ฉบับที่ 261 กระแสต่างแดน

ห้ามกู้มาจ่ายหน่วยงานด้านกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของทายาทหรือคู่ครองของบุคคลที่ “บริจาคเกินตัว” จนครอบครอบครัวต้องลำบากร่างกฎหมายดังกล่าวห้ามการบริจาค “เงินที่ได้จากการกู้ยืม” และเงินจากการขายบ้านที่เป็นทรัพย์สินของครอบครัว หากได้บริจาคไปแล้วก็ให้ถือเป็นโมฆะ ลูกหลานหรือคู่ครองสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ การบริจาคดังกล่าว หมายถึงการบริจาคให้กับองค์กรทุกประเภท (ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรทางศาสนา) นอกจากนี้รัฐสภาญี่ปุ่นได้โหวตให้แก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับ “เทคนิคการขายแบบพิสดาร” ขององค์กรศาสนาบางแห่ง เช่น การบอกสมาชิกว่าถ้าไม่บริจาคแล้วโชคร้ายจะติดตัวไป หรือจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านถ้าไม่จ่าย เป็นต้น เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลอบสังหารอดีตนายกชินโซ อาเบะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “โบสถ์แห่งความสามัคคี” ที่ทำให้แม่ของเขาต้องหมดตัวเท่านั้น ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านอยู่ หรือต้องใช้ชีวิตอย่างยากแค้นเพราะพ่อแม่นำเงินไปทุ่มเทให้กับองค์กรเหล่านี้  ให้ความร่วมมือดี         คุณอาจกำลังสงสัยว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในโซนนี้หรือไม่ ... คำตอบคือ ไม่น้อย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมาชาวสิงคโปร์ โดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงินทางโทรศัพท์ไปแล้ว 51 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 3.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 85 ล้านบาท) รายที่โดนหนักสุด สุญเงินไปถึง 700,000 เหรียญ (18 ล้านบาท) เริ่มจากการที่เหยื่อได้รับโทรศัพท์จาก “เจ้าหน้าที่ธนาคาร” ที่แจ้งว่า “บัญชีของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน” จากนั้นก็โอนสายให้คุยกับ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่จะยืนยันตัวตนด้วยการส่งรูปบัตรประจำตัวมาให้ดูประกอบความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็อธิบายสถานการณ์แล้วขอให้เหยื่อโทรหา “เจ้าหน้าที่สอบสวน” กรณีดังกล่าวโดยตรง ตามด้วยจดหมายจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติของสิงคโปร์” ที่ขอความร่วมมือให้เหยื่อช่วยสืบสวนหาต้นตอของ “เงินผิดกฎหมาย” ดังกล่าว ระหว่างนั้นก็ขอให้เหยื่อโอนเงินของตัวเองไปเก็บไว้ใน “บัญชีที่ปลอดภัย” ที่เขาจัดไว้ให้ ... งานนี้ไม่อยากเป็นมิตร         รัฐบาลฮ่องกงได้อนุมัติการผลิตและการใช้ “โลงศพชนิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาตั้งแต่ปี 2007 โดยนำร่องใช้กับพิธีเผาศพไม่มีญาติ ตามด้วยการออกระเบียบให้ผู้ให้บริการพิธีเผาศพนำเสนอ “โลงอีโค” ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าเสมอ โลงอีโคทำจากกระดาษและวัสดุรีไซเคิล สามารถติดไฟและเผาไหม้ได้ดีจึงประหยัดพลังงาน และยังปล่อยก๊าซอันตรายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโลงแบบดั้งเดิมที่ทำจากไม้ทั้งต้น ยิ่งไม้มีความแข็งแรง ก็ยิ่งลุกไหม้ยาก ในขณะที่สีย้อมไม้ น้ำมันเคลือบเงา ที่จับโลหะ รวมถึงผ้าบุด้านใน ล้วนก่อให้เกิดสารอันตรายเมื่อติดไฟอีกด้วย  สภาผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการใช้โลงอีโคเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับผลการสำรวจเมื่อปี 2015 ที่พบว่าคนฮ่องกงถึงร้อยละ 67 ยินดีจะเปลี่ยนมาใช้โลงอีโคถ้าพวกเขาต้องวางแผนจัดงานศพ หรืออาจเพราะปัจจัยด้านราคา สภาฯ พบว่าโลงสองประเภทนี้ราคาไม่ต่างกัน (5,000 เหรียญ หรือประมาณ 22,300 บาท) สธ. ต้องรับผิดชอบ         ครอบครัวชาวอินโดนีเซีย 12 ครอบครัว รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา ที่ล้มเหลวในการสกัดกั้นการจำหน่าย “ยาแก้ไอมรณะ” ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเพราะอาการไตวายไปแล้วเกือบ 200 คน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังฟ้องบริษัทที่เป็นผู้จัดหายาดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีส่วนประกอบของสารอันตราย ไดเอทธิลีน ไกลคอล และเอทธิลีน ไกลคอล เกินมาตรฐาน (สารดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมสี หมึก และน้ำมันเบรก เป็นต้น) ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการสอบสวนและสั่งระงับการจำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา 2,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.46 ล้านบาท) สำหรับผู้เสียชีวิต และ 1,000 ล้านรูเปียห์ สำหรับผู้ที่สูญเสียไต เหตุดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในแกมเบีย และก่อนหน้านั้นในรัฐจัมมูของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้สั่งปิดโรงงานที่ผลิตแล้ว ใครๆ ก็กินได้ ธุรกิจ “โลว์คอสต์” มักมีการแข่งขันสูง ซูชิโลว์คอสต์ก็เช่นกัน ล่าสุดประธานบริษัท Kappa Create หนึ่งในสี่ผู้ประกอบการร้านสายพานซูชิรายใหญ่ของญี่ปุ่น ถูกจับในข้อหา “ขโมยข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ” จาก Hana Sushi ที่เขาเคยเป็นพนักงานมาก่อน ข้อมูลที่ขโมยมาคือรายการต้นทุนของแต่ละเมนู และบริษัทจัดหาวัตถุดิบของคู่แข่งนั่นเอง อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็อยากกินซูชิที่ราคาเริ่มต้นแค่จานละ 100 เยน (ประมาณ 25 บาท) และราเมนหรือขนมที่ราคา 300 หรือ 400 เยน ก็โดนใจผู้บริโภคสายประหยัดยิ่งนักส่งผลให้ผู้ประกอบการงัดกลยุทธออกมาแย่งลูกค้ากัน บางทีก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก นักวิชาการคาดว่าเรื่องแบบนี้จะมีให้เห็นกันอีก ก่อนหน้านี้ Sushiro เจ้าใหญ่ที่มีถึง 600 สาขาทั่วญี่ปุ่น ก็ทำทีโปรโมทเมนู​พิเศษ “ซูชิหอยเม่น” (เจ้าอื่นไม่มีเมนูนี้เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบได้) แต่เมื่อลูกค้าไปถึงร้าน กลับไม่มีเมนูดังกล่าวให้ ทางร้านอ้างว่า “ขายดีเกินคาด” ของจึงหมดสต็อก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 ไข่กุ้งในอาหารญี่ปุ่น

อาหารญี่ปุ่นนั้นได้รับความนิยมไปทั่วโลก คนไทยก็ชอบอาหารญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ร้านจำหน่ายอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากมาย ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกให้ลิ้มลองกันทั้งนั้น หรือ “ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นยอดนิยม ระดับตลาดล่างคำละ 5 บาท 10 บาท ก็พบเห็นได้ทั่วไปตามตลาดนัดต่างๆ  และหากใครนึกสนุกอยากทำกินเอง วัตถุดิบก็หาได้ไม่ยากเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในวัตถุดิบที่มีคนไทยนิยมกันมาก ก็คือ “ไข่กุ้ง” ที่ทำมาจากไข่ปลานั่นเอง ไข่กุ้งที่ใช้ทำซูชินั้นไม่ได้เป็นไข่ของกุ้งจริงๆ แต่เป็นไข่ปลา ซึ่งเดิมใช้ไข่ของปลา Capelin หรือปลาไข่ กรรมวิธีการทำไข่จากปลา Capelin มาเป็นไข่กุ้ง(เทียม) นั้นต้องนำไข่ของปลามาหมักและปรุงรสจนได้ไข่ที่มีลักษณะโปร่งใส และมีสีส้มๆ คล้ายกับกุ้ง ซึ่งจะเรียกกันอย่างแพร่หลายในร้านซูชิที่ประเทศญี่ปุ่นว่า Ebiko แต่เมื่อปลาไข่หาได้ยากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้ไข่ของปลา Flying Fish หรือ ปลาบิน (บ้านเราเรียกปลานกกระจอก) เพื่อทดแทนไข่จากปลา Capelin และเรียกไข่จากปลาบินว่า Tobiko เพื่อป้องกันการสับสน โดยไข่ของปลา Flying fish มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-0.8 มม. ตามปกติจะมีสีส้มแดง รสออกเค็มอ่อนๆ บางครั้งนำไปย้อมเป็นสีอื่น เช่น ย้อมวาซาบิได้ไข่สีเขียว ย้อมขิงได้ไข่สีส้ม หรือย้อมกับหมึกของปลาหมึกจะได้สีดำเห็นวางขายกันหลายที่ ฉลาดซื้อเลยเลือกซื้อจากหลายแหล่งขายทั้งในห้างค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหารญี่ปุ่นและทางร้านค้าออนไลน์ เพื่อทดสอบดูว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ ผลทดสอบไม่พบการตกค้างของวัตถุกันเสียยอดนิยมทั้งซอร์บิกและเบนโซอิก เป็นอันว่าปลอดภัยจากสองตัวนี้ แต่สำหรับส่วนสีสันจัดจ้านนั้น ไว้รอผลทดสอบกันอีกครั้งนะคะ   ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น   flying fish หรือ ปลาบิน,ปลานกกระจอก อยู่ในวงศ์ Exocoetidae เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็ง...พบ มากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก แบ่งออก เป็น 8 สกุล...รูปร่างลักษณะโดยรวม มีลำตัวยาวมากค่อนข้างกลม ส่วนใหญ่มีลำตัวสีเขียว หรือสีน้ำเงินหม่น ข้างท้องสีขาวเงิน จะงอยปากสั้นทู่สั้นกว่าตา ปากเล็กไม่มีฟัน ไม่มีก้านครีบแข็งที่ทุกครีบ ครีบหูขยายใหญ่ยาวถึงครีบหลัง ครีบท้องขยายอยู่ในตำแหน่งท้อง ครีบหางมีแพนล่างยาวกว่าแพนบน ครีบหางเว้าลึกแบบส้อม เส้นข้างลำตัวอยู่ค่อนลงทางด้านล่างของลำตัว เกล็ดเป็นแบบขอบ บางไม่มีขอบหยักหรือสากหลุดร่วงง่าย จัดเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ ไม่เกิน 30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งพอสมควร นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูงและหากินบริเวณผิวน้ำ มีจุดโดดเด่นอยู่ที่ครีบอกขนาดใหญ่ และยาวออกมามีลักษณะคล้ายคลึงกับปีกของนก หรือปีกของผีเสื้อ และเมื่อว่ายน้ำด้วยความเร็วสูงแล้วกางครีบอกออก เมื่อตกใจหรือหนี ภัยจะกระโดดได้ไกลเหมือนกับร่อนหรือเหินไปในอากาศเหมือนนกบิน ด้วยเหตุนี้เอง จึงกลายมาเป็นชื่อของปลาบิน...ซึ่งอาจจะ บินได้ไกลถึง 30 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา และจังหวะที่ลอยตัวขึ้นบนอากาศ โดยใช้ครีบอกหรือครีบหูที่มีขนาดใหญ่มากเป็นตัวพยุงช่วย ในขณะที่บางชนิด ยังมีการใช้ครีบก้นที่มีขนาดใหญ่ร่วมด้วย ชาวประมง...มักจะจับตัวมัน ได้ในช่วง เวลาวางไข่ประมาณต้นฤดูร้อน เพื่อนำไข่มาประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีวิธีเก็บรักษา คือ นำใส่ถุงมัดปากถุงให้สนิท แล้วเก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้สนิทนำเข้าแช่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานหลายวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 105 แซลมอนซูชิ

“ซูชิ” เสน่ห์ข้าวปั้นญี่ปุ่นถ้าพูดถึงแดนอาทิตย์อุทัย เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงอดนึกถึงอาหารญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “ซูชิ” (Sushi) ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นซูชิหน้าปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาบะ หรืออีกสารพัดหน้า นึกภาพแล้วน้ำลายก็เริ่มสอ ด้วยรสชาติอันโอชะและคุณค่าต่างๆ ที่ได้รับ โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อปลาดิบ ซูชิจึงดูเหมือนจะกลายเป็นอาหารจานโปรดของบรรดานักบริโภคทั้งหลาย เพราะทั้งสะดวกและอร่อย ปัจจุบันร้านขายซูชิผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดทั่วบ้านทั่วเมือง ตั้งแต่ร้านค้าชั้นนำลงมากระทั่งร้านแผงลอยริมฟุตบาท   แม้หลายคนนิยมชมชอบการกินซูชิ แต่ก็คงนึกหวาดๆ กับคำเตือนให้ระวังเชื้อโรคจากการกิน “ซูชิ” โดยเฉพาะหน้าปลาดิบต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ร่วมกับฉลาดซื้อ จึงลองสุ่มสำรวจซูชิหน้าปลาแซลมอน ซึ่งเป็นหน้าปลาดิบที่คนไทยนิยมรับประทาน จากร้านค้า 5 แห่ง ได้แก่ โออิชิ ฟูจิ เซน มิกะซูชิ และพรานทะเล ส่งสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบหาจุลินทรีย์ก่อโรค ได้แก่ Fecal coliform, Salmonella, S.aureus และ V.parahaemolyticus ผลการทดสอบ ไม่พบเชื้อ Salmonella ในทุกตัวอย่าง ส่วนเชื้อ Fecal coliform S.aureus และV.parahaemolyticus พบในปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด (เว้นแต่จะปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนเชื้อโรคขยายตัว) ผลการทดสอบ ซูชิหน้าปลาแซลมอน ผู้ผลิต     วันที่เก็บตัวอย่าง ราคา (บาท)/ชิ้น สถานที่เก็บตัวอย่าง   ผลทดสอบจุลินทรีย์   Fecal coliform Salmo nella S. aureus V.parahaemolyticus โออิชิ   7/09/52 23 สถานีรถไฟฟ้าสยาม < 3 ไม่พบ   < 10 cfu < 10 cfu ฟูจิ 7/09/52 35 สยามเซ็นเตอร์ < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu เซน 7/09/52 45 สยามเซ็นเตอร์ < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu มิกะ ซูชิ 7/09/52 15 โลตัสอ่อนนุช < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu พรานทะเล 7/09/52 10 บิ๊กซีพระรามสอง < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu                             วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในซูชินั้น จะพบเชื้อโรคในปริมาณน้อยมาก แต่การทดสอบนี้ก็ทำเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่ทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารฯ และฉลาดซื้อได้เลือกสำรวจและนำมาศึกษาเท่านั้น ผู้บริโภคก็ยังคงต้องระมัดระวัง โดยเลือกซื้ออาหารจากร้านค้า “ซูชิ” ที่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดี ภาชนะที่เก็บวัตถุดิบมีการป้องกันการปนเปื้อนของฝุ่นละออง และอาหารสดก็ต้องมีการรักษาอุณหภูมิเพื่อมิให้เชื้อโรคเจริญเติบโตจนอาจก่อปัญหาต่อสุขภาพ จะได้รับประทานซูชิกันอย่างเอร็ดอร่อยและปลอดภัย ฉลาดซื้อแนะนำ1.เลือกร้านค้าที่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดี2.ควรเลือกซูชิจากร้านที่ขายดี มีการทำแบบสดใหม่จะดีกว่า อีกอย่างมันมีการหมุนเวียนของซูชิออกไปอย่างต่อเนื่อง 3. ควรหลีกเลี่ยงการซื้อซูชิที่จัดวางไว้เรียบร้อย ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าผ่านการปรุงแต่งมานานแค่ไหน4.หากเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกกินหน้าที่ปรุงสุกดีกว่าหน้าที่เป็นของดิบ แต่ถ้ายังติดอกติดใจกับรสชาติอาหารดิบๆ ก็ไม่ควรรับประทานบ่อยเกินไป 5.ความเย็นสามารถชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ ดังนั้นซูชิที่เย็นย่อมดีกว่าซูชิที่อยู่ในอุณหภูมิปกติ และนั่นแสดงให้เห็นว่าร้านนั้นๆ มีการเก็บรักษาอาหารอย่างเหมาะสม มารู้จักซูชิกันสักนิด...เริ่มแรกก่อนที่ ซูชิ” หรือ “ข้าวปั้นมีหน้า” จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกนั้น ชาวญี่ปุ่นได้นำข้าวมาอัดเป็นก้อนและนำปลามาวางบนด้านหน้า ซึ่งถือเป็นกรรมวิธีในการถนอมอาหารของพวกเขา ต่อมาเริ่มมีซูชิหน้าต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปลาหมึก กุ้ง ผัก ไข่ เห็ด ฯลฯ จนมีหน้าตาของซูชิให้เลือกมากมายและแพร่หลายไปทั่วอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะนิงิริซูชิ ซึ่งมีลักษณะเป็นข้าวรูปก้อนวงรี มีปลาดิบ ปลาหมึก กุ้ง ฯลฯ วางไว้ด้านบน ตกแต่งด้วยวาซาบิ สาหร่ายทะเลทำให้อร่อย ดูน่ารับประทาน มักได้รับความนิยมมากที่สุดและหาทานได้ง่ายตามภัตตาคารหรือร้านอาหารทั่วไป นอกจากนี้ยังมีซูชิประเภทต่างๆ อีก ได้แก่ มากิซูชิ ซึ่งมีทั้งแบบห่อข้าวอยู่ด้านในสาหร่าย ห่อสาหร่ายอยู่ด้านใน และห่อเป็นรูปกรวย ส่วน ชิราชิซูชิ จะนำกุ้ง ผัก ไข่ ปลาดิบ ปลาหมึก ฯลฯ โดยหั่นเป็นชิ้นๆ มาเรียงบนข้าวที่ใส่อยู่ในกล่อง รวมถึง โอชิซูชิ เป็นการนำข้าวมาอัดลงในแม่พิมพ์รูปสี่เหลี่ยมตามยาว หั่นพอดีคำและนำปลามาวางไว้บนข้าว และสุดท้ายก็คือ อินะริซูชิ ซึ่งเป็นซูชิที่นำเนื้อมาใส่ในเต้าหู้ที่มีลักษณะเป็นถุง ชนิดของเชื้อก่อโรค- Fecal coliform คือ เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์เลือดอุ่น และเป็นเชื้อโรคชนิดเดียวกันที่อยู่ในอุจจาระคน เมื่อพ่อครัว แม่ครัวที่ประกอบอาหารซูชิทั้งหลายล้างมือไม่สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ เชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ส่งผลให้เกิดโรคท้องร่วงได้- Salmonella เป็นแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่ง มักพบในเนื้อดิบ นม ไข่ ไก่ ปลา กุ้ง ซอสน้ำสลัด ครีมที่ใช้ทำเค้กและของหวาน เป็นต้น เมื่อเชื้อโรค Salmonella ผ่านเข้าไปในลำไส้เล็ก จะทำให้เกิดบาดแผลเป็นพิษที่ลำไส้ และมักจะแสดงอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ รวมถึงปวดศรีษะ- S. aureus (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ เมื่อทานอาหารที่มีเชื้อนี้ปนอยู่ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและท้องร่วงและ ที่สำคัญเชื้อโรคตัวนี้จะสามารถอำพรางตัวในอาหารได้เป็นอย่างดีเชียวแหละ เพราะอาหารจะไม่มีกลิ่น สี หรือรสชาติที่เปลี่ยนไป- V. parahaemolyticus พบมากในอาหารทะเลพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเชื้อโรคตัวนี้ก็เป็นแบคทีเรียอีกชนิดที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือทางเดินอาหารอักเสบ รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางบาดแผลได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point