ฉบับที่ 268 กระแสต่างแดน

แบนดีไหม         ฮ่องกงกำลังพิจารณาห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น หลังสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อนุมัติให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัด ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลงสู่ทะเลได้ในช่วง 30 ปีข้างหน้า         นอกจากอาหารทะเลชนิดสด แห้ง ดอง แช่เย็น และแช่แข็ง ฮ่องกงยังจะแบนเกลือทะเล สาหร่าย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น (คิดเป็นร้อยละ 13 ของร้านอาหารที่จดทะเบียนในฮ่องกง) ได้รับผลกระทบ อาจมีถึง 3 ใน 10 ร้านที่ต้องเลิกกิจการ         ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว            ส่วนประเทศไทย อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมานานแล้ว  ช่วยน้องกลับบ้าน         สืบเนื่องจากการร้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในกัวลาลัมเปอร์ ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ในช่วงปิดเทอม เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงรัฐซาบาห์ ซาราวัก หรือเกาะลาบวน ซึ่งต้องเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ราคาตั๋วกลับสูงเกินเอื้อม แม้จะทำงานพิเศษ ก็ยังมีรายได้ไม่พอซื้อตั๋ว         ในที่สุดกระทรวงคมนาคมมาเลเซียตัดสินใจแจกเวาเชอร์มูลค่า 300 ริงกิต (ประมาณ 2,300 บาท) ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินในประเทศ รายงานระบุว่าแผนนี้สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า 56,000 คน ด้วยงบประมาณ 16.8 ล้านริงกิต โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 15 สิงหาคมนี้         สภานักศึกษาฯ มองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มด้วย เช่น นักศึกษาบางคนต้องนั่งเครื่องบินมากกว่าหนึ่งต่อ รวมถึงรัฐควรจัดให้มีความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น การกลับบ้านด่วนเพื่อไปร่วมงานศพของคนในครอบครัว         เมื่อต้นปีรัฐบาลประกาศว่าจะเจรจากับผู้ประกอบการสายการบินให้จัดตั๋วราคาพิเศษสำหรับนักศึกษา แต่แผนดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า    ไม่มาเลยดีกว่า         การรถไฟสวิตเซอร์แลนด์ (SBB) ภูมิใจในความตรงต่อเวลาในการให้บริการมาโดยตลอด แต่เมื่อเปิดบริการ “ขบวนรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ” จากเยอรมนีเข้ามายังเมืองหลักในประเทศ เช่น คูร์ ซูริค หรือ อินเทอร์ลาเคน สถิติความล่าช้าของเขากลับเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง         เพราะขบวนรถจากเยอรมนีมาสายบ่อย ตารางเวลาเดินรถที่ออกแบบไว้เพื่อการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถใช้การได้ สถิติปีที่แล้วระบุว่าร้อยละ 80 ของขบวนรถไฟที่มาช้าคือขบวนที่มีต้นทางในเยอรมนี         เพื่อไม่ให้เสียชื่อไปมากกว่านี้ สำนักงานขนส่งของสวิตเซอร์แลนด์ จึงเสนอว่าเมื่อสัญญาร่วมให้บริการหมดลงในปี 2035 เขาจะให้รถไฟจากเยอรมนีส่งผู้โดยสารเป็นป้ายสุดท้ายที่สถานีเมืองบาเซิลตรงชายแดนเท่านั้น ผู้โดยสารที่ต้องการเข้าเมืองจะต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟขบวนท้องถิ่น         หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การตัดลดเส้นทางไม่น่าจะเอื้อต่อแผนลดโลกร้อน นักท่องเที่ยวคงไม่อยากหอบกระเป๋าขึ้นลงหลายรอบ แม้แต่รัฐบาลกลางก็ไม่เห็นด้วยและเกรงว่าเรื่องนี้อาจยังแก้ไม่ถูกจุด   กติกานักสู้         หน่วยงานป้องกันการผูกขาดทางการค้าของอิตาลีเริ่มสอบสวน CoopCulture ผู้ให้บริการขายตั๋วเข้าชม “โคลอสเซียม” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าการซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่แห่งนี้ด้วยตนเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบริษัททัวร์ใหญ่ๆ กว้านซื้อไปหมดแล้ว         จากการตรวจสอบพบว่า จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีตั๋วเหลืออยู่เพียง 3 ใบในเว็บขายตั๋วอย่างเป็นทางการของโคลอสเซียม (ราคาตั๋วปกติอยู่ที่ 18 ยูโร หรือประมาณ 700 บาท)        แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เว็บของบริษัททัวร์หลายเจ้ากลับมี “ทัวร์โคลอสเซียมพร้อมตั๋วและไกด์” ให้เลือกมากมายในราคาตั้งแต่ 37.50 ถึง 74 ยูโร (1,430 ถึง 2,820 บาท)        CoopCulture ยืนยันว่าบริษัทมีระบบป้องกันการกว้านซื้อ และยินดีให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ในขณะที่องค์กรผู้บริโภค Codacons ก็ออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายห้ามการซื้อตั๋วไปขายต่อ รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย  ผิดซ้ำต้องแฉ         ตั้งแต่ต้นปี 2566 สำนักอนามัยเทศบาลเมืองไทเป ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ขนมหวานแช่แข็งและเครื่องดื่มเย็นทั้งหมด 299 รายการ เพื่อหาแบคทีเรียที่เป็นอันตราย (เช่น ซัลโมเนลลา อีโคไล) และพบว่ามี 20 ผลิตภัณฑ์หรือร้อยละ 6.7 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์        ตามระเบียบของไทเป ผู้ประกอบการที่มีอาหารหรือเครื่องดื่ม “ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย จะได้รับแจ้งจากสำนักฯ พร้อมกับ “เดดไลน์” ในการปรับปรุง แต่การตรวจครั้งล่าสุดยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ยังคงสอบตกเหมือนเดิม        พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอนามัยด้านอาหารของไต้หวันกำหนดโทษปรับสำหรับร้านค้าที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องปริมาณจุลินทรีย์ไว้ที่ระหว่าง 30,000 ถึง 3,000,000 เหรียญ         สำนักอนามัยฯ ยังเตือนภัยผู้บริโภคด้วยการเปิดเผยชื่อเมนู ชื่อร้าน รวมถึงสาขาที่ตั้ง พร้อมรูปถ่ายในการแถลงข่าวด้วย หากสนใจกดเข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4947489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กระแสต่างแดน

ปลูกข้าวกันเถอะ        รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยด่วน ...ตามความเห็นของนายโตชิยูกิ อิโตะ อดีตนายพลประจำกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีคานาซาว่า  หลายสิบปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวและปลาน้อยลงมาก ในขณะที่ขนมปังและเนื้อสัตว์อื่นๆ  ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้แต่ปลาที่นิยมก็เป็นปลาแมคเคอเรลและแซลมอนที่นำเข้าจากนอร์เวย์หรือชิลี“ครัว” ของคนญี่ปุ่นปัจจุบันจึงพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลัก แม้แต่ธัญพืชอาหารสัตว์ก็นำเข้าแทบทั้งหมด  เรื่องเงินไม่ใช้ปัญหาใหญ่ เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้น แต่หากเส้นทางขนส่งทางเรือมีเหตุให้ถูกปิดลง  เพราะสงครามที่อาจปะทุขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน คนญี่ปุ่นลำบากแน่วันนี้ญี่ปุ่นมีพื้นที่ผลิตข้าวน้อยลงมากเพราะดีมานต์ที่ลดลง ประกอบกับชาวนาอายุมากขึ้นและไม่มีลูกหลานสนใจสืบทอด คนรุ่นใหม่ที่เข้าวงการก็เลือกที่จะปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แม้สภาพดินฟ้าอากาศจะเอื้ออำนวยให้ปลูกได้ถึงปีละสองครั้งก็ตาม ประหยัดไฟ        ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าของเดนมาร์กในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเกือบร้อยละสิบ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 Energinet หรือ “การไฟฟ้าเดนมาร์ก” ให้ข้อมูลว่าการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับพฤติกรรม “นิวนอร์มอล” ของคนเดนมาร์กที่ประหยัดไฟด้วยการงดทำอาหารประเภทที่ต้องอบนาน ไม่ใช้เครื่องอบผ้า รวมถึงเปลี่ยนไปซักผ้า/ล้างจาน ในตอนกลางคืน และเลือกซัก/ล้างด้วยโปรแกรม “ประหยัด”  ค่าไฟในเดนมาร์กพุ่งขึ้นเป็น 7.72 โครนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จาก 2.87 โครน ในช่วงต้นปี ผู้ใช้ไฟฟ้าจึงพากันดาวน์โหลด “แอปฯ มอนิเตอร์ค่าไฟ” เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่ค่าไฟถูกก่อนหน้านี้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าไฟให้กับผู้มีรายได้น้อย 400,000 ครอบครัว ในอัตราครัวเรือนละ 6,000 โครน (ประมาณ 30,000 บาท) ทั้งนี้เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีสมาชิกครอบครัวที่อายุมากที่สุดโดยอัตโนมัติ  สองล้อกลับมาแล้ว        นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนสร้างความปวดหัวให้ผู้คนไม่น้อย แต่ผลพลอยได้คือการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น หลังซบเซาไปนานเพราะผู้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์หรือรถสาธารณะเช่น สถิติการใช้จักรยานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังหยุดยาวช่วงวันแรงงานที่รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนบางส่วนและขอให้ผู้คนงดออกจากบ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ หรือกรณี “เซี่ยงไฮ้ล็อคดาวน์” ที่ผู้คนต้องสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เพราะรัฐอนุญาตให้คนที่ออกจากบ้านได้เดินทางด้วยจักรยานเท่านั้นจนถึงวันนี้ ย่านใจกลางกรุงปักกิ่งก็มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.8 นอกจากนโยบายโควิดแล้วยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการขับขี่จักรยานด้วยรายงานระบุว่าเรื่องนี้ส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมผลิตจักรยานในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านเหรียญ ด้วยกำลังผลิตปีละ 76.4 ล้านคัน และผู้ผลิตจักรยานในอเมริกาและยุโรปซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นชนชั้นกลาง ที่ยินดีจ่ายค่าจักรยานได้ถึงคันละ 14,800 เหรียญ (ประมาณ 550,000 บาท) ขอคนช่วยเลี้ยง        สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรของเยอรมนีอาจดูน่าอิจฉาในสายตาของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลจัดหาเดย์แคร์ หรือศูนย์รับเลี้ยง ให้กับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไปที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน   แต่ปัจจุบันศูนย์ฯ เหล่านี้มีไม่เพียงพอ และไม่มีใครสนใจอยากสมัครมาทำงาน เพราะเป็นตำแหน่งพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนน้อย และไม่มีโอกาสก้าวหน้า รายงานระบุว่าเยอรมนียังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อีกอย่างน้อย 160,000 คนเมื่อพ่อแม่ไม่อยากใช้เวลา 90 นาที ขับรถไปส่งลูกที่ “ศูนย์ใกล้บ้าน” จึงหาทางออกด้วยการฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย ใช้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชน หรือจ้างพี่เลี้ยงไว้ที่บ้านหากเงินถึง และมี “คุณแม่” จำนวนไม่น้อยตัดสินใจอยู่บ้านเลี้ยงลูกเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เพราะเมื่อไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็มีเงินสะสมน้อยและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะ “จน” ในยามแก่ กินน้อยก็ปัง        คอนเทนต์ประเภท “โชว์กินดะ” จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนคำว่า “ม็อกบัง” ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดในปี 2021 แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเกาหลีเองก็มีไม่น้อยนอกจากการกินมากไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือกินทิ้งกินขว้างที่ทำให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็นแล้ว พฤติกรรมบางอย่างในคลิปเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมเกาหลี เช่น การกัดเส้นบะหมี่ให้ขาดทั้งที่ยังไม่หมดคำ หรือการเขี่ยอาหาร ที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายคนส่วนหนึ่งจึงหันไปสนใจ “โซซิกจวา” ซึ่งเป็นรายการที่พูดถึงพฤติกรรมการกินอาหารเพียงเล็กน้อย (เพราะเจ้าตัวรู้สึกว่าเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนัก) และการเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้นานขึ้น ของเหล่าเซเล็บเกาหลีช่อง Unnies without Appetite ที่มีซานดารา พัค อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1  มาแชร์ประสบการณ์ว่าเธออยู่ได้ทั้งวันด้วยการกินกล้วยเพียงหนึ่งผล ก็มีผู้ยอดเข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านวิว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 กระแสต่างแดน

ปิดช้าไป        สมาคมผู้บริโภคแห่งออสเตรีย VSV เปิดเผยว่าผู้ใช้บริการสกีรีสอร์ตในแคว้นไทโรล (อาณาเขตติดต่อกับอิตาลีและเยอรมนี) ประมาณ 400 คนกำลังเตรียมฟ้องหน่วยงานรัฐที่ดูแลแคว้นดังกล่าว ที่ไม่สั่งปิดบาร์ในรีสอร์ตแห่งหนึ่งโดยทันที หลังพบพนักงานติดเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์         สมาคมฯ กำลังรวบรวมคำให้การของพยานเพื่อการฟ้องคดีแบบกลุ่ม พวกเขามองว่าการสั่งปิดบาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ล่าช้าออกไปสองสัปดาห์ เป็นเพราะความประมาทและห่วงผลประโยชน์ทางธุรกิจ         และนั่นนำไปสู่การติดเชื้อของผู้คนหลายร้อยคนจากออสเตรีย เยอรมนี อังกฤษ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และแคนาดา          ประชากร 750,000 คนในแคว้นดังกล่าวจึงถูกกักกันตัวจนถึงวันที่ 6 เมษายน ขณะนี้ออสเตรียมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 15,000 คน และมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 คน  ทำไงดีไม่มีแฟกซ์        เมื่อญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินและขอให้คนทำงานจากบ้าน ก็เกิดการรวมตัวกันของผู้คนที่ร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันที         ประชากรในประเทศที่มีหุ่นยนต์ช่วยงานและแกดเจ็ตล้ำๆ กลับไม่พร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน เพราะสิ่งนี้ไม่เคยอยู่ในวิธีคิดของพวกเขา         ขณะที่วิถีตะวันตกแบ่งแยกภาระงานชัดเจน พนักงานจึงสามารถแยกย้ายกันไปทำได้ แต่เจแปนสไตล์นั้นคาดหวังให้ทุกคนมารวมตัวเป็นทีมที่สำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้าน แล้วไหนจะความจำเป็นต้องใช้แฟกซ์ และตราประทับส่วนตัวในเอกสารต่างๆ อีก         การสำรวจโดย YouGov พบว่ามีเพียงร้อยละ 18 ของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเท่านั้น ที่พร้อมทำงานที่บ้าน บริษัทที่ทำได้คือค่ายใหญ่ๆ อย่างโตโยต้าและโซนี่ ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังต้องเครียดกับการปรับตัวต่อไป  ไม่ลดก็ไม่ซื้อ        จีนตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศลงให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50         ในการประมูลยาเข้าระบบสาธารณสุขปีนี้ รัฐบาลจึงกำหนดเพดานราคายาต่ำลงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยา 33 ชนิดที่ใช้กันมากในประเทศ         บริษัทยาข้ามชาติที่เคยทำกำไรได้มหาศาลจากตลาดจีนจึงต้องลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในท้องถิ่นได้ เช่น ไบเออร์ ต้องลดราคายารักษาโรคเบาหวานลงร้อยละ 80 หรือไฟเซอร์ที่ต้องลดราคายาลิปิเตอร์ที่ใช้ในผู้ที่มีความดันสูงลงร้อยละ 74 เช่นกัน        รัฐบาลหวังว่าการ “กดราคา” จะทำให้ยาสิทธิบัตรเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยยาชื่อสามัญที่จีนสามารถผลิตเองในประเทศได้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2018          จีนต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านยาเพื่อนำเงินไปทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ตกที่นั่งลำบาก        กลุ่มอุตสาหกรรมการบินในยุโรปยื่นจดหมายให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการยุโรปว่า มาตรการเว้นระยะห่างเพื่อลดการติดเชื้อในห้องโดยสารเครื่องบินเป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็น และทำไม่ได้จริง”         สิ่งที่สายการบินอย่าง แอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม และลุฟทันซา ต้องการคืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสาร เช่น หน้ากากอนามัย และยังบอกอีกว่ารัฐบาลแต่ละประเทศควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นธุระจัดหาและจ้างงานบุคลากรผู้เชี่ยวชาญการมาตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง         ซีอีโอของไรอันแอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะเว้นระยะห่างระหว่างกันในเครื่องบินให้ได้ 2 เมตร เราจะต้องนั่งห่างกันถึง 7 ที่นั่ง ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น บินเท่าไรก็ไม่พ้นภาวะขาดทุน         รอติดตามแนวปฏิบัติสำหรับสายการบินโดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ กลางเดือนพฤษภาคมนี้ เบื่อสะสม        เมื่อต้องกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ หลายคนก็เริ่มหันมาทำกับข้าว ทำงานบ้าน งานฝีมือ ช้อปออนไลน์  เต้นติ๊กต่อก ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังสู้วิธีรับมือกับความเบื่อของคนจีนไม่ได้        ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ยอดการใช้แอป “So Young” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้นิยมการทำศัลยกรรมความงาม เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 134 และมีคนที่ “เบื่อหน้าตัวเอง” เข้ามาปรึกษาผ่านวิดีโอคอลถึง 40,000 ราย        ข้อมูลจากแอปโซยัง ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการศัลยกรรมความงาม ยังระบุว่า ฟังก์ชัน “บิวตี้ไดอารี” ที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาบันทึกประสบการณ์การทำศัลยกรรมและการฟื้นตัวนั้นมีผู้ใช้มากขึ้น จนขณะนี้มีให้เปิดอ่านถึง 3.5 ล้านเล่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 เต้าหู้ขาวญี่ปุ่นนึ่งซีอิ๊ว

ฉันกับแม่กลับเข้าบ้านมาถึงในตอนค่ำ ก็เห็น 2 สาวเพื่อนบ้านกำลังเขย้อเขย่งเก็บช่อดอกเข็มแดงริมรั้วบ้านเตรียมให้ลูกชายใช้ไหว้ครูพอดี  พอรู้ว่าเธอๆ จะใช้ไหว้ครู ฉันก็เดินไปที่กอมะเขือพวงที่กำลังออกดอก และตัดช่อของมันส่งให้เธอไปอีก 3 ช่อ กับคำถามในใจว่าเมื่อไหร่หนอบ้านเราเมืองเราจะมี   “วันนักเรียน” กะเขามั่ง  วันนักเรียนที่สอนให้นักเรียนรู้คิด ตั้งคำถาม  รู้วิธีหาคำตอบ  มีระบบการเรียนรู้ที่มากไปกว่าการเป็นเด็กดี  มีระเบียบวินัย สามัคคี  และเชื่อฟังคุณครู?   ปีนี้ฝนแล้ง มาล่าช้า และเริ่มมาตกชุกเอาช่วงต้นเดือนมิถุนายน  เข็มที่ได้น้ำจากน้ำประปาที่แม่รดทุกวันจึงไม่มีดอกช่อโตดกใหญ่มากอย่างทุกปี   ถัดมาก่อนหน้านี้ 2 วัน  ฉันเพิ่งพบกับเพื่อนชาวนาในทุ่งหน้าโคก ที่เก็บผักมาขายประจำในตลาดนัดวันจันทร์ ซึ่งเช้าวันนั้นพื้นดินลูกรังตลาดเนืองนองเฉอะแฉะหลังฝนกระหน่ำเสียจนหนำใจ  เราได้คุยกันสั้นๆ เรื่องการเตรียมทำนาขอเธอ   เธอว่า ปีนี้ฝนมาช้า จนทำให้ข้าวต้องหว่านช้าไปกว่าเดิม  กว่าจะหว่านได้นั้นเธอรอทั้งน้ำในลำรางให้เขาปล่อยมาและฝน ก็ยังไม่ได้มาดังใจ  ระหว่างนี้ได้พบชาวนาหลายคนที่ต้องไปขอมิเตอร์ไฟฟ้าจากสำนักงานการไฟฟ้าฯ  และเสียค่าเช่าหม้อไฟถึงคนละ 8,000 บาท เพื่อติดตั้งเครื่องไฟฟ้าสูบน้ำเข้านา  ส่วนเธอต้องจ่ายค่าพิเศษให้เจ้าหน้าที่ไป 500 บาท เธอว่า “คนมันต่อคิวกันเยอะ เราอยากได้ไว  ถ้าไม่งั้นเรารอนาน ข้าวเราก็ไม่ได้ปลูกสักที” เงินที่เธอต้องลงทุนเพิ่มในการทำนาเที่ยวนี้  ยังไม่รู้ว่าจะได้รับคืนมาเป็นผลกำไรหรือไม่นั้น คงต้องรอดูตอนช่วงเก็บเกี่ยวต้นเดือนกันยายนปีนี้กันอีกที  เธอว่ายังดีที่หลังเลิกใช้งานแล้วคืนหม้อไฟ จะได้รับเงินคืนกลับมา 6,000 บาท  แต่นั่นก็อีกเกือบ 4 เดือนเชียวแหละที่ต้องรอดูกันต่อ ดูเหมือนเป็นชาวนาต้องรอนั่น รอนี่ และมีเรื่องให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันอยู่เสมอ ... นั่นสินะ  หากรอให้น้ำท่าดีสมบูรณ์ในภาวะที่แล้งจัดแบบนี้  ก็คงยังอีกนานกว่าจะได้ลงมือตีเทือก หว่านข้าวปลูก   ครั้นพอลงมือหว่านทำนาแล้วก็ต้องมาคอยดูด้วยใจระทึกต่อไปว่า ฝนที่เริ่มตกชุกจนอดหวั่นไหวไม่ได้ว่าปีนี้จะน้ำมากจนมาท่วมข้าวก่อนเกี่ยวเหมือนปี54 กันอีกหรือเปล่านั้น  มันเป็นความทุกข์ที่คนทำนาต้องอดทนแบกรับ   มาเรื่องกินกันดีกว่า – วันนี้ว่าด้วยเมนูเต้าหู้ขาว กินแบบเบาๆ สบายๆ   เครื่องปรุง 1. เต้าหู้ขาวญี่ปุ่น 1 ชิ้น   2.เห็ดเข็มทอง  100 กรัม   3.ต้นหอม  2 – 3 ต้น หั่นท่อน   4.สาหร่ายญี่ปุ่น แช่น้ำจนพองตัวแล้วสรงขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ  1/3 ถ้วย   5.ขิงซอย 1 แง่ง (ขยำน้ำเลือกแล้วล้างออก 2 ครั้ง)   6.พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ 2 เม็ด   7.ซีอิ๊วขาว  2 ช้อนโต๊ะ   8.น้ำมันงา  1 ช้อนโต๊ะ   9.งาคั่วบุบหยาบ  1 ช้อนโต๊ะ  10.น้ำตาลทรายตัดรสเค็ม ปลายช้อน  11.หมูสามชั้นหั่นเรียง (ใส่หรือไม่ – แล้วแต่ชอบ)   วิธีทำ เรียงสาหร่ายบนจานกระเบื้องทนไฟ  หั่นเต้าหู้ขาวญี่ปุ่น เป็นก้อน 3 เหลี่ยมมุมฉากวางบนสาหร่าย   โรยด้วยเครื่องปรุงที่เหลือ แล้วนำไปนึ่งเตาไฟแรงๆ นาน 10 นาทียกลง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 ไข่กุ้งในอาหารญี่ปุ่น

อาหารญี่ปุ่นนั้นได้รับความนิยมไปทั่วโลก คนไทยก็ชอบอาหารญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ร้านจำหน่ายอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากมาย ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกให้ลิ้มลองกันทั้งนั้น หรือ “ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นยอดนิยม ระดับตลาดล่างคำละ 5 บาท 10 บาท ก็พบเห็นได้ทั่วไปตามตลาดนัดต่างๆ  และหากใครนึกสนุกอยากทำกินเอง วัตถุดิบก็หาได้ไม่ยากเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในวัตถุดิบที่มีคนไทยนิยมกันมาก ก็คือ “ไข่กุ้ง” ที่ทำมาจากไข่ปลานั่นเอง ไข่กุ้งที่ใช้ทำซูชินั้นไม่ได้เป็นไข่ของกุ้งจริงๆ แต่เป็นไข่ปลา ซึ่งเดิมใช้ไข่ของปลา Capelin หรือปลาไข่ กรรมวิธีการทำไข่จากปลา Capelin มาเป็นไข่กุ้ง(เทียม) นั้นต้องนำไข่ของปลามาหมักและปรุงรสจนได้ไข่ที่มีลักษณะโปร่งใส และมีสีส้มๆ คล้ายกับกุ้ง ซึ่งจะเรียกกันอย่างแพร่หลายในร้านซูชิที่ประเทศญี่ปุ่นว่า Ebiko แต่เมื่อปลาไข่หาได้ยากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้ไข่ของปลา Flying Fish หรือ ปลาบิน (บ้านเราเรียกปลานกกระจอก) เพื่อทดแทนไข่จากปลา Capelin และเรียกไข่จากปลาบินว่า Tobiko เพื่อป้องกันการสับสน โดยไข่ของปลา Flying fish มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-0.8 มม. ตามปกติจะมีสีส้มแดง รสออกเค็มอ่อนๆ บางครั้งนำไปย้อมเป็นสีอื่น เช่น ย้อมวาซาบิได้ไข่สีเขียว ย้อมขิงได้ไข่สีส้ม หรือย้อมกับหมึกของปลาหมึกจะได้สีดำเห็นวางขายกันหลายที่ ฉลาดซื้อเลยเลือกซื้อจากหลายแหล่งขายทั้งในห้างค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหารญี่ปุ่นและทางร้านค้าออนไลน์ เพื่อทดสอบดูว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ ผลทดสอบไม่พบการตกค้างของวัตถุกันเสียยอดนิยมทั้งซอร์บิกและเบนโซอิก เป็นอันว่าปลอดภัยจากสองตัวนี้ แต่สำหรับส่วนสีสันจัดจ้านนั้น ไว้รอผลทดสอบกันอีกครั้งนะคะ   ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น   flying fish หรือ ปลาบิน,ปลานกกระจอก อยู่ในวงศ์ Exocoetidae เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็ง...พบ มากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก แบ่งออก เป็น 8 สกุล...รูปร่างลักษณะโดยรวม มีลำตัวยาวมากค่อนข้างกลม ส่วนใหญ่มีลำตัวสีเขียว หรือสีน้ำเงินหม่น ข้างท้องสีขาวเงิน จะงอยปากสั้นทู่สั้นกว่าตา ปากเล็กไม่มีฟัน ไม่มีก้านครีบแข็งที่ทุกครีบ ครีบหูขยายใหญ่ยาวถึงครีบหลัง ครีบท้องขยายอยู่ในตำแหน่งท้อง ครีบหางมีแพนล่างยาวกว่าแพนบน ครีบหางเว้าลึกแบบส้อม เส้นข้างลำตัวอยู่ค่อนลงทางด้านล่างของลำตัว เกล็ดเป็นแบบขอบ บางไม่มีขอบหยักหรือสากหลุดร่วงง่าย จัดเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ ไม่เกิน 30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งพอสมควร นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูงและหากินบริเวณผิวน้ำ มีจุดโดดเด่นอยู่ที่ครีบอกขนาดใหญ่ และยาวออกมามีลักษณะคล้ายคลึงกับปีกของนก หรือปีกของผีเสื้อ และเมื่อว่ายน้ำด้วยความเร็วสูงแล้วกางครีบอกออก เมื่อตกใจหรือหนี ภัยจะกระโดดได้ไกลเหมือนกับร่อนหรือเหินไปในอากาศเหมือนนกบิน ด้วยเหตุนี้เอง จึงกลายมาเป็นชื่อของปลาบิน...ซึ่งอาจจะ บินได้ไกลถึง 30 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา และจังหวะที่ลอยตัวขึ้นบนอากาศ โดยใช้ครีบอกหรือครีบหูที่มีขนาดใหญ่มากเป็นตัวพยุงช่วย ในขณะที่บางชนิด ยังมีการใช้ครีบก้นที่มีขนาดใหญ่ร่วมด้วย ชาวประมง...มักจะจับตัวมัน ได้ในช่วง เวลาวางไข่ประมาณต้นฤดูร้อน เพื่อนำไข่มาประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีวิธีเก็บรักษา คือ นำใส่ถุงมัดปากถุงให้สนิท แล้วเก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้สนิทนำเข้าแช่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานหลายวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point