ฉบับที่ 246 ทดสอบความยาวของ “ไหมขัดฟัน”

        คุณคิดว่าอวัยวะส่วนไหนของคนเราที่สกปรกที่สุด ?         คำตอบคือ “ช่องปาก”         การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวอาจดูแลความสะอาดในช่องปากได้ไม่ทั่วถึง ผู้บริโภคหลายคนจึงเลือกใช้ไหมขัดฟัน(Floss) มาช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารที่ติดอยู่บริเวณที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะซอกฟัน ด้านข้างของฟันที่อยู่ชิดกัน ร่องเหงือก และฟันกรามซี่ใน ซึ่งเมื่อใช้เส้นใยขนาดเล็กๆ นี้ขัดฟันหลังแปรงฟันอย่างน้อยวันละครั้งสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันฟันผุ ลดกลิ่นปาก ลดการสะสมของหินปูน และช่วยลดปัญหาเหงือกอักเสบเพราะมีคราบหินปูนที่ฝังแน่นบนผิวเคลือบฟันได้          ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หาซื้อได้สะดวก ส่วนใหญ่ที่วางขายจะเป็นแบบม้วนอยู่ในตลับ ซึ่งหากมองภายนอกเราไม่อาจรู้ได้ว่าไหมขัดฟันในตลับนั้นมีความยาวเท่ากับที่ระบุไว้บนฉลากจริงหรือไม่ ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของผู้ผลิตด้วยการชวนผู้บริโภคมาวัดความยาวของไหมขัดฟันกัน         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันจำนวน 14 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 มาวัดความยาวของไหมขัดฟันเปรียบเทียบกับความยาวที่ระบุบนฉลาก เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการทดสอบความยาวของ “ไหมขัดฟัน”         ข่าวดี ทุกตัวอย่างมีความยาวที่วัดได้จริงมากกว่าความยาวที่ระบุไว้บนฉลาก         อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างของความยาวเฉลี่ยที่วัดได้ทั้ง 4 ครั้งในการทดสอบ กับความยาวที่ระบุบนฉลาก พบว่า ไหมขัดฟันฟลูโอคารีล มีส่วนต่างมากที่สุดคือ +10.85 เมตร ส่วน ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ มีส่วนต่างน้อยที่สุด คือ +0.89 เมตร         เมื่อนำราคามาเปรียบเทียบกับความยาวเฉลี่ยที่วัดได้จริง เพื่อคำนวณหาราคาต่อเมตร พบว่า ยี่ห้อสกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ มีราคาสูงที่สุด คือ เมตรละ 3.49 บาท ส่วนยี่ห้อ fresh up มีราคาต่ำที่สุด คือ เมตรละ 0.35 บาท ข้อสังเกต- ทุกตัวอย่างมีข้อความหรือรูปภาพแนะนำวิธีการใช้ไหมขัดฟันไว้ให้  - จากข้อมูลที่ National Health Service (NHS) ของอังกฤษแนะนำความยาวของไหมขัดฟันที่ควรใช้ต่อครั้งไว้ประมาณ 45 เซนติเมตร พบว่ามี 8 ตัวอย่างที่บอกให้ใช้ความยาวตามที่แนะนำนี้ไว้บนฉลาก ได้แก่เดนท์พลัส ไหมขัดฟันเคลือบขี้ผึ้ง,สปาร์คเคิล ไวท์ เดนทัลฟลอส,ออรัล-บี ไกล์ด โปร-เฮลธ์ ดีพ คลีน ฟลอส, Watsons Dental Floss,ออรัล-บี เอนเซนเชียล ฟลอส, fresh up, สกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ และไหมขัดฟันเดนทิสเต้(18 นิ้ว = 45.72 เซนติเมตร)  ในขณะที่ยี่ห้อคอลเกต โททอล มินท์ ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งยาวที่สุด คือ 50 เซนติเมตร และไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งสั้นที่สุด คือ 25 เซนติเมตร รวมทั้งมีตัวอย่างที่ไม่ได้ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งไว้คือ ยี่ห้อเดนติคอน ไหมขัดฟัน ฟลอส แอนด์ สมูท- วัสดุและส่วนประกอบหลักๆ ในไหมขัดฟัน คือ เส้นใยพลาสติกสังเคราะห์  ขี้ผึ้ง(wax) และกลิ่น/รสชาติ เมื่อสำรวจข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟัน พบว่ามี 4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุชนิดของเส้นใยพลาสติก ได้แก่ คอลเกต โททอล มินท์, ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์, fresh up และ สกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ ส่วนที่ไม่ระบุว่าเคลือบขี้ผึ้งหรือไม่นั้นมี 2 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อคอลเกต โททอล มินท์ และ fresh up อีกทั้งมีเพียงตัวอย่างเดียวที่ระบุว่าไม่มีกลิ่น/รสชาติ คือ ยี่ห้อ REACH- ไหมขัดฟันฟลูโอคารีล ระบุว่าเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นใช้ไหมขัดฟัน เพราะมีเส้นไหมบางเพียง 0.04 มิลลิเมตร และเพิ่มโปรวิตามินบี 5 ที่ดีต่อเหงือกด้วย-ยี่ห้อสปาร์คเคิล ไวท์ เดนทัลฟลอส ระบุว่าเป็นไหมขัดฟันแบบเอ็กซ์แพนดิ้งที่จะขยายตัวช่วยเพิ่มพื้นผิวให้พอดีกับซอกฟัน ต่างจากไหมขัดฟันแบบปกติที่จะมีช่องว่าง-ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ ระบุว่าได้ผ่านการรับรองคุณภาพโดยสมาคมทันตแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ส่วนยี่ห้อสกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ มีสัญลักษณ์ LABORATORY TESTED บนฉลาก คำแนะนำ - ไหมขัดฟันมีทั้งแบบเส้นใยไนลอนที่ลื่นและใช้ง่าย แต่จะบางและขาดง่าย และแบบพลาสติกเส้นใยเดี่ยว(PTFE) ที่เหนียวมากกว่า แต่อาจแข็งและบาดเหงือกจนเลือดไหลได้ - ควรเลือกใช้ไหมขัดฟันที่เส้นเล็กและแบนแผ่ออกได้เมื่อผ่านซอกฟัน สำหรับมือใหม่อาจเลือกใช้ชนิดเคลือบขี้ผึ้งเพราะใช้ง่าย แต่หากคล่องมือแล้วอาจใช้ชนิดไม่เคลือบขี้ผึ้ง เพราะมีความคมมากกว่า จะขจัดคราบหินปูนเกิดใหม่ได้ดีกว่า หรือจะปรึกษาทันตแพทย์เพื่อให้ช่วยเลือกให้ก็ได้-บางคนใช้ไหมขัดฟันแรกๆ อาจเจ็บและมีเลือดไหลได้ ซึ่งเลือดจะหยุดไหลเองถ้าสุขภาพเหงือกดี แต่หากเลือดยังไหลอยู่หลังจากใช้ไหมขัดฟันแล้ว 2-3 วัน ควรไปพบทันตแพทย์- หากไหมขัดฟันหมดกะทันหัน ไม่ควรใช้ด้ายเย็บผ้าหรือเส้นผมตัวเองมาแทนเด็ดขาด เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อจึงยังมีเชื้อโรคติดอยู่ อาจเสี่ยงติดเชื้อได้- ไหมขัดฟันที่ใช้แล้วควรทิ้งทันที ห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อแบคทีเรียได้ เมื่อพิจารณาคุณสมบัติโดยรวมๆ ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันที่นำมาทดสอบนี้แล้ว ดูไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นการเลือกซื้ออาจไม่สำคัญเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยดูแลสุขอนามัยในช่องปากให้สะอาดล้ำลึกยิ่งขึ้นข้อมูลอ้างอิง https://www.pobpad.com/https://www.hisopartyofficial.com/contenthttps://chulalongkornhospital.go.thhttps://www.thaihealth.or.th/https://themomentum.co/plastic-diary-ep3/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 เลือกยาสีฟันให้เหมาะกับช่องปาก

ยาสีฟัน เป็นเครื่องสำอางอีกประเภทหนึ่งที่วางจำหน่ายมากมายหลายสูตรในท้องตลาดบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสูตรสมุนไพร สูตรฟันขาวหรือสูตรป้องกันฟันผุ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าควรเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตนเอง รวมทั้งอาจเชื่อว่าการเลือกยาสีฟันที่ทำจากสมุนไพรจะดีกับช่องปากมากที่สุด แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือรู้จักหน้าที่ของยาสีฟันกันก่อนยาสีฟันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่วมกับแปรงสีฟัน มีลักษณะเป็นผง ของเหลวหรือของเหลวข้น ซึ่งแม้จะมีมากมายหลายยี่ห้อหรือหลายสูตร แต่หน้าที่หลักของยาสีฟันคือการช่วยทำให้ฟันสะอาด หรือเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน เพื่อให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น โดยทุกยี่ห้อจะมีส่วนประกอบหลัก ดังนี้ 1. สารที่ใช้ทำความสะอาดหรือขัดฟัน ทำหน้าที่ขจัดคราบที่ติดบนผิวฟัน 2. สารลดแรงตึงผิว ทำหน้าที่ช่วยทำให้เกิดฟอง 3. สารทำให้ข้น ทำหน้าที่ป้องกันการแยกตัวของเนื้อยาสีฟัน 4. สารควบคุมความเป็นกรด-ด่าง 5. สารปรุงแต่งกลิ่นรส ทำหน้าที่ให้กลิ่นและรสของยาสีฟัน 6. สารกันเสีย ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งยาสีฟันจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิตไปรู้จักยาสีฟันแต่ละสูตรกันแม้ยาสีฟันจะมีหลายสูตร แต่หากพิจารณาจากส่วนผสมจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ได้ ดังนี้1. สูตรผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันกลุ่มนี้มีข้อดีคือ สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้เมื่อใช้เป็นประจำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชาชนใช้ยาสีฟันกลุ่มฟลูออไรด์เป็นหลัก และควรแปรงฟันแบบ 2 – 2 – 2 คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละนาน 2 นาที และภายใน 2 ชั่วโมงหลังแปรงฟันควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 2. กลุ่มผสมสารฆ่าเชื้อโรค ยาสีฟันกลุ่มนี้ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผลและช่วยให้เหงือกแข็งแรงได้3. กลุ่มลดอาการเสียวฟัน ยาสีฟันกลุ่มนี้จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์หรือโพแทสเซียมไนเตรท ซึ่งเมื่อแปรงแล้วจะสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว4. กลุ่มช่วยให้ฟันขาว ยาสีฟันกลุ่มนี้มีส่วนผสมสารขัดฟัน และอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ร่วมด้วย ซึ่งสามารถช่วยขจัดคราบสีต่างๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก ทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่จะไม่ขาวไปกว่าสีธรรมชาติเดิมของฟันอย่างไรก็ตามหากใช้เป็นประจำจะทำให้สารเคลือบฟันบางลง จนฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิมหรือมีอาการเสียวฟันมากขึ้น รวมทั้งอาจเกินอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ แนะวิธีการเลือกซื้อยาสีฟันหลักพิจารณาง่ายๆ ในเลือกซื้อยาสีฟันสามารถทำได้จาก 3 ข้อดังนี้1. ควรเลือกให้เหมาะสมกับปัญหาช่องปากของเรา เพราะแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่แตกต่างกัน เช่น หากมีอาการเสียวฟันก็ควรใช้สูตรลดอาการเสียวฟัน อย่างไรก็ตามหากใช้งานแล้วผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการแพ้ยาสีฟันได้เช่นกัน เช่น อาการปวดแสบปวดร้อนในขณะที่ยาสีฟันอยู่ในปาก หรือหลังใช้งานแล้วพบว่าริมฝีปากดำคล้ำจากอาการแพ้ หรือเนื้อเยื่อบุผิวในปากหลุดลอกออกมาก็ควรเปลี่ยนสูตรใหม่ให้มีความอ่อนโยนมากขึ้น 2. เลือกยี่ห้อที่มีฉลากครบถ้วน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาสีฟัน (พ.ศ. 2552) กำหนดให้ที่กล่องและภาชนะบรรจุยาสีฟันต้องมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ชื่อผลิตภัณฑ์ 2. ชนิด 3. ชื่อสารที่เป็นส่วนผสมทั้งหมด 4. ปริมาณสุทธิ แสดงเป็นกรัมหรือลูกบาศก์เซนติเมตร 5. วัน เดือน ปี ที่ผลิตและรหัสรุ่นที่ทำ 6. คำเตือนหรือข้อความตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7. วิธีใช้และข้อควรระวัง 8. ชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน3. มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะฟันผุเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีและง่ายที่สุดในการยับยั้งปัญหาดังกล่าว คือ การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์แปรงฟันเป็นประจำ โดยผู้บริโภคสามารถดูได้จากรายละเอียดส่วนผสม นอกจากนี้หากเราต้องการให้สุขภาพช่องปากดีอยู่เสมอนั้น ควรแปรงฟันและเหงือกให้ถูกวิธี เพราะสามารถช่วยให้เหงือกและฟันสะอาดแข็งแรงได้จริง รวมทั้งควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือนอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >