ฉบับที่ 224 Let’s say Cheese! มาอ่านฉลากผลิตภัณฑ์จากชีสกันเถอะ

        พูดเรื่อง ชีส(Cheese) หรือเนยแข็งในอาหารที่คนไทยคุ้นเคย คงจะเป็น มอสซาเรลลา ที่ใส่ในพิซซ่าซึ่งเราจะมีภาพจำในความยืดเยิ้มของมัน หรือ เชดดา ที่วางบนแฮมเบอร์เกอร์ แซนวิช และหลายคนก็คงคุ้นลิ้นกับ พาร์เมซาน เนยแข็งป่นๆ ที่โรยหน้าสลัดหรือผสมในสปาเก็ตตี้  อาจกล่าวได้ว่า ชีสสามชนิดนี้ คือชีสที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด จากชีสทั่วโลกที่มีมากกว่า 3000 ชนิด  แม้จะคุ้นลิ้นคุ้นตาในรสชาติ แต่เชื่อว่าหลายคน อาจจะเกิดอาการสับสน งุนงง หากต้องไปเลือกซื้อชีสเพื่อมาทำอาหารสไตล์ตะวันตกกินเอง เพราะเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อชีสอะไรดี แล้วที่เขียนบนฉลากว่า อีแดม เชดดา เนมชีส โพรเซสชีส เฟรชชีส คืออะไร ใช้กินกับอะไรได้บ้าง ทำอาหารอะไรได้บ้าง หรือจะซื้อยังไงคุ้มค่า นิตยสารฉลาดซื้ออาสาพาไปส่องฉลาก และช่วยให้เลือกซื้อกันได้สะดวกขึ้น                 ทีมกองบรรณาธิการและอาสาสมัครฉลาดซื้อเดินห้างสรรพสินค้าทั้งแบบห้างค้าปลีก ค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อเพื่อเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยแข็งหรือชีส แบบที่มีฉลากบนผลิตภัณฑ์สมบูรณ์และผู้บริโภคสามารถหยิบได้เองจากตู้แช่เย็น ในต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 51 ตัวอย่าง เพื่อแสดงรายละเอียดและแยกกลุ่มผลิตภัณฑ์ระหว่าง เนยแข็งหรือชีสแท้ กับ โพรเซสชีส นิยามและประเภทของชีส         เนยแข็ง(Cheese)  ทั่วโลกมีมากกว่า 3,000 ชนิด แม้เนยแข็งบางประเภทจะมีลักษณะเหมือนกัน แต่ก็มีชื่อเรียกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น วิธีการจำแนกประเภทของเนยแข็งจึงทำได้โดยอาศัยหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น ชนิดของน้ำนมที่ใช้ ระยะเวลาในการบ่ม เชื้อราที่ใส่ลงไปเพื่อแยกไขมันออกจากน้ำนม อุณหภูมิที่ใช้ในการหมักบ่ม พื้นผิวและความราบเรียบของเนยแข็ง อย่างไรก็ตามเราอาจแบ่งเนยแข็งหรือชีส (Cheese)  ได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นการแบ่งที่นิยมกัน คือ        1.เนยแข็งแบบนุ่มหรือชีสนุ่ม (Soft Cheese)         2.เนยแข็งแบบกึ่งแข็งกึ่งนุ่ม (Semi Cheese)        3.เนยแข็งแบบแข็งหรือฮาร์ดชีส (Hard Cheese)         การแบ่งแบบนี้เป็นการแบ่งตามความชื้นในเนื้อผลิตภัณฑ์ เนยแข็งที่มีความแข็งมาก(ฮาร์ดชีส) ก็เพราะมีความชื้นต่ำ เช่น พาร์เมซาน เชดดา สวิสชีส ส่วนชนิดกึ่งแข็งกึ่งนุ่มจะมีความชื้นกลางๆ เช่น มอสซาเรลลา อีแดม บลูชีส และหากมีความชื้นสูงเนื้อสัมผัสก็จะนุ่ม เช่น บรี ครีมชีส ซึ่งทำให้เก็บไว้ไม่นานเหมือนพวกฮาร์ดชีส ที่สามารถเก็บได้เป็นเวลาหลายเดือน         นิยามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 209 พ.ศ.2543 เรื่องเนยแข็ง ให้ความหมายของ เนยแข็งว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำนม ครีมบัตเตอร์มิลค์ (Butter milk) หรือเวย์ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างมาผสมเอนไซม์หรือกรดหรือจุลินทรีย์จนเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแล้วแยกส่วนที่เป็นน้ำออก แล้วนำมาใช้ในลักษณะสดหรือบ่มให้ได้ที่ก่อนใช้ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คือเนยแข็งแท้หรือชีสแท้         ส่วนที่แสดงบนฉลากว่า โพรเซสชีส(Processed Cheese) ตามนิยามในประกาศ หมายความว่า เนยแข็ง ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีทำให้เล็กลง เติมสารอีมัลซิฟายและนำมาพาสเจอร์ไรซ์และจะแต่งสี กลิ่น รส หรือไม่ก็ได้  ตามนิยามนี้เราอาจตีความได้ว่า โพรเซสชีสเป็นเนยแข็งที่มีกรรมวิธีการผลิต โดยเอาชีสแท้ น้ำมัน และส่วนผสมทางเคมีอื่นๆ มาผสมกัน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอาหารที่ปลอดภัย แต่ว่ามันมีสารเคมีต่างๆ มีแต่งสี แต่งรส และเนื่องจากมีส่วนผสมของนมอยู่น้อย ก็เลยไม่ได้ให้ประโยชน์มากเหมือนชีสแท้ ที่ทำจากนมเกือบทั้งหมด         และที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคงงเมื่ออ่านฉลากคือ คำว่า เนมชีส(Named Cheese) ซึ่งในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 209 ให้ความหมายว่า เนยแข็งที่มีชื่อตามชนิดของเนยแข็งหรือสถานที่ผลิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและมีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะตามชนิดของเนยแข็งนั้น  เชดดา อีแดม พาร์เมซาน(หรืออีกสามพันชนิด) พวกนี้คือ เนมชีสนั่นเองตารางแสดงรายละเอียดการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์เนยแข็ง(ชีสแท้) เก็บตัวอย่างเดือนตุลาคม 2562เนยแข็ง หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำนม ครีมบัตเตอร์มิลค์ (Butter milk) หรือเวย์ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างมาผสมเอนไซม์หรือกรดหรือจุลินทรีย์จนเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแล้วแยกส่วนที่เป็นน้ำออก แล้วนำมาใช้ในลักษณะสดหรือบ่มให้ได้ที่ก่อนใช้ตารางแสดงรายละเอียดการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์โพรเซสชีสเก็บตัวอย่างเดือนตุลาคม 2562โพรเซสชีส หมายความว่า เนยแข็ง ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีทำให้เล็กลง เติมสารอีมัลซิฟายและนำมาพาสเจอร์ไรซ์และจะแต่งสี กลิ่น รส หรือไม่ก็ได้  ข้อค้นพบจากการดูฉลากผลิตภัณฑ์        ผลจากการสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์เนยแข็ง ทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ที่เข้านิยามเนยแข็งหรือชีสแท้ มีจำนวน 24 ตัวอย่าง และเป็นผลิตภัณฑ์โพรเซสชีส 26 ตัวอย่าง โดยมีโพรเซสชีส 1 ตัวอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อชาวมังสวิรัตที่ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ได้แก่ วีแกนเชดด้าสไตล์สไลซ์ (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเชดด้าชีส) ตราอิมพีเรียล ซึ่งมีส่วนประกอบของ น้ำมันปาล์ม และ โปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่เป็นวีแกนที่มีส่วนผสมของไขมันจากพืช         ผลิตภัณฑ์เนยแข็งทำจากนมในปริมาณเกือบ 100 % และใช้เวลาในการหมักบ่มนาน ดังนั้นราคาจึงค่อนข้างแพง ส่วนผลิตภัณฑ์โพรเซสชีส ใช้เนยแข็ง น้ำนม และไขมันพืชช่วยในการแต่งเติมผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจึงมีราคาไม่แพง แต่ก็จะให้คุณค่าทางสารอาหารน้อยกว่าชีสแท้ ผู้บริโภคสามารถพิจารณาเลือกจากฉลากที่เรานำมาแสดงในตารางได้ โดยมีการเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนักไว้เพื่อช่วยในการตัดสินใจด้วย          ผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่มีราคาต่อกรัมถูกที่สุด คือ  ครีมฟีลด์ เท็น ซิงเกิ้ล (ผลิตภัณฑ์จากชีส) CREAMFIELDS 10 SINGLES ราคา  0.282  บาทต่อกรัม และผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่มีราคาต่อกรัมแพงที่สุด คือ  เอ็กซ์ตร้า เมชัวร์ เชดด้า (เนยแข็งชนิดเนมชีส) ตรา คุมบี คาสเซิล COOMBE CASTLE TM EXTRA MATURE CHEDDAR ราคา  1.945  บาทต่อกรัม  โดยผลิตภัณฑ์ชีสส่วนใหญ่ที่สุ่มเก็บมา เป็นผลิตภัณฑ์ชีสที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น         การแสดงฉลากเรื่องการผลิต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่ไม่ได้ระบุวันผลิต จำนวน 19 ตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างมีการระบุวันหมดอายุ หรือ วันที่ควรบริโภคก่อน  โดยส่วนใหญ่มีอายุการเก็บประมาณ 1 ปี และแนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 0 – 8 องศาเซลเซียส           ข้อมูลอ้างอิงhttps://th.wikipedia.org/wiki/เนยแข็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 เช็คปริมาณพลังงานใน “ชีสทาร์ต”

หลายคนคงจะยังจำปรากฏการณ์ “ต่อคิวซื้อ” ของขนม 2 รสชาติที่เคยเขย่าวงการคนชอบทานขนมในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ทั้ง “โรตีบอย” ที่เคยฮิตถล่มทลายทั่วบ้านทั่วเมืองเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว แต่ว่าตอนนี้ปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อย หรืออย่าง“โดนัท คริสปี้ ครีม” ที่สร้างกระแสคนรอซื้อต่อแถวยาวเป็นกิโลสมัยที่เพิ่งมาเปิดสาขาในเมืองไทยเมื่อ 6 ปีก่อนมายุคนี้ก็เป็นคิวของ “ชีสทาร์ต” ที่มาสร้างกระแสเป็นขนมหวานยอดฮิตชนิดใหม่ล่าสุด ที่กำลังเป็นที่นิยมของคนชอบรับประทานขนมหวานและคนที่รักชีส ซึ่ง ณ เวลานี้ก็มีชีสทาร์ตหลากหลายแบรนด์ให้ได้ลองเลือกซื้อเลือกชิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านที่อินพอร์ตมาจากต่างประเทศ เพราะว่ากันว่าชีสทาร์ตมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น แถมบรรดาร้านเบเกอรี่ชื่อดังหลายๆ เจ้า ก็ผลิตเมนูชีสทาร์ตออกมาต้อนรับกระแส ขอแข่งกับแบรนด์ชีสทาร์ตเจ้าดัง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีของคนกินเพราะมีตัวเลือกหลากหลายฉลาดซื้อ ไม่ยอมตกเทรนด์อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เราก็เคยทดสอบดูเรื่องของพลังงานในขนมดังๆ อยู่เสมอ ในเมื่อตอนนี้ ชีสทาร์ต กำลังได้รับความนิยม มีหรือที่ ฉลาดซื้อ จะพลาด โดยครั้งนี้เราจะนำชีสทาร์ตมาวิเคราะห์ดูปริมาณพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ไปดูกันสิว่าชีสทาร์ตของแต่ละร้านมีปริมาณมากน้อยแค่ไหนกันบ้างชีสทาร์ต ทำมาจากอะไร?ส่วนประกอบหลักๆ ของชีสทาร์ต แบ่งได้เป็น 2 ส่วน 1.ส่วนของแป้งทาร์ต ส่วนประกอบหลักๆ ก็จะมีแป้งอเนกประสงค์ เนยจืด ไข่แดง น้ำตาลไอซ์ซิ่ง ส่วนที่ 2 ก็คือไส้ที่เป็นครีมชีส จะประกอบด้วย ครีมชีส มาสคาโปเน่ชีส น้ำตาลทราย นมสด วิปปิ้งครีม ไข่ตารางแสดงผลการทดสอบเปรียบเทียบสารอาหารต่างๆ ในชีสทาร์ต***ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น***เก็บตัวอย่างเมื่อเดือน มกราคม 2560ผลทดสอบ-ผลทดสอบปริมาณพลังงานใน ชีสทาร์ต ทั้ง 7 ตัวอย่าง พบค่าเฉลี่ยปริมาณพลังงานต่อชีสทาร์ต 1 ชิ้น อยู่ที่ 239.05 กิโลแคลอรี-โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพลังงานเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้นสูงที่สุดคือ ตัวอย่างชีสทาร์ตจากร้าน mx cakes & bakery ที่พบปริมาณพลังงานอยู่ที่ 325.55 กิโลแคลอรี หรือประมาณ 16.27% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน คือ 2,000 กิโลแคลอรี ซึ่งเหตุพลที่ทำให้พบปริมาณพลังงานในตัวอย่างชีสทาร์ตจากร้าน mx cakes & bakery สูงกว่าตัวอย่างจากร้านอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะน้ำหนักของชีสทาร์ตต่อชิ้นมากกว่าตัวอย่างจากร้านอื่น-ซึ่งถ้าเทียบในปริมาณของชีสทาร์ตที่ 100 กรัมเท่ากัน ตัวอย่างที่พบปริมาณพลังงานมากที่สุดคือ ตัวอย่างจากร้าน Flavour Field ที่พบปริมาณพลังงานอยู่ที่ 455 กิโลแคลอรีต่อทาร์ตชีส 100 กรัม -ไขมัน ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับขนมปังหรือขนมอบ โดยปริมาณไขมันที่เหมาะสบกับร่างกายใน 1 วัน คือไม่เกิน 65 กรัม ซึ่งจากผลวิเคราะห์พบว่าชีสทาร์ตทั้ง 7 ตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยปริมาณไขมันต่อ 100 กรัม อยู่ที่ 25.21 กรัม หรือประมาณ 38% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง-สำหรับปริมาณโซเดียมในชีสทาร์ต พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 211 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม หรือคิดเป็น 8.7% ของปริมาณที่เหมาะใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมฉลาดซื้อแนะนำ-ปริมาณพลังงานเฉลี่ยของชีสทาร์ต 1 ชิ้นที่ 239.05 กิโลแคลอรี ถือว่าใกล้เคียงกับปริมาณของอาหารจานเดียว 1 จานที่ปริมาณ 300 – 600 กิโลแคลอรี เพราะฉะนั้นถึงคุณจะชอบขนมหวาน ชอบชีส หรือชอบชีสทาร์ตมากสักแค่ไหน ก็ต้องหักห้ามใจ รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะถ้ารวมกับอาหารจานหลักที่เราต้องรับประทานอีก 3 มื้อ เราก็มีโอกาสได้รับพลังงานสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ-เช่นเดียวกับปริมาณไขมันในที่พบในชีสทาร์ต มีพบว่ามี ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25.21 กรัม ต่อทาร์ตชีส 100 กรัม หรือประมาณ 38% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ถ้ามองในมุมว่าชีสทาร์ตเป็นเพียงแค่ขนมหวานทานเล่น เพราะต้องไม่ลืมว่าใน 1 วันเราต้องรับประทานอาหารมื้อหลักอีก 3 มื้อ ซึ้งก็มีความเป็นไปได้ว่าเราจะได้ไขมันมากกว่าปริมาณที่เหมาะสมใน 1 วันปริมาณสารอาหารที่เหมาะกับร่างกายใน 1 วัน-พลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี-โปรตีน ตามน้ำหนักตัว กรัม (เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนต่อวันคือ 50 กรัม)-ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 กรัม-กรดไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 กรัม-โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม-คาร์โบไฮเดรต ทั้งหมด 300 กรัม-ใยอาหาร 25 กรัม-โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม-น้ำตาล น้อยกว่า 24 กรัม (ประมาณ 6 ช้อนชา)ที่มา : ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes))

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 พลังงานที่ซ่อนอยู่ในแซนวิชแฮมชีส

ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าในเวลาที่เราเร่งรีบและหิวไปพร้อมๆ กัน อาหารอะไรจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ไม่แน่ว่าเมนูที่มาแรงเป็นอันดับแรกอาจจะหนีไม่พ้น “แซนวิช” อาหารหลักของคนอังกฤษ ที่ได้แพร่หลายความนิยมมาสู่คนไทยในวงกว้าง เพราะเป็นอาหารที่รับประทานได้อย่างสะดวก (ขนมปังประกบกัน สอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์ที่ชอบ ราดซอสที่ต้องการก็เสร็จ) แถมยังอยู่ท้องอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเล็กกะทัดรัดของแซนวิช จึงอาจทำให้ใครหลายคนคิดไปว่าอาหารชนิดนี้มีพลังงานน้อย เป็นแค่อาหารว่างแคลอรีต่ำ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปพิสูจน์กันว่า จริงๆ แล้วแซนวิชมีปริมาณไขมันและพลังงานมากน้อยแค่ไหน โดยจะขอเลือกแซนวิชไส้แฮมชีส ซึ่งเป็นไส้ที่ถูกปากคนส่วนใหญ่มากที่สุดมาทดสอบจำนวน 13 ยี่ห้อสรุปผลการทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แซนวิสไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) คือยี่ห้อ Bread Talk 395 กิโลแคลอรี เพราะเป็นขนมปังชุบไข่ รองลงมาคือยี่ห้อ S&P 316 กิโลแคลอรี และแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือยี่ห้อ Victory 110 กิโลแคลอรี - สำหรับตัวอย่างแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีปริมาณไขมันมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค)คือ ยี่ห้อ Flavor Field 17 กรัม และปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ Puff & Pie และ UFM ที่มีค่าไขมัน 5 กรัมเท่ากัน- มีแซนวิชไส้แฮมชีส 7 ตัวอย่างที่มีปริมาณพลังงานมากกว่าการรับประทานข้าวสวย 1 จานหรือมากกว่า 240 กิโลแคลอรี แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการรับประทาน แซนวิชก็ไม่สามารถเป็นอาหารว่างมื้อเบาๆ แคลอรีต่ำได้       ตามหลักโภชนาการปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี และสำหรับของว่างหรืออาหารว่างควรมีค่าพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการหรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี โดยปริมาณพลังงานที่เกินความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานสูตรคำนวณพลังงานที่น้อยที่สุดร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือในกรณีที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย สามารถคำนวณได้ดังนี้BMR สำหรับผู้ชาย = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(5 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(6.8 x อายุ)BMR สำหรับผู้หญิง = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(1.8 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(4.7 x อายุ)เช่น สมมติให้ ก เป็นผู้หญิง อายุ 22 ปี ส่วนสูง 155 ซม. น้ำหนัก 45 กก. BMR จะเท่ากับ 665+(9.6 x 45)+(1.8 x 155)-(4.7 x 22) = 1,273 กิโลแคลอรี**สูตรคำนวณ Basal Metabolic Rate (BMR) ของ Harris Benedict Formula ในกรณีที่วันนั้นเราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย-----------------------------------------------------------------แซนวิชมาจากไหนจากหนังสือตำนานอาหารโลก คำว่า แซนวิช มีที่มาจากการตั้งตามชื่อของ จอห์น มอนทากิว (John Montague 1781-1792) หรือ เอิร์ลแห่งแซนวิชที่ 4 (4th Earl of Sandwich) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกองทัพเรืออังกฤษและมีนิสัยชอบเล่นการพนัน โดยเขาได้คิดค้นรูปแบบของอาหารชนิดนี้ขึ้นมา ด้วยการนำเนื้อประกบขนมปัง 2 แผ่น เพื่อให้นิ้วของเขาไม่มันจนเกิดตำหนิบนไพ่ให้คู่แข่งเดารูปแบบการเล่นได้ ซึ่งไม่นานอาหารดังกล่าวก็ได้รับความนิยมตามโต๊ะพนันของอังกฤษจนแพร่หลาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอังกฤษอย่างรวดเร็วแม้แซนวิชจะอยู่ท้องแต่มีสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันน้อยไปหน่อย เพราะส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งและไขมัน จึงควรเพิ่มสารอาหารด้วยการเติมผักที่ชอบเช่น ผักสลัด ผักกาดหอม มะเขือเทศ และควรเลือกแซนวิชที่ใช้ขนมปังโฮลวีท (Whole wheat bread) เพราะมีสารอาหารและใยอาหารมากกว่าขนมปังขัดขาว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point