ฉบับที่ 244 เช็คพัสดุออนไลน์ใน eTracking

        ยุคนี้สมัยนี้การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะไม่เคยใช้บริการออนไลน์ก็ตาม แต่เชื่อว่าในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ที่ผ่านมาต้องมีหลายคนที่ได้ทดลองใช้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเดินทาง ลดความเสี่ยงที่จะต้องไปสัมผัส ซึ่งเป็นการป้องกันตนเองและครอบครัวได้วิธีหนึ่ง         ปัญหาที่ตามมาหลังจากมีการสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ก็คือ สถานะการสั่งสินค้าไม่อัปเดทเป็นปัจจุบัน จนทำให้คนสั่งรอแล้วรออีก ไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไหร่กันแน่ หรือพ่อค้าแม่ค้าเองก็ไม่รู้ว่าสินค้าของลูกค้าไปอยู่ที่จุดไหนแล้ว ฉบับนี้จึงพามาดูแอปพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบพัสดุ เพื่อเป็นตัวช่วยให้กับลูกค้าและพ่อค้าแม่ค้ากัน         แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า eTrackings ช่วยในการติดตามเลขพัสดุที่อัปเดทสถานะของจุดที่สินค้าอยู่ได้อย่างรวดเร็ว และแจ้งเตือนสถานะพัสดุได้ การเข้าใช้แอปฯ มีหลายวิธี ได้แก่ ลงทะเบียนของแอปฯ โดยตรง ผ่านเฟซบุ๊ก และผ่าน gmail สามารถดาวน์โหลดฟรีทั้งในระบบ Android และ iOS        คุณสมบัติของแอปฯ นี้ที่จะช่วยทุนแรงพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้า เพราะมีระบบตรวจจับพัสดุ ทั้งในรูปแบบการกรอกตัวเลข สแกน QR Code และอ่านเลขพัสดุจากรูปภาพ ซึ่งสามารถทำการสแกนหาตัวเล็ก Tracking Number โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องนั่งพิมพ์เอง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา         นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเตือนพัสดุที่กำลังติดตาม สามารถแชร์พัสดุเป็น URL และสร้าง QR Code เพื่อให้คนอื่นมาสแกน ที่สำคัญสามารถเช็คราคาพัสดุตามขนาดและน้ำหนัก ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการคำนวณราคาในการส่งสินค้าอย่างมาก ทั้งนี้ในกรณีพัสดุจัดส่งถึงแล้วระบบจะเก็บประวัติการค้นหาให้ 3 วันเมื่อครบแล้วระบบจะนำออกจากระบบทันที ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะภายในแอปพลิเคชั่นยังมีบริการค้นหารหัสไปรษณีย์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้อีกด้วย         รายชื่อบริษัทขนส่งที่สามารถติดตามพัสดุภายในแอปพลิเคชั่น eTrackings อาทิ ไปรษณีย์ไทย, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส, แฟลช เอ็กซ์เพรส, ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส, อัลฟ่า ฟาส, เบสท์ เอ็กซ์เพรส, ซีเจ โลจิสติกส์, สปีด-ดี, นินจาแวน, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส, บี เอ็กซ์เพรส, อินเตอร์ เอ็กซ์เพรส, ชิปป๊อป, อาราเม็กซ์, ทีพี โลจิสติกส์, เฟดเอกซ์, ไอที ทรานสปอร์ต, นครชัยแอร์, ยูพีเอส, นิ่ม เอ็กซ์เพรส, บี.เอส เอ็กซ์เพรส, ชิปจัง, Global ไช่เหนียว, เจแปน โพสต์, ไชน่า โพสต์, สกายบอกซ์, บุ๊คมายคาร์โก, บิสซิเนส ไอเดีย ทรานสปอร์ต, ปอลอ เอ็กซ์เพรส, บลู แอนด์ ไวท์ เอ็กซ์เพรส, เซ็นด์อิท, เจดับเบิ้ลยูดี เอ็กซ์เพรส, เอสเอ็มอี ชิปปิ้ง, เอ็นทีซี เอ็กซ์เพรส, Logistics Worldwide Express, ดีพีเอ็กซ์ โลจิสติกส์, ECMS Express, เซ้าท์เทิร์น เดลิเวอรี่ เซอร์วิส, ซีทีที เอ็กซ์เพรส, ยูเซ็น โลจิสติกส์ เป็นต้น         แต่อย่าลืมนะคะ หลังรับสินค้าที่สั่งผ่านออนไลน์มาแล้ว ควรฉีดพ่นน้ำยาแอลกอฮอล์ที่กล่องสินค้าและรีบนำกล่องไปทิ้ง พร้อมล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ถูกชักชวนตรวจสุขภาพ พร้อมซื้อคอร์สรักษาโรค

        วันหนึ่งคุณพิสมัยและลูกสาวได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เดินช้อปปิ้งอยู่ก็มีพนักงานสาวสวยสองคนเดินออกจากบูธตรงมาหาคุณพิสมัย พร้อมชวนพูดคุยสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพและโฆษณาโครงการสิทธิพิเศษโดยอ้างว่า ตนมาจากสถานพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยยื่นข้อเสนอตรวจสุขภาพให้ฟรีมูลค่า 7,000 บาท พร้อมขอชื่อและเบอร์ติดต่อคุณพิสมัยไว้         วันถัดมาคุณพิสมัยได้รับโทรศัพท์จากพนักงานคนดังกล่าวเพื่อขอนัดตรวจสุขภาพ คุณพิสมัยเห็นว่าเป็นการตรวจฟรีจึงได้ตกลงและไปตามนัดในวันดังกล่าว โดยได้รับการตรวจเลือดและบริการอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหลังจากที่ได้รับการเจาะเลือดไปตรวจเพียงหยดเดียวด้วยวิธีการส่องกล้องจุลทรรศน์ คุณพิสมัยก็ได้รับแจ้งว่า พบไขมันจำนวนหนึ่งลอยเกาะกันอยู่ในเลือดและมีปริมาณเกินกว่าที่ควรจะมีอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอนาคตได้ คุณพิสมัยตกใจที่ผลเลือดไม่ดี จึงถามกลับไปว่าควรจะทำอย่างไรดี ซึ่งทางพนักงานได้แนะนำโปรแกรมรักษาราคา 900,000 บาทให้แก่คุณพิสมัย         พอได้ยินราคาสำหรับการรักษา คุณพิสมัยปฏิเสธทันทีในใจคิดว่าน่าจะไปตรวจที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แต่พนักงานก็ยื่นข้อเสนอใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นลดจำนวนครั้งการรักษาลง ราคาจะเหลือเพียง 69,000 บาท เมื่อเห็นว่าเป็นราคาที่พอจะรับได้จึงได้ตอบตกลงและชำระเงินมัดจำผ่านบัตรเครดิตไปจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์         อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณพิสมัยขอให้ลูกสาวช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจรักษาแบบดังกล่าวจนพบข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยโดยใช้เลือดเพียงหยดเดียวส่องกล้องจุลทรรศน์นั้น เป็นการตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ทั้งเป็นการรักษาที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าได้ผล จึงต้องการเงินคืนจะต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อคอร์สการตรวจรักษาสุขภาพดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และผู้ร้องไม่ยินดีที่จะเข้ารับบริการดังกล่าว ผู้ร้องสามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่ามัดจำดังกล่าวคืนได้เต็มจำนวน         การทำหนังสือบอกเลิกสัญญาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับที่สามารถเก็บบันทึกตอบรับไว้เป็นหลักฐานได้ พร้อมทั้งโทรติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งกับพนักงานว่า ตนได้ขอยกเลิกสัญญาดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว พร้อมแนบสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับธนาคารด้วย กรณีของคุณพิสมัยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา แต่ฝากไว้ให้คิดว่า ก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ว่าผู้ให้บริการเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่ และก่อนตัดสินใจเข้าใช้บริการควรหาข้อมูลให้รอบด้าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ซื้อง่าย แต่ห้ามจ่ายเร็ว

ข้อได้เปรียบของการซื้อสินค้าออนไลน์  1. อยากได้สินค้าสักชิ้น  ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหน ลองค้นกูเกิลดู รู้เลยว่าที่ไหนมีขายบ้าง ทั้งที่ขายในประเทศและต่างประเทศ 2. มีสินค้าที่ต้องการอยู่ในใจ ลองค้นหาทางออนไลน์ สามารถเปรียบเทียบราคาได้ในเวลาไม่นาน ได้สินค้าที่ราคาคุ้มที่สุด 3. เมื่อเจอสินค้าที่ถูกใจในราคาที่พึงพอใจ ในเวลาดึกดื่นที่ร้านค้าปิดหมดแล้ว จะเดินทางไปซื้อก็ไกล รถติด พรุ่งนี้ก็ทำงานทั้งวัน กังวลว่าไปถึงร้านแล้วสินค้าจะหมด 4. ในการซื้อของทางออนไลน์ ผู้ซื้อมีเวลาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่มีความกดดันต่าง ๆ สามารถหาข้อมูลและพิจารณาจากรีวิวหรือความคิดเห็นของผู้ซื้อคนอื่นสรุปคือ ซื้อง่าย จะเห็นว่าการซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นแสนจะสะดวกสบาย สามารถตอบสนองความต้องการค้นหาสินค้าได้ง่าย ประหยัดเวลาที่ต้องเดินทางหาสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้สินค้าในราคาที่พึงพอใจ ซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา ประหยัดเวลา มีความแน่นอนว่าสินค้าไม่หมดสต๊อก ไม่มีความกดดันในการตัดสินใจซื้อ เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทำให้การซื้อขายสินค้าไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แค่เรามีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถซื้อของได้จากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้ตลาดการซื้อขายของออนไลน์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และนอกจากความสะดวกสบายแล้ว ปัจจัยด้านราคาก็เป็นตัวดึงดูดที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าการซื้อของออนไลน์มักทำให้ได้สินค้าที่มีราคาคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้นการตกลงซื้อจึงมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในกระบวนการชำระค่าสินค้าหรือบริการออนไลน์ก็ยังง่ายดายไม่ซับซ้อน เช่น โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารออนไลน์ หรือเพียงกรอกรหัสของบัตรเครดิต/บัตรเดบิตก็ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมซื้อขายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แล้ว รวมทั้งเรายังสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วยเหรียญมีสองด้าน ถึงจะง่ายอย่างไร ก็ยังต้องใช้หลักพึงระวังในการซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพราะทำให้เสียเงิน เสียประโยชน์กันมานักต่อนักแล้วเช่นกัน  แล้วมีอะไรบ้างที่ต้องระวัง มาดูกัน1. การหลอกลวง โดยผู้ขายตั้งใจมาหลอก ไม่มีสินค้า แต่ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้า แล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญา2. ได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา เช่น สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งาน3. การคืนสินค้ามีความยุ่งยาก เช่น ขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้า ได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนหรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆ4. ความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว 5. อาจถูกผู้ขายฟ้องร้องเพราะไม่พึงพอใจสินค้าและโพสต์ข้อความตำหนิผู้ขายการซื้อของออนไลน์ หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ในปัจจุบัน มีอยู่ 2 แบบ คือ1. ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (Business-to-Consumer : B2C) เป็นรูปแบบที่มีการทำธุรกรรมมากที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยที่ผู้ประกอบการจะจัดช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทเอง เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติม  เช่น สินค้าของร้านภัทรพัฒน์ที่วางจำหน่ายในร้านค้า 5 สาขาและตัวแทนจำหน่าย ก็มีช่องทางเว็บไซต์  http://www.patpat9.com เพื่อให้ผู้ซื้อสั่งซื้อทางออนไลน์  เป็นการขายโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค2. ผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค (Consumer-to-Consumer : C2C) เป็นช่องทางขายผ่านทาง marketplace  เป็นรูปแบบที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้บริโภคได้โดยอิสระ ซึ่งผู้ให้บริการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บค่าใช้บริการบางส่วน ตัวอย่างเว็บไซต์ในต่างประเทศ เช่น eBay.com และในประเทศไทย เช่น kaidee.com / tarad.com นอกจากนี้ยังรวมถึงการขายสินค้าและบริการผ่านทางช่องทางเว็บบอร์ดอื่น ๆ เช่น pantip.com โดยผู้บริโภคและผู้บริโภคติดต่อกันเองเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า มักเป็นสินค้าราคาถูกหรือเป็นสินค้าที่หาไม่ได้แล้วในท้องตลาดทั่วไปถ้าให้เปรียบเหมือนการซื้อขายในรูปแบบทั่วไป B2C ก็คือการซื้อขายปลีกระหว่างลูกค้ากับร้านค้าของผู้ประกอบการที่น่าเชื่อถือ มักไม่มีปัญหาเรื่องการหลอกลวงเพราะผู้ประกอบการมีตัวตนจริง มีสินค้าจริง มีข้อกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าที่ชัดเจน แต่ผู้บริโภคที่จะทำการซื้อขายออนไลน์ในรูปแบบนี้จะต้องระมัดระวังในการอ่านรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าเพราะจะเป็นข้อมูลที่ทางผู้ขายกำหนดเอาไว้ตายตัว เจรจาหรือต่อรองเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขในการเปลี่ยนคืนสินค้ากรณีไม่พึงพอใจสินค้า สินค้าไม่เป็นไปตามรูปภาพ-คำบรรยาย สินค้าชำรุดบกพร่อง ส่วน C2C ก็คือการซื้อขายของตามตลาดนัด หาบเร่แผงลอย หรือตลาดเปิดท้ายขายของ หรือการประกาศขายของตาม classified ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ผู้ซื้อผู้ขายได้ติดต่อกันโดยตรง ต่อรองราคากันได้ แต่การเปลี่ยนคืนสินค้า บริการหลังการขายนั้นมีน้อยมาก ทำใจไว้ก่อนได้เลย  คู่มือเพื่อการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัยท่องเอาไว้ทุกครั้ง “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!1. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! จากเหตุเพราะผู้ขายตั้งใจมาหลอก ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้าแล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญาส่วนมากผู้ขายที่ตั้งใจมาหลอก มักจะประกาศขายสินค้าที่ราคาถูกเกินกว่าราคาตลาดมากเกินไป หรือมักเป็นสินค้าประเภทพรีออเดอร์เพราะผู้ขายไม่มีสินค้าอยู่กับตัวเอง จะประกาศขายก่อนและรอให้มีลูกค้ามาสั่งซื้อสินค้า มักเป็นสินค้าราคาแพง ผู้ขายส่วนใหญ่มักให้ผู้ซื้อโอนเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่ามัดจำไว้ก่อน เพื่อป้องกันการสั่งจองแล้วยกเลิก และผู้ขายบางรายอาจทำหน้าที่เป็นนายหน้าที่คอยประสานงานระหว่างร้านค้ากับผู้ซื้อ ผู้ขายอาจจะไม่ตั้งใจมาหลอก แต่หากมีปัญหาแล้วผู้ขายไม่สามารถหาซื้อสินค้าให้ได้ เมื่อเงินอยู่กับตัวเขาแล้ว คงยากที่จะได้เงินคืนการซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C โดยเฉพาะช่องทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม(ไอจี) หรือโพสต์ขายของตามเว็บบอร์ด e-Classified เช่น ห้องต่างๆ ในเว็บไซต์พันทิป ต้องระวังให้มากๆ เพราะเราไม่รู้จักตัวตนของเขา หากมีปัญหาเขาก็ปิดเพจ บล็อกเมสเซนเจอร์ ไอจี ไลน์ เราก็ไม่สามารถติดตามตัวเขาได้เลย แม้บางครั้งผู้ขายจะให้ดูรูปบัตรประชาชน ก็อาจจะเป็นบัตรของใครก็ได้ หากโอนเงินไปแล้วมีปัญหา แม้เราจะมีเลขบัญชีที่สามารถสอบถามธนาคารได้ว่าเจ้าของบัญชีคือใคร แต่จะเอาเงินออกจากบัญชีนั้นทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ธนาคารไม่ยินยอมทำให้ จะไปแจ้งความกับตำรวจก็ลำบาก ดังนั้นตั้งสติก่อนที่เราจะตกลงใจสั่งซื้อและโอนเงิน วิธีที่รอบคอบคือ เราต้องตรวจสอบตัวตนร้านค้าก่อน โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือ ชื่อ ที่อยู่ หรือช่องทางการติดต่อ ต้องชัดเจน ตรวจสอบประวัติร้านค้า สามารถดูได้จากรีวิวการขายของในเพจหรือเฟซบุ๊ก พิจารณารายละเอียดการซื้อขาย ข้อความที่ผู้ขายคุยกับผู้ซื้อ ร้านค้ามีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา หรือนำชื่อร้านค้า ชื่อผู้ขาย ชื่อบัญชีการโอนเงินชำระสินค้า มาค้นหาใน google.com หรือ pantip.com เพื่อตรวจสอบประวัติและข้อมูลของร้านค้า และที่สำคัญควรสืบค้นข้อมูลการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขายตรงกับทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พยายามซื้อจากร้านค้าเปิดเผยตัวตน จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุกิจการค้า ที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (เครื่องหมาย DBD Registered  คือ เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้แก่พาณิชยกิจประเภทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และนิติบุคคล สำหรับเครื่องหมาย DBD Verified คือ เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และแสดงว่าเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพผ่านเกณฑ์ประเมินตามมาตรฐานคุณภาพธุรกิจ e-Commerce ของกรมพัฒนาธุกิจการค้า)สรุป ตรวจสอบตัวตนของร้านค้า /  ผู้ขายจดทะเบียนกับสคบ. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified / ราคาไม่ต่ำกว่าราคาทั่วไปอย่างผิดสังเกต2. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งานก่อนตกลงใจสั่งซื้อ อ่านข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้เข้าใจทุกครั้ง ได้แก่ ข้อมูลรายละเอียดของสินค้า ข้อมูลการจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า ผู้จัดส่งสินค้า ซึ่งหากผู้ขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบ ควรติดต่อสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น อีเมล ไลน์ และควรเก็บหลักฐานการสนทนาทุกครั้ง และสำหรับสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ จะต้องมีเครื่องหมาย อย. จำไว้ว่า ผู้ซื้อมีสิทธิในการยกเลิกการซื้อสินค้าที่เรียกว่า “สิทธิในการเลิกสัญญา” ทั้งในกรณีทั่วไปและในกรณีพิเศษ(withdrawal right หรือ right of withdrawal หรือสิทธิในการยกเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ) ซึ่งการใช้สิทธินี้บางทีในต่างประเทศจะเรียกว่า “cooling-off period” เพราะการสั่งซื้อของออนไลน์เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายแบบดั้งเดิมที่มีหลักกฎหมายว่า “ผู้ซื้อต้องระวัง!!” โดยผู้ซื้อต้องระวังในการเลือกดูสินค้า พินิจพิเคราะห์ พิจารณาผู้ซื้อมีหน้าที่ที่ต้องระวังก่อนที่จะทำการตกลงซื้อสินค้า แต่การซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ซื้อไม่สามารถพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบสินค้าได้ในขณะซื้อ ผู้ซื้อจึงมีสิทธิดังกล่าว สำหรับระยะเวลาในการใช้สิทธิเลิกสัญญาอาจแตกต่างกันไป(ในสหภาพยุโรปกำหนดไว้ 14 วัน) ดังนั้นก่อนที่ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อ ต้องศึกษาข้อมูลระยะเวลาของการใช้สิทธิในการเลิกสัญญานี้ให้ละเอียด ดังนั้นก่อนซื้อสินค้า ตรวจสอบกันเสียก่อนว่าผู้ขายมีระบบการติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้าแบบไหน อย่างไรและผู้ส่งจะให้ข้อมูลรายละเอียดของเลขที่พัสดุแก่เราได้หรือไม่และจะได้เมื่อใด ผู้บริโภคต้องสอบถามผู้ขายเพื่อให้ได้ข้อมูลรายละเอียด ระยะเวลาจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่ง และข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือสูญหายในระหว่างการจัดส่งสินค้ามาถึงมือผู้บริโภค และเพื่อให้ทราบข้อมูลรายละเอียด สถานะการจัดส่งสินค้า ผู้ขายจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดของการจัดส่งพัสดุให้ผู้บริโภคอย่างเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง  นอกจากนี้ควรเลือกการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเพราะมั่นใจได้แน่ว่าได้รับสินค้าแน่ๆ อีกทั้งยังสามารถตรวจดูสินค้าว่าเป็นไปตามที่สั่งซื้อหรือไม่ด้วย เพราะหากไม่ใช่สินค้าตามลักษณะที่เราสั่งซื้อไป เราปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่จ่ายเงินได้สำหรับกรณีจัดส่งสินค้าล่าช้านั้น หากผู้ซื้อติดต่อไปผู้ขายส่วนมากมักจะขอโทษ จากประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่ได้สั่งสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าที่มีมาตรฐานและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้เขียนต้องติดต่อยืนยันและเรียกร้องให้ดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหาย จึงจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นคูปองส่วนลดในการสั่งซื้อสินค้าในคราวต่อไป แต่ถ้าผู้เขียนไม่ได้เรียกร้อง ทางผู้ขายก็มักจะเพิกเฉย แต่การซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C ผู้ขายที่ไม่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้ขายอาจจะไม่สนใจที่จะให้เราใช้สิทธิยกเลิกการสั่งซื้อหรือชดเชยเยียวยาในการจัดส่งล่าช้า เราจึงควรเจรจาต่อรอง แจ้งความประสงค์กำหนดวันรับสินค้ากับผู้ขายไว้ก่อนและเก็บหลักฐานข้อตกลงไว้  หากผู้ขายไม่ยินยอม ทางที่ดีเราไม่ควรซื้อ แต่หากเราซื้อไปแล้วโดยไม่มีข้อตกลงนี้ เราควรยืนยันสิทธิของเราโดยเก็บหลักฐานการสั่งซื้อและรายละเอียดต่างๆ ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สคบ. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่การดำเนินการในขั้นตอนนี้อาจเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะมากกว่าค่าสินค้าก็ได้ ทางที่ดี “กันไว้ดีกว่าแก้” เลือกซื้อจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือและมีข้อกำหนดในการใช้สิทธิยกเลิกการซื้อของเราอย่างชัดเจน และรับผิดชอบในการจัดส่งล่าช้าสรุป อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้เข้าใจ / มีข้อสงสัยสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บหลักฐานไว้ / ซื้อสินค้าที่ยอมให้ยกเลิกหรือคืนสินค้าได้ / มีการจัดส่งเลขพัสดุภัณฑ์หรือเครื่องมือที่สามารถติดตามสถานการณ์จัดส่งสินค้า / เก็บหลักฐานการสั่งซื้อ การสนทนาต่าง ๆ / เลือกซื้อสินค้าที่ให้ชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า3.  “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะการคืนสินค้ามีความยุ่งยากจนผู้ซื้ออาจจะถอดใจแล้วปลอบตัวเองว่า “ถือว่าฟาดเคราะห์ไป” การคืนสินค้าอาจมีขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้าหรือได้รับไม่เต็มจำนวน ไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆการสั่งซื้อสินค้าแบบชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัย แต่ถ้าผู้ขายไม่มีบริการดังกล่าว ผู้ซื้อต้องได้ข้อมูลจากผู้ขายก่อนสั่งซื้อสินค้าว่าสามารถคืนสินค้าได้และผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าจัดส่งสินค้าคืน พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ในการคืนสินค้า เช่น กล่องบรรจุจะต้องอยู่ในสภาพดี (เวลาแกะกล่องจะได้เปิดหีบห่ออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ฉีกขาด) ผู้เขียนมีประสบการณ์สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified และพบปัญหาจากการคืนสินค้าเนื่องจากข้อกำหนดที่ยุ่งยากซับซ้อนจน ส่งสินค้าคืนไปใช้เวลาเกือบ 1 เดือนจึงได้รับคำตอบว่าไม่สามารถรับคืนสินค้าได้เพราะบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อย ไม่ตรงตามข้อกำหนดสำหรับผู้ขายที่เป็นแบบ C2C ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับสคบ.หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (คล้าย ๆ กับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ขายที่ผู้ซื้อต้องระมัดระวังมากๆ มีความเสี่ยงสูง มาตรฐานและวิธีการในการรับเปลี่ยน/คืนสินค้าก็จะแตกต่างกันไป ไม่มีผู้ใดควบคุม การคืนสินค้ากับกลุ่มผู้ขายประเภทนี้มีความยากลำบาก ไม่แน่นอน หากเราส่งสินค้าคืนเขาไปแล้วและไม่ได้รับเงินคืน สินค้าก็ไม่ได้-เงินก็ไม่ได้คืน ต้องติดต่อร้องเรียนตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก อาจจะไม่คุ้มกับราคาค่าสินค้าก็ได้ ดังนั้นสอบถามให้แน่ชัด ใช้ความระวัดระวังไว้ให้มาก ๆอีกวิธีการที่อยากแนะนำคือ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ระหว่างที่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายตามยอดบัตรเครดิต ผู้ซื้อยังพอมีเวลาที่จะดำเนินการปฏิเสธการจ่ายเงินกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนที่เจ้าของบัตรเครดิตกำหนด เช่น ทำหนังสือบอกกล่าวยกเลิกสัญญาซื้อขายไปยังผู้ขายและส่งเอกสารหลักฐานที่ติดต่อกับผู้ขายให้กับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อพิจารณาปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-30 วัน แม้จะไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้เขียนขอแนะนำสำหรับการคืนสินค้าและรับเงินคืนทางบัตรเครดิต หากเป็นการซื้อสินค้าสกุลเงินต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินขณะถูกเรียกเก็บเงินและคืนเงินอาจจะไม่เท่ากัน หากเราได้รับเงินคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตในจำนวนเงินไทยบาทที่ไม่กัน เราสามารถดำเนินการขอคืนส่วนต่างโดยติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตสรุป เลือกบริการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า / อ่านและตกลงรายละเอียด ขั้นตอนการคืนหรือเปลี่ยนสินค้าให้เข้าใจ / หากชำระราคาก่อนได้รับสินค้าควรเลือกชำระเงินด้วยบัตรเครดิต4.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจโดนล้วงข้อมูลสำคัญส่วนตัว หรือด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ก่อนส่งคำสั่งซื้อให้ตรวจดู URL เพราะปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์ ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคารออนไลน์ จึงมีเว็บไซต์ที่หลอกลวงหรือทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อเลียนแบบจนเราแทบจะไม่ทันสังเกตเห็นความต่างกันเลยก็ว่าได้  หากพลาดไป เว็บไซต์ดังกล่าวอาจนำข้อมูลส่วนตัว รายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นขณะจะทำการสั่งซื้อต้องสังเกต URL หรือชื่อเว็บไซต์โดยละเอียด เพราะจะมีแตกต่างกันบางจุดชื่อ URL ของร้านค้าหรือหน้าเว็บไซต์ที่ใช้ตัดเงินผ่านบัตรเครดิต และให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่เรากำลังใช้ทำธุรกรรมการสั่งซื้อของออนไลน์อยู่นั้น โดยเฉพาะหน้าที่แสดงวิธีการจ่ายเงินให้ตรวจสอบว่าเป็น HTTPS หรือไม่5.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! ต้องเก็บหลักฐานการซื้อขาย เงื่อนไขที่ตกลงกัน และหลักฐานการชำระเงิน เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองซึ่งหากมีปัญหาเกิดขึ้น หากพบปัญหาควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์(Call Center) หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์(Website) แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย(Social Media) เฟซบุ๊ก(Facebook) อินสตาแกรม(Instagram)  ไลน์ (Line) ต้องติดต่อไปยังผู้ขายซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ผู้ซื้อเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา ท่องให้จำขึ้นใจทุกครั้งที่ซื้อของออนไลน์ “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!----------------------------------หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน  1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รับเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาสินค้าและบริการทั่วไปที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ การแก้ปัญหากับคู่กรณี และขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ มาแก้ปัญหา รวมทั้งให้การช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อยู่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400, เว็บไซต์ (Website) :  www.consumerthai.orgอีเมล (E-mail):  complaint@consumerthai.org, โทรศัพท์ 02-2483734-7, โทรสาร 02-24837332. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ 1212 (Online Complaint Center: OCC)  ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือในการรับ-ส่งการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียนระหว่างหน่วยงานความร่วมมือ ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา และประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาโดยครอบคลุม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายทางออนไลน์ ภัยคุกคามไซเบอร์ ตลอดจนปัญหาทางออนไลน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสายด่วน 1212, เว็บไซต์ (Website)  :  http://www.1212occ.com,  โมบาย แอป (Mobile App) :  1212 OCCอีเมล (E-mail): 1212@mict.go.th, โทรสาร : 02-12757893. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มมครองผู้บริโภค (สคบ.) รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเน้นการคุ้มครองมิให้ผู้ประกอบการโฆษณาเกินจริง ต้องติดฉลากสินค้าอันตรายและสัญญาที่ทำกับลูกค้า หากไม่เป็นธรรม สคบ. มีอำนาจเข้าไปดูแลที่อยู่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10120สายด่วน 1166, เว็บไซต์ (Website) :  http://complain.ocpb.go.th/OCPB_Complainsอีเมล (E-mail):  consumer@ocpb.go.th4. กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลและสอดส่องพฤติกรรมการใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด ในการซื้อหรือขายสินค้าอุปโภคให้เกิดความเป็นธรรม การกำหนดราคาสินค้า และรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคา ปริมาณสินค้า และความไม่เป็นธรรมทางการค้าที่อยู่ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรีสายด่วน 1569, เว็บไซต์ (Website) :  http://app-transport.dit.go.th/frontend/index.phpอีเมล (E-mail):  1569@dit.go.th, โทรศัพท์ 02-5076111, โทรสาร 02-54753615. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับเรื่องราวร้องทุกข์ปัญหาด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเครื่องสำอาง ไม่ได้มาตรฐาน ผิดมาตรฐาน ไม่ได้รับใบอนุญาต ตลอดจนการโฆษณาส่งเสริมการขายไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ที่อยู่ ตู้ ปณ. 52 ปณจ. นนทบุรี 11000สายด่วน 1556, เว็บไซต์ (Website) :  www.fda.moph.go.th, โมบาย แอป (Mobile App) :  ORYORอีเมล (E-mail):  complain@fda.moph.go.th, โทรศัพท์ 02-5907354-5, โทรสาร 02-5918472

อ่านเพิ่มเติม >