภาษีประจำปีที่สำนักงานกรมการขนส่งทางบกด้วยตนเอง ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax มาใช้บริการกันดู กดชำระภาษีประจำปีผ่าน DLT Vehicle Tax แล้วทำแค่นั่งรอไปรษณีย์มาส่งถึงที่บ้าน ซึ่งเหมาะกับยุคสมัยเทคโนโลยีบริการออนไลน์จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (จบ)

        เรายังอยู่กับเรื่อง ‘หนี้’ ปัญหาคับอกคับใจคนจำนวนมาก ตอนก่อนๆ หน้านั้น เราจำแนกหนี้ดีกับหนี้เสียกัน จนถึงขั้นตอนแรกของการปลดหนี้ นั่นก็คือการหยุดก่อหนี้เพิ่ม         ลำดับต่อมาคือเราต้องจัดลำดับความสำคัญของหนี้แต่ละก้อน         ฟังดูงงๆ หมายความว่าคุณต้องสำรวจหนี้สินแต่ละก้อนว่าก้อนไหนสร้างภาระดอกเบี้ยมากที่สุด เพื่อหยุดวงจรดอกทบต้น ต้นทบดอกไม่จบสิ้น และก้อนนี้เป็นหนี้ที่คุณควรจัดการก่อนเป็นอันดับแรก         การเรียงลำดับความสำคัญการชำระหนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการเจรจาผ่อนผันกับเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือสถาบันการเงิน อย่ากลัวหรือคิดไปเองว่าหนี้สถาบันการเงินไม่อาจผ่อนผันได้ อย่างไรเสีย สถาบันการเงินก็ต้องการให้เราผ่อนชำระหนี้ให้หมด แทนที่จะปล่อยให้เป็นหนี้เสีย เมื่อส่วนนี้ลุล่วงก็มาถึงขั้นต่อไปว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาชำระหนี้?         แน่นอนว่าต้องเป็นเงินที่เราทำมาหาได้ ขั้นตอนนี้มี 2 สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป หนึ่ง-การลดรายจ่าย และสอง-การเพิ่มรายได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและปริมาณเงินที่จะนำไปใช้หนี้ แยกแยะระหว่าง ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’ เลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็หาช่องทางสร้างรายเสริมอื่นๆ จากทักษะความรู้ที่มี เช่น เป็นติวเตอร์ การทำขนม และอื่นๆ อีกมากมาย ไปจนถึงการลงทุนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็คล้ายกับการออกกำลังกายนั่นแหละ เพราะมันจะช่วยให้เรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีในอนาคตและยังช่วยเพิ่มทักษะด้านการจัดการและการทำธุรกิจ         ต่อมา วางแผนการปลดหนี้ เช่น ถ้าคุณมีหนี้อยู่ 3 ก้อน รู้แล้วว่าก้อนไหนมีภาระดอกเบี้ยมากที่สุดคุณต้องจัดการก้อนหนี้นี้ก่อน แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่ชำระหนี้อีก 2 ก้อนเลย การเจรจากับเจ้าหนี้ถึงได้สำคัญ คุณอาจผ่อนหนี้ 2 ก้อนหลังลดลงก่อน วางเป้าหมายว่าจะชำระหนี้ก้อนแรกให้จบภายในเวลาเท่าไหร่ เช่น ภายใน 18 เดือน เมื่อมีเป้าหมายชัด คุณจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องเอาเงินบางส่วนไปใส่ไว้ที่ไหนเพื่อให้เงินงอกเงยแล้วนำกลับมาชำระหนี้ภายหลัง ต้องหารายได้เสริมต่อเดือนเท่าไหร่ ฯลฯ         การกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่ายังเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ไม่ถือเป็นกฎตายตัว มันต้องห้ามกรณีรูดบัตรใหม่มาโปะบัตรเก่าและกรณีกู้นอกระบบ ซึ่งยิ่งถือเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตทางการเงินที่ควรหลีกเลี่ยง                 โชคดีที่โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าการ ‘รีไฟแนนซ์’ (Refinance) ซึ่งมักจะใช้ในกรณีการกู้ซื้อบ้าน จริงๆ มันก็คือการกู้หนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าโดยใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมเป็นหลักประกัน โดยทำผ่านสถาบันการเงิน ใช่ว่ามันไม่ได้ทำให้หนี้หายไป มันเพียงทำให้หนี้เก่าที่มีภาระดอกเบี้ยสูงจบ แล้วคุณไปจ่ายหนี้ก้อนใหม่ให้กับสถาบันการเงินด้วยดอกเบี้ยที่ถูกลง       เมื่อหนี้ก้อนแรกจบ หมายความว่าคุณจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เงินที่จะใช้ชำระหนี้ก้อนต่อมาก็จะเพิ่มขึ้นและจบหนี้ก้อนนี้ได้เร็วขึ้นอีกเป็นวงจรไปเรื่อยๆ บางคนเรียกวิธีนี้ว่า สโนว์บอล (snow ball) จากเงินใช้หนี้ก้อนเล็กๆ หากวางแผนและจัดการดีๆ มันจะขยายใหญ่ขึ้น เหมือนลูกบอลหิมะที่ไหลลงจากเขา       หลังจากปลดหนี้แล้ว อย่าลืมรักษาวินัยทางการเงินและเลี่ยงการเป็นหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ชำระหนี้ครบ แต่ยังโดนหมายฟ้อง

เอกสารการชำระหนี้ เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับลูกหนี้ทุกคน เพราะเราอาจโดนฟ้องให้ชำระหนี้ ทั้งๆ ที่จ่ายครบแล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี พ.ศ. 2540 คุณสุนีย์กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) จำนวน 16,018 บาท ซึ่งกองทุนกำหนดให้ชำระเงินคืนเมื่อสำเร็จการศึกษา และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้น ภายหลังเมื่อเรียนจบและครบกำหนดชำระหนี้ คุณสุนีย์กลับผิดนัดชำระ เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงินและไม่ได้ติดต่อไปยัง กยศ. เพื่อแจ้งเหตุผลหรือขอเลื่อนนัดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเริ่มตั้งตัวได้และต้องการชำระหนี้ดังกล่าว จึงตัดสินใจชำระหนี้เต็มจำนวนเป็นเงิน 25,698.40 บาท โดยชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทย ซึ่งหลังชำระเงินพนักงานของธนาคารก็ได้แจ้งว่า ยอดดังกล่าวได้รวมดอกเบี้ยแล้วเรียบร้อย ทำให้เธอไม่มีหนี้ติดค้างกับ กยศ. อีกต่อไปอย่างไรก็ตามเหตุการณ์หลังจากนั้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่พนักงานแจ้ง เพราะไม่นานเธอได้รับหมายศาลให้ชำระหนี้ กยศ. ที่ค้างอยู่ รวมเป็นเงินกว่า 30,000 บาท โดยกองทุนได้ฟ้องร้องเนื่องจากเธอผิดสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย เพื่อขอให้ชี้แจงพร้อมขอสำเนาการชำระเงินที่เธอได้ชำระไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีได้ พร้อมส่งจดหมายเชิญตัวแทนของกองทุนมาเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามภายหลังเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากทาง กยศ. ยืนยันว่า จำนวนหนี้ที่ฟ้องมานั้นถูกต้อง และผู้ร้องต้องชำระให้ครบจำนวน ทำให้ต้องไปพิสูจน์ความจริงที่ศาลต่อไปเมื่อถึงวันพิจารณาคดี ศาลให้มีการนัดสืบพยาน แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ทางโจทก์หรือกยศ.ก็ขอถอนฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานเอกสารมาสืบ แต่ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าอาจทำเรื่องฟ้องใหม่ภายหลัง ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่สบายใจ แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ชี้แจงว่า อาจเป็นเพียงการพูดกดดันจากอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ก่อน เพราะสามารถใช้ยืนยันความบริสุทธิ์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 โดนยึดบ้านไม่รู้ตัว

การตกลงซื้ออะไรก็ตาม หากเราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชำระให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะหากเราผิดนัดติดๆ กันหลายงวด อาจทำให้เสียเครดิตหรือถูกยึดสิ่งของนั้นคืนไปไม่รู้ตัวได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติและตกลงชำระค่างวดๆ ละ 2,500 บาท โดยให้ตัดยอดผ่านบัญชีธนาคารในวันที่ 11 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดชำระของเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีการตัดยอดค่างวดดังกล่าว คุณสมชายจึงตัดสินใจไปชำระเงินกับธนาคาร เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่ธนาคารกลับปฏิเสธการชำระเงิน โดยแจ้งว่า ทางการเคหะได้ซื้อบ้านของเขาคืนไปแล้ว ซึ่งหากเขาต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปติดต่อกับทางการเคหะแห่งชาติด้วยตนเองภายหลังพูดคุยกับการเคหะแห่งชาติก็ได้รับคำยืนยันว่า บ้านของเขาถูกซื้อคืนไปจริง เนื่องจากคุณสมชายผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากต้องการบ้านคืนจริงๆ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาใหม่ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทสำหรับการทำสัญญาใหม่ คุณสมชายมีข้อสังเกตซึ่งได้ชี้แจงกับการเคหะฯ ว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองผิดนัดชำระค่างวด เนื่องจากสั่งตัดยอดจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ทางการเคหะฯ จึงแนะนำให้เขาโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดการชำระเงินกับธนาคาร เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเมื่อคุณสมชายติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลการชำระเงินค่างวดย้อนหลังก็พบว่า ตั้งแต่ตกลงผ่อนชำระค่างวดบ้านมา 7 เดือน มีบางเดือนติดกันที่ธนาคารไม่สามารถตัดยอดชำระได้ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทำให้เกิดยอดค้างชำระและดอกเบี้ยสะสม รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการเคหะซื้อบ้านคืนไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเขาไม่ทราบเลยว่า ตนเองผิดนัดชำระค่างวด เพราะธนาคารไม่เคยส่งหนังสือหรือเอกสารแจ้งเตือนให้ไปชำระยอดที่ค้างอยู่ รวมทั้งทางการเคหะก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ก่อนซื้อบ้านคืนไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ดำเนินการช่วยผู้ร้องโดยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ, กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหัวหน้าสำนักงานเคหะนนทบุรี 1 เพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ร้องต้องการบ้านคืนและใช้สัญญาในเงื่อนไขเดิม คือ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่พร้อมชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท แต่ไม่ขอเสียค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีซื้อบ้านคืนและทำสัญญาใหม่จำนวน 20,000 บาท ซึ่งภายหลังการเจรจาทางธนาคารได้ยินยอมข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบกันไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน หากว่าท่านได้ทำสัญญาการผ่อนชำระเงินค่างวดใดๆ ท่านควรตรวจสอบสถานะทางบัญชีว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่างวดในสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้หรือไม่ และควรมีเอกสารการรับเงินจากคู่สัญญาที่ท่านได้ทำไว้ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินการใดๆ หากเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 3)

บริการโทรคมนาคม มือถือ อินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ สมัครง่ายแต่เลิกยาก เพราะทุกบริษัทมัวแต่แข่งกัน หาลูกค้า จนอาจลืมใส่ใจพัฒนาคุณภาพบริการให้เพียงพอกับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น หลายคนอยากยกเลิกบริการที่ใช้อยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะบริษัทจะมีข้ออ้างสารพัดที่จะปฏิเสธ ไม่ให้เรายกเลิกบริการได้ง่าย ๆ ซึ่งผมได้แนะนำวิธีรับมือไว้ 2 ตอนแล้ว สรุปสั้น ๆ อีกครั้ง ก็คือ คุณสามารถยกเลิกบริการโทรคมนาคมได้ โดยการทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งให้บริษัทรับรู้ จะส่งจดหมาย แฟกซ์ หรือ อีเมล์ ก็ได้ทั้งนั้น แค่แจ้งแล้วจบเลย สำหรับคนที่ใช้แบบรายเดือน (Post Paid) เมื่อจะยกเลิกบริการ จะมีประเด็นเรื่องการคิดค่าบริการเดือนสุดท้ายที่ต้องดูให้ดี เพราะรายการส่งเสริมการขายทุกวันนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นแพ็คเกจแบบเหมาจ่ายรายเดือน เช่น จ่าย 540 บาท โทรฟรีได้ 550 นาที และเล่นเน็ตได้ไม่อั้น ค่าโทรส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้าคุณจะยกเลิกบริการในระหว่างที่ยังไม่ครบรอบบิล คำถามคือ คุณจะต้องจ่ายค่าบริการเต็มจำนวนไหม โดยหลักทั่วไป คำตอบ คือ จ่ายตามสัดส่วนการใช้งานจริง ไม่ต้องจ่ายเต็มแพ็คเกจ เช่น ถ้ายกเลิกบริการตอนครึ่งเดือน ก็จ่ายแค่ครึ่งเดียว 270 บาท แต่ในชีวิตจริง มันอาจจะไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากเสียเปรียบบริษัท พอรู้ว่าจะกลางเดือนนี้จะยกเลิกบริการ ก็เลยใช้สิทธิโทรเต็มที่ โทรไป 540 นาที แต่ปรากฏว่าโดนบริษัทคิดค่าบริการเพิ่ม โดยอ้างว่าใช้บริการครึ่งเดือน บริษัทก็ลดค่าบริการให้ครึ่งหนึ่งแล้ว แต่สิทธิในการใช้บริการโทรฟรีก็ต้องลดลงครึ่งหนึ่งเช่นกัน จึงเหลือสิทธิโทรฟรีแค่ 275 นาที ดังนั้น ส่วนที่เกินไป 265 นาที จะต้องจ่ายในอัตรานาทีละ 1.50 บาท ต้องจ่ายเพิ่มอีก 397.50 บาทสรุปว่า ลูกค้าใช้แพ็คเกจ 540 บาท/เดือน แต่พอยกเลิกบริการระหว่างรอบบิล กลายเป็นว่าต้องจ่ายเงิน 667.50 บาท ซึ่งแพงกว่าแพ็คเกจที่ใช้งานเต็มเดือนซะอีก งานนี้จึงมีการร้องเรียนว่าบริษัทคิดค่าบริการเกิน เขาควรจ่ายแค่ 270 บาทเท่านั้น เพราะยังโทรไม่เกินแพ็คเกจเลย ซึ่งบริษัทก็โต้แย้งว่า ถ้าจ่ายค่าบริการแค่ครึ่งเดียวแต่ใช้สิทธิเต็มที่ขนาดนี้เขาก็เสียเปรียบเหมือนกันตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเรื่องจริงนะครับ ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ว่า บริษัทมีสิทธิปรับลดระยะเวลาการโทรฟรี และคิดค่าบริการแบบเฉลี่ยตามสัดส่วนวันที่มีการใช้งานจริง (คือ มีสิทธิคิดค่าบริการแค่ 270 บาท และลดสิทธิโทรฟรีเหลือแค่ 275 นาที) แต่ในกรณีนี้ บริษัทจะคิดค่าบริการในส่วนที่เกินจากสิทธิโทรฟรีโดยเฉลี่ยในอัตรา 1.50 บาท/นาที ไม่ได้ เพราะผู้ร้องเรียนมิได้ใช้สิทธิโทรฟรีเกินจากแพ็คเกจ (ผู้ร้องเรียนใช้โทรศัพท์ไป 540 นาที เกินจากสิทธิโดยเฉลี่ยไป 265 นาที แต่ไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจทั้งหมด 550 นาที) ค่าโทรในส่วนที่เกินสิทธิการใช้งานโดยเฉลี่ย จะต้องคิดในอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย คือ คิดตามราคาที่แท้จริงของบริการที่มีการใช้งาน สำหรับแพ็คเกจที่รวมทั้งค่าโทรและค่าเน็ตไว้ด้วยกัน ก็ต้องแยกแยะว่าค่าบริการแต่ละประเภท คิดอัตราเท่าไร ซึ่งอาจจะซับซ้อนหน่อยแต่สามารถทำได้ครับ โดยสรุป ตามตัวอย่างที่ยกมา อัตราค่าโทรในแพ็คเกจจะอยู่ที่ประมาณ 0.23 /นาที ดังนั้นส่วนที่เกินมาจากสิทธิโดยเฉลี่ย 265 นาที จะต้องคิดในอัตรานาทีละ 0.23 บาท ซึ่งเป็นเงินแค่ 60.95 บาท สรุปว่า ผู้บริโภคต้องจ่าย 270 + 60.95 = 330.95 บาท แต่บริษัทคิดเงินไป 667.50 บาท ก็ต้องคืนส่วนต่างให้ผู้บริโภคส่วนใครที่ใช้บริการแบบเติมเงิน (Pre Paid) เมื่อยกเลิกบริการก็จะไม่ต้องวุ่นวายกับการคิดคำนวณค่าบริการเดือนสุดท้าย แต่อย่าลืมตรวจสอบว่ามีเงินคงเหลือในระบบหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเงินเหลือ คุณสามารถขอคืนจากผู้ให้บริการได้นะครับ เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองไว้ ในข้อ 34 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 “เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ ในการคืนเงินดังกล่าว เมื่อผู้ให้บริการได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้ใช้บริการหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ใช้บริการอย่างถูกต้องแล้ว ให้ผู้ให้บริการคืนเงินภายในสามสิบวันนับแต่วันเลิกสัญญาทั้งนี้ การคืนเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ อาจคืนด้วยเงินสด เช็ค หรือนำเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการ หรือตามวิธีการที่ผู้ใช้บริการได้แจ้งความประสงค์ไว้ กรณีผู้ให้บริการไม่สามารถคืนเงินค้างชำระให้แก่ผู้ใช้บริการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดผู้ให้บริการจะต้องชำระค่าเสียประโยชน์ในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการคิดจากผู้ใช้บริการกรณีผู้ใช้บริการผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการแก่ผู้ให้บริการ แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ใช้บริการที่จะเรียกค่าเสียหายอย่างอื่น” ก็เป็นอันว่า ถ้าทำตามคำแนะนำทั้ง 3 ตอนที่ผ่านมา ก็รับรองว่า ท่านผู้อ่านจะสามารถยกเลิกบริการโทรคมนาคมได้แบบ Happy Ending แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ปฏิเสธการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต

เมื่อเราซื้อสินค้าหรือบริการด้วยการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตไปแล้ว แต่พบว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่พนักงานขายแจ้งไว้หรือมีการชำรุดบกพร่อง มีวิธีที่ดีกว่าการทำใจยอมรับคือ การปฏิเสธชำระเงินกับบัตรเครดิตนั้น ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจถูกชักชวนให้เข้ารับบริการคอร์สนวดหน้า จากสถาบันเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนแรกเธอได้ปฏิเสธไป เพราะรู้ว่าตนเองเป็นคนผิวแพ้ง่าย แต่พนักงานกลับยืนยันว่าการนวดหน้าดังกล่าว จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้แน่นอน รวมทั้งตอนนี้จัดโปรโมชั่นให้ทดลองทำฟรีได้ 1 ครั้ง เมื่อถูกชักจูงใจเช่นนี้เธอจึงตกลงสมัครเข้าคอร์สดังกล่าว ซึ่งสามารถเข้ารับบริการได้ 10 ครั้ง ในราคา 50,000 บาทและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเข้ารับบริการทดลองนวดหน้าฟรี กลับพบว่ามีอาการคันรอบๆ ใบหน้าและดวงตา จนต้องขอให้พนักงานหยุดให้บริการ และไม่นานก็มีผื่นขึ้นที่ใบหน้าของเธอ รวมทั้งมีอาการคันมากขึ้น ทำให้ต้องรับประทานยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงไม่ต้องการกลับไปใช้บริการที่สถาบันเสริมความงามนั้นอีก เพราะเชื่อว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการนวดหน้า เธอจึงส่งจดหมายไปยังสถาบันเสริมความงาม เพื่อขอยกเลิกสัญญาการเข้ารับบริการ และโทรศัพท์ไปที่บริษัทบัตรเครดิตที่ได้ชำระเงินไป เพื่อขอระงับการชำระเงิน ซึ่งพนักงานก็แจ้งว่าสามารถทำได้ โดยให้ส่งเอกสารปฏิเสธการชำระเงินมาทางแฟกซ์ แม้เธอจะโล่งใจว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว แต่กลับพบว่ามีบิลแจ้งยอดให้ชำระเงินค่าคอร์สดังกล่าว และเมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามก็ได้รับคำตอบว่า การยกเลิกสัญญาต้องให้ทางร้านเป็นผู้บอกเลิกเอง อย่างไรก็ตามคุณสมใจก็ไม่ยินยอมชำระค่าบริการดังกล่าว และส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา  เบื้องต้นศูนย์ฯ ช่วยเป็นตัวกลางการเจรจา ระหว่างผู้ร้องให้เจรจากับสถาบันเสริมความงามดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องต้องการให้บริษัทคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ทางบริษัทปฏิเสธการคืนเงิน โดยยื่นข้อเสนอให้แทน คือ 1. สามารถโอนย้ายสิทธิให้ผู้อื่นได้ หรือ 2. เปลี่ยนแปลงคอร์สเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และ 3. หากต้องการยกเลิกคอร์สจะถูกหักเงินร้อยละ 70 ของราคาคอร์ส ตามสัญญาที่ระบุไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ต้องการข้อเสนอใดๆ เพราะเธอได้บอกเลิกสัญญาการใช้บริการไปแล้ว ด้านบริษัทจึงขอเก็บข้อเสนอผู้ร้องกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ถัดมาศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังบริษัทบัตรเครดิต เนื่องจากตามกฎหมาย ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือบริการ ภายในเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ซึ่งถ้าบริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้าหรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามจุดประสงค์ ไม่ครบถ้วนหรือชำรุดบกพร่อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทบัตรเครติตยังคงติดตามทวงหนี้อยู่ และที่สุดก็มีการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ร้อง ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายด้วยการเป็นทนายความให้ และภายหลังศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องไป ทั้งนี้สำหรับใครที่ต้องการปฏิเสธการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ควรทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรบอกเลิกสัญญา โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปยังบริษัทดาวน์โหลดเอกสารตัวอย่างบอกเลิกสัญญา คลิกที่นี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 2)

ฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้ว ผมได้แนะนำสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไปแล้วว่ากฎหมายนี้ จะช่วยคุ้มครองสิทธิของคุณในฐานะลูกหนี้ได้อย่างไรบ้าง ผ่านไปแล้ว 4 ข้อ ซึ่งฉบับนี้เราจะมาพูดถึงข้อดีอื่น ๆ ต่อไป ให้ครบ 10 ประการ   5. ห้ามทวงหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก แฟกซ์ หรือวิธีการอื่นใดที่สื่อให้เห็นว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน  แม้แต่ซองจดหมายที่ใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้  กฎหมายก็ห้ามใช้ข้อความ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใด ๆ      ที่สื่อไปในทางทวงหนี้ เพราะก่อนหน้านี้เอกสารทวงหนี้มัก        จะตีตรา “ชำระหนี้ด่วน”    ตัวแดงเด่นชัดเห็นมาแต่ไกล ราวกับจะประกาศให้คนทั้งหมู่บ้านรู้ว่าคุณเป็นหนี้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคุณกับเจ้าหนี้ การพยายามเปิดเผยเรื่องหนี้กับบุคคลภายนอกจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 6. ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งชื่อเอาไว้ ถ้าเกิดไม่เจอตัวลูกหนี้ ทำได้อย่างมากก็แค่ถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ลูกหนี้เท่านั้น จะไปฝากเรื่องทวงหนี้เอาไว้กับเพื่อนร่วมงาน หรือคนข้างบ้านหวังจะประจานให้ลูกหนี้ได้อายอย่างเมื่อก่อนนี้ไม่ได้แล้ว  ข้อนี้ มีโทษหนักถึงขั้นต้องปิดบริษัท ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการทวงหนี้กันเลยทีเดียว7. ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ของส่วนราชการทุกแห่งประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ คนในเครื่องแบบ คนมีสี ไม่ว่าจะสีเขียว หรือสีกากี ต่อไปห้ามรับ job ทวงหนี้เด็ดขาด ถูกร้องเรียนขึ้นมามีโทษทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะต้องออกจากราชการหมดอนาคตไปด้วย 8. การติดต่อลูกหนี้ถ้าเป็นวันธรรมดาให้ติดต่อได้ในช่วง 08.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ให้ติดต่อเวลา08.00-18.00 น. แต่การเจรจาพูดคุยกับลูกหนี้ก็ต้องดูให้เหมาะสม ไม่ใช่โทรมาทุกสิบนาทีตลอดทั้งวัน แบบนั้นก็ไม่ใช่ละส่วนสถานที่ติดต่อต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานก็ตาม พนักงานทวงหนี้ห้ามเข้ามาถ้าคุณไม่อนุญาต ไม่อย่างนั้น เจอข้อหาบุกรุกแน่  9. เป็นหน้าที่ของพนักงานทวงหนี้ ที่จะต้องแจ้ง ชื่อ -สกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ กรณีรับมอบอำนาจมาก็ให้แสดงหนังสือมอบอำนาจด้วย และถ้ามีการชำระหนี้ก็ต้องออกหลักฐานการรับเงินให้ลูกหนี้ด้วย และตามกฎหมายจะถือว่าเป็นการรับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยถูกต้องแล้ว10. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ หรือคนในครอบครัว สามารถร้องเรียนพฤติกรรมโฉดของแก๊งทวงหนี้ได้ ที่สถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารการร้องเรียน เสนอให้ “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด” เป็นผู้พิจารณาจัดการกับพวกทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย ต่อไป      ถึงตอนนี้ คุณก็ไม่ต้องกลัวพวกทวงหนี้โหดอีกแล้ว เพราะการติดหนี้นั้นเป็นคดีแพ่ง ไม่ต้องกลัวติดคุก แต่การทวงหนี้นอกกติกา ป่าเถื่อนนี่สิ เป็นคดีอาญา มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 1)

นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นมา การทวงหนี้โดยการข่มขู่ ประจาน ทำให้เสียชื่อเสียง ใช้กำลังประทุษร้ายหรือการคุกคามลูกหนี้ด้วยวิธีการสกปรกต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เจ้าหนี้คนไหนฝ่าฝืนมีโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ  ดังนั้น ใครที่กำลังถูกพวกทวงหนี้โหดคุกคาม คุณควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ให้ดี เพราะมันเป็นเสมือนยันต์เกราะเพชร ที่จะคอยปกป้องคุณจากบรรดาพวกทวงหนี้ขาโหดได้เป็นอย่างดีสาระสำคัญของ พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ที่อยากให้คุณรู้ 1. พวกรับจ้างทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานกฎหมาย ทนายความ หรือบริษัทรับทวงหนี้ จะต้องจดทะเบียน “การประกอบธุรกิจการทวงถามหนี้” กับทางราชการ เพื่อที่จะกำกับดูแลให้การทวงหนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากใครทวงหนี้โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับข้อมูลสำคัญ...ที่ต้องจำ เมื่อถูกทวงหนี้เจอพนักงานทวงหนี้ครั้งต่อไป อย่าลืมจดข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อ – นามสกุล, ชื่อบริษัทต้นสังกัด, เลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการทวงถามหนี้, หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าหนี้,    ที่อยู่ - เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพราะหากมีการพูดจาข่มขู่ คุกคาม คุณจะได้มีหลักฐานไว้เล่นงานพวกทวงหนี้นอกรีตเหล่านี้ 2. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียชื่อเสียง หรือทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ด้วย ถ้าฝ่าฝืนมีโทษร้ายแรงมาก คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...งานนี้นักเลงทวงหนี้ มีสิทธิติดคุกยาว 3. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้ลูกหนี้เกิดความเข้าใจผิด เช่น จดหมายทวงหนี้ที่ใช้ข้อความว่า อนุมัติฟ้องดำเนินคดี เตรียมรับหมายศาล เตรียมยึดทรัพย์ ถ้าไม่ใช้หนี้จะติด Black List เครดิตบูโร เพื่อจะขู่ให้ลูกหนี้กลัว และที่สำคัญห้ามแอบอ้างให้ลูกหนี้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้เครื่องหมาย ตราสัญลักษณ์ หรือแต่งกายเลียนแบบ ข้อนี้มีโทษหนักมาก จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ4. ห้ามทวงหนี้โดยใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น ข้อนี้น่าจะช่วยกำจัดพวกทวงหนี้ปากปลาร้าไปได้เยอะเลย เพราะถ้าคุมหมาในปากไม่อยู่ อาจจะต้องถูกปรับหนึ่งแสนบาท หรือต้องไปกินข้าวแดงในคุกฟรี นะจ๊ะอีก 6 ข้อควรรู้ที่เหลือ ติดตามต่อได้ในฉลาดซื้อ ฉบับหน้านะครับ ส่วนใครที่ร้อนใจ เพราะตอนนี้ปัญหาหนี้สินรุมเร้าเหลือเกิน ก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook : รู้สู้หนี้ หรือ www. rusunee.blogspot.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือ

หนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 ลูกค้าธนาคารออมสิน โวย มาตรการพักชำระหนี้ช่วยภัยน้ำท่วมไม่เป็นจริง

ในช่วงปลายปี 2553 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในหลายท้องที่ของประเทศไทยรวมทั้งที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาธนาคารออมสินได้มีการประชาสัมพันธ์แถลงข่าวและส่งจดหมายมาถึงลูกหนี้แจ้งมาตรการบรรเทาผลกระทบของลูกค้าและประชาชน จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ให้พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทเป็นเวลาครึ่งปีคุณบุษกร กู้เงินสินเชื่อเคหะจากธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อมาปลูกสร้างบ้านใหม่หลังโดนภัยน้ำท่วมจนบ้านพังอยู่อาศัยไม่ได้ เมื่อเห็นประชาสัมพันธ์นี้เข้าก็คิดว่าดีได้หยุดพักชำระหนี้จะได้นำเงินไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นบ้างเธอเข้าทำสัญญาพักชำระหนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เงินสินเชื่อเคหะของธนาคารออมสิน โดยตกลงกันที่จะผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 6 งวด นับแต่เดือนธันวาคม 2553 โดยเข้าใจว่า ธนาคารจะระงับการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อครบกำหนดพักชำระหนี้ 6 เดือนแล้ว คุณบุษกรจึงนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนวน 3,700 บาท ซึ่งเป็นอัตราชำระขั้นต่ำตามสัญญา ปรากฏว่า ถูกธนาคารคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด โดยไม่มีเงินต้นเลย เมื่อสอบถามกับพนักงานของธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม ก็อธิบายให้เข้าใจเป็นที่กระจ่างไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยย้อนหลังกลายเป็นดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ามา ทำให้ต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเขียนเรื่องร้องเรียนเข้าที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามไปยังธนาคารออมสิน และได้รับหนังสือชี้แจงจากนายมนตรี   นกอินทร์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการหยุดเรื่องส่งชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเรื่องของการคิดดอกเบี้ยในขณะผ่อนผัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสะสมไว้ รอลูกหนี้มาชำระหนี้เมื่อครบกำหนดสัญญาผ่อนผันการพักชำระหนี้เมื่อได้คำชี้แจงมาแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การให้ข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสิน เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสน และก่อให้เกิดการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่ผิดพลาดมีความเสียหายขึ้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ  และเชื่อว่าน่าจะมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกหลายรายที่หลงเชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ของธนาคารออมสิน จึงได้จัดเวทีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาผลปรากฏว่า ธนาคารออมสินได้มีการประชุมพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน และมีมติอนุมัติที่จะให้ปรับปรุงบัญชีดอกเบี้ยของ 6 เดือนที่หยุดชำระจำนวนประมาณ 14,000 บาทนั้นออกไปทั้งหมด ส่งผลให้สถานะบัญชีหนี้ของคุณบุษกรกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง “ขอบคุณคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมถึงผู้สื่อข่าวทุกๆ ท่านที่ให้การช่วยเหลือมากเลยนะคะ” คุณบุษกรกล่าวสำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาที่รวดเร็วของผู้บริหารธนาคารออมสินนั้น มูลนิธิฯ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง และขอให้ดูแลลูกค้ารายอื่นให้มีมาตรฐานเดียวกันด้วย เพื่อให้สมกับเป็นธนาคารของประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 โกรธมาก อย่างนี้ต้องฟ้อง

เรื่องนี้เป็นเสียงจากลูกหนี้คนหนึ่งที่ร้องเรียนมาที่ศูนย์ฯ ครับ“เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ได้มีโทรศัพท์เบอร์ 084-088XXXX โทรมาติดตามให้ชำระหนี้ผมเป็นหนี้ควิกแคชอยู่ 25,000 บาท ไอ้คนที่โทรมาคุยด้วยน้ำเสียงเหมือนเหนือกฎหมายมากว่าให้ชำระเงินให้เขา โดยเขาเนี่ยสามารถจะลดยอดให้เหลือเท่าไหร่ก็ได้ แต่สิ้นเดือนให้โอนมาก่อน 500 บาท โดยวาจาที่พูดมามีน้ำเสียงอวดดีมาก “พูดเหมือนเราฆ่าพ่อเขาตายแล้วโดนตำรวจจับได้อย่างงั้นแหละ”ผมเลยบอกไปว่า มึ..(เซ็นเซอร์)...ฟ้องเลย แล้วผมก็ติดต่อบริษัทฯ โดยผมจะขอผ่อนชำระทุกเดือนจนหมดหนี้โดยจะส่งเดือนละ 1,500 บาท เจ้าหน้าที่ก็ตกลงผมไม่เข้าใจว่าสำนักงานกฎหมายพวกนี้เรียนจบมาจากไหนกัน ใครสั่งสอน มีจรรยาบรรณกันบ้างมั้ย ทนายเขามีไว้ช่วยคนหรือหา..แ..(เซ็นเซอร์)...บนหลังคนกัน ผมก็มีการศึกษามีจรรยาบรรณ บ้านเมืองคงจะเจริญล่ะ ถ้ามีพวกนี้มากมายเรียนมาเพื่อกดคนที่เขาไม่รู้กฎหมาย แล้วบริษัทที่ส่งจดหมายทวงถามให้ผมคือ สำนักงานกฎหมาย...(เซ็นเซอร์) เจ้าของช่วยไปอบรมพนักงานบริษัทคุณมั่งนะ ผมเห็นเขาโพสด่ากันหลายคน ถ้ายิ่งใหญ่กันนักก็มาจัดการผมเลย ผมโกรธจริงๆ โกรธมากๆ” แนวทางแก้ไขปัญหา ใส่กันสุดตีนครับ แต่ว่า อย่าเอาแต่โกรธอย่างเดียวครับ หากลูกหนี้รายไหนเจอพฤติกรรมการทวงหนี้ประเภทข่มขู่กดดัน เสียดสีถากถาง ใช้กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพควรจัดการทันทีด้วยวิธีการส่งจดหมายร้องเรียนไปถึงบริษัทเจ้าหนี้ สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บริษัทเจ้าหนี้ที่ฉลาดเจอจดหมายร้องเรียนแล้วมักจะเลือกเปลี่ยนใช้บริการคนทวงหนี้ล่ะครับ ไม่งั้นเสียชื่อบริษัทเอาได้ง่ายๆ การใช้มุขหยอดให้โอน 500 บาทนี่ เป็นมุขหากินโบราณนานนมมาแล้ว คนทวงหนี้ที่มีการพัฒนาจะเลิกทำแล้ว เพราะจะถูกคนเป็นหนี้จับผิดแล้วแซวได้ว่า ไม่มีอำนาจจริงในการลดยอดหนี้หากินแต่ค่าคอมฯ 5 บาท 10 บาท แล้วจะพอกินเหรออะไรทำนองนี้ล่ะ ดังนั้น ถ้าต้องการจัดการพวกทวงหนี้ไดโนเสาร์เต่าล้านปีพวกนี้ให้สิ้นซากรบกวนทำจดหมายร้องเรียนทันทีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 เช็คปริมาณกระดาษเช็ดหน้า

กระดาษทิชชู่ หรือ กระดาษชำระ ถือเป็นกระดาษอเนกประสงค์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีกระดาษทิชชู่ให้เลือกใช้สารพัดอย่างแบ่งตามประเภทการใช้งาน ทั้งกระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดมือ ฯลฯ คิดว่าคนส่วนใหญ่คงตัดสินใจเลือกซื้อกระดาษทิชชู่จาก ยี่ห้อ ราคา หรือแม้แต่สีสันของบรรจุภัณฑ์ และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่หลายๆ คนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ นั้นคือ “จำนวนแผ่นกระดาษทิชชู่” เปรียบเทียบดูว่ายี่ห้อไหนมีจำนวนที่คุ้มค่าคุ้มราคากว่ากัน แต่จะมีใครมั้ย? ที่เคยลองตรวจสอบดูว่าจำนวนกระดาษทิชชู่ที่อยู่ในกล่องกับตัวเลขที่ระบุบนฉลากข้างกล่องถูกต้องตรงกันหรือเปล่า ฉลาดซื้อเราจึงขอรับอาสาเช็คความถูกต้องของกระดาษทิชชู่ โดยเราเลือกกระดาษเช็ดหน้าชนิดบรรจุกล่องมาลองนับกันแบบแผ่นต่อแผ่นว่าแต่ละยี่ห้อที่เรานำมาสำรวจมีปริมาณแผ่นกระดาษเช็ดหน้าตรงกับที่แจ้งไว้หรือเปล่า   วิธีการทดสอบ เราใช้อาสาสมัคร 3 คน เพื่อตรวจนับจำนวนแผ่นกระดาษเช็ดหน้า อาสาสมัครทั้ง 3 คนจะนับกันคนละ 1 ครั้งต่อ 1 ตัวอย่าง เท่ากับว่าแต่ละตัวอย่างเราจะทำการตรวจนับจำนวนแผ่นกระดาษเช็ดหน้าถึง 3 ครั้ง เพื่อตรวจสอบจำนวนและทวนความถูกต้อง ผลการทดสอบ เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่กระดาษเช็ดหน้าทุกยี่ห้อที่เรานำมาสำรวจจำนวนแผ่นกระดาษ พบว่าทั้งหมดตรงตามจำนวนที่ระบุไว้ในรายละเอียดข้างกล่อง แถมฉลาดซื้อยังพบว่ามีหลายยี่ห้อให้จำนวนกระดาษมาเกินกว่าที่ระบุเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ยี่ห้อ เชลล็อกกระดาษเช็ดหน้าโรชี่ ที่ระบุจำนวนไว้ว่า 150 แผ่น แต่จากการสำรวจเรานับจำนวนได้ 154 แผ่นทั้ง 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมียี่ห้อ ซิลค์ ที่เรานับจำนวนได้ 124 แผ่น แต่ข้างกล่องระบุไว้ 120 แผ่น, ยี่ห้อ เลดี้สก๊อตต์ ที่นับจำนวนได้ 152 แผ่น ขณะที่ข้างกล่องระบุไว้ 150 แผ่น และยี่ห้อ เทสโก้ (กล่องเล็ก) ที่นับได้ 52 แผ่น แต่ระบุจำนวนที่ข้างกล่องไว้ 50 แผ่น ถือว่าเป็นกำไรของผู้บริโภค ตารางแสดงผลการสำรวจจำนวนแผ่นกระดาษเช็ดหน้า เปรียบเทียบกับจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ ชื่อสินค้า จำนวนที่นับได้ จำนวนที่ระบุบนผลิตภัณฑ์ ขนาดแผ่น วัน/เดือน/ปีที่ผลิต ราคา (บาท) เชลล็อกกระดาษเช็ดหน้าโรชี่ 154 150 - 27 03 13 42 เลดี้สก๊อตต์ 152 150 - 16 04 13 - คุ้มค่า 150 150 20x20 ซม. 04 04 56 18.50 บิ๊กซี 150 150 20x20 ซม. 14 02 56 - แฮปปี้บาท 150 150 20x20 ซม. 30 03 56 - คลีเน็กซ์ 150 150 - 07 04 13 54 ซิลค์ 124 120 - 13 04 13 27 สก็อต 120 120 - 14 04 13 94 เทสโก้ กล่องเล็ก 52 50 13x20 ซม. 02 01 13 42   ฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อกระดาษชำระ -กระดาษชำระที่ดี เนื้อของกระดาษแต่ละแผ่นต้องมีสีที่สม่ำเสมอกัน -ไม่มีรอยตัด ฉีกขาด (ยกเว้นรอยปะสำหรับฉีก) -ไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในกระดาษ -กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดปาก กระดาษเช็ดมือ และกระดาษชำระ ถือเป็นสินค้าควบคุมฉลาก -บนฉลากต้องแสดงขนาดความกว้าง – ยาว ของแผ่นกระดาษ เป็นเซนติเมตร -ถ้าในฉลากมีการระบุประเภทของกระดาษ เช่น “กระดาษเช็ดหน้า” “กระดาษเช็ดปาก” “กระดาษเช็ดมือ” หรือ “กระดาษชำระ” กระดาษนั้นก็ต้องมีคุณลักษณะที่ตรงตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำหนดไว้ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของกระดาษ -เพราะฉะนั้นเราควรใช้กระดาษชำระให้ถูกต้องตามประเภทการใช้งาน เพราะกระดาษแต่ละชนิดถูกผลิตออกมาเพื่องานที่แตกต่างกัน ความหนานุ่ม ความยืดหยุ่น และการดูดซับน้ำ รวมถึงเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จึงมีความแตกต่างกัน ที่มา: ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2526) เรื่อง กำหนดกระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดปาก กระดาษเช็ดมือ และกระดาษชำระ เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก   ---------------------------------------------------------------------------------------------------------- การแสดงปริมาณสินค้าบนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การแสดงปริมาณสินค้าบนฉลากถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคอย่างเราควรรู้ ลองมาดูกันดีกว่าว่าแบบไหนคือการแสดงปริมาณสินค้าบนฉลากหรือบนผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องเหมาะสมได้ใจผู้บริโภค 1.ต้องแสดงปริมาณสุทธิหรือจำนวนที่แท้จริงของสินค้า โดยต้องไม่รวมน้ำหนักของสิ่งที่ใช้บรรจุหรือสิ่งที่ห่อหุ้มอยู่ 2.ต้องแสดงปริมาณตามมาตราชั่ง มาตราตวง หรือมาตราวัด ในระบบเมตริกหรือแสดงเป็นหน่วย (กรัม, มิลลิกรัม, ชิ้น, แผ่น ฯลฯ) แล้วแต่ชนิดของสินค้าหีบห่อ โดยใช้ตัวเลขไทยหรือตัวเลขอารบิคและอักษรไทย 3.มีข้อความภาษาไทยว่า “ปริมาณสุทธิ” หรือที่มีความหมายเช่นเดียวกัน อยู่หน้าปริมาณของสินค้า 4.แสดงปริมาณของสินค้าไว้บนฉลาก บรรจุภัณฑ์ ให้สามารถมองเห็นได้ง่ายและชัดเจน ตัวเลขและตัวอักษรมีขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร และต้องติดอยู่ถาวรไม่ลบเลือน 5.แสดงปริมาณของสินค้าทุกแห่งให้ตรงกันในกรณีที่มีการแสดงปริมาณไว้หลายแห่ง 6.ในกรณีที่เป็นสินค้าที่เป็นห่อใหญ่แล้วบรรจุมีสินค้าชนิดเดียวกันที่มีปริมาณเท่ากัน ตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไป และแต่ละห่อสามารถขายแยกต่างหากจากห่อใหญ่ได้ การบรรจุสินค้าห่อใหญ่ดังกล่าวจะต้องแสดงจำนวนห่อเล็กและปริมาณของสินค้าในห่อเล็กด้วย ที่มา : ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดชนิดและวิธีการแสดงปริมาณของสินค้าหีบห่อ พ.ศ. 2543 ---------------------------------------------------------------------------------------------------------- รู้มั้ยว่า? ปริมาณสินค้าที่แจ้งบนฉลากกับปริมาณสินค้าจริงๆ อาจไม่ตรงกันเสมอไป!!! แม้เรื่องของปริมาณสินค้าจะเป็นเรื่องสำคัญที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องแจ้งกับผู้บริโภค แต่บางครั้งปริมาณของสินค้าจริงๆ กับปริมาณที่แจ้งไว้อาจไม่ตรงกันก็ได้ แต่อย่าเพิ่งตกใจ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้นั้นเป็นเพราะกฎหมายเขาอนุโลมให้การแสดงปริมาณสุทธิของสินค้าต่างๆ สามารถแสดงปริมาณแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดได้ ----------------------------------------------------------------------------------------------------------   อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับสินค้าที่แสดงปริมาณโดยนับเป็นหน่วย ปริมาณที่แสดงบนหีบห่อ อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดร้อยละของปริมาณที่แสดง ไม่เกิน 35 หน่วย - มากกว่า 35 หน่วย แต่ไม่เกิน 50 หน่วย 3 มากกว่า 50 หน่วย ขึ้นไป 2   อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับสินค้าที่แสดงปริมาณเป็นมาตราชั่ง ปริมาณที่แสดงบนหีบห่อ อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดร้อยละของปริมาณที่แสดง ไม่เกิน 200 กรัม 6 มากกว่า 200 กรัม แต่ไม่เกิน 1 กก. 3 มากกว่า 1 กก. แต่ไม่เกิน 5 กก. 2 มากกว่า 5 กก. แต่ไม่เกิน 15 กก. 1.5 มากกว่า 15 กก. แต่ไม่เกิน 50 กก. 1 ที่มา : ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดชนิดและวิธีการแสดงปริมาณของสินค้าหีบห่อ พ.ศ. 2543

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 กระดาษชำระ ใช้ให้ถูกงาน…เรื่องไม่บานปลาย

เรื่องทดสอบ 2 กองบรรณาธิการ ถ้าพูดถึง ทิชชู่ (tissue) หรือกระดาษทิชชู่ ส่วนใหญ่เราจะเหมารวมว่า เป็นกระดาษสีขาว เนื้อบางเบาที่มีคุณสมบัติซึมซับน้ำได้ดี ถือเป็นสินค้าจำเป็นประจำครัวเรือน สำนักงาน ร้านอาหารหรือเกือบจะเป็นสถานที่ทุกแห่งที่มีคนอยู่อาศัยก็ว่าได้ ทิชชู่ช่วยให้คนส่วนใหญ่รู้สึกสะอาดขึ้นเมื่อเกิดสภาพที่จำเป็นต้องเช็ดหรือเก็บคราบสกปรกต่างๆ จริงๆ แล้วกระดาษทิชชู่มีด้วยกันหลายประเภท โดยแบ่งตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ กระดาษชำระ (toilet tissue) กระดาษเช็ดหน้า (facial tissue) กระดาษเช็ดปาก (napkin) กระดาษเช็ดมือ (hand towel) และกระดาษอเนกประสงค์ แต่ดูเหมือนว่าคนไทยเราจะใช้กระดาษทิชชู่โดยไม่ค่อยได้แบ่งชนชั้นวรรณะมากนัก กระดาษชำระบางทีก็ไปตั้งอยู่บนโต๊ะอาหารได้ หรือใช้เช็ดหน้าเช็ดตาได้ ห่ออาหารก็เคยเห็น โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้นึกรังเกียจแต่อย่างใด ด้วยความที่เราใช้กระดาษชำระ ชำระกันไปเสียเกือบทุกอย่างดังที่กล่าวมา เลยมีคนตั้งข้อสงสัยว่า กระดาษชำระมันสะอาดปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน หลังจากไปพลิกคู่มือมาตรฐานอุตสาหกรรม กระดาษชำระดูแล้ว ก็พบว่า ตามมาตรฐานจะให้ความสำคัญในเรื่องการซึมซับน้ำ การย่อยสลาย ขนาด ความยาวและจุดสกปรก คือไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในม้วนกระดาษชำระ ซึ่งเท่าที่ดูด้วยตาเปล่าเราก็ไม่พบเห็นสิ่งผิดปกติใดๆ แต่ในระดับที่มองไม่เห็นล่ะ มันมีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ฉลาดซื้อส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์กระดาษชำระทั้งเกรดเอ เกรดบี จำนวน 24 ตัวอย่าง เข้าห้องทดสอบของบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางประเทศไทย จำกัด เพื่อทดสอบหาปริมาณจุลินทรีย์ชนิดก่อโรค ได้แก่ Bacillus cereus. Staphylococcus aureus, Escผลการทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ แต่ในปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดโรคภัยใดๆ herichia coli, Salmonella, Yeast and mold และ Total Plate Count หรือการตรวจปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวอย่าง แต่ก็ถือว่ามี ดังนั้นเราก็ควรใช้งานกระดาษชำระให้ถูกประเภท นิสัยที่ชอบเอากระดาษชำระไปเช็ดทุกอย่าง(นอกจากเช็ดก้น) เช็ดหน้า เช็ดมือ เช็ดผลไม้ เช็ดจาน เช็ดช้อน ฯลฯ อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในวัตถุหรือพื้นผิวที่เราเอากระดาษชำระไปเช็ดได้ และหากทิ้งไว้เป็นเวลานานเมื่อมีสภาวะที่เหมาะสมเชื้อก็สามารถขยายตัวได้เป็นจำนวนมากๆ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดาวโหลดตาราง สำเร็จรูป ดาวโหลด file ตาราง แบคทีเรียที่มักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่เกิดจาก Salmonella, Staphylococcus aureus, Clostridium perfringens, รองลงมาได้แก่ Bacillus cereus, Shigella, Campylobacter และ Clostridium botulinum Campylobacter, Escherichia coli  แบคทีเรียเมื่อได้รับอาหาร น้ำ อากาศ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วมาก ในระยะเวลาไม่นานเพียง 2-6 ชั่วโมงก็สามารถเพิ่มจำนวนมหึมาจนสร้างปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ได้ อย่างไรก็ตามแบคทีเรียจะไม่สร้างปัญหาให้กับมนุษย์มากนัก หากหมั่นชำระล้างร่างกาย มือ ให้สะอาด การรับประทานอาหารต้องเป็นอาหารที่สุก สะอาด ผักผลไม้ที่จะรับประทานสด ก็ต้องล้างน้ำให้สะอาดด้วยเช่นกัน กระดาษชำระสืบประวัติได้ยาวนานไปถึงหลายร้อยปีราวศตวรรษที่ 14 โดยมีความนิยมใช้กันในราชสำนักของจีนแต่ก็เฉพาะบรรดาเชื้อพระวงค์เท่านั้น โดยคนธรรมดาทั่วไปสิ่งของที่นำมาใช้เช็ดก้นหลังปลดทุกข์นั้นก็มีหลายอย่าง ส่วนใหญ่ก็เป็นใบไม้ เศษผ้า ยุคหลังๆ มาหน่อยก็นิยมกระดาษหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบปลิวต่างๆ จนมีนักธุรกิจชาวอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อนายโจเซฟ กาเย็ตตี้ เป็นคนแรกที่ได้ผลิตกระดาษชำระออกวางขายในปี ค.ศ. 1857 แต่ก็ขาดทุนไปในที่สุดเพราะคนยังนิยมของเดิมคือกระดาษเก่าๆ ที่ไม่ต้องเสียสตางค์ อีก 20 ปีต่อมา สองพี่น้องสกุลสก๊อตจึงได้ผลิตกระดาษชำระออกวางขายอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า สก๊อตทิชชู่ ในขณะนั้นส้วมชักโครก และห้องน้ำภายในอาคารเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้คนใช้กระดาษชำระมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้สะดวก เนื้อนุ่มและยังเข้ากับการตกแต่งห้องส้วมอีกด้วย จากนั้นเป็นต้นมา ตลาดกระดาษชำระก็เริ่มเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับวิวัฒนาการที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่กระดาษชำระเคยเป็นของใช้ระดับไฮคลาสสำหรับผู้มีอันจะกิน ปัจจุบันก็กลายมาเป็นสินค้าที่ใครๆ ก็สามารถหาซื้อได้ทั่วไป (ข้อมูลจากหนังสือ 108 ซองคำถาม) Total Plate Count หรือ Standard Plate Count คือ การตรวจสอบจำนวนประชากรจุลินทรีย์ เป็นการตรวจปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวอย่าง การตรวจสอบนั้นถ้าพบว่ามีจุลินทรีย์มากเกินค่ามาตรฐาน หรือค่าที่กำหนดให้มีได้ในผลิตภัณฑ์ แสดงให้เห็นว่าตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบไม่ควรนำมาบริโภคหรือนำออกจำหน่าย เช่น น้ำดื่มต้องมีค่าจำนวนประชากรจุลินทรีย์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 172 หนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจะบอกเลิกสัญญา ถือว่าบอกเลิกสัญญาหรือไม่

ตามสัญญาเช่าซื้อนั้น แม้ว่าคู่สัญญาจะกำหนดวันชำระค่าเช่าซื้อไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว  หลังจากนั้นผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดนัดและผู้ให้เช่าซื้อก็รับชำระเงินค่าเช่าซื้อนั้นไว้โดยไม่ทักท้วง ย่อมแสดงว่าในทางปฏิบัติ คู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญต่อไป ต่อมาหากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนดก่อนแล้ว หากภายหลังผู้เช่าซื้อยังคงชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบตามกำหนด ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 บัญญัติว่า  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ และถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ “ ดังนั้น หากผู้ให้เช่าซื้อไม่บอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาและยึดทรัพย์คันที่เช่าซื้อคืนไม่ได้ กรณีตามหัวข้อบทความนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8238/2556 วินิจฉัยว่า เมื่อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 12 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า “การชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญของสัญญานี้” แล้วโจทก์ไม่อาจแปลข้อความนี้ให้เป็นอย่างอื่น ดังเช่นฎีกาของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาของการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญนั้นชอบแล้ว ดังนั้นแม้ในภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลา ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด หากโจทก์จะบอกเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าซื้อมาชำระภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 หนังสือที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองมิได้มีข้อความว่า โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1  คงมีข้อความเพียงว่าโจทก์ทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 7 วัน หรือให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ พร้อมกับมีบทบังคับว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาดเท่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 387 แล้ว เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อถึง 51 เดือน แม้โจทก์ให้เวลาชำระหนี้เพียง 7 วัน ก็เป็นระยะเวลาพอสมควร โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 386 ให้ทำได้ ด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่าย และการตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แม้ถ้อยคำที่โจทก์ระบุในหนังสือบอกเลิกสัญญาว่า หากไม่ชำระหนี้โจทก์จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้อความว่าโจทก์จะบอกเลิกสัญญา แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาอันแท้จริงของโจทก์เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโจทก์ต้องการบอกเลิกสัญญา จึงดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง ต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์ไม่ถือเอากำหนดเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเบี้ยปรับ รวมทั้งไม่มีเหตุที่จะติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน จึงไม่มีสิทธิคิดค่าใช้จ่ายดังกล่าว    

อ่านเพิ่มเติม >