ฉบับที่ 243 ดวงใจในมนตรา : ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า...

                ย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ ผู้เขียนเคยได้ยินเนื้อเพลงที่ขับร้องโดยคุณสวลี ผกาพันธุ์ ที่ขึ้นต้นว่า “ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า ไยถึงไม่เข่นฆ่าเมื่อไม่ไยดี...” ตอนได้ยินได้ฟังครั้งแรกนั้น ก็รู้สึกสนเท่ห์ใจอยู่ในทีว่า เพราะเหตุใดกันหรือที่ทำให้ผู้หญิงต้องมาร้องครวญรำพันให้ชายที่เธอหลงรัก “ฆ่าให้ตายดีกว่า”         หากในอดีตอิสตรีเป็นผู้ครวญเพลงเรียกร้องให้บุรุษเพศฆ่าเธอให้ตายเช่นนี้แล้ว เหตุไฉนในละครโทรทัศน์เรื่อง “ดวงใจในมนตรา” จึงถึงคราวที่ตัวละครอย่าง “พชร” ชายผู้ถูกสาปให้ไม่มีหัวใจและไม่มีวันตาย ได้ออกมาเรียกร้องให้หญิงคนรักอย่าง “มทิรา” ถอนซึ่งมนตราคำสาป และฆ่าเขาให้ตายดีกว่า         ในทุกวันนี้ที่มนุษยชาติต่างเกลียดและกลัว “ความตาย” แต่ทำไมชายหนุ่มพชรจึงนิยามความหมายใหม่ให้ “ความตาย” กลายเป็น “สิ่งล้ำค่า” ที่ปรารถนาสูงสุดในชีวิตอมตะของเขา?         จำเริญความตามท้องเรื่องของละคร โดยย้อนกลับไปในปางบรรพ์ พชรเป็นอดีตนักรบแม่ทัพเอกแห่งนครตารวะปุรัมเมื่อกว่าสองพันปีก่อน ในครั้งนั้นพชรได้ตกหลุมรักกับมทิรา เทวทาสีผู้ถือครองพรหมจรรย์เพื่อบูชาองค์เทพ แต่เพราะความรักที่มีให้กับเขา เธอยอมสละทุกอย่างแม้แต่ร่างพรหมจรรย์เพื่อให้ได้อยู่ครองคู่กับพระเอกหนุ่ม         แต่ทว่า ด้วยภาพฉากหลังของเรื่องที่ดำเนินไปบนความขัดแย้งและการช่วงชิงบัลลังก์แห่งกษัตริย์ผู้ปกครองนครโบราณตารวะปุรัม ทั้งพชรและมทิราจึงถูกสถานการณ์บีบให้เข้าสู่วังวนแห่งการเมืองอันเนื่องมาแต่ผลประโยชน์และอำนาจดังกล่าว         และเพราะมทิรายึดถือ “ความรัก” แบบชายหญิง ดังที่เธอก็เลือกสละเพศพรหมจรรย์เพื่อมอบดวงใจรักให้กับพระเอกหนุ่ม แต่กับพชรนั้น เขากลับเลือกยึดมั่นใน “หน้าที่” และบ้านเมืองเป็นสรณะ โดยมิอาจทรยศได้แต่อย่างใด สนามรบทางการเมืองของนครในตำนานจึงก่อกลายเป็นสนามรบทางเพศระหว่างชายหญิง หรือระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก” ไปโดยปริยาย         ดังนั้น เมื่อ “หน้าที่” ของพชรบีบบังคับให้เขาต้องประหารชีวิตผู้ต้องหากบฏ อันรวมถึง “เสนาบดีสุรายา” ผู้เป็นบิดาของมทิรา ส่งผลให้หัวใจของหญิงที่เต็มไปด้วย “ความรัก” อย่างมทิราต้องสิ้นสลายกลายเป็นความโกรธแค้นที่ฝังแน่นอุรา         “เจ็บใจนักเพราะรักมากไป ไม่เตรียมใจซะบ้าง ไม่ระวังก็เพราะมัวแต่ไว้ใจ…” ในที่สุดมทิราก็ตัดสินใจสมาทานตนเข้าสู่ด้านมืด และถูกมนต์ดำแห่งอัคคีเทวาเข้าแทรกในจิตใจ เธอจึงใช้ “มนตรา” และกริชที่ชายคนรักมอบให้แทงเข้าที่อกและควัก “ดวงใจ” ของเขาออกมา ก่อนจะสาปให้ “ดวงใจในมนตรา” ของพระเอกหนุ่มกลายเป็น “เพชรดวงใจนักรบ” โดยที่พชรก็เหลือเพียงแต่ร่างที่เป็นอมตะไม่มีวันตาย ส่วนเธอก็จะจองเวรเขาทุกชาติไป และนับจากวันนั้นนครตารวะปุรัมก็ล่มสลายไปตลอดกาล         เวลาผ่านไประลอกแล้วระลอกเล่า พชรที่ถูกเวทมนตร์ซึ่งสาปไว้โดยหญิงคนรักให้เขาเป็นผู้ไม่มีวันตาย กลับต้องมาเห็นชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดและเกิดใหม่หลายภพชาติของตัวละครอื่นๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น “สินธุ” อดีตทหารคนสนิทของพชร หรือน้องสาวบุญธรรมอย่าง “ลดา” ผู้กลับมาเกิดเป็น “พราวพลอย” หญิงสาวผู้มีใบหน้าเหมือนมทิราในภพชาติล่าสุด ไปจนถึงมทิราเองที่เวียนว่ายมาเกิดใหม่เป็น “วิภู” ชายหนุ่มเจ้าของรีสอร์ตหรูที่วางแผนทุกทางเพื่อกลับมาแก้แค้นพชรในชาติปัจจุบัน         ในขณะที่คนรอบข้างต่างเป็นมนุษย์ผู้เวียนวนในสังสารวัฏ แต่ร่างอมตะของพชรก็ยังคงเฝ้าวนเวียนตามหาเพชรดวงใจนักรบ หรือหัวใจของเขาที่ต้องคำสาป พระเอกหนุ่มจึงต้องดำรงอยู่กับความรู้สึกเดียวดาย และต้องกลายเป็นร่างไร้ชีวิตซึ่งรอคอยการให้อภัยจากมทิราที่จะปลดปล่อยเขาจากอาถรรพเวทแต่ปางก่อน        ตามความเชื่อของคนไทย มนุษย์และสรรพชีวิตทั้งมวลล้วนตกอยู่ภายใต้วัฏสงสารเป็นตัวกำหนด หรืออีกนัยหนึ่ง ตราบใดที่เรายังดำรงอยู่ในวัฏฏะแห่งการ “เกิดแก่เจ็บตาย” (รวมถึงการเกิดใหม่) ตราบนั้นเราก็ยังคงสภาวะความเป็นมนุษย์อยู่อย่างแท้จริง ความตายตามคติความเชื่อนี้จึงหาใช่จะเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมย์ หากแต่มรณานุสติหรือสติที่จะเข้าใจความตาย ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในความเข้าใจชีวิตของมนุษย์เรา         แต่เพราะพชรถูกคำสาปให้มีเพียง “เกิด” ขึ้นมา หากทว่าไม่รู้จัก “แก่” เนื่องจากสังขารยังคงสภาพเยี่ยงเดิมมานับศตวรรษ ไม่รู้จัก “เจ็บ” เพราะแม้จะถูกลอบยิงลอบทำร้ายหรือมีบาดแผล ก็ฟื้นคืนร่างกายได้โดยเร็ว และเป็นอมตะไม่รู้จัก “ตาย” หรือ “เกิดใหม่” ดังนั้นพระเอกหนุ่มจึงกลายเป็นผู้สูญสิ้นซึ่งความเป็นมนุษย์ไป         และในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นชีวิตที่มีเพียงการ “เวียนว่าย” แต่ไร้ซึ่ง “ตายเกิด” พชรจึงอยู่ในสภาวะประหนึ่งอมนุษย์ ไม่ต่างจากผีดิบหรือแวมไพร์ และยิ่งต้องรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นที่ได้เห็นคนรอบข้างมีเกิดมีดับมีเกิดใหม่ในต่างภาพชาติ ร่างของพระเอกหนุ่มที่ดำรงอยู่โดยไม่วายปราณ จึงเป็นเพียงแค่ซากอันไร้ชีวิตนั่นเอง         โดยนัยนี้ ในสนามรบระหว่างหญิงชายที่ข้ามมาหลายภพหลายชาตินั้น แม้พชรจะเคยยืนยันว่า “ภาระหน้าที่” คือคำตอบข้อสุดท้ายในชีวิตแม่ทัพเอกแห่งนครตารวะปุรัม แต่หลังจากที่ต้องคำสาปให้ตามหาเพชรดวงใจนักรบ และถูกกลเกมพยาบาทของมทิราที่คอยหลอกล่อเขาไปทุกชาติภพ นักรบหนุ่มก็เข้าใจสัจธรรมในการดำรงอยู่ซึ่งความเป็นมนุษย์ในท้ายที่สุด         ประโยคที่พชรได้พูดกับพราวพลอยว่า “แม้ผมจะไม่มีหัวใจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผมไม่มีความรู้สึกใดๆ” ก็คือการบอกเป็นนัยว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เพศหญิงและเพศชายนั้น เหตุผลเรื่องภาระหน้าที่โดยไม่มีซึ่งอารมณ์ความรู้สึกเอื้ออาทรแต่อย่างใด คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าไรนัก แบบเดียวกับที่เขาเองก็ต้องตามหาหัวใจที่ต้องคำสาปมาทั้งชีวิต         นับแต่ฉากต้นเรื่องของละคร “ดวงใจในมนตรา” ที่พระเอกหนุ่มพชรได้กล่าวว่า “มีหลายเรื่องบนโลกใบนี้ ถ้าคุณใช้สติคิดดู คุณก็จะพบว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่คุณแทบจะไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง” คำพูดนี้คงไม่ใช่จะแค่สื่อความถึงผู้ฟังอย่างพราวพลอย แต่ยังรวมถึงเราๆ ที่เป็นผู้เฝ้าชมชะตากรรมชีวิตไม่มีวันตายของเขาอยู่         ดังนั้น หากที่ผ่านมามนุษย์ในยุคเราๆ จะรู้สึกเกลียดและกลัวความตาย หรือมนุษย์เพศชายจะเอาแต่ยึดมั่นอยู่ในเหตุผลและภาระหน้าที่โดยไม่พลิกผัน แต่หากเราลองใช้สติไตร่ตรองดูดีๆ เราก็อาจจะพบเช่นกันว่า ในบางครั้งมนุษย์ก็อาจต้องเริ่มเรียนรู้เข้าใจและปรารถนาให้ความตายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา และมนุษย์เพศชายเองก็อาจต้องหันกลับทบทวนหวนคิดถึงการดำรงอยู่แห่งอารมณ์ความรักและความรู้สึก ควบคู่ไปกับการยึดมั่นเพียงเหตุผลและภาระหน้าที่เพียงอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >