ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2557 ไม่อยากมีปัญหา อย่ากิน “ยาสลายมโน” ปราบยังไงก็ไม่หมดจริงๆ สำหรับบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณที่โฆษณาขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทำผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อแล้วเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ยาเม็ดสลายมโน” (แค่ชื่อก็ดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว) ที่กำลังระบาดหนักทางโซเชียลมีเดีย โดยยาสลายมโนอวดอ้างสรรพคุณด้วยประโยคเด็ดว่า “กินแล้วมโนภาพ จินตนาการ หรือความเพ้อเจ้อ เพ้อฝันว่าจะมีหน้าอกสวยงาม กระชับ เต่งตึงได้รูปจะเป็นจริง” สาวๆ หลายคนอ่านแล้วก็หลงเชื่อ เผลอนโมไปว่ากินยานี้แล้วเราของจะสวยขึ้นแน่นอน ซึ่งราคาขายอยู่ที่กระปุกละ 590 – 700 บาท อย.เห็นแบบนี้เข้าจึงอยู่เฉยไม่ไหว ต้องออกโรงเตือนอย่าหลงเชื่อซื้อยาสลายนโนมากินเด็ดขาด เพราะเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กินแล้วไม่ได้อย่างคำโฆษณาแถมอาจเสี่ยงจากโรคอื่นเป็นของแถม ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ขอให้พิจารณา อ่านฉลาก และตรวจสอบข้อมูลให้ถ้วนถี่ หรือนำเลขที่สารบบในกรอบเครื่องหมาย อย. ไปตรวจสอบกับทาง อย. หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนไปที่ สายด่วน อย. โทร. 1556   “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” สารพิษสูง ใครที่ทานอาหารตามร้านอาหารบ่อยๆ คงจะคุ้นตากับ “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” ที่หลายๆ ร้านใช้อุ่นอาหารพวกต้มยำหม้อไฟที่นำมาวางเสิร์ฟบนโต๊ะให้ร้อนอยู่เสมอ ซึ่งจากนี้ไปมื้อไหนที่มีแอลกอฮอล์อุ่นอาหารอยู่บนโต๊ะ ก็อย่ามัวแต่เพลินกับความอร่อย ต้องสังเกตแอลกอฮอล์อุ่นอาหารเพราะมันอาจมาพร้อมกับสารเคมี อย. ได้ตรวจจับแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร ยี่ห้อ “กรีนพาวเวอร์” จำนวน 50 ลัง น้ำหนักรวม 2,266 กิโลกรัม และแอลกอฮอล์แข็ง-เจล จำนวน 122 ถัง น้ำหนักรวม 1,586 ลิตร มาเผาทำลาย เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์พบปริมาณเมทานอลเกินกว่ากำหนด คือ 86.7% ทั้งที่มาตรฐานต้องไม่เกิน 1% เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง สำหรับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์อุ่นอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีใช้กันอย่างแพร่หลาย ใช้อุ่นอาหารประเภทหม้อไฟ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จัดเป็นวัตถุอันตรายถูกกำกับควบคุมโดย อย. สำหรับอันตรายของแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตาพร่า และถ้าสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือใครที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ ต้องเลือกที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน สมอ. กำกับเพื่อความปลอดภัย   “ซิมดับ” มาแน่ กันยายนนี้ กสทช. เตือนคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในคลื่นความถี่ 1800 MHz (เมกกะเฮิร์ตช) รีบทำการโอนย้ายเปลี่ยนแปลงระบบ ก่อนจะเจอกับอาการซิมดับของจริงในเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยตัวเลขผู้ใช้โทรศัพท์ที่ยังคงค้างอยู่ในคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ 2 บริษัท ประกอบด้วย ทรูมูฟ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเหลืออยู่ทั้งสิ้นราว 5 ล้านกว่าราย ส่วนดีซีพีเหลือประมาณ 6,000 ราย ผู้ใช้เลขหมายคลื่นความถี่ 1800 ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้งานโทรออก-รับสาย และส่ง SMS เป็นหลัก การใช้งานไม่สลับซับซ้อน ไม่ใช่การส่งภาพหรือใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหาคือ ผู้ใช้เลขหมายบางคนไม่ได้เป็นคนซื้อโทรศัพท์หรือดำเนินการเอง เช่น ลูกซื้อให้พ่อ-แม่ คนใช้งานอาจไม่ได้ใส่ใจหรือติดตามข่าวสารว่า เลขหมายของตัวเองอยู่ในข่ายที่ต้องโอน ผู้ที่ยังใช้โทรศัพท์ในเครือข่าย 1800 MHz หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในระบบใด ให้รีบติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายและทำการย้ายโอนเครือข่าย เพื่อป้องกันปัญหาซิมดับที่ส่งผลต่อการใช้งานโทรศัพท์มือถือ   ไขปริศนา สารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติก จากกระแสข่าวลือที่สะพัดบนโลกออนไลน์ว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งตากแดดไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะจะมีสารไดออกซิน สร้างความสับสนและกังวลของผู้คนในสังคม ว่าข่าวดังกล่าวจริงเท็จประการใด เพื่อไขข้อข้องใจทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เรื่องสารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติกนั้น เป็นเรื่องไม่จริง โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต โพลิพรอพิลีน โพลิคาร์บอเนต และโพลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว พบว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง สารไดออกซินเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น กรณีที่สารไดออกซินจะละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำที่วางไว้ในที่ร้อนๆ อย่าง หลังรถยนต์ ยังไม่เคยมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันการตรวจพบมาก่อน   เด็กไทยยังเสี่ยงสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจที่น่าตกใจ เด็กไทยทั่วประเทศยังคงเสี่ยงกับสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม เหตุเพราะตู้น้ำไม่ได้มาตรฐาน แถมยังสกปรกส่งผลให้เด็กป่วยเป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร จากข้อมูลสำรวจการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำเย็นของโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ พบว่าส่วนหนึ่งยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย พ.ศ. 2553 คือ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวเชื่อมตะเข็บรอยต่อทั้งตู้ใหม่ และตู้เก่าที่ผ่านการซ่อม พบว่า มีการเชื่อมทั้งบริเวณมุมของภายในช่องท่อต่อน้ำเข้าเครื่องบริเวณลูกลอยกับก้าน และช่องท่อส่งน้ำออกบริเวณพื้นตัวถังไปสู่ก๊อกน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลผ่านตู้น้ำมีตะกั่วปนเปื้อน นอกจากนี้ยังพบว่าที่เก็บน้ำมีความสกปรก ขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ หากเด็กนักเรียน ดื่มเข้าไปเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กปี 2557 จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 7 - 9 ปี จำนวน 22,798 ราย และในกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี จำนวน 24,631 ราย กรมอนามัย จึงได้แนะนำการป้องกันอันตรายสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อตู้ทำน้ำเย็นที่ประกอบด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดดี ชนิดหนา ซึ่งสารตะกั่วที่ปนเปื้อนแม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้ง่าย เนื่องจากเด็กมีความไวต่อการสัมผัส หากร่างกายได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงก็จะเกิดอาการเป็นพิษได้ นอกจากนี้ถังเก็บน้ำต้องทำด้วยวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้กับอาหาร ไม่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม เชื่อมตะเข็บรอยต่อด้วยก๊าซอาร์กอน หรือก๊าซสำหรับเชื่อมอื่นที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และไม่มีผลตกค้างในถังน้ำ ที่สำคัญโรงเรียนต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดตู้น้ำดื่มโดยการล้างที่เก็บน้ำภายในตู้เป็นประจำ ทำความสะอาดก๊อกน้ำและบริเวณผิวภายนอกตู้ให้สะอาดป้องกับเชื้อโรคและสิ่งสกปรก   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2556 จับผิดพ่อค้า – แม้ค้าโกงตาชั่ง กรมการค้าภายใน ฝากคำแนะนำถึงคนที่ต้องซื้อสินค้าข้าวของกับร้านค้าที่มีการใช้ตาชั่ง ชั่งตวงสินค้า ป้องกันการถูกโกงน้ำหนัก หลังจากที่กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกพ่อค้า – แม้ค้าใช้กลโกงตาชั่งเอารัดเอาเปรียบ สำหรับข้อสังเกตในการดูตาชั่งสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีอย่างเช่น ต้องตรวจสอบเครื่องหมายรับรองจากกรมฯ ซึ่งเป็นตราครุฑติดไว้, ไม่มีการหักเข็มชี้น้ำหนักเพราะทำให้เครื่องอ่านน้ำหนักไม่ถูกต้อง, ตัวเลขถาดกับตัวเลขเครื่องที่ระบุต้องตรงกัน, ต้องไม่มีวัสดุอื่นหรือนำสีมาพ่นหน้าปัดด้านใดด้านหนึ่งหรือการนำกระดาษมาปิดอีกหน้าหนึ่งของเครื่องชั่ง, การใช้เครื่องที่ทำด้วยพลาสติกหรือเครื่องชั่งที่อยู่ในสภาพชำรุด เป็นต้น เทคนิคที่พ่อค้า-แม้ค้านิยมใช้ในการโกงตาชั่งหลักๆ จะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ การแกะเครื่องและเปลี่ยนสปริง, การเปลี่ยนหน้าปัดและสปริง, การเปลี่ยนถาดที่มีน้ำหนักสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้สินค้าไม่เต็มน้ำหนัก จะได้ของเฉลี่ยที่ 8-9 ขีดต่อน้ำหนักที่ซื้อไป 1 กก. เท่านั้น     ใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัยเงินไม่ถูกขโมย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้คำแนะนำกับผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรและรหัสประจำบัตร หลังจากเกิดกรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบดูดเงินจากบัญชีของผู้ใช้เอทีเอ็มกว่า 10 ราย รวมยอดเงินที่ถูกลอบขโมยไปหลายแสนบาท สำหรับคำแนะนำของ ศคง. ในการใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัย มีดังนี้ ทุกครั้งที่ใช้ตู้เอทีเอ็ม ควรสังเกตช่องสอดบัตรและแป้นกดตัวเลขอย่าให้มีสิ่งผิดปกติ หากรู้สึกสงสัยก็ไม่ควรใช้เครื่องนั้นและรีบแจ้งให้ธนาคารทราบทันที จุดที่ควรสังเกตก่อนใช้ตู้เอทีเอ็ม คือ กล่องใส่โบชัวร์ ซึ่งไม่ได้เป็นของธนาคาร เพราะอาจเป็นที่ซ่อนกล้องรูเข็มเพื่อแอบดูการกดเลขรหัส ควรใช้มือบังแป้นกดตัวเลขขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้กล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้หรือคนที่อยู่ด้านหลังเห็นรหัสบัตร ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนรหัสบัตรอยู่เสมอ และควรรีบเปลี่ยนรหัสทันทีเมื่อสงสัยว่าบุคคลอื่นทราบรหัสของเรา   อย.ประกาศลดราคายาผู้ป่วยมะเร็ง -  สมาธิสั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับลดราคายากลุ่มจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตตามต้นทุนการจัดหาที่ลดลง จำนวน 7 รายการ เช่น ยาเฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ยาเมทิลเฟนิเดต ที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น และยาโซลพิเดม ทาร์เทรต ซึ่งเป็นยานอนหลับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลและผู้ป่วยที่ต้องใช้ยา ซึ่งยา 7 รายการที่ประกาศลดราคาประกอบด้วย 1.เฟนทานิล ชนิดฉีด (0.1 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร/หลอด) 10 หลอด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 220 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 180 บาท ลดลง 18 % 2.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (12 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 400 บาท ลดลง 20 % 3.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (25 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 900 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 33 % 4.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (50 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 1,500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 900 บาท ลดลง 40 % 5.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 100 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 350 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 300 บาท ลดลง 14 % 6.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 200 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 700 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 14 % 7.โซลพิเดม ทาร์เทรต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 20 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 180 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 160 บาท ลดลง 11 % โดยยาทั้ง 7 รายการจะเริ่มปรับลดราคาใหม่ในเดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป   คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โวย กสทช. เอาจริงแก้ปัญหา “ซิมดับ” หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกประกาศ “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556” หรือกรณีปัญหาสัญญาโทรศัพท์มือถือคลื่น 1,800 MHz ซึ่งเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่สิ้นสุดสัญญาณไม่สามารถใช้งานได้ หรือที่มีคนให้คำจำกัดความว่า “ซิมดับ” โดยหลังจาก กสทช. มีคำสั่งตั้งแต่เมื่อวันที่16 ส.ค.56 ที่ผ่านมา พบว่าประกาศดังกล่าวยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้จริง เพราะยังคงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนมีทั้ง ปัญหาเรื่องการโอนย้ายเลขหมาย ที่ไม่สะดวกอย่างที่ควรจะเป็น แถมมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการแจ้งเรื่องการโอนย้ายเครือข่าย การถูกย้ายเครือข่ายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนถูกปรับสิทธิประโยชน์ลดลงจากการโอนย้ายเครือข่าย รวมถึงปัญหาที่บริษัทไม่ยอมคืนเงินที่ยังคงเหลือในระบบเดิม ไปจนถึงไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดย ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ในฐานะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม ร่วมกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ออกแถลงการณ์เป็นข้อเสมอต่อ กสทช. ให้เร่งจัดการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหลังการประกาศใช้มาตรการเยียวยากรณีซิมดับไปแล้วแต่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไข โดยข้อเสนอของภาคประชาชนมีดังนี้ 1.ขอให้ กสทช. ติดตามการบังคับใช้ประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะยังพบปัญหาเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เช่น ผู้ประกอบการยังมีการขยายฐานผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ต้องควบคุมคุณภาพการให้บริการ และคืนเงินคงเหลือเมื่อผู้บริโภคยุติการใช้บริการ 2.กสทช. ต้องกำกับดูแลการจัดการคลื่นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซิมดับซ้ำอีก โดยต้องเร่งให้มีจัดให้มีการประมูลก่อน ถึงวันหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2558 3.ให้ กสทช. ถอนฟ้องนักวิชาการและสื่อมวล ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหากรณีคลื่นสัญญา 1800 MHz เพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้หลักสุจริต เพื่อประโยชน์ของสังคม   “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ฉายหนังสั้นผู้บริโภคที่รัฐสภา แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงสับสนวุ่นวาย แต่องค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนก็ยังมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะผลักดันกฎหมาย “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเราเสียที ล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ฉายภาพยนตร์สั้นและเสวนาเรื่อง “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ณ สโมสรรัฐสภา เพื่อปลุกจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจกับบรรดานักการเมือง สส. สว. ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกกฎหมายฉบับนี้ โดยหลังการฉายภาพยนตร์ ก็ได้มีการผู้คุยกับเหล่าผู้กำกับภาพยนตร์ ได้แก่ นายไพจิตร ศุภวารี, นายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา และ นายพัฒนะ จิรวงศ์ โดยมี ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ในฐานนะนักวิชาการที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว สส. พรรคเพื่อไทย ร่วมพูดคุยกันถึงปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเรา และการเดินทางของกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่าตอนนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอเพียงยกขึ้นมาพิจารณาลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ผู้บริโภคยังคงต้องคอยติดตาม เป็นกำลังใจ และลุ้นกันต่อไป ว่ากฎหมายเพื่อผู้บริโภคฉบับนี้ว่าจะถึงฝั่งฝันได้เมื่อไหร่ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ปลั๊กไฟรุ่นพิเศษ เสียบปุ๊บ ไฟดับปั๊บ...

คุณโสภา  ได้ซื้อปลั๊กไฟชนิดอย่างดียี่ห้อหนึ่ง จากร้านจำหน่ายที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เป็นปลั๊กไฟแบบ 5 ช่องเสียบ ยาว 4.5 เมตร  มา 1 อัน ในราคา 400 บาทเมื่อกลับมาถึงบ้าน  คุณโสภาได้หยิบปลั๊กมาเพื่อใช้งานทันที หลังจากเสียบปุ๊บ ทันใดนั้นไฟฟ้าทั้งชั้นก็ดับสนิท อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เปิดอยู่ เช่น ทีวี พัดลม คอมพิวเตอร์ ทุกอย่างดับหมด  แต่คุณโสภา ยังไม่อยากเชื่อว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมาจะเสีย ที่ไฟดับอาจเป็นเพราะพอดีการไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟก็ได้ คุณโสภาจึงไปขอทดลองเสียบปลั๊กไฟอีกครั้งกับบ้านอีกหลังหนึ่งในบริเวณเดียววัน เมื่อเสียบปุ๊บ ผลเป็นเช่นเดียวกัน คือ ไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นดับสนิท ทุกอย่างไม่สามารถใช้งานได้ คุณโสภาจึงรีบโทรศัพท์ไปที่ร้านเพื่อแจ้งว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมามีปัญหา แต่ร้านที่ซื้อบอกไม่เกี่ยวกัน ให้ไปติดต่อกับบริษัทเอาเองเจอแบบนี้ คุณโสภา มึนแปดด้านไม่รู้จะทำยังไง ปลั๊กก็เสีย ไฟก็ดับ จึงมาขอคำปรึกษาและร้องเรียนที่มูลนิธิฯ แนวทางแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จริงๆ แล้วง่ายมาก ตามสิทธิผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้ามาแล้วใช้งานไม่ได้ ผู้บริโภคก็ย่อมมีสิทธิได้เปลี่ยนสินค้าหรือได้เงินคืนกรณีนี้คุณโสภา สามารถนำสินค้าไปเปลี่ยนกับร้านที่ซื้อได้เลย แต่อาจจะมีปัญหาถกเถียงกันนิดหน่อย หากร้านที่ขายไม่ยอมให้เปลี่ยน อาจทำให้อารมณ์เสีย แต่ถ้าไม่อยากให้มีปัญหาและไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ซื้อมาแล้วยังต้องเอาไปเปลี่ยน เพื่อความรวดเร็วจึงแนะนำให้กดโทรศัพท์ไปที่บริษัทผู้ผลิตปลั๊กไฟ ที่ระบุชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่กล่องผลิตภัณฑ์ เพื่อขอให้บริษัทส่งพนักงานเข้ามาตรวจสอบปลั๊กไฟที่ซื้อและระบบไฟฟ้าที่บ้านว่าเกิดจากสาเหตุใด หากมีความชำรุดเสียหายของอุปกรณ์และระบบไฟฟ้า อันเกิดจากปลั๊กไฟที่ชำรุดเสียหายแล้วนำมาจำหน่าย บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขหลังการแนะนำ คุณโสภาได้ทำตาม  และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน บริษัทได้ส่งช่างเทคนิคมาตรวจสอบปลั๊กไฟและระบบไฟฟ้าของบ้านทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าระบบไฟฟ้าของบ้านไม่มีปัญหา ช่างของบริษัทสามารถแก้ไขให้เป็นปกติเหมือนเดิมได้ แต่ในส่วนปลั๊กไฟที่ซื้อมานั้น ทดสอบแล้วพบว่ามีความชำรุดบกพร่องของสินค้าจริง บริษัทจึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการนำปลั๊กไฟตัวใหม่ที่ทดลองแล้วว่าสามารถใช้งานได้มาให้แทน และขอนำปลั๊กไฟตัวปัญหากลับคืน เพื่อทดสอบหาสาเหตุต่อไปเรื่องเหมือนจะจบลงด้วยดี ถ้าคุณโสภาเป็นเพียงผู้บริโภคธรรมดาที่ไม่คิดมาก แต่คุณโสภา เข้าใจว่าปัญหาแบบนี้อาจเกิดได้กับทุกคนที่ซื้อปลั๊กไฟ และเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงนั้น จึงได้ขอสงวนสิทธิที่จะไม่ให้ปลั๊กไฟตัวปัญหาให้กับบริษัท แต่จะขอนำส่งให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ทดสอบหาข้อเท็จจริงของการชำรุดเสียหายของปลั๊กไฟนี้ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้การดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที กับการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทเช่นนี้ ทำให้คุณโสภา ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เกิดความสบายใจและไม่คิดจะ ซึ่งหากใครที่เจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ ก็สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่า ปัจจุบันปลั๊กไฟ หรือปลั๊กพ่วง แบบต่างๆ ที่ขายกันในบ้านเรานั้น แท้จริงแล้ว มี มอก. เพียงเฉพาะในส่วนที่เป็นมาตรฐานสายไฟ คือ มอก. 11-2531  หรือ มอก. 11 ที่เป็นสายไฟหุ้มฉนวนทองแดง PVC  เท่านั้น โดยที่ในส่วนที่เป็นรางปลั๊กไฟทั้งชุด มอก. ไมได้กำหนดมาตรฐานควบคุมไว้ ซึ่งการกำหนดให้มีมาตรฐานดังกล่าวของสายไฟดังกล่าว ทาง มอก.  ได้ออกเป็นมาตรฐานประเภททั่วไป ที่ไม่มีการบังคับ คือจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าได้รับเครื่องหมายก็แสดงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆนั่นหมายความว่า ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่นำปลั๊กไฟมาขายนั้น ขอแค่มีสายไฟที่ถูกหลักเกณฑ์ตามมาตรฐาน มอก. ก็จะสามารถนำมาขายในประเทศไทยได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายก็จะไม่บอกข้อมูลในส่วนนี้ให้ผู้บริโภคได้รับรู้กันด้วย บอกแค่ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้ มอก. เท่านั้นเท่านี้ ผู้บริโภคก็คิดกันไปเองว่า มอก. นี้คือ มาตรฐานของปลั๊กไฟทั้งชุด... อึ้งกันเลยใช่ไหมล่ะ !!!เจอแบบนี้ ผู้บริโภคก็คงต้องดูแลตัวเอง การเลือกใช้ปลั๊กไฟจึงควรพิจารณาในส่วนประกอบต่างๆ ของปลั๊กให้ดี ทั้งตัวปลั๊กเสียบ สายไฟฟ้าและวัสดุที่ใช้ทำรางปลั๊ก และอย่างน้อยก็ อย่าลืมมองหาปลั๊กไฟที่มีตรามาตรฐาน มอก. ในการพิจารณาเลือกซื้อ แม้จะมีมาตรฐานเฉพาะสายไฟอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและความปลอดภัยในการใช้งานนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 3)

จากตอนที่แล้ว เราเห็นๆ กันอยู่ คือเมื่อไฟฟ้าดับ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ต่างออกหน้ามาให้ข่าวกันอย่างครึกโครม จนเราลืมไปเลยว่ายังมีอีกองค์กรหนึ่ง ที่มีหน้าที่กำกับดูแลประเด็นนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แห่งชาติ(กกพ.) หรือ 7 อรหันต์(ที่มีเงินเดือนสูงส่ง แต่กลับมีบทบาทเรื่องนี้น้อยมากจนน่าใจหาย เพราะไม่เห็นตัวตนของท่านเลย) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 จึงได้ทำข้อเสนอมาตรการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการพลังงาน ตามมาตรา 99 แห่ง พระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน 2550 ดังนี้1. ขอให้ กฟผ. แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรงในครั้งนี้ โดยเสนอให้ กกพ. กำหนดมาตรการชดเชยผู้ได้รับความเสียหาย และกำหนดว่าการเสียหายกรณีใด จึงจะได้รับการเยียวยา2. ขอให้กพพ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกอย่างเร่งด่วน กรณีดังกล่าวโดยการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ตัวแทนผู้ใช้พลังงานในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าว มิใช่รอให้ กฟผ.มารายงานฝ่ายเดียว3. ขอให้ กกพ. กำหนดมาตรการ บังคับให้ กฟผ.มีแผนฉุกเฉินรองรับกรณีไฟฟ้าในระดับ และกฟผ.ต้องแจ้งเดือนประชาชน กรณีมีการซ่อมบำรุงที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่จะก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้างให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน 4. ขอให้ กกพ. มีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถ นำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ มาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใช้เอง ลดการพึ่งพาแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ป้องกันเหตุไฟฟ้าดับในวงกว้างได้อย่างยั่งยืน โดยแต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในพื้นที่ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้กับประเทศไทย5. ขอให้ กกพ.ออกมาตรการให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัดได้ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัด มีส่วนร่วมกำหนดแผนพลังงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง6. ขอให้ กกพ.มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในการกระจายกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปในระดับจังหวัด เพื่อหนุนเสริมแผนพลังงานจังหวัดนี่คือข้อเสนอที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นพัฒนาการของการบริหารจัดการ ด้านพลังงาน ที่จะสร้าง ความเป็นธรรม ให้กับผู้บริโภคไฟฟ้า แต่คงไม่ใช่เสนอแล้วก็จบไป คงต้องร่วมกันติดตามและผลักดันกันต่อไป ด้วยความหวัง ด้วยพลังของผู้บริโภค .......  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 2)

เรื่องไฟฟ้าดับตอนที่แล้ว เขียนถึงข้อสงสัยกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้  ตอนนี้เรามีข้อมูลจากผู้ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ มาตอบข้อสงสัยกัน(ไม่รู้ว่าจะใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่) เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยผู้เขียนใช้ฐานะ ประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 ราชบุรี  (มีพื้นที่ดูแล 6 จังหวัด)เชิญผู้อำนวยการกองควบคุมและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 เพชรบุรี (ภาคใต้)  เข้าชี้แจงสาเหตุการเกิดไฟฟ้าดับ   ซึ่งมีคำชี้แจงว่า1.การเกิดไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้และภาคกลางบางส่วน เมื่อวันที่        21 พฤษภาคม  2556  เหตุเกิดจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) มีการปิดซ่อมสายส่งขนาด 500 KV สายส่งจาก อำเภอ       จอมบึง-อำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ระหว่างเวลา 08.00 น. – 17.00 น. ในพื้นที่ อำเภอบ้านลาดจังหวัดเพชรบุรี   มีกำหนดการนำสายส่งกลับเข้าระบบเพื่อจ่ายไฟในเวลา  18.00 น.  แต่ปรากฏว่าการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่ากำหนดเวลา 20.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556  เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งเส้นสำรองทำให้เกิดการชำรุดและไฟฟ้าดับ โดยไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำสายส่งที่ซ่อมบำรุงเข้ามาติดตั้งได้เวลา 02.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายวงกว้าง(แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  กลับออกมาคนละทาง  กับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่    ดังที่เราได้เห็นข้อมูลที่ รมต.พลังงาน  ออกมา ให้ข่าวสรุปผลการสอบ  ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของระบบ) 2. กรณีภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก  แต่ทำไมไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งได้   สาเหตุเป็นเพราะระบบการส่งกระแสไฟฟ้ามีการคำนวณโดยใช้สูตร N- 1  สรุปได้ว่า เมื่อกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางถูกตัดขาด  เทคโนโลยีของแต่ละโรงไฟฟ้าคำนวณได้ว่าหากส่งกระแสไฟเข้าสายส่งจะเกิดความเสียหายต่อระบบผลิต  ก็จะตัดการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งแบบอัตโนมัติ  เป็นเหตุให้ในพื้นที่ภาคใต้ไฟฟ้าดับเต็มพื้นที่ คำถามสำคัญคือ  แนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มในภาคใต้ สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือ? เพราะประสบการณ์ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ว่า    นโยบายที่ทำให้ระบบการการส่งกระแสไฟผูกติดกับส่วนกลาง ส่งผลให้พื้นที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ปัญหามันอยู่ที่แนวคิดและนโยบาย ที่ใช้อำนาจผูกขาดการตัดสินใจไว้เพียงในส่วนกลางเท่านั้น  ที่สำคัญคือ เราบอกว่าประเทศไทยปรกครองในระบบประชาธิปไตย  การบริหารหลายส่วน มีการกระจายอำนาจลงพื้นที่  แต่ที่ส่วนกลางกอดติดไม่ยอมกระจายอำนาจ คือ  “พลังงาน” เพราะอะไร? แหม...ข้อมูลกำลังเข้มข้นเลย  หมดเนื้อที่ซะแล้ว ......โปรดติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด

หลายท่านคงยังจำเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้ง 14  จังหวัดในภาคใต้ได้ดี  และหลายคนคงจะยังงงๆ  เหมือนผู้เขียนที่ว่ามันเกิดขึ้นได้ไง?  ก็เลยตามข่าวสารมาเล่าสู่กันฟัง   การเกิดเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้   วันที่  21  พฤษภาคม 2556   ความเข้าใจตามข่าวคือ ดับ 14 จังหวัด แต่เรื่องจริงคือ ดับ 16 จังหวัด เพราะนอกจาก ชุมพร  ระนอง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ สตูล สงขลา   สุราษฎร์ธานี ตรัง และยะลา  แล้วยังมีเพชรบุรีบางส่วน(ตั้งแต่อำเภอบ้านลาดลงไป) และประจวบคีรีขันธ์ทั้งจังหวัดด้วยโอ้โฮ!  มันกว้างขวางใหญ่โตมากนะ ความเดือดร้อนเสียหายจากไฟฟ้าดับงวดนี้   ตามมาด้วยเสียงโหยหวน ของ รมต.พลังงาน และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  มันเกิดจากเหตุสุดวิสัย  ฟ้ามันผ่า ไม่มีใครผิด   ก็ยิ่งกระตุ้นต่อมสงสัยให้ขยายกว้างมากขึ้นดังนี้1.ในพื้นที่ภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก ทั้งโรงไฟฟ้าขนอม ผลิตได้ 824 เมกกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากระบี่ ผลิตได้ 340 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ารัชประภา ผลิตได้       240  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบางลาง  ผลิตได้ 73.3  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากลัฟยะลากรีน ผลิตได้ 20.2 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ ผลิตได้  731 เมกะวัตต์  เป็นต้น แต่ทำไมเมื่อเกิดเหตุที่จอมบึงไฟฟ้าในพื้นที่ถึงใช้สำรองไม่ได้  มีการบริหารจัดการอย่างไรจึง ปล่อยให้ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นนี้2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนการซ่อมบำรุงล่วงหน้า แต่ทำไมไม่มีการแจ้งเตือน ไม่มีการเตรียมแผนฉุกเฉินในการรองรับปัญหาในกรณีเกิดไฟฟ้าไม่พอใช้หรือไฟฟ้าดับ  ทั้งนี้จากประสบการณ์ทั้งกรณีไฟฟ้าดับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรณีการหยุดจ่ายก๊าซจากประเทศพม่า  และกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นที่ เกาะสมุย  น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนสำหรับการเตรียมพร้อม  มิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แต่กลับปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้พลังงานในวงกว้าง 3. เหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากนโยบายการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดหรือไม่? การที่บริหารแบบรวมศูนย์อำนาจการสั่งการและการผลิตไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้ในส่วนกลาง  สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานได้จริงหรือ?  เพราะทันทีที่ไฟฟ้าดับ  ก็มีผู้มีอำนาจออกมาส่งเสียงว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ทั้งที่หากเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินวันนี้อย่างเร็วต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 ปี จึงจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้  ดังนั้นการมีเป้าหมาย ในการผลิตไฟฟ้าไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่  สามารถทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าได้จริงหรือไม่?4. การที่ปล่อยให้มีการผูกขาดแผนขาดแผนพลังงานไว้เพียงในส่วนกลาง  ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟฟ้าดับ เป็นสาเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในพื้นที่ท่านผู้อ่านล่ะสงสัยเหมือนเรามั้ย?  หากสงสัยโปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ไฟใต้ดับ เหตุสุดวิสัยหรือไร้ประสิทธิภาพ

ไฟฟ้าดับเมื่อค่ำคืนของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้ ครบถ้วนทั้ง 14 จังหวัดในค่ำคืนนั้นประชาชนที่อยู่อาศัยทางภาคใต้ต้องตระหนกอกสั่นกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ในสี่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพบว่าเมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดโดยไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุ หลายคนคิดเลิยเถิดว่าเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของผู้ไม่หวังดีเลยทีเดียววันรุ่งขึ้น 22 พฤษภาคม 2556 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยเป็นทางการว่า เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สายส่ง 500 KV จำนวน 2 เส้น และสายส่ง 230 KV จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค. 2556 มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50 Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้ากฟผ. ได้เร่งแก้ไขสถานการณ์  ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถจ่ายไฟให้ประชาชนได้ทั้งหมดเมื่อเวลา 23.00 น.ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีผลสรุปออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. เนื่องจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้พยายามควบคุมการจ่ายไฟตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ทุกขั้นตอนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สำหรับสาเหตุสรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned) 2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 และ 3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้องทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ หลังจากนั้นก็เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นมาก คือประมาณ 5.2 วินาทีทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ กฟผ. เริ่มทยอยนำสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ทั้งระบบ 500 เควี และ 230 เควี เข้าใช้งานตามลำดับ เพื่อใช้ในการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า สามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นแห่งแรก ตั้งแต่เวลา 19.05 น. และสามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าครบทุกสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคใต้ของ กฟผ. ในเวลา 20.12 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอนขณะที่นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า การเกิดไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นจึงไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าของมาเลเซียมาชดเชยชั่วคราว 380 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 13 ล้านบาทนั้น ต้องกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับแทน โดยจะมาเกลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.2556) ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เรกูเลเตอร์ยังเหลือเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากหลายส่วนในหลายกรณีอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาเกลี่ยเป็นค่าเอฟทีของประชาชนในงวดหน้าทั้งหมด จบข่าว. ข้อค้นพบและข้อสังเกตแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพลังงานจะมีผลสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (สื่อบางสำนักบอกว่า เป็นผลสรุปที่เป็นไปตามคาด) แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อค้นพบและข้อสังเกตว่าปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ดับทั่วทั้งภาคอาจไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่จะเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการในการผลิตและการส่งไฟฟ้าหรือไม่นั้น ชวนมาร่วมพิจารณากัน สถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้า...ยืนยันว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาค ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของภาคใต้ ทั้งจากเว็บไซต์ของ กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงงาน และการยืนยันข้อมูลจาก อ.เดชรัต  สุขกำเนิด นักวิชาการที่ติดตามด้านกิจการไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้มีทั้งหมด 2,494 เมกะวัตต์  ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกำลังไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลาง 600 เมกะวัตต์ และจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงขึ้น โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำลังไฟฟ้าสำรองทั้งหมด 3,394 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่ 2,424 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556  เมื่อเวลา 19.30 น.2. แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้จะมีปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2556 ตามที่กล่าวมา แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขและต้นทุนที่ประชาชนจ่ายผ่านค่าไฟฟ้าฐาน เพราะจากการรายงานของส่วนประชาสัมพันธ์ กฟผ. ผ่านเฟสบุ๊ค GG News และเอกสารประกอบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ กฟผ. ได้ให้รายละเอียดถึงโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและซ่อมฉุกเฉิน รวมถึงปัญหาของสายส่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าลดลงไปอย่างมากจนอยู่สถานะที่ไม่มั่นคง โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือมีกำลังผลิตพร้อมจ่ายเพียง 1,662.2 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 67 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดของภาคใต้ และเมื่อมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันของภาคใต้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,200 – 2,400 เมกะวัตต์ กฟผ. แก้ปัญหาด้วยการรับไฟฟ้าจากภาคกลางและจากมาเลเซียมาเสริม โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับได้รับไฟฟ้าจากภาคกลาง 430 เมกะวัตต์ และรับจากมาเลเซียเพียง 30 เมกะวัตต์  รายละเอียดของโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและนอกแผน รวมทั้งปัญหาระบบสายส่งจากมาเลเซีย มีดังนี้ 2.1            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช ปลดเครื่องบางส่วนออกจากระบบเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. - 13 มิ.ย. 56 กำลังไฟฟ้าที่ผลิตไม่ได้ 100 เมกะวัตต์ 2.2            โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ ปลดเครื่องออกจากระบบเพื่อทำการบำรุงรักษาตามแผน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. - 25 พ.ค. 56 กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 340 เมกะวัตต์ 2.3            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ฯ ได้ปลดเครื่องออกจากระบบส่วนหนึ่ง เพื่อทำการบำรุงรักษาฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 56 เป็นต้นมา (ก่อนเกิดเหตุไฟดับเพียง 2 วัน)ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปราว 100 เมกะวัตต์ 2.4            โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา  จำนวน 1 หน่วยจาก 3 หน่วย ไม่พร้อมเดินเครื่อง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 56 ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 24 เมกะวัตต์ 2.5            การรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียผ่าน HVDC 300 เมกะวัต์และ HVAC 85 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับเต็มที่ 385 MW ตามที่ทำสัญญาฯ โดยรับ-ส่งเพียงพลังไฟฟ้าขั้นต่ำคือ HVDC 30 MW เท่านั้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว GG News ให้ข้อมูลว่าอาจเกิดจาก TNB หรือการไฟฟ้ามาเลเซีย แจ้ง Shortfall (กำลังผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายไม่พอ) หรือไม่พร้อมขายให้ไทย… 2.6            รายงานของ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพียงแค่ 20.2 เมกะวัตต์เท่านั้น  โดยไม่ให้รายละเอียดว่า เหตุใดจึงไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกำลังผลิตรวมกันกว่า 128 เมกะวัตต์ เข้ามาใส่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้3. เมื่อสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ขาดความมั่นคง โดยสาเหตุหลักใหญ่มาจากมีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมเป็นจำนวนมาก ตามที่กล่าวมาในข้อ 2 ดังนั้น การถ่ายเทไฟฟ้าจากภาคกลางลงสู่ภาคใต้โดยอาศัยสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีความมั่นคง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงระบบสายส่งจาก 115 กิโลโวลต์เป็น 230 กิโลโวลต์ และเพิ่มสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) เข้ามาอีก 2 เส้น เพื่อให้สามารถถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าภาคกลาง-ภาคใต้ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้  ดังนั้น การปลดและซ่อมสายส่งที่ลงสู่ภาคใต้ขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) จำนวน 1 เส้น ในช่วงเช้าเวลา 08.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งเส้นใหญ่ที่เหลืออยู่โดยไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินทั้งโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ นับว่าเป็นการปฏิบัติการที่ประมาทเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้ 3.1            เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเคยมีการเผาหรือวางระเบิดระบบสายส่งเกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง 3.2            เคยมีประวัติเกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า ในปี 2555 เกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุต่างๆ ที่เป็น Forced Outage (สายส่งหลุดออกจากระบบ) รวม 73 ครั้ง โดยเป็นเหตุขัดข้องจากสายส่ง 14 ครั้ง 3.3            ที่ภาคใต้มีประวัติเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับใหญ่มาแล้ว จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เวลา 15.56 น. เกิดเหตุการณ์ Partial Blackout (ไฟดับทั่วทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค) ที่ภาคใต้ตอนล่างรวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รวมมีไฟดับทั้งหมด 641.4 เมกะวัตต์ นานที่สุด 26 นาที 3.4            แม้จะมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์เหลืออยู่ 1 เส้น และมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์เป็นตัวช่วย แต่สายส่งไฟฟ้าเส้นรองลงมานี้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 400 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาแรงดันที่แตกต่างกันได้ อีกทั้งไฟฟ้าที่ป้อนสู่ภาคใต้ในวันที่เกิดเหตุก็สูงกว่าคืออยู่ที่ 430-470 เมกะวัตต์4. เมื่อจะมีการซ่อมสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ภาคกลางและอาจทำให้ต้องลดกำลังส่งไฟฟ้าลงมาเพื่อความปลอดภัยของระบบสายส่งไฟฟ้า เหตุใด กฟผ. จึงไม่มีการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น กลับยังคงใช้ไฟฟ้าจากมาเลเซียเพียงแค่ 30 เมกะวัตต์ นับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เรื่องนี้การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องยังไม่กระจ่าง  จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าผ่านจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า 2 จุดด้วยกัน 4.1            ระบบส่งเชื่อมโยง HVAC จำนวน 85 เมกะวัตต์ เป็นการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายตกลงทำข้อเสนอราคาขายไฟฟ้าล่วงหน้าเดือนต่อเดือนที่ 3 ระดับราคา คือ Price A (ราคาต่ำ) Price B (ราคาปานกลาง) และ Price C (ราคาสูง) ในช่วงที่เกิดเหตุ กฟผ. ไม่ได้ใช้จาก HVAC เลย 4.2            ระบบเชื่อมโยง HVDC ปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm ในลักษณะ Bulk Energy โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าคิดเป็น Tier ในปริมาณ Tier ละ 25-30 ล้านหน่วย โดยจะมีราคาลดหลั่นลงตามลำดับ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณมากมีราคาเฉลี่ยถูกลง แต่ปัจจุบันรวมถึงตอนที่จะปลดสายส่งเพื่อซ่อมบำรุงในวันที่เกิดเหตุ กฟผ. กลับรับซื้อเพียง 30 เมกะวัตต์เท่านั้น และเมื่อเกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาค กฟผ. ต้องย้อนกลับไปขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอย่างฉุกเฉินทำให้ถูกคิดค่าไฟที่ราคาแพงมาก (บางแหล่งข่าวบอกว่าสูงถึง 16 บาท/หน่วย)   บทสรุปแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีบทสรุปออกมาเรียบร้อยแล้วว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะเรกูเลเตอร์ แต่ข้อค้นพบและข้อสังเกตที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าบทสรุปดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึง ความบกพร่องในการซ่อมระบบสายส่งไฟฟ้าเส้นหลักภาคกลาง-ภาคใต้ ที่ไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างใดอย่างหนึ่งจากมนุษย์หรือจากธรรมชาติเลย  อีกทั้งยังชี้ให้เห็นจุดโหว่ในการจัดการปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคหรือทั้งประเทศอย่างเด่นชัด ว่ายังมีความบกพร่องอยู่มากและห่างไกลจากการกล่าวอ้างในโฆษณาประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก  ปัญหาเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบแก้ไขกันอย่างจริงจังและจริงใจ แล้วพยายามไปแก้ไขด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ภาคใต้ แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเหลือแต่หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคหรือทั้งประเทศก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ไม่ยากเย็นนัก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 กระแสต่างแดน

  น้ำนำเข้า สมาชิกฉลาดซื้อคงจะอึดอัดคับข้องใจ ว่าปีนี้บ้านเราน้ำมากซะเหลือเกิน มาเปลี่ยนบรรยากาศไปดูที่น้ำน้อยกันบ้างดีกว่า ในแต่ละปี ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ต้องนำเข้าน้ำจากแม่น้ำตงเจียง ในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนเป็นปริมาณหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดฮ่องกงทำสัญญาซื้อน้ำจากแหล่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ปีละ 820 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 44,000 ล้านบาท ร้อยละ 80 ของน้ำที่ประชากรฮ่องกงใช้อยู่มาจากแม่น้ำตงเจียง มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากอ่างเก็บน้ำในฮ่องกงเอง ถามว่าทำไมฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมากมาย ถึงไม่ลงทุนตั้งโรงกรองเพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดไว้ใช้เอง ข่าวเขาบอกว่าการทำเช่นนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้นทุนในการผลิตก็ค่อนข้างสูง เรียกว่าถ้าจะให้คุ้มก็ต้องขายน้ำในราคาลูกบาศก์เมตรละ 47 บาท ปัจจุบัน ราคาน้ำที่ฮ่องกงนั้นอยู่ที่ 16 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (12 ลูกบาศก์เมตรแรก รัฐให้ใช้ฟรี) นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลฮ่องกงควรทำก่อนอื่นใดคือรณรงค์อย่างจริงจังให้ผู้คนใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าที่เป็นอยู่ และอาจจะต้องขึ้นค่าน้ำกันบ้างเพื่อลดความอยากใช้ด้วย ทั้งนี้เพราะ ใดๆ ในโลกล้วนไม่แน่นอน มณฑลกวางตุ้งเองก็เริ่มพบกับความแห้งแล้งเป็นระยะ และเริ่มมีโควต้าของน้ำที่จะขายให้กับฮ่องกงแล้ว ไม่ใช่ว่ามีเงินก็จะซื้อได้เสมอไป เหตุการณ์นี้คุ้นๆ เหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อน ... แต่ถึงแม้กวางตุ้งจะหมดน้ำส่งออก เราก็ยังมีภาคกลางของประเทศไทย ที่มีน้ำเหลือเฟือเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ให้ใช้กันได้เหลือเฟือทั้งเกาะเลยนะจะบอกให้   ไปรษณีย์โฉมใหม่ ยุคสมัยที่การส่งจดหมายลดลงเพราะใครๆ ก็พากันส่งแต่อีเมล์ อีการ์ด ฯลฯ บริการไปรษณีย์ของหลายๆประเทศในยุโรป จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ข่าวจากเมืองดูเซลดอร์ฟ เยอรมนีเขาบอกว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดอยทช์โพสต์ได้โละสถานที่ทำการไปรษณีย์ จาก 29,000 แห่ง เหลือเพียง 24 แห่ง แถมยังลดอัตราจ้างงานไปอีก 100, 000 คน แม้จะยังรับบริการส่งจดหมายหรือพัสดุ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปรษณีย์เยอรมันหรือ “ดอยทช์โพสต์” เขาปรับลดขนาดลงเหลือเพียงเคานท์เตอร์ในมุมหนึ่งของธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องเขียนเท่านั้น และถ้าเป็นในชุมชนที่ค่อนข้างเล็ก ก็อาศัยบ้านของชาวบ้านในพื้นที่เป็นศูนย์บริการไปเสียเลย โดยรวมแล้ว การใช้บริการออนไลน์นั้นส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งรวดเร็ว สะดวก ประหยัด และยังช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดตัวลงของที่ทำการไปรษณีย์ได้แก่ บรรดาผู้สูงอายุในเขตที่เคยเป็น “เยอรมันตะวันออก” ที่นอกจากจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตัลแล้ว ยังขาดพื้นที่ ที่เคยได้ใช้เป็นแหล่งชุมนุมพบปะกันอีกด้วย ไม่ใช่มีแต่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่มีบริการเสริม เช่น การรับสั่งซื้อสินค้าโอท็อป ไปรษณีย์เยอรมันก็ทำกิจการร้านค้าออนไลน์คล้ายๆ eBay ในขณะที่ “Posten” หรือไปรษณีย์สวีเดน ก็มีบริการเปลี่ยนรูปภาพจากกล้องหรือโทรศัพท์มือถือให้เป็นโปสการ์ดให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ส่งกลับบ้านกัน ส่วน “PostNord” หรือที่ทำกิจการไปรษณีย์ทั้งสวีเดนและเดนมาร์ก ก็หันมาทำธุรกิจส่งโบรชัวร์ขายสินค้าตามบ้านไปเสียเลย บ้านเสมือน (คุก)ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกอย่างนี้ จะไปอาศัยกินข้าวฟรีในคุกก็ยังเป็นเรื่องยาก หลายๆ ประเทศในยุโรปกำลังหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้กระทำความผิดสถานเบา ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน เช่น เมาแล้วขับ หรือลักเล็กขโมยน้อย ด้วยการกักกันบริเวณให้อยู่ในบ้านตัวเอง วิธีที่ว่านั้นคือการให้ “นักโทษ” สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ข้อเท้าตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยควบคุม ผ่านทางสัญญาณที่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งกลับมาที่ศูนย์บัญชาการนั่นเอง ในขั้นทดลองนี้มีนักโทษที่ถูก”คุมขัง” ด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ 110 คน เขาบอกว่าด้วยระบบนี้ “นักโทษ” ที่มีหน้าที่ออกไปทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะยังสามารถไปทำธุระ ไปทำงาน ไปเรียน ได้ตามปกติ หรือจะไปเข้าซาวน่า ก็ยังได้ แต่ถ้าออกนอกบริเวณที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้าเมื่อไหร่ ก็จะถูกย้ายจากเรือนจำเสมือน ไปอยู่เรือนจำจริงๆ ทันที กรมราชทัณฑ์ของฟินแลนด์บอกว่า ระบบดังกล่าวซึ่งจะนำมาใช้จริงในปี ค.ศ. 2014 นั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษไปได้มากกว่าครึ่ง ปัจจุบันเรือนจำมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในการดูแลนักโทษวันละ 200 ยูโร (8,600 บาท) ในขณะที่ระบบควบคุมผ่านกำไลข้อเท้านั้นใช้งบประมาณเพียง 60 ยูโร (2,500 บาท) ต่อคน เท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีสถิติที่ระบุว่านักโทษที่ถูกคุมขังทางไกล ในบ้านตัวเองนี้ มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่านักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ นั่นเอง และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือแม้ที่บ้านจะน้ำท่วมก็ไม่เป็นปัญหา เพราะกำไลข้อเท้าที่ว่านั้นสามารถกันน้ำได้ที่ความลึกถึง 5 เมตรเลยเชียว   กินจุเกินไปต้องจ่ายเองสองสามปีมานี้ ที่ไต้หวันเขาจัดการแข่งขันกินจุกันบ่อยเหลือเกิน จนหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐ หรือ The Control Yuan ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ งดจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับบรรดาพวกที่เอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงกับการแข่งขันประเภทนี้ Control Yuan บอกว่า นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะทำร้ายร่างกายตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว การแข่งกินบะหมี่ กินลูกชิ้น หรืออะไรก็ตามในปริมาณมากๆ นั้นยังสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีไว้รองรับคนทั้งประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับคนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนที่เข้ารับการรักษาตัวหลังจากเข้าร่วมการแข่งขันกระเพาะเหล็ก และให้รัฐเลิกจัด เลิกเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันดังกล่าว และต้องระบุให้สื่อมวลชนมีคำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเผยแพร่ชักชวนผู้คนมาร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพของไต้หวันบอกว่า ตอนนี้กำลังเจรจากับบรรดาผู้จัดการแข่งขันกินจุทั้งหลาย ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้เข้าแข่งขันด้วย ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่กำลังถูก “ภัยอ้วน” คุกคาม อัตราการเป็นโรคอ้วนของเด็กๆ ที่นั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เมื่อ 10 ปีก่อน มาเป็นร้อยละ 25 ในปี ค.ศ.2009 ด้วย สธ. ของไต้หวันคงต้องคิดหนัก เพราะมีผลการสำรวจออกมาว่ากิจกรรมยามว่างที่คนที่นั่นนิยมทำมากที่สุดคือการรับประทานอาหารนอกบ้านนั่นเอง   ไฟดับนานไป มีจ่ายชดเชยอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวบ้านต้องเจอกับไฟฟ้าดับกันแทบทุกวัน จนขณะนี้หลายๆ รัฐต้องประกาศให้มีการจ่ายค่าชดเชยกับผู้บริโภคที่ต้องพบกับภาวะไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานเกินควร มีตัวอย่างจากรัฐอุตตรประเทศ ที่เขาต่อสู้กันมาถึง 6 ปี ในที่สุดก็ผ่านกฎหมายที่ระบุให้มีการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 50 รูปี (35 บาท) ในกรณีที่ไฟฟ้าดับต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่านไปแล้วเกิน 10 ชั่วโมงก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาก็จะให้ 100 รูปี (70 บาท) เขาเน้นว่าต้องต่อเนื่องจริงๆ นะ เขายกตัวอย่างว่า ถ้าดับไป 5 ชั่วโมง แล้วซ่อมกลับมาได้ แม้จะเพียง 5 นาที แล้วดับต่อ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ แต่ทั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากพายุหรือฝนฟ้าคะนอง (น้ำท่วมก็คงจะไม่เข้าข่ายเช่นกัน) ข่าวบอกว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแผนนี้จะดำเนินการอย่างไรในทางปฏิบัติ เพราะบริษัทผู้ผลิตไฟในแคว้นดังกล่าวออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบเลยว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่กี่ครัวเรือน

อ่านเพิ่มเติม >