ฉบับที่ 272 บัญชีเทรดคริปโตฯ โดนแฮ็ก หลัง login ผ่านเว็บไซต์ เงินดิจิทัลถูกขโมยเกลี้ยง

        การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์นั้นไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล ต่างก็ต้องเสี่ยงกับเหล่ามิจฉาชีพที่คอยจ้องแฮ็กข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เพื่อรอจังหวะขโมยถอนเงินในบัญชีออกไปด้วยรูปแบบที่แนบเนียนและแยบยล จนมีหลายเคสที่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และผู้เสียหายเองก็ทำได้เพียงรอๆ ๆ ๆ         คุณกิจเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่รอคอยอย่างมีความหวัง เขาเล่าว่าซื้อขายคริปโตฯ (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มบิทคับ (Bitkub) มาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยปกติจะ login ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาจำเป็นต้อง login ผ่านเว็บไซต์ ปรากฎว่าเขาต้อง login 2-3 รอบ ถึงจะเข้าบัญชีตัวเองได้ พอเข้าได้ปุ๊บก็มีข้อความเด้งขึ้นมาปั๊บว่า "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว"          เขางงมาก ใครถอน? ถอนไปได้ไง? เพราะเขายังไม่ได้สั่งถอนเหรียญ หรือสั่งทำอะไรเลยด้วยซ้ำ เขารีบเข้าไปดูในกระเป๋าตังค์ดิจิทัล แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพบว่าไม่มีเหรียญเหลืออยู่เลย เขาจึงติดต่อไปทางบริษัทบิทคับ ซึ่งแนะนำให้เขาไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ก่อน ทางบริษัทจึงจะเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลังข้างในให้ได้ เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจขอนแก่น และแจ้งตำรวจออนไลน์ด้วย หลังจากนั้นทางบริษัทได้ส่งหลักฐานการทำธุรกรรมมาให้ พบว่าเหรียญของเขาทั้งหมดถูกขายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะถูกนำไปซื้อเหรียญใหม่แล้วถอนออกไปทันที         คุณกิจพยายามทำทุกหนทางที่ทำได้ เขาติดต่อตำรวจออนไลน์อยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ จึงไปให้สถานีตำรวจที่ขอนแก่นติดต่อให้ หลังจากนั้นตำรวจออนไลน์จากส่วนกลางได้ทำเรื่องมายังสถานีตำรวจขอนแก่นให้สอบสวนเรื่องนี้ เขาได้ไปให้ปากคำพร้อมมอบหลักฐานทั้งหมดไปแล้ว แต่เขาไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะดูเหมือนการดำเนินการค่อนข้างช้า เขาจึงไลน์มาเพื่อปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อกลับไปยังคุณกิจเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จึงทราบว่าทางตำรวจ สภ.ขอนแก่นได้ขอให้คุณกิจส่งสำเนาเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปให้เพิ่มเติม ซึ่งเขาก็จัดการเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว และยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าของคดีอยู่ทุกสัปดาห์ด้วย แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิมว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ         ล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสื่อถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในกรณีนี้ ซึ่งทางสำนักงาน กลต.ติดต่อกลับมาว่าได้รับเรื่องร้องเรียนนี้และประสานไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้นจะแจ้งกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการคริปโตฯ ว่า เคสแบบนี้ต้องตามกันยาวนานเป็นปีๆ ทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 NFT สินทรัพย์ที่กลายเป็นขยะดิจิทัล?

        เชื่อว่าทุกคนรู้จักบิทคอยน์ หลายคนน่าจะติดดอยสูงกันพอสมควร ช่วงที่ผ่านมาเจ้าเงินดิจิทัลชนิดนี้ทำคนเจ็บตัวไปมากมาย         บิทคอยน์เป็นประดิษฐกรรมที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มันตอบสนองความต้องการทางการเงิน การเก็งกำไร หรือแม้กระทั่งความโลภของมนุษย์ ยังไม่พอมนุษย์เรายังสร้างสิ่งจับต้องไม่ได้อื่นๆ แล้วสมมติมันขึ้นเป็นสินทรัพย์         NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกแบบหนึ่งเหมือนพวกบิทคอยน์นั่นแหละ จุดต่างอยู่ที่มันแลกเปลี่ยนหรือแทนที่กันไม่ได้ เพราะเหรียญดิจิทัลสกุลเดียวกันก็มีมูลค่าเท่ากันตลอด ณ เวลานั้นๆ เลยแลกเปลี่ยนแทนที่ได้         แต่ NFT ทำแบบที่ว่าไม่ได้เพราะ NFT แต่ละตัวมีความเฉพาะ อย่างที่รู้กัน NFT มักเป็นงานศิลปะประเภทต่างๆ ที่แปรสภาพเป็นดิจิทัล เช่น ภาพ ดนตรี หรือเกม เป็นต้น สมมติคุณเป็นกรรมสิทธิ์ภาพดิจิทัล จะทำเองหรือซื้อมาก็แล้วแต่ คุณก็เอาสิ่งนี้ไปเก็บไว้ในแพล็ตฟอร์มแล้วก็รอให้ราคาขึ้น พอใจเมื่อไหร่ก็ขาย         เปรียบเทียบให้ง่ายก็เหมือนคุณครอบครองภาพของแวน โกะห์ ที่ใครๆ ก็อยากได้จากคุณ คนพวกนั้นก็ต้องยื่นข้อเสนอที่คุณพอใจเพื่อซื้อภาพนี้ไปเป็นของตน         อีกนั่นแหละ มนุษย์เป็นนักเก็งกำไรในสายเลือด (มั้ง?) NFT ก็ไม่พ้น ทั้งที่จับต้องไม่ได้คนยังแห่เก็งกำไร ซึ่งล่าสุดมีทีท่าว่าจะจบไม่สวยเพราะขาดทุนหนักมากตามคริปโตไปแล้วจากข่าวที่นำเสนอกันมีคอลเลกชัน NFT อยู่ 73,257 รายการ และตอนนี้ 69,795 รายการมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 0 อ่านว่า ศูนย์ กล่าวคือ 95 เปอร์เซ็นต์ของ NFT ที่เคยมีมูลค่าแปรสภาพเป็นขยะดิจิทัลไปแล้ว         NFT บางชิ้นเรียกว่าขาดทุนย่อยยับ แบบว่าซื้อมาเป็นล้านขายได้แค่หลักพันหลักหมื่น ทำเอาคนที่ครอบครองคอลเล็กชั่น NFT ปวดหัวหนัก แต่ยังยากจะบอกว่าอนาคต NFT ดับสนิทแล้ว ขึ้นชื่อว่าการเก็งกำไรบวกความโลภของมนุษย์ บางทีมันอาจจะกลับมาอีกก็ได้         อุทธาหรณ์ของเรื่องนี้ ไม่ได้บอกว่าอย่าลงทุนใน NFT (จะห้ามได้ยังไงเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน) แค่จะพูดเรื่องเดิมๆ ว่าอยากลงทุนอะไรให้ศึกษาดีๆ อย่าตามกระแส โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีพื้นฐานรองรับ ราคาเกิดจากการปั่นๆๆ ยิ่งต้องระมัดระวังในการลงทุน         จะได้ลงทุนอย่างมีความสุข ไม่ต้องกุมขมับเหมือนนักเก็งกำไร NFT หลายคนตอนนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 28-DeFi ระบบการเงินไร้คนกลาง (คงต้องรออีกนาน)

        ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างสินทรัพย์ชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาหลายอย่าง มีคนรวยจากมันก็มาก บาดเจ็บก็เยอะ บิทคอยน์นี่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ช่วงที่ผ่านมาทำเอาหลายคนน้ำตาตกเพราะเงินดิจิทัลตกเอาๆ         โลกดิจิทัลยังไปต่อไม่รอใครทั้งนั้น ราวๆ 5 ที่แล้วหรือปี 2018 โลกเราก็ได้รู้จักกับ DeFi หรือ Decentralized Finance แปลเป็นไทยน่าจะประมาณว่า การเงินแบบกระจายศูนย์หรือบางทีก็เรียกว่าเป็นการเงินแบบไม่มีคนกลาง         คนกลางในที่นี้เป็นใคร?         ง่ายสุดคือธนาคาร ตั้งแต่สยามเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ธนาคารก็มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจไทย มีอิทธิพลชี้เป็นตายของธุรกิจเนื่องจากเป็นผู้กุมเงินสดและมีสิทธิจะให้ใครกู้หรือไม่กู้ ในยุคทหารครองอำนาจเราจึงเห็นนายธนาคารอัญเชิญนายพลไปนั่งเป็นคณะกรรมการกันมากมาย ปล่อยกู้ให้พวกพ้อง นักการเมือง จวบจนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธนาคารและสถาบันการเงินล้มระเนนระนาดนั่นแหละ อิทธิพลของนายธนาคารจึงลดลง แต่ไม่ได้หมดไป         ขณะที่ตระกูลมหาเศรษฐีอาจใช้แค่นามสกุลบนบัตรประชาชนกู้เงินจากธนาคารได้ไม่ยากเย็น รายเล็กรายน้อยกลับลำบากยากเข็ญ ต้องพินอบพิเทา กว่าจะได้เงินสักแดงมาทำธุรกิจหรือซื้อบ้าน         แต่ DeFi ไม่ง้อธนาคาร มันเปิดทางให้ผู้กู้เข้าถึงผู้ปล่อยกู้ได้โดยตรง ถึงตรงนี้คงเกิดคำถามว่าถ้าเกิดผู้กู้ชักดาบล่ะ เรื่องนั้นไม่ต้องห่วง เพราะผู้กู้จะต้องฝากทรัพย์สินดิจิทัลของตนไว้บนแพลตฟอร์มเพื่อค้ำประกัน อารมณ์เหมือนแม่ค้าเอาทองไปตึ๊งไว้กับอาเสี่ยหรือเราไปโรงรับจำนำนั่นแหละ         ฟังดูดีใช่ไหม? ยังไม่แน่ DeFi ยังมีข้อบกพร่องให้แก้ไขอีกมาก แม้จะมีคนเริ่มลงทุนสร้างผลตอบแทนจากมันแล้ว แต่ผลตอบแทนก็ยังไม่คงที่ ความปลอดภัยก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์         ที่สำคัญ ถ้าคิดว่ามันจะมาแทนสถาบันการเงิน ช่วยให้รายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้คงต้องคิดใหม่ คำถามพื้นฐานที่สุดคือเวลานี้มีคนไทยที่เป็นชนชั้นกลางหรือผู้มีรายได้น้อยสักกี่คนที่มีความรู้เรื่องนี้ มีสักกี่คนที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับค้ำประกัน         แค่ Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระหว่างเขตเมืองกับชนบทยังต่างกันอยู่เลย เรายังต้องการนโยบาย การส่งเสริม และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอีกเยอะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและเข้าถึงการออมการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ         แล้วในประเทศที่เพิ่งประกาศให้ใช้อีเมล์รับ-ส่งหนังสือราชการได้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 คิดดูแล้วกันว่าต้องรออีกนานแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 กระแสต่างแดน

คนเกาก็ชอบของก็อป         การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรืออุณหภูมิติดลบ ไม่สามารถลดความคึกคักของการค้าใน “ตลาดของก็อป” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี (กลุ่มเต็นท์สีเหลืองประมาณ 80 หลัง ใกล้ “ตลาดดงแดมุน” ศูนย์กลางเสื้อผ้าและแฟชั่นในกรุงโซล) ลงไปได้เลย         ช่วงเวลาระหว่างสามทุ่มถึงตีสอง ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวสายแฟที่มาหาซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือนาฬิกา “แบรนด์เนม”            อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อธิบายว่าคนเกาหลีอ่อนไหวต่อเทรนด์เป็นพิเศษ พวกเขาอยากมีเหมือนคนอื่น จะได้รู้สึกเข้าพวก และต้องมีอะไรที่ดีกว่า เพื่อจะได้เป็นที่อิจฉา พวกเขาต้องการครอบครองของที่ดู “แพง” เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงแทบไม่มีใครใส่ใจ         ตามกฎหมายเกาหลี คนซื้อไม่มีความผิด แต่คนขายที่ถูกจับได้อาจต้องจ่ายค่าปรับถึง 100 ล้านวอน และอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี         ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีระบุว่าตั้งแต่มกราคม 2017 จนถึงสิงหาคม 2021 มี “คดีกระเป๋าปลอม” 1,866 คดี   ลดอายุคนขับ         เดนมาร์กกำลังขาดแคลนพนักงานขับรถของเทศบาล (รถรับส่งผู้ป่วย รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น) เนื่องจากพนักงานจำนวนมากลาออกไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงมีที่ว่างกว่า 1,000 ตำแหน่ง ที่อาจว่างไปอีกนาน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจสมัคร         พรรคฝ่ายค้านมองว่านี่คือปัญหาเร่งด่วน ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ ปัญหานี้จะกระทบไปถึงรถสาธารณะในเมืองและรถข้ามจังหวัดด้วย ว่าแล้วก็เสนอให้ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถมีใบอนุญาตขับรถโดยสารเป็น 19 ปี (โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี)         จากเกณฑ์เดิมคือ 24 ปีสำหรับรถที่มีผู้โดยสาร ที่วิ่งในระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร และ 21 ปี สำหรับระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร         ด้านรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เขาให้เหตุผลว่าผู้โดยสารอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หากคนขับหน้าเด็กเกินไป เขาเสนอว่ากลุ่มสตรีผู้อพยพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสงานให้กับพวกเธอด้วย  คิดก่อนกู้         หนุ่มสาวฟินแลนด์ยุคนี้เป็นหนี้กันมากขึ้น นอกจากจะนิยมกู้เงินไปลงทุนทำกำไร ซึ่งทำผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกทั้งการขอกู้และการลงทุน พวกเขายังนิยมกู้เพื่อซื้อบ้าน/อพาร์ตเมนต์ อีกด้วย         สถิติในปีที่ผ่านมาระบุว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของคนหนุ่มสาวที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า         โอกาสซื้อที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์มีมากขึ้นเพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังโรคระบาด ทำให้เจ้าของบ้านที่เคยเก็บอพาร์ตเมนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านแอปฯ อย่าง Airbnb ก็เริ่มปล่อยของ ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จใหม่ในโซนที่มีการเดินทางสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของฟินแลนด์เริ่มกังวลกับสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จึงเสนอให้มีการกำหนดเพดานหนี้ ที่ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อปี และแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ/คิดให้รอบคอบก่อนจะเป็นหนี้ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหากลูกหนี้ขาดรายได้กะทันหันและไม่สามารถใช้หนี้ได้  ทั้งเพิ่มทั้งลด         วิถีชีวิตแบบดิจิทัลของเราทำให้เกิดความต้องการ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์เหล่านี้อยู่ถึง 7.2 ล้านศูนย์ทั่วโลก ประเทศที่มีมากที่สุดได้แก่อเมริกา (2,670 แห่ง) ตามด้วยอังกฤษ (452) เยอรมนี (443) อันดับต่อมาคือเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น          เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์เหล่านี้ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าร้อยละ 1 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในโลกคือพลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูล         ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2010 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15 เท่า         ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์พวกนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่าศูนย์ขนาดเล็ก ฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคาร ระบบระบายความร้อน และการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการนั่นเอง เอไอไม่แฟร์         การสำรวจความเห็นของ “แรงงานดิจิทัล” จำนวน 5,000 คน โดยสถาบันความเท่าเทียมทางเพศแห่งยุโรปพบว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นธรรมกับแรงงานหญิงเท่าที่ควร         องค์กรนี้พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกงานแบบนี้เพราะ “ความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน”  พวกเธอต้องการเวลาในการทำงานบ้านและดูแลครอบครัว แต่กลับถูก “หมางเมิน” หรือแม้แต่ “ลงโทษ” โดยเอไอของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเธอมีชั่วโมง “รับงาน” น้อยกว่าผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจแบบนี้         ปัจจุบันร้อยละ 16 ของแรงงานดิจิทัลในอังกฤษและสหภาพยุโรปเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้จะยิ่งน้อยลงในตำแหน่งที่สูงขึ้น         สถาบันฯ เสนอให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น และขอให้กำหนดความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเกณฑ์การ “ตัดสินใจ” ของเอไอ ไม่เช่นนั้นเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือการเลือกปฏิบัติและผลิตซ้ำอคตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2565

แนวโน้มอาชญากรรมไซเบอร์ ปี 65        ข้อมูลสถิติจากการแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า  อาญชกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งในปี 2564 มีผู้แจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย  ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ ผู้ได้รับความเสียหายจากการแฮกข้อมูล  จำนวน 585 ราย และมีค่าเสียหายรวม 67 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ การหลอกขายสินค้าและบริการ จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท          พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง.ผบก.ปอท. กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี 2565 ว่า ปี 2565  ยังคงไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น เช่น การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์  การหลอกลวงผ่านอีเมล  การแฮกเพื่อเอาข้อมูลผ่านการลวงให้กด  มัลแวร์เรียกค่าไถ่  การหลอกลวงขายสินค้า การหลอกรักออนไลน์  การหลอกรักลวงลงทุน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์ แอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผล ขอให้ประชาชนพึงระมัดระวัง สินค้าไม่ตรงปก ฟ้องได้!         ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เรื่องการจัดตั้ง แผนกคดีซื้อของออนไลน์ในศาลแพ่ง นายสรวิศ ลิมปรังษี  โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า  ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่จะเริ่มทำการเมื่อใดต้องรอประกาศของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งอีกครั้ง ถ้าได้รับความเสียหายตอนนี้ก็ให้รวบรวมหลักฐานไว้ให้ครบถ้วนก่อนแล้วรอฟ้องตอนแผนกคดีซื้อขายออนไลน์เปิดทำการในเร็ว ๆ นี้ สำหรับคดีซื้อขายออนไลน์ที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในแผนกคดีผู้บริโภคของศาลแพ่ง จะให้แผนกคดีผู้บริโภคซึ่งพิจารณาคดีนั้นดำเนินการต่อไปจนเสร็จ         แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับความสะดวก มีช่องทางกฎหมายที่สามารถยื่นฟ้องคดีได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นผ่านทางอีเล็คทรอนิคส์ไฟล์ลิ่งในหน้าเว็บไซต์ของศาลแพ่ง (ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ) โดยผู้ฟ้องคดีแค่คลิกเข้าไปสมัครยืนยืนตัวตน กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ฟ้องใคร เรื่องอะไร พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการติดต่อซื้อขาย ชื่อเว็ปไซต์ ชื่อร้านค้าที่ซื้อสลิปโอนเงิน เท่าที่จะหาได้ เมื่อยื่นคำฟ้องทาง E-ไฟล์ลิ่งแล้ว จะมีเจ้าพนักงานคดีช่วยตรวจสอบให้ว่าใส่ข้อมูลคดีครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าครบถ้วนศาลก็จะรับคดีไว้พิจารณาต่อไป         เปิดรับปีใหม่พบร้านขายยาผิดกฎหมายมากกว่าร้อยราย         ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เข้าตรวจสอบร้านขายยาหลายแห่งเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายยาให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีพื้นที่เป้าหมายตรวจค้นเป็นร้านขายยาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14-21 มกราคม พบว่า มีร้านขายยากระทำผิดจำนวนมาก จับกุมร้านยาที่ผิดกฎหมาย 127 ราย และตรวจยึดของกลางได้กว่า 359 รายการ มีทั้งยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตารับยา, ยาปลอม, ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ร้านขายเหล่านี้ได้ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลือง และขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ โดยไม่ใช่เภสัชกร ในพื้นที่หลายจังหวัดและขาดความรู้ความเข้าใจในสรรพคุณ โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537  ลงทุนคริปโทฯ ต้องเสียภาษี และรัฐห้ามใช้ซื้อขายสินค้า        กรมสรรพกร ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีจากการลงทุนว่า ยังยึดลักษณะเดียวกับการเก็บภาษีขายหุ้น หากขายนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรต้องเสียภาษีและพิจารณาเป็นรายธุรกรรมเช่นกัน แต่ก็ยังมีกฎหมายยกเว้นให้คือ “การเสียภาษีคริปโทฯ ก็เหมือนกับขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ถ้าขายแล้วมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสีย”           ด้าน ก.ล.ต. ร่วมกับแบงก์ชาติ ประชุมและแถลงข่าวว่า ไม่ให้นำคริปโทฯ มาชำระค่าสินค้า โดยมีหลักเกณฑ์ที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 2. ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 3. ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 4. ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น 5. ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน สินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่น หรือบุคคลใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ และ 6. ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน         มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลว่า หากมีคนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จะกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น “เงินบาท” และจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำอยู่บนเงินบาทมพบ.คัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย         จากกรณีบอร์ดสมาคมวินาศภัยไทย ยื่นอุทธรณ์บอร์ดคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19” ชี้คำสั่งดังกล่าวขัดต่อหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยนั้น        เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขอคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ซื้อ 1.สัญญาประกันเป็นสัญญาสำเร็จรูป  การระบุข้อความที่บริษัทประกันสามารถใช้สิทธิในการยกเลิกสัญญากรมธรรม์เป็นการดำเนินการของบริษัทประกันฝ่ายเดียว หากเริ่มขาดทุนจะใช้สิทธิที่ระบุไว้ในสัญญาฝ่ายเดียวบอกเลิกสัญญา  จึงเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค 2.การออกคำสั่งของ คปภ.  ได้แก่  1. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เม.ย. 64 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถือเป็นการออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรม  3.การยกเลิกสัญญากรมธรรม์ ผู้บริโภคควรเป็นผู้ตัดสินใจยินยอมยกเลิกสัญญา หากข้อเสนอของบริษัทประกันเป็นธรรมเช่น บริษัทเสนอคืนเบี้ยประกัน 5- 10 เท่าของเบี้ยประกันที่ผู้บริโภคจ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2564

สคบ.ชี้ “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมาย        จากกรณีกระแสนิยมซื้อขายสินค้ากล่องสุ่มในโลกออนไลน์ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา          รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทางคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สคบ. ได้เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง มาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทางออนไลน์ และมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมารีวิว โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ จะมีกำหนดทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         สคบ.มองว่าการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลักที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ คือ 1) อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน หากไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง 2)  เกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้าเครื่องสำอางหรือของใช้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่นๆ ของสินค้า เช่น ฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ว่าต้องได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ แบงก์ชาติแจงไม่สนับสนุนชำระสินค้าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล         จากกรณีที่มีธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกาศรับชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “ไม่สนับสนุนการรับชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว” นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า  การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางแบงก์ชาติไม่สนับสนุน เพราะได้ประเมินแนวโน้มการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีผู้ต้องการใช้บริการขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือทางการเงินดูแลเศรษฐกิจ และกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคต ทั้งนี้ ทางแบงก์ชาติยังอยู่ในระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างแผนทางการเงินใหม่ให้มีแนวทางออกแบบนโยบาย มาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุมประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สามารถชำระสินค้าและบริการได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน สาธารณสุขเผยคนไทยสูบบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง                 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องหากเปรียบเทียบจากปี 2560 ที่มีร้อยละถึง 19.1 โดยที่ผ่านมา 4 ปี ทางคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ ทั้งนี้ จากการประชุมยังมีความห่วงกังวลกับสถานการณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับกลุ่มเยาวชน และรวมถึงกลุ่มต้องการเลิกสูบบุหรี่และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ยกฟ้อง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.มูลนิธิไบโอไทยกรณีเคลื่อนไหวแบน 3 เคมีอันตราย         15 ธันวาคม 2564 ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในคดีระหว่าง นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยากรวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ ในฐานความผิดหมิ่นประมาท นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากที่เพจ BIOTHAI ได้เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ซึ่งมีประเด็นของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต และการกล่าวถึงกลุ่มที่ค้านการแบนสารพิษว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมี         ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายรัษฎา มนูรัษฏา ทนายความนายวิฑูรย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ศาลพิจารณายกฟ้องในชั้นไต่สวน โดยศาลให้เหตุผลว่า เรื่องที่นายวิฑูรย์ให้สัมภาษณ์หรือโพสต์ข้อความเป็นเพียงประเด็นเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลมองว่าไม่ได้เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงพิพากษายกฟ้อง มพบ. เสนอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการขึ้นค่าทางด่วน        จากกรณีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564  ปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ , 6-10 ล้อ , รถมากกว่า 10 ล้อ นั้น        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคว่า “กระทรวงคมนาคมควรต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมต้องขายคูปองเพื่อให้ได้ราคา 50 บาทเท่าเดิม ในเมื่อยังมีผู้บริโภคที่ไม่สะดวกซื้อคูปอง แต่ต้องจ่ายราคา 65 บาท ซึ่งในอัตราที่ปรับขึ้นนี้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค”           นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการจ่ายด้วยคูปองและซื้อคูปองตามจุดที่เปิดขาย เพราะบางคนสะดวกเติมเงินผ่านระบบ easy pass มากกว่า ทว่าหากต้องการราคาเดิมต้องซื้อคูปองแทนการใช้ easy pass การซื้อคูปองตรงจุดที่เปิดขายจึงเป็นการสร้างภาระเพิ่ม อีกทั้งการซื้อคูปองจะต้องซื้อเป็นเล่ม (เล่มละ 20 ใบ) ในราคา 1,000 บาท เหมือนเป็นการบังคับซื้อ บังคับให้ต้องจ่ายค่าทางด่วนล่วงหน้า ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทางด่วนนั้นเป็นประจำ บางทีในระยะเวลา 1 ปี อาจจะใช้ไม่หมดก็ได้ นอกจากนี้การเก็บเงินประชาชนล่วงหน้า 1,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ทางด่วนหรือไม่ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาทบทวนเรื่อง การซื้อคูปองลดราคาค่าผ่านทางพิเศษ และเสนอให้กระทรวงคมนาคมไม่ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวน “มาก” และกินเวลา “นาน” เสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา         บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือ “โฆษณา” หรือ “รายการโทรทัศน์” เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม         ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า         เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19         แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น         ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย         ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว         แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น         กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย        พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง สำรวจโฆษณาทีวี         เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ         จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง          โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ?         ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ         ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ)         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่        1) ช่องบริการทางสาธารณะ        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)          พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที มุมมองผู้บริโภค         ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี “โฆษณา” ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53)         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25)         และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)        หากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ         จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับ “โฆษณา” แต่รับไม่ได้กับ “โฆษณาแฝง” และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที         ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ         รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา         ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย น.ส.บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)อ้างอิงhttp://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20 www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-พ.aspxwww.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspxhttp://www.supinya.com/2016/06/7578https://www.thansettakij.com/content/428726https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ผลทดสอบกล้องดิจิทัลไฮเอนด์ 2019

        ตามที่สัญญาไว้ในฉบับก่อนหน้า ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบกล้องดิจิทัลสำหรับผู้ที่กำลังมองหากล้องในระดับโปรมาฝากทั้งหมด 24 รุ่น สนนราคา* ระหว่าง 17,000 ถึง 134,980 บาท โดยเกณฑ์การให้คะแนนยังคงเป็นเช่นเดิมจากคะแนนเต็ม 100 เขาแบ่งออกเป็น 4 ด้าน         คุณภาพของภาพนิ่ง                    50 คะแนน        ความสะดวกในการใช้งาน             30 คะแนน        คุณภาพของภาพเคลื่อนไหว       10 คะแนน        จอภาพ/ช่องมองภาพ                 10 คะแนน         กล้องสองรุ่นที่ได้คะแนนสูงกว่า 80 ได้แก่ Nikon Z6 และ Fujifilm XT3 แต่ที่เหลือก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก เรายังมีรุ่นที่ได้คะแนนมากกว่า 70 อีก 18 รุ่น โดยกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดได้ไป 67 คะแนน            ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่สืบค้นทางอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2019 โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 225 ผลทดสอบกล้องดิจิทัล

        ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาองค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทดสอบกล้องถ่ายรูปรวมถึงโทรศัพท์มือถือที่มีศักยภาพในการถ่ายรูปได้สวยไว้หลายสิบรุ่น (ทั้งรุ่นสำหรับมือสมัครเล่นและมืออาชีพ) ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ฉบับนี้เราขอนำเสนอเพียงผลการทดสอบกล้องรุ่นเบสิก 15 รุ่น ที่สนนราคา*ระหว่าง 4,500 ถึง 56,600 บาท กันก่อน ใครที่กำลังคิดจะลงทุนกับกล้องโปรฯ อดใจไว้นิด ฉบับหน้าเรามาแน่          ในการทดสอบของ International Consumer Research and Testing คราวนี้ จากคะแนนเต็ม 100 เขาแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้          คุณภาพของภาพนิ่ง                      50 คะแนน        ความสะดวกในการใช้งาน              30 คะแนน        คุณภาพของภาพเคลื่อนไหว         10  คะแนน        จอภาพ/ช่องมองภาพ                   10  คะแนน          ในภาพรวมยังไม่มีกล้องเบสิกรุ่นไหนได้คะแนนรวมเกิน 70 (คะแนนเต็ม 100) ตัวที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มเท่ากันสองรุ่น ได้แก่ iPhone Xs และ Samsung Galaxy S9+ ก็ได้ไปเพียง 67 คะแนน ในขณะที่ Nikon COOLPIX W150 รั้งท้ายด้วยคะแนนเพียง 23 เท่านั้น         ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่สืบค้นทางอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 217 โลกดิจิทัลที่ดีกว่า #Better Digital World

        ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้าแรบบิทของบีทีเอส จองตั๋วเครื่องบิน เปิดบัญชีธนาคาร ทำประกันชีวิต โหลดโปรแกรมแอปพลิเคชันฟรี ดูข้อมูลแนะนำเส้นทางในการเดินทาง ไปเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาลในการฟ้องคดี ต่างต้องการข้อมูลหมายเลข 13 หลักทั้งหมด การเพิ่มขึ้นของข้อมูลดิจิทัลในทุกด้านของชีวิตประจำวันของผู้บริโภค         การคุ้มครองผู้บริโภคควรขยายไปสู่บริการดิจิทัลทั้งหมดโดยไม่คำนึงว่า ผู้บริโภคจ่ายเงินในการใช้บริการหรือให้ข้อมูลเพื่อเข้าถึงบริการเหล่านั้นหรือไม่ การพัฒนาเทคโนโลยีและการตลาดในปัจจุบัน ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคล้าสมัยไปแล้ว กติกาเฉพาะด้านที่มีขึ้นมาใหม่ทับซ้อนกับกติกาในอดีต และกติกาใหม่ๆ ไม่ฉลาดพอ ไม่ครอบคลุม และไม่คำนึงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การซื้อสินค้าผ่านการตลาดทางสังคมออนไลน์ แกร็บแทกซี่ ที่พักบีเอ็นบี(Airbnb) หรือแม้แต่กรณีล่าสุดในการถ่ายทอดสดการกราดยิงผู้คนที่กำลังสวดมนต์ในสุเหร่าของนิวซีแลนด์ที่ใช้เวลานานกว่า FB จะสามารถจัดการได้         ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ทางดิจิทัลของผู้บริโภคควรขยายการคุ้มครองผู้บริโภคไปยังบริการดิจิทัลทั้งหมดไม่ว่าผู้บริโภคจะชำระค่าบริการหรือไม่ ควรพิจารณาวิธีการทางเลือกอื่นๆ เช่น การกำกับกันเอง การกำกับร่วมกันระหว่างธุรกิจและผู้บริโภคในการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาในอนาคต เช่น ในสหภาพยุโรป ที่มีกฎ กติกาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจริง หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต้องสามารถกำหนดกติกาในอนาคตได้ และสำรวจข้อดีและข้อเสียของกฎการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล         ย้อนกลับมามองกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในมาตรา 4 ก็จะพบว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ครอบคลุมไปถึงข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต และสมาชิกตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจ ข้อมูลเครดิต ซึ่งทำให้สถาบันการเงินทั้งหมดอันได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บรษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต นิติบุคคลที่ให้บริการบัตรเครดิต นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการทางการเงิน นิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ ตามที่คณะกรรมการประกอบธุรกิตข้อมูลเครดิตกำหนด        นอกจากนี้ยังไม่คุ้มครองในกรณี การดำเนินการของหน่วยงานรัฐ บุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำการรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา รวมถึงคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยสภาดังกล่าว การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ที่ไม่ต้องถูกใช้บังคับและไม่ต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล น่าเป็นห่วงว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะใช้บังคับกับใครเพราะดูจะยกเว้นไปทั้งหมด        หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะสามารถกำหนดมาตรการลงโทษเมื่อจำเป็นได้อย่างไร หรือการคุ้มครองผู้บริโภคโดยการออกแบบไว้ล่วงหน้า สำหรับคอมพิวเตอร์จะทำได้อย่างไร แต่ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมของกติกาในประเทศต่างๆ แต่ขณะที่การซื้อขายข้ามโลกเช่นนี้ อาจจะทำให้หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบสากลบังคับใช้ก็ได้ เพราะในยุโรปหากเกิดความเสียหายอาจจะไม่คุ้มกับค่าปรับที่สูงมากถึง 20 ล้านยูโร(800 ล้านบาท) หรือไม่เกิน 4% ของรายได้รวมทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 กระแสในประเทศ

โพลล์หนุน ‘รัฐสวัสดิการ’ เผยคนกรุงอยากเห็นนโยบายรักษาพยาบาลฟรี – เงินยังชีพรายเดือน8 พ.ย.61 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับ บ้านสมเด็จโพลล์ แถลงผลสำรวจคนกรุง 1,211 คน ประเด็น “ประชาชนเชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้ ชี้รัฐต้องจัดสรรงบใหม่ให้เป็นธรรม” โดย ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า ประชาชนร้อยละ 48.9 เห็นว่ารัฐควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น เรื่องการศึกษา บำนาญถ้วนหน้า สาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ คนกรุงยังต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในเรื่องบริการด้านสาธารณสุขฟรีมากที่สุด ตามด้วยเรื่องเงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และการประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า โพลล์สะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งด้านสุขภาพ และเรื่องรายได้ แต่ก็พยายามเตรียมตัวด้วยการออมเงินไว้ใช้ โจทย์สำคัญคือ คนที่ไม่มีกำลังออมหรือหากออมแล้วไม่เพียงพอจะใช้ชีวิตอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องมีนโยบายจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าสรรพสามิตเสนอเก็บภาษีอาหารเค็ม-มัน อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแผนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำลายสุขภาพ โดยเบื้องต้นจะยึดรูปแบบเดียวกับแนวทางจัดเก็บภาษีความหวาน และจะให้เวลาผู้ประกอบการเพื่อปรับตัว 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มลงได้ ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีให้ด้วยกกพ. มอบของขวัญปีใหม่ ขึ้นค่าไฟงวด ม.ค. - เม.ย.62 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 จำนวน -11.60 สตางค์/หน่วย ปรับเพิ่มขึ้น 4.30 สตางค์/หน่วย จากปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.61) -15.90 สตางค์/หน่วย โดยจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเมื่อรวมค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เนื่องจากต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมันและก๊าซฯ เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ กกพ. ได้หามาตรการในการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน เช่น มาตรการเสริมประสิทธิภาพการบริการจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการผลิต, มาตรการนำเงินสะสมจากการเรียกเก็บ Ft มาชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดความผันผวน Ftครม. เตรียมกฎหมาย ‘สภาดิจิทัล’ ยกเอกชนทำงานควบคู่รัฐนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยสภาดิจิทัลฯ จะมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล 2. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และ 4. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของดิจิทัลคณะกรรมการชุดนี้สามารถกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของสภาดิจิทัลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นภาคเอกชนทั้งหมด แต่ทำงานควบคู่ไปกับทางภาครัฐ โดยให้ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำกับการดูแลการทำงานของสภาดิจิทัล โดยมีอำนาจตรวจสอบและขอความเห็นชอบเปลี่ยนตัวกรรมการได้เกาะสิมิลันยังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแม้ถูกหลายฝ่ายต้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีชมรมเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันว่า ตนเห็นใจผู้ประกอบการ และคิดว่าทุกฝ่าย เห็นด้วยว่าต้องดูแลรักษาธรรมชาติก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว มีเท่าไรปล่อยเข้าไปหมด ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนไว้กับกรมอุทยานฯ จะได้รับโควต้านำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของพื้นที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ก้าวต่อไปของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล

“เมื่อถึงวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี เราก็กลับมาพบกันอีกครั้งกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างทั่วถึงทั้งโลก โดยสำหรับในปี พ.ศ. 2560 นี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนก็ได้มีโอกาสข้ามน้ำทะเลไปร่วมงานประชุมผู้บริโภคสากลที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ภายใต้ประเด็นหลักคือการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งจะมีข้อมูลน่าสนใจอะไรบ้าง เราลองไปดูกันเลยทำความรู้จักวันสิทธิผู้บริโภคสากลกันสักนิดแม้ว่าในแต่ละประเทศจะกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคไว้มากน้อยแตกต่างกัน แต่แนวทางหลักๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดกฎหมาย ต่างมีที่มาจากหลักสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐาน 8 ประการ ได้แก่ 1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน 2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ 3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระในราคายุติธรรม 5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม 6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย 7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค และ 8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ซึ่งถูกบัญญัติไว้โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) นั่นเองสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล เป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี มีประเทศสมาชิกในเครือข่ายองค์กรกว่า 240 องค์กรใน 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบ้านเราก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศอาเซียน หรือในกลุ่มประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลมีเป้าหมายเพื่อทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลกโดยไม่แสวงหาผลกำไร และรับรองให้ทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาของผู้บริโภค รวมทั้งมีการกำหนดประเด็นในการรณรงค์ร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิก เช่น ในปีที่ผ่านมาได้มีการร่วมรณรงค์ต่อยาปฏิชีวนะในอาหาร เนื่องจากพบว่าสามารถทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลสำคัญอย่างไรแม้ประเด็นปัญหาของผู้บริโภคจะมีมากมายแตกต่างกันไป แต่หนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันในยุคนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลก โดยช่วยทำให้เข้าถึงและดำเนินการด้านข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและการแข่งขัน รวมทั้งกระตุ้นให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกธุรกิจ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตามข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับว่า โลกดิจิทัลได้สร้างอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือยังมีผู้บริโภคบางส่วนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของโลกออนไลน์ เพราะต่างกลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในโลกออนไลน์ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกภาคส่วนของโลกสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลจึงผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวให้กลายเป็นประเด็นหลักสำหรับในปีนี้ โดยกำหนดชื่อการชุมประชุมว่า “Building a Digital World Consumers Can Trust” หรือการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในโลกดิจิทัล อุปสรรคและความเสี่ยงของโลกดิจิทัลส่งผลกระทบอย่างไรบ้างจากปัญหาของผู้บริโภคข้างต้น ได้เผยผลสำรวจในงานประชุมผู้บริโภคสากลครั้งนี้ว่าอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ได้ส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจทางดิจิทัล ทำให้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ความเชื่อใจของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญต่อการซื้อ (demand) ซึ่งจะทำให้ตลาดดิจิทัลเจริญเติบโตทางด้านกำลังขาย (supply) ดังนั้นหากปราศจากความเชื่อใจของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งนี้หากต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อใจนั้น ต้องมีกฎหมายที่คลอบคลุมเพื่อสร้างความมั่นใจในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือด้านการชดเชยเยียวยา นอกจากนี้ในทุกประเทศควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างความตระหนักและให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อยกระดับความสามารถของผู้บริโภคการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย อย่างองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นต้น แนวทางแก้ปัญหาเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจในโลกดิจิทัลมากขึ้น หลายประเทศต่างๆ ทั่วโลกในกลุ่ม G20 (Group of Twenty) หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, ตุรกี, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกาและองค์กรสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก จึงร่วมมือกันหาแนวทางคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งได้นำแนวทางของ UNGCP (UN Guidelines for Consumer Protection) หรือแนวทางของสหประชาชาติในการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นกรอบแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสามารถสังเคราะห์ออกมาได้เป็น 8 มิติที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การขยายการเข้าถึงบอร์ดแบรนด์ การปรับปรุงคุณภาพ การพัฒนาทักษะหรือความสามารถของผู้บริโภคในการเข้าถึงโลกออนไลน์กรอบคิดของ UN ในการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลมีอะไรบ้าง8 มิติของการแก้ปัญหาที่กลุ่ม G20 ร่วมกันวางกรอบแนวคิดไว้ มีการกำหนดตัวบ่งชี้ที่สามารถอธิบายและวัดความก้าวหน้าได้ เพื่อทำให้การแก้ปัญหามีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนี้1. ด้านการเข้าถึงเพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงข้อมูลบนโลกดิจิทัล จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับการส่งเสริมด้านใดบ้าง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากสัดส่วนของประชากรได้รับบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสัดส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และวัดความพึงพอใจในคุณภาพและราคาที่ต้องเสียไปเมื่อมีการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลต่างๆ 2. ด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควรมีกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าสำหรับโลกดิจิทัล เพื่อป้องกันผู้บริโภคถูกเอาเปรียบด้านราคา รวมทั้งต้องให้ผู้บริโภคมีความสามารถที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการ ICT ได้หากไม่พึงพอใจการให้บริการออนไลน์3. ความปลอดภัยด้านสินค้าและความรับผิด โลกดิจิทัลควรมีความปลอดภัย ซึ่งสามารถชี้วัดได้จำนวนและความรุนแรงของการรายงานเหตุสินค้าและบริการดิจิทัลที่ไม่ปลอดภัย โดยต้องพัฒนากฎหมายด้านความปลอดภัยและความรับผิด รวมทั้งควรมีหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุมหรือสินค้าและบริการดิจิทัล นอกจากนี้ภาคธุรกิจก็ควรร่วมมือด้วยการยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยก่อนวางตลาด หรือติดตาม ตรวจสอบสินค้าของตนเองหลังการวางจำหน่ายในตลาด และเรียกคืนสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ4. ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล ควรมี Internet server ที่ปลอดภัย และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว5. ข้อมูลและความโปร่งใสควรมีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้คำแนะนำก่อนทำการซื้อขาย หรือมีหน่วยงานทดสอบเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคก่อนตกลงซื้อ6. การศึกษาและจิตสำนึกเพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันโลกดิจิทัล จำเป็นต้องเพิ่มทักษะด้านการใช้งานหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ หากพบว่าตนเองถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์ เช่น วิธีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  7. การแก้ปัญหาข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายตัวชี้วัดสำหรับมิตินี้ สามารถพิจารณาได้จากสถานะของการดำเนินการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งความพึงพอใจของผู้บริโภคเมื่อได้รับการแก้ปัญหา โดยควรพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายให้มากขึ้น รวมทั้งทำให้ระบบจัดการเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น8. ธรรมาภิบาลและความมีส่วนร่วมหน่วยงานของรัฐสามารถสร้างความเชื่อใจของผู้บริโภคในด้านการคุ้มครองสิทธิทางดิจิทัล ด้วยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล หรือให้มีองค์กรเพื่อผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย และให้หน่วยงานเพื่อผู้บริโภคมีอำนาจในการฟ้องคดีกลุ่มแทนผู้บริโภค นอกจากนี้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้าน ICT ต้องมีความโปร่งใสนอกจากนี้เพื่อให้ได้เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้เสนอแนะให้กลุ่ม G20 ริเริ่มกระบวนการที่สามารถใช้เพื่อประเมิน หรือตรวจสอบสถานะของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิตัลทั้งในระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งควรร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือกลไกสำหรับการจัดทำนโยบายและดำเนินการตามแผนนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม เช่น จัดตั้งคณะทำงานหรือมีองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นทางการ หรือมีโครงการทดลองนำร่องเพื่อแก้ปัญหาและมีการประเมินผล แนะแนวทางเบื้องต้นสำหรับปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์นอกเหนือจากไปกรอบแนวคิดที่กลุ่ม G20 ได้ร่วมกันเสนอเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลแล้ว ก่อนจบการประชุมครั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้นำเสนอ 10 วิธีเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์ได้ ซึ่งมีดังนี้1. ใช้รหัสผ่านที่ต่างกันในแต่ละบัญชีผู้ใช้ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านเสมอเพื่อป้องกันการถูกล้วงข้อมูล 2. ใช้การตั้งค่าความปลอดภัย หรือความเป็นส่วนตัวบนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อโลกออนไลน์เสมอ 3. ระวังสิ่งที่แบ่งปันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย 4. ตั้งค่ารหัสผ่าน Wi-Fi เพื่อจำกัดการเข้าถึงเครือข่ายที่เราใช้งานอยู่ 5. อย่าหลงกลอีเมลหลอกลวงที่มักให้เรากดเข้าไปดูและกรอกรายละเอียดส่วนตัว 6. หลีกเลี่ยงการเปิดไฟล์แนบอีเมลหรือลิงก์ที่ผิดปกติ  7. ควรมีบัญชีอีเมลมากกว่า 1 บัญชี ซึ่งช่วยป้องกันการระบุที่อยู่อีเมลที่แท้จริงเมื่อต้องสมัครลงชื่อใช้บริการในเว็บไซต์ต่างๆ 8. ชำระเงินกับเว็บไซต์ที่ปลอดภัย โดยสามารถตรวจสอบได้จากที่อยู่ของเว็บดังกล่าว ซึ่งควรขึ้นต้นด้วย “https: //” ไม่ใช่แค่ 'http' หรือมีเครื่องหมายเป็นรูปกุญแจล็อคสีเขียวที่ด้านซ้ายหรือด้านขวาข้างๆ ที่อยู่ดังกล่าว 9. อัปเดตซอฟต์แวร์เสมอ เพื่อให้ระบบรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์การเชื่อมต่อมีความทันสมัย 10. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพ *ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากเว็บไซต์: http://www.consumersinternational.org/wcrd-2017-resource-pack/

อ่านเพิ่มเติม >