ฉบับที่ 266 กระแสต่างแดน

เหงาเมื่อไรก็แวะมา         การระบาดของโควิดทำให้ผู้คนมากมายรู้สึกโดดเดี่ยว บางคนก็ยังได้รับผลกระทบจากมันจนถึงวันนี้ งานวิจัยของสหภาพยุโรปพบว่าอัตราคนเหงาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 25         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ที่การออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น         ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในเยอรมนีจึงเริ่มเปิดให้บริการเคาน์เตอร์ชำระเงิน แบบ “จ่ายไปคุยไป” สำหรับลูกค้าที่ต้องการเพื่อนคุยแก้เหงา (แต่ถ้าใครรีบก็ไปต่อคิวที่เคาน์เตอร์ปกติ หรือจะใช้บริการตู้เช็คเอาท์ด้วยตัวเอง ก็ไม่ว่ากัน)        ห้าง Edeka เปิด “เคาน์เตอร์เพื่อนคุย” ระหว่าง 9:00 – 11:00 น. วันจันทร์ถึงพฤหัส ในขณะที่ห้าง Schweinfurt ก็มีโครงการลักษณะนี้สัปดาห์ละหนึ่งวัน วันละไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง          ความเหงาส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันเลือดสูง เส้นเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงโรคสมองเสื่อม บริการนี้จึงมาแรง ข่าวว่าสวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มมีแล้วเช่นกันแจกเงินไม่เวิร์ค         งานวิจัยเกาหลีใต้พบ การลงทุนขยายหรือปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กช่วยเพิ่มอัตราการเกิดได้ดีกว่าการให้เงินช่วยเหลือเป็นรายหัว         อัตราการเกิดของเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.78 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก รัฐบาลท้องถิ่นจึงพยายามเรียกร้องของบประมาณเพิ่มเพื่อให้พ่อแม่ใช้เป็นค่าเลี้ยงดูเด็กเกิดใหม่         รายงานจากสถาบันการคลังท้องถิ่นระบุว่าการให้เงินสนับสนุนหนึ่งล้านวอน (ประมาณ 26,000 บาท) ต่อเด็กหนึ่งคน จะทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นเพียง 0.03  แต่ถ้าใช้งบประมาณต่อหัวในจำนวนเดียวกันเพื่อขยายศูนย์เด็กเล็ก อัตราการเกิดจะเพิ่มขึ้นถึง 0.098         นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ “เงินคลอดบุตร” แบบจ่ายเป็นก้อน ได้ประโยชน์กว่าการจ่ายเป็นงวด และที่สำคัญถ้าเงินช่วยเหลือน้อยกว่า 2.5 ล้านวอน ( 64,000 บาท) ก็แทบจะช่วยอะไรไม่ได้         ข้อมูลดังกล่าวได้จากการวิเคราะห์นโยบายการดูแลเด็กที่รัฐบาลท้องถิ่น 226 แห่งได้ดำเนินการในช่วงระหว่างปี 2009 ถึง 2021 ไม่เหมือนที่พูด         ดิสนีย์ฮ่องกงต้องรับทัวร์คณะใหญ่ หลังปล่อยเซตผลิตภัณฑ์ฉลองครบรอบ 100 ปี ในขวดพลาสติกที่นำมาใช้ซ้ำไม่ได้ ทั้งที่บริษัทได้ประกาศบนเว็บไซต์ว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลก         เซตดังกล่าวประกอบด้วยน้ำแร่บรรจุขวดขนาด 530 มล. มาคู่กับตุ๊กตาคาแรคเตอร์ของดิสนีย์ในขวดใส         หลังเกิดดราม่า สื่อฮ่องกงจึงซื้อมาทดสอบดู แล้วก็พบว่า “ขวดใส่ตุ๊กตา” ไม่สามารถใช้เป็นขวดน้ำได้ เพราะใส่แล้วน้ำซึมออกมาทางก้นขวดตรงบริเวณที่เปิดเอาตุ๊กตาออกมา         เนื่องจากสินค้าดังกล่าววางจำหน่ายใน 7/11 ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่มีประมาณ 1,000 สาขา ก็เลยต้องรับทัวร์เช่นกัน หลังเคยประกาศต่อสังคมว่าจะลดขยะและลดการใช้พลังงาน และอุตส่าห์สร้างชื่อด้วยการรับบริจาคอาหารเหลือ และตั้งถังรับขยะรีไซเคิล           ตัวแทนจากกรีนพีซฮ่องกงบอกว่านี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปัญหาที่ฮ่องกงประสบอยู่ ซึ่งก็คือการใช้บรรจุภัณฑ์เกินความเหมาะสมนั่นเองค่าแรงต้องขึ้น         ปัจจุบันร้อยละ 70 ของคนหนุ่มสาวไต้หวันมีรายได้อย่างต่ำ 27,000 เหรียญ (30,000 บาท) คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างในอุตสาหกรรมบริการ ขณะที่คนจบปริญญาตรีจะได้ค่าแรงเดือนละ 39,000 เหรียญ (43,000 บาท)         นักเคลื่อนไหวสายแรงงานบอกว่า ค่าแรงอัตรานี้ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับค่าที่อยู่อาศัยที่แพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับปริญญาตรีที่ถือว่าสูงมาก         รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานบอกว่าเหตุที่ค่าแรงต่ำก็เพราะแรงงานยังขาดทักษะที่อุตสาหกรรมหลักต้องการ เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และการสื่อสารไฮเทค รัฐบาลจึงได้อนุมัติเงิน16,000 ล้านเหรียญ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวและทำให้รายได้เฉลี่ยของเด็กจบใหม่ขึ้นมาเป็นเดือนละ 42,000 เหรียญ หรือ 46,000 บาท          รายงานยังบอกอีกว่าเด็กไต้หวันใช้เวลาอยู่ในระบบการศึกษานานเกินไปเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD  

อ่านเพิ่มเติม >