ฉบับที่ 265 โจรออนไลน์ หลอกขายต้นทุเรียนไม่ตรงปก

        เตือนภัย ! นักช้อปออนไลน์ ระวังโจรในคราบพ่อค้าคนกลางบนเฟซบุ๊ก         มิจฉาชีพเหล่านี้จะมาพร้อมข้อความโฆษณว่าขายสินค้าคุณภาพเลิศ ราคาเกินคุ้ม ส่งฟรี แถมเก็บปลายทางอีกต่างหาก เชิญชวนให้นักช้อปมือลั่นกดสั่งสินค้าไป โดยกว่าจะมารู้ตัวว่าถูกหลอกก็ตอนได้รับของไม่ตรงปกนี่แหละ แต่ใครจะคาดคิดว่าจะโกงกันได้แม้กระทั่ง “ต้นทุเรียน”         คุณสายลมอยากปลูกทุเรียน“มูซังคิง” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาแห่งทุเรียนมาเลย์’ มากๆ ด้วยเห็นว่าทุเรียนพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมากและขายกันในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท วันหนึ่งเห็นร้านหนึ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กว่าขายต้นทุเรียน “มูซังคิง “ สายพันธุ์แท้จากมาเลเซีย ระบุว่ามี 3 ขา ใน 1 กระถาง ไซส์​สูงกว่า 1 เมตร  กำลังลดราคา 50 % พร้อมมีบริการเก็บเงินปลายทาง และรับประกันหากเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งให้ด้วย รออะไรครับ...เขาจึงสั่งซื้อไป 6  ต้น เพื่อให้ได้โปรโมชันนี้ “แถมอีก 2  ต้น พร้อมปุ๋ย ราคารวมส่ง 950 บาท” พอสั่งไปแล้วทางร้านออนไลน์แจ้งกลับมาว่าให้รอประมาณ 5 วัน ต้นทุเรียนจะส่งไปถึงหน้าบ้าน แน่นอนว่าระหว่างนั้นเขาก็รออย่างใจจดใจจ่อ         เมื่อถึงกำหนดส่ง ต้นทุเรียนมาส่งตามกำหนดไม่ได้หลอกลวง แต่ทว่าวันนั้นเขาไม่อยู่บ้าน จึงฝากให้คนที่บ้านจ่ายเงินและเซ็นรับของไว้ให้แทน ปัญหาอยู่ตรงนี้จริงๆ เพราะถ้าเขาอยู่บ้านจะไม่รับของเด็ดขาด “สภาพกล่องที่ใส่ต้นทุเรียนมันสั้นมาก” เขามองก็รู้แล้วว่าได้ของไม่ตรงปกแน่ มือเริ่มสั่นแล้วคราวนี้ ยิ่งเมื่อเขาเปิดกล่องก็พบว่าต้นทุเรียนทั้ง 6 ต้น มีแค่ขาเดียวและสูงแค่ 40 เซนติเมตรไม่เหมือนคำโฆษณาสักนิด         คุณสายลมรีบติดต่อทางร้านทันทีแต่ก็ไร้สัญญาณตอบรับใดๆ และเขายังผิดสังเกตอีกอย่างด้วยว่า เขาสั่งซื้อสินค้าจากเพจเฟซบุ๊ก แต่ทำไมจ่าหน้าส่งมาจาก “แอปพลิเคชันชอปปิ้งสีส้ม” เขาคาดว่ามิจฉาชีพพวกนี้น่าจะสั่งซื้อทุเรียนพันธุ์ถูกๆ แล้วมาขายต่อเพื่อกินส่วนต่างอีกทีแน่ๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้สอบข้อเท็จจริงและขอหลักฐานบางส่วนจากทางคุณสายลมแล้ว จึงแนะนำเบื้องต้นให้คุณสายลมทำตามขั้นตอนดังนี้         1.รีบไปดำเนินการแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้ตำรวจเอาผิดกับเจ้าของเฟซบุ๊กที่หลอกลวงขายสินค้า         2.ส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทขนส่งที่มาส่งของให้โดยด่วนเพื่อให้ระงับยอดเงิน 950 บาท (ที่ยังค้างอยู่กับทางบริษัทขนส่ง) ไม่ส่งไปให้กับร้านค้าที่กระทำการส่งสินค้าไม่ตรงปกมาให้ อีกทั้งขอให้ทางบริษัทนส่งคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย         เมื่อติดตามเรื่องจากคุณสายลมพบว่า ในระยะเวลา 1 เดือนภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตาม ข้อ 1 และ 2 แล้ว ปรากฎว่ายังไม่คืบหน้า ทางมูลนิธิฯ จึงทำหนังสือสำทับไปยังบริษัทขนส่งอีกรอบ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อขอให้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กของมิจฉาชีพด้วย           ปัจจุบันกรณีซื้อสินค้าแล้วได้รับของไม่ตรงปกนี้ อีกทางออกหนึ่งคือ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องคดีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ด้วย “ศาลยุติธรรมแผนกคดีซื้อขายออนไลน์” ได้เปิดระบบให้ผู้ร้องสามารถฟ้องคดีตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายออนไลน์สามารถยื่นเรื่องด้วยตัวเองและไม่จำกัดวงเงินมากน้อย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ร้องจะต้องมีหลักฐานประกอบเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า หลักฐานการชำระเงิน รวมถึงวิดีโอที่ถ่ายขณะเปิดกล่อง เป็นต้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการสืบพยานและไกล่เกลี่ยผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด หากผู้ร้องประสงค์จะฟ้องคดีออนไลน์สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2566

แค่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษกว่า 6,185 คน         รายงานสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากกรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ป่วยจากโรคดังกล่าว จำนวน 6,185 คน ซึ่งกลุ่มที่พบมากที่สุด มี 3 อันดับ ได้แก่ อายุ 5-9 ปี  0-4 ปี  15-24 ปี ตามลำดับ โดยการระบาดจากทั้ง 19 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 3-348 คน พบว่าในทั้งหมดจากเหตุการณ์ มีการระบาดในสถานศึกษา 11 เหตุการณ์ รองลงมา คือ เรือนจำ/ค่ายลูกเสือ 4 เหตุการณ์ อื่นๆอีก 3 เหตุการณ์ และบ้านพัก 1 เหตุการณ์  จึงคาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทุกปีมักพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงช่วงต้นปี มกราคม – มีนาคม ลักษณะคล้ายคลึงกัน กรมฯ จึงให้คำแนะนำว่า ประชาชนควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สั่งปรับ “ลาซาด้า-ช้อปปี้” กรณีโฆษณาผิดกฎหมาย         เภสัชวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการแถลงการตรวจพบโฆษณาอาหาร ยาและเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ผิดกฎหมายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ลาซาด้าและช้อปปี้ เป็นจำนวนมากซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ จึงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและฝ่ายกฎหมายเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี โดยทาง อย.ได้ปรับลาซาด้าไปแล้วกว่า 45 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 4.9 ล้านบาท ปรับช้อปปี้ 22 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 1.9 ล้านบาท รวมถึงคดีที่มีโทษจำคุกอีกจำนวนมากที่ส่งให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ นอกจากนี้ ทาง อย.ยังได้เข้าพบผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อหารือในการกวาดล้างโฆษณาเถื่อนในตลาดออนไลน์ พบเว็บหน่วยงานรัฐโดนฝังโฆษณาเว็บพนันกว่า 30 URL         นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานในประเทศไทยกว่า 500 รายการ ส่วนมากเป็นการโจมตีในรูปแบบการแฮกเว็บไซต์  2 หรือ 3 ของการโจมตีทั้งหมดเป็นหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีมากที่สุด คือ หน่วยงานการศึกษา  รองลงมาหน่วยงานสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามลำดับ โดยหน่วยงานราชการ  20 กระทรวง โดนแฮ็กเว็บไซต์และถูกโจมตีข้อมูลด้วยการฝังสคริปต์โฆษณาเว็บไซต์การพนันออนไลน์มากถึง 30 ล้าน URL ทั้งนี้ ซึ่งทาง สกมช. ได้เสนอมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาวต่อคณะรัฐมนตรี หากประชาชนที่พบเห็นการหลอกลวง เว็บไซต์ปลอม หรือผู้ที่มีข้อมูลเว็บพนันออนไลน์ สามารถแจ้งได้กับกระทรวงดิจิทัล  ได้ที่ 1212 หรือ https://facebook.com/DESMonitor เพจอาสาจับตาออนไลน์ หรือแจ้งได้ที่ ncert@ncsa.or.th หลังปรับมิเตอร์แท็กซี่ใหม่พบเรื่องร้องเรียนกว่า 2000 เรื่อง         19 กุมภาพันธ์ 2566 กรมขนส่งทางบกให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่มีการปรับราคาของแท็กซี่มิเตอร์ใหม่ (16 มกราคม) มีผู้โดยสารร้องเรียนปัญหารถแท็กซี่เป็นจำนวนกว่า 2,120 เรื่องแล้ว โดยความผิดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร จำนวน 720 เรื่อง 2.แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ จำนวน 455 เรื่อง 3.ขับรถประมาทหวาดเสียว จำนวน 358 เรื่อง 4.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร จำนวน 237 เรื่อง 5.มาตรค่าโดยสารผิดปกติ จำนวน 221 เรื่อง ทั้งนี้มีการดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 1,650 เรื่อง และจดแจ้งการกระทำผิด จำนวน 470 เรื่อง ทั้งนี้หากพบปัญหาเรื่องเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง สามารถแจ้งร้องเรียนกับกรมการขนส่งทางบก โทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง อย. ชี้แจง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายวิตามินซีและกาแฟปรุงสำเร็จ         จากกรณีมีผู้เสียหายร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 รายการ “ยี่ห้อ Boom VIT C 1,000 มิลลิกรัม และกาแฟปรุงสำเร็จรูปผง ยี่ห้อ Room COFFEE” โดยสั่งซื้อจากทาง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด แต่เมื่อได้ลองรับประทานไปพร้อมกับมารดา พบว่า มีอาการข้างเคียง เช่น แขน ขา อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลุกไม่ขึ้น จนไม่สามารถถือของได้ จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงได้ส่งจดหมายถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่า มีส่วนผสมอันตรายหรือได้รับอนุญาตตามถูกกฎหมายหรือไม่เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค         วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทางอย.ได้ส่งหนังสือ ชี้แจ้งถึงมูลนิธิฯ ว่า กรณีให้ตรวจสอบ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้ง 2 รายการ ทาง อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ จากสถานที่จำหน่าย เพื่อตรวจหาผลวิเคราะห์ยาแผนโบราณในผลิตภัณฑ์ พบว่า ไม่พบยาแผนปัจจุบันในทั้ง 2 รายการ แต่จากผลการตรวจสอบฉลากอาหาร พบว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปสำเร็จชนิดผงยี่ห้อ ROOM COFFEE แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(10) มีโทษตามมาตรา 51 แห่งราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งทาง อย. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 กระแสต่างแดน

จ่ายแล้วจ่ายอีก        ตำรวจไต้หวันเตือนนักช้อปออนไลน์ให้ระวัง “โทรศัพท์แอบอ้าง” หลังมีผู้มาแจ้งความเรื่องดังกล่าวมากกว่า 2,725 ครั้งในไตรมาสที่สองของปีนี้กองบัญชาการสอบสวนอาชญากรรมของไต้หวันระบุว่า มิจฉาชีพเหล่านี้จะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้าของร้านดังหรือแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น ร้านหนังสือ books.com.tw ร้านอุปกรณ์กีฬา Decathlon Group หรือ Shopee เป็นต้น ลูกค้าจะได้รับแจ้งให้ชำระเงินซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากครั้งแรก “ทำรายการไม่สำเร็จ” หรือมีปัญหาในการทำ แบ่งผ่อนชำระ บ้างก็ได้รับข้อมูลว่าทำแล้วจะได้รับของแถม หรือได้อัปเกรดเป็นสมาชิกระดับวีไอพี ตำรวจจึงขอให้เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้กำกับดูแลบริษัทที่รับจ้างดูแลฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการรั่วไหล หรือการแฮคข้อมูล และให้แจ้งเตือนผู้ใช้ที่หน้าแรกของร้านด้วยส่วนผู้บริโภค ขอให้หลีกเลี่ยงการรับสายจากหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย +2 หรือ +886   จมด้วยกัน        ฝันร้ายของบริษัทประกันรถยนต์กลายเป็นจริง เมื่อมีการเคลมประกันเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมากโดยเจ้าของรถยนต์ในกรุงโซล หลังเกิดน้ำท่วมหนักเพราะฝนที่ตกหนักสองวันติดต่อกันเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการแจ้งเคลมประกันยานพาหนะที่เสียหายเข้ามากว่า 7,000 คัน และในจำนวนนั้นมีไม่ต่ำกว่า 1,500 คัน ที่เป็นรถนำเข้าราคาแพงของคนมีฐานะที่อาศัยอยู่ในย่านกังนัม   กรณีของบริษัทซัมซุงไฟร์แอนด์มารีนอินชัวรันส์ จากรถที่แจ้งเคลมเข้ามา 2,371 คัน มี 939 คัน (เกือบร้อยละ 40) ที่เข้าข่ายเป็นรถหรู ที่มีทุนประกันรวมกันไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านวอน หรือประมาณ 680 ล้านบาท แม้บริษัทประกันรถยนต์จะไม่เดือดร้อนถึงขั้นต้องปิดตัวไปเหมือนธุรกิจประกันสุขภาพในบางประเทศ เพราะได้กำไรดีมาตลอดแม้ในช่วงโควิดระบาด แต่คนที่ฝันสลายคือผู้บริโภคที่ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าจะได้จ่ายเบี้ยประกันถูกลง ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ตลาด อะไรอยู่ในกระเป๋า            เทรนด์ใหม่มาแรงใน Tiktok ขณะนี้คือคลิปลุ้นเปิดกระเป๋าไม่มีเจ้าของ ที่คนทำคอนเทนท์อ้างว่าได้มาจากสนามบิน สถานีรถไฟ หอพักนักศึกษา หรือบ้านเช่า เป็นต้น ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ลุ้นว่าข้างในมีอะไร มูลค่าเท่าไร เช่น ผู้ใช้รายหนึ่งนำกระเป๋าที่อ้างว่าซื้อผ่านแอปฯ ขายของมือสองมาในราคา 1,000 หยวน (ประมาณ 5,250 บาท) มาเปิดในคลิป นอกจากข้าวของทั่วไปของผู้หญิงแล้ว เธอยัง “เซอร์ไพรซ์” ที่เจอสร้อยคอแบรนด์เนม ราคาไม่ต่ำกว่า 40,000 หยวน (ประมาณ 200,000 บาท) ตามกฎหมาย การซื้อขายกระเป๋าดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของถือเป็นความผิด และทั้งสนามบินและสถานีรถไฟต่างก็ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายนำกระเป๋าไม่มีเจ้าของออกมาขายหรือเปิดประมูล ผู้ค้ารายหนึ่งบอกว่ากระเป๋าที่เขาขายนั้นส่วนใหญ่มาจากบ้านเช่าหรือหอพักนักศึกษา แต่ “ของมีค่า” นั้นถูกใส่เพิ่มเข้าไปภายหลัง เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเป็นอุบายขายของมือสองในราคาสูงขึ้น    เข้ากลุ่มอัตโนมัติ        ศาลสูงออสเตรเลียมีคำสั่งให้ผู้เสียหายจากการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรมโดยธนาคาร ANZ และธนาคาร ASB เป็นผู้ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ เพื่อเรียกร้องเงินคืน เดือนมีนาคม ปี 2563 ธนาคาร ANZ ยอมรับว่าคำนวณดอกเบี้ยผิดเพราะข้อบกพร่องของโปรแกรมที่ใช้ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 และตกลงจะจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกค้าประมาณ 100,000 คน รวมเป็นเงิน 29.4 ล้านเหรียญ  ด้านธนาคาร ASB ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ส่งข้อมูลอัตราดอกเบี้ยหลังการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2015 ถึง 2019 ก็ตกลงยินยอมจ่ายเงินรวม 8.1 ล้านเหรียญให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 73,000 ราย คำสั่งศาลครั้งนี้ทำให้ลูกหนี้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลเหล่านี้อุ่นใจได้ว่าจะมีการดำเนินคดีและมีโอกาสได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่ต้องการร่วมฟ้องก็สามารถขอถอนตัวจากคดีนี้ได้ ฟังก์ชันเหลือเชื่อ        กรมยานยนต์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานพิจารณาคดีปกครองด้วยข้อ กล่าวหาว่าโฆษณารถยนต์เทสลาว่าด้วยระบบช่วยเหลือในการขับขี่ เข้าข่ายเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของฟังก์ชัน “ออโตไพล็อต” และฟีเจอร์ “ขับอัตโนมัติ” โฆษณาในเว็บไซต์บริษัทระบุว่า “สิ่งที่คุณต้องทำคือแค่เข้าไปนั่ง แล้วบอกรถคุณว่าจะให้ไปที่ไหน ถ้าคุณไม่พูดอะไรเลย รถจะเปิดดูปฏิทินของคุณ แล้วพาคุณไปยังที่ๆ คาดว่าคุณมีนัดหมาย” ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่ารถเทสลาไม่ใช่ยานยนต์ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาขณะนี้หรือในขณะที่ทำการโฆษณา หากถูกตัดสินว่าผิดจริง เทสลาจะไม่มีสิทธิจำหน่ายรถในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแบรนด์และเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อีกต่อไป ขณะนี้บริษัทกำลังถูกสอบสวนกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นขณะรถอยู่ในโหมดออโตไพล็อตด้วย        

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เช็คพัสดุออนไลน์ใน eTracking

        ยุคนี้สมัยนี้การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะไม่เคยใช้บริการออนไลน์ก็ตาม แต่เชื่อว่าในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ที่ผ่านมาต้องมีหลายคนที่ได้ทดลองใช้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเดินทาง ลดความเสี่ยงที่จะต้องไปสัมผัส ซึ่งเป็นการป้องกันตนเองและครอบครัวได้วิธีหนึ่ง         ปัญหาที่ตามมาหลังจากมีการสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ก็คือ สถานะการสั่งสินค้าไม่อัปเดทเป็นปัจจุบัน จนทำให้คนสั่งรอแล้วรออีก ไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไหร่กันแน่ หรือพ่อค้าแม่ค้าเองก็ไม่รู้ว่าสินค้าของลูกค้าไปอยู่ที่จุดไหนแล้ว ฉบับนี้จึงพามาดูแอปพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบพัสดุ เพื่อเป็นตัวช่วยให้กับลูกค้าและพ่อค้าแม่ค้ากัน         แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า eTrackings ช่วยในการติดตามเลขพัสดุที่อัปเดทสถานะของจุดที่สินค้าอยู่ได้อย่างรวดเร็ว และแจ้งเตือนสถานะพัสดุได้ การเข้าใช้แอปฯ มีหลายวิธี ได้แก่ ลงทะเบียนของแอปฯ โดยตรง ผ่านเฟซบุ๊ก และผ่าน gmail สามารถดาวน์โหลดฟรีทั้งในระบบ Android และ iOS        คุณสมบัติของแอปฯ นี้ที่จะช่วยทุนแรงพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้า เพราะมีระบบตรวจจับพัสดุ ทั้งในรูปแบบการกรอกตัวเลข สแกน QR Code และอ่านเลขพัสดุจากรูปภาพ ซึ่งสามารถทำการสแกนหาตัวเล็ก Tracking Number โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องนั่งพิมพ์เอง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา         นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเตือนพัสดุที่กำลังติดตาม สามารถแชร์พัสดุเป็น URL และสร้าง QR Code เพื่อให้คนอื่นมาสแกน ที่สำคัญสามารถเช็คราคาพัสดุตามขนาดและน้ำหนัก ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการคำนวณราคาในการส่งสินค้าอย่างมาก ทั้งนี้ในกรณีพัสดุจัดส่งถึงแล้วระบบจะเก็บประวัติการค้นหาให้ 3 วันเมื่อครบแล้วระบบจะนำออกจากระบบทันที ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะภายในแอปพลิเคชั่นยังมีบริการค้นหารหัสไปรษณีย์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้อีกด้วย         รายชื่อบริษัทขนส่งที่สามารถติดตามพัสดุภายในแอปพลิเคชั่น eTrackings อาทิ ไปรษณีย์ไทย, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส, แฟลช เอ็กซ์เพรส, ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส, อัลฟ่า ฟาส, เบสท์ เอ็กซ์เพรส, ซีเจ โลจิสติกส์, สปีด-ดี, นินจาแวน, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส, บี เอ็กซ์เพรส, อินเตอร์ เอ็กซ์เพรส, ชิปป๊อป, อาราเม็กซ์, ทีพี โลจิสติกส์, เฟดเอกซ์, ไอที ทรานสปอร์ต, นครชัยแอร์, ยูพีเอส, นิ่ม เอ็กซ์เพรส, บี.เอส เอ็กซ์เพรส, ชิปจัง, Global ไช่เหนียว, เจแปน โพสต์, ไชน่า โพสต์, สกายบอกซ์, บุ๊คมายคาร์โก, บิสซิเนส ไอเดีย ทรานสปอร์ต, ปอลอ เอ็กซ์เพรส, บลู แอนด์ ไวท์ เอ็กซ์เพรส, เซ็นด์อิท, เจดับเบิ้ลยูดี เอ็กซ์เพรส, เอสเอ็มอี ชิปปิ้ง, เอ็นทีซี เอ็กซ์เพรส, Logistics Worldwide Express, ดีพีเอ็กซ์ โลจิสติกส์, ECMS Express, เซ้าท์เทิร์น เดลิเวอรี่ เซอร์วิส, ซีทีที เอ็กซ์เพรส, ยูเซ็น โลจิสติกส์ เป็นต้น         แต่อย่าลืมนะคะ หลังรับสินค้าที่สั่งผ่านออนไลน์มาแล้ว ควรฉีดพ่นน้ำยาแอลกอฮอล์ที่กล่องสินค้าและรีบนำกล่องไปทิ้ง พร้อมล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ถูกชักชวนตรวจสุขภาพ พร้อมซื้อคอร์สรักษาโรค

        วันหนึ่งคุณพิสมัยและลูกสาวได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เดินช้อปปิ้งอยู่ก็มีพนักงานสาวสวยสองคนเดินออกจากบูธตรงมาหาคุณพิสมัย พร้อมชวนพูดคุยสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพและโฆษณาโครงการสิทธิพิเศษโดยอ้างว่า ตนมาจากสถานพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยยื่นข้อเสนอตรวจสุขภาพให้ฟรีมูลค่า 7,000 บาท พร้อมขอชื่อและเบอร์ติดต่อคุณพิสมัยไว้         วันถัดมาคุณพิสมัยได้รับโทรศัพท์จากพนักงานคนดังกล่าวเพื่อขอนัดตรวจสุขภาพ คุณพิสมัยเห็นว่าเป็นการตรวจฟรีจึงได้ตกลงและไปตามนัดในวันดังกล่าว โดยได้รับการตรวจเลือดและบริการอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหลังจากที่ได้รับการเจาะเลือดไปตรวจเพียงหยดเดียวด้วยวิธีการส่องกล้องจุลทรรศน์ คุณพิสมัยก็ได้รับแจ้งว่า พบไขมันจำนวนหนึ่งลอยเกาะกันอยู่ในเลือดและมีปริมาณเกินกว่าที่ควรจะมีอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอนาคตได้ คุณพิสมัยตกใจที่ผลเลือดไม่ดี จึงถามกลับไปว่าควรจะทำอย่างไรดี ซึ่งทางพนักงานได้แนะนำโปรแกรมรักษาราคา 900,000 บาทให้แก่คุณพิสมัย         พอได้ยินราคาสำหรับการรักษา คุณพิสมัยปฏิเสธทันทีในใจคิดว่าน่าจะไปตรวจที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แต่พนักงานก็ยื่นข้อเสนอใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นลดจำนวนครั้งการรักษาลง ราคาจะเหลือเพียง 69,000 บาท เมื่อเห็นว่าเป็นราคาที่พอจะรับได้จึงได้ตอบตกลงและชำระเงินมัดจำผ่านบัตรเครดิตไปจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์         อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณพิสมัยขอให้ลูกสาวช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจรักษาแบบดังกล่าวจนพบข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยโดยใช้เลือดเพียงหยดเดียวส่องกล้องจุลทรรศน์นั้น เป็นการตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ทั้งเป็นการรักษาที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าได้ผล จึงต้องการเงินคืนจะต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อคอร์สการตรวจรักษาสุขภาพดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และผู้ร้องไม่ยินดีที่จะเข้ารับบริการดังกล่าว ผู้ร้องสามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่ามัดจำดังกล่าวคืนได้เต็มจำนวน         การทำหนังสือบอกเลิกสัญญาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับที่สามารถเก็บบันทึกตอบรับไว้เป็นหลักฐานได้ พร้อมทั้งโทรติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งกับพนักงานว่า ตนได้ขอยกเลิกสัญญาดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว พร้อมแนบสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับธนาคารด้วย กรณีของคุณพิสมัยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา แต่ฝากไว้ให้คิดว่า ก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ว่าผู้ให้บริการเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่ และก่อนตัดสินใจเข้าใช้บริการควรหาข้อมูลให้รอบด้าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 กระแสต่างแดน

ผมแก้บน         ร้อยละ 70 ของวิกผมในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงเกือบ 10,000 ล้านเหรียญ เป็นวิกที่ผลิตในประเทศจีน และหนึ่งในสามของ “ผม” ที่นำมาทำเป็นวิกเหล่านั้นมาจากอินเดียผม “คุณภาพพรีเมียม” เหล่านี้ได้จากญาติโยมที่มา “แก้บน” ด้วยการโกนศีรษะถวายเป็นการบูชาพระนารายณ์ ที่วัดศรีเวงกเฏศวรา ในเมืองติรุปติ รัฐอันธรประเทศร้อยละ 30 – 50 ของผู้คนหลายหมื่นคนที่เดินทางมายังวัดนี้ในแต่ละวันคือผู้ที่มาแก้บนหลังได้รับพรจากพระนารายณ์ให้มีบุตร มีบ้าน มีรถ หรือหายจากอาการป่วย ฯลฯทางวัดมีเจ้าหน้าที่คอยรวมรวมผมที่ถูกโกนทิ้ง แล้วนำไปทำความสะอาด หวีให้เรียบร้อย แล้วจัดเก็บในโกดัง ทุกๆ โดยจะนำออกมาประมูลขายออนไลน์ทุกสองหรือสามเดือน ผู้ที่เข้ามาประมูลซื้อก็คือบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกผมไปยังจีนหรือฮ่องกงนั่นเองผมของผู้คนประมาณ 12 ล้านคนต่อปีนี้ทำให้วัดมีรายได้ประมาณ 17 ล้านเหรียญ ที่วัดนำไปใช้จ่ายในการบริหารโรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาล บ้านเด็กกำพร้า รวมถึงทำอาหารเลี้ยงญาติโยมที่มาทำบุญหอมซ่อนเสี่ยง         สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนของไต้หวันกำลังเตรียมเสนอให้รัฐบาลประกาศแบน “บุหรี่แต่งกลิ่น” ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่วัยรุ่นมีข้อมูลที่ยืนยันว่าบุหรี่ชนิดนี้เป็นตัวเลือกของร้อยละ 40 ของนักสูบที่อยู่ในวัยทีน และยังเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กผู้หญิงค่อนข้างมาก ที่สำคัญผู้สูบมักรู้สึกว่าบุหรี่ที่มีกลิ่นหอมน่ารักแบบนี้มีอันตรายนิ้ยดว่าบุหรี่ธรรมดา ทั้งที่ปริมาณนิโคตินไม่ต่างกัน    จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนในไต้หวันเมื่อปีที่ผ่านมา “กลิ่น” ที่ว่านี้มีให้เลือกไม่ต่ำกว่า 1,200 กลิ่น สำนักงานฯ จึงเตรียมเสนอให้มีการจำกัดการใช้สารเคมีในการแต่งกลิ่นยอดนิยมอย่าง วานิลา เมนทอล อัลมอนด์ คาราเมล ในการแก้ไขพรบ. ป้องกันอันตรายจากยาสูบด้วยปัจจุบันมี 39 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศแบนบุหรี่แต่งกลิ่น เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา แคนาดา บราซิล ตุรกี และสิงคโปร์ กินหวานช่วยชาติ         อัตราการบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 23 กิโลกรัมต่อคน/ต่อปี แต่สำหรับอินเดียซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก (ผลัดกันครองแชมป์กับบราซิล) ผู้คนกลับบริโภคน้ำตาลเพียงคนละ 19 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้นอินเดียประสบปัญหาการผลิตน้ำตาลได้เกินความต้องการมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักการเมืองท้องถิ่นส่งเสริมให้เกษตรกรในชนบทปลูกอ้อยกันมากขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลจึงออกมาเรียกร้องให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ควรเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก เพื่อให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศจะได้เพิ่มเป็น 5.2 ล้านตันต่อปี เหลือส่งออกน้อยลง ประหยัดเงินที่รัฐต้องใช้อุดหนุนการส่งออกได้ไม่น้อยผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสามของโลกได้แก่ สหภาพยุโรป อันดับสี่คือประเทศไทย ส่วนจีนนั้นเข้ามาที่อันดับห้าจากข้อมูลล่าสุด อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ที่คนละ 43.4 กิโลกรัมต่อปี ช้อปล้างแค้น         งานช้อปออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในวันที่ 11 เดือน 11 หรือ “วันคนโสด” ปีนี้เป็นความหวังของผู้ประกอบการว่าผู้บริโภคคงจะ “ช้อปล้างแค้น” ที่อดไปเที่ยวเพราะการระบาดของโควิด-19 งานนี้เขาเตรียมพนักงานไว้กว่า 3 ล้านคน เครื่องบินและเรือสินค้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4,000 ลำ และรถโมบายล็อคเกอร์อีก 10,000 คัน  จากสถิติปีที่แล้วมียอดขาย 210,000 ล้านหยวน (สองเท่าของยอดขายในวันแบล็คฟรายเดย์และวันไซเบอร์มันเดย์รวมกัน) โดยสินค้าที่มีคนสั่งซื้อมากที่สุดได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามแม้จะเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว แต่งานช้อปแห่งปีของจีนแผ่นดินใหญ่ปีนี้คึกครึ้นยิ่งกว่าเคย และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากได้แก่ วิตามิน เครื่องฟอกอากาศ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และกล่องเครื่องมือ DIY หรือแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมก็คาดว่าขายดีขึ้นเช่นกันงานนี้ยังมีบ้าน/คอนโด ลดราคาท้าโควิดให้เลือกซื้อกันถึง 800,000 แห่ง และรถอีก 200,000 คันคิดบวก         งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่พบความแตกต่างทางสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างคนที่ทานวิตามินทุกวันกับคนที่ไม่ได้ทานจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 20,000 คน (ประกอบด้วยผู้ที่ทานวิตามินเป็นประจำ 5,000 คน และผู้ที่ไม่ทาน 16,660 คน) ในเรื่องสุขภาพ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน และประวัติทางการแพทย์ แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดทางสุขภาพ 5 รายการ นักวิจัยพบว่าคนสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันที่น่าสนใจคือเขาพบว่าผู้บริโภควิตามินนั้นเป็นกลุ่มที่มีความสนใจและความกังวลเรื่องสุขภาพมากทั้งๆ ที่ตนเองมีสุขภาพดีอยู่แล้ว และร้อยละ 30 ของกลุ่มที่ทานวิตามินนั้น “รู้สึก” ว่าตัวเองสุขภาพดีขึ้น   “ประโยชน์” ที่เกิดขึ้นนี้จึงน่าจะเป็นเพราะพวกเขาคาดหวังเช่นนั้นนักวิจัยย้ำว่าการรับประทานวิตามินนั้นมีประโยชน์จริงกับคนที่ร่างกายขาดวิตามินส่วนคนที่ไม่ได้ขาดวิตามินก็ถือว่าช่วยทำประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมมูลค่าหลายแสนล้านก็แล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2563

กสทช.จับมือ 5 ค่ายมือถือออกโทรฟรีในเครือข่าย 100 นาที รับมือโควิด-19        หลังออกโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB และเพิ่มสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ไปไม่นาน วันที่ 20 เมษายน 2563 ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ร่วมกับ 5 ค่ายมือถือ AIS, DTAC, TOT, TRUE, และ CAT ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ ให้กับประชาชนผู้ใช้มือถือด้วยการเปิดให้โทรฟรี 100 นาทีในเครือข่าย คาดว่าจะมีผู้ใช้งานได้รับสิทธิ์ตามโครงการประมาณ 50 ล้านเบอร์ แต่ก็ยังต้องกดรับสิทธิ์ได้อยู่ดี (ช่วงเวลาเปิดให้กดรับสิทธิ์ 1-15 พ.ค. 63)        กสทช. ระบุ สถิติการใช้โทรศัพท์ พบว่าแม้ปัจจุบันจะมีการโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ไลน์ วีดีโอคอล เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ฯลฯ มากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีการโทรหากันผ่านระบบเสียงแบบปกติอยู่ถึงราว 70%   องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมระบบ อสม.ไทย เข้มแข็งสุดในยุคระบาดโควิด-19         รายงานจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) เผยว่าการที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,040,000 คน ซึ่งทำการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยาและการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัส ในระดับชุมชน รวมถึงการทำรายงานถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อสม. เหล่านี้ถูกยกให้เป็นด่านหน้าสำคัญในการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อระดับชุมชน        ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็กล่าวชื่นชม อสม. ว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าหลายประเทศเพราะการมีอสม. อยู่ในทุกจังหวัด ที่คอยทำงานอย่างหนัก ทั้งการหาข่าวผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคลและให้ความรู้กับประชาชนว่าจะป้องกันการติดเชื้ออย่างไร ทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคในจังหวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพราะมีอสม. เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขนายกรัฐมนตรีสั่งให้บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุ        สถานการณ์โควิด-19 คือเรื่องใหม่ของมวลมนุษยชาติ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการให้มีการบันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุของไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาในอนาคต ร้องเรียน “ช็อปออนไลน์” ช่วงโควิดพุ่ง 5 พันราย            ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า  จากการให้บริการคำแนะนำและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อ-ขายออนไลน์ ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2563  ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำแนะนำเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 4,786 ครั้ง ส่วนใหญ่เรื่องของการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ขายในออนไลน์ ก่อนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกว่า 40% รองมาคือการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่ได้รับสินค้าหรือถูกหลอกลวงทางออนไลน์ 18% โดยประเภทของสินค้าที่พบปัญหาการซื้อขายออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น และ อุปกรณ์ไอที เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาที่ศูนย์ฯ จำนวน 4,772 ครั้ง        นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม – 12 เมษายน 2563 พบสถิติการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าเพิ่มขึ้น จำนวน 234 ครั้ง จึงได้ประสานร้านค้า ผู้ขาย และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าให้ได้รับการชดเชยเรียบร้อยแล้ว 10% ส่วนกรณีที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ   สมาคมโรคติดเชื้อเตือนไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน         12 เมย. 2563 เพจเฟซบุ๊ก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ความกังวลเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดการปฏิบัติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่านหรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า ว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิดได้ นั้น        ทางสมาคมโรคติดเชื้อขอชี้แจงเรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้         1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหาย ใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในสักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด         2. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด         การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้องคือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการในร้านค้าป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังมีคำแนะนำอื่น ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ https://www.idthai.org/Contents/Views/… โควิดส่งผลขยะพลาสติก-เศษอาหารพุ่งขึ้ิน ชี้ไร้คัดแยก เหตุกลัวไวรัส         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมทั้งจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการเกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น ส่งผลต่อการคัดแยกขยะและปริมาณขยะอย่างมาก         จากข้อมูลที่ได้จากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวรี่ รวมทั้งช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติกและหลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากหลายเท่าขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA    นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 กระแสต่างแดน

ปิดช้าไป        สมาคมผู้บริโภคแห่งออสเตรีย VSV เปิดเผยว่าผู้ใช้บริการสกีรีสอร์ตในแคว้นไทโรล (อาณาเขตติดต่อกับอิตาลีและเยอรมนี) ประมาณ 400 คนกำลังเตรียมฟ้องหน่วยงานรัฐที่ดูแลแคว้นดังกล่าว ที่ไม่สั่งปิดบาร์ในรีสอร์ตแห่งหนึ่งโดยทันที หลังพบพนักงานติดเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์         สมาคมฯ กำลังรวบรวมคำให้การของพยานเพื่อการฟ้องคดีแบบกลุ่ม พวกเขามองว่าการสั่งปิดบาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ล่าช้าออกไปสองสัปดาห์ เป็นเพราะความประมาทและห่วงผลประโยชน์ทางธุรกิจ         และนั่นนำไปสู่การติดเชื้อของผู้คนหลายร้อยคนจากออสเตรีย เยอรมนี อังกฤษ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และแคนาดา          ประชากร 750,000 คนในแคว้นดังกล่าวจึงถูกกักกันตัวจนถึงวันที่ 6 เมษายน ขณะนี้ออสเตรียมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 15,000 คน และมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 คน  ทำไงดีไม่มีแฟกซ์        เมื่อญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินและขอให้คนทำงานจากบ้าน ก็เกิดการรวมตัวกันของผู้คนที่ร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันที         ประชากรในประเทศที่มีหุ่นยนต์ช่วยงานและแกดเจ็ตล้ำๆ กลับไม่พร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน เพราะสิ่งนี้ไม่เคยอยู่ในวิธีคิดของพวกเขา         ขณะที่วิถีตะวันตกแบ่งแยกภาระงานชัดเจน พนักงานจึงสามารถแยกย้ายกันไปทำได้ แต่เจแปนสไตล์นั้นคาดหวังให้ทุกคนมารวมตัวเป็นทีมที่สำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้าน แล้วไหนจะความจำเป็นต้องใช้แฟกซ์ และตราประทับส่วนตัวในเอกสารต่างๆ อีก         การสำรวจโดย YouGov พบว่ามีเพียงร้อยละ 18 ของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเท่านั้น ที่พร้อมทำงานที่บ้าน บริษัทที่ทำได้คือค่ายใหญ่ๆ อย่างโตโยต้าและโซนี่ ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังต้องเครียดกับการปรับตัวต่อไป  ไม่ลดก็ไม่ซื้อ        จีนตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศลงให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50         ในการประมูลยาเข้าระบบสาธารณสุขปีนี้ รัฐบาลจึงกำหนดเพดานราคายาต่ำลงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยา 33 ชนิดที่ใช้กันมากในประเทศ         บริษัทยาข้ามชาติที่เคยทำกำไรได้มหาศาลจากตลาดจีนจึงต้องลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในท้องถิ่นได้ เช่น ไบเออร์ ต้องลดราคายารักษาโรคเบาหวานลงร้อยละ 80 หรือไฟเซอร์ที่ต้องลดราคายาลิปิเตอร์ที่ใช้ในผู้ที่มีความดันสูงลงร้อยละ 74 เช่นกัน        รัฐบาลหวังว่าการ “กดราคา” จะทำให้ยาสิทธิบัตรเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยยาชื่อสามัญที่จีนสามารถผลิตเองในประเทศได้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2018          จีนต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านยาเพื่อนำเงินไปทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ตกที่นั่งลำบาก        กลุ่มอุตสาหกรรมการบินในยุโรปยื่นจดหมายให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการยุโรปว่า มาตรการเว้นระยะห่างเพื่อลดการติดเชื้อในห้องโดยสารเครื่องบินเป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็น และทำไม่ได้จริง”         สิ่งที่สายการบินอย่าง แอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม และลุฟทันซา ต้องการคืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสาร เช่น หน้ากากอนามัย และยังบอกอีกว่ารัฐบาลแต่ละประเทศควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นธุระจัดหาและจ้างงานบุคลากรผู้เชี่ยวชาญการมาตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง         ซีอีโอของไรอันแอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะเว้นระยะห่างระหว่างกันในเครื่องบินให้ได้ 2 เมตร เราจะต้องนั่งห่างกันถึง 7 ที่นั่ง ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น บินเท่าไรก็ไม่พ้นภาวะขาดทุน         รอติดตามแนวปฏิบัติสำหรับสายการบินโดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ กลางเดือนพฤษภาคมนี้ เบื่อสะสม        เมื่อต้องกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ หลายคนก็เริ่มหันมาทำกับข้าว ทำงานบ้าน งานฝีมือ ช้อปออนไลน์  เต้นติ๊กต่อก ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังสู้วิธีรับมือกับความเบื่อของคนจีนไม่ได้        ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ยอดการใช้แอป “So Young” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้นิยมการทำศัลยกรรมความงาม เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 134 และมีคนที่ “เบื่อหน้าตัวเอง” เข้ามาปรึกษาผ่านวิดีโอคอลถึง 40,000 ราย        ข้อมูลจากแอปโซยัง ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการศัลยกรรมความงาม ยังระบุว่า ฟังก์ชัน “บิวตี้ไดอารี” ที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาบันทึกประสบการณ์การทำศัลยกรรมและการฟื้นตัวนั้นมีผู้ใช้มากขึ้น จนขณะนี้มีให้เปิดอ่านถึง 3.5 ล้านเล่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ข้อคิดชีวิตนักช้อปออนไลน์

        ยุคนี้กระแสช้อปปิ้งออนไลน์มาแรง บรรดาร้านช้อปออนไลน์ทั้งหลายต่างหาโปรโมชั่นมาล่อตาล่อใจขาช้อปอย่างเราๆ ทั้งลดราคา 30 – 80%, ซื้อ 1 แถม 1, บางร้านก็ทั้งลดทั้งแถม จัดโปรโมชั่นกันขนาดนี้ ขาช้อปจะทนไหวได้อย่างไร อย่างเช่นเดือนที่ผ่านมาก็มี โปรโมชั่น 9.9 วันที่ 9 เดือน 9 ก็ทำให้บรรดาขาช้อปออนไลน์ทั้งหลายกระเป๋าเบาไปตามๆ กัน แต่เดี๋ยวก่อนการจัดโปรโมชั่นทั้งลดทั้งแถม ร้านค้าก็ถือเป็นโอกาสการระบายสินค้าใกล้หมดอายุอีกทางหนึ่งด้วย ต้องระวังกันไว้ให้ดี อย่างเช่นร้านค้าออนไลน์เจ้านี้         ภูผาหนุ่มออฟฟิศที่รักสินค้าลดราคาเป็นชีวิตจิตใจ ในมือถือของเขามีแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์เพียบ ช่วงเดือนสิงหาคมเขาได้เข้าไปในแอปวัตสันออนไลน์ เห็นว่ากำลังจัดโปรโมชั่น สินค้าครีมบำรุงผิวยี่ห้อดัง ซึ่งลดราคา 30 – 70% ดูไปดูมาเห็นภาพโฆษณาโลชั่นทาผิวขนาด 600 ml ราคาถูกมาก รู้สึกไม่ไหวแล้วต้องจัด คุณภูผาคิดว่าอย่างไรเสียโลชั่นก็เก็บไว้ใช้นานๆ ได้ จึงสั่งไปจำนวน 10 ขวด รวมเป็นเงิน 1,240 บาท          ปัญหาอยู่ตรงที่เมื่อสินค้ามาส่งเขาเปิดสินค้าดูพบว่าเป็นโลชั่นที่ขวดยังเป็นรุ่นเก่า แต่ภาพโฆษณาในแอปตอนสั่งเป็นขวดรุ่นใหม่ที่ขายในปัจจุบัน และเมื่อดูวันหมดอายุก็พบว่า สินค้าจะหมดอายุภายในเดือนกันยายนนี้ เขารู้สึกว่าถูกร้านค้าหลอกและถูกเอาเปรียบ เพราะว่าได้สินค้าไม่ตรงกับโฆษณา ภาพในแอปใช้สินค้าขวดใหม่โฆษณาแต่ส่งสินค้าขวดเก่ามาให้ ทั้งสินค้ายังจะหมดอายุภายในเดือนกันยายนนี้ด้วย สั่งไปตั้ง 10 ขวด เดือนเดียวใช้อย่างไรก็ไม่หมด 10 ขวด         คิดจนปวดหัวจึงติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์  02-2178899 เล่าเรื่องให้พนักงานฟัง พนักงานแจ้งว่าสามารถนำสินค้าไปเปลี่ยนได้ที่สาขาใกล้บ้าน แต่เมื่อนำไปเปลี่ยนที่วัตสัน สาขา โลตัสสุขุมวิท 50 พนักงานที่สาขากลับไม่ทราบเรื่อง(ไม่เป็นนโยบาย) จึงไม่รับเปลี่ยนสินค้า คุณภูผาจึงโทรศัพท์ไปยังคอลเซนเตอร์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พนักงานแจ้งว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องที่คุณภูผาเคยร้องเรียนเลย  คุณภูผารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบและบริษัทฯ ไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน จึงแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือดำเนินการต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่าการกระทำของร้านค้าอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดเรื่องโฆษณาเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 22 และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 47 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        ดังนั้นศูนย์ฯ จึงได้ติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์ของวัตสัน พนักงานอธิบายว่าผู้ร้องได้ร้องเรียนในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุด พนักงานคอลเซนเตอร์วันนั้นจึงเพียงรับเรื่องไว้เท่านั้น เรื่องของผู้ร้องยังไม่ถูกส่งต่อให้บริษัท ทำให้บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ร้อง สาขาที่ผู้ร้องไปคืนสินค้าและขอเงินคืน ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะยังไม่มีต้นเรื่องคำสั่งจากบริษัทแจ้งเข้ามา         ศูนย์พิทักษ์จึงขอให้บริษัทฯ เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วนและเมื่อสอบถามถึงเรื่องการจัดโปรโมชั่นลดราคา พนักงานแจ้งว่า ปกติสินค้าช่วงโปรโมชั่นลดราคา ผู้ซื้อจะทราบอยู่แล้วว่าเป็นสินค้าเก่า บริษัทจะนำสินค้าเก่าใกล้หมดอายุมาลดราคาอยู่แล้วเป็นปกติ เพราะเป็นการลดล้างสต็อค อย่างไรก็ตามปัญหาของผู้ร้องรายนี้บริษัทดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้ร้องภายใน 1 วัน หลังจากศูนย์พิทักษ์เร่งให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา         การกระทำของร้านค้าออนไลน์เจ้านี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก และยังผลักภาระการรับรู้ให้ผู้บริโภคด้วย การจำหน่ายสินค้าออนไลน์เป็นการจำหน่ายโดยไม่เห็นสินค้า ร้านค้าควรแจ้งวันหมดอายุให้ผู้บริโภคทราบไม่ใช่อ้างว่าเป็นสินค้าลดราคาผู้บริโภคต้องทราบเอง ยิ่งกรณีของผู้ร้องรายนี้ถ้าผู้ร้องทราบก่อนว่าสินค้าจะหมดอายุภายในเดือนกันยายน ซึ่งในขณะซื้อสินค้าเป็นเดือนสิงหาคม ผู้ร้องคงไม่ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากแบบนี้         บรรดาขาช้อปทั้งหลายที่ถูกใจโปรโมชั่นลดราคา และของแถมทั้งหลาย อาจจะภาคภูมิใจที่ซื้อสินค้ามาได้ในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าตนเองอาจจะตกเป็นช่องทางการระบายสินค้าอายุโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นพ่อหนุ่มภูผาที่รักสินค้าลดราคาเป็นชีวิตจิตใจ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 202 ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ซื้อง่าย แต่ห้ามจ่ายเร็ว

ข้อได้เปรียบของการซื้อสินค้าออนไลน์  1. อยากได้สินค้าสักชิ้น  ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหน ลองค้นกูเกิลดู รู้เลยว่าที่ไหนมีขายบ้าง ทั้งที่ขายในประเทศและต่างประเทศ 2. มีสินค้าที่ต้องการอยู่ในใจ ลองค้นหาทางออนไลน์ สามารถเปรียบเทียบราคาได้ในเวลาไม่นาน ได้สินค้าที่ราคาคุ้มที่สุด 3. เมื่อเจอสินค้าที่ถูกใจในราคาที่พึงพอใจ ในเวลาดึกดื่นที่ร้านค้าปิดหมดแล้ว จะเดินทางไปซื้อก็ไกล รถติด พรุ่งนี้ก็ทำงานทั้งวัน กังวลว่าไปถึงร้านแล้วสินค้าจะหมด 4. ในการซื้อของทางออนไลน์ ผู้ซื้อมีเวลาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่มีความกดดันต่าง ๆ สามารถหาข้อมูลและพิจารณาจากรีวิวหรือความคิดเห็นของผู้ซื้อคนอื่นสรุปคือ ซื้อง่าย จะเห็นว่าการซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นแสนจะสะดวกสบาย สามารถตอบสนองความต้องการค้นหาสินค้าได้ง่าย ประหยัดเวลาที่ต้องเดินทางหาสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้สินค้าในราคาที่พึงพอใจ ซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา ประหยัดเวลา มีความแน่นอนว่าสินค้าไม่หมดสต๊อก ไม่มีความกดดันในการตัดสินใจซื้อ เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทำให้การซื้อขายสินค้าไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แค่เรามีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถซื้อของได้จากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้ตลาดการซื้อขายของออนไลน์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และนอกจากความสะดวกสบายแล้ว ปัจจัยด้านราคาก็เป็นตัวดึงดูดที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าการซื้อของออนไลน์มักทำให้ได้สินค้าที่มีราคาคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้นการตกลงซื้อจึงมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในกระบวนการชำระค่าสินค้าหรือบริการออนไลน์ก็ยังง่ายดายไม่ซับซ้อน เช่น โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารออนไลน์ หรือเพียงกรอกรหัสของบัตรเครดิต/บัตรเดบิตก็ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมซื้อขายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แล้ว รวมทั้งเรายังสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วยเหรียญมีสองด้าน ถึงจะง่ายอย่างไร ก็ยังต้องใช้หลักพึงระวังในการซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพราะทำให้เสียเงิน เสียประโยชน์กันมานักต่อนักแล้วเช่นกัน  แล้วมีอะไรบ้างที่ต้องระวัง มาดูกัน1. การหลอกลวง โดยผู้ขายตั้งใจมาหลอก ไม่มีสินค้า แต่ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้า แล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญา2. ได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา เช่น สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งาน3. การคืนสินค้ามีความยุ่งยาก เช่น ขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้า ได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนหรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆ4. ความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว 5. อาจถูกผู้ขายฟ้องร้องเพราะไม่พึงพอใจสินค้าและโพสต์ข้อความตำหนิผู้ขายการซื้อของออนไลน์ หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ในปัจจุบัน มีอยู่ 2 แบบ คือ1. ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (Business-to-Consumer : B2C) เป็นรูปแบบที่มีการทำธุรกรรมมากที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยที่ผู้ประกอบการจะจัดช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทเอง เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติม  เช่น สินค้าของร้านภัทรพัฒน์ที่วางจำหน่ายในร้านค้า 5 สาขาและตัวแทนจำหน่าย ก็มีช่องทางเว็บไซต์  http://www.patpat9.com เพื่อให้ผู้ซื้อสั่งซื้อทางออนไลน์  เป็นการขายโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค2. ผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค (Consumer-to-Consumer : C2C) เป็นช่องทางขายผ่านทาง marketplace  เป็นรูปแบบที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้บริโภคได้โดยอิสระ ซึ่งผู้ให้บริการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บค่าใช้บริการบางส่วน ตัวอย่างเว็บไซต์ในต่างประเทศ เช่น eBay.com และในประเทศไทย เช่น kaidee.com / tarad.com นอกจากนี้ยังรวมถึงการขายสินค้าและบริการผ่านทางช่องทางเว็บบอร์ดอื่น ๆ เช่น pantip.com โดยผู้บริโภคและผู้บริโภคติดต่อกันเองเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า มักเป็นสินค้าราคาถูกหรือเป็นสินค้าที่หาไม่ได้แล้วในท้องตลาดทั่วไปถ้าให้เปรียบเหมือนการซื้อขายในรูปแบบทั่วไป B2C ก็คือการซื้อขายปลีกระหว่างลูกค้ากับร้านค้าของผู้ประกอบการที่น่าเชื่อถือ มักไม่มีปัญหาเรื่องการหลอกลวงเพราะผู้ประกอบการมีตัวตนจริง มีสินค้าจริง มีข้อกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าที่ชัดเจน แต่ผู้บริโภคที่จะทำการซื้อขายออนไลน์ในรูปแบบนี้จะต้องระมัดระวังในการอ่านรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าเพราะจะเป็นข้อมูลที่ทางผู้ขายกำหนดเอาไว้ตายตัว เจรจาหรือต่อรองเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขในการเปลี่ยนคืนสินค้ากรณีไม่พึงพอใจสินค้า สินค้าไม่เป็นไปตามรูปภาพ-คำบรรยาย สินค้าชำรุดบกพร่อง ส่วน C2C ก็คือการซื้อขายของตามตลาดนัด หาบเร่แผงลอย หรือตลาดเปิดท้ายขายของ หรือการประกาศขายของตาม classified ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ผู้ซื้อผู้ขายได้ติดต่อกันโดยตรง ต่อรองราคากันได้ แต่การเปลี่ยนคืนสินค้า บริการหลังการขายนั้นมีน้อยมาก ทำใจไว้ก่อนได้เลย  คู่มือเพื่อการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัยท่องเอาไว้ทุกครั้ง “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!1. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! จากเหตุเพราะผู้ขายตั้งใจมาหลอก ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้าแล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญาส่วนมากผู้ขายที่ตั้งใจมาหลอก มักจะประกาศขายสินค้าที่ราคาถูกเกินกว่าราคาตลาดมากเกินไป หรือมักเป็นสินค้าประเภทพรีออเดอร์เพราะผู้ขายไม่มีสินค้าอยู่กับตัวเอง จะประกาศขายก่อนและรอให้มีลูกค้ามาสั่งซื้อสินค้า มักเป็นสินค้าราคาแพง ผู้ขายส่วนใหญ่มักให้ผู้ซื้อโอนเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่ามัดจำไว้ก่อน เพื่อป้องกันการสั่งจองแล้วยกเลิก และผู้ขายบางรายอาจทำหน้าที่เป็นนายหน้าที่คอยประสานงานระหว่างร้านค้ากับผู้ซื้อ ผู้ขายอาจจะไม่ตั้งใจมาหลอก แต่หากมีปัญหาแล้วผู้ขายไม่สามารถหาซื้อสินค้าให้ได้ เมื่อเงินอยู่กับตัวเขาแล้ว คงยากที่จะได้เงินคืนการซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C โดยเฉพาะช่องทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม(ไอจี) หรือโพสต์ขายของตามเว็บบอร์ด e-Classified เช่น ห้องต่างๆ ในเว็บไซต์พันทิป ต้องระวังให้มากๆ เพราะเราไม่รู้จักตัวตนของเขา หากมีปัญหาเขาก็ปิดเพจ บล็อกเมสเซนเจอร์ ไอจี ไลน์ เราก็ไม่สามารถติดตามตัวเขาได้เลย แม้บางครั้งผู้ขายจะให้ดูรูปบัตรประชาชน ก็อาจจะเป็นบัตรของใครก็ได้ หากโอนเงินไปแล้วมีปัญหา แม้เราจะมีเลขบัญชีที่สามารถสอบถามธนาคารได้ว่าเจ้าของบัญชีคือใคร แต่จะเอาเงินออกจากบัญชีนั้นทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ธนาคารไม่ยินยอมทำให้ จะไปแจ้งความกับตำรวจก็ลำบาก ดังนั้นตั้งสติก่อนที่เราจะตกลงใจสั่งซื้อและโอนเงิน วิธีที่รอบคอบคือ เราต้องตรวจสอบตัวตนร้านค้าก่อน โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือ ชื่อ ที่อยู่ หรือช่องทางการติดต่อ ต้องชัดเจน ตรวจสอบประวัติร้านค้า สามารถดูได้จากรีวิวการขายของในเพจหรือเฟซบุ๊ก พิจารณารายละเอียดการซื้อขาย ข้อความที่ผู้ขายคุยกับผู้ซื้อ ร้านค้ามีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา หรือนำชื่อร้านค้า ชื่อผู้ขาย ชื่อบัญชีการโอนเงินชำระสินค้า มาค้นหาใน google.com หรือ pantip.com เพื่อตรวจสอบประวัติและข้อมูลของร้านค้า และที่สำคัญควรสืบค้นข้อมูลการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขายตรงกับทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พยายามซื้อจากร้านค้าเปิดเผยตัวตน จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุกิจการค้า ที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (เครื่องหมาย DBD Registered  คือ เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้แก่พาณิชยกิจประเภทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และนิติบุคคล สำหรับเครื่องหมาย DBD Verified คือ เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และแสดงว่าเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพผ่านเกณฑ์ประเมินตามมาตรฐานคุณภาพธุรกิจ e-Commerce ของกรมพัฒนาธุกิจการค้า)สรุป ตรวจสอบตัวตนของร้านค้า /  ผู้ขายจดทะเบียนกับสคบ. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified / ราคาไม่ต่ำกว่าราคาทั่วไปอย่างผิดสังเกต2. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งานก่อนตกลงใจสั่งซื้อ อ่านข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้เข้าใจทุกครั้ง ได้แก่ ข้อมูลรายละเอียดของสินค้า ข้อมูลการจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า ผู้จัดส่งสินค้า ซึ่งหากผู้ขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบ ควรติดต่อสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น อีเมล ไลน์ และควรเก็บหลักฐานการสนทนาทุกครั้ง และสำหรับสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ จะต้องมีเครื่องหมาย อย. จำไว้ว่า ผู้ซื้อมีสิทธิในการยกเลิกการซื้อสินค้าที่เรียกว่า “สิทธิในการเลิกสัญญา” ทั้งในกรณีทั่วไปและในกรณีพิเศษ(withdrawal right หรือ right of withdrawal หรือสิทธิในการยกเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ) ซึ่งการใช้สิทธินี้บางทีในต่างประเทศจะเรียกว่า “cooling-off period” เพราะการสั่งซื้อของออนไลน์เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายแบบดั้งเดิมที่มีหลักกฎหมายว่า “ผู้ซื้อต้องระวัง!!” โดยผู้ซื้อต้องระวังในการเลือกดูสินค้า พินิจพิเคราะห์ พิจารณาผู้ซื้อมีหน้าที่ที่ต้องระวังก่อนที่จะทำการตกลงซื้อสินค้า แต่การซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ซื้อไม่สามารถพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบสินค้าได้ในขณะซื้อ ผู้ซื้อจึงมีสิทธิดังกล่าว สำหรับระยะเวลาในการใช้สิทธิเลิกสัญญาอาจแตกต่างกันไป(ในสหภาพยุโรปกำหนดไว้ 14 วัน) ดังนั้นก่อนที่ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อ ต้องศึกษาข้อมูลระยะเวลาของการใช้สิทธิในการเลิกสัญญานี้ให้ละเอียด ดังนั้นก่อนซื้อสินค้า ตรวจสอบกันเสียก่อนว่าผู้ขายมีระบบการติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้าแบบไหน อย่างไรและผู้ส่งจะให้ข้อมูลรายละเอียดของเลขที่พัสดุแก่เราได้หรือไม่และจะได้เมื่อใด ผู้บริโภคต้องสอบถามผู้ขายเพื่อให้ได้ข้อมูลรายละเอียด ระยะเวลาจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่ง และข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือสูญหายในระหว่างการจัดส่งสินค้ามาถึงมือผู้บริโภค และเพื่อให้ทราบข้อมูลรายละเอียด สถานะการจัดส่งสินค้า ผู้ขายจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดของการจัดส่งพัสดุให้ผู้บริโภคอย่างเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง  นอกจากนี้ควรเลือกการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเพราะมั่นใจได้แน่ว่าได้รับสินค้าแน่ๆ อีกทั้งยังสามารถตรวจดูสินค้าว่าเป็นไปตามที่สั่งซื้อหรือไม่ด้วย เพราะหากไม่ใช่สินค้าตามลักษณะที่เราสั่งซื้อไป เราปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่จ่ายเงินได้สำหรับกรณีจัดส่งสินค้าล่าช้านั้น หากผู้ซื้อติดต่อไปผู้ขายส่วนมากมักจะขอโทษ จากประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่ได้สั่งสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าที่มีมาตรฐานและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้เขียนต้องติดต่อยืนยันและเรียกร้องให้ดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหาย จึงจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นคูปองส่วนลดในการสั่งซื้อสินค้าในคราวต่อไป แต่ถ้าผู้เขียนไม่ได้เรียกร้อง ทางผู้ขายก็มักจะเพิกเฉย แต่การซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C ผู้ขายที่ไม่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้ขายอาจจะไม่สนใจที่จะให้เราใช้สิทธิยกเลิกการสั่งซื้อหรือชดเชยเยียวยาในการจัดส่งล่าช้า เราจึงควรเจรจาต่อรอง แจ้งความประสงค์กำหนดวันรับสินค้ากับผู้ขายไว้ก่อนและเก็บหลักฐานข้อตกลงไว้  หากผู้ขายไม่ยินยอม ทางที่ดีเราไม่ควรซื้อ แต่หากเราซื้อไปแล้วโดยไม่มีข้อตกลงนี้ เราควรยืนยันสิทธิของเราโดยเก็บหลักฐานการสั่งซื้อและรายละเอียดต่างๆ ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สคบ. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่การดำเนินการในขั้นตอนนี้อาจเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะมากกว่าค่าสินค้าก็ได้ ทางที่ดี “กันไว้ดีกว่าแก้” เลือกซื้อจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือและมีข้อกำหนดในการใช้สิทธิยกเลิกการซื้อของเราอย่างชัดเจน และรับผิดชอบในการจัดส่งล่าช้าสรุป อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้เข้าใจ / มีข้อสงสัยสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บหลักฐานไว้ / ซื้อสินค้าที่ยอมให้ยกเลิกหรือคืนสินค้าได้ / มีการจัดส่งเลขพัสดุภัณฑ์หรือเครื่องมือที่สามารถติดตามสถานการณ์จัดส่งสินค้า / เก็บหลักฐานการสั่งซื้อ การสนทนาต่าง ๆ / เลือกซื้อสินค้าที่ให้ชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า3.  “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะการคืนสินค้ามีความยุ่งยากจนผู้ซื้ออาจจะถอดใจแล้วปลอบตัวเองว่า “ถือว่าฟาดเคราะห์ไป” การคืนสินค้าอาจมีขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้าหรือได้รับไม่เต็มจำนวน ไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆการสั่งซื้อสินค้าแบบชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัย แต่ถ้าผู้ขายไม่มีบริการดังกล่าว ผู้ซื้อต้องได้ข้อมูลจากผู้ขายก่อนสั่งซื้อสินค้าว่าสามารถคืนสินค้าได้และผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าจัดส่งสินค้าคืน พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ในการคืนสินค้า เช่น กล่องบรรจุจะต้องอยู่ในสภาพดี (เวลาแกะกล่องจะได้เปิดหีบห่ออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ฉีกขาด) ผู้เขียนมีประสบการณ์สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified และพบปัญหาจากการคืนสินค้าเนื่องจากข้อกำหนดที่ยุ่งยากซับซ้อนจน ส่งสินค้าคืนไปใช้เวลาเกือบ 1 เดือนจึงได้รับคำตอบว่าไม่สามารถรับคืนสินค้าได้เพราะบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อย ไม่ตรงตามข้อกำหนดสำหรับผู้ขายที่เป็นแบบ C2C ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับสคบ.หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (คล้าย ๆ กับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ขายที่ผู้ซื้อต้องระมัดระวังมากๆ มีความเสี่ยงสูง มาตรฐานและวิธีการในการรับเปลี่ยน/คืนสินค้าก็จะแตกต่างกันไป ไม่มีผู้ใดควบคุม การคืนสินค้ากับกลุ่มผู้ขายประเภทนี้มีความยากลำบาก ไม่แน่นอน หากเราส่งสินค้าคืนเขาไปแล้วและไม่ได้รับเงินคืน สินค้าก็ไม่ได้-เงินก็ไม่ได้คืน ต้องติดต่อร้องเรียนตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก อาจจะไม่คุ้มกับราคาค่าสินค้าก็ได้ ดังนั้นสอบถามให้แน่ชัด ใช้ความระวัดระวังไว้ให้มาก ๆอีกวิธีการที่อยากแนะนำคือ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ระหว่างที่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายตามยอดบัตรเครดิต ผู้ซื้อยังพอมีเวลาที่จะดำเนินการปฏิเสธการจ่ายเงินกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนที่เจ้าของบัตรเครดิตกำหนด เช่น ทำหนังสือบอกกล่าวยกเลิกสัญญาซื้อขายไปยังผู้ขายและส่งเอกสารหลักฐานที่ติดต่อกับผู้ขายให้กับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อพิจารณาปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-30 วัน แม้จะไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้เขียนขอแนะนำสำหรับการคืนสินค้าและรับเงินคืนทางบัตรเครดิต หากเป็นการซื้อสินค้าสกุลเงินต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินขณะถูกเรียกเก็บเงินและคืนเงินอาจจะไม่เท่ากัน หากเราได้รับเงินคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตในจำนวนเงินไทยบาทที่ไม่กัน เราสามารถดำเนินการขอคืนส่วนต่างโดยติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตสรุป เลือกบริการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า / อ่านและตกลงรายละเอียด ขั้นตอนการคืนหรือเปลี่ยนสินค้าให้เข้าใจ / หากชำระราคาก่อนได้รับสินค้าควรเลือกชำระเงินด้วยบัตรเครดิต4.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจโดนล้วงข้อมูลสำคัญส่วนตัว หรือด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ก่อนส่งคำสั่งซื้อให้ตรวจดู URL เพราะปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์ ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคารออนไลน์ จึงมีเว็บไซต์ที่หลอกลวงหรือทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อเลียนแบบจนเราแทบจะไม่ทันสังเกตเห็นความต่างกันเลยก็ว่าได้  หากพลาดไป เว็บไซต์ดังกล่าวอาจนำข้อมูลส่วนตัว รายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นขณะจะทำการสั่งซื้อต้องสังเกต URL หรือชื่อเว็บไซต์โดยละเอียด เพราะจะมีแตกต่างกันบางจุดชื่อ URL ของร้านค้าหรือหน้าเว็บไซต์ที่ใช้ตัดเงินผ่านบัตรเครดิต และให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่เรากำลังใช้ทำธุรกรรมการสั่งซื้อของออนไลน์อยู่นั้น โดยเฉพาะหน้าที่แสดงวิธีการจ่ายเงินให้ตรวจสอบว่าเป็น HTTPS หรือไม่5.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! ต้องเก็บหลักฐานการซื้อขาย เงื่อนไขที่ตกลงกัน และหลักฐานการชำระเงิน เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองซึ่งหากมีปัญหาเกิดขึ้น หากพบปัญหาควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์(Call Center) หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์(Website) แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย(Social Media) เฟซบุ๊ก(Facebook) อินสตาแกรม(Instagram)  ไลน์ (Line) ต้องติดต่อไปยังผู้ขายซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ผู้ซื้อเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา ท่องให้จำขึ้นใจทุกครั้งที่ซื้อของออนไลน์ “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!----------------------------------หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน  1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รับเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาสินค้าและบริการทั่วไปที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ การแก้ปัญหากับคู่กรณี และขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ มาแก้ปัญหา รวมทั้งให้การช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อยู่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400, เว็บไซต์ (Website) :  www.consumerthai.orgอีเมล (E-mail):  complaint@consumerthai.org, โทรศัพท์ 02-2483734-7, โทรสาร 02-24837332. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ 1212 (Online Complaint Center: OCC)  ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือในการรับ-ส่งการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียนระหว่างหน่วยงานความร่วมมือ ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา และประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาโดยครอบคลุม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายทางออนไลน์ ภัยคุกคามไซเบอร์ ตลอดจนปัญหาทางออนไลน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสายด่วน 1212, เว็บไซต์ (Website)  :  http://www.1212occ.com,  โมบาย แอป (Mobile App) :  1212 OCCอีเมล (E-mail): 1212@mict.go.th, โทรสาร : 02-12757893. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มมครองผู้บริโภค (สคบ.) รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเน้นการคุ้มครองมิให้ผู้ประกอบการโฆษณาเกินจริง ต้องติดฉลากสินค้าอันตรายและสัญญาที่ทำกับลูกค้า หากไม่เป็นธรรม สคบ. มีอำนาจเข้าไปดูแลที่อยู่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10120สายด่วน 1166, เว็บไซต์ (Website) :  http://complain.ocpb.go.th/OCPB_Complainsอีเมล (E-mail):  consumer@ocpb.go.th4. กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลและสอดส่องพฤติกรรมการใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด ในการซื้อหรือขายสินค้าอุปโภคให้เกิดความเป็นธรรม การกำหนดราคาสินค้า และรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคา ปริมาณสินค้า และความไม่เป็นธรรมทางการค้าที่อยู่ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรีสายด่วน 1569, เว็บไซต์ (Website) :  http://app-transport.dit.go.th/frontend/index.phpอีเมล (E-mail):  1569@dit.go.th, โทรศัพท์ 02-5076111, โทรสาร 02-54753615. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับเรื่องราวร้องทุกข์ปัญหาด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเครื่องสำอาง ไม่ได้มาตรฐาน ผิดมาตรฐาน ไม่ได้รับใบอนุญาต ตลอดจนการโฆษณาส่งเสริมการขายไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ที่อยู่ ตู้ ปณ. 52 ปณจ. นนทบุรี 11000สายด่วน 1556, เว็บไซต์ (Website) :  www.fda.moph.go.th, โมบาย แอป (Mobile App) :  ORYORอีเมล (E-mail):  complain@fda.moph.go.th, โทรศัพท์ 02-5907354-5, โทรสาร 02-5918472

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 5 เทคนิค ช็อปออนไลน์ ให้ได้ของถูกใจและไม่เจ็บตัว

ทุกวันนี้ การซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต กลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้ว ด้วยความที่มันสะดวก รวดเร็ว อยู่ที่ไหน ก็ซื้อขายกันได้ ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ แล้วก็รอรับสินค้าให้มาส่งถึงบ้านได้เลย จะซื้ออะไร ก็มีทั้งนั้น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ขนม อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่รถยนต์ สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ ฯลฯ   ช่องทางที่ซื้อขายกัน ก็มีทั้ง เว็บไซต์ที่เป็น marketplace ที่มีระบบ มีการลงทะเบียน ผู้ซื้อ ผู้ขาย มีระบบการชำระเงินที่น่าเชื่อถือ และก็มีอีกไม่น้อยที่ เป็นการซื้อขาย กับพ่อค้า แม่ค้า ที่เปิดร้านออนไลน์ ผ่าน Social Network ยอดฮิต อย่าง Facebook , Line , Instagram ซึ่งร้านค้าพวกนี้ ใครๆ ก็เปิดได้โดยเสรี ดังนั้น แม้ว่าจะซื้อง่าย ขายคล่อง แต่เราก็ยังได้ยินข่าวผู้บริโภคถูกหลอก ถูกโกง จากการ Shopping Online อยู่เรื่อย ๆ  วันนี้จึงขอนำเสนอเทคนิค การซื้อของออนไลน์ ให้ได้ของถูกใจและไม่เจ็บตัว  1 . ตรวจสอบตัวตน ความน่าเชื่อถือของคนขาย ร้านค้า ให้แน่ใจว่า มีตัวตนอยู่จริง ก็ดูจากชื่อ – นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ หรือ ทะเบียนการค้า และถ้าจะให้ชัวร์ ก็ควรเช็ค ประวัติของคนขาย ว่าเขาเป็นใคร เคยทำอะไรมาบ้าง โดยพิมพ์ ชื่อ หรือ เบอร์โทรศัพท์ ค้นหา ใน google แป๊บเดียว ก็จะมีข้อมูลบอกหมดว่า เขาเป็นยังไง ถ้าเคยมีประวัติเสีย โกงลูกค้า นิสัยไม่ดี รับรองต้องมีคนโพสต์แฉแน่นอน  2. สอบถามลูกค้าเก่า ให้เล่าความจริง จากประสบการณ์ตรงของคนที่เคยใช้สินค้า จะช่วยยืนยันว่าของที่ขายนั้น คุณภาพเป็นอย่างไร บริการของร้านค้าดีหรือไม่ เมื่อก่อน หลายคนอาจจะตัดสินใจซื้อขาย โดยดูจากยอดกด Like ถูกใจร้านค้า แต่เดี๋ยวนี้ ลำพังยอด Like ก็ไว้ใจไม่ได้อีก เพราะมีการปั่นยอดกันได้ ทางที่ดีต้องดูจาก รีวิว หรือ ฟีดแบ็ค ของลูกค้าเก่า ประกอบกันด้วย 3. ปลอดภัยกว่า ถ้าจ่ายผ่านบัตรเครดิต การชำระเงินค่าสินค้า ถ้าคนขายมีให้เลือกหลายช่องทาง การชำระด้วยบัตรเครดิต จะปลอดภัยกว่าการโอนเงินสดเข้าบัญชีผู้ขาย เพราะสามารถระงับการจ่ายเงินกับบริษัทบัตรเครดิตได้ หากสินค้าไม่ได้รับสินค้า หรือ มีปัญหาไม่ตรงตามสเปคที่ตกลงซื้อขายกัน  4. เก็บหลักฐาน การซื้อขาย ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลผู้ขาย ชื่อ สกุล ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ หมายเลขบัญชี , ข้อมูลสินค้า สเปค ขนาด จำนวน คุณสมบัติ และ หลักฐานการโอนเงิน โดยคุณสามารถ บันทึกภาพหน้าจอ (print screen) ภาพสินค้าในเว็บไซต์ หรือ ข้อความที่แชทคุย ผ่านทาง Line กับผู้ขาย ไว้เป็นหลักฐานได้  5. ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง ถ้าหากเกิดปัญหาจากการซื้อของออนไลน์ อย่าลังเลที่จะใช้สิทธิของคุณในการร้องเรียน เพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบ เพราะนอกจากคุณจะได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว ประสบการณ์ของคุณจะเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภคคนอื่น ๆ ด้วย  เว็บไซต์ ซื้อขายออนไลน์ ที่มีมาตรฐาน จะมีช่องทางในการติดต่อเพื่อร้องเรียนปัญหาจากการซื้อขาย และทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา แก้ไขปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ส่วนร้านค้าอิสระบน Facebook , IG นั้น ก็ติดต่อร้องเรียนไปที่เจ้าของร้านโดยตรงเลย ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจจริง ไม่ใช่มิจฉาชีพ ที่ตั้งใจมาหลอก ผมว่า เขาต้องรีบแก้ไขปัญหา รักษาชื่อเสียงของเขาไว้ เพราะในโลกออนไลน์ “เสียงของผู้บริโภค” นั้น มีค่าจริง ๆ ถ้าร้านไหน ลูกค้าประทับใจ ก็จะบอกต่อ ๆ กันไปกลายเป็นกระแส รับทรัพย์นับเงินกันไป ส่วนร้านไหน ไม่ดูแลลูกค้า มีปัญหาแล้วไม่ปรับปรุงแก้ไข ลูกค้าก็จะบอกต่อ ๆ กันไปเช่นกัน ร้านนี้ก็เตรียมปิดกิจการ ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 3 ฤดูกาลกับ EDT แหล่งเที่ยว กิน ช้อป

อากาศหนาวในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวกันใหญ่ จะเลือกภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้หรือภาคกลาง นั้น อยู่ที่ความต้องการของนักท่องเที่ยวว่าอยากได้บรรยากาศแบบใด แต่พูดได้เลยว่าทุกคนต้องอยากสัมผัสอากาศหนาวแน่นอน ดังนั้นภาคเหนือจึงตกเป็นอันดับหนึ่งที่จะเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวกัน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย มีสถานที่ที่น่าสนใจหลายที่ อาจจะเยอะเกินไปด้วยซ้ำ จนไม่สามารถเลือกได้ถูก  www.EDTguide.com  เป็นเว็บไซต์ที่หลายคนรู้จักกันมานาน โดยได้รวบรวมข้อมูลกินดื่มเที่ยวในประเทศไทย พร้อมแผนที่ให้ได้ค้นหาข้อมูลอย่างง่ายดาย นอกจากเว็บไซต์แล้ว ยังมีแอพพลิเคชั่นออกมา 3 แบบ คือ EDT in Winter , EDT in Summer และ EDT in Rainy ให้ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนสามารถเข้าถึงข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว แหล่งอาหาร ได้อย่างรวดเร็ว แอพพลิเคชั่น EDT in Winter เป็นแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวในฤดูหนาวที่น่าสนใจ สถานที่กิน และที่พักบริเวณใกล้เคียง ส่วนแอพพลิเคชั่น EDT in Summer และ EDT in Rainy ก็มีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่แหล่งท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของประเทศไทย   ภายในแอพพลิเคชั่นจะมี 4 หมวดให้เลือก ดังนี้ Home จะแสดงภาพและชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่ติดอันดับในช่วงฤดูกาลนั้นๆ โดยสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดว่ามีความสำคัญอย่างไร พร้อมมีแผนที่แสดงให้ทราบถึงตำแหน่งแหล่งท่องเที่ยว และมีข้อมูลแนะนำถึงสถานที่กิน แนะนำเรื่องดื่ม แนะนำเรื่องเที่ยว และแนะนำเรื่องที่พัก เมื่อคลิกเข้าไปดูรายละเอียดแอพพลิเคชั่นนี้ได้รวบรวมภาพแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ให้ได้ดูอีกด้วย หมวดที่สอง คือ EDT index จะมีข้อมูลเรื่องต่างๆ ไม่ว่าเรื่องกิน ดื่ม เที่ยวและที่พัก โดยทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงเหมือนกันหน้า Home หมวดที่สาม คือ Favorites เป็นหมวดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นได้ตั้งค่าไว้ว่าสถานที่ใดเป็นสถานที่ที่ชื่นชอบ โดยจะต้องลงทะเบียนกับทาง EDT ในหมวดที่สี่ คือ Setting ซะก่อน  เพื่อ log in เข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ หมวดสุดท้ายเป็นหมวด More App จะเป็นหน้าที่รวบรวมแอพลิเคชั่นต่างๆ ไว้ในหัวข้อที่ทางแอพพลิเคชั่นนี้สร้างไว้ ได้แก่ หัวข้อ Recommend New Release, Travel, Horoscope, Food ลองดูกันนะคะว่า ภาพในแอพพลิเคชั่นนี้น่าจะช่วยทำให้การตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้นบ้าง คราวนี้ก็เตรียมตัวแพ็คกระเป๋าเดินทางไปพักผ่อนในช่วงสิ้นปีได้เลยค่ะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ช้อปช่วยโลก ซื้อของห้างไหนช่วยลดใช้ถุงพลาสติก

ฉลาดซื้อ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจปัญหาโลกร้อนกันอย่างจริงจัง เราจึงอยากชวนทุกคนมาช่วยกันลดขยะถุงพลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิต แถมยังสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เมื่อเรากำจัดมันไม่ได้ (เพราะถ้าเผาก็จะไปทำลายชั้นบรรยากาศ ถ้าฝังดินก็จะทำให้ดินเสื่อมสภาพ) เราก็ลองมาหาวิธีลด-ละ-เลิกการใช้ถุงพลาสติกกันดีกว่า   ในชีวิตประจำวันของเราคงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก เพราะร้านค้าเกือบแทบจะทุกแห่งต่างก็ใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต วงจรชีวิตการใช้งานของถุงพลาสติกนั้นสั้นมากๆ คือเมื่อของที่ใส่ถุงพลาสติกมาถูกนำไปใช้ ถุงพลาสติกก็จะถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ มีบ้างที่เก็บไว้สำหรับใส่ของอื่นๆ (ซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นขยะ) ซึ่งเมื่อเก็บรวมกันไว้มากๆ เป็นเวลานานๆ แล้วไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไร สุดท้ายถุงพลาสติกทั้งหลายก็ต้องแปรสภาพกลายเป็นขยะอยู่ดี   ฉลาดซื้อ อยากชวนทุกคนมาลดการใช้ถุงพลาสติก เราเลยลองสุ่มสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ว่าแต่ละที่มีวิธีการจัดสรรถุงพลาสติกใส่ของให้กับลูกค้าอย่างไรบ้าง โดยเราได้กำหนดรายการสินค้าจำนวน 20 รายการ โดยเลือกสินค้าที่คนส่วนใหญ่ต้องซื้อใช้อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเดือนละครั้ง อย่าง ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น กระดาษชำระ กาแฟ นม น้ำตาล เสริมด้วยพวกของสด อย่าง ผัก และลูกชิ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของประเภทและลักษณะแพ็คเก็จบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการจัดสินค้าใส่รวมลงในถุงพลาสติก ฉลาดซื้อ อยากรู้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไหนให้ถุงพลาสติกกับเราน้อยที่สุด ตารางแสดงผลสุ่มสำรวจการใช้ถุงพลาสติกของห้างค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ต(รายชื่อสินค้า 1. ผงซักฟอก โอโมพลัส ดีโอเฟรช 1,100 กรัม 2.น้ำยาทำความสะอาดพื้น มาจิคลีน 900 มิลลิลิตร 3.น้ำยาล้างห้องน้ำ วิกซอล 900 มิลลิลิตร 4.น้ำยาซักผ้าขาว ไฮเตอร์ 600 ซีซ๊ 5.น้ำยาล้างจาน ซันไลต์ 600 ซีซี x 3 6.เนสกาแฟ เรดคัพ (ถุงเติม) 200 กรัม 7.ครีมเทียม .คอฟฟี่เมต 450 กรัม 8.น้ำตาล มิตรผล 1 กิโลกรัม 9.นม UHT โฟร์โมสต์ 225 มิลลิลิตร x 6 10.น้ำสละ เฮลส์ บลู บอย 710 ซีซี 11.กระดาษเช็ดหน้า เลดี้สก็อตต์ กล่อง 150 ชิ้น 12.กระดาษชำระ สก็อตต์เอ็กซ์ตร้า แพ็ค 6 ม้วน x 2 13 ผ้าอนามัน ลอริเอะซูเปอร์อัลตร้าสลิม 20 ชิ้น 14.บะหมี่คัพ มาม่า 60 กรัม x 3 15.มันฝรั่งทอดกรอบ เลย์ 125 กรัม 16.แฮม ซีพี แพ็ค 150 กรัม 17.ไข่เค็ม 18.อาหารสด 19.ผักสด)  *หมายเหตุ: เป็นการทดสอบสุ่มซื้อในช่วงวันที่ 16 – 22 กรกฎาคม 2552 ห้างเขาก็ใส่ใจเรื่องลดใช้ถุงพลาสติก“โลกร้อน” เป็นปัญหาของทุกคนบนโลกใบนี้ เราจึงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายก็ไม่ได้ใจร้าย ปล่อยให้ผู้บริโภคอย่างเราต้องหาวิธีลดใช้ถุงพลาสติกกันอยู่ฝ่ายเดียว เพราะแต่ละที่ก็คิดว่าวิธีการดีๆ เพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในสถานประกอบการของตัวเอง วิธีที่ฮิตที่สุด คงหนีไม่พ้น “ถุงผ้าฟีเวอร์” ซึ่งก็มีอยู่หลายห้างที่ขานรับวิธีนี้ ซึ่งการแจกหรือจำหน่ายถุงผ้าของห้างค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เป็นวิธีการที่ช่วยกระตุ้นและสร้างความรู้สึกของการช่วยกันลดใช้ถุงพลาสติกให้กับผู้ที่มาซื้อสินค้าได้ชัดเจนที่สุด เช่น บิ๊กซี ที่มีแคมเปญให้ ซื้อถุงผ้าที่ห้างทำขึ้น จะได้รับค่าโทรศัพท์ฟรี 10 บาท หรือ คาร์ฟูร์ ที่มีการจำหน่ายถุงผ้าซึ่งผลิตจากสารที่ได้จากการรีไซเคิลขวดพลาสติก เพื่อให้ลูกค้านำมาใช้แทนถุงพลาสติก เป็นต้น บางห้างไม่ได้ทำออกมาแค่เพียงถุงผ้า แต่ยังผลิตถุงกระดาษออกมาใช้ด้วย เช่น เซ็นทรัล ฟู้ดส์ ฮอลล์ และ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่อยู่ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล บางที่ก็ใช้วิธีให้ส่วนลดสำหรับคนที่หิ้วถุงผ้ามาซื้อสินค้า หรือจัดแคมเปญกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องภาวะโลกร้อน เช่น Think Green ของเดอะ มอลล์ กรุ๊ปส์ (โฮม เฟรช มาร์ช และ กรูเมต์ มาร์เก็ต) ที่เป็นโครงเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างการจัดกิจกรรมให้ลูกค้าที่บอกไม่รับถุงพลาสติก 1 ใบ เท่ากับได้ร่วมปลูกต้นไม้ 1 ต้น หรืออย่าง ตั้งฮั้วเส็ง ที่เคยร่วมกับเขตหลักสี่ ส่งวิทยากรมาสาธิตประดิษฐ์และตกแต่งถุงผ้าในโครงการรณรงค์ใช้กระเป๋าผ้าลดภาวะโลกร้อน แถมแต่ละห้างที่เราสำรวจในครั้งนี้ก็เข้าร่วมในโครงการ “45 วัน รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าการลดการใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องยาก ก็มีอีกหนึ่งทางเลือก คือ ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ หรือ oxo-biodegradable plastic bag ซึ่งถุงพลาสติกชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้ด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์ และออกซิเจนในอากาศ ภายในระยะเวลา 1 - 2 ปี (แตกต่างจากถุงพลาสติกทั่วไปที่มีอายุยาวนานหลายร้อยปี) สาเหตุที่ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ยังไม่ค่อยแพร่หลาย คงเป็นเพราะต้นทุนที่สูงกว่าถุงพลาสติกทั่วไปประมาณ 5 – 10% ห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใช้ถุงพลาสติกชนิดนี้ ก็อย่างเช่น วิลล่า มาร์เก็ต, โฮม เฟรช มาร์ช กับ กรูเมต์ มาร์เก็ต ในเครือ เดอะ มอลล์ กรุ๊ปส์ และ เซ็นทรัล ฟู้ดส์ ฮอลล์ กับ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล   ไม่ใช้ถุงพลาสติก เราทุกคนทำได้-ถุงผ้ารักษาโลก –ถุงผ้าไม่ได้มีไว้สะพายตามแฟชั่นเท่านั้น แต่ประโยชน์ของมันคือการนำมาใช้แทนถุงพลาสติก ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็เอามาใส่ไว้ในถุงผ้า แบบนี้ลดใช้ถุงพลาสติกได้แน่นอน-ถือเอาเลยก็ได้ ถ้าซื้อไม่กี่ชิ้น – ซื้อชิ้น 2 ชิ้น จะใส่ถุงทำไมให้เป็นขยะทำลายโลก ถือกลับมาเลยดีกว่า ไม่น่าจะลำบาก-ขับรถมาอย่าพาถุงไป –ใครที่ขับรถยนต์ไปซื้อของ ก็บอกกับห้างได้เลยว่าไม่เอาถุง แค่ใส่ของที่ซื้อมาลงในรถเข็นแล้วค่อยหยิบมาใส่ไว้ในรถได้เลย-รวมกันได้ในถุงใบเดียว – ถุงพลาสติกมีความยืดหยุ่นและทนทาน สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ถ้ามีของมากสามารถใส่ถุงเดียวกันได้ ก็บอกให้พนักงานเขาใส่รวมกันได้เลย-บอกอย่างมั่นใจ ว่าไม่เอาถุง – พยายามฝึกให้เป็นนิสัย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก ซื้อของคราวหน้า บอกไปเลยว่า “ไม่เอาถุง”-ลดการซื้อ = ลดใช้ถุง – ซื้อเท่าที่ใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น ทั้งช่วยโลกแล้วยังช่วยประหยัดอีกต่างหาก แถมจ้า! ตารางเปรียบเทียบราคาสินค้าจากการทดสอบการใช้ถุงพลาสติกของห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ต*หมายเหตุ: เป็นราคาในช่วงระหว่างวันที่ 16 – 22 กรกฎาคม 2552 ประเทศไทยมีปริมาณขยะต่อวันเท่ากับ 40,000 ตันเฉพาะในกทม.มีปริมาณขยะต่อวันเท่ากับ 8,500 ตันขยะถุงพลาสติกเฉพาะในกทม.ต่อวันเท่ากับ 1,800 ตันเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บขนขยะต่อวันเป็นเงิน 1.78 ล้านบาท แต่ถ้าหากเราสามารช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บขนขยะได้ถึง 650 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกได้ถึง 1 ล้านตันต่อปี(ข้อมูลจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 119 เขาหลอกให้เด็กเป็นนักช้อปได้อย่างไร

เรียบเรียงจากหนังสือเรื่อง Born to Buy แต่งโดย จูเลียต บี. ชอร์   เมื่อปี 2546 โครงการวิจัย Child Watch ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ระบุเด็กไทยเป็นนักบริโภค และติดวัตถุมากกว่าครอบครัวและศาสนา ในรอบ 1 เดือนพบว่า เด็กกินอาหารจานด่วนเฉลี่ยราว 3 ครั้ง ไปเดินห้างสรรพสินค้าประมาณ 4 ครั้ง ซื้อเครื่องสำอางค์บำรุงผิวประมาณ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กวัยรุ่นในต่างจังหวัดราวร้อยละ 50 ที่เข้าร้าน internet เป็นประจำ และร้อยละ 30 มีโทรศัพท์มือถือใช้และจากการที่เด็กวัยรุ่นใช้เวลาไปกับกระแสบริโภคนิยม และหมดเวลาไปกับการเดินห้าง หรือพูดคุยกับเพื่อน หรือเล่นเกมผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เด็กวัยรุ่นใช้เวลากับครอบครัวน้อยลงด้วย  กระแสบริโภคนิยมได้เข้าไปก่อร่างสร้างตัวในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญวิกฤตนี้ เด็กทั่วโลกก็ไม่ต่างกัน  ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลงานวิจัยเชิงลึกของจูเลียต บี. ชอร์ ในหนังสือเรื่อง Born to Buy ที่ตีแผ่เทคนิคการโฆษณา และช่องทางในการเข้าถึงเด็กๆ ชาวอเมริกัน รวมถึงศึกษาผลกระทบจากวัฒนธรรมการบริโภคที่มีต่อจิตใจของเด็กเหล่านั้นด้วย โดยมีเด็กประถม 5 – 6 จำนวน 300 คนและผู้ปกครอง 25 คนเข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ มานำเสนอ ท่านสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้จาก คุณหนูนักช็อป เมื่อโฆษณาบอกให้ลูกคุณต้องซื้อ. จูเลียต บี. ชอร์ เขียน ศศิวรรณ ปริญญาตร แปล สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก,2553.   คุณหนูนักช้อปงานวิจัย* ที่ทำกับเด็กอเมริกัน ฟันธงแล้วว่าเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคมาก จะมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น หรือมีความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า นอกจากนี้ยังมีสุขภาพแย่ลงด้วย   ในภาพรวมแล้วเด็กอเมริกันทุกวันนี้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ทั้งๆที่อัตราความยากจนไม่ได้สูงเหมือนเมื่อก่อน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีปัจจัยลบที่บั่นทอนสุขภาวะของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยที่ว่านั้นได้แก่ค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุและการบริโภค  ที่สำคัญการตลาดและโฆษณากำลังจู่โจมพวกเขามากขึ้นทุกวัน ในทุกที่ๆพวกเขาอยู่ จึงไม่ได้มีเพียง “เด็กมีปัญหา” เท่านั้นที่ถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งบริโภคนิยม   เรื่องที่คุณอาจรู้แล้วเกี่ยวกับกลยุทธ์การโฆษณา1. โฆษณาจะนำเสนอภาพโลกของสินค้าดังกล่าวที่เป็นมิตรกับเด็ก โลกนั้นจะไม่มีครู ไม่มีพ่อแม่ที่น่ารำคาญ นี่คือโฆษณาที่สร้างขึ้นจากผลการวิจัยเรื่องเจตคติของเด็กต่อครูและพ่อแม่  2. โฆษณาจะต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขาจะไม่เอาไหน ไม่เท่ ถ้าพวกเขาไม่มีสินค้าตัวดังกล่าวในครอบครอง ขอบอกว่ากลยุทธ์นี้ได้ผลกว่าการบอกเด็กให้ไปซื้อสินค้านั้นมาด้วยซ้ำ  3. โฆษณาจะเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับความต้องการทางอารมณ์ของเด็กๆ เช่น การต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม โฆษณาจึงนิยมส่งสารไปยังเด็กๆว่า ซื้อสินค้าตัวนี้สิ แล้วหนูจะมีเพื่อนแน่นอน   4. โฆษณาที่จะได้ผลนั้นจะต้องทำให้เด็กเกิดความต้องการอย่างท่วมท้นด้วย เราจึงได้เห็นการสร้างความตื่นเต้นเร้าใจด้วยแสง เสียง หรือภาพคลื่นครีมมหึมา หรือทะเลช็อกโกแลต เสมอๆ  5. บริษัทมักอ้างว่าโฆษณาไม่ได้มีผลต่อเด็กมากมายอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนวิตกกัน แต่ก็ยังตอบคำถามไม่ได้ว่าทำไมถึงทุ่มเงินให้กับการโฆษณาเป็นเงินหลายพันล้านเหรียญต่อปี   กลยุทธ์การตลาดที่ผู้ประกอบการใช้ในการเข้าถึงเด็กๆ1. สร้างอาณาจักรที่ทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระได้โดยผ่านทางการบริโภค  2. เมื่อเด็กมีเงินใช้มากขึ้น หัวใจของวัฒนธรรมการบริโภคของพวกเขาคือการได้รู้สึกพิเศษเหนือคนอื่นๆ บริษัทต่างๆจึงพยายามปรับราคาสินค้าขึ้น เพื่อจะได้ดูเป็นสินค้า “เกินเอื้อม” และทำให้เด็กๆหลงใหล อยากเป็นเจ้าของมากขึ้น  3. สิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จของการทำการตลาดสินค้าสำหรับเด็กคือความเท่ทันสมัย เพราะนาทีนี้มันคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ได้ในชีวิตของพวกเขา  4. นักการตลาดรู้ว่าเด็กเล็กก็ดูรายการสำหรับวัยรุ่น หรือรายการสำหรับผู้ใหญ่ และเด็กทุกคนก็มีความต้องการลึกๆที่ “อยากจะเป็นผู้ใหญ่” จึงจงใจนำเสนอสินค้าที่ “แก่กว่าวัย” ให้กับกลุ่มเป้าหมาย  5. การสื่อสารสองความหมายก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่น ในการโฆษณาอาหารสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่ง เนื้อหาที่ส่งไปยังพ่อแม่คืออาหารดังกล่าวมีวิตามินและทำจากวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ในขณะที่บอกกับเด็กๆ ว่าอาหารนั้นทานแล้วสนุกสนาน มีเพื่อนมากมาย  6. มีงานวิจัยที่ระบุว่าครอบครัวที่มีเวลาให้ลูกน้อยจะให้เงินลูกใช้มากขึ้นเพื่อเป็นการ “ไถ่บาป” และการใช้เงินทดแทนเวลานั้นเป็นสิ่งที่แม่นิยมทำมากกว่าพ่อ นักการตลาดจึงไม่พลาดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้สึกผิดดังกล่าว ด้วยการสื่อสารถึงเด็กๆว่าสินค้าต่างหากที่อยู่เคียงข้างพวกเด็กๆเสมอ (ไม่ใช่พ่อแม่)  7. นักการตลาดใช้วิธี “สร้างโลก 360 องศา” ด้วยการจู่โจมผู้บริโภคด้วยข้อมูลจากทุกด้าน ในสื่อทุกประเภท รวมถึงการตลาดแบบ “ใช้ดีแล้วบอกต่อ” ด้วย 8. เงินซื้อได้ทุกอย่าง นักการตลาดสามารถจ่ายเงินให้พ่อแม่เพื่อซื้อเวลาที่จะได้พูดคุยกับลูกของพวกเขาได้อย่างเป็นส่วนตัวแม้กระทั่งการมาถ่ายวิดีโอลูกของตนในห้องนอนหรือห้องอาบน้ำ ---------------------------------------------------------------------------------------- เด็กกับพลังตื๊อเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เรื่องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นคือเด็กกำลัง “ฝึก” พ่อแม่ให้จัดหาสิ่งที่ต้องการให้โดยไม่ต้องร้องขออีกต่อไป เพราะเมื่อพ่อแม่เรียนรู้ว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ลูกไม่ชอบ เพราะไม่อยากเสียเงินหรือเวลาไปกับสิ่งที่ซื้อมาแล้วลูกจะไม่กิน ไม่ใช้ ซึ่งก็เข้าทางทั้งเด็กและทั้งคนที่จะหากำไรจากเด็ก ---------------------------------------------------------------------------------------- - สหรัฐอเมริกามีศูนย์การค้ากว่า 105,000 แห่ง เมื่อปลายปีพ.ศ. 2552 มีพื้นที่ช้อปปิ้งประมาณ 7,000 ล้านตารางฟุต เมื่อนำมาเฉลี่ยกับจำนวนประชากร 300 กว่าล้านคนแล้ว อเมริกันชนแต่ละคนจะมีพื้นที่ศูนย์การค้าประมาณ 23 ตารางฟุต - ข้อมูลจาก The International Council of Shopping Centers จากสถิติของกรุงเทพมหานคร เมื่อปีพ.ศ. 2551 กรุงเทพฯ มีศูนย์การค้าทั้งหมด 136 แห่ง (และตลาดนัดอีกนับไม่ถ้วน)- อัตราการเป็นเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์ของอเมริกันชน เท่ากับ 740 เครื่องต่อ 1,000 คน (เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เบอร์มิวดาและโมนาโค) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 86 ที่ 236 เครื่องต่อ 1,000 คน ----------------------------------------------------------------------------------------   เด็กติดแบรนด์ ข้อมูลจากการสำรวจของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในอเมริการะบุว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เด็กอายุ 10 ขวบ จะสามารถจดจำแบรนด์ได้ระหว่าง 300 ถึง 400 แบรนด์  เวลาที่เด็กอ้อนให้ซื้อของ พวกเขามักจะระบุแบรนด์ของสินค้า และที่แย่กว่านั้นเด็กอเมริกันเดี๋ยวนี้จะร้องอยากได้สินค้า “แบรนด์ดัง” เท่านั้น และประสบการณ์การบริโภคของเด็กอเมริกัน (และก็คงจะไม่ต่างกับเด็กที่บ้านเรา) ทุกวันนี้ก็จะต้องหรูหราขึ้นด้วยเด็กไม่ได้มีทางเลือกมากมาย อย่างที่พวกเขาเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันธุรกิจสื่อและความบันเทิงสำหรับเด็กก็ อยู่ในมือของ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ดิสนีย์ เวียคอม นิวส์คอร์ป และเอโอแอล ไทม์ วอร์เนอร์ เท่านั้น   อย่างนี้จะดีไหมงานวิจัยเรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ • ให้มีการเก็บภาษีร้อยละ 2 จากโฆษณาที่ออกอากาศทางวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และอินเทอร์เน็ท เมื่อฉายในเวลาที่มีผู้ชมในวัยต่ำกว่า 18 ปี ดูเกินร้อยละ 25  • รวมโฆษณาเอาไว้ในช่องเดียวกัน เมื่อบริษัทอ้างว่าโฆษณานั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ มีคุณค่า ก็ไม่มีอะไรต้องวิตก คนที่ชอบดูโฆษณาก็จะตามไปดูเอง ดูแต่โฆษณาให้จุใจกันไปเลย • เปลี่ยนระบบจากการให้โฆษณาเป็นผู้สนับสนุนรายการ มาเป็นระบบที่ผู้ชมสามารถจ่ายเงินซื้อสาระที่ต้องการชมได้เลย   หน่วยสืบราชการลับ GIA: Girls Intelligence Agency Girls Intelligence Agency หรือ GIA ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นสาขาหนึ่งของซีไอเอ หรือหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด แต่กิจการของเขาก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างตรงที่ จีไอเอก็มี “สายลับ” เช่นกัน  เว็บไซต์ของจีไอเอ ระบุว่าตนเองมีสายลับหญิงในสังกัดประมาณ 40,000 คน พวกเธออายุระหว่าง 8 – 29 ปี อยู่ทั่วอเมริกา ซึ่งจะทำการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่จีไอเอเพื่อแจ้งข้อมูล ข้อมูลที่ว่านี้ได้แก่ความคิดเห็น ความฝัน เป้าหมาย แรงบันดาลใจของบรรดาสาวๆเหล่านั้นและเพื่อนๆของเธอ จากนั้นบริษัทก็จะแปรข้อมูลที่ได้ให้เป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อ “ลูกค้า” ซึ่งก็คือบริษัทที่ต้องการเพิ่มยอดขายสินค้าสำหรับเด็กและวัยรุ่นหญิงนั่นเอง จีไอเอ จะให้ “สิทธิพิเศษ” กับเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็น “เจ้าหน้าที่” ของตนด้วยการให้โอกาสพวกเธอทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือไม่ก็เชิญพวกเธอเข้าร่วมงานเปิดตัวสินค้าต่างๆ  เด็กๆเหล่านี้จะได้รับการอบรมเทคนิคการล้วงความลับจากเพื่อนๆ โดยจีไอเอ บอกกับพวกเธอว่าพวกเธอจะต้องสอดรู้สอดเห็นเพื่อองค์กร   หนึ่งในสิ่งที่ “สาวสืบราชการลับ” ตัวน้อยเหล่านี้ต้องทำคือจัดงานปาร์ตี้ชุดนอน เชิญเพื่อนๆอีก 11 คนมาร่วมงาน เพื่อมา “ทดลองใช้สินค้าตัวอย่างก่อนใคร” และ “กินอาหารขยะกันให้พุงกาง” ไม่ว่าเด็กๆเหล่านี้จะรู้ตัวหรือไม่ งานปาร์ตี้ดังกล่าวก็คือการทำโฟกัสกรุ๊ปเพื่อสำรวจความเห็นของผู้บริโภคและเป็นชั่วโมงขายของไปโดยปริยาย  โดยหลังงานเลิก บรรดาเจ้าภาพตัวน้อยๆ เหล่านี้จะต้องรายงานผลกลับไปยังหน่วยเหนือของพวกเธอ นอกจากนี้บางครั้งจีไอเอจะส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกภาพปาร์ตี้ดังกล่าวไว้ด้วย จีไอเอถึงกับกล้าพูดว่าสายลับแต่ละคนจะสามารถเข้าถึงเพื่อนสาวของพวกเธอได้อีก 512 คน ได้ในทุกแง่มุมของชีวิต ฟังแล้วก็น่าวิตกแทนพ่อแม่ของพวกเธอและของเด็กๆที่พวกเธอเรียกว่า “เพื่อน” เพราะไม่รู้ว่าคำว่า “มิตรภาพ” จะยังมีความหมายเหมือนเดิมหรือไม่---ตลาดสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในสหรัฐคือสินค้าสำหรับเด็กและวัยรุ่นหญิง จีไอเอระบุในเว็บไซต์ว่าขณะนี้สหรัฐอเมริกามีประชากรที่เป็นเด็กหญิงอายุระหว่าง 10 – 19 ปีกว่า 18 ล้านคน และเด็กเหล่านี้มีการใช้จ่ายรวมกันถึงปีละ 75,000 ล้านเหรียญ  นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าวัยรุ่นมีส่วนในการทำให้เกิดการใช้จ่ายของครอบครัวถึง 700,000 ล้านเหรียญต่อปี และร้อยละ 56 ของวัยรุ่นเหล่านี้เป็นวัยรุ่นหญิง---

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point