ฉบับที่ 211 กระแสต่างแดน

ค่าาเข้าชม  ผู้บริโภครายหนึ่งตื่นเต้นกับโฆษณาขายบ้านในอินเทอร์เน็ต โอ้ว... บ้านหลังโตพร้อมระเบียงกว้างใหญ่ในเขตเมืองเอช รัฐบาเซิล-ลันด์ชัฟท์ ประกาศขายในราคาเพียง 300,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 10 ล้านบาท) เธอจึง “คลิก” แสดงความสนใจ  จากนั้นเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นแพทย์ชาวสเปนชื่อแคทาลีนา ตอบกลับมาว่าเธอได้มอบอำนาจให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Partner Real Estate เป็นนายหน้าดูแลเรื่องการขาย  ต่อมา “ลอร่า วัตสัน” ตัวแทนขายก็โทรมาแจ้งว่าหากเธอต้องการ “เข้าชมบ้าน” ก็ให้ชำระเงิน 12,000 ฟรังก์(ประมาณ 4 แสนบาท) เข้ามาก่อน โดยย้ำชัดเจนว่าไม่ใช่ค่ามัดจำ  มันชักจะยังไง ลูกค้ารายนี้ลองหาข้อมูลผ่านเว็บกูเกิล แต่ก็ไม่พบชื่อของคุณหมอคนดังกล่าวในโรงพยาบาลที่อ้างว่าทำงานอยู่ เธอจึงแจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ  การสืบสวนพบว่า PRE เป็นบริษัทกำมะลอที่นำโฆษณาขายบ้านจากเว็บที่ประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มาใส่ในเว็บตัวเองแล้วสวมรอยเป็นตัวแทนขายโดยเจ้าของตัวจริงไม่รู้เรื่องเลยเที่ยวบินบูมเมอแรง  เบอลินมีท่าอากาศยานสองแห่ง ทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของเมือง แต่ไม่มีใครเดินทางระหว่างสองสนามบินนี้ด้วยเครื่องบิน... ยกเว้นผู้โดยสารกลุ่มนี้  เที่ยวบินของสายการบินอีซี่เจ็ทจากท่าอากาศยาน Tegel ตอนเหนือของเบอลินไปยังเมืองซูริคสวิตเซอร์แลนด์ มีกำหนดออกเดินทางเวลา 21:20 น. แต่ด้วยเหตุขัดข้องทางเทคนิค กว่าจะขึ้นบินได้ก็เลย 23:00 น. ไปแล้ว  สนามบินปลายทางมีช่วงเวลาเคอฟิวระหว่าง 23:30 น. และ 06:00 น. แต่กัปตันก็มั่นใจว่ามีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำเครื่องลงได้เป็นกรณีพิเศษ โชคร้าย... กัปตันเข้าใจผิด  ว่าแล้วก็เตรียมบินกลับที่เดิม แต่เวลานั้นสนามบิน Tegel ปิดแล้ว กัปตันจึงต้องนำเครื่องไปลงที่สนามบิน Schönefeld ทางตอนใต้ของเบอลิน ซึ่ง ณ เวลานั้นมีแท็กซี่ให้บริการอยู่เพียง 5 คัน สร้างความเพลียจิตให้กับผู้โดยสารทั้ง 200 คนมิใช่น้อยไม่ชอบเรียนซ้ำ  ปีการศึกษา 2018-2019 ฮานอย โฮจิมินห์ และเมืองใหญ่อื่นๆ เริ่มต้นด้วยเสียงบ่นของพ่อแม่ผู้ปกครองที่หงุดหงิดเพราะหาซื้อหนังสือเรียนให้ลูกหลานไม่ได้  รัฐบาลเวียดนามลดจำนวนการพิมพ์หนังสือเรียนลงเรื่อยๆ โดยส่งเสริมให้นักเรียนใช้หนังสือมือสองที่รุ่นพี่ฝากไว้กับโรงเรียน เพราะแต่ละปีมีหนังสือเรียนหลายร้อยล้านเล่ม (คิดเป็นมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านดอง) ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ   แม้ทางการจะยืนยันว่าเนื้อหาสาระในเล่มไม่ได้เปลี่ยน หนังสือเรียนมือสองก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ มีผู้วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทำให้พ่อแม่อยากซื้อหนังสือใหม่ให้ลูก ที่สำคัญราคาหนังสือเรียนในเวียดนามก็ถูกมาก (ชุด 6 เล่มสำหรับเด็กประถมราคาไม่เกิน 108 บาท/ ชุด 13 เล่มสำหรับ ม.ต้น ไม่เกิน 200 บาท และชุด 14 เล่มสำหรับ ม.ปลาย ไม่เกิน 220 บาท)   เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ปกครองจ่ายค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนมากที่สุด ข้อมูลระบุว่าปีนี้พวกเขาจ่ายไปเกือบหนึ่งในสามของเงินเดือนอยากดังต้องดี  จีนประกาศผลการจัดอันดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบุคคลในวงการบันเทิง ว่ากันว่านอกจากหน้าตาและความสามารถแล้ว “ความดีงาม” จะทำให้คุณไปได้ไกลในจีนแผ่นดินใหญ่  จากนักร้องนักแสดงเชื้อสายจีนทั้งหมด 100 คน มีเพียง 9 คนเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ว่าด้วยผลงานการแสดง การร่วมงานการกุศล และการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม  อันดับหนึ่งเป็นของ สวี เจิง ดารานำจากภาพยนตร์ตลกเคล้าดราม่า Dying to Survive ที่พูดถึงความพยายามในการเสาะหายาราคาถูกให้กับผู้ป่วยมะเร็ง (หนังเรื่องนี้ทำรายได้แซง จูราสสิก เวิลด์ และทำให้รัฐบาลจีนประกาศลดค่ายารักษามะเร็งด้วย)  อันดับสองและสามได้แก่ สมาชิกวงบอยแบนด์ TFBoys ที่โดดเด่นด้านงานการกุศล  ส่วนดาราสาว ฟ่าน ปิงปิง แม้จะโด่งดังและ “อินเตอร์” ที่สุด แต่เธอเข้ามาที่โหล่เพราะกำลังถูกทางการสอบสวนในข้อหาเลี่ยงภาษีนั่นเองสงครามราคา  ในอังกฤษ โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอยู่ที่ 4,271 ปอนด์(ประมาณ 184,000 บาท) แต่ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นธุรกิจที่ไม่มีการควบคุมเรื่องราคา บริการนี้จึงค่อนข้างแพงและมักไม่ชัดเจนว่าผู้ซื้อบริการจะได้อะไรบ้าง หน่วยงานกำกับดูแลตลาดและการแข่งขันจึงเริ่มสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องต้นทุนและความโปร่งใสในการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ ระหว่างที่รอผล เรามีคู่มวยเด็ดให้ชมไปพลางๆ ... Co-op (ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16) ออกแพคเก็จ “พิธีศพแบบเรียบง่าย” ในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งที่เน้นความหรูหราอย่างบริษัท Dignity   Dignity (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12) ไม่ยอมแพ้ ประกาศลดราคาแพคเก็จบริการของตัวเองลงมาเช่นกัน แต่ Co-op ก็ตอบโต้ด้วยการลดราคาแพคเก็จที่ถูกที่สุดลงจากเดิมอีก 100 ปอนด์  หุ้นของ Dignity ตกฮวบฮาบเพราะนักวิเคราะห์ระบุว่าหากจะสู้ราคากับ Co-op ให้ได้บริษัทจะต้องยอมขาดทุนกำไรประมาณ 1.5 ล้านปอนด์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ผมฟ้อง เพื่อสร้างบรรทัดฐาน

ทุกคนมีสิทธิ สุมาลี พะสิม สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพประกอบ ผมว่า...คนที่คิดที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนสังคม หรือเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับคนด้อยโอกาสยังมีน้อย อีกอย่างก็คือมันไม่ใช่ค่านิยมของคนในสังคมเราด้วย ถ้าคิดจะทำบุญทีก็เลือกไปทำบุญโดยการสงเคราะห์มากกว่า ไม่ค่อยมีใครคิดว่า การทำแบบผมนี่ก็เป็นการทำบุญอีกแบบหนึ่ง เมื่อคุณซื้อรถกับบริษัทไฟแนนซ์ พอผ่อนจนครบติดต่อขอโอนรถแต่กลับถูกปฏิเสธการโอน พร้อมทั้งบอกว่าคุณยังจ่ายไม่หมด ต้องจ่ายให้ครบก่อนทั้งที่คุณจ่ายครบไปแล้ว คุณจะทำอย่างไร… ทินกร ดาราสูรย์ เขาเลือกที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมาย ตามสิทธิที่เขามี โดยการใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2551 เป็นตัวสร้างให้เกิดบรรทัดฐานขึ้นในสังคมฟ้องเพื่อสร้างสิ่งดี ดี“ใครๆ ก็ไม่เห็นด้วยกับผมที่ฟ้องบริษัทไฟแนนซ์ เพราะเขามองว่าจะเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ ไหนเรื่องจะกินเวลานานอีก กับเงินแค่หมื่นกว่าบาท แค่ผมยอมจ่าย ทางบริษัทก็จะทำเรื่องโอนรถให้ผมแล้ว แต่ผมทนไม่ได้เลยอยากจะสร้างบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นมา” คุณทินกร เล่าถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจฟ้อง บริษัทไฟแนนซ์คู่กรณี คุณทินกรตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์คู่กรณี ไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2548 โดยตกลงจ่ายเงินเป็นงวด งวดละ4,823.36 บาท โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น จำนวนทั้งหมด 36 งวด และจะชำระเงินทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน “หลังจากผมชำระเงินครบ 36 งวดแล้ว ก็ติดต่อขอโอนรถ แต่ทางบริษัทไม่ยอมโอนให้ เขาบอกว่าผมยังค้างเขาอยู่อีก 3 งวด เพราะทางบริษัทนำเงินค่างวดของผมที่ชำระล่าช้า ไปหักเป็นค่าปรับ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถามโดยไม่ได้คิดว่า เป็นค่างวดที่ชำระไป พอผมไปดูในสัญญาก็ไม่มีข้อความใดระบุว่าทำแบบนี้ได้ ซึ่งการจะหักค่างวดไปชำระเป็นค่าปรับนั้น ทางบริษัทก็ต้องมีหนังสือแจ้งไปถึงผมภายใน 7 วัน ซึ่งก็ไม่เห็นจะมีจดหมายทวงถามมา พอผมทวงถามไปทางบริษัทก็ตอบผมไม่ได้ ผมจึงให้เขาทำเรื่องโอนรถให้ผม แต่ทางบริษัทก็ยืนยันว่าต้องให้ผมจ่ายเงินจำนวน 14,511.79 ที่ระบุว่าผมค้างค่างวด 3 งวดก่อน จึงจะทำเรื่องโอนรถให้ ผมก็อ้าว แบบนี้ก็มีด้วย ผมก็หาข้อมูลว่าจะร้องเรียนกับหน่วยงานไหนได้บ้าง ตอนแรกโทรศัพท์ไปปรึกษาที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ไม่ได้ร้องเรียนที่นั่น หลังจากนั้นก็โทรศัพท์มาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จนได้ยื่นฟ้องบริษัท ให้โอนรถให้ตามสัญญา” คุณทินกร เข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลโดยฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแพ่ง รัชดา ขอให้บริษัทโอนรถให้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 หลังการยื่นฟ้องของคุณทินกร วันที่ 27 ตุลาคม 2551 ทางบริษัทดังกล่าวได้ยื่นฟ้องแย้งคุณทินกรกลับมา ซึ่งภายหลังคุณทินกรก็ได้ให้คำให้การแก้ฟ้องแย้งไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 และขณะนี้คดีของคุณทินกร อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแพ่ง และศาลได้นัดสืบอีกครั้งในวันที่ 5 มิถุนายน 2552 นี้ ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ฉลาดซื้อ จะนำเสนอให้ท่านผู้อ่านทราบในภายหลัง ศาลไคฟง : ศาลผู้บริโภคการตัดสินใจใช้สิทธิของคุณทินกรครั้งนี้ มีกฎหมาย “วิผู้บริโภค” (พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค) เป็นตัวแปรหลักในการตัดสินใจ เพราะคุณทินกรมองว่ากฎหมายนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค มาก ช่วยเพิ่มช่องทางการใช้สิทธิให้กับผู้บริโภค นั่นคือทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ไม่ต้องเสียค่าทนาย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นฟ้อง “ช่วงแรกๆ ดูศาลยังไม่ค่อยพร้อมนะครับ แต่ผมก็คิดว่าเป็นการดีที่มีกฎหมายแบบนี้ ตอนเข้าไปผมไปแบบตาสีตาสา เข้าไปก็ไปเขียนแบบฟอร์ม แล้วก็เล่าเรื่องต่างๆให้กับเจ้าหน้าที่ศาลฟัง เขาก็พิมพ์คำฟ้องให้เรา โดยเราไม่ต้องไปจ้างทนายให้มาเขียนคำฟ้องให้เรา การตัดสินใจฟ้องบริษัท ผมคิดไม่นาน พอเห็นช่องทางการใช้สิทธิ ก็ตัดสินใจได้ทันทีว่าจะฟ้อง แต่เมื่อเทียบผลทางด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว ผลมันไม่คุ้มกันเลยนะ กับการที่เรายอมจ่ายเงินอีก 10,000 กว่าบาท และการที่เราต้องใช้เวลามาทำเรื่องฟ้อง เสียค่ารถมาศาล ยิ่งคนที่เขาทำงานเป็นเวลา อย่างคนที่ทำงานโรงงานแบบนี้หมดสิทธิเลยนะที่จะเสียเวลามาทำเรื่องแบบนี้ เพราะต้องทำเรื่องลางานมาดำเนินการเรื่อง ซึ่งก็อาจส่งผลกับงานที่ทำอยู่ได้ ถ้าถามว่าทำไมผมทำแบบนี้ ผมอยากสร้างบรรทัดฐาน คือผมมองว่าในสังคมนี้มีการเอาเปรียบทุกอย่าง ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้ประกอบการตั้งใจเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่แล้ว อย่างโทรศัทพ์มือถือ เรื่อง 107 บาท ที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บ ซึ่งตามกฎหมาย กทช.ระบุแล้วว่าจะเก็บกับผู้บริโภคไม่ได้ แต่เขาก็ยังเรียกเก็บ พอเราไม่ยอมจ่ายก็ตัดสัญญาณเรา คนทั่วไปก็เลือกที่จะตัดปัญหาด้วยการยอมจ่ายไป ระยะเว้นวรรคระหว่างรอศาลพิจารณาคดี“ช่วงที่รอศาลอยู่ รถก็ใช้อยู่นะครับ จะเก็บเอกสารที่เราฟ้องศาล ใบแจ้งความไว้ในรถ เผื่อทางบริษัทจะมายึดรถ แต่ผมก็มั่นใจนะว่าศาลจะให้ความยุติธรรมกับเรา เพราะถ้ามองในแง่ของสัญญาแล้ว ทางทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ให้ความเห็นว่าเข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งผมก็มั่นใจว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมอยากบอกต่อการลุกขึ้นมาใช้สิทธิของคุณทินกร ถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกในสายตาของคนแวดล้อมของคุณทินกร “ผมมองว่าทุกวันนี้ คนที่คิดและทำแบบผมนี้มีน้อย บางคนคิดว่าผมบ้าไปแล้ว มีคนรอบตัวไม่เห็นด้วยเยอะ มองว่าเสียเวลา แค่เราจ่ายไปก็จบแล้ว แต่เราต้องมาวิ่งให้เสียเวลางาน เสียเงิน ไหนจะค่ารถ ค่าเสียเวลา ซึ่งมันไม่คุ้มกันแล้ว ผมว่าคนคิดแบบนี้เยอะ แต่คนที่คิดที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนสังคม หรือเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับคนด้อยโอกาสยังมีน้อย อีกอย่างก็คือมันไม่ใช่ค่านิยมของคนในสังคมเราด้วย ถ้าคิดจะทำบุญทีก็เลือกไปทำบุญโดยการสงเคราะห์มากกว่า ไม่ค่อยมีใครคิดว่า การทำแบบผมนี่ก็เป็นการทำบุญอีกแบบหนึ่ง อย่างกรณีของผม ถ้าหากคดีเกิดชนะขึ้นมาคนที่ผ่อนรถยนต์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์แล้วถูกปรับโน้นนี่ แล้วไม่รู้เรื่องอะไร ไม่กล้าท้วงติง ผมว่าก็มีเป็นแสนคนนะ ก็จะใช้คดีของผมเป็นบรรทัดฐานในการเรียกร้องสิทธิ จะช่วยเรื่องเงินได้เยอะทีเดียว พอผมมองตรงนี้ผมก็มีกำลังสู้ เพราะว่าผลไม่ใช่ได้แค่ผมคนเดียว”

อ่านเพิ่มเติม >