ฉบับที่ 272 รู้หรือไม่ งานทวงหนี้ ต้องขออนุญาต

        หลังที่โรคระบาดโควิดเริ่มซาลง สภาพเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องวิ่งเข้าหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งแน่นอนว่าสมัยนี้ การกู้ยืมเงินสะดวกมากขึ้น ผู้บริโภคมีช่องทางกู้เงินมากมาย และหนึ่งในช่องทางที่ได้รับความนิยมคือ การกู้ยืมเงินผ่านออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่นกู้เงิน แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทางดังกล่าวนี้ ก็มีความเสี่ยง เพราะเห็นในหน้าสื่อต่างๆ อยู่เสมอว่า คนที่กู้เงินผ่านช่องทางพวกนี้ มักเจอการถูกโกงในการกู้เงิน ได้เงินไม่เต็มบ้าง ถูกคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าทวงหนี้สูงเกินไปบ้าง หรือบางรายเจอการทวงหนี้ที่น่ากลัว ข่มขู่ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ในฉบับนี้ จึงขอแนะนำความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ เพื่อประโยชน์ของทุกคน จะได้มีวิธีรับมือกับพวกแก๊งค์กู้เงินผิดกฎหมายครับ         ก่อนอื่น หลายคนไม่ทราบว่า “คำข่มขู่” ของแก๊งค์ทวงหนี้บางเรื่อง มีการอ้างข้อกฎหมายที่ไม่จริง ทำให้คนที่ไม่รู้ หลงเชื่อ  เช่น ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งอันนี้ น่าจะเจอกันบ่อยที่สุด ซึ่งอันที่จริง การไม่จ่ายหนี้เป็นความผิดทางแพ่งไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา ดังนั้นไม่มีการติดคุกแน่นอน แต่ความผิดทางแพ่งเจ้าหนี้ต้องไปใช้สิทธิฟ้องศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้   อีกกรณีคือการขู่ว่าจะมายึดทรัพย์ลูกหนี้ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้จะไปยึดทรัพย์สินลูกหนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องมีคำสั่งศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน ดังนั้น ก็ต้องไปฟ้องศาลก่อนเช่นกัน และหากเผลอมายึดจริงก็อาจมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้          เมื่อพูดถึงเรื่องกฎหมาย หลายคนอาจไม่ทราบว่า รัฐได้ออกกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ชื่อว่า “พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558” ซึ่งกฎหมายนี้ ให้การคุ้มครองผู้บริโภคในหลายประการ เช่น ห้ามการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท         หากใครประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องมีการขออนุญาตตามกฎกระทรวงการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  หากใครฝ่าฝืนไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท ส่วนเจ้าหนี้คนไหนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย คิดดอกเบี้ยแพงเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท         ดังนั้น เราจะเห็นว่า ความจริงแล้วคนที่ทำผิดกฎหมาย เสี่ยงติดคุกไม่ใช่ลูกหนี้ แต่เป็นบรรดาเจ้าหนี้และแก๊งค์ทวงหนี้มากกว่า เพราะคนเหล่านี้ทำผิดหลายอย่าง ทั้งเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยแพง ก็ถือว่าคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยส่วนนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับ เงินที่จ่ายต้องเอาไปหักเงินต้นทั้งหมด หรือพวกทวงหนี้ที่ใช้คำหยาบ ทวงไม่เป็นเวลา หรือไม่ขออนุญาตก็ถือว่าเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ถ้าใครเจอปัญหาทวงหนี้ดังกล่าว ขอให้รีบดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. หยุดจ่าย หยุดสร้างหนี้ใหม่ และรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ เพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย ได้แก่ รายการเดินบัญชี (Statement) ที่กู้เงินออนไลน์ ชื่อและหน้าแอปฯ กู้เงินเถื่อน หลักฐานการแช็ต และแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้ดำเนินคดีถึงที่สุด        2. ติดต่อสายด่วนแก้หนี้ 1213 หรือ สายด่วนชนะหนี้ 1443        3. เล่าข้อเท็จจริงและรูปแบบการกระทำของมิจฉาชีพ ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนภัยให้กับคนรู้จัก        4. หากถูกปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลออนไลน์จากการโหลดแอปกู้เงินเถื่อน แจ้งสายด่วน 1559         นอกจากนี้ การทวงหนี้ที่ไม่ถูกต้อง เคยมีประเด็นฟ้องร้องต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินวางหลักที่น่าสนใจไว้ เป็นกรณี การประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย หากไม่จดมีความผิดทางอาญา ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562         “พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บัญญัติว่า  ผู้ใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน...ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า  เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 เวลากลางวัน  จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยรับจ้างบุคคลผู้มีชื่อทวงถามหนี้เงินกู้จาก ร.และประชาชนอื่นซึ่งเป็นลูกหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้...จึงเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดแล้ว  ส่วนจำเลยทั้งสองจะรับจ้างจากบุคคลใดและประชาชนผู้ใดบ้างที่ถูกจำเลยทั้งสองทวงถามหนี้  หาใช่องค์ประกอบความผิดอันจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยไม่  แต่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก็นำสืบได้ในชั้นพิจารณา  การที่โจทก์มิได้ระบุชื่อผู้ว่าจ้างหรือชื่อประชาชนผู้ถูกทวงถามหนี้มาในฟ้อง  จึงไม่ถือว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม  ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158(5)         ความผิดฐานประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5, 39  มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  จึงไม่ใช่ข้อหาที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น...เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ  ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 176 วรรคหนึ่ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 กู้เงิน แต่เจอคิดดอกเบี้ยแพง เกินกฎหมาย เจ้าหนี้เงินกู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหรือไม่

            ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันหลายคนมีปัญหาทางการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าใช้จ่ายๆ ต่างก็สูงมากขึ้น การไปกู้ยืมเงินจากบรรดาธนาคารต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องหาคนค้ำหรือมีวางหลักประกัน ดังนั้นจึงมีหลายคนหันไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบหรือผ่านแอปกู้เงินบนออนไลน์ ซึ่งเมื่อกู้มาแล้วเจอคิดดอกเบี้ยแพง เช่น ร้อยละ 10 ต่อเดือนทั้งที่ตามกฎหมายแล้วการคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ กฎหมายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดที่ผู้ให้กู้สามารถเรียกได้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี คือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เช่นนี้ลูกหนี้มักถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยสุดโหด คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากเงินกู้เกินกฎหมาย ผู้บริโภคอย่างเราในฐานะผู้กู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ นี้หรือไม่ หากจ่ายไปแล้วเอาคืนได้ไหมหรือเจ้าหนี้จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยแพงผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลฏีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยศาลเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยแต่ลูกหนี้ก็ไม่มีได้ดอกเบี้ยนี้คืนแต่สามารถเอาเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยไปหักเงินต้นที่กู้ยืมได้             คําพิพากษาฎีกาที่ 5056/2562             โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนโดยจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน มาโดยตลอด ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่ โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวหากแต่ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปื ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง             นอกจากนี้ การกู้ยืมเงิน มีเรื่องที่ผู้บริโภคควรใส่ใจ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการกู้ยืมเงิน ดังนี้             (1) อย่าได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเป็นอันขาดเพราะเจ้าหนี้อาจเอาไปเติมข้อความหรือตัวเลขเงินกู้ที่เกินจริงในภายหลังได้             (2) โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสำคัญอย่าไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเพราะอาจเจอปัญหาตอนจ่ายหนี้หมดแต่เจ้าหนี้เรียกค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมภายหลังได้ หากจะเอาที่ดินเป็นประกันต้องไปจดจำนองที่สำนักงานที่ดินให้ถูกต้อง             (3) ตรวจสอบเงินที่ได้รับมาตรงตามที่ทำสัญญากู้หรือไม่เป็นเรื่องพื้นฐานได้เงินไม่ครบตามเอาทีหลังจะยากเพราะถือว่ารับเงินมาแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจนับทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่เราได้ตรงกับที่ทำสัญญาไว้             (4) ควรใส่ตัวเงินเป็นตัวหนังสือด้วยเพื่อป้องกันมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขในภายหลัง             (5) ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้เสมอเป็นสิทธิตามกฎหมาย ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้มาด้วยหากไม่ส่งมอบอาจส่อเจตนาไม่สุจริตและผิดต่อกฎหมาย การจ่ายเงินกู้โดยไม่รู้ว่าสัญญากำหนดสิทธิหน้าที่ของเราไว้อย่างไรจะทำให้เราเสียเปรียบเพราะไม่รู้เงื่อนไขตามสัญญาที่ตกลงกันหากเกิดการฟ้องร้องจะทำให้ต่อสู้คดีได้ยาก             (6) ในสัญญากู้ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอย่างน้อย 1 คน เพื่อให้เป็นหลักฐานว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง มีพยานยืนยันจำนวนเงินที่กู้ ระยะเวลาที่กู้ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ เพื่อหากเกิดปัญหาพิพาทกันภายหลังจะได้มีคนยืนยันไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เรียกเงินคืนที่อาจเกินจริง             (7) จ่ายเงินทุกครั้งต้องมีหลักฐาน กล่าวคือ หากจ่ายเป็นเงินสดต้องได้ใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐานยืนยันการชำระเงินและควรเก็บไว้ให้ดีจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วนหรือเพื่อความสะดวกควรจ่ายโดยวิธีโอนเงินผ่านมือถือมีสลิปที่แอปธนาคารยืนยันก็จะช่วยให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2565

ยกเลิกโทษ-ปรับ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย         หลังจากประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2565 นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) เกี่ยวกับให้อำนาจจังหวัดสำหรับการออกคำสั่งการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อยกเลิกพระราชกำหนด พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระเบียบจะคงค้างอยู่ จึงให้ยกเลิกค่าปรับสำหรับคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขจะลงนามประกาศในราชกิจจาฯ ต่อไป ผ่อนรถคิดดอกเบี้ย "ลดต้น-ลดดอก”         17 ตุลาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ของปี พ.ศ.2561 และมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังพ้นประกาศ 90 วัน โดยให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี ลักษณะแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือของแต่ละงวด         นอกจากนี้กรณีที่ยังไม่มีกฎหมายอัตราดอกเบี้ยสำหรับเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ไว้เฉพาะ ให้กำหนดดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อตามกลไกตลาด คำนวณดังนี้ กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี , กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี , กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี อย่างไรก็ตาม อาจมีการปรับเปลี่ยนให้ลดลง-เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจประเทศทุก 3 ปี ห้ามใช้มือถือตอนขับรถฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1,000 บาท         เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 อาศัยอำนาจตามมาตรา 43(9)  แห่งราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ผู้ขับสามารถใช้โทรศัพท์ได้ต่อเมื่อทำตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1.ให้ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายหรืออุปกรณ์เสริมสำหรับสนทนา ระบบกระจายเสียงจากเครื่องโทรศัพท์โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องจับโทรศัพท์ 2. ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับยึดหรือติดโทรศัพท์ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้ง โดยต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถขณะขับรถ กรณีผู้ขับขี่มีความจำเป็นต้องถือ จับ สัมผัสเพื่อใช้งานให้ผู้ขับหยุดหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัยก่อนใช้โทรศัพท์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท อย. พบสารเอทิลีนออกไซด์ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป         กรณีที่มีข่าวสำนักงานอาหารของสิงคโปร์เรียกคืน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตราหมี่ซีดาพ” ที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากพบปนเปื้อนสารเอิลีนออกไซด์ จำนวน 4 รายการ  จากกรณีดังกล่าว อย.ไทย ได้มีการตรวจสอบแล้ว “ไม่พบการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรุ่นดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในไทย” แต่ได้ทำการตรวจสอบสถานที่นำเข้า พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ซีดาพ จำนวน 8 รายการ ที่ผลิตในไทยมาตรวจสอบหาสารเอทิลีนออกไซด์          จากผลตรวจวิเคราะห์ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบ 2 ตัวอย่างที่มีสารเอทิลีนออกไซด์ คือ หมี่ซีดาพ โคเรียน สไปซี่ ชิคเค่น (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่เผ็ดเกาหลี) ซองสีดำ เลขสารบบอาหาร 10-3-12535-5-0548 รุ่นการผลิตได้แก่ รุ่นวันที่ผลิต 25 NOV 21 วันหมดอายุ 25 NOV 22 และ รุ่นวันที่ผลิต 07 DEC 21 วันหมดอายุ 07 DEC 22  ทั้งนี้ อย.ได้อายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและกำลังพิจารณาการดำเนินคดีกับผู้นำเข้าพร้อมเตรียมขอความร่วมมือเรียกคืนสินค้าทุกชิ้นไม่เอาควบรวม ทรู-ดีแทค         17 ตุลาคม 2565 นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ปกป้องสิทธิผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยเจ้าของคลื่นความถี่และเป็นเจ้าของภาษีที่จ่ายเงินเดือนให้กับ กรรมการ กสทช. เนื่องจากอีกฝ่ายทำตัวไม่น่าไว้วางใจ ปัจจุบันยังไม่พบความชัดเจนต่อการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับใช้เล่ห์ทางกฎหมายปัดความรับผิดชอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องต่อ กสทช. ว่าผู้บริโภคเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะของประเทศ เงินทุกบาททุกสตางค์จากการทำธุรกิจภายใต้การใช้คลื่นความถี่ มีมูลค่าสามารถนำมาพัฒนาประเทศใช้เป็นสวัสดิการให้ประชาชน และเชื่อว่า กสทช.มีข้อมูลมากมาย เกี่ยวกับการควบรวบ ทรู-ดีแทค แต่ไม่สิ่งที่ไม่เชื่อคือ ใจ วิธีคิดและจิตสำนึกของบอร์ดกสทช.ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน         ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 ต่อกรณีควบรวมทรู ดีแทค โดยมีการสรุปว่าคณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง “รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมีหนึ่งคะแนนเสียง “งดออกเสียง”  ไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายลูกหนี้เรียกดอกเบี้ยคืนหรือไม่

        ฉบับนี้ขอพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงนี้  นั่นคือ “การกู้เงิน” อย่างที่เราทราบกันว่า พอเกิดโรคระบาดโควิด หลายคนตกงานขาดรายได้ แต่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม บางคนถึงขั้นต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในแต่ละวันและมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไปกู้เงินนอกระบบ ผลที่ตามมาคือ ถูกคิดดอกเบี้ยที่สูง เจ้าหนี้นอกระบบบางรายคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าเกินอัตราที่กฎหมายให้เรียกได้ กล่าวคือ  กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ  15 ต่อปี  หรือ  ร้อยละ  1.25  ต่อเดือน หากคิดเกินนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคยมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายทุกเดือนๆ ที่ถูกคิดเกินกฎหมายส่วนนี้ ลูกหนี้จะมีสิทธิเรียกคืนได้หรือไม่  ซึ่งศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่า เงินที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว ลูกหนี้เรียกร้องให้คืนไม่ได้และเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นกัน แต่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปหักกับเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อหักแล้วเงินต้นเหลือเท่าใด ลูกหนี้ก็รับผิดชอบหนี้เฉพาะส่วนที่เหลือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560         การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)         ดังนั้น หากท่านใดตกเป็นลูกหนี้นอกระบบ เราควรต้องรอบคอบโดยเก็บหลักฐานการชำระเงินส่วนดอกเบี้ยและเงินต้นแต่ละเดือนไว้ แนะนำให้โอนเข้าบัญชี ไม่ควรชำระเป็นเงินสด เพราะเจ้าหนี้จะไม่มีใบเสร็จหรือหลักฐานชำระหนี้ให้เรา เพื่อหากเกิดข้อพิพาทขึ้น เราจะได้มีหลักฐานต่อสู้ได้ว่าเงินดอกเบี้ยที่เราจ่ายไปนี้ ต้องนำไปหักเงินต้น จะอ้างว่าที่ผ่านมาเราจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 SMS ขอหักเบี้ยประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็ม

        บ่ายวันหนึ่งขณะที่คุณมธุรสกำลังนั่งดูละครโทรทัศน์เพลินๆ ก็ได้รับข้อความ SMS จากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งว่า จะมีการหักเงินเบี้ยประกันจำนวนหนึ่งจากบัญชีเงินฝากของคุณมธุรส เนื่องจากครบรอบปีที่ได้ทำประกันไว้         คุณมธุรสงงไปสักพักว่าฉันไปทำประกันภัยไว้เมื่อไร  แต่หลังจากนึกอยู่พักหนึ่งก็พอจะจำได้ว่า ช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ตนเองได้เคยเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็มกับธนาคารแห่งหนึ่งไว้ ซึ่งตอนทำบัตร พนักงานธนาคารได้ขายประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มให้กับตนด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนทำบัตรเอทีเอ็มเพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน คุณมธุรสได้สอบถามกับพนักงานว่า ขอทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาแบบไม่มีประกันพ่วงได้หรือไม่ ตอนนั้นพนักงานธนาคารได้อ้างว่า เพราะคุณมธุรสทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารไว้ จึงมีความจำเป็นต้องทำประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มด้วย โดยพนักงานได้แจ้งหักเบี้ยประกันปีแรกจากเงินในบัญชีของคุณมธุรสเลย แต่ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอะไรมาก บอกเพียงแต่ว่าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตก็จะได้เงินประกัน ด้วยความจำเป็นเพราะเป็นลูกหนี้ของธนาคาร คุณมธุรสจึงตกลงทำบัตรเอทีเอ็มแบบพ่วงประกันไป         เมื่อโดนการเตือนว่าจะมีการหักเงินเพื่อเป็นค่าเบี้ยสำหรับปีถัดไป คุณมธุรสรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมสักเท่าไรนัก เธอจึงโทรศัพท์มาปรึกษาว่าสามารถทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อยกเลิกการทำประกันภัย แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีนี้ พนักงานธนาคารไม่สามารถบังคับให้ผู้บริโภคทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต ที่พ่วงประกันได้ หากผู้บริโภคไม่ได้มีความประสงค์จะทำด้วยความสมัครใจ โดยผู้บริโภคมีสิทธิขอทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต แบบธรรมดา ซึ่งธนาคารควรมีบัตรแบบธรรมดาไว้ให้บริการ หากผู้บริโภคพบว่าพนักงานธนาคารบังคับให้ทำบัตรแบบที่พ่วงประกัน สามารถร้องเรียนไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) สายด่วน 1213 ได้         นอกจากนี้ พนักงานธนาคารที่ขายประกัน จะต้องมีใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย รวมถึงต้องชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองตามกรมธรรม์ให้กับผู้บริโภคทราบด้วย         หากผู้บริโภคต้องการขอยกเลิกประกัน หลังจากที่พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองอย่างละเอียดภายหลังแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามที่รับทราบมา ก็สามารถบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (15 หรือ 30 วัน กรณีทำผ่านทางโทรศัพท์) หรือตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หลังจากได้รับกรมธรรม์ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับเงินคืนตามจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2563

สมอ.ปรับแก้มาตรฐานคุมสารทาเลตในของเล่นเด็ก        สมอ. แก้ไขมาตรฐานของเล่น เพิ่มการตรวจหาสารทาเลตและคุมเข้มปริมาณสารโลหะหนัก พร้อมเตรียมกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่นให้มีความทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน  เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันของเล่นเด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ ทั้งนี้ มาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เช่น เพิ่มการตรวจสอบหาสารทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกในกลุ่มพีวีซีเพื่อให้เนื้อพลาสติกมีความอ่อนตัว สมอ.ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารทาเลตสำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบและของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1% โดยมวล และแก้ไขการตรวจหาสารโลหะหนัก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีการสัมผัสโดยตรงให้เข้มข้นขึ้น เช่น ฟิงเกอร์เพนต์ ซึ่งเป็นสีน้ำที่เด็กใช้มือสัมผัสโดยตรง ปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารหนูต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมกำหนดเกณฑ์สูงสุดมีได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นปี 2563          นักวิจัย มช. พบการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม         รศ.ดร.ภญ.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการผลของยาปฏิชีวนะต่อการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากส้มเขียวหวานสำหรับการผลิตอย่างแม่นยำ ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดตามปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินของเกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน โดยเกษตรกรใช้เพื่อแก้ปัญหาโรครากโคนเน่า ทั้งนี้แอมพิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคน แต่เกษตรกรจะหาซื้อตามร้านขายยาในรูปแบบแคปซูล และนำมาผสมน้ำฉีดพ่นเพื่อป้องกันแบคทีเรียในต้นส้ม          โดยผลการศึกษาในสวนส้ม 3 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ยังคงตรวจพบปริมาณสารปฏิชีวนะในลำต้นส้มในช่วง 90 วัน หลังฉีดสารปฏิชีวนะ ซึ่งแม้ว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลส้มในปริมาณที่ถือว่าน้อยมาก แต่แสดงให้เห็นว่ามีการตกค้างอยู่ในผลส้มจริง นอกจากนี้ยังพบว่า สวนส้มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานานมีความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียในดินน้อยมาก และยังพบเชื้อดื้อสารปฏิชีวนะในปริมาณสูงอีกด้วย         ข่าวปลอม ซึมเศร้า NCD เรื่องน่าห่วงสุขภาพคนไทย         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที Thaihealth Watch จับตาประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประเด็นที่น่าจับตาในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภัยคุกคามทางออนไลน์ อุบัติเหตุทางคมนาคม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์        โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเครียดเป็นอันดับ 1 มาจากปัญหาครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ส่วนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มาก ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ส่วนปัญหาอุบัติเหตุทางคมนาคม พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลง และพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชนจากมอเตอร์ไซค์ และแม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน         สำหรับประเด็นพฤติกรรมสุขภาพที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มวัยทำงาน คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน หรือ โรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด จากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มคนวัยทำงานเน้นการบริโภคอาหารรสจัด และเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด         นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาข่าวปลอม หรือ fake news เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่มีการแชร์กันมาก เช่น อังกาบหนูรักษามะเร็ง, น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง, หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค, บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค และปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงปัญหาขยะอาหาร หรือ อาหารส่วนเกินอีกด้วย          ธปท. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ด้วยมาตรการปรับ “ดอกเบี้ย - ค่าธรรมเนียม”                ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบนโยบายให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง ได้แก่          1) ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ จากเดิมที่คิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน และให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน          2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น โดยให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมถึงให้ชี้แจงแสดงรายละเอียดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรือ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ชัดเจน          3) ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้ผู้ใช้บริการ และการให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน หรือให้พิจารณาจัดเก็บตามความเหมาะสม        นอกจากนี้ ธปท.ยังขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 4 เรื่องไปปรับใช้ ได้แก่ 1) สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2) คำนึงถึงความสามารถในการชำระและไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร 3) ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4) เปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน              มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นเรื่อง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวสอบการต่อสัมปทานทางด่วนให้ BEM         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)         โดยมูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ ได้ให้เหตุผลว่า การต่ออายุสัมปทานดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์โดยการจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้นจนถึงปี 2578 อีกทั้งยังพบว่า กระบวนการต่ออายุสัมปทานมีการอ้างอิงมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องขึ้นจริงมาคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (2)

ความเดิมตอนที่แล้ว รัฐบาลได้ปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืนมีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี ส่วนสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เกินร้อยละ 15 ต่อปีดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน  “สถาบันการเงิน” ตามนิยามของ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย(2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์  (3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์  (4) สถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากฎหมายให้สิทธิ สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จาก      ผู้กู้ยืม ได้ที่ http://law.longdo.com/lawindex/%E0%B8%94ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลายนั้น เป็นการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย  “บัตรเครดิต” มีเงื่อนไขกำหนดว่า “การเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด จากผู้ถือบัตร เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี” และ “ห้ามคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ในการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่เบิกถอนนั้น”ในส่วนของ “สินเชื่อส่วนบุคคล” นั้น จะคิดดอกเบี้ย ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีสิทธิคิด ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้อีก แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจเช่าซื้อไม่ว่าจะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสินค้าอะไรก็ตามนั้น ไม่อยู่ในการกำกับ ดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแพ่ง มาตรา 654  ดังนั้น จึงมีนายทุนเงินกู้นอกระบบเจ้าเล่ห์ อาศัยช่องว่างของกฎหมายตรงนี้ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยอาศัยการทำสัญญาเช่าซื้อบังหน้า โดยทำทีว่า ลูกหนี้มาเช่าซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ ราคา 30,000 บาท ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 3,000 บาท แต่ไม่ได้มีการส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์กันจริง ๆ เมื่อเซ็นสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าหนี้ก็จะเอาเงินสดให้ลูกหนี้ 20,000 บาท หักไว้ 10,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ยล่วงหน้า เป็นธุรกรรมทำนาบนหลังคน ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกินอัตราอย่างชัดเจน ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ศาลยกขึ้นมาพิจารณาเองได้การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ศาลจึงมีอำนาจที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้เอง แม้ว่าลูกหนี้จะไม่ได้อ้างเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ในคดี ถ้าคุณเจอศาลที่ท่านเมตตาลูกหนี้   ให้ความเป็นธรรมพิพากษาไม่ให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยโหดก็ถือว่าโชคดีไป แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ควรเตรียมตัวทำคำให้การให้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้เขาคิดดอกเบี้ยคุณถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการตัดหนี้ดอกเบี้ยพวกนี้ออกไปจะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการปิดบัญชีปลดหนี้ไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (1)

“ ... การกู้ยืมนั้น โดยปกติผู้กู้ต้องการทุน เมื่อได้ทุนแล้วไปประกอบกิจการอันใดอันหนึ่งมีผลงอกงามขึ้น ก็แบ่งผลนั้นใช้เป็นดอกเบี้ยบ้าง เหลือรวบรวมไว้เพื่อใช้หนี้ทุนต่อไป ดังนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ก็ได้ดอกเบี้ยเป็นค่าป่วยการ และมีโอกาสที่จะได้รับใช้ทุนคืนในภายหลัง แต่ถ้าดอกเบี้ยเรียกแรงเกินไปแล้ว ลูกหนี้ได้ผลไม่พอที่จะใช้ดอกเบี้ยได้ ย่อมต้องย่อยยับไปด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย...”(ส่วนหนึ่งของคำแถลงการณ์ คณะกรรมการราษฎร เกี่ยวแก่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475  เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รัฐจึงต้องควบคุม ห้ามเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และถ้าฝ่าฝืนนอกจากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยแล้ว ยังจะมีโทษทางอาญาอีกด้วย ล่าสุด ได้มีการปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560)หลังจากกฎหมายฉบับแรกใช้มา 80 กว่าปีตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง   สาระสำคัญของกฎหมายยังคงเดิม คือ ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืน มีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ ที่แก้ไขปรับปรุงคือ เพิ่มโทษให้หนักขึ้น จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ส่วนโทษปรับจากเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เพิ่มเป็นปรับไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหนี้เรียกเก็บได้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 กำหนด ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าคิดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีสิทธิคิดดอกแม้แต่บาทเดียว  บุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยวิชัย หรืออาบัง ถ้าปล่อยเงินกู้ มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี หรือ 5 สลึงต่อเดือน แต่ที่ผ่านมาเจ้าหนี้นอกระบบพวกนี้ จะคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 240 ต่อปี เรียกว่าเป็นการขูดเลือดขูดเนื้อลูกหนี้อย่างแสนสาหัส กฎหมายน่ารู้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์          มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี...”          คำพิพากษาฎีกา ที่ 567/2536 เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้อัตราร้อย 19.5 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ข้อกำหนด อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียก ดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญา แล้วถ้าเกิดลูกหนี้ไม่รู้ข้อกฎหมาย เอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยซึ่งสูงเกินอัตราให้กับเจ้าหนี้ไปแล้วจะทำอย่างไร จะเรียกเงินคืนได้ไหม หรือ เอาดอกเบี้ยไปหักกับต้นเงินได้รึเปล่า  อันนี้บอกเลยว่า “เสียใจ จ่ายแล้วจ่ายเลย เรียกคืนไม่ได้” เพราะศาลถือว่าเป็น  การชำระหนี้โดยสมัครใจ จะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้  ...แต่ข่าวดี คือตอนนี้คุณรู้แล้วนะว่า เจ้าหนี้ทั่วไป คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีไม่ได้ ดังนั้น ต่อไป คุณจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดกฎหมายส่วนนี้  ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะมีประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะๆ ตามสภาพเศรษฐกิจฉบับหน้ามาลงรายละเอียดกันครับว่า เจ้าหนี้สถาบันการเงินแต่ละประเภทมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และคุณจะจัดการอย่างไร ถ้าพบว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 25601 เม.ย.ทำฟันประกันสังคมกับ รพ.รัฐไม่ต้องสำรองจ่าย 1 เมษายน 2560 นี้ ผู้ใช้สิทธิประกันสังคม สามารถเข้ารับบริการด้านทันตกรรมที่โรงพยาบาลรัฐ ทั้งโรงพยาบาลสังกัด สธ., สังกัดกระทรวงกลาโหม, สังกัดกทม. และ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ตามสิทธิ 900 บาท โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่วางกำหนดไว้วันที่ 1 ก.พ. เพื่อให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้มีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมแล้วกว่า 530 แห่ง และคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเพิ่มเป็น 800 แห่ง ทั้งนี้ก่อนรับบริการให้สังเกต “สติกเกอร์สัญลักษณ์ประกันสังคม” ที่จะติดไว้ที่คลินิกที่ร่วมโครงการ ซึ่งสามารถรับบริการโดยไม่ต้องสำรองจ่ายผู้ประกันตนที่พบปัญหาจากใช้บริการหรือพบคลินิกหรือสถานพยาบาลที่มีสติกเกอร์สัญลักษณ์ประกันสังคม แต่ยังมีการเรียกเก็บเงิน สามารถโทร.แจ้งเอาผิดได้ที่สวยด่วน สปส. โทร. 1506 คิดดอกเบี้ยเงินกู้โหด เจอโทษตามกฎหมายจากนี้ไปลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ไม่ต้องกังวลเรื่องเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยโหดอีกแล้ว เพราะล่าสุดได้มีการออกพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ กำหนดให้ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี หากกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดโทษไว้ว่าจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 3 พันบาทนอกจากนี้ในกฎหมายฉบับนี้ยังมีการระบุว่า ห้ามกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอันตราที่กฎหมายกำหนด หรือมีการระบุว่าจะเรียกรับประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของ หรือโดยวิธการอื่นใด จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงินเส้นก๋วยเตี๋ยวใช้สารกันบูดน้อยลง แต่ยังเจอเกินค่ามาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ได้ร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการก๋วยเตี๋ยวอนามัย โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการคือการควบคุมเรื่องการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียโดยมีการสุ่มตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 370 ตัวอย่าง ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนด 71 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 19.2 โดยพบกรดเบนโซอิค ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 10.6 - 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในเส้นก๋วยจั๊บ เส้นใหญ่ และเส้นผัดไทชนิดแห้ง ซึ่งค่ามาตรฐานที่อนุญาตให้พบคือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนกรดซอร์บิค พบประมาณร้อยละ 3.1 ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 102 - 414 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2550 พบว่า จำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนดลดลงจาก ร้อยละ 36 เหลือเพียง ร้อยละ 19.2 และปริมาณวัตถุกันเสียที่ตรวจพบสูงสุดลดลงจาก 17,250 เหลือเพียง 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังเกินกว่าค่ามาตรฐาน“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ชื่อนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) เตรียมเปลี่ยนชื่อโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ เป็น “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น แก้ปัญหาความเข้าใจผิด ของทั้งผู้ป่วย ญาติ และสถานพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนเรื่องสถานพยาบาลเรียกเก็บเงินจากการรักษาพยาบาลฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยโดยการใช้คำว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ก็เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า หมายถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตระดับสีแดง ซึ่งสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ทุกสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งหลักการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดงที่ กพฉ. กำหนด แบ่งเป็น 25 กลุ่มอาการ ดังนี้ 1.ปวดท้องบริเวณหลัง เชิงกราน และขาหนีบ 2.แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สัตว์ต่อย แอนาฟิแล็กซิส ปฏิกิริยาภูมิแพ้ 3.สัตว์กัด 4.เลือดออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ 5.หายใจลำบาก หายใจติดขัด 6.หัวใจหยุดเต้น 7.เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ มีปัญหาทางด้านหัวใจ 8.สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ 9.เบาหวาน 10.ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม11.ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกติทางตา หู คอ จมูก 12.คลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท อารมณ์ 13.พิษ รับยาเกินขนาด 14.มีครรภ์ คลอด นรีเวช 15.ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก 16.ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ 17.อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลัน 18.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 19.เด็ก กุมารเวช 20.ถูกทำร้าย 21.ไหม้ ลวกเหตุความร้อน สารเคมี ไฟฟ้าช็อต 22.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ 23.พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด 24.อุบัติเหตุยานยนต์ และ 25.อื่นๆ หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โทร. 1669ชัดเจน!!! ห้ามใช้ “โคลิสติน” ในฟาร์มสัตว์หลังจากมีข่าวว่ามีการตรวจพบฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายจังหวัดมีการใช้ยา “โคลิสติน” (Colistin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง เพราะทำให้เกิดการดื้อยาทั้งในคนและสัตว์เรื่องดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลกับผู้บริโภคไม่น้อย กรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่จัดการดูแลปัญหานี้โดยตรงก็ไม่รอช้าเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ด้วยความรวดเร็ว โดยได้ออกคำสั่ง “เรื่อง การควบคุมการใช้ยา Colistin ในฟาร์ม” ส่งตรงถึง “นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย” ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 800 คน โดยเนื้อหาสำคัญในประกาศ คือการสั่งห้ามสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสั่งหรือใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารหรือละลายน้ำให้สัตว์กินโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มต้องคัดกรองและตรวจสอบอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงสัตว์จะต้องไม่มียาโคลิสตินผสมอยู่ โดยให้มีการเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ส่งตรวจเพื่อพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะแต่ก็ยังผ่อนปรนให้สามารถใช้ยาโคลิสตินได้ ในกรณีที่สัตว์ป่วยแล้วไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดใช้แล้วได้ผล“ยาโคลิสติน” เป็นยาปฏิชีวะที่นิยมใช้รักษาหมูท้องร่วงจากเชื้อแบคทีเรีย “อี.โคไล” แต่เมื่อปีที่แล้วมีข่าวว่าจีนพบหมูและคนดื้อยาโคลิสตินจากฟาร์มหมูชนิดข้ามสายพันธุ์ได้ หรือ “ยีนเอ็มซีอาร์-วัน” ที่สามารถส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาสู่คน และยังถ่ายทอดไปยังเชื้อโรคตัวอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ได้อีกด้วย ขณะนี้มีรายงานการพบยีนดื้อยาตัวนี้ในมนุษย์ หมู และไก่ ช่วงปี 2010–2015 จำนวนทั้งสิ้น 16 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 เงินฝากดอกเบี้ยสูง... แค่จูงใจหรือได้จริง!?

 การฝากเงินกับธนาคารของใครหลายคนอาจไม่ใช่เพียงแค่การออมเงิน แต่เป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับเงินที่นำไปฝาก ด้วยผลกำไรที่ได้จาก “ดอกเบี้ย”  การฝากเงินไว้กับธนาคารแล้วปรารถนาดอกเบี้ยสูงแทบเป็นไปได้น้อยในบัญชีประเภท ออมทรัพย์ ดังนั้นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เลือกฝากกับ “บัญชีเงินฝากประจำ” ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา แถมช่วงนี้กระแสฝากเงินรับดอกเบี้ยสูงกำลังมาแรง ธนาคารหลายเจ้าใช้กลยุทธ์ดึงดูดใจลูกค้าด้วยตัวเลขดอกเบี้ยสูงปี๊ด แบบที่ใครเห็นก็ต้องตะลึง รู้สึกใจเต้นตึงตัง อยากควักเงินจากกระเป๋าเอาไปเข้าบัญชีแบบเดี๋ยวนั้นทันที   สงครามเงินฝากดอกเบี้ยสูง!!!  ช่วงนี้แต่ละธนาคารกำลังทำสงครามแย่งชิงเม็ดเงิน (ฝาก) จากลูกค้ากันอย่างหนัก โดยต่างก็ชูเรื่องเงินฝากดอกเบี้ยสูงมาเป็นจุดขาย ซึ่งส่วนใหญ่เลือกใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ย 7% มาเป็นตัวเรียกแขก ให้หลายคนเกิดแรงบันดาลใจหันมาออมเงินกันวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า ไม่ว่าจะเป็น ธ.นครหลวงไทย กับโปรโมชั่นเงินฝากประจำพิเศษ super grow up 10 เดือน, ธ.ไทยพาณิชย์ เงินฝากประจำดอกเบี้ยก้าวกระโดด 11 เดือน, ธ.กสิกรไทย เปิดบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยพุ่งพรวด 13 เดือน ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อนที่ 7.50% หรือแม้แต่ ธ.ออมสิน ก็มีเงินฝากประจำ 11 เดือน ให้ดอกเบี้ย 7% เป็นทางเลือกให้กับคนที่อยากฝากเงินไว้กินดอก  ลองมาดูกันหน่อยสิว่าแต่ละธนาคารใช้โปรโมชั่นอะไรมาจูงใจคนที่รักการออมอย่างเรากันบ้าง   ธ.นครหลวงไทย เงินฝากประจำพิเศษ super grow up 10 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 6 = 2.00%เดือนที่ 7 – 8 = 2.50%เดือนที่ 9 - 11 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.10% เงื่อนไข-ต้องมีสมุดบัญชีคู่ฝากอีกหนึ่งบัญชี-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท ไม่จำกัดวงเงิน-จ่ายดอกเบี้ย 3 ครั้ง เดือนที่ 6 เดือนที่ 8 และเดือนที่ 10-ฝากไม่ครบ 6 เดือนไม่ได้ดอกเบี้ย-บัญชีไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ-หากจะถอนต้องถอนทั้งยอดฝาก ยอดฝากใดก็ได้----------   ธ.กสิกรไทย เงินฝากประจำดอกเบี้ยพุ่งพรวด 13 เดือน ดอกเบี้ย 7.50%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 3 = 2.00%เดือนที่ 4 – 6 = 2.50%เดือนที่ 7 – 9 = 3.25%เดือนที่ 10 – 11 = 5.75%เดือนที่ 12 – 13 = 7.50%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.827%เงื่อนไข-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท-จ่ายดอกเบี้ยเดือนที่ 3 เดือนที่ 6 เดือนที่ 9 เดือนที่ 11 และเดือนที่ 13-ผู้ฝากต้องมีบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวันอีกหนึ่งบัญชี เพื่อใช้ผูกกับบัญชีใหม่ไว้สำหรับรองรับการโอนดอกเบี้ยตามช่วงเวลาที่ครบกำหนด-ถ้าถอนเงินก่อนครบกำหนด จะได้รับดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี-ถ้าถอนเงินต้นบางส่วนก่อนครบกำหนด เงินต้นส่วนที่เหลือเมื่อฝากจนครบกำหนดยังคงได้รับดอกเบี้ยตามปกติ-----------    ธ.ไทยพาณิชย์ เงินฝากประจำดอกเบี้ยก้าวกระโดด 11 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 4 ดอกเบี้ย 2%เดือนที่ 5 – 8 ดอกเบี้ย 3%เดือนที่ 9 – 11 ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.727% ต่อปีเงื่อนไข-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท ฝากครั้งต่อไปขั้นต่ำ 1,000 บาท-ไม่จำกัดวงเงินสูงสุด -ฝากไม่ครบ 3 เดือน ไม่ได้รับดอกเบี้ย-ฝากเกิน 3 เดือน แต่ไม่ครบ 11 เดือน จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับบัญชีออมทรัพย์ ------------   ธ.ทหารไทย เงินฝากประจำ Up & Up 24 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 6 = 2.00%เดือนที่ 7 -12 = 3.00%เดือนที่ 13 – 18 = 4.00%เดือนที่ 19 – 24 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.1875% ต่อปีเงื่อนไข-เปิดบัญชีครั้งแรกและการฝากครั้งต่อไปกำหนดขั้นต่ำที่ 25,000 บาท -จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนพร้อมหักภาษี ณ ที่จ่าย-ถอนเงินก่อนครบกำหนดต้องถอนเต็มจำนวนเงินของแต่ละรายการที่ฝาก คิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาฝากในเดือนที่ถอน-ถอนเงินได้เฉพาะกับสาขาที่เปิดบัญชีไว้เท่านั้น และต้องมีสมุดคู่ฝากด้วย------------------------------   ธ.ออมสิน เงินฝากประจำ 11 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 3 = 2.50%เดือนที่ 4 – 6 = 3.00%เดือนที่ 7 – 9  = 3.50%เดือนที่ 10 – 11 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.7273% เงื่อนไข -ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท -คิดดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาฝาก-ฝากไม่ครบ 3 เดือน ไม่ได้รับดอกเบี้ย-ฝากครบ 3 เดือน แต่ไม่ครบ 11 เดือน คำนวณดอกเบี้ยให้ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 11 เดือน ตามระยะเวลาที่ฝากไว้จริง-ไม่สามารถถอนบางส่วนของเงินฝากแต่ละรายการได้ ให้ถอนปิดทั้งรายการฝากนั้น-ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ หรือค้ำประกันบุคคลได้--------   ความจริงในเลข 7 ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ย 7% ต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ยิ่งถ้านำไปเทียบกับดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากประจำแบบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน ที่ได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 3.75% ต่อปี (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) ยิ่งกับบัญชีออมทรัพย์ธรรมดายิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะคิดดอกเบี้ยให้แค่ปีละ 0.75% เท่านั้น  ดอกเบี้ย 7% ที่ธนาคารนำมาเป็นจุดขายยั่วใจให้เรายอมควักเงินไปนอนนิ่งๆ อยู่ที่ตู้เซฟของธนาคาร ในความเป็นจริงแล้วเรา 7% ที่ว่าอาจเป็นแค่ตัวเลขลวงตา เพราะเมื่อมาพิจารณาในเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารกำหนดไว้จะพบว่าดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจริงๆ อาจได้ไม่ถึง 7% เนื่องจากบัญชีเงินฝากที่บอกว่าจะคิดดอกเบี้ยให้เราสูงถึง 7% ต่อปีนั้น   จะใช้หลักการคิดดอกเบี้ยแบบขั้นบันได หมายถึงดอกเบี้ยจะมีการเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการฝากตามแต่ที่เงื่อนไขของบัญชีเงินฝากนั้นๆ จะกำหนดไว้ เช่น 10 เดือน หรือ 11 เดือน โดยในช่วง 3 เดือนแรก เราจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินอยู่ที่ประมาณ 2 – 3% ต่อปี   หลังจากนั้นมูลค่าของดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาของการฝาก 6 เดือน 8 เดือน จนในช่วงเดือนท้ายๆ เราถึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7% เมื่อเฉลี่ยตลอดช่วงเวลาการฝากเงินเราจะได้รับดอกเบี้ยสุทธิจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 3 – 4% เท่านั้น   ซึ่งตัวเลขนี้ก็ยังไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิจริงๆ ที่เราได้ เพราะดอกเบี้ยที่ทางธนาคารแจ้งกับเรานั้นเป็นดอกเบี้ยที่เฉลี่ยต่อปี แต่บรรดาบัญชีเงินฝากประจำให้ดอกเบี้ยสูงทั้งหลายที่แต่ละธนาคารส่งมาประชันกันนั้นถือเป็นบัญชีแบบพิเศษ คือจะเป็นการเปิดให้ฝากในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นและอายุของบัญชีที่ใช้คิดปันผลดอกเบี้ยของบางบัญชีก็ไม่ถึง 1 ปี ซึ่งนั่นก็ทำให้ตัวเลขดอกเบี้ยเฉลี่ยที่แจงไว้ก็ต้องลดลงไปอีกเมื่อถึงเวลาที่คิดยอดรวม แถมยังต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยที่ได้รับอีกด้วย ------------------------------------------------------   วิธีการคำนวณหาดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้จริงๆ จากการฝากเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง  หลายคนอาจจะคิดว่าการคำนวณหาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเป็นเรื่องยาก เห็นตัวเลขมากๆ แล้วอาจจะตาลาย แต่ความจริงแล้วการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากนั้นง่ายนิดเดียว  สูตรที่ใช้ในการคำนวณก็คือ ระยะเวลาการฝาก × อัตราดอกเบี้ย ÷ ด้วย 12 ซึ่งก็จำนวนเดือนใน 1 ปี  ตัวอย่างธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7% ระยะเวลาการฝาก 10 เดือน โดยคิดดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได แบ่งการจ่ายเป็น 3 ครั้ง ช่วงเดือนที่ 1 – 5 ให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เดือนที่ 6 – 8 ให้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี และในเดือนที่ 9 – 10 ให้ดอกเบี้ย 7% ต่อปี ถ้าสมมุติว่าเรามีเงินต้นอยู่ 10,000 บาท เราก็จะสามารถคิดดอกเบี้ยจริงด้วยการคำนวณดังต่อไปนี้ เดือนที่ 1 – 5 ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี = 2.00 คูณ 5 หาร 12 = 0.83% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ใน 5 เดือนแรกเดือนที่ 6 – 8 ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี = 3.00 คูณ 3 หาร 12 = 0.75% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ใน 3 เดือนต่อมาเดือนที่ 9 – 10 ให้ดอกเบี้ย 7.00% ต่อปี = 7.00 คูณ 2 หาร 12 = 1.16% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ในอีก 2 เดือนต่อมา รวมฝากเงิน 10 เดือนจะได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.74% ไม่ใช่ 7% อย่างที่ธนาคารโฆษณาไว้ ------------------------------------------------------   เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเงินฝากประจำพิเศษดอกเบี้ยสูง  -ต้องดูที่ดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการฝาก อย่าเชื่อตัวเลขดอกเบี้ยที่ธนาคารเอามาโฆษณา ซึ่งดอกเบี้ยเฉลี่ยจะมีการแจ้งไว้ในเงื่อนไขรายละเอียดจากคิดดอกเบี้ยอยู่แล้ว  -เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงให้ดอกเบี้ยสูงกว่าในระยะเวลาที่สั้นกว่า ถ้าเทียบกับเงินฝากประจำทั่วไป  -แม้การฝากประจำระยะยาวจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากระยะสั้นหรือฝากแบบออมทรัพย์ แต่ก็ส่งปัญหาต่อสภาพคล่องของผู้ฝาก เพราะไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้สะดอก ถ้ามีการถอนก็จะมีการปรับลดดอกเบี้ยทันที แถมยังอาจเสียสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หากในอนาคตข้างหน้าเกิดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดก่อนถึงวันที่ครบกำหนดฝาก  -เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงฝากขั้นต่ำที่ 1 หมื่นบาท ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการฝาก ส่วนเงินฝากประจำทั่วไปดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามวงเงินฝาก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเป็นวงเงินที่สูงมากระดับหลายล้านบาท  -อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยบัญชีฝากประจำ 3 เดือนอยู่ที่ 1.50 – 3.45% ต่อปี, 6 เดือนอยู่ที่ 1.70 – 3.50% ต่อปี, 12 เดือนอยู่ที่ 1.90 -3.75% ต่อปี และ 24 เดือนอยู่ที่ 2.40 – 4.45% ต่อปี (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย)-เงินฝากประจำที่มีการแบ่งจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในรอบระยะเวลาการฝากแต่ละประเภท ถ้าผู้ฝากถอนเงินก่อนครบกำหนด โดยธนาคารได้มีการแบ่งจ่ายดอกเบี้ยไปแล้ว ธนาคารจะดำเนินการเรียกคืนดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้วคืนตามสัดส่วนที่คำนวณจากยอดเงินต้น และไม่คืนภาษีเงินที่ได้เสียไปแล้ว ------------------------------------------------------  พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก  พ.ร.บ ที่จะช่วยให้อุ่นใจว่าเงินที่เราฝากไว้มีคนคอยดูแล หากวันหนึ่งธนาคารที่เราฝากเงินไว้เกิดเรื่องไม่คาดฝันถูกปิดกิจการ เงินของเราจะได้รับการคุ้มครอง ทั้งเงินฝากประเภทออมทรัพย์ กระแสรายวัน เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับเงินฝากที่เป็นเงินบาท เฉพาะของธนาคารพาณิชย์  สำหรับวงเงินที่ได้รับการคุ้มครองตามประกาศของ พ.ร.บ. คือ11 ส.ค.53 – 10 ส.ค. 54 คุ้มครองเต็มจำนวนเงินฝาก11 ส.ค.54 – 10 ส.ค.55 คุ้มครองไม่เกินวงเงิน 50 ล้านบาท11ส.ค.55 เป็นต้นไป คุ้มครองไม่เกินวงเงิน 1 ล้านบาท  (*หลังจาก 11ส.ค.55 ถ้าหากมีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท เงินส่วนที่มาต้องรอการชดเชยจากการขายทรัพย์สินของธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ) ------------------------------------------------------ เงินฝากประเภทอื่นๆ ที่น่าสนใจ  เงินฝากทวีทรัพย์ ดอกเบี้ย 3% ต่อปี (ธ.กสิกรไทย)วงเงินฝาก 1,000 – 25,000 บาท โดยต้องฝากเงินเท่าๆ กันทุกเดือนติดต่อกัน 24 เดือน ถึงจะได้รับดอกเบี้ย 3% ต่อปี แถมยังได้ดอกเบี้ยพิเศษอีก 2.50% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ในความพยายามที่สามารถฝากมาจนครบ 2 ปี แต่ถ้าขาดฝากแค่ 1 งวด ก็จะถูกปรับให้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% ต่อปี)  เงินออมปลอดภาษี ดอกเบี้ย 3.35% ต่อปี (ธ.นครหลวงไทย)ข้อดีคือไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ต้องทำตามเงื่อนไขคือ ฝากเงินจำนวนเท่าๆ กัน ติดต่อกันทุกเดือน นาน 24 เดือน หรือ 36 เดือน โดยถ้าฝากครบตามกำหนดจะมีโบนัสดอกเบี้ยเพิ่มให้ ฝาก 24 เดือนจะได้ดอกเบี้ยเพิ่มอีก 5% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ส่วน 36 เดือนจะได้เพิ่มอีก 6 % ของดอกเบี้ยที่ได้รับ สำหรับวงเงินในการฝากกำหนดไว้ที่ 500 – 600,000 บาท แต่ถ้าฝากช้าเกิน 2 ครั้งจะถูกตัดสิทธิการเป็นบัญชีปลอดภาษี และห้ามถอนเงินจนกว่าจะครบกำหนดฝาก  เงินฝากไม่ประจำ ทีเอ็มบี ดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี (ธ.ทหารไทย)ไม่จำกัดวงเงินในการฝาก จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง แต่ว่ามีข้อห้ามหลายอย่าง ทั้งไม่สามารถใช้บัตร ATM หรือบัตรเดบิตไม่ได้ ใช้ชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ได้ แถมถ้าถอนเงิน โอนเงินที่เคาน์เตอร์ของธนาคารมากกว่า 2 ครั้งใน 1 เดือน ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายการละ 50 บาท แต่ทำผ่านระบบออนไลน์ไม่เสียค่าธรรมเนียม   ออมทรัพย์ฟรีค่าธรรมเนียม  ดอกเบี้ย 0.75% ต่อปี (ธ.ทหารไทย)บัญชีเงินฝากประเภทนี้แม้จะให้ดอกเบี้ยเท่ากับบัญชีออมทรัพย์ทั่วๆ ไป แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่สามารถใช้ทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทำให้สามารถช่วยประหยัดเงินในบัญชีได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมผ่านเครื่อง ATM ผ่านะระบบอินเตอร์เน็ท ผู้ถือบัญชีนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าธรรมเนียมจากการผ่อนซื้อสินค้าโดยการหักบัญชี และค่ารักษาบัญชี แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องมีเงินอยู่ในบัญชีไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาท ไม่งั้นจะถูกหักค่าธรรมเนียมเดือนละ 50 บาท (อ้าว!ไหนว่าฟรีค่าธรรมเนียม)-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  ***หมายเหตุ: อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่ระบุในบทความ มาจากประกาศล่าสุดของแต่ละธนาคารในเดือน กรกฎาคม 2554 ตัวเลขอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามประกาศอื่นๆ ในอนาคต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 178 กระแสต่างแดน

ผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่แห่งปี Shonkys 2015มาถึงปีที่ 10 แล้วสำหรับการประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่แห่งปี 2015 โดยสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์นิตยสาร CHOICE รางวัลนี้ได้มาไม่ยาก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเขาคัดเลือกจากสินค้าและบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างหน้ามึน ตั้งแต่การกล่าวอ้างที่ไม่เป็นจริง ตัวสินค้า/บริการตกมาตรฐาน หรือการดำเนินงานโดยปราศจากความโปร่งใส เป็นต้น … มาดูกันเลยดีกว่า ว่าปีนี้ใครได้รางวัลนี้ไปเชยชมกันบ้าง   “บัตรเครดิตดอกเบี้ยต่ำ” (ที่ดอกเบี้ยสูงมาก) ผู้บริโภคพึงสังวร อย่าได้หลงเชื่อคำว่า “ดอกเบี้ยต่ำ” ของธนาคารรายใหญ่อย่าง National Australia Bank หรือ NAB เด็ดขาด ในภาพรวมนั้นอัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียลดลงจากร้อยละ 4.75 เมื่อ 4 ปีก่อน ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2 ในปัจจุบัน แต่พฤติกรรมของ NAB กลับสวนกระแส ใช้ช่วงชุลมุนเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อปีของบัตรเครดิตจากร้อยละ 12.99 เป็นร้อยละ 13.99 จะว่าไปเขาก็สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่มันสร้างความคับข้องใจให้กับผู้บริโภคนี่สิ ... อัตราดอกเบี้ย “ต่ำ” ของเขานี่มันต่ำยังไง เมื่อธนาคารเจ้าเล็กๆเขาคิดไม่เกินร้อยละ 10 คุณต้องทำใจนะ ถ้าอยากอยู่กับเจ้าใหญ่ที่ถือเป็นบิ๊กโฟร์ (อีก 3 ธนาคารได้แก่ Westpac Commonwealth Bank และ Australia and New Zealand Banking Group) เพราะเฉลี่ยแล้วดอกเบี้ยของหนี้จากบัตรเครดิตของธนาคารทั้ง 4 นี้ สูงถึงร้อยละ 18.98 เลยเชียว     หลอกคุณพ่อคุณแม่แน่นอนกว่า ขนมขบเคี้ยวที่คุณจะเลือกให้ลูกน้อยต้องมีความดีงามตามสมควรใช่หรือไม่ แล้วถ้าเรามีบิสกิตพร้อมตรา “รับรองโดยโรงอาหารของโรงเรียน” มันก็น่าจะไม่มีทางผิดพลาด ... รึเปล่า?!! ตราที่ว่านี้พบได้บนซองขนมไทนี่ เทดดี้ ของอาร์น็อต บริษัทอ้างว่าตรานี้จะช่วยให้พ่อแม่ตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น แต่คำถามคืออาร์น็อตไปได้การรับรองนี้จากที่ไหน? ไม่มีหลักฐานว่าโรงอาหารของโรงเรียนใดให้การรับรองที่ว่าเลย ที่มีแน่ๆ คือคำแนะนำเรื่องการจัดอาหารในโรงเรียนที่ระบุว่า ขนมทุกชนิดรวมถึงช็อคโกแล็ตชิพและขนมเคลือบช็อคโกแลตนั้นให้ถือว่าเป็นของหวาน ซึ่ง “ไม่แนะนำให้มีในเมนูอาหารของโรงเรียน” เรื่องนี้ถึงหูหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ACCC แล้ว ล่าสุดอาร์น็อตประกาศว่าจะยกเลิก ตราประทับเก๊ๆ ดังกล่าวภายในกลางปี 2016   รีดเลือดกับปู เมื่อเงินไม่พอใช้ คนออสซี่บางคนเลือกใช้บริการบริษัทเงินกู้ แต่ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และค่าโน่นนี่สารพัด มันไม่ช่วยกอบกู้สถานการณ์การเงินเอาเสียเลย ถ้าเรายืมเงิน 250 เหรียญ ระยะเวลายืม 2 สัปดาห์ เราจะต้องใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยที่คิดเป็นอัตราร้อยละ 742 ต่อปี เอิ่ม ... แล้วจะกู้มาให้ปวดหัวทำไม โชคดีที่รัฐบาลประกาศห้ามการคิดดอกเบี้ยแบบนี้แล้ว ตั้งแต่มีนาคม 2013 เป็นต้นมาออสเตรเลียประกาศห้ามการให้กู้ในวงเงินไม่เกิน 2,000 เหรียญ ที่มีระยะเวลาจ่ายคืนภายใน 15 วัน และให้จำกัดค่าธรรมเนียมที่ไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่กู้ รวมถึงการคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 ต่อเดือน แต่ผู้ประกอบการใช่จะยอมถอยไปง่ายๆ อัจริยะทางการเงินเหล่านี้หันมาให้กู้ 100 เหรียญ ในระยะเวลา 16 วัน ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว คุณยังต้องใช้คืนถึง 124 เหรียญ   ลูกบอลขยัน แต่มันไม่ช่วยขยี้CHOICE ฟันธง! ลูกบอลนาโนสมาร์ตที่อ้างว่าจะมา “ปฏิวัติวิธีซักผ้าของคุณ” และปลดแอกคุณจากเทคโนโลยีแสนโบราณอย่างผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มนั้น ... มันไม่เวิร์คการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการของ CHOICE พบว่า มันทำอะไรไม่ได้เลย ... ยิ่งกว่านั้น เมื่อเทียบกันแล้วเขาพบว่า ผ้าที่ซักด้วยเครื่องซักผ้าที่มีเพียงน้ำเปล่า ยังสะอาดกว่าตอนที่ใส่ลูกบอลราคา 50 เหรียญนี้ลงไปเสียอีก แล้วเจ้า “ไบโอเซรามิกส์” ในลูกบอลมันไปทำอะไรอยู่ที่ไหน ไม่มาปล่อยแสงอินฟราเรด หรือยิงประจุลบลดขนาดโมเลกุลของน้ำให้มันเล็กจนชอนไชไปจัดการคราบสกปรกในเนื้อผ้าได้ … ดังที่โฆษณา   เครื่องซักผ้าไฟแรงรู้กันหรือยัง ว่าเครื่องซักผ้าอาจทำให้ไฟไหม้บ้านได้ ก่อนซื้อย่าลืมตรวจสอบว่ารุ่นที่คุณสนใจนั้นอยู่ในรายชื่อที่ถูกเรียกคืนหรือเปล่า แต่ถ้าบริษัทไม่ยอมประกาศเรียกคืนสินค้า แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะทำอย่างไร ที่แน่ๆ CHOICE ขอมอบรางวัลเยี่ยมแย่ให้กับซัมซุง โทษฐานที่อิดออดเป็นนานกว่าจะยอมเรียกคืนเครื่องซักผ้าฝาบนที่มีความเสี่ยงเกิดไฟไหม้จำนวน 144,000 เครื่องออกจากตลาดออสเตรเลีย จะว่าไม่รู้ก็คงไม่ใช่ นับถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดปัญหากับเครื่องซักผ้าของซัมซุง 224 ครั้ง ในจำนวนนั้นบริษัทระบุว่าเป็นปัญหาไฟไหม้ถึง 76 ครั้ง ... เอิ่ม .. แต่เขากลับไม่ได้แจ้งต่อผู้บริโภคในช่องทางที่จะทำให้เกิดการรับรู้อย่างแพร่หลาย แถมยังผลักภาระค่าซ่อม ค่าอะไหล่กลับมาที่ผู้บริโภคอีกด้วย สุดท้าย หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ACCC ใช้อำนาจบังคับให้บริษัทรับซื้อเครื่องซักผ้าไฟแรงพวกนั้นคืนไป   หนังที่ไม่ใช่หนังถ้าคุณดูแคตาล็อคเฟอร์นิเจอร์ของอิเกีย หมวด “เฟอร์นิเจอร์หนัง” คุณจะพบว่ามีไม่น้อยเลยที่ทำจากวัสดุโพลีเอสเตอร์หรือโพลียูรีเทน เฉลยนั้นมีอยู่เป็นตัวเล็กๆ ภายใต้หัวข้อ “ข้อมูลผลิตภัณฑ์” ตัวอย่างเช่น โซฟารุ่นหนึ่งระบุว่า “สินค้ารุ่นนี้ทำจากวัสดุผ้าเคลือบที่มีความทนทาน ที่มีรูปลักษณ์และผิวสัมผัสคล้ายหนัง” หลังจากได้ทราบว่าตนเองเข้าข่ายผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลยอดแย่ บริษัทก็ได้ปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงแล้ว   มันต้องลดโค้กสิปีที่แล้ว โคคา โคลา ออสเตรเลีย มีกำไรลดลงจากสองปีก่อนหน้า ทำให้บริษัทต้องลงมือกอบกู้สถานการณ์โดยด่วน และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่บริษัทเข้าไปเป็นผู้สนับสนุน “เครือข่ายความสมดุลในการใช้พลังงาน” Global Energy Balance Network (GEBN) ที่อุทิศตนเพื่อหยุดยั้งภาวะโรคอ้วน ... แต่ไม่ใช่ด้วยการทำให้ผู้คนเลิกนิสัยการกินที่ไม่ดี (เช่น บริโภคเครื่องดื่มรสหวานมากเกินไป) หรอกนะ เขารณรงค์เรื่องการใช้พลังงานให้สมดุลกับสิ่งที่บริโภคเข้าไป ทำนองว่ากินหวาน กินมากไม่เป็นไร แค่ต้องใช้แรงออกไปให้มากพอกันเป็นใช้ได้ เ พื่อเห็นแก่ “วิทยาศาสตร์” แบบเข้าข้างตัวเอง CHOICE เลยแจกรางวัลนี้ให้   กดไม่ลง พอเข้าใจได้ถ้าคุณจะทิ้งทิชชูเปียกสำหรับเด็กลงชักโครก เพราะฉลากของคลีเน็กซ์เขาระบุว่า “สามารถกดลงชักโครกได้” คือ ... คุณจะทิ้งก็ได้ แต่บอกเลยว่ามันไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนั้น และมันจะสร้างความขุ่นเคืองให้ช่างประปาแถวบ้านคุณมิใช่น้อย ทิชชูเปียกพวกนี้ นอกจากจะไม่เป็นมิตรต่อท่อน้ำทิ้งแล้ว มัยยังไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อสินค้าชนิดกดลงชักโครกได้ ที่ไม่ควรนำมากดลงชักโครก แล้วถ้าท่อเกิดตันขึ้นมา ใครจะเป็นคนจ่ายเงินค่าเรียกช่าง? คนออสซี่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำให้พวกเขาเสียเงินไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเหรียญ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระแสต่างแดน

Shonky Award 2014 เข้าสู่ปีที่ 9 แล้วสำหรับรางวัลช้องค์กี้ หรือรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี ที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียจัดเป็นประจำตั้งแต่ปี 2006  มาดูกันว่าปีนี้มีใครได้รางวัลนี้ไปครอบครองให้อับอายกันบ้าง   Commonwealth Bank of Australia รายแรกคือธนาคารคอมมอนเวลท์ ที่ดำเนินธุรกิจได้แสบสันคันจิต ปีที่ผ่านมามีลูกค้าหลายพันคนเอาเงินฝากไปลงทุน โดยผ่านการแนะนำของเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วก็ขาดทุนย่อยยับในที่สุด เมื่อทางการเข้ามาสอบสวนก็พบว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนนั้นจงใจนำเสนอบริษัทที่ “ให้ผลกำไรดี” (จากการคำนวณแบบมึนๆ ของเขาหรือเธอ) เมื่อความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ลูกค้าก็รับเคราะห์ไปเต็มๆ ในขณะที่คนที่แนะนำได้โบนัสไปเรียบร้อย เพื่อรักษาหน้าธนาคารรีบทำโฆษณาออกมาขอโทษลูกค้า แต่เบื้องหลังนั้นธนาคารยังคงแอบไปล็อบบี้คัดค้านการกำกับดูแลเรื่องการให้ข้อมูลการลงทุนกับผู้บริโภค ... แหม่ แต่ที่เด็ดสุดคือการออกมาแถลงผลประกอบการว่ามีกำไรถึง 8,000 ล้านเหรียญนี่สิ   Bankwest รายต่อไปเป็นธนาคารแบงค์เวสต์ ซึ่งอ้างว่าต้องการส่งเสริมให้เด็กรักการออม โครงการเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็กจึงเกิดขึ้น โดยเด็กๆ มาฝากกันได้ด้วยเงินฝากขั้นต่ำเพียง 25 เหรียญต่อเดือน แต่ที่ไม่ได้บอกคืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.75 นั้นจะใช้เฉพาะช่วง 12 เดือนแรก และถ้าเดือนไหนมีการถอนเงินออกมาใช้ อัตราดอกเบี้ยในเดือนนั้นก็จะหดเหลือร้อยละ 0.01 และในปีต่อไปถ้ามีเงินในบัญชีน้อยกว่า 3,000 เหรียญ เด็กก็จะได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ธนาคารให้เหตุผลว่าทำแบบนี้เพื่อที่เด็กๆ จะได้ตื่นเต้น อยากเริ่มเก็บเงินใหม่ทุกปียังไงล่ะ องค์กรผู้บริโภคเขาแซวว่านี่ไม่ใช่การปลูกฝังนิสัยการออมให้เด็กแล้ว ... มันเป็นการสอนพวกเขาให้รู้จักเล่ห์เหลี่ยมของธนาคารมากกว่า   S-26 Gold ไหนๆ ก็พูดถึงเด็ก ขอแวะมาที่ผลิตภัณฑ์ช้องค์กี้รายต่อไป ได้แก่ เอส 26 โกลด์ นมผงสำหรับเด็กวัยหนึ่งขวบ/สองขวบขึ้นไป ที่อ้างซ้ำไปซ้ำมาในโฆษณาว่าช่วยให้ลูกน้อยของคุณได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน นักโภชนาการให้คำแนะนำว่าเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปที่มีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องดื่มนมนี้ก็ได้ เพราะเป็นช่วงที่เด็กต้องลดการกินอาหารเหลว แล้วเริ่มหัดกินอาหารที่ต้องเคี้ยวตามพัฒนาการขั้นต่อไปของพวกเขา แต่แบรนด์นี้ก็ยังทำตลาดกับบรรดาพ่อแม่ที่กังวลว่าลูกจะ “ได้สารอาหารไม่ครบ” ต่อไป และยังเดินหน้ารังสรรค์ผลิตภัณฑ์สำหรับพ่อแม่เหล่านี้ออกมาอีกหลายตัวเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนมผงสำหรับเด็กในออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญ ... ผู้ปกครองก็เป็นเหยื่อโฆษณาไม่แพ้เด็กนะนี่   บิสกิต Tim Tam ตามด้วยขนมที่กินกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างบิสกิตทิมแทม คราวนี้บริษัทอาน็อทเปิดตัวทิมแทม “กลิ่นเนยถั่ว” เมื่อเปรียบเทียบข้อความและรูปประกอบบนบรรจุภัณฑ์ กับส่วนประกอบแล้วคุณอาจจะงงนิดหน่อย เพราะไม่มี “เนยถั่ว” อยู่ในรายการ มีแต่ผงปาปริกาและสีผสมอาหารสี “คาราเมล” แต่นั่นยังไม่หมด ด้วยราคาเดียวกันและขนาดที่เท่ากันกับทิมแทมรสดั้งเดิม ในซองของเจ้าทิมแทมรสใหม่นี้จะมีปริมาณขนมน้อยลงจากเดิม 35 กรัม หรือ 2 ชิ้นอีกด้วย...     ชุดว่ายน้ำ Kmart กินขนมแล้วมาออกกำลังกายกันบ้าง คนออสซี่ที่รักการไปเที่ยวชายหาดหรือไปว่ายน้ำในสระ อาจมีเรื่องตกตะลึงในซัมเมอร์นี้ ถ้าบังเอิญไปเลือกซื้อชุดว่ายน้ำที่ห้างเคมาร์ท ผู้บริโภคที่ดีต้องศึกษาคำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อน แต่งานนี้เมื่ออ่านคำเตือนบนฉลากที่ด้านในของชุดแล้ว คุณอาจสงสัยว่ามันจะเกิดมาเป็นชุดว่ายน้ำทำไม ถ้าเขาเตือนให้คุณระวังเนื้อผ้าจะโปร่งแสงเมื่อโดนน้ำ ระวังไม่ให้เนื้อผ้าเสียดสีกับพื้นผิวขรุขระ ไม่ใส่ชุดลงในสระที่น้ำร้อน ไม่ให้ชุดสัมผัสสารเคมี เช่น ครีมกันแดด โอ้ .. ผลิตภัณฑ์อะไรจะใช้ยากขนาดนี้เนี่ย   Amazon Kindle Paper White ส่วนอันนี้ใช้ไม่ยากแต่อาจจะเชื่อยากนิดหน่อย เป็นใครก็ตื่นเต้นถ้ามีเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่โฆษณาว่าสามารถใช้งานได้นานถึง 8 สัปดาห์ คุณคงแอบนึกในใจว่า อุแม่เจ้าเราคงจะอ่านจบไปหลายเล่ม แต่เดี๋ยวก่อนตัวหนังสือเล็กๆ ข้างล่างเขียนว่า “หมายถึงการใช้งานวันละ 30 นาที เป็นเวลา 8 สัปดาห์” อ้าว ... คิดสะระตะแล้วเมื่อชารจ์แบตฯจนเต็ม มันก็ใช้งานได้ 28 ชั่วโมง ไม่ต่างอะไรกับยี่ห้ออื่นๆ แหม ... อเมซอน ทำเนียนเชียวนะ เครื่องผสมอาหาร Thermomix เรื่องนี้ว่าด้วยความผิดหวังของสาวกเทอร์โมมิกซ์โดยแท้ ผลิตภัณฑ์รุ่น TM 31 เป็นที่นิยมกันในหมู่คุณพ่อบ้านแม่บ้านมานานแล้ว เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ประกอบอาหารที่สนองความต้องการได้ครบถ้วน ด้วยประสิทธิภาพที่น่าพอใจ ผู้คนจึงยอมทุ่มเงินเกือบ 2,000 เหรียญเพื่อจะได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์ระดับเทพนี้สักตัว รุ่นนี้ขายดิบขายดีมานานกว่า 7 ปี และบริษัท Vorwerk ผู้ผลิตก็ไม่มีที่ท่าว่าจะทำรุ่นใหม่ออกมาเลย ข่าวรั่ว ภาพหลุด ก็ไม่มี แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาบริษัทนี้ก็เปิดตัวเจ้า TM 5 ออกมาในราคา 50 เหรียญซะอย่างนั้น!! แต่คงไม่มีใครแค้นเกินคนที่เพิ่งจะไปสั่งซื้อเจ้ารุ่นละพันกว่าเหรียญเอาไว้ (เพราะได้รับคำยืนยันจากผู้ขายว่าไม่มีรุ่นใหม่ออกมาแน่นอน)  และได้รับของไม่กี่วันก่อนของใหม่จะเปิดตัว สุดท้ายบริษัทยอมชดเชยด้วยการแจก/แถมให้กับลูกค้าที่ซื้อเครื่องรุ่น TM 31 หลังวันที่ 1 กรกฎาคม แต่ความเจ็บใจมันไม่หายไปง่ายๆ จากการโหวตของผู้บริโภค 1,041 คน มีถึง 530 คนที่โหวตให้เทอร์โมมิกซ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าปวดใจที่สุดในปีที่ผ่านมา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ดอกเบี้ยที่เกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด

  ฉบับนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจ( บริษัทจีอี แคปปิตอล  (ประเทศไทย) จำกัด) ฟ้องศาลบังคับให้จำเลย( ผู้บริโภค)ชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามที่ได้กู้เงินสินเชื่อควิกแคชไป โดยผู้บริโภคกู้เงินต้นไปเพียง 100,000 บาท  แต่ได้รับเงินจริง 98,500 บาท เพราะ  โดนหักค่าบริการครั้งแรกในอัตราร้อยละ  0.5 ของวงเงิน และจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละ 5,064.02 บาท เป็นเวลา 30 เดือน เป็นเงิน 151,920.60 บาท  เมื่อหักเงินที่จำเลยได้รับมาจริง  98,500 บาท โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ถึง 53,420.59 บาท (ดอกโหดจริงๆ) ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ได้ผ่อนชำระ โจทก์จึงมาฟ้องคดีโดยเรียกเรียกดอกเบี้ยมาเต็มอัตราศึก มาดูกันสิว่าผลคดีจะเป็นอย่างไร โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 116,891.09 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 81,371.92 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 81,371.92 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2548  เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท   จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ... คดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย  ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน  ดังนั้นการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654  และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี  แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก  และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป  แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้กู้ยืมเงิน  ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน  โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญา ได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 53,420.59 บาท  ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วมากกว่าร้อยละ 15  ต่อปี  อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน   โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือน โดยที่จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง  อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย  และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5  ต่อปี  นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และเมื่อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้  จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด...ฯลฯ พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 99,966.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 98,500 บาท นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2548  จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  แต่ให้นำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วนับแต่วันที่ได้รับเงินกู้ยืมจากโจทก์(วันที่ 20 เมษายน 2547) จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2548  ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 98,500 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใด ให้จำเลยชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2548  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์...ฯลฯ “ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13835/2553) หมายเหตุผู้เขียน มีสุภาษิตคำพังเพยทางกฎหมายว่า มาศาลด้วยมืออันสกปรก ศาลไม่รับบังคับให้ สมน้ำหน้ามัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 ดอกเบี้ยบัตรเครดิต

เดือนนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาฝากแฟนๆ ฉลาดซื้อ คดีนี้โจทก์คือบริษัทกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ยื่นฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ( ภาษาชาวบ้านก็คือไม่ได้ไปศาล ขี้เกียจไปซะอย่างงั้นละ ) โจทก์มัดมือชกจำเลยอยู่ข้างเดียว ดูมวยคู่นี้ซิผลจะออกมาอย่างไร ออกหัวหรือก้อย ดูตัวเลขจำนวนเงินให้ดีๆ นะครับ  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2551 โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 21,342.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 14,923.09 บาท และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของต้นเงิน 14,923.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 11,704 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อกำหนดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58( เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ 4.4(1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้ง ผลการพิจารณาสินเชื่อบุคคลปรากฏว่า ในการที่โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยจำนวน 18,900 บาทนั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี หรือร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ กับค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการจำนวน 1,000 บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นร้อยละได้อัตราร้อยละ 5.29 ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและค่าดำเนินการ การอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นอัตราร้อยละ 30.29 เกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปีที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยค่าบริการและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 พิพากษายืน “ อ้าว!!! โจทก์เตะผิดลื่นหงายหลังหัวฟาดพื้นสลบไปซะแล้วครับ ท่านผู้ชม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 คดีความเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิต : ศาลต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนในยุคบริโภคนิยม

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการเรื่องที่ผมจะนำเสนอในฉบับนี้ จะเป็นลักษณะ “เสียงจากผู้บริโภค” โดยนำคดีเกี่ยวกับการฟ้องร้องเรื่องการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่เอาเปรียบผู้บริโภคในเยอรมนี และในประเทศไทยเองผู้บริโภคจำนวนมากก็ผจญกับปัญหาหนี้บัตรเครดิต ที่นับวันปัญหาก็จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม เรื่องก็มีอยู่ว่า นายยิลดิซ เป็นนักศึกษานิติศาสตร์ อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ได้ทำสัญญา เปิดบริการใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร Barclay Card ของ Barclay เยอรมนี ในปี ค.ศ. 2000 โดยสามารถชำระเงินคืนบางส่วนได้ คล้ายๆ กับเงื่อนไขการชำระเงินของบัตรเครดิตรในประเทศไทยของเรานั่นเอง แต่อัตราดอกเบี้ย ตอนที่เริ่มทำสัญญานั้น  อยู่ที่ 14.84 % ต่อปี และในสัญญาบัตรเครดิตก็ยังได้ระบุไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะตลาด ในปี ค.ศ. 2007 อัตราดอกเบี้ยได้ถีบตัวสูงขึ้นไป ถึง 19.99 % ต่อปีและไม่มีทีท่าว่าจะลดตามสภาวะของตลาดที่อัตราดอกเบี้ยโดยรวมลดต่ำลงมากเพราะเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง และการที่ผู้บริโภคสามารถแบ่งชำระจ่ายได้บางส่วน ทำให้วงเงินที่เป็นหนี้บัตรเครดิตสูงขึ้นๆ อันเนื่องมาจากดอกเบี้ยที่สูงมากนั่นเอง และทำให้นายยิลดิซ ไม่สามารถชำระหนี้จำนวน 8,000 ยูโรได้ จนกระทั่งทางธนาคารให้บริษัททวงหนี้เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยกับนายยิลดิซ แต่นายยิลดิซ ไม่ตกลงยินยอม คดีจึงเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมตั้งแค่ปี ค.ศ. 2009  ในกรณีนี้ศาลตัดสินว่า ในข้อสัญญาที่ระบุว่าให้ธนาคารสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาดได้นั้น เป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่ต้องสงสัย "unzweifelhaft unwirksam" เพราะฉะนั้นสัญญาในข้อนี้จึงเป็นโมฆะและสั่งให้ธนาคารกลับไปคิดอัตราดอกเบี้ยใหม่โดยให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตอนเริ่มทำสัญญา ผลของคำตัดสินในคดีนี้ส่งผลต่อ ผู้บริโภครายอื่น ที่ทำสัญญาบัตรเครดิตในลักษณะเดียวกันนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลทางเวบไซต์พบว่า มีบัตรเครดิตภายใต้สัญญาที่เป็นโมฆะดังกล่าวเป็นจำนวนถึง 1.3 ล้านใบ และอาจต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทุกรายด้วย แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่จบ โดยจะดำเนินการพิพากษาคดีต่อในเดือนมีนาคม 2014 แต่ถึงแม้ว่าคดียังไม่จบ ทางธนาคาร Barclay ก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงสัญญาที่เป็นโมฆะใหม่แล้วตั้งแต่ปี 2011   ปัจจุบันนี้นายยิลดิซ ได้เรียนจบแล้ว และได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง CDU ที่นายกหญิงเหล็ก แองเจลา แมร์เคิลเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ เรื่องที่เล่ามานี้เกิดขึ้นจริง ในประเทศเยอรมนี ที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในอียู ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ศาลได้ทำหน้าที่ดำรงความยุติธรรม เพื่อรักษาความเป็นนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญและเป็นที่พึ่งของคนเล็กคนน้อยมิให้ถูกธนาคาร ที่เป็นองคาพยพหนึ่งในระบอบทุนนิยมเอารัดเอาเปรียบมากจนเกินไป  และหวังว่าจะได้เห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรในเร็ววันนี้ เพื่อมาเป็นปากเสียงให้กับประชาชน ผู้บริโภคไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญครับ (ที่มา www.welt.de วันที่ 12.11.2013) รูปแสดงอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 2010-2013: ที่มา Deutsche Bundesbank

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point