ฉบับที่ 163 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2557 บังคับใช้ “ค่าแท็กซี่มิเตอร์” 3 จังหวัดใหญ่ ภูเก็ตเรียกในสนามบินเพิ่ม 100 บ. กระทรวงคมนาคมประกาศอัตราแท็กซี่มิเตอร์ 3 จังหวัดใหญ่ เชียงใหม่-ขอนแก่น-ภูเก็ต 2 จังหวัดแรกเริ่มต้นที่ 2 กม.แรก 40 บาท ส่วนภูเก็ตเรียกในสนามบินบวกเพิ่ม 100 บาท เริ่ม 17 ก.ย. 57 จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 บาทระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 10 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อ ไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาท ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้กำหนด ดังนี้ (1) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารเรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท (2) กรณีการจ้างจากภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 10 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อ ไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาทค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ในกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสาร เรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 50 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 15 กิโลเมตรละ 12 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 15 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาท ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้กำหนด ดังนี้ (1) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารเรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสาร อีก 50 บาท (2) กรณีการจ้างจากภายในท่าอากาศยานภูเก็ต ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจาก ที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 100 บาท ที่มา  http://www.ratchakitcha.soc.go.th   "เครดิตบูโร" เตือน! อย่าหลงเชื่อ เรื่องลบข้อมูลแบล็กลิสต์ได้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า จากข่าวที่มีการจับกุมผู้โฆษณาชวนเชื่อประกาศทางอินเทอร์เน็ตว่าสามารถรับทำบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน รถยนต์ ให้กับผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำติดแบล็กลิสต์หรือปลดล็อกหนี้จากเครดิตบูโรนั้น เครดิตบูโรอยากจะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า ข้อมูลในฐานข้อมูลมิใช่ข้อมูลแบล็กลิสต์ หรือเป็นข้อมูลที่แสดงความไม่น่าเชื่อถือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด สิ่งที่จัดเก็บตามที่กฎหมายกำหนด คือประวัติการก่อหนี้และประวัติการชำระหนี้ของบัญชีสินเชื่อที่บุคคลนั้นมีอยู่กับสมาชิกของเครดิตบูโร โดยปัจจุบันเครดิตบูโรมีสมาชิกทั้งสิ้น 80 สมาชิก ทั้งนี้ข้อมูลของการก่อหนี้ประเภทต่างๆ รวมทั้งประวัติการชำระเงินที่ไม่มีค้างชำระหรือประวัติการค้างชำระ ถ้ามีตามที่เกิดขึ้นจริงจะมีการจัดเก็บตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เครดิตบูโรไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ลบทิ้งให้ต่างไปจากความเป็นจริงได้ และไม่มีใครไปปลดล็อกอะไรได้ตามที่มีการโฆษณาหลอกลวง อีกทั้งเครดิตบูโรไม่มีการจัดเก็บข้อมูลการชำระ หรือค้างชำระเกี่ยวกับสาธารณูปโภคทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์ รายการบัญชีเงินฝาก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือข้อมูลทรัพย์สิน เงินฝากแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดเก็บ หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษในทางอาญา “การจะแก้ไขข้อมูลในเครดิตบูโรสามารถทำได้ในกรณีที่ข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยต้องมีหลักฐานชัดเจนที่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้องเช่น เจ้าหนี้-ลูกหนี้ยืนยันว่าไม่ถูกต้อง ศาลมีคำพิพากษา ฯลฯ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง และอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด การทำธุรกรรมทางการเงินหรือการขอสินเชื่อนั้น ควรติดต่อสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตโดยตรงจะปลอดภัยที่สุด” นายสุรพล กล่าว   ห้ามช่อง 3 ออริจินอล ออนเเอร์ผ่านโครงข่ายเคเบิล ดาวเทียม ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในระบบอนาล็อกของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด สิ้นสุดสถานะการเป็นฟรีทีวี ตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) โดยไม่ขยายเวลาให้อีก จากที่ก่อนหน้านี้เคยขยายเวลาการเป็นฟรีทีวีให้ช่อง 3 อนาล็อกมาแล้วเป็นเวลา 100 วัน นับแต่วันที่ 26 พ.ค. โดยครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ซึ่งส่งผลให้ช่อง 3 อนาล็อก จะไม่สามารถออกอากาศในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลได้อีกต่อไป แต่การรับชมผ่านเสาอากาศหนวดกุ้งและก้างปลายังเป็นไปตามปกติ จากกรณีดังกล่าว ทางช่อง 3 ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติของ กสท. พร้อมขอให้ศาลทุเลาการบังคับใช้มติของ กสท.ดังกล่าว เพื่อให้ช่อง 3 ยังคงออกอากาศผ่านเคเบิลและทีวีดาวเทียมได้ต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่ศาลยกคำร้อง ช่อง 3 จึงได้อ้างประกาศ คสช.ฉบับที่ 27 ว่า คุ้มครองให้โทรทัศน์ทุกช่องออกอากาศได้ทุกช่องทาง ทั้งภาคพื้นดิน ดาวเทียมและเคเบิล แต่ทาง คสช. ยืนยันว่า ไม่มีประกาศฉบับใดของ คสช.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบอนาล็อกหรือทีวีดิจิตอล ช่อง 3 จึงหันมาอ้างจำนวนคนดูช่อง 3 ผ่านระบบเคเบิลและดาวเทียมว่ามีมากถึง 70% ดังนั้นช่อง 3 จึงไม่ควรจอดำจากเคเบิลและดาวเทียม ซึ่งการอ้างดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ช่อง 3 กำลังจับคนดูเป็นตัวประกัน หลังจากนั้น ได้มีการประชุม กสท.เมื่อ วันที่ 5 ก.ย. แต่ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้การประชุมล่ม และนัดประชุมใหม่ในวันที่ 8 ก.ย. อย่างไรก็ตาม กสท. 3 คน ที่เข้าประชุมในวันที่ 5 ก.ย. ประกอบด้วย น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ ,พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ และ ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตภาษ์นันท์ ได้เปิดแถลงจุดยืนส่วนตัวต่อปัญหาช่อง 3 ว่า กสท.ต้องปฏิบัติตามมติเมื่อ วันที่ 1 ก.ย.ด้วยการออกคำสั่งทางปกครองแจ้งให้โครงข่ายเคเบิลและดาวเทียมห้ามออก อากาศช่อง 3 อนาล็อก เนื่องจากไม่มีสถานะเป็นฟรีทีวีแล้ว และให้เคเบิลและดาวเทียมแจ้งผู้ชมทราบเป็นเวลา 15 วันว่าจะไม่สามารถรับชมช่อง 3 อนาล็อกได้อีก หลังการแถลงดังกล่าว ปรากฏว่า ช่อง 3 ไม่พอใจ จึงได้ส่งทนายไปฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 ก.ย.กล่าวหาว่า กสท. ทั้งสามคนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดย น.ส. สุภิญญาถูกกล่าวหามากสุด 3 ข้อหา คือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาท และฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 18 ก.ย. 57 ด้าน น.ส.สุภิญญา กล่าวถึงกรณีที่ถูกช่อง 3 ฟ้องว่า อาจพิจารณา ฟ้องกลับ เนื่องจากเห็นว่าช่อง 3 มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพราะส่งทนายไปฟ้องก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ด กสท. จึงเห็นว่าการกระทำของช่อง 3 อาจเข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ภาคประชาสังคมจี้รัฐบาลบรรจุระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวในรัฐธรรมนูญ 7 กันยายน 2557 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จัดเสวนา ‘ระบบหลักประกันสุขภาพยุค คสช. ปฏิรูปอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเกี่ยวกับประเด็นหลักประกันสุขภาพอยาก ให้มีการใช้จ่ายเฉพาะคนยากจน นั่นแสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ท่านยังมองครอบคลุมเฉพาะกรณีสงเคราะห์ผู้ยากไร้เท่านั้น ทั้งที่ความจริงสิ่งเหล่านี้คือสิทธิของประชาชนทุกคน จึงทำให้เราต้องลุกขึ้นมาเฝ้าจับตา เพราะหวั่นว่าจะมีบุคคลบางกลุ่มพยายามล้มหลักการสำคัญนี้ “เราอยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพมี มาตรฐานเดียว แต่จะรวมกองทุนต่าง ๆ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ อย่างไรก็ตาม หากรวมเป็นกองทุนเดียวกันได้ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ” ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าว และว่าในฐานะที่ถูกเสนอชื่อเข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะทำทุกช่องทางให้เกิดขึ้น เพราะเราอยากเห็นทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติ ได้รับการดูแล น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อว่า แนวทางการปฏิรูปจึงควรบรรจุหลักการให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีมาตรฐานเดียว ไว้ในรัฐธรรมนูญ สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจัดการกับนโยบายที่อาจเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนรอบด้าน ด้าน นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้แทนชมรมแพทย์ชนบท ระบุถึงความเป็นห่วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ที่เข้ามาบริหารงานด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี ต้องพบกับข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ ระบบหลักประกันสุขภาพยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเตรียมทางออกไว้ โดยการปรับลดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ ส่วนหน่วยบริการต้องปรับเพิ่มประสิทธิภาพการบริการมากขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งระหว่าง สธ.กับ สปสช. นั้น เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจาก สธ.ยังมีแผนเดินหน้าดำเนินการรวบอำนาจกลับคืน ยกตัวอย่าง การจัดตั้งเขตบริการสุขภาพ แต่ความจริงแล้วอยากให้หันกลับมาทบทวนภารกิจเดิมของตัวเองมีความเหมาะสมหรือ ไม่ เพราะปัจจุบัน สธ.มีงบประมาณอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ แต่กลับไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เช่น กรมสุขภาพจิตไม่นำผู้ป่วยทางจิตมารับการบำบัดอย่างเต็มที่ กรมควบคุมโรคยังไม่มีวิธีควบคุมโรคท้องถิ่นที่ดีพอ อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบบริการฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินโยบายที่ดี แต่เกิดปัญหาในเชิงบริการจัดการมาก จึงเรียกร้องให้ สธ.ออกประกาศบังคับให้โรงพยาบาลเอกชนยอมรับอัตราร่วมจ่ายกรณีฉุกเฉิน และต้องมีระบบสำรองเตียงนอนขั้นต่ำ 10% ให้กับผู้ป่วยทุกคนและเพิ่มตามสัดส่วนกำไรของโรงพยาบาล “เราได้รับจดหมายจากสภาผู้แทนราษฎรแจ้งกรณีประชาชนขอเข้าชื่อ 1 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายด้านการบริการสาธารณสุขไม่สามารถดำเนินการได้ แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกยกเลิก และยังไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคสช.นำเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยด้วย โดยทำอย่างไรให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เบื่อจานดาวเทียม

เมืองไทยเป็นเมืองแห่งมือใครยาวสาวได้สาวเอาจริงๆ รูปธรรมหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของธุรกิจจานดาวเทียม จากผู้ริเริ่มเล่นที่สำคัญคือ บริษัท ชินบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ต(ประเทศไทย) จำกัด ในเครือกลุ่มชินคอร์ป ที่เข้ามาเป็นผู้จัดจำหน่ายจานดาวเทียมเหลืองภายใต้ชื่อ DTVผลปรากฏว่าภายใน 6 เดือนสามารถหน่ายได้ถึง100,000 ชุด ทำให้ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานจากบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการธุรกิจบอกรับสมาชิก หรือ เคเบิลทีวี ต้องปรับตัวด้วยการขายพรีเพดจานดาวเทียม โดยไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนแข่งกับเจ้าเดิมบริษัท โพลี เทเลคอมจำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์จานดาวเทียมภายใต้ชื่อ PSI และบริษัท สามารถ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ของกลุ่มสามารถคอร์ป การปลดล็อกค่าบริการรายเดือน ผนึกกำลังทรูวิชั่นส์และบริษัท ทรูมูฟ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยผู้ที่เป็นลูกค้าโทรศัพท์ระบบเติมเงินของ ทรูมูฟสามารถซื้อจานแดงทรูวิชั่นส์ราคาพิเศษและมีสิทธิดูทรูวิชั่นส์อีกจำนวน 7 ช่อง ไม่ว่าใครจะเก่งกาจกว่าใครในทางการตลาดแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่เราทุกคนเสียร่วมกัน คือ ทัศนอุจาดตึกที่ไม่มีความงามอยู่แล้ว ยิ่งหมดความงาม มองไปสองข้างทาง หากเจอตึกไม่ว่าจะซ้ายจะขวาจะเดินหรือนั่งรถก็จะสบสายตากับจานดาวเทียม จานดาวเทียม ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เต็มบ้านเต็มเมืองในปัจจุบันเห็นแล้วก็พาลให้หงุดหงิดว่า ตึกต่าง ๆ ไม่ต้องรับผิดชอบจัดบริการไว้ให้กับลูกค้าเลยหรือทำให้ลูกค้าต้องซื้อบริการด้วยตนเอง หรือ บริการแบบนี้ไม่ต้องจ่ายสตางค์ ได้มาฟรีเหมือนกับที่ได้รับแจกซิมฟรี เลยไม่ต้องคิดกัน ว่า “ซิม” มาจากไหน พูดเรื่องแบบนี้ คงมีคนหมั่นไส้ว่า ทีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และมีปัญหาทับคนตาย ไม่เสนอให้ทำอะไรต้องบอกว่า หากเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครจะยกเลิกป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทันที แม้แต่เสาไฟ สายไฟ รกรุงรังก็ต้องบอกว่า ไม่ชอบเหมือนกัน และจะหาทางยกเลิกอยากเห็นการแก้ไขปัญหา แต่จะให้ทำเสาไฟเองตอนนี้ยังทำไม่ได้ จะบังคับให้เขาวางใต้ดินก็อ้างว่าไม่มีงบประมาณ แต่สำหรับจานดาวเทียม (ที่น่าเบื่อ) สิ่งสำคัญบริษัทได้โฆษณาสินค้าของตนเองสบายโดยไม่ต้องลงทุนเห็นทีกรุงเทพมหานครหรือเทศบาลจังหวัดต่างๆ น่าจะเก็บภาษีโฆษณาที่เข้าข่ายภาษีป้ายซะให้เข็ด เพราะไม่อย่างนั้น แนวการจัดการให้เมืองมีความงาม การใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นจานดาวเทียม เสาโทรศัพท์มือถือ คงไม่มีใครคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจังแม้แต่ปัญหาใหญ่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยการแบ่งกลุ่มประชาชนตามประเภทสีของจานดาวเทียม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 “จานดาวเทียม” และ “กล่องรับสัญญาณ” ติดเจ้าไหนถูกใจที่สุด

หากเสาอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์แบบเดิมๆ อย่างเสาอากาศที่เป็นโครงเหล็กแบบก้างปลาหรือเสาขนาดเล็กแบบหนวดกุ้ง ไม่อาจตอบสนองอรรถรสในการชมจนทำให้หลายๆ คนรู้สึกหงุดหงิดใจ เพราะภาพก็ไม่ชัด สัญญาณก็ขัดข้อง บางช่องก็ดูไม่ได้ แต่ปัญหาเหล่านี้หมดไป พร้อมการมาถึงของ “จานดาวเทียม” และ “กล่องรับสัญญาณ” นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงการรับชมทีวีของคนไทย นอกจากจะดูทีวีได้ชัดแจ๋วยิ่งกว่าเดิม ยังได้ดูช่องรายการต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็น 100 ช่อง แถมยังเป็นแบบ “ขายขาด” ติดแล้วดูฟรีไม่มีค่าบริการรายเดือน จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเดี๋ยวนี้มองไปตามตึกรามบ้านช่องต่างๆ ไม่ว่าจะบ้านเล็กบ้านใหญ่ ห้องเช่าราคาประหยัดหรือคอนโดหรูราคาแพง เราก็จะพบเห็นจานดาวเทียมหลากสีถูกติดอยู่ทั่วไป ใครที่กำลังคิดจะติดจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณไว้ที่บ้าน หรืออาจจะติดไปแล้ว (แถมเชื่อว่าคงจะมีหลายคนที่ติดมากกว่า 1 จาน หรือ 1 กล่อง)  ที่มีข้อสงสัยว่าแต่ละเจ้าแต่ละผู้ผลิตเขามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันยังไง ติดจานไหนโดนใจกว่าหรือติดกล่องไหนคุ้มค่ามากที่สุด ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาพาไปตะลุยตลาดกล่องรับสัญญาณและจานดาวเทียม ไปดูกันสิว่าแต่ละยี่ห้อเขามีจุดขายอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง   1. กล่องทรูไลฟ์พลัส (True Life+) ผู้ผลิต บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ราคา เฉพาะกล่อง 1,290 บาท ราคาพร้อมจาน จานทึบ (จานแดง) ระบบ KU – Band  พร้อมค่าติดตั้ง บวกเพิ่ม 2,050 บาท (จาน 800 บาท ค่าอุปกรณ์รับสัญญาณ 250 บาท ค่าติดตั้ง 1,000 บาท) จานแบบโปร่งขนาด 1.5 เมตร รับได้ทั้งระบบ KU – Band และ C – Band ราคารวมค่าติดตั้ง จ่ายเพิ่ม 3,200 บาท (จาน 900 บาท ค่าอุปกรณ์รับสัญญาณ 800 บาท ค่าติดตั้ง 1,500 บาท) จานแบบโปร่งขนาด 1.8 เมตร รับได้ทั้งระบบ KU – Band, C – Band และ NSS6 ราคารวมติดตั้ง 4,200 – 4,500 บาท (จาน 1,200 – 1,500 บาท ค่าอุปกรณ์รับสัญญาณ 1,000 บาท ค่าติดตั้ง 2,000 บาท) จุดเด่น มีช่องรายการด้านบันเทิงประเภท หนัง และ เพลง เฉพาะของตัวเอง (ไม่มีในกล่องเจ้าอื่น) มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศ คือ พรีเมียร์ ลีก ของประเทศอังกฤษ (เฉพาะบางคู่เท่านั้น ต่างจากแบบที่บอกรับสมาชิกที่มีถ่ายทอดสดทุกคู่) หากเป็นจานทึบระบบ KU – Band สามารถรับชมช่องรายการร่วม 47 ช่อง จานโปร่งขนาด 1.5 เมตร สามารถดูได้ 170 ช่อง ส่วนจานโปร่งขนาด 1.8 เมตร สามารถดูได้ 240 ช่อง นอกจากนี้ หากเป็นคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบ ทรู มูฟ หรือ ทรู มูฟ เอช ยังมีสิทธิได้รับชมช่องรายการเพิ่มขึ้นอีก 12 ช่อง truevisions.truecorp.co.th 2. กล่องพีเอสไอทรูทีวี (PSI – True Tv) ผู้ผลิต บริษัท โพลี เทเลคอม จำกัด (Poly Telecom Co.LTD) ราคา เฉพาะกล่อง 890 บาท ราคารวมจานรับสัญญาณระบบ KU – Band (จานดำ) 1,990 บาท จุดเด่น เป็นการรวมตัวกันของ 2 ผู้ให้บริการ คือ พีเอสไอ (PSI) และ ทรู วิชั่นส์ (True Visions) ซึ่งนอกจากจะได้รับชมรายการในระบบ KU – Band แล้ว ยังได้รับชมช่องรายการจากทางทรู วิชั่นส์ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีช่องที่น่าสนใจอย่าง True 10 ซึ่งเป็นช่องที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศลิขสิทธิ์ของทรู วิชั่นส์ (ช่องรายการที่เป็นของทรู วิชั่นส์ จะคล้ายกับช่องรายการของกล่องทรูไลฟ์พลัส) www.psisat.com 3. กล่องไอพีเอ็ม พีวีอาร์ พลัส (IPM - PVR Plus) ผู้ผลิต บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด ราคา ราคากล่อง + จานระบบ KU - Band (จานส้ม) 2,990 บาท จุดเด่น มีช่องรายการเฉพาะของตัวเองกว่า 30 ช่อง ทั้ง ภาพยนตร์ การ์ตูน เพลง ข่าว สารคดี แต่ส่วนใหญ่เป็นช่องที่ผลิตในไทย ไม่ใช่ช่องลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ช่องรายการที่น่าสนใจคือช่องท้องถิ่น ที่นำเสนอศิลปะ วัฒนธรรม พื้นบ้านของไทย โดยที่ช่องรายการจะแบ่งเป็นภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้ รวมแล้วช่องรายการที่สามารถรับชมได้จะอยู่ที่ 80 กว่าช่อง www.ipmtv.tv 4. กล่องดีทีวี-เอชดีวัน (DTV - HD1) ผู้ผลิต บริษัท ดีทีวี เซอร์วิส จำกัด ราคา เฉพาะกล่อง 4,990 บาท ราคารวมจานรับสัญญาณระบบ KU – Band (จานเหลือง) 5,490 บาท จุดเด่น เป็นกล่องรัฐสัญญาณที่มีช่องรายการที่ออกอากาศในระบบ HD (High-definition) ที่ให้ความคมชัดของภาพและเสียงมากกว่าการออกอากาศแบบทั่วไป (สาเหตุที่ทำให้กล่องมีราคาสูง) แต่ใช่ว่าทุกช่องรายการจะเป็นระบบ HD ทั้งหมด เพราะจะมีช่องรายการซึ่งเป็นช่องเฉพาะของกล่องอยู่ 5 ช่องที่ออกอากาศในระบบ HD ประกอบด้วยช่องรายการวาไรตี้ 1 ช่อง ช่องภาพยนตร์ 1 ช่อง ช่องกีฬา 2 ช่อง (มีถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศ) และช่องสารคดีอีก 1 ช่อง ช่องอื่นๆ ที่เหลือก็จะเป็นช่องรายการทั่วไปในระบบ KU – Band รวมช่องรายการทั้งหมดที่สามารถรับชมได้อยู่ที่ 79 ช่อง www.dtvthai-hd.com 5. กล่องจีเอ็มเอ็มแซท (GMMZ) ผู้ผลิต บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ราคา เฉพาะกล่อง 999 บาท (ได้รับค่าโทรศัพท์มือถือระบบ AIS และ 12 CALL 1,200 บาท) จุดเด่น เพราะผลิตมาเฉพาะกล่อง คนที่จะติดจะต้องมีจานดาวเทียมอยู่แล้วที่บ้าน (จานดาวเทียมของเจ้าไหนก็ได้) รองรับได้ทั้งระบบ KU – Band และ C – Band ช่องรายการที่ได้รับชมหลักๆ ก็เป็นไปตามระบบของจานดาวเทียม โดยจะมีช่องรายการพิเศษเฉพาะ 4 ช่อง คือช่องรายการวาไรตี้ ช่องซีรีส์ต่างประเทศ ช่องสารคดี และช่องถ่ายทดสดฟุตบอลต่างประเทศ ซึ่งกล่อง GMMZ ได้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศถึง 6 ลีก 6 ประเทศ เช่น บุนเดสลีกา เยอรมัน, ลีกเอิง ฝรั่งเศส, เจลีก ญี่ปุ่น ฯลฯ (ไม่ซ้ำกับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดของ ทรู วิชั่นส์) www.gmmz.tv 6. กล่องซันบ็อกซ์ (Sunbox) ผู้ผลิต บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ราคา เฉพาะกล่อง 1,590 บาท (ได้รับค่าโทรศัพท์มือถือระบบ Dtac 1,590 บาท) จุดเด่น ผลิตมาเฉพาะกล่องแบบเดียวกับกล่องจีเอ็มเอ็มแซท ซื้อแล้วต้องนำไปติดกับเจ้าดาวเทียมของเจ้าอื่น รองรับได้ทั้งระบบ KU – Band และ C – Band จุดขายหลักคือมีช่องรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างเทศ เป็นลาลีกา ลีก จากประเทศสเปน (ไม่ซ้ำกับทั้งของ ทรู วิชั่นส์ และ กล่องจีเอ็มเอ็มแซท)  ช่องที่เหลือก็จะเป็นช่องรายการที่ออกอากาศให้รับชมฟรีทั่วไปตามแต่ระบบของจาน www.rssunbox.com หมายเหตุ : กล่องรับสัญญาณและจานดาวเทียมที่ฉลาดซื้อนำมาแนะนำทั้งหมดเป็นแบบขายขาด ไม่เสียค่าบริการรายเดือน : ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แจ้งในเว็บไซต์ของแต่ละผู้ผลิต กรณีซื้อผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง   เรื่องที่ควรรู้ก่อนติดจานดาวเทียม 1.ประเภทของจาน และ ระบบของสัญญาณ ก่อนที่เราจะติดตั้งจานดาวเทียม ต้องไม่ลืมศึกษาข้อมูลของจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณว่ามีกี่ชนิดกี่ประเภทที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งที่นิยมกันอยู่ทุกวันนี้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ จานดาวเทียมระบบ C – Band (ซี – แบนด์) และระบบ KU – Band (เคยู – แบนด์)   -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ความแตกต่างของจานรับสัญญาณระบบ C – Band และระบบ KU – Band จานรับสัญญาณระบบ C – Band ลักษณะของจานจะเป็นแบบจานตะแกรงพื้นผิวโปร่ง ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางจะอยู่ที่ประมาณ 5 ฟุต หรือ 1.5 เมตร ไปจนถึง 10 ฟุต หรือ 3 เมตร ซึ่งจานระบบ C – Band สามารถรับสัญญาณได้คลอบคลุมเป็นวงกว้าง รับสัญญาณได้ทั้งดาวเทียมในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีรายการทีวีให้รับชมหลายช่องรายการมากกว่าจานในระบบ KU – Band ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่องฟรีทีวีจากต่างประเทศ แต่ด้วยขนาดของจานซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ต้องอาศัยพื้นที่ในการติดตั้งเหมาะสำหรับคนที่บ้านมีดาดฟ้า ผู้อาศัยอยู่ตาม อพาร์ทเม้นท์ หรือ คอนโด อาจยากในการติดตั้งเพราะมีพื้นที่ไม่เพียงพอ จานรับสัญญาณระบบ KU – Band จะเป็นจานทึบขนาดจะเล็กกว่าจานแบบตะแกรงโปร่งของ C-Band เส้นผ่าศูนย์กลางจะอยู่ที่ 2 ฟุต หรือ 60 ซม. เพราะความที่ใช้รับสัญญาณภายในประเทศ บวกกับความเข้มของสัญญาณมีมากกว่าจานในระบบ C – Band ขนาดของจานระบบ KU – Band จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากก็สามารถรับสัญญาณได้อย่างคมชัด ซึ่งด้วยขนาดที่เล็กกว่าจานในระบบ C – Band ค่อนข้างมาก แถมการติดตั้งก็มีความยุ่งยากน้อยกว่า จึงทำให้จานระบบ KU – Band เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะติดได้ทั่วไป ทั้งตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ หรือแม้แต่ตามหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ที่มีพื้นที่จำกัด แต่จานระบบ KU – Band ก็มีข้อเสียตรงที่ในช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักและมีเมฆหนาทึบ การรับชมทีวีผ่านสัญญาณระบบ KU – Band จะมีปัญหาไม่สามารถรับชมได้ เพราะสัญญาณจะถูกบดบัง ขณะที่จานรับสัญญาณระบบ C – Band จะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจากสัญญาณที่ส่งมาจะมีความเบาบางกว่า พื้นที่ของจานในการรับสัญญาณก็มีมากกว่า เวลาที่ฝนตกหนักจึงไม่เป็นปัญหาต่อการรับสัญญาณ -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 2.ช่องรายการที่ต้องการรับชม สิ่งที่ผู้ผลิตจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณแต่ละเจ้านำมาเป็นจุดขายแสดงความพิเศษและแตกต่างของตัวเองก็คือ “ช่องรายการ” ซึ่งเมื่อลองดูในภาพรวมจะเห็นว่า ช่องรายการที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกันมากนัก จะมีที่แตกต่างกัน (ที่แต่ละเจ้าจะใช้เป็นจุดขายในการโฆษณา) แค่ไม่กี่ช่อง ส่วนมากจะเป็นช่องรายการจากต่างประเทศ เช่น การแข่งขันกีฬา ภาพยนตร์ และสารคดี  โดยเฉพาะในจานรับสัญญาณระบบ KU – Band ซึ่งส่วนใหญ่จะรับสัญญาณของรายการของประเทศไทย (อาจมีของต่างประเทศบ้าง แต่จะเป็นของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง อย่าง ลาว หรือ กัมพูชา) ช่องรายการที่สามารถรับชมได้จะอยู่ที่ประมาณ 80 – 100 ช่อง แต่หากเป็นจานรับสัญญาณในระบบ C – Band จะสามารถรับชมได้จำนวนช่องมากกว่า คือ ตั้งแต่ 100 ช่องขึ้นไป แถมยังได้รับชมช่องฟรีทีวีของต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น แม้จะมีช่องรายการให้ดูเป็น 100 ช่อง  แต่เชื่อว่าคนที่ดูทีวีส่วนใหญ่คงไม่ได้ดูทั้งหมดทุกช่องที่มี จะมีที่ดูอยู่เป็นประจำเพียงแค่ไม่กี่ช่อง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะติดตั้งเราควรต้องรู้ก่อนว่า จานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณที่เราเลือกนั้นมีช่องรายการอะไรบ้าง มีช่องที่เราสนใจหรือเปล่า หรือถ้าชอบบางรายการเป็นพิเศษ อย่างเช่น เป็นคนชอบดูหนัง ชอบดูข่าว หรือชอบดูกีฬา ก็ต้องลองพิจารณาดูว่าจานและกล่องที่เราจะติดนั้นมีสัดส่วนของรายการต่างๆ เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เนื้อหาและคุณภาพของรายการตรงกับความต้องการของเราหรือไม่   3.ราคา ราคาก็ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่หลายๆ คนใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ ซึ่งราคาถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกัน ในระบบจานรับสัญญาณแบบ KU – Band ขณะที่ระบบ C – Band ราคาก็จะสูงขึ้นมาอีก ซึ่งราคาของกล่องรับสัญญาณพร้อมจานดาวเทียมระบบ KU – Band จะอยู่ที่ 2,000 – 3,000 กว่าบาท แต่ถ้าหากว่าตัวกล่องระบุว่าเป็นระบบที่ถ่ายทอดสัญญาณภาพโทรทัศน์แบบละเอียดและคมชัดกว่าแบบธรรมดา หรือที่เรียกว่าระบบ HD (High-definition) ราคาก็จะสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 7,000 บาท สำหรับจานระบบ C – Band ราคาทั้งชุดจะอยู่ที่ 2,000 บาทขึ้นไป โดยปกติยิ่งขนาดของจานมีความกว้างมากขึ้นเท่าไหร่ ราคาก็มักจะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ในกรณีที่ซื้อเฉพาะตัวกล่องรับสัญญาณราคาก็จะลดลงมาอีกประมาณ 500 – 1,000 บาท ที่สำคัญอย่าลืมบวกค่าบริการติดตั้งซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับร้านตัวแทนจำหน่ายที่เราเลือก   4.บริการหลังการขาย การบริการหลังการขายเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญในการที่จะเลือกซื้อจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณ ทั้งเรื่องของการซ่อมบำรุงรักษากรณีที่สินค้าเมื่อใช้งานแล้วเกิดการชำรุดเสียหาย หากเกิดปัญหาเรื่องการรับชมสามารถดูแลหรือให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาได้ รวมถึงเรื่องของช่องรายการต่างๆ ที่เปิดให้รับชมต้องเป็นไปตามที่โฆษณาไว้ หากไม่สามารถเปิดให้รับชมได้ต้องมีการแจ้งถึงเหตุผล รวมทั้งในกรณีหากมีการเพิ่มช่องรายการก็ควรต้องมีการแจ้งวิธีการรับชม ถ้าต้องมีการเข้ารหัสผ่านกล่องรับสัญญาณก็ต้องการแจ้งให้กับผู้ชมทราบ   5.พื้นที่ที่จะใช้ติดตั้งจานดาวเทียม พื้นที่ที่จะใช้ติดตั้งวางตำแหน่งจานดาวเทียมถือเป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆ คนมองข้าม โดยเฉพาะจานรับสัญญาณในระบบ C – Band ขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่พอสมควรในการติดตั้ง นอกจากนี้เพื่อประสิทธิภาพในการรับชมจำเป็นต้องคำนึงถึงทิศทางในการรับสัญญาณของตัวจาน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของการติดตั้งเป็นหน้าที่ของช่างผู้ชำนาญงาน แต่เราในฐานะผู้ซื้อสินค้าก็ควรทำความใจในเรื่องนี้ไว้บ้าง หลักการง่ายๆ ก็คือ ต้องติดตั้งไว้ในจุดที่ปลอดภัย อยู่ในพื้นที่ที่มีความแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักของจานได้ และต้องไม่อยู่ใกล้กับจุดที่อาจเกิดอันตรายอย่าง สายไฟ หม้อแปลงไฟฟ้า หรือเสาไฟฟ้าแรงสูง และจานที่ติดตั้งควรเป็นจุดสะดวกต่อการเข้าถึงเพื่อซ่อมบำรุงแก้ไข

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 140 จับตาการจัดการปัญหา “คอนเทนต์ขยะ” จากทีวีดาวเทียม

หลังจากปล่อยให้คนไทยได้ลิ้มชิมรสชาติรายการจากทีวีดาวเทียมที่มี “คอนเทนต์ขยะ” (เนื้อหารายการแย่ๆ ทั้งขายสินค้าอันตราย สินค้าอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รายการขายเซ็กส์ ยาอวดอ้างสรรพคุณทางเพศ ฯลฯ) กันมาเนิ่นนานหลายปี ซึ่งมีคนเจ็บ ตายกันไปพอสมควรแล้ว ในที่สุด กสทช. ก็เตรียมคลอด ระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดาวเทียม เสียที ------------------------------------------------------------- เสพสื่อขยะกันมานาน...กว่ากลไกคุ้มครองจะมาถึง พฤติกรรมการเสพสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตมาก หลายรายการผู้ชมไม่ต้องรอเฝ้าหน้าจออีกแล้ว เพราะสามารถย้อนกลับมาดูได้ ด้วยการดูรายการย้อนหลังจากช่อง ยูทูป เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต และรายการยอดนิยมในปัจจุบันก็ไม่ได้จำกัดหรือผูกขาดเฉพาะแต่ในฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องเท่านั้น แต่เป็นรายการโทรทัศน์ที่รับชมผ่านทีวีดาวเทียม (หรือเคเบิลทีวี ที่นำคอนเทนต์มาจากทีวีดาวเทียมอีกที)   ด้วยจำนวนช่องที่มีเป็นจำนวนมากถึง 200 ช่อง ทำให้ทีวีดาวเทียมต้อนรับผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ที่เป็นใครก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็น “ขาใหญ่” ในวงการเท่านั้น เรียกว่าใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์เองได้ มีช่องรายการของตนเองได้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เกิดทางเลือกที่หลายหลายสำหรับผู้ชมรายการโทรทัศน์ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับชมรายการที่มีความแตกต่างจากฟรีทีวีปกติ รูปแบบรายการที่น่าสนใจ ใหม่ แนวและตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย ที่สำคัญคือ เปิดโอกาสผู้ชมเจอกับรายการที่ไม่เหมาะสม หลอกลวง ชวนเชื่อ งมงาย ตลอดจนรายการที่มุ่งแต่จะขายสินค้า และทำโฆษณาอย่างไร้จรรยาบรรณ  โดยรายการเหล่านี้สามารถออกอากาศซ้ำๆ (รีรัน) ได้มากกว่า 1 ครั้งในวันเดียวกันด้วย เรียกว่าเป็นสวรรค์สำหรับ รายการประเภทขายสินค้าหลอกลวงกันเลยทีเดียว ที่สำคัญไม่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎ ระเบียบ ใดๆ ด้วย   หากมองจากฐานผู้ชมรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน คนไทยเปิดรับกับทีวีดาวเทียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขล่าสุด Penetration อัตราการเข้าถึงครัวเรือนไทยของจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี จากการสำรวจของบริษัท AGB Nielsen ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุดเดือน ส.ค.2555 จากเดิมในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว อัตราการเข้าถึงเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 50% เท่ากับ 10.5 ล้านครัวเรือนไทย เพิ่มเป็นประมาณอัตราการเข้าถึงประมาณ 60% ของครัวเรือนไทย หรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือนแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าครัวเรือนไทยเกินกว่า 90% น่าจะติดตั้งเคเบิลทีวีและจานดาวเทียมเรียบร้อยแล้ว คนไทยนิยมชมชอบการเสพสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ จาก "รายงานประเมินผลกระทบการออก หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์" ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของ กสทช. ระบุว่า การเข้าถึงสื่อต่างๆ ของคนไทย ทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงได้สูงสุดถึง 98% หรือประมาณ 63 ล้านคน วิทยุ 40 ล้านคน หนังสือพิมพ์ 12 ล้านคน (การเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ของครัวเรือนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก ที่อยู่ในระดับประมาณ 84% ของครัวเรือน แต่อัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสิ่งพิมพ์ของไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียแปซิฟิกถึง 3 เท่า) เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงทีวีดาวเทียมของผู้ชมจึงรุดหน้าไปก่อน “การกำกับควบคุม” ซึ่งอยู่ภายใต้ พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิ่งเกิดเมื่อ 20 ธันวาคม 2553 แต่...กว่าจะได้ คณะกรรมการ กสทช. ตัวจริง 11 คน ก็เดือนกันยายน 2554 ดังนั้นในช่วงเวลาก่อนที่จะมี กสทช.ตัวจริง จึงเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า สุญญากาศ คือใครใคร่ทำอะไรก็ได้ บางคนก็เรียกช่วงเวลานั้นว่า ช่วงเวลาสื่อเถื่อนเกลื่อนเมือง ทั้งทีวีดาวเทียมเถื่อน เคเบิลทีวีเถื่อน และสถานีวิทยุเถื่อน (จนตอนนี้ กันยายน 2555 ก็ยังเถื่อนอยู่เพราะยังไม่มีการออกใบอนุญาตตามกฎหมาย ประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551) ความที่เป็นสุญญากาศนี้เอง ทำให้โฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้ชาวบ้านเบ่งบานเต็มที่ แม้ในบางผลิตภัณฑ์เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่มีหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลการโฆษณาอยู่ ก็ทำอะไรได้ไม่มาก สั่งจับ สั่งปรับไม่ทันผู้ประกอบการที่ไร้จรรยาบรรณ ทำได้แค่เตือนผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะฟัง อย.เท่าไหร่เพราะเชื่อผู้จัดรายการมากกว่า ก็แหม...คนดังในสังคมทั้งนั้น ทั้งทนายความที่อ้างตัวว่าทำเพื่อชาวบ้าน ดารานางแบบที่ออกมาสอนเพศศึกษากันอย่างเปิดเผยจนน่าหวาดเสียว ต่างก็ร่วมกันช่วยขายสินค้าที่อวดอ้างว่าดีต่อสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ รักษาได้ทุกโรค แก้เซ็กส์เสื่อม เพิ่มประสิทธิภาพให้อวัยวะเพศ ทั้งชาย หญิง ทำให้ผอมเพรียวได้ในสามวัน เจ็ดวัน และอีกสารพัดด้วยตรรกะที่เหนือธรรมชาติ ผู้ประกอบการบางรายมีช่องรายการเพื่อขายสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ ได้ถึง 4-5 ช่อง ทั้งวันก็เวียนรายการซ้ำไปซ้ำมา เพื่อเชิญชวนให้ซื้อสินค้า ซึ่งราคาแพงทั้งสิ้น (เขาว่าถ้าตั้งราคาถูกเกินไป คนจะไม่เชื่อถือ ของดีต้องแพงว่างั้น) ทำให้ผู้ประกอบการต่างก็ร่ำรวยกันไปถ้วนหน้า แค่เอาเศษผัก ผลไม้มาป่นขาย ก็ทำให้มีเงินขนาดซื้อทีมสโมสรฟุตบอลระดับไทยพรีเมียร์ลีกได้ และสรรพคุณที่ตอกย้ำซ้ำซากมานานหลายปี ก็ทำให้ชื่อสินค้าติดตลาดไปเรียบร้อย โดยสามารถเอาชื่อไปออกสื่อฟรีทีวีได้โดยไม่ต้องบอกสรรพคุณอีกแล้ว เป็นการยกระดับสินค้าไปอีกขั้น โดยกฎหมายก็ตามไปเอาผิดอะไรไม่ได้ ------------------------------------------------------------- ทำให้ถูกกฎหมายจะได้จัดการได้เสียที หลังจากปล่อยให้ฟอนเฟะกันมาหลายปี ก็ได้เวลาสำหรับการจัดระเบียบแล้ว ล่าสุด(กันยายน 2554) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติ ร่างประกาศกสทช. ที่เกี่ยวกับโครงข่ายกิจการบรอดแคสติ้ง, สิ่งอำนวยความสะดวก, กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์และกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมฯ รวม 4 ฉบับ ที่คงจะลงราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ในอีกไม่นาน (หากไม่มีกรณีฟ้องร้องจากฝั่งผู้ประกอบกิจการเสียก่อน) โดยรูปแบบการออกใบ อนุญาตประกอบกิจการนั้น จะเริ่มด้วย  การออกใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีก่อน เพื่อเร่งให้ช่องรายการต่างๆ ทั้งเคเบิลทีวีกว่า 1,000 รายและทีวีดาวเทียมกว่า 200 รายเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลก่อน จากนั้นจึงออกใบอนุญาตระยะ 4-14 ปี “เพราะหากออกใบอนุญาตฯ ระยะยาวแก่ผู้ประกอบการ จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดและใช้เวลากว่า 1เดือนต่อการออกใบอนุญาต 1 ใบ ทำให้ขั้นตอนการนำผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลจะล่าช้ายิ่งขึ้น อาจใช้เวลานานหลายปี” สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. สายบรอดแคสติ้ง กล่าวกับสื่อมวลชน โดยหลังให้ใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีแล้ว การออกใบอนุญาตระยะที่ 2 จะพิจารณาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต ซึ่งหากมีผู้ร้องเรียนมาก ระยะเวลาของใบอนุญาตระยะที่ 2 ก็จะสั้นลงหรือเพิกถอนใบอนุญาตก็เป็นได้ ส่วนการกำหนดผังรายการทีวีดาวเทียมแบบไม่บอกรับสมาชิก จะผ่อนผันให้สามารถรายงานผังรายการยืดหยุ่นได้มากกว่าฟรีทีวีภาคพื้นดิน (กรุงเทพธุรกิจ 10 กันยายน 2555) สรุปว่านับจากนี้ไปจะไม่มี "ทีวีเถื่อน" หลังจากที่เถื่อนกันมานาน และนับจากนี้ไปก็คงต้อง “จับตา” ดูกันล่ะว่า เมื่อผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าสู่กฎ ระเบียบ แล้ว จะยังมีรายการขยะ โผล่ออกมาให้ประชาชนได้เสพกันอยู่อีกหรือไม่ และคงได้วัดกันไปว่า หน่วยงานทั้งหลายจะมีน้ำยาพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันการรับชมรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย ทำได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ฟรีทีวี (ช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส) โดยผ่านเสาอากาศทีวี(แบบหนวดกุ้งหรือก้างปลา) หรือรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณของเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม อีกที 2.เคเบิลทีวี รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณที่มาทางสายเคเบิล เป็นการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก ผู้ชมต้องจ่ายค่าแรกเข้าและบริการรายเดือน 3.ทีวีดาวเทียม รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยครั้งแรกจะต้องมีการติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ หรือปัจจุบันมีขายเฉพาะกล่องสัญญาณ(โดยผ่านจานดาวเทียมอะไรก็ได้ที่ติดตั้งไว้ก่อนแล้ว) ส่วนใหญ่เมื่อติดตั้งครั้งแรกแล้ว จะไม่มีค่ารายเดือนอีก เว้นแต่มี คอนเทนต์พิเศษ ที่ต้องเข้ารหัสเก็บเงินค่าดู ------------------------------------------------------------- “เจนิฟู้ด จะขายเสียอย่าง ใครจะทำไม” แม้ อย.จะออกแถลงข่าวเรื่องการลงดาบ เจนิฟู้ด ดังนี้ อย. สั่งเชือดโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู้ด หลังดื้อแพ่งโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีคำสั่งให้ระงับโฆษณา ส่อเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย และทำธุรกิจอย่างไร้จริยธรรม หลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ อย. เอาจริง ลงโทษหนัก ทั้งโฆษณาเป็นเท็จ มีโทษจำคุก และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจะปรับทุกครั้งที่พบการโฆษณาทั้งผู้โฆษณาและ สื่อที่เผยแพร่ พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะเป็นการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ จากการที่มีผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” นำเข้าโดย บริษัท เบสไฟว์ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นเครื่องดื่มพืชผักผลไม้ผสม (ตราเจนิฟู้ด) เลขสารบบอาหาร 10-3-10838-1-0001 มีการโฆษณาอ้างว่าเป็น “เอนไซม์” ทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีกว่า 10 ช่อง โดยมีข้อความโฆษณาอวดอ้างรักษาได้สารพัดโรค เช่น ป้องกัน ยับยั้งต่อต้าน ทำลายโรคต่าง ๆ เป็นทางเลือกที่ได้ผลสูง , รักษาแผลกดทับเนื่องจากอัมพฤกษ์, ใช้โรยแผลที่มีเนื้อมะเร็งแผลบวม มีหนองจะช่วยดูดซับสารพิษทั้งหมด ฯลฯ โดยนำบทสัมภาษณ์ผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ไขมันอุดตัน มะเร็งเต้านม หัวใจตีบ ฯลฯ ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เอนไซม์ดังกล่าวแล้วอาการป่วยดีขึ้น หรือหายจากอาการป่วย หรือนำผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคมมาโฆษณา เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ ซึ่ง อย. ได้มีคำสั่งระงับโฆษณาดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีให้งดเผยแพร่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีหลายช่อง ได้แก่ Home Channel, I Channel, OHO Channel, DooDee Channel, Nice Channel,MYTV, Thai Vision, เกษตร แชนแนล, MY MV5, Hi Channel, Star Channel และช่องลายไทย โดยการกระทำดังกล่าวถือว่าเจตนาละเมิดคำสั่งการระงับโฆษณา ซึ่ง อย. เตรียมดำเนินการอย่างเข้มงวด ตามนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยจะดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท และฝ่าฝืนคำสั่งระงับโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันวันละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 พันบาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากนี้ สื่อที่ทำการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าว อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี จะมีความผิดในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของ ดังนั้นแม้ในความเป็นจริง ทั้ง อย.ได้สั่งลงโทษ และ กสทช.ได้มีคำสั่งแบนโฆษณา "เจนิฟู้ด" ไปแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะหาเจ้าภาพไปดำเนินการไม่ได้ ขณะเดียวกัน อาหารเสริม "เจนิฟู้ด" ได้เปิดช่องทีวีดาวเทียมทั้งระบบซีแบนด์ และเคยูแบนด์ 5 ช่องคือ เย็นใจ, เบาใจ, พอใจ, เพลินใจ และช่องทนายประมาณ ทำซีเอสอาร์ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองต่อไป มิเพียงเท่านั้น "เจนิฟู้ด" ได้รับการประสานงานมาจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือสโมสรฟุตบอลสมุทรสงคราม เอฟซี โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "เจนิฟู้ด สมุทรสงคราม เอฟซี" ซึ่งเวลานี้ "นายพล คนขอนแก่น" กลายเป็นคนดังในวงการไทยพรีเมียร์ลีกไปโดยปริยาย ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีจำนวน 21 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่รับชมผ่านจานดาวเทียม 10 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น จานดำ 6 ล้านครัวเรือน จานแดง 1.5 ล้านครัวเรือน จานเหลือง 1.5 ล้านครัวเรือน และจานส้ม 1 ล้านครัวเรือน ส่วนอีก 11 ล้านครัวเรือน จะดูผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น 4 ล้านครัวเรือน และอีก 7 ล้านครัวเรือน ที่รับชมโทรทัศน์ผ่านเสาก้างปลา  ทั้งนี้ ประเมินว่าจากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เสาก้างปลาจะหมดไปจากตลาดของประเทศไทย เพราะผู้บริโภคจะหันมาติดจานดาวเทียมแทน ขณะที่ราคาการติดจานเคเบิลทีวี ในปัจจุบัน เริ่มต้นที่ 1,200 บาทเท่านั้น ถือว่ามีราคาลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ขณะที่ปีหน้าจะมีดาวเทียมไทยคม 6 เกิดขึ้น คาดว่าจะมีช่องเคเบิลทีวีเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 150-200 ช่อง เพราะดาวเทียมไทยคมมีช่องรับสัญญาณจำนวนมาก ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจดาวเทียมต่อปีจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ที่มา http://www.thaipost.net/node/53665 ------------------------------------------------------------- อันตราย! สินค้าหลอกลวงเกลื่อนเมืองสื่อดาวเทียมตัวแพร่ระบาด ในท้องตลาดตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่มากมายและต่างก็มีกลเม็ดโฆษณา ทำการตลาดแตกต่างกันไป สิ่งที่เป็นจุดเดียวกันคือการมีสรรพคุณที่ดูดีเกินจริง โดยมักจะมีคำอธิบายในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านความงามและเรื่องเพศ กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพหรือรักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งผลของการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปได้ที่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งอาจได้ผลลัพธ์ที่พอใจ แต่ก็พบกรณีร้องเรียนมากมายถึงการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด กฎหมายไม่สามารถกระทำอวดอ้างได้ ทว่าปัญหาก็คือตอนนี้ยังไม่มีกลไกการลงโทษที่ทำให้โฆษณาเหล่านั้นหายไปเสียที คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนมากกว่า 100 กรณีต่อ 1 เดือน ซึ่ง ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยาเผยว่า จากข้อมูลที่แยกเป็นประเภทของลักษณะการทำผิดกฎของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพบว่า การโฆษณาอวดอ้างถือเป็นกรณีที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ประเด็นเรื่องโฆษณานี่เยอะที่สุด สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาหารไม่ใช่ยา เราไม่ให้โฆษณาสรรพคุณทางยา แต่ส่วนใหญ่แล้วทำขึ้นมาจะต้องโฆษณาสรรพคุณใช้ป้องกันรักษาได้ ซึ่งก็จะโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น ทั้งนี้มาตรการในการดำเนินการลงโทษนั้นมีตั้งแต่ระงับโฆษณา และดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ ซึ่งหากไม่หยุดโฆษณาก็จะมีโทษที่หนักขึ้น โดยโฆษณาเหล่านี้จะพบเห็นบ่อยตามช่องทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี(ซึ่งส่วนใหญ่ก็นำเนื้อหามาจากทีวีดาวเทียม) ในทางปฏิบัติก็มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในการควบคุม ทว่ากลับไม่มีอำนาจมากนัก เพราะยังคงพบการฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการควบคุมลงโทษนั้น สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า แม้ อย.ร่วมกับ กสทช.สั่งห้ามโฆษณาเหล่านี้ในสื่อทุกประเภท ทว่าในทางปฏิบัติอย่างการเผยแพร่สัญญาณนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือ จากบริษัท ไทยคม จำกัดในการตัดสัญญาณเพื่อปิดสถานีที่ฝ่าฝืนกฎ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยร่วมกับเครือข่ายที่ทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค 16 จังหวัด สำรวจการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร และเสริมอาหารทั้งหลายที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา ซึ่งพบว่า มันมีปัญหาเยอะ และทาง กสทช. ได้สั่งให้ห้ามโฆษณาแล้ว แต่ก็ยังพบว่ายังมีการโฆษณากันอยู่ เพราะทางไทยคมไม่สั่งระงับสัญญาณ ต้องไปขอความร่วมมือที่ไทยคม แต่ไทยคมมีความรับผิดชอบต่อกรณีนี้น้อยเกินไป โดยอ้างว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ แต่ความจริงแล้วหากไทยคมพบว่า สถานีต่างๆ ยังมีการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือโฆษณาที่ไม่เป็นจริง ก็สามารถให้ปิดรายการหรือปิดสถานีได้เลย ไทยคมต้องดำเนินการตามนั้น หากไทยคมจะอ้างว่าตัวเองได้สัมปทานจากไอซีทีไม่ต้องทำตามกฎหมาย มันไม่ได้ เพราะว่าไทยคมเป็นคนดูแลหรือควบคุมโฆษณาของพวกนี้ ผ่านพวกช่องดาวเทียมโดยตรง ขณะเดียวกัน กสทช. ก็จะบอกว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีกติกาที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จริงๆ เขาได้มีความร่วมมือกับ อย. ดังนั้น เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่เป็นเท็จหลอกลวง มันทำไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็อยากให้ไทยคมร่วมมือ สิ่งที่สำคัญ คือ อย.กับ กสทช. ต้องมีเครื่องมือในการบังคับลงโทษ หากมีเพียงคำสั่งห้ามแต่ไม่มีกลไกที่ในการติดตาม การดำเนินการก็ไร้ผล และโฆษณาที่ชวนเชื่อเกินจริงก็ยังคงอยู่”   ที่มา หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ------------------------------------------------------------- ทุกข์ล้นเหลือเหยื่อโฆษณา จากการที่กลไกการควบคุมโฆษณานั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ที่จ้องฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจ ทำมาหากินบนการหลอกลวงหนทางที่เปิดกว้างให้เห็นกำไร และความสำเร็จชนิดตีหัวเข้าบ้าน ทำให้โศกนาฏกรรมอย่างการกินอาหารเสริมที่เชื่อว่าจะรักษาโรค กลับยิ่งทำให้โรครุมเร้าหนักขึ้นอาจถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ลอย เจ้ขี้เกียจพิมพ์ แนบ พีดีเอฟไฟล์ มาให้ เอาหน้า 9-12 ลงที นะ เป็นตัวอย่างกรณีดื่มเจนิฟู้ด แล้วอันตราย ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ : www.thaidrugwatch.org/download/books/adsvictim.pdf

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point