ฉบับที่ 275 โดนคิดค่าสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคา

        เชื่อว่าผู้บริโภคหลายๆ คน เมื่อถึงเวลาต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าเข้าบ้าน การไปเดินห้างค้าปลีกหรือเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะมีสินค้าครบครันในราคาที่อาจมีลด มีแถม แต่หากเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน “ราคาที่จ่าย ดันไม่ตรงกับราคาป้าย” คงเป็นเรื่องที่ไม่โอเคเลยใช่ไหมล่         เหมือนกับคุณจู ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอเล่าว่าได้ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งแถวบ้าน วันนั้นเธอได้ซื้อเห็ดชิเมจิ ยี่ห้อ Mao Xiong มา 1 ถุง ราคาที่ติดตามป้ายบนชั้นวาง 9 บาท แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน ราคาเห็ดที่ติดป้ายว่า 9 บาท ราคาจริงดัน 13 บาท อ้าว...ไม่ตรงตามป้ายที่ติดซะงั้น! เธอจึงมาสอบถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าแบบนี้คือการหลอกลวงประชาชาชนหรือไม่ และควรทำอย่างไรดี?                แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปหาผู้ร้อง เธอแจ้งว่าหลังเกิดเหตุการณ์ได้ให้พนักงานตรวจสอบราคาสินค้าอีกครั้ง เนื่องจากราคาไม่ถูกต้องและทางพนักงานก็ยอมแก้ไขใบเสร็จให้ถูกต้องและคืนเงินเรียบร้อยแล้ว เธอจึงไม่ติดใจอะไร เนื่องจากทางซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้แก้ไขปัญหาให้เธอแล้ว         แต่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอปัญหานี้เช่นกัน ดังนี้หากเจอกรณีราคาสินค้าไม่ตรงตามป้าย สามารถโทรร้องเรียนไปที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการร้องเรียน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ อย่าลืมถ่ายรูปราคาบนป้ายสินค้า และเก็บใบเสร็จที่จ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วยในการร้องเรียนอีกด้วย เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย         สำหรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสนั้น ทางหน่วยงานมีรางวัลนำจับให้ ในกรณีมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องจะได้รับรางวัลนำจับร้อยละ 25 ของค่าปรับ         นอกจากนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิผู้บริโภคของตัวเองด้วยการตรวจเช็กราคาความถูกต้อง สินค้าที่ซื้อครบถ้วนหรือไม่ ก่อนออกจากร้านทุกครั้งจะดีที่สุด              

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 อยากยกเลิกการสั่งซื้อ แต่โดนร้านค้าขู่ต้องจ่ายค่าขนส่ง

        คุณกี้ได้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าของเธอ         “เนื่องจากเธออยากยกเลิกการสั่งซื้อแต่กลับโดนเก็บเงินค่าขนส่ง แถมโดนขู่จะดำเนินคดีอีกด้วย”  โดยเธอได้เล่าว่าหลายเดือนก่อนที่ผ่านมา เธอได้เห็นโฆษณาสินค้า “เซรั่มทาหน้า” ผ่านช่องทางทีวี เป็นสินค้าของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งที่ขายผ่านรายการทีวีบ่อยๆ พอได้ยินสรรพคุณของเซรั่มทาหน้าตัวนั้น ก็เกิดสนใจเพราะค่อนข้างตอบโจทย์เธอ เนื่องจากช่วงนี้ผิวหน้าเริ่มมีปัญหาถ้าซื้อมาใช้คงจะดีขึ้น แถมราคาก็พอซื้อได้ ราคา 990 บาท ซื้อ 1 แถม 1 และจัดส่งให้ฟรีอีกด้วย (มีหรอที่เธอจะพลาด) เธอจึงตัดสินใจ Add Line สั่งซื้อทันที และจ่ายแบบเก็บเงินปลายทาง        แต่แล้ว...เวลาผ่านไปยังไม่ทันข้ามวัน เธอคิดได้ว่ามีเหตุต้องใช้เงินเร่งด่วน จึงขอยกเลิกออเดอร์กับทางบริษัท แต่บริษัทกับตอบมาว่า “สามารถยกเลิกได้ แต่ต้องรับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าจำนวน 150 บาท และบอกว่าสินค้ามีการจัดส่งแล้ว”  อ้าว...งงสิ ทำไมจัดส่งเร็วจัง แถมยกเลิกสินค้าต้องจ่ายค่าขนส่งด้วย(เธอคิด) ซึ่งเธอก็ได้ยืนยันกับทางบริษัทว่าไม่ขอจ่ายเงินค่าขนส่ง เนื่องจากตอนโฆษณาและตอนที่คุยกันไม่เห็นมีการแจ้งลูกค้าว่า หากต้องการยกเลิกสินค้าต้องจ่ายเงินจำนวนเท่านี้นะ         พูดคุยกับทางบริษัทสักพัก ทางบริษัทยังคงยืนยันให้รับผิดชอบ เลยคิดว่าหากต้องรับผิดชอบก็ขอดูใบเสร็จขนส่งหน่อย ถ้าส่งมาให้ดูจริงๆ เธอก็จ่ายให้ แต่สุดท้ายเธอก็ไม่ได้ใบเสร็จของขนส่ง ได้แต่ใบเสร็จที่ทางบริษัทออกเองเท่านั้น แถมยังโดนพนักงานต่อว่าประมาณว่า “ตั้งแต่ขายของมาไม่เคยเจอลูกค้าแบบเรา ว่าเราเป็นคนที่นิสัยแย่มากไม่มีความรับผิดชอบ” นอกจากนั้น ก็ส่งใบประกาศกฎหมายต่างๆ ของขนส่งสีส้ม สีเหลือง และอื่นๆ มาให้ดู ข้อมูลประมาณว่าถ้าหากซื้อสินค้าแล้วยกเลิกจะเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมบอกกับเราว่าจะไม่ขอคุยต่อ แต่ให้ไปเจอกันในศาลโดยจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีกับเราให้ถึงที่สุด ให้เป็นเคสตัวอย่างกับลูกค้าคนอื่นที่จะทำแบบเรา         หลังจากนั้นไม่กี่วันขนส่งก็ได้นำสินค้ามาส่ง แต่เธอปฏิเสธที่จะรับ บริษัทจึงติดต่อมาและขู่ว่า “ให้รอรับหมายศาลได้เลย ทางบริษัทจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด”  หลังจากนั้นเธอก็รอว่าจะมีการดำเนินการใดๆ หรือไม่ ปรากฏว่าทางบริษัทดังกล่าวเงียบหายไปเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณกี้ได้โทรติดต่อไปที่ Call Center ของขนส่งสีส้มเพิ่มเติมเพราะว่ามีการอ้างถึง และเล่าเรื่องราวพร้อมส่งรูปใบประกาศต่างๆ ที่แคปมาให้ทางขนส่งเพื่อสอบถามว่าได้ออกประกาศฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ทางบริษัทขนส่งที่ถูกอ้างถึงบอกว่า ไม่เคยจัดทำประกาศนี้ออกมา คุณกี้จึงได้แจ้งว่าแต่เธอได้รับข้อมูลมาจากทางบริษัทที่เธอได้ทำการสั่งซื้อสินค้า หากทางขนส่งไม่ได้ออกประกาศนี้แสดงว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารใช่หรือไม่ ซึ่งทางบริษัทขนส่งก็ได้บอกว่าจะแจ้งให้หัวหน้ารับทราบ คุณกี้เลยถามต่อว่าจัดการอย่างไร แต่กลับไม่มีคำตอบและได้ทำการบล็อกเธออีกด้วย          ทั้งนี้ เธอได้ไปร้องเรียนกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ จึงได้โทรไปสอบถามเรื่องความคืบหน้าของผลการเจรจาเบื้องต้นระหว่างเธอกับบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า และหากว่า บริษัทมีการติดต่อเข้ามาหรือแจ้งดำเนินคดีกับเธอ มูลนิธิฯ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ร้องต่อไป         ดังนั้นอยากให้ผู้บริโภคทุกคนก่อนซื้อสินค้าเช็กรายละเอียดให้รอบคอบ หากมีอะไรแปลกๆ เหมือนกรณีนี้อย่ายอมจ่ายเพื่อตัดปัญหาให้มันจบๆ ไป เนื่องจากจะเป็นการทำให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบเราได้ไปเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 คำหลอกลวงของพ่อค้า...มีอะไรในหมอนข้าง

        ในสังคมออนไลน์มีเรื่องที่ผู้บริโภคโพสต์เล่าประสบการณ์การซื้อสินค้าหรือบริการจำนวนมาก บางครั้งก็เป็นสิ่งน่ารัก และบางครั้งก็น่า...ตกใจ มาลองอ่านประสบการณ์นี้กัน         คุณสุดรักเป็นแฟนนิตยสารฉลาดซื้อได้ทักมาสอบถามในกล่องข้อความของเพจนิตยสารฉลาดซื้อว่า เห็นข่าวสาวคนหนึ่งไปเดินงานสหพัฒน์แฟร์กับแฟน และไปซื้อหมอนข้างราคาใบละ 100 บาท พ่อค้าก็บอกว่าเป็นหมอนข้างเกรดพรีเมี่ยมใช้ในโรงแรม แต่นำมาขายราคาถูกเพียง 100 บาท เธอก็หลงเชื่อคำโฆษณาของพ่อค้าเลยซื้อมาเพราะหมอนข้างสภาพดี ปลอกหมอนขาวสะอาด แต่หลังจากหมอนข้างใบนั้นมาอยู่บนที่นอน เธอถูกมดกัดบนที่นอนบ่อยมาก เก็บกวาดห้องก็แล้ว ซักผ้าปูที่นอนก็แล้ว มดยังราวีเธอไม่เลิกรา เลยเริ่มหาสาเหตุอย่างจริงจัง สุดท้ายพบว่า มดมาจากหมอนข้างที่เธอซื้อมานั่นเอง         คุณสุดรักจึงแกะรื้อหมอนข้างดูด้านใน ก็พบว่าไส้หรือวัสดุด้านในเป็นฟองน้ำและมีเศษอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้หมอนข้างนิ่มๆ พร้อมกับกองทัพมดที่ยั้วเยี้ยผุดโผล่ออกมาจากฟองน้ำ คุณสุดรักสอบถามมาว่าเหตุการณ์แบบมีกฎหมายเอาผิดกับผู้ขายบ้างไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อแอดมินเพจนำข้อสอบถามมาสอบถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้คำตอบมว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์นำหลักฐานการซื้อขายเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ/หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ไม่ให้พ่อค้าแม่หลอกลวงผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 สะดวกซื้อ สะดวกร้อง?

        บทเรียนการเรียนรู้จากผู้บริโภคที่มาปรึกษาเหตุการณ์การซื้อสินค้าจากร้านค้าและร้านสะดวกซื้อหลายราย        รายแรก ผู้บริโภคซื้อนมสดชนิดบรรจุถุงจากร้านสะดวกซื้อไปให้ลูกชายรับประทาน เมื่อลูกชายรับประทานบอกว่านมมีรสเปรี้ยว ตนเองจึงลองชิมดูบ้าง ปรากฏว่ารสเปรี้ยวจริงๆ นมน่าจะบูด ตนจึงเช็ควันหมดอายุที่ข้างถุง ก็ยังไม่เลยวันหมดอายุ จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร        รายที่สอง ผู้บริโภคซื้อเกี๊ยวกุ้งจากร้านสะดวกซื้อ จะนำมาอุ่นรับประทานที่บ้าน พอตัดถุงจะนำไปอุ่นในไมโครเวฟ พบว่ามีเกี๊ยวหนึ่งชิ้นที่ไม่มีไส้บรรจุอยู่ ผู้บริโภครายนี้จึงอุ่นรับประทานไปหมด แล้วมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ว่าจะดำเนินการกับผู้ผลิตได้อย่างไรบ้าง         รายที่สาม ผู้บริโภคซื้อแกงกะทิบรรจุในถุงจากแม่ค้าขายข้าวแกงในตลาด โดยแกงนี้จะถูกตักไว้เป็นถุงๆ วางไว้ที่โต๊ะข้างหม้อแกงที่แม่ค้าตักขาย เมื่อใครจะซื้อก็หยิบให้เลยเพื่อความสะดวก ผู้ร้องซื้อแกงกะทิตั้งแต่เช้าแล้ววางตั้งไว้ในครัว โดยไม่ได้แช่ไว้ในตู้เย็น เมื่อกลับจากทำงานถึงบ้านตอนค่ำ จะนำมารับประทานปรากฎว่าแกงกะทิบูด         การดำเนินการในสามกรณีข้างต้น จะเห็นว่ามีรายละเอียดที่ต้องพิสูจน์ และค่อนข้างจะสรุปได้ยาก เพราะอาจเกิดการโต้แย้งจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ กรณีแรกอาจง่ายหน่อยตรงที่ผลิตภัณฑ์นมยังไม่หมดอายุ แต่ดันมีรสเปรี้ยว และผู้ร้องเพิ่งรับประทานจึงมีหลักฐานอยู่ ส่วนกรณีที่สองจะพิสูจน์ได้ยาก เนื่องจากเกี๊ยวกุ้งถูกรับประทานไปจนหมด ข้อกล่าวหาจึงเป็นคำพูดลอยๆ ของผู้ร้องเท่านั้น  ส่วนกรณีที่สามแม้แกงกะทิจะบูดจริง แต่ก็พิสูจน์ได้ยากว่า มันบูดตั้งแต่ตอนตักใส่ถุง หรือบูดเพราะผู้ซื้อไม่ได้นำไปเก็บในที่ที่เหมาะสม         เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ ให้ผู้บริโภครีบนำสินค้ากลับไปหาผู้ขายโดยเร็วที่สุด หากเป็นร้านสะดวกซื้อให้นำใบเสร็จรับเงินที่ได้รับไปเป็นหลักฐานด้วย (กรณีซื้อสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงิน ไม่ควรรีบทิ้งใบเสร็จรับเงิน เราควรแนบติดกับสินค้าไว้ก่อน เผื่ออาจจะจำเป็นต้องใช้กรณีฉุกเฉินดังกล่าว) เท่าที่มีประสบการณ์ ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งมักจะรับเรื่องและชดเชยสินค้าให้ด้วย บางรายเขาจะชดเชยให้กรณีที่เสียเวลามาด้วยซ้ำ ส่วนกรณีแกงถุงจากแม่ค้า จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ถ้าคุยกันดีๆ มักจะได้ชดเชยให้ฟรีๆ ด้วยเช่นกัน         รายที่สี่ ผู้บริโภคซื้อยาแผนโบราณมาจากคนรู้จัก เป็นผงสีน้ำตาลอ่อนบรรจุในซองซิบใส ไม่มีฉลากใดๆ คนรู้จักที่นำมาขายบอกว่าแก้ปวดเส้นและแก้โรคเก๊าท์ ตนเองกินแล้วได้ผลดี กินไปหลายซองแล้ว สงสัยว่ายานี้มีสารอะไรบ้างจึงนำยามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจ         เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามว่ายานี้ซื้อมาจากใคร หรือพอทราบแหล่งที่ส่งต่อยามาขายหรือไม่ ผู้ร้องก็บอกว่าไม่กล้าบอก เป็นห่วงคนที่ขาย เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่สอบถามก็เพื่อจะติดตามไปยังแหล่งต้นทางที่ผลิต ขอให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในการติดตาม และจะได้ช่วยคนอื่นๆ ด้วย ผู้ร้องก็ไม่ยอมบอกและขอนำยากลับคืนไป        ในทีสุดเจ้าหน้าที่จึงได้แต่แนะนำว่า ยาที่ผลิตเพื่อใช้รักษาโรคจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบว่ายาตำรับนี้มีความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยถึงจะอนุญาตให้ผลิตได้ ยาผงที่นำมาให้ตรวจสอบไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย แสดงว่าไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับและยังไม่แสดงชื่อที่อยู่ผู้ผลิตอีก แสดงว่าผู้ผลิตมีเจตนาหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะไม่รู้ว่าในยานี้มีสารอันตรายหรือไม่และยิ่งกินแล้วได้ผลดีอย่างรวดเร็ว ยิ่งน่าสงสัยว่าจะมีการปลอมปนสารเคมีอันตราย เช่น สเตียรอยด์ด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ซื้อมะม่วง 1 กิโล แต่โดนโกงไป 2 ขีด

เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน คุณสุรีย์ได้จอดรถแวะซื้อกับข้าว ณ ตลาดนัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ขณะเดินจ่ายตลาดอยู่นั้น คุณสุรีย์ได้เหลือบไปเห็นมะม่วงในร้านผลไม้สดร้านหนึ่ง ดูแล้วน่ารับประทานดี แม้จะไม่เห็นป้ายราคาเขียนติดเอาไว้ คุณสุรีย์ก็คิดว่าราคาน่าจะไม่แพงเท่าไหร่ เพราะเป็นช่วงที่มะม่วงออกเยอะ จึงได้บอกแม่ค้าไปว่า ขอซื้อมะม่วง 1 กิโล เมื่อแม่ค้าได้ยินดังนั้น ก็หยิบมะม่วงใส่ถุงหูหิ้ว ขึ้นชั่งน้ำหนัก ครั้นส่งถุงมะม่วงให้ก็แจ้งราคาคุณสุรีย์ทราบ        ฝ่ายคุณสุรีย์แม้ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราคามะม่วง แต่ก็แอบสังเกตเข็มตาชั่งของแม่ค้า พอรับถุงมะม่วง ก็ลองเอามือถ่วงๆ ดู ก็เดาว่ามะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม จึงได้ทักท้วงกลับไป  แม่ค้าเมื่อได้ยินคุณสุรีย์ทักท้วงเรื่องน้ำหนักมะม่วง แต่ยังคงยืนยันกลับมาว่า มะม่วงนั้นหนัก 1 กิโลกรัม แต่ก็ไม่ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการชั่งน้ำหนักมะม่วงให้ลูกค้าดูอีกรอบ         หลังจากได้ยินแม่ค้าตอบอย่างนั้น คุณสุรีย์แม้จะค่อนข้างมั่นใจว่า มะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโล แน่ๆ แต่ก็ไม่อยากต่อปากต่อคำกับแม่ค้า จึงควักเงินจ่ายไปแต่โดยดี เมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อคลายความสงสัยที่มี คุณสุรีย์จึงนำมะม่วงขึ้นชั่งบนตราชั่งที่บ้าน ปรากฏว่า น้ำหนักมะม่วงหายไปเกือบ 2 ขีด คุณสุรีย์รู้สึกว่าโดนแม่ค้าโกง แบบชัดแจ้ง จึงได้ร้องเรียนเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางแก้ไขแก้ปัญหา        ตาม  พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542  มาตรา 79 กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีเครื่องชั่งตวงวัดไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โดยรู้ว่าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นมีความเที่ยงผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วว่าเครื่องชั่งนั้นชำรุด ก็จะทำการยึดเครื่องชั่งนั้นไปทำลายด้วย         กรณีที่แม่ค้ารู้อยู่แก่ใจว่า เครื่องชั่งที่ใช้ขายผลไม้นั้นชำรุด แต่ยังนำมาชั่งสินค้าขาย อาจเข้าข่ายความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ที่กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัด ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า หรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้ การไม่แสดงป้ายราคาสินค้าอย่างเปิดเผย ณ จุดขาย ยังมีโทษปรับตาม ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ในมาตรา 40 ที่ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลนำจับ ร้อยละ 25 ของค่าปรับด้วย         หากผู้บริโภคมาทราบทีหลังว่า สินค้าที่ซื้อมานั้น น้ำหนักขาดไปจากความเป็นจริง ก็สามารถแจ้งกรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อขอให้มาตรวจสอบร้านค้านั้นๆ ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 สั่งซื้อชุดเครื่องนอนผ่านแอปแล้วผิดหวัง

        ตลาดออนไลน์นั้น ง่าย สะดวก แต่ก็ต้องรอบคอบเพราะไม่ได้เห็นสินค้าจริงหรือจับต้องก่อนจะตัดสินใจซื้อ อีกทั้งผู้ค้าที่หลอกลวงก็มีจำนวนมาก ความไม่พอใจที่เกิดจากการได้รับสินค้าที่ไม่ตรงปกหรือไม่ใช่อย่างที่ตั้งความหวังจึงมีสูง แล้วเราจะสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร        คุณชไมพร อยากได้ชุดเครื่องนอนใหม่ จึงเปิดแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ในมือถือ จนพบชุดเครื่องนอนจากร้านค้าแห่งหนึ่งที่สวยถูกใจ เป็นชุดประกอบด้วย ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มในราคา 570 บาท บวกค่าจัดส่ง 80 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 650 บาท คุณชไมพรได้เลือกชำระค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง หรือ COD (Cash on Delivery) เพราะต้องการความมั่นใจว่า จะได้รับสินค้าอย่างแน่นอนก่อนจ่ายเงิน โดยข้อมูลบนแอปฯ แจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้ภายใน 3 วัน คุณชไมพรจึงทำการสั่งซื้อ และรอการยืนยันจากทางร้าน         เวลาผ่านไป 5 วัน คุณชไมพรยังไม่มีวี่แววยืนยันการจัดส่งสินค้าจากทางร้านค้าดังกล่าว คุณชไมพรจึงได้เข้าไปทำการยกเลิกคำสั่งซื้อในแอปพลิเคชัน เพราะขาดความมั่นใจและได้หาซื้อชุดเครื่องนอนใหม่จากร้านค้าอื่นแทน         แต่เมื่อผ่านไปอีกสามวัน คุณชไมพรได้รับการติดต่อจากพนักงานของร้านค้าที่ได้ยกเลิกคำสั่งซื้อไปแล้วว่า ได้จัดส่งชุดเครื่องนอนให้คุณชไมพรเรียบร้อยแล้ว คุณชไมพร จึงตอบกลับไปว่า ตนได้สั่งซื้อชุดเครื่องนอนจากที่อื่นไปแล้ว พนักงานคนดังกล่าวก็แจ้งกลับว่า “ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะได้จัดส่งสินค้าไปให้แล้วค่ะ” แม้ว่าคุณชไมพรจะเสนอว่าจะจัดส่งสินค้ากลับไปให้ทางไปรษณีย์ โดยรับผิดชอบค่าส่งให้ แต่พนักงานก็ยังคงยืนยันว่าไม่รับคืนสินค้า         คุณชไมพรไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการต่ออย่างไร จึงขอคำปรึกษากับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน ได้ติดต่อไปยังร้านค้าดังกล่าวและปรึกษาเรื่องการคืนสินค้าของคุณชไมพร ซึ่งเป็นสิทธิผู้บริโภคที่กระทำได้ ซึ่งทางผู้จัดการร้านกล่าวขอโทษ ที่พนักงานของตนปฏิบัติไม่ถูกต้อง จึงดำเนินการเรียกคืนสินค้าที่คุณชไมพรได้ยกเลิกการสั่งซื้อ ทั้งนี้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งทางร้านได้ฝากขอโทษคุณชไมพรด้วยที่สร้างความกังวลใจให้และจะอบรมพนักงานของตนต่อไป          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         กรณีซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้  ถือว่าทางร้านค้าได้ทำผิดเงื่อนไข ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกคำสั่งซื้อได้ โดยทำการแจ้งยกเลิกในระบบเว็บไซต์ห้างออนไลน์ และไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากการจัดส่งสินค้าที่ได้แจ้งยกเลิกไว้แล้ว         ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ได้กำหนดหลักประกันความพึงพอใจ ไม่ว่าสินค้าจะชำรุดหรือไม่ หากผู้รับสินค้าเกิดความไม่พอใจ ก็สามารถคืนได้ภายใน 7 วัน (มาตรา 33) และผู้ขายต้องคืนเงินให้กับผู้ซื้อภายใน 15 วัน (มาตรา 36)         นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนถูกต้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงเป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้า และปลอดภัยจากการถูกหลอกถูกโกงมากขึ้น         หากผู้บริโภคต้องคำปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค ในพื้นที่ภาคเหนือท่านสามารถติดต่อที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน เลขที่ 9 ถนนรถแก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 51000 หรือ ติดต่อผ่านเฟสบุ๊คwww.facebook.com/consumerslamphun/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อของออนไลน์ จ่ายอย่างไรให้ปลอดภัย มั่นใจ ได้เงินคืน

        ปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ได้เปลี่ยนชีวิตผู้บริโภค สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภทเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้มูลค่าทางการตลาดของ ธุรกิจ e-Commerce หรือตลาดออนไลน์มีการเติบโตอย่างมาก ซึ่งล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย “เสาวลักษณ์ ชีวสิทธิยานนท์” ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การศึกษาข้อมูลระบบการชำระเงินและคืนเงินกรณีซื้อสินค้า/บริการออนไลน์” เมื่อช่วงต้นปี 2562 ทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนตลาดออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลาย ซับซ้อน และไร้ขอบเขต จึงเป็นหนึ่งช่องทางอันหอมหวานของกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคบนตลาดออนไลน์ได้มากเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการสำรวจของบ้านสมเด็จโพล พบว่ากว่า 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ จึงจำเป็นต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งนี้  “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้นำเอาข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวที่เป็นประโยชน์มาฝากผู้อ่านเป็นหลักคิดเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการซื้อของออนไลน์ โดยพุ่งเป้าไปที่ลักษณะการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหลักๆ พบว่ามี ดังนี้1. เงินสด2. จ่ายผ่านบัตรเดบิต3. บัตรเครดิต4. เงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรซื้ออาหารในศูนย์อาหาร บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บัตรเติมเงินซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต บัตรชมภาพยนตร์ และกระเป๋าเงินบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น5. การชำระเงินผ่านโซเชียลมีเดีย ที่จะมีผู้ทำหน้าที่เป็น Payment Gateway อีกทีหนึ่ง แล้วให้ผู้ซื้อเลือกจ่ายค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร เป็นต้น 6. การชำระเงินผ่านตัวกลาง (PayPal) สามารถผูกบัญชีกับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคารได้ และ7. การชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือผ่านอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จ่ายแบบไหนปลอดภัยสุด         โดยในงานวิจัยได้มีการศึกษาลักษณะการใช้จ่ายเงินทั้ง 7 วิธีการแล้ว และได้บทสรุปออกมาว่า “การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิต” มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศไทย เพราะต้องใส่หมายเลขบัตรเครดิต รหัส CVV 3 หลัก และรหัส OTP อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ และต้องการเรียกเงินคืน ผู้บริโภคมีสองทางเลือก คือ         1.ติดต่อผู้ขาย หรือตลาดกลางซื้อขายออนไลน์ เพื่อขอคืนเงิน (refund) โดยตรง หรือ        2.ในกรณีที่ติดต่อผู้ขายไม่ได้ หรือผู้ขายปฏิเสธที่จะคืนเงินให้ ผู้ซื้อสามารถติดต่อธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อยื่นเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) โดยธนาคารอาจใช้เวลาในการตรวจสอบและดำเนินการคืนเงินภายใน 45-90 วัน        แต่สิ่งที่แตกต่างจากบัตรเดบิต คือ บางธนาคารอนุโลมให้ผู้ถือบัตรเครดิตยังไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่ยื่นเรื่องขอตรวจสอบได้ แต่หากใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตนั้น ผู้ซื้อจะถูกหักเงินค่าสินค้าออกจากบัญชีธนาคารไปก่อน แล้วหลังจากตรวจสอบเสร็จ จึงดำเนินการคืนเงินให้         อีกทั้งระยะเวลาคืนเงินของบัตรเครดิตยังอาจรวดเร็วกว่าบัตรเดบิตในกรณีที่ซื้อสินค้าและขอคืนเงินผ่านตลาดกลางซื้อขายออนไลน์เช่น Lazada หรือ Amazon และยังมีขั้นตอนการขอคืนเงินที่ง่ายกว่ากรณีที่ชำระค่าสินค้าผ่านการโอนเงินทางบัญชีธนาคาร เพราะหากโอนเงินให้ผู้ขายโดยตรงและไม่ได้รับสินค้าในกรณีของประเทศไทย จะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะได้รับเงินคืนจากผู้ขายหรือไม่         “การชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต” ถึงแม้จะมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับบัตรเครดิต แต่ในขั้นตอนการขอเงินคืนนั้น อาจจะใช้เวลาที่มากกว่าบัตรเครดิต อีกทั้งยังเป็นการหักเงินในบัญชีเป็นค่าซื้อสินค้าไปก่อน         “การชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดปลายทาง” เรียกว่ามีความปลอดภัยสูงว่าจะได้รับสินค้าอย่างแน่นอน แต่การใช้จ่ายด้วยเงินสดมีต้นทุนการใช้ที่สูงกว่าการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และในกรณีที่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ และต้องการคืนสินค้านั้น จะมีความเสี่ยงมากว่ากรณีซื้อตรงกับผู้ขายอาจจะมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถติดต่อผู้ขายเพื่อขอคืนเงินได้หรือไม่ แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าโดยจ่ายเงินปลายทางผ่านตลาดกลางเช่น Lazada นั้น ยังสามารถติดต่อผ่านตลาดกลางนี้ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีสินค้าถูกนำส่งโดย บริษัทเคอรี่ มีแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจดังนี้ สำหรับผู้บริโภค ที่เลือกการชำระเงินโดยจ่ายปลายทาง แล้วพบว่า หลังจากชำระเงินไปแล้ว สินค้าที่ซื้อไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือที่สั่งไป มีสิทธิขอเงินคืนได้ เนื่องจากกรณีที่เราชำระเงินปลายทาง ผู้ส่งของ คือบริษัทเคอรี่ จะคงเก็บเงินไว้ 3 วันตามนโยบายของบริษัท ที่ตกลงไว้กับผู้ส่งว่า “บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ค่าบริการคิดเป็น 3% ของยอดที่เรียกเก็บ ผู้ส่งจะชำระค่าขนส่งและค่าบริการนี้ ณ จุดส่ง สำหรับยอดเงินเรียกเก็บปลายทางระบบจะทำการโอนเงินคืนผู้ส่งใน 3 วันทำการหลังจากลูกค้าปลายทางได้รับสินค้าเป็นที่เรียบร้อย" ดังนั้น เมื่อได้รับของและชำระเงินแล้ว ควรตรวจสอบสินค้าภายใน 3 วัน และหากพบว่าไม่ตรงกับที่สั่ง ควรติดต่อไปยังบริษัทเคอรี่ เพื่อขอคืนเงิน โดยแจ้งเลขที่พัสดุ ชื่อผู้ส่ง หลังจากนั้นบริษัทจะประสานสาขาใกล้เคียงให้มารับของนั้นคืนไป และคืนเงินให้กับผู้บริโภค(ที่มา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)        “การชำระเงินผ่าน e-money” กรณีเป็นบัตรพลาสติกจะมีความคล้ายคลึงกับเงินสด หากสูญหาย ก็เหมือนกับสูญเสียเงินสดเท่ากับมูลค่าที่มีในบัตรพลาสติก แต่ e-money อีกประเภทที่คล้ายกับบัตรเครดิตแบบเติมเงินล่วงหน้านั้น จะมีความปลอดภัยเพราะจำกัดวงเงินความเสียหายเท่ากับเงินที่เติมไว้ในบัตร แต่ตอนนี้ e-money ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายจนสามารถใช้ได้กับทุกร้านค้าหรือทุกเว็บไซต์         “การจ่ายเงินผ่านตัวกลาง” เช่น “PayPal” นั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก เพราะ PayPal มีนโยบายคุ้มครองผู้ซื้อในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่แตกต่างจากที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนโดยเปิดข้อพิพาทกับ PayPal ได้ภายใน 180 วันนับจากวันชำระเงินค่าสินค้า         “การจ่ายผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรือ “อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง” ผู้ซื้อจะต้องเข้ารหัสส่วนตัว เพื่อเข้าไปทำธุรกรรม ซึ่งหลังจากทำรายการแล้ว จะมี sms แจ้งเตือนให้ผู้ซื้อทราบว่าได้มีการใช้จ่ายจากบัญชีของตนเอง หรือในบางครั้งถ้ามีการโอนเงินไปบุคคลอื่นเป็นครั้งแรก จะต้องใส่รหัส OTP ด้วย แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืนโดยเฉพาะกรณีซื้อสินค้ากับผู้ขายรายย่อย เพราะอาจเกิดปัญหาไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ในกรณีประเทศไทยต้องมีการแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อขออายัดบัญชีของผู้ขาย        “การจ่ายผ่านโซเชียลมีเดีย” ความปลอดภัยในการใช้บัตรขึ้นกับ Payment gateway ที่ให้บริการ แต่โดยทั่วไป Payment gateway เหล่านั้นจะผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทั่วไปอยู่แล้ว ลักษณะการใช้งานคล้ายกับกรณีของบัตรเดบิต และบัตรเครดิต แต่หากผู้บริโภคเลือกจ่ายผ่านการโอนเงินผ่านธนาคารก็อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืน         อย่างไรก็ตาม แม้มีช่องทางให้สามารถคืนสินค้าและขอเงินคืนได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อจะสามารถทำได้ตามอำเภอใจทุกอย่างมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเอาไว้ โดยหลักๆ จากที่งานวิจัยได้รวบรวมเอาไว้ อาทิ  สินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ สินค้าชำรุด เสียหาย ถูกแกะออกมาใช้หรือเป็นสินค้ามือสอง  ไม่ได้รับของตรงตามกำหนดเวลา ได้รับของไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์        และการจะเรียกร้องสิทธิตรงนี้ ผู้ซื้อจะต้องเก็บหลักฐานการซื้อสินค้าออนไลน์ทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีทีเกิดปัญหา เช่น หลักฐานระยะเวลาการรับประกันการคืนสินค้า หลักฐานการชำระค่าสินค้า หลักฐานการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เพราะในบางครั้งแม้ผู้ซื้อจะมีหลักฐานที่ยืนยันว่ามีระยะเวลาประกันการคืนสินค้าภายใน 14 วันจริง ก็ยังมีปัญหาในการคืนสินค้าดังกรณีตัวอย่างของ Lazada ที่ระบบแจ้งว่าต้องคืนสินค้าภายใน 7 วันแต่ได้แสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ว่าคืนได้ภายใน 14 วัน วิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์         ผู้บริโภคควรเรียนรู้สิทธิและวิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เช่น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สามารถใช้วิธีปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) ได้หากเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า และมีระยะเวลาคืนเงินที่รวดเร็วกว่าการใช้บัตรเดบิต แต่การชำระเงินค่าสินค้าผ่านการโอนเงินธนาคารนั้น มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะการซื้อกับผู้ขายโดยตรง เพราะถ้าไม่ได้รับสินค้าและไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ต้องดำเนินเรื่องแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งยังไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การซื้อสินค้าผ่านตลาดกลางซื้อขายสินค้า ย่อมมีความปลอดภัยมากกว่าซื้อจากผู้ขายโดยตรง เพราะมีการรับประกันสินค้าและนโยบายคืนเงินที่ชัดเจนกว่า          ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเรียกร้องสิทธิโดยตรงกับทางผู้ขาย หรือธนาคารสถาบันที่เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินไปแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้         1.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)         2.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม        3.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.)         4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)         5.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)         6.ธนาคารแห่งประเทศไทย        7.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ขั้นตอนการร้องเรียน        ในการร้องเรียนนั้นควรเตรียมหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้พิจารณา เช่น        1. ใบสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ        2. ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย        3. ข้อมูลร้านค้า        4. หลักฐานการชำระเงิน        5. ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน        6. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน           อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ต้องระวังเรื่องการหลอกลวงจากการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แล้วสิ่งที่ผู้ซื้อควรระวังด้วยเช่นกันคือ “ความอยากของตัวเอง” โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งก่อนหน้านี้มีจิตแพทย์ออกมาให้ข้อมูลว่า “การซื้อของ” นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ ช่วยลดความรู้สึกแย่ๆ ที่มีในจิตใจ ยิ่งถ้าซื้อทางออนไลน์ และไม่ได้จ่ายเงินสดยิ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่ากับการต้องควักกระเป๋าจ่ายสด ดังนั้นจงระมัดระวังใจตนเอง ซื้อเท่าที่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ภัยจากการซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ปฏิเสธได้ยากว่า ร้านสะดวกซื้อ  และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้ง เซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้-โลตัส ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่น ๆ ที่จัดวางสินค้าและมีการบริหารจัดการแบบเดียวกัน เข้ามามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตของคนเมือง(วัดได้จากช่วงน้ำท่วมที่ของในห้างเหล่านี้ว่างเปล่าอย่างน่าตกใจ เพราะทุกคนต่างพากันกักตุนอาหาร) เหตุผลที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเข้าไปจับจ่ายในสถานที่เหล่านี้แทนที่จะใช้บริการร้านค้าในชุมชนหรือโชห่วยใกล้บ้านแตกต่างกันไป เช่น มีอิสระที่จะเดินเลือกสินค้าด้วยตนเอง สะดวก เข้าถึงได้ง่าย เชื่อว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีกว่า และ ทำให้ได้สินค้าราคาถูกกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของเครือข่ายผู้บริโภคใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง ตุลาคม 2554 พบว่าการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่และจากห้างนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาได้ไม่ต่างกัน (หรือแย่กว่า?) กับการซื้อสินค้าจากร้านใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวาง สินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สินค้ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน และราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้ายหรือไม่มีสินค้าแถมตามการส่งเสริมการขายที่ระบุไว้ ปัญหาสินค้าหมดอายุเริ่มกันที่การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวางสินค้า เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ได้สำรวจการจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อในจังหวัดรวมกันกว่า 15 สาขา ในปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554 พบสินค้าหมดอายุรวมกันบนชั้นวางทั้งสิ้นกว่า 40 รายการ ทั้งของสดและของแห้ง โดยที่กว่าครึ่งเป็นของแห้งโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารเช้าสำหรับเด็ก(ซีเรียล) และจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ว่าพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่ารสต้มยำกุ้งทั้งน้ำข้นและน้ำใสและยำยำรสหมูสับหมดอายุบนชั้นวางของห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย การจำหน่ายองุ่นนำเข้าหลังวันหมดอายุโดยนำมาจำหน่ายแบบลดราคาพิเศษในห้างท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาในเดือนสิงหาคม จากการสำรวจอาหารของโครงการฯ พบว่า นมข้นหวานกระป๋องตรามะลิจากห้างแมคโครสาขาแจ้งวัฒนะเสื่อมสภาพทั้งกลุ่มการผลิตก่อนวันหมดอายุบนฉลาก   โดยพบก้อนสีเหลืองอยู่ในกระป๋องนม และกรณีขนมปังยี่ห้อ เอ-พลัส ไส้สังขยา จากเซเว่น-อีเลฟเว่น สาขาอาคารหะรินธร ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. มีราขึ้นก่อนวันหมดอายุของสินค้าประมาณ 3 วัน   สินค้าไม่ตรงราคาป้าย กรณีราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้าย สมาคมผู้บริโภคสงขลา หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า   พบเห็นการส่งเสริมการขายโดยประกาศลดราคานมผงสำหรับเด็กจากหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปซื้อสินค้าจากห้างเทสโก้ โลตัสสาขาหาดใหญ่ ตามประกาศ โดยได้ดูการแสดงราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่แสดงอยู่บนชั้นวางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมาชำระเงินปรากฏว่ายอดชำระไม่ตรงตามราคาที่ปรากฏในการส่งเสริมการขาย ห้างฯ อ้างว่าเลยเวลาการส่งเสริมการขายทั้งที่โฆษณาและบนชั้นวางสินค้ายังคงแสดงข้อมูลอยู่   ห้างฯ ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เมื่อการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ได้มีความปลอดภัยและสะดวกอย่างที่เข้าใจกัน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้บริโภคได้ คือการอ่านฉลากอาหารและข้อมูลต่าง ๆ บนชั้นวางก่อนตัดสินใจซื้อ สิ่งที่ควรพิจารณาบนฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร วันผลิต-วันหมดอายุ ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารรวมทั้งเรื่องของวัตถุเจือปน น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ อันนี้ช่วยให้ผู้บริโภครู้น้ำหนักช่วยในการเปรียบเทียบเลือกสินค้า และส่วนสุดท้ายที่ควรอ่านเป็นส่วนเสริม คือฉลากโภชนาการที่จะบอกให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าไหมที่จะนำมาบริโภค เคล็ดลับที่ทาง โครงการอาหารฯ ขอแนะนำคือ  เวลาเลือกซื้อสินค้า ควรเลือกสินค้าที่แสดงวันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนอย่างชัดเจน หากแสดงแค่วันผลิตโดยไม่แสดงวันหมดอายุ ขอแนะนำว่าให้เลี่ยงไปก่อน ไม่ควรบริโภค ให้เลือกซื้อสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นที่มีการแสดงข้อมูลบนส่วนนี้อย่างชัดเจนจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากกว่า สำหรับกรณีอาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุนั้น หลายกรณีสามารถดูได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์บุบบวม ลักษณะของอาหารเปลี่ยนไปทั้งรูปและกลิ่น ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงจะสังเกตเห็น ฉลาดซื้อขอแนะนำว่าให้ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าในแต่ละชิ้นให้มากขึ้น ไม่ควรตรงเข้าไปหยิบสินค้าโดยที่ไม่สังเกต กรณีของสดที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษา ขอให้พิจารณาอุณหภูมิของตู้แช่ว่า อุณหภูมิที่แสดงอยู่เหมาะสมหรือไม่กับการเก็บรักษาอาหาร หากอุณหภูมิต่ำหรือสูงไป ก็ไม่ควรที่จะซื้อสินค้าจากห้างสาขานั้น ๆ ควรใช้บริการสาขาอื่นหรือสถานที่จำหน่ายแหล่งอื่นจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้สินค้าเสื่อมสภาพได้ ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากที่ไหนปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้บริโภคจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาที่เลือกซื้ออาหารใดๆ ก็ตาม อย่าให้ความเคยชินและความเร่งรีบ มาอ้างเป็นเหตุหนึ่งในการเลือกซื้อที่ไม่รอบคอบ และถ้าทำตามเราแนะนำแล้วแต่ยังพบสินค้าไม่ปลอดภัยอีก อย่าวางเฉยทิ้งอาหารนั้น ๆ ไป เพราะเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการหรือผู้จัดจำหน่ายได้นะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point