ฉบับที่ 275 5 เรื่องเตือนภัยผู้บริโภค ปี 2567

        ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากประชาชนทั้งหมด 1,600 เรื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่อง บริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป , อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย , การเงิน การธนาคาร , บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเหล่านี้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน    1.มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์         กลุ่มที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์มีหลายลักษณะ ไม่ว่าซื้อของแล้วไม่ได้ของเลยหรือซื้อของแล้วได้ไม่ตรงตามสินค้าที่สั่ง สั่งสินค้าแล้วได้รับแต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งานได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะของใช้ โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ         ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนของ เพจปลอม ที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ ผู้เสียหายนั้นถูกมิจฉาชีพจาก เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์ภาพข้อความและที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลอกให้จองที่พัก โดยเมื่อผู้เสียหายเห็นรูปที่พักในเพจสวยถูกใจ จึงติดต่อไปสอบถามรายละเอียดเพื่อจองที่พักในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งแอดมินเพจก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเสนอส่วนลด 3,300 บาท หากเธอโอนเงินค่าที่พักเข้ามาทันที เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้วต่อมาทางเพจยังแจ้งให้โอนค่าประกันความเสียหายของที่พักอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายไม่ได้คิดมากอะไรนัก คิดว่าเงินประกันย่อมได้คืนในตอนสุดท้าย จึงโอนเงินให้อีกเป็นครั้งที่ 2 รวมโอนเงินไปทั้งสิ้น 14,700 บาท  ต่อมาผู้เสียหายจึงพบว่า ความจริงเมื่อเดินทางไปตามแผนที่ไม่พบที่พักดังกล่าว (BEACH VIEW pool Villa) แต่กลับเป็นที่พักของโรงแรมชื่อ Canary Good Pool Villa ซึ่งเจ้าของได้ดำเนินการแจ้งความแล้วเช่นกันที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปไปใช้           “ถามว่าทำไมเราถึงเชื่อและหลงโอนเงินไปให้ คือในเพจเขาเหมือนจริงทุกอย่าง มีรูปห้อง มีรูปคนมาเข้าพัก มีรีวิว มีการกดไลค์ มีผู้ติดตามทุกอย่าง เราเลยเชื่อ ตอนนี้เราได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วแต่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืนเพราะตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วแต่เขายังไม่มาเราก็กำลังติดตามเรื่องอยู่” ผู้เสียหายเล่าให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น         มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของและบริการส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมหรือบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok  ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือบริการได้ มีที่อยู่แน่ชัด ผู้ขายมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและมีระบบการระงับการเงิน การประกันเงินที่เพียงพอเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น  2.สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า         กลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ ด้วย         สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎ ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก         กรณีการเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงามเกิดได้ทั้งตั้งแต่ถูกล่อลวงให้ใช้บัตรเครดิตแม้ต่อมาผู้บริโภคจะขอยกเลิกก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก อาจต้องเสียเงินไปบางส่วนแล้ว บางกรณีประชาชนถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สเสริมความงามแต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญา หรือสถานเสริมความงามปิดตัวลงไม่สามารถใช้บริการได้ และหลายกรณีเข้าใช้บริการแล้วต่อมากลับพบว่า คลินิกใช้ยาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หลายกรณีประชาชนเกิดความเสียหายขึ้นกับร่างกายจากการรับบริการแต่ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกินเวลาเนิ่นนาน         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน  และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้  3.ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ         แม้เรื่องนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิไม่มากนัก  แต่เราเห็นว่าปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร          กรณีที่มีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า   "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี  และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง 4.  สื่อและโทรคมนาคม         หลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%)  คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%)         ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์  กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย   5.การซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย         ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ  หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว  ......................................................... ผู้บริโภคจะป้องกันตัวเอง ได้อย่างไร           คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า จากปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขาย รวมถึงบริษัทขนส่ง ควรร่วมเข้ามากำหนดมาตรการกำกับดูแลด้วย โดยควรมีระบบที่สามารถบันทึก บัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ใช้ส่งของ ควรมีระบบที่ช่วยกันตรวจสอบว่าหากถูกตีกลับบ่อยครั้ง อาจมีระงับบัญชีชั่วคราว ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที         “แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และ TikTok เราจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ของการซื้อขายไปแล้ว แต่การจัดทำระบบเพื่อความปลอดภัย การตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของร้านค้ายังพัฒนาไม่มากเท่าแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเพื่อการซื้อขายจริงๆ เราจึงเรียกร้องว่าหากประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อทำการซื้อขายแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรจะต้องยกระดับ มาตรการความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ให้มีความปลอดภัยที่เพียงพอ”         ในด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัยนฤมลสะท้อนว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคเป็นผู้เช่าซื้อ ผ่อนไปนาน 3 เดือนหรือ 20 ปี สถานะไม่ได้ต่างกันหากยังผ่อนไม่หมดหรือแต่เมื่อผ่อนหมดไปแล้วผู้บริโภคก็จะใช้อำนาจขัดทรัพย์ไม่ได้ กฎหมายยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอยู่มาก         กรณีที่มีเรื่องฟ้องคดีแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่บริษัทเจ้าของโครงการยังสามารถโอนถ่ายทรัพย์สินไปเสียก่อน หรือ ทำให้บริษัทล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งเรื่องนี้นฤมลสะท้อนว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จะต้องร่วมมือกันในอีกหลายฝ่ายเพราะต้องเป็นนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนถึงจะได้รับการคุ้มครองได้         คุณธนทรัพย์  ชิตโสภณดิลก  เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวถึงปัญหาประชาชนถูกดูดเงินออกจากแอพพลิเคชั่น การเงิน การลงทุนต่างๆว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 และเป็นปัญหาอย่างมากในปี 2565 ปัจจุบันแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ประชาชนยังต้องระมัดระวัง          “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีฝ่ายงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัลอยู่แล้ว ระบบในแอพลิเคชั่นมีการให้ยืนยันตัวตนทุกครั้งที่มีการฝาก - ถอน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัล มักจะถูกโจรกรรมโดยการเข้าไป พิชชิ่ง คือการกดเข้าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างมาเพื่อหลอกหากไม่ได้ดูให้ดีเพราะชื่อโมเดนของเว็บไซต์จะคล้ายกันมากเช่นเว็บไซต์  zintmes เขาจะปลอมเป็น zintmess  เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีช่องให้กรอกข้อมูล Username และ Password เหมือนกัน หากเผลอกรอกข้อมูลนี้ไปแล้วมีโอกาสสูงอย่างมากที่มิจฉาชีพจะมีข้อมูลของผู้เสียหายและเข้ามาในบัญชีจริง โอนถ่ายเงินไปซื้อเหรียญอื่น และโอนต่อไปเรื่อยๆ จนไปต่างประเทศ การสืบว่า บัญชีปลายทางเป็นบริษัท หรือเป็นใคร เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่ตำรวจแล้ว หากไปต่างประเทศจึงปรากฏตามข่าวว่าตำรวจยังสามารถดำเนินการได้ล่าช้า”         ด้านปัญหาที่ประชาชนเข้ารับบริการจากคลินิกเสริมความรับ และได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า สคบ. มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในเรื่องนี้ คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 หากประชาชนมีหลักฐานการจ่ายเงินและยังไม่ได้เข้าใช้บริการก็ย่อมสามารถขอรับเงินคืนได้  ซึ่งตามมาตรา 11 พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ระบุให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากประชาชนพบเห็นการโฆษณาจากที่ใดให้เก็บหลักฐานไว้ และเมื่อมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นหลักฐานประกอบอีก กฎหมายจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้ทำสัญญาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกประชาชนไม่ได้รับสินค้าหรือใช้บริการ ก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถนำหลักฐานการโฆษณา การจ่ายเงิน ในการฟ้องเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หากประชาชนศึกษาไว้จะเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองสิทธิของตนเองได้  ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก          ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รอง สว. (สอบสวน) กก.2 กองบังคับการปราบปราม  การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า 5 อันดับสูงสุดของเรื่องที่มีการแจ้งความออนไลน์เข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หลอกให้รักโรแมนส์สแกม และการโดนหลอกผ่านคอลเซนเตอร์           " สำนักงานตำรวจเรามีโครงการ CIB เตือนรักระวังภัย 4 ห้องหัวใจระวังโจรเพราะมี 4 มิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของความรักคือ 1.1.Romance Scam หลอกให้รัก หลอกให้โอน ด้วยการปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี หลอกว่าจะบินมาแต่งงาน ส่งของมีค่ามาให้ ให้เราโอนเงินค่าดำเนินการ 2.Hybrid Scam หลอกให้ลงทุน ด้วยการปลอมโปรไฟล์ให้ดูดี เข้ามาตีสนิทพูดคุยเชิงชู้สาว ก่อนจะใช้คารมคำหวานหลอกให้ลงทุน 3.Sextortion ข่มขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการหลอกให้ถ่ายรูปโป๊ ชวนแลกภาพโป๊เปลือยก่อนจะนำไปแบล็กเมล์ ข่มขู่จะปล่อยภาพหลุดแลกเงิน 4.Dating fraud ลวงให้ออกเดท ด้วยการ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ขอนัดเจอ ก่อนล่อลวงไปข่มขืน กักขัง คิดถึงสัมพันธ์ออกแบบจำลอง และทำร้ายร่างกาย”         ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ให้คำแนะนำ/ ข้อสังเกตเพื่อให้ประชาชน ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไว้ดังนี้        ·     เพจปลอมที่หลอกขายสินค้า หรือให้จองที่พักมักจะลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกต         ·     บัญชีที่ให้โอนเงินหากเป็นโรงแรมหรือที่พัก ควรเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ชื่อบุคคล         ·     เมื่อติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดในการซื้อสินค้าหรือบริการแนะนำให้ประชาชนขอเบอร์โทรศัพท์และหมั่นโทรไปสอบถามข้อมูลให้บ่อยครั้งที่สุด เพราะโดยปกติเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพจะตั้งระบบให้ไม่สามารถโทรกลับ หรือติดต่อได้โดยง่าย          ·     หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกว่าเป็นตำรวจหรือหลอกว่าเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดใดๆ อย่าตื่นตระหนกแต่ให้ขอข้อมูลจากมิจฉาชีพว่ามาจากสถานีตำรวจใดและให้ประชาชนตรวจสอบกลับไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มิจฉาชีพอ้างถึงได้ติดต่อมาจริงหรือไม่         ·     มิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกไม่ว่าจะทั้งในเพจปลอม หรือ คอล เซ็นเตอร์มักมีลักษณะเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยเร็วโดยการยื่นข้อเสนอ จูงใจต่างๆ หรืออาจทำให้ตระหนก ตกใจไม่มีเวลาคิดตรวจสอบข้อมูลจนรีบโอนเงินไป        ·     ประชาชนควรหมั่นติดตาม ข่าวสารแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนกันการฉีดวัคซีนการเตือนภัยให้ตัวเอง หากทำไม่สม่ำเสมออาจไม่เท่าทันรูปแบบของมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน         ·     ให้ประชาชนมีสติในการซื้อ ไม่โลภ หากสินค้าราคาถูกกว่าตลาดมากๆ ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดสังเกตเพราะปัจจุบัน มีการปลอมสินค้าทุกรูปแบบ เช่น ผงชูรส ผงซักฟอก เป็นต้น  และควรซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ควรซื้อในแพลตฟอร์มที่มีการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย   มีมาตรการความปลอดภัย           ·     ปัจจุบัน ประชาชนควรเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น รู้ว่า ใช้ AI สร้างบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาได้จริง หรือการการพูดคุยกับ มิจฉาชีพทางคอล เซ็นเตอร์นานๆ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องสนุกแต่เทคโนโลยีจะสามารถปลอมเสียงของเราไปหาประโยชน์กับรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเราได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 จากปมผลกระทบการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม สู่ประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช.

        การควบรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” เกิดขึ้นมาเกือบ 1 ปีแล้ว แม้ในช่วงก่อนดำเนินการจะมีกระแสเสียงคัดค้านและข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่ดูเหมือนประเด็นจะ “จุดไม่ติด” ในสังคมไทย แม้แต่เมื่อการควบรวมเกิดขึ้นแล้วและมีกระแสข่าว รวมถึงการออกมาเผยข้อมูลเรื่องผลกระทบหรือเบาะแสปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงประเด็นกระเส็นกระสาย         จนกระทั่งมาถึงช่วงเดือนธันวาคมนี้ กระแสเรื่องนี้จึงเริ่มเด่นชัดขึ้นมา ด้วยเสียงบ่นหนาหูในโลกออนไลน์ ทั้งในเรื่องการประสบปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (เน็ตมือถือ) มีความอืดช้าลงกว่าเดิม หรือมีการสะดุดหรือหลุดหายของสัญญาณ การถูกเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจการใช้งานโดยไม่รู้ตัว การหายไปของแพ็กเกจเน็ตราคาย่อมเยา         สรุปง่ายๆ ว่า มีปัญหาทั้งในเชิงของคุณภาพที่ลดลง ทางเลือกหดหาย ซึ่งในที่สุดก็เชื่อมโยงมาถึงปัญหาการต้องจ่ายค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือสูงขึ้นนั่นเอง        ยิ่งเมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พยายามแสวงหาความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยการสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการผ่านทางออนไลน์ โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-23 พฤศจิกายน 2556 และเปิดเผยผลออกมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ว่า จากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2,900 ราย ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าเป็นผู้ใช้บริการของเครือข่ายใด มีถึงร้อยละ 81 ระบุว่าพบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยปัญหาหลัก 3 อันดับแรกได้แก่ เน็ตช้า (ร้อยละ 29) สัญญาณหลุดบ่อย (ร้อยละ 19) โปรโมชันเดิมหมด ต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น (ร้อยละ 14) น้ำหนักของปัญหาก็ยิ่งเด่นชัด         การทวงถามหาประสิทธิผลของสิ่งที่เรียกว่า “มาตรการเฉพาะ” ที่ทาง กสทช. กำหนดไว้ในวันที่มีมติรับทราบการควบรวม จึงเกิดขึ้นตามมา ซึ่ง กสทช. ได้กำหนดไว้หลายประการที่ดูเหมือนจะดีด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่กำหนดว่า อัตราค่าบริการเฉลี่ยจะต้องลดลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วันหลังการควบรวม         ข้อสงสัยยิ่งมีมากขึ้น เมื่อเกิดการเปิดเผยข้อมูลออกมาว่า ทางบริษัทฯ ที่ควบรวมได้รายงานต่อ กสทช. ว่า อัตราค่าบริการของโทรศัพท์มือถือลดลงประมาณ 15% และราคาค่าบริการเน็ตมือถือลดลงประมาณ 80% ซึ่งค้านกับเสียงบ่นในสังคมราวกับอยู่คนละโลก         คำถามและการวิพากษ์วิจารณ์พุ่งเป้าไปยัง กสทช. อีกครั้ง ในฐานะขององค์กรกำกับดูแลที่ควรจะต้องออกมาชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้         สื่อและประชาชนอยากทราบความจริงจาก กสทช. และอยากได้หลักฐานว่าผลกระทบเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร คุณภาพบริการมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในลักษณะใด ราคาค่าบริการสูงขึ้นหรือลดลง แท้จริงแล้วคุณภาพบริการแย่ลงอย่างที่บางคนบ่นหรือไม่         ถึงแม้ว่าทาง กสทช. จะยังคงเล่นบทเงียบเช่นเดียวกับที่เคยๆ ทำมาในเรื่องอื้อฉาวกรณีต่างๆ แต่ด้วยการมีข้อสงสัยและคำถามเกิดขึ้นอย่างเจาะลึกขึ้นเรื่อยๆ จนสื่อมวลชนให้ความสนใจ รายการเล่าข่าวดังมีการสัมภาษณ์ นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งได้เปิดให้เห็นเงื่อนปมต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการทำงานของ กสทช. ที่มีลักษณะยากจะเข้าใจและเต็มไปด้วยกรรมวิธีซับซ้อน         ประเด็นอย่างเช่นการใช้วิธีให้บริษัทเอกชนผู้ประกอบการเป็นฝ่ายรายงานผลการปฏิบัติงานของตน แทนที่ กสทช. จะเป็นฝ่ายตรวจสอบ การยอมให้เอกชนปฏิบัติแบบหลุดกรอบเวลาที่กำหนดโดยไม่มีมาตรการติดตามหรือบังคับที่จริงจัง รวมถึงการกำหนดวิธีควบคุมราคาค่าบริการด้วยค่าเฉลี่ย ล้วนสะท้อนวิธีการทำงานลักษณะ “ไม่ธรรมดา” ของ กสทช.        ยกตัวอย่างเรื่องระบบการควบคุมค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในเชิงต้นทาง แม้ กสทช. มีการกำหนดอัตราค่าบริการไว้ว่า แต่ละบริการจะต้องไม่เกินเท่าไร โดยกำหนดว่าบริการเสียงต้องไม่เกิน 0.60 บาทต่อนาที บริการข้อความสั้น หรือ SMS ไม่เกิน 0.89 บาทต่อข้อความ บริการเน็ตมือถือไม่เกิน 0.16 บาทต่อเมกะไบต์ แต่ในการกำกับอัตราดังกล่าวกลับใช้วิธีเฉลี่ยรวมทุกรายการส่งเสริมการขาย โดยให้มีการถ่วงน้ำหนักระหว่างรายการส่งเสริมการขายหลักและรายการส่งเสริมการขายเสริมในสัดส่วนร้อยละ 80/20 ตามลำดับ         ข้อดีของวิธีดังกล่าวคือการเปิดให้เอกชนผู้ให้บริการสามารถจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายอันหลากหลาย แต่ด้วยวิธีการอันซับซ้อนดังกล่าวทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไปไม่อาจตรวจสอบได้เลยว่า ค่าบริการในโลกความจริงเป็นไปตามกติกาที่องค์กรกำกับดูแลกำหนดหรือไม่ อย่างไร         ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ สำนักงาน กสทช. เองที่มีหน้าที่ต้องคอยตรวจสอบเรื่องนี้เป็นประจำทุกเดือน ทำได้เพียงพิจารณาข้อมูลรายการส่งเสริมการขายตามที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานมาให้ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเลยว่า รายการส่งเสริมการขายในโลกของเอกสารหรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงาน กสทช. รับทราบนั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับที่อยู่ในตลาดให้บริการจริงและที่ประชาชนคนใช้บริการได้ใช้จริงหรือไม่         ประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจนของค่าบริการโทรคมนาคมจึงมีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดปมปัญหาผลกระทบการควบรวมต่อค่าบริการว่าสูงขึ้นหรือลดลงกันแน่ ดังนั้น การจะคาดหวังให้ กสทช. ไขความกระจ่างในปมปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จึงดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ กสทช. จะมีการเปลี่ยนวิธีการทำงาน         ในส่วนเรื่องคุณภาพบริการก็ไม่แตกต่างกัน วิธีการหลักที่ กสทช. ใช้ในการกำกับคุณภาพบริการก็คือ การมีข้อกำหนดในสิ่งที่เป็น “มาตรฐาน” ของบริการ เป็นกรอบและแนวทางให้เอกชนผู้ให้บริการปฏิบัติตาม ส่วนในโลกความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรนั้น หลักๆ แล้ว สำนักงาน กสทช. รับทราบตามข้อมูลที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามา เสริมด้วยการออกวิ่งรถตระเวนรถตรวจสัญญาณ        คุณภาพบริการที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานมีลักษณะเป็นค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดในตัวเอง ในแง่ที่ไม่อาจบ่งบอกว่าบริการเฉพาะพื้นที่ต่างๆ เป็นอย่างไร และบริการที่ประชาชนผู้ใช้บริการแต่ละรายได้รับนั้นเป็นอย่างไร        ที่สำคัญคือ ต่อให้คุณภาพบริการตามที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานจะตรงตามความเป็นจริงและผ่านค่ามาตรฐาน แต่ผู้ใช้บริการบางรายในบางพื้นที่อาจใช้บริการที่ตกมาตรฐานอยู่ก็เป็นได้         จากปมผลกระทบการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม สะท้อนมาถึงประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช. ดูเหมือนว่า ทั้งสองปัญหาดูอึมครึมไม่แตกต่างกัน และต่างมีความซับซ้อนเกินกว่าจะหาทางออกได้ง่ายๆ จึงหวังว่ากระแสความสนใจของสังคมต่อทั้งสองเรื่องนี้จะยังไม่จางไป เพื่อที่ปัญหาจะได้ถูกตรวจสอบและเปิดเผยออกมาสู่การรับรู้และอยู่ในสายตาของสาธารณะ ให้ปมอันซ่อนเงื่อนถูกคลายออกบ้าง ทั้งเรื่องผลกระทบการควบรวม ทั้งเรื่องการทำงานขององค์กรในแดนสนธยาอย่าง กสทช. ซึ่งต่างควรจะอยู่ในแสงสว่างอย่างโปร่งใสเสียที 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2566

ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าดำเนินคดีทุกราย!         สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยมีประชาชนร้องเรียนว่าพบมีการลักลอบเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาในบริเวณตลาดถนนคนเดินใกล้มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านเขตประเวศ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.อุดมสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบผู้กระทำผิดจริงในขณะกำลังเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าหลายราย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อดำเนินการยึดบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปที่ สน.อุดมสุข เพื่อดำเนินคดีฐานขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ สคบ. ขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หากพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทุกราย         "บุหรี่ไฟฟ้า"  เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เคยมีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้นผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ ขอคะแนนคืนได้         หลังจากมีประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสำหรับมาตรการตัดแต้มใบขับขี่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าหากผู้ขับขี่รายใดถูกตัดคะแนนจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน ท่านสามารถขอคะแนนคืนได้ด้วยการเข้าอบรม ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศซึ่งมีการเปิดอบรมให้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยสามารถจองคิวผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ DLT Smart Queue แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (การเข้าอบรมจะมีค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร)            กรณีที่ถูกตัดแต้มใบขับขี่จนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักอนุญาตใบขับขี่ (ห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน) และหากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบว่ามีพื้นที่มีค่าฝุ่น PM. เกิน 51 มคก./ลบ.ม. และเริ่มกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด และ กทม. 50 เขต โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่ม 6 จังหวัด ในส่วนพื้นที่ค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วัน มีทั้งหมดจำนวน 36 จังหวัด         ทั้งนี้การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 5 มี.ค. 66 นั้น พบว่ามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 คน กลุ่มผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ โรคทางเดินหายใจ 583,238 คน โรคผิวหนังอักเสบ 267,161 คน โรคตาอักเสบ 242,805 คน โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 คน น้ำตาเทียมที่พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ยี่ห้อในอินเดียยังไม่มีขายในไทย        จากกระแสข่าวที่มีศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) นั้น มีการพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ EzriCare และ Delsam Pharma โดยมีผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งน้ำยาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สูญเสียการมองเห็นถึง 8 คนและต้องผ่าลูกตากว่า 4 คนนั้น           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ(อย.) ระบุจากการตรวจสอบของทาง อย.ไม่พบว่ามีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และไม่พบข้อมูลจำหน่ายทางออนไลน์ในไทย โดยทาง อย.มีมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งมีการติดตามข่าวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างประเทศอย่าใกล้ชิดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ขอให้ผู้บริโภควางใจ มพบ. ยื่นฟ้อง กสทช. กรณีปมควบรวม ทรู-ดีแทค         8 มีนาคม 2566 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สนง.กสทช) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีอนุมัติให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการ ชี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษของ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติให้ควบรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ รับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง        กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า จากเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2665

ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์  4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย         การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย                    กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ         ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง         นายแพทย์เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ         สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค        จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย         กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2565

ยกเลิกโทษ-ปรับ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย         หลังจากประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2565 นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) เกี่ยวกับให้อำนาจจังหวัดสำหรับการออกคำสั่งการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อยกเลิกพระราชกำหนด พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระเบียบจะคงค้างอยู่ จึงให้ยกเลิกค่าปรับสำหรับคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขจะลงนามประกาศในราชกิจจาฯ ต่อไป ผ่อนรถคิดดอกเบี้ย "ลดต้น-ลดดอก”         17 ตุลาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ของปี พ.ศ.2561 และมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังพ้นประกาศ 90 วัน โดยให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี ลักษณะแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือของแต่ละงวด         นอกจากนี้กรณีที่ยังไม่มีกฎหมายอัตราดอกเบี้ยสำหรับเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ไว้เฉพาะ ให้กำหนดดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อตามกลไกตลาด คำนวณดังนี้ กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี , กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี , กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี อย่างไรก็ตาม อาจมีการปรับเปลี่ยนให้ลดลง-เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจประเทศทุก 3 ปี ห้ามใช้มือถือตอนขับรถฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1,000 บาท         เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 อาศัยอำนาจตามมาตรา 43(9)  แห่งราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ผู้ขับสามารถใช้โทรศัพท์ได้ต่อเมื่อทำตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1.ให้ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายหรืออุปกรณ์เสริมสำหรับสนทนา ระบบกระจายเสียงจากเครื่องโทรศัพท์โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องจับโทรศัพท์ 2. ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับยึดหรือติดโทรศัพท์ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้ง โดยต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถขณะขับรถ กรณีผู้ขับขี่มีความจำเป็นต้องถือ จับ สัมผัสเพื่อใช้งานให้ผู้ขับหยุดหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัยก่อนใช้โทรศัพท์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท อย. พบสารเอทิลีนออกไซด์ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป         กรณีที่มีข่าวสำนักงานอาหารของสิงคโปร์เรียกคืน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตราหมี่ซีดาพ” ที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากพบปนเปื้อนสารเอิลีนออกไซด์ จำนวน 4 รายการ  จากกรณีดังกล่าว อย.ไทย ได้มีการตรวจสอบแล้ว “ไม่พบการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรุ่นดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในไทย” แต่ได้ทำการตรวจสอบสถานที่นำเข้า พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ซีดาพ จำนวน 8 รายการ ที่ผลิตในไทยมาตรวจสอบหาสารเอทิลีนออกไซด์          จากผลตรวจวิเคราะห์ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบ 2 ตัวอย่างที่มีสารเอทิลีนออกไซด์ คือ หมี่ซีดาพ โคเรียน สไปซี่ ชิคเค่น (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่เผ็ดเกาหลี) ซองสีดำ เลขสารบบอาหาร 10-3-12535-5-0548 รุ่นการผลิตได้แก่ รุ่นวันที่ผลิต 25 NOV 21 วันหมดอายุ 25 NOV 22 และ รุ่นวันที่ผลิต 07 DEC 21 วันหมดอายุ 07 DEC 22  ทั้งนี้ อย.ได้อายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและกำลังพิจารณาการดำเนินคดีกับผู้นำเข้าพร้อมเตรียมขอความร่วมมือเรียกคืนสินค้าทุกชิ้นไม่เอาควบรวม ทรู-ดีแทค         17 ตุลาคม 2565 นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ปกป้องสิทธิผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยเจ้าของคลื่นความถี่และเป็นเจ้าของภาษีที่จ่ายเงินเดือนให้กับ กรรมการ กสทช. เนื่องจากอีกฝ่ายทำตัวไม่น่าไว้วางใจ ปัจจุบันยังไม่พบความชัดเจนต่อการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับใช้เล่ห์ทางกฎหมายปัดความรับผิดชอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องต่อ กสทช. ว่าผู้บริโภคเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะของประเทศ เงินทุกบาททุกสตางค์จากการทำธุรกิจภายใต้การใช้คลื่นความถี่ มีมูลค่าสามารถนำมาพัฒนาประเทศใช้เป็นสวัสดิการให้ประชาชน และเชื่อว่า กสทช.มีข้อมูลมากมาย เกี่ยวกับการควบรวบ ทรู-ดีแทค แต่ไม่สิ่งที่ไม่เชื่อคือ ใจ วิธีคิดและจิตสำนึกของบอร์ดกสทช.ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน         ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 ต่อกรณีควบรวมทรู ดีแทค โดยมีการสรุปว่าคณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง “รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมีหนึ่งคะแนนเสียง “งดออกเสียง”  ไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ควบรวม ทรู - ดีแทค โอกาสทบทวนตัวเองครั้งสำคัญของ กสทช.

ตั้งแต่ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมากเพราะส่งผลกระทบต่อ ผู้บริโภคเป็นวงกว้าง คือประกาศการควบรวมกิจการของดีแทค หรือกลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  กับกลุ่มกิจการธุรกิจโทรคมนาคมกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูมูฟ เอช         ปัจจุบันประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือใน 3 ค่ายหลักคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  รวมกันแล้วกว่า  93 ล้านเลขหมาย มีค่าเฉลี่ยในการเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือทั่วโลกโดยเฉลี่ยคนละ 2 เครื่อง  มีความเร็วของเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายแบบ 3G, 4G หรือ 5G อยู่ในระดับเดียวกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน และฮ่องกง หากทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถควบรวมกับ ดีแทคได้สำเร็จบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสัดส่วนของเลขหมายถึงร้อยละ 52 และ ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการใช้บริการเพียง  2  เจ้า           หลังประกาศดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้แย้งหลายประการในสังคม  ปัจจุบัน กสทช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาการควบรวมและว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระให้จัดทำความเห็นประกอบ  จัดวงโฟกัสกรุ๊ปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายขึ้นแล้วหลายครั้ง   ฉลาดซื้อรวบรวมข้อโต้แย้ง ทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุนมานำเสนอเพื่อให้ผู้บริโภคติดตามสถานการณ์ได้ทัน แล้วมาดูกันว่าปรากฎการณ์ผูกขาดด้านโทรคมนาคมจะเกิดขึ้นหรือไม่          ฝ่ายเห็นด้วยให้ควบรวม          -        การควบรวมทำให้เกิดการประสานพลังกัน (synergy) ของธุรกิจโทรคมนาคมที่ปัจจุบันต้องลงทุนเพิ่มขึ้นสูงถึง ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง ช่วยเพิ่มการลงทุนและจะพัฒนาการให้บริการให้ดีขึ้นได้         -        จะทำให้ประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ระดับชาติ (national champion) มีศักยภาพในการไปแข่งขันในเวทีโลก  ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีปัจจัยด้าน digital Disruption มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่ๆ มากขึ้น คุณภาพของ Network ที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่สำคัญ         -        ข้อห่วงกังวลในหลายเรื่อง เช่น   ค่าดัชนีการวัดการกระจุกตัวของตลาด (HHI)  อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่  ราคาค่าใช้บริการที่อาจสูงขึ้น   มีกลไกในการกำกับ ควบคุมอยู่แล้วคือการทำหน้าที่ของ กสทช.  ที่สามารถใช้อำนาจ หน้าที่ กำกับ กำหนดเงื่อนไขได้ ข้อกังวลว่าผู้ให้บริการจะร่วมมือกันกำหนดราคาเอาเปรียบผู้บริโภคไม่สามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน เพราะมีการเปิดเผยข้อมูลและมี กสทช. ที่คอยทำหน้าที่อยู่แล้ว           ฝ่ายคัดค้านการควบรวม          -        การที่ผู้ให้บริการมีเงินลงทุนมากขึ้น ไม่ได้การันตีว่าจะมีการลงทุนเพิ่มและบริการจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นเสมอไป         -        การควบรวมย่อมทำให้เกิดการผูกขาด  ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือกในการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น  อัตราค่าบริการที่อาจสูงขึ้นและไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า คุณภาพของสัญญาณลดลง   เอกชนบางรายมีอำนาจเหนือตลาดหรืออาจจับมือกัน มีพฤติกรรมไปในทางเดียวกัน  และไม่เกิดการแข่งขัน         -        การควบรวมทำให้มีผู้ให้บริการน้อยราย ไม่สอดคล้องกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่มุ่งรักษาการแข่งขันในตลาดเพื่อรองรับการใช้เสรีภาพทางเศรษฐกิจตามที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ           นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการ กสทช. ทบทวนสถานการณ์ที่ผ่านมากับฉลาดซื้อ ว่าตลอดมาประเทศไทยมีผู้ให้บริการแบบ 3 เจ้าคือ AIS   Dtac และ True ทำให้เกิดการแข่งขัน และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนายิ่งขึ้นได้ช่วยให้ค่าบริการถูกลงได้ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ดีขึ้นแต่ราคาอาจไม่ได้ถูกลง และคุณภาพอาจไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นหากในระบบไม่มีการแข่งขันกันในการให้บริการ          “หากยังจำกันได้  ตอนที่เรามีการประมูลคลื่น  4  G  บริษัทชื่อ แจส  มาประมูลและชนะ จนได้เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายที่ 4  ทำให้ทั้ง 3 รายเดิม ออกแพคเกจ ลดราคาลงมาอย่างมาก แม้ว่าสุดท้าย แจสไม่มีเงินมาจ่ายค่าประมูลได้ แต่ผลพวงที่ทำให้ได้ประโยชน์จนถึงตอนนี้คือผู้บริโภคจ่ายค่าบริการถูกลง”         “การที่มี 3 เจ้า อย่างน้อยเป็นการแข่งขันในระดับที่ทำให้ราคาไม่สูงขึ้น มีโปรโมชั่นต่างๆ มาล่อใจลูกค้าแต่พอเหลือเพียง 2 ราย  ไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกโปรโมชั่นแล้วโดยเฉพาะ  2 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกันคือ   50 /50   แล้วตลาดเริ่มอิ่มตัวแล้ว บทเรียนจากต่างประเทศก็พบว่า ระดับการแข่งขันจะลดลง  แต่เอกชนจะมีรายได้เพิ่มด้วย แล้วยิ่งปัจจุบันตอนนี้ที่ยังไม่มีการควบรวมจำนวนโปรโมชั่นของทุกค่ายในตลาด กำลังน้อยลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้น คือระดับการแข่งขันมันเป็นตัวกำกับดูแล ให้ราคามันอยู่ในจุดที่เหมาะสม   ถ้าการแข่งขันลดลงราคาก็จะผิดปกติ”          “วันนี้หากการควบรวมกิจการเกิดขึ้นจริง สิ่งที่จำเป็นคือ กสทช.ต้องรักษาระดับแข่งขันให้ได้ใกล้เคียงเดิม หากรักษาระดับการแข่งขันไม่ได้ ความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน อีกทั้งต้องประเมินผลกระทบการควบรวมกิจการ และจำกัดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด” นพ.ประวิทย์ กล่าว         สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ‘ทีดีอาร์ไอ’  ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าในอดีตเมื่อมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียง 2 ราย นอกจากค่าบริการจะแพงลิบ โปรโมชั่นน้อย คุณภาพบริการแย่แล้ว ผู้ให้บริการยังสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ใช้ระบบอีมี่ (IMEI หรือหมายเลขเฉพาะตัวเองของโทรศัพท์ในระบบ GSM ที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาเครื่องถูกขโมยในสมัยก่อน) บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องซื้อเครื่องของผู้ให้บริการรายดังกล่าวด้วย         ความหวังอยู่ที่การทำหน้าที่ของ กสทช. ?         หลากหลายข้อโต้แย้ง ข้อห่วงกังวล มีสิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือความหวังในการทำหน้าที่ของ กสทช. ที่หากทำด้วยความรอบคอบ รัดกุม ย่อมรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้ แต่เรื่องนี้หลายฝ่ายก็ยังกังวล เพราะในปี 2561    กสทช. ได้ออกประกาศที่ลดทอนอำนาจตัวเองทำให้การควบรวมไม่ใช้ระบบอนุญาต แต่ให้เป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบ ทำให้สังคมมองว่า กสทช. ที่เป็นผู้กำกับดูแลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ปัจจุบันจึงมีข้อเสนอเพื่อการทำงานของ กสทช.  ดังนี้          -   คลื่นความถี่เป็นสมบัติสำคัญของประเทศ จำเป็นต้องจัดสรรให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ การควบรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ย่อมมีผลกระทบอย่างมาก รัฐจะต้องมีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต โดยการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีทั้งต่อทั้งผู้ประกอบการ การลงทุนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตกับผลเสียที่จะเกิดกับประชาชนและธุรกิจผู้ใช้บริการโทรคมนาคม        -   การควบรวมกิจการขนาดใหญ่ครั้งนี้ ส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง กสทช. ผู้ตรวจสอบจะต้องรับฟังความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายอย่างรอบด้าน  และให้ข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าเป็นระยะ ผ่านทางเว็บไซต์ของตนเองอย่างเป็นทางการ        -   ในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการใดๆ กสทช. ต้องคำนึงถึงการรักษาการแข่งขันในตลาดเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของผู้ควบรวมหรือกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ตรวจสอบคิดเอาเองว่าบังคับใช้ได้ง่าย ดังนั้นการที่ต้องพึ่งพาการทำหน้าที่ของ กสทช. เพื่อสร้างความเป็นธรรมในด้านโทรคมนาคม ย่อมสร้างความกังวลกับหลายฝ่ายต่อความสามารถที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมต้องปฏิบัติตามเป็นเรื่องที่จะมีปัญหาและต้นทุนการบังคับใช้สูง อีกทั้ง กสทช.ยังไม่มีข้อมูล เพียงพอ  เท่าทันต่อการกำกับดูแลผู้ให้บริการ ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2558 “ดีแทค” ครองแชมป์ ลูกค้าโวยปัญหาสายหลุด กสทช. ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านสายด่วน กสทช. 1200 ในช่วงระหว่างวันที่ 2 ก.ค. 2558 ถึง 14 ก.ค. 2558 พบว่ามียอดร้องเรียนเรื่องปัญหาสายหลุดที่ประชาชนแจ้งร้องเรียนเข้ามาถึง 116 เรื่อง โดย ดีแทค (Dtac) เป็นแชมป์เครือข่ายที่มีผู้บริโภคโทรเข้ามาร้องเรียนปัญหามากที่สุด 46 เรื่อง โดยเป็นกรณีสายหลุดที่พบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รองลงมาคือ เครือข่าย เอไอเอส (AIS) 42 เรื่อง ส่วนเครือข่าย ทรู มูฟ (TRUE MOVE) มีเรื่องร้องเรียนที่จำนวน 27 เรื่อง และสุดท้ายคือ เครือข่าย แคท เทเลคอม (CAT) มี 1 เรื่องโดยทาง กสทช. จะแจ้งผู้ให้บริการทราบถึงจุดที่พบปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขภายใน 2 สัปดาห์ หากตรวจสอบแล้วพบว่ายังไม่มีการแก้ไข จะเรียกผู้ให้บริการเจ้าของปัญหาเข้ามาชี้แจง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษทางปกครอง ซึ่งการทำสำรวจและเปิดเผยข้อมูลสู่สังคมครั้งนี้ของ กสทช. เพราะต้องการจะใช้มาตรการทางสังคมกดดันค่ายมือถือให้ปรับปรุงคุณภาพบริการ เพราะฉะนั้นหากใครพบปัญหาจากการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนแล้วสายหลุดหรือจะเป็นปัญหาเรื่องอื่นๆ สามารถร้องเรียนได้ทันทีที่สายด่วน 1200 โทรฟรีไม่มีค่าบริการ อย. จัดระเบียบร้านยา ห้ามขายยากลุ่มแก้แพ้-แก้ปวดเกิน 300 ขวดต่อร้านต่อเดือนอย.คุมเข้มร้านขายยา ด้วยการออกกฎเหล็กให้ทุกร้านขายยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ ให้ผู้ซื้อได้ไม่เกิน 3 ขวดต่อ 1 คน และผู้ผลิตยาสามารถจำหน่ายยาให้กับร้านขายยาได้ไม่เกินร้านละ 300 ขวดต่อ 1 เดือน นอกจากนี้กลุ่มยาแก้ปวดผู้ผลิตสามารถขายให้กับร้านขายยาได้ในปริมาณร้านละไม่เกิน 1,000 แคปซูลต่อเดือน และร้านขายยาสามารถขายให้กับผู้ใช้ได้คนละไม่เกิน 20 แคปซูล ห้ามขายให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันปัญหาการใช้ยาไม่ในทางที่ผิด หลังมีกระแสที่เด็กนักเรียนนำ “ยาโปรโคดิล” และ “ยาทรามาดอล” ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแก้แพ้ แก้ปวด ไปใช้ไม่ถูกวิธี คือนำไปผสมเป็นเครื่องดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมาแทนการเสพสารเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะขึ้นชื่อว่ายาหากใช้ไม่ถูกวิธีต้องย่อมเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกันอย. ได้ทำการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วก็จะถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วันด้วย ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 – ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมายถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 40 ร้าน เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหา “อี – คอมเมิร์ซ”สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (สพธอ. หรือ ETDA) ได้จัดตั้ง  OCC (Online Complain Center) หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อดูแลทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ช่องทางการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม โดยศูนย์ OCC จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางการประสานเรื่องร้องเรียนต่างๆ  ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย   อาทิ  สคบ, อย. และ  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  (อปท.)  เพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาเกี่ยวข้องกับอี - คอมเมิร์ซที่ถูกร้องเรียนมากสุดก่อนหน้านี้ผ่านหมายเลข 1212 ของกระทรวงไอซีที คือปัญหาการส่งของช้า รองลงมาคือ ได้ของหรือสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง และปัญหาการฉ้อโกง สั่งซื้อแล้วไม่ได้ของ โดยปีแรกของการดำเนินการคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับอี-คอมเมิร์ซที่แจ้งเข้ามายังศูนย์ได้ 50% ซึ่งตั้งเป้าหมายการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรื่องแต่ละเรื่องใน 7 วันทำการ อย่าหลงเชื่ออาหารเสริม “เจอมิน็อค” อ้างป้องกันโรคเมอร์สจากกระแสข่าวเรื่องการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ 2012 หรือโรคเมอร์ส (MERS) ในต่างประเทศ ทำให้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความกังวลว่าจะป่วยด้วยโรคดังกล่าว ทำให้มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางรายฉวยโอกาส หลอกลวงขายสินค้าที่อ้างว่าช่วยป้องกันไวรัสเมอร์สอย. ได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เจอมิน็อค (GERMINOK) ซึ่งวางจำหน่ายทาง www.bimhcc.com โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ทุกชนิด แต่จากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเจอมิน็อคจึงมีความผิดฐานอาหารปลอมเพราะไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารจาก อย. นอกจากนี้ยังผิดฐานโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงและโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต คุยงานร้านกาแฟ ระวังโดนคิดค่าบริการเพิ่ม ชั่วโมงละ 1,000!!!ในสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์เหตุการณ์ที่มีผู้ใช้บริการร้านกาแฟร้าน Bon coffee สาขาหน้าบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าอาหารและกาแฟสูงถึง 2,000 บาท โดยทางร้านแจ้งว่าเป็นค่าบริการที่ลูกค้าใช้สถานที่ในร้านเป็นที่คุยธุระทางร้านคิดค่าบริการชั่วโมงละ 1,000 บาท 2 ชั่วโมงจึงเท่ากับ 2,000 บาท ซึ่งสร้างความสงสัยและตกใจให้กับผู้ใช้บริการอย่างมาก จนต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาบอกเล่าต่อผ่านสังคมออนไลน์ร้อนถึง สคบ. ต้องเชิญตัวแทนร้านกาแฟดังกล่าวมาชี้แจง ซึ่งหลังจากพูดคุย สคบ. ได้ออกมายอมรับว่า การเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวของทางร้านไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะทางร้านมีการติดป้ายเตือนลูกค้าที่จะเข้ามานั่งเพื่อหวังประกอบธุรกิจส่วนตัวแล้วยึดที่นั่งไว้เป็นเวลานานๆ ทำให้ผู้ที่อยากมาใช้บริการไม่สามารถใช้บริการได้ ต้องถูกคิดค่าบริการเพิ่มชั่วโมงละ 1,000 บาท ทั้งนี้ในวันเกิดเหตุพนักงานในร้านได้มีการแจ้งกับลูกค้าก่อนแล้วว่าจะขอเก็บค่าบริการนั่งคุยธุระในร้านชั่วโมงละ 1,000 บาท แต่ลูกค้าก็ไม่ได้จ่ายค่าบริการดังกล่าวจ่ายแต่เพียงค่ากาแฟเท่านั้น ซึ่งเมื่อทางร้านมีการติดป้ายเตือนแจ้งไว้อยู่แล้วจึงถือว่าไม่ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แต่ป้ายอาจจะเล็กเกินไป ทาง สคบ. จึงได้แต่แนะนำให้ทางร้านทำป้ายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ต่อเน็ตดีแทคไม่ติด

มือถือ ไม่ว่าจะมีของดี มีสรรพคุณเลิศเลอแค่ไหน แต่หากเครือข่ายเจ้าของสัญญาณคุณภาพบริการแย่ ค่าของมือถือก็ตกไปด้วยซัมซุง กาแลคซี่ เอซ พลัส เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2555 ด้วยราคาเกือบ 9,000 บาท เป็นสมาร์ทโฟนที่มีสรรพคุณล้นหลาม รวมทั้งเล่นอินเตอร์เน็ตได้ พรพรรณซื้อมาใช้เมื่อพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พร้อมกับซื้อซิมดีแทค สมาร์ทโฟนมาใช้กับมือถือ จ่ายรายเดือน 399 บาท เพราะเชื่อฝ่ายขายว่า เร็วและดี เล่นเน็ตได้ไม่จำกัดพรพรรณบอกว่า ได้ซิมมาใช้งานได้ไม่ถึงสิบวัน สัญญาณเครือข่ายเริ่มไม่เสถียร เชื่อมเน็ตไม่ได้บ่อยครั้ง ต้องโทรไปหาคอลเซนเตอร์แจ้งปัญหาและให้แก้ไขอยู่หลายเที่ยว คอลเซนเตอร์ของดีแทคบอกให้นำมือถือไปให้ศูนย์ซัมซุงตรวจสอบก่อน เอาให้ซัมซุงตรวจสอบแล้วก็ยังต่อเน็ตไม่ได้ กลับมาที่ศูนย์ดีแทคจึงได้จัดการเปลี่ยนซิมให้ใหม่หลังได้ซิมใหม่ดีใจได้ไม่กี่วัน เป็นอีกแล้วอาการเดิม เล่นเน็ตไม่ได้เดี๋ยวโผล่เดี๋ยวหาย จนเมื่อครั้งไปเที่ยวอัมพวากะถ่ายรูปแชร์ให้กระหน่ำซะหน่อย คราวนี้เน็ตหายไปเลยเล่นไม่ได้เลย“เคยจ่ายเงินซื้อเพิ่มไปอีก 150 บาท หวังว่าจะได้ความเร็วความแรงเพิ่มขึ้น ปัญหาสัญญาณเน็ตไม่เสถียรก็ยังเหมือนเดิม”“ไม่รู้ว่าจะต้องเสียค่าโทรไปคอลเซนเตอร์อีกสักกี่ครั้ง และไม่ได้ใช้งานต่อเนื่องมาหลายวัน แต่ต้องจ่ายค่าซิมรายเดือนอีก 399 บาท กับอีก 150 บาทที่ใส่เพิ่มเข้าไป ดิฉันรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากเครือข่ายนี้มากค่ะ” “อยากให้มูลนิธิฯช่วยเหลือเจรจาให้ดีแทคปรับส่วนลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ดิฉันไม่ได้ใช้งานให้ด้วยค่ะ” พรพรรณร้องขอ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบ WiFi ของดีแทค ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด โดยบริษัทฯได้จัดทำประกาศ หลักเกณฑ์คุ้มครองผู้ใช้บริการ การรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนไว้ตามกฎหมาย  โดยหากร้องเรียนเป็นหนังสือหรือไปด้วยตนเองติดต่อได้ที่ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด เลขที่ 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 32 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือร้องผ่าน Call Center ให้ใช้เบอร์โทร. 1678 ผู้ร้องเรียนมีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งผู้ร้องเรียนไว้วางใจเข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ในการยื่นเรื่องร้องเรียนดีแทคจะไม่คิดค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายการที่ผู้บริโภคร้องผ่านมูลนิธิฯ จึงถือได้ว่าผู้บริโภคให้ความไว้วางใจให้มูลนิธิฯ เข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนได้ตลอดเวลา มูลนิธิฯ จึงใช้สิทธินี้ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดเหมือนดั่งรมหายใจที่รดต้นคอดีแทค14 มิ.ย.56 มูลนิธิฯ โทรติดตามผลการแก้ไขปัญหาที่คอลเซนเตอร์ดีแทค 1678 เจ้าหน้าที่ดีแทคแจ้งว่า ได้ติดต่อผู้ร้องเรียนเพื่อแจ้งผลการดำเนินการ 2 วันติดกัน แต่ผู้ร้องไม่รับสาย เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงแจ้งกับดีแทคว่า สามารถแจ้งความคืบหน้ากับมูลนิธิฯ ในฐานะตัวแทนดำเนินการแทนผู้ร้องได้เลย เจ้าหน้าที่ดีแทคแจ้งว่าขอเวลาอีก 2 วันแล้วจะแจ้งกลับ พอวางสายมูลนิธิฯ ได้โทรกลับไปที่ผู้ร้องถามว่า ดีแทคได้เคยติดต่อมาจริงหรือไม่ ผู้ร้องแจ้งว่าไม่มีการติดต่อใดๆ จากดีแทค เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิฯ จึงโทรติดต่อกลับไปที่ดีแทค 1678 อีกครั้ง แจ้งว่าผู้ร้องยืนยันว่าไม่มีการติดต่อใดๆ จากดีแทค พร้อมทั้งตำหนิที่ดีแทคทำงานล่าช้า ดังนั้น ควรรีบดำเนินการแก้ไข ดังนี้(1)   ปรับลดค่าบริการ หากตรวจสอบพบว่าไม่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตจริง(2)   ปรับปรุงระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้ตามปกติ18 มิ.ย.56 มูลนิธิฯได้โทรกลับไปที่ดีแทค 1678 เพื่อติดตามผลการแก้ไขปัญหา ได้รับแจ้งว่า ดีแทคได้แก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว ดังนี้(1)   ปรับลดค่าบริการให้เป็นเงินรวม 450 บาท โดยจะทำการลดให้แบบแบ่งจ่ายเดือนละ 150 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นผลให้บิลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเดิมผู้ร้องต้องจ่ายเดือนละ 399 บาทปรับลดเหลือจ่ายเดือนละ 249 บาทรวม 3 เดือน โดยจะเริ่มปรับลดจากรอบบิลของวันที่ 31 ก.ค.56 เป็นงวดแรก(2)   ปรับปรุงระบบสัญญาณให้ผู้ร้องสามารถใช้งานได้ตามปกติและเร็วขึ้น9 ก.ค.56 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โทรสอบถามผู้ร้องถึงผลการใช้อินเทอร์เน็ต ได้รับแจ้งว่า สัญญาณโอเค เร็ว และสามารถใช้งานได้เป็นปกติ ไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ไหน และเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีปัญหาการเชื่อมต่อไม่ได้แล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >