ฉบับที่ 268 ผลทดสอบยาปฎิชีวนะตกค้างในเนื้อกุ้ง

        ทุกปีนิตยสารฉลาดซื้อยังคงมุ่งมั่นเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าอาหารการกินของเราได้รับการใส่ใจทั้งในภาคการเกษตร ประมงและภาคอุตสาหกรรมอาหาร เรื่องการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหาร เป็นหนึ่งประเด็นที่ทางนิตยสารฉลาดซื้อ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากปัญหาการดื้อยายาต้านจุลชีพที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการที่มีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการเกษตร ประมง หากวิธีการเลี้ยงตลอดจนการดูแลสัตว์ทำไม่ได้มาตรฐานย่อมก่อให้เกิดผลกระทบของการตกค้างของตัวยาปฏิชีวนะในวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารได้และอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ         การดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) แสดงถึงภัยคุกคามระดับโลกที่สำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ พืช อาหารและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2019 มีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 5 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับ AMR จากแบคทีเรียรวมถึง  1.27 ล้านคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุโดยตรง (ที่มา WHO)          ในปีนี้ ฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. ดำเนินการเก็บตัวอย่าง “กุ้งขาว” สัตว์เศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีการพบรายงานของการตกค้างในเนื้อกุ้งขาว ฉลาดซื้อจึงสุ่มตัวอย่างกุ้งขาว ในปี 2566 นี้เพื่อนำมาทดสอบหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะเพื่อให้เป็นชุดการเฝ้าระวังในด้านวัตถุดิบอาหารจากที่เคยทำมาในปีก่อนหน้า ได้แก่ ฟาสต์ฟู้ด เนื้อหมู เนื้อไก่และเครื่องในไก่ น้ำส้มคั้น ปลาทับทิม         เราเก็บตัวอย่างกุ้งขาวจากแหล่งที่เป็นตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดธนบุรี ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดไท ตลาดท่าน้ำนนทบุรี ตลาดปากน้ำ สมุทรปราการ ตลาดมหาชัย สมุทธสาคร ตลาดคลองเตยและห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ได้แก่ กูร์เมต์ สยามพารากอน ทอปส์ บิ๊กซี ฟู้ดแลนด์ กูรเม่ต์ มาร์เกต เดอะมอลล์ ห้างโลตัส และห้างแมคโคร  รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO 17025 เพื่อทดสอบหาตัวยา 4 กลุ่ม ได้แก่ Nitrofurans metabolites , Chloramphenicol , Veterinary drug residues (Tetracycline group) และ Malachite green ผลการทดสอบ        เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะทั้ง 4 กลุ่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2565

เชียงใหม่อันดับ 1 เสี่ยงสารเคมีการเกษตรตกค้างในร่างกาย        สสส.ระบุ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1         นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1 จำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ด้านอาหารให้แก่เกษตรกรร่วมมือกับร้านอาหาร ตลาด โรงแรม ช่วยกันพัฒนาแหล่งอาหารที่ปลอดภัยในชุมชน เลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมจากการปลูกผักที่ปลอดภัยด้วยตนเอง         จากข้อมูลของ รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุภาคเหนือ คือภาคที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายของประชาชนในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยปี 2565 มีสารเคมีตกค้างกว่า 70.3% ภาคใต้ 58.65%  ภาคกลางและภาคตะวันออก 41.19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14% และข้อมูลจาก ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. อีกเช่นกันระบุว่า พืชผักที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะเพรา พริกขี้หนู และส่งผลให้สารเคมีในเลือดอาสาสมัคร 189 คน อยู่ระดับเสี่ยงถึง 56.25% ระดับไม่ปลอดภัย 28.08% แต่ระดับปลอดภัยและปกติ อยู่เพียง 9.18 และ 6.49 เท่านั้น พบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะ         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จากด่านกักกันสัตว์ชลบุรีว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหารและใบอนุญาตอื่นๆ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 นอกจากนี้  วัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค เครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางดังกล่าวไว้ เช่น ชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโค จำนวน 25,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยแกลลอนบรรจุสารเคมีฟอร์มาลิน 50 แกลลอน และใบเสร็จที่มีการขายให้กับร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสานกว่า 66 ราย    6 แอปพลิเคชันเรียกรถถูกกฎหมาย         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลักดันให้บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ให้ภาครัฐสามารถควบคุมและกำกับการดูแลการให้บริการที่ปลอดภัย รวมทั้งเกิดการแข่งขันในการพัฒนาใต้กติกาเดียวกัน          ทั้งนี้ บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันคือการให้บริการผ่านแอปฯ ที่กระทรวงคมนาคมให้การรับรอง มีความปลอดภัย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ แสดงค่าโดยสารล่างหน้าชัดเจน ตรวจสอบได้ มีประกันครอบคลุมตามกฎหมายคุ้มครองประสบภัยกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ให้การรับรองแอปพลิเคชันแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่ แกร็บ,โรบินฮู้ด,ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส,บอนกุ,เอเชีย แค็บ,และ “Airasia Super App” นอกจากนี้ ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ สามารถอบรมทางออนไลน์ได้ที่ www.dlt-elearning.com ชาวไอทีแนะอย่าโหลดแอปพลิเคชันแปลกนอก Store ดีสุด         จากโพสต์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์  Chanon Ngernthongdee  ซึ่งทดลองเป็นเหยื่อของแกงค์คอลเซนเตอร์เพื่อทดสอบว่าอะไรคือสิ่งที่แกงค์ดังกล่าวใช้เล่นงานผู้บริโภค โดยเขาออกมาเตือนว่า วิธีป้องกันอย่างง่ายที่สุดคือ ไม่โหลด app นอก Store หรือ Block installation of unmanaged mobile apps          ทั้งนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านนี้บอกว่า ตนเองพยายามตกเป็นเหยื่อ call center อยู่นานมากเพื่อจะได้รู้ว่าเขาหลอกยังไง ให้ลง app (แอปพลิเคชัน) อะไร สุดท้ายในที่สุดก็ได้ app นั้นมา ทำให้ตนเข้าใจแล้วว่าทำไม app นั้นถึงสามารถไปดึงข้อมูลและสั่งให้ app ธนาคารทำธุรกรรมทางการเงินของเหยื่อได้ คนเขียน app นั้นใช้ AccessibilityService เพื่อควบคุมนั่นเอง มพบ.จัดอบรมให้เยาวชนเท่าทันทางการเงินจากโลกออนไลน์                   วันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนวัดสุทธาโภชน์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร “เยาวชนเท่าทันการเงิน” เพื่อเสริมทักษะให้การเยาวชนไทยเรื่องการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน เช่น บัตรเครดิต การชำระหนี้ การจัดการหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากเป็นลำดับต้นๆ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักคือ ประชาชนไทยยังขาดทักษะ ความเข้าใจการใช้บัตรเครดิต การวางแผนทางการเงิน การเท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์         ทั้งนี้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เริ่มดำเนินการอบรมมาตั้งแต่ ปี2563  เข้าร่วมกว่า 30 โรงเรียน ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคอีสาน มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กและเยาวชนไทยมีความรู้เท่าทันทางการเงิน วางแผนการจัดการรายได้และรายจ่าย ย่อมเป็นทักษะสำคัญที่สร้างชีวิตที่มีคุณภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผลทดสอบสารตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

        ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้มทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 โดยเก็บจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ แต่ไม่รวมสารกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025   รายละเอียดการเก็บตัวอย่างทดสอบ          ส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile   สรุปผลการทดสอบจากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า        1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท        2. น้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ ข้อสังเกตจากการทดสอบ         จากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ         2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ         3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ”  รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้มฉลาดซื้อแนะ        • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย         • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง         • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง

        สภาองค์กรของผู้บริโภค ไทยแพน ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ตอกย้ำปัญหาส้มพิษยังไม่ถูกแก้ไข เสนออาจต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่        สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่างและน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง พบว่า ส้มที่มาจากการปลูกในประเทศจำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ทุกตัวอย่าง (100%) ส่วนส้มที่มาจากการนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง (84.21%) มีเพียง 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีการตกค้างของสารพิษ         วันนี้ (10 มีนาคม 2565) ในงานแถลงข่าวผลการตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้ม นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน มพบ.และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้ม คณะทำงานเลือกช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง   สำหรับส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile         ทั้ง 70 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้ม        1.    ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติ อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ เป็นส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท ซึ่งทั้งสามตัวอย่างเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ        2.    จากตัวอย่างน้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ         ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน         สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ        2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ        3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ” นางสาวปรกชลกล่าว         นางสาวทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า หากดูจากรายงานผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มันยังคงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารพิษในส้มว่าไม่ได้ดีขึ้น ส้มเกือบทุกตัวอย่างที่สุ่มมามีการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นคงจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้มีส่วนในห่วงโซ่ของการผลิตส้ม ได้โปรดช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่หรือไม่         นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าการเฝ้าระวัง ทดสอบสินค้าและบริการเป็นอำนาจหนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  การสนับสนุนการทดสอบเรื่องส้มในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตนเองมองว่า กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะจนมั่นใจว่าไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง อีกทั้งต้องการเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร         สรุปข้อเสนอจากรายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยข้อเสนอต่อภาครัฐ        1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์             • ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้า ครอบครอง หรือมีไว้จำหน่ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้หรือไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว             • ปฏิรูประบบการรับรอง GAP  เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองจะไม่ตรวจพบการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน             • ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์เพื่อให้เป็นทางเลือกในการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภค         2.กระทรวงสาธารณสุข             • เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ด่านนำเข้า            • พัฒนากลไกเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในระดับพื้นที่และประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน             • ควรยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ในภาชนะบรรจุปิดสนิท รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วยข้อเสนอต่อภาคเอกชน ผู้จัดจำหน่าย        1. ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งจัดจำหน่ายส้มขนาดใหญ่ควรสนับสนุนข้อมูลเรื่องที่มาของส้ม ที่นำมาจำหน่ายอย่างโปร่งใส  (Traceability) เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกด้วยเทคโนโลยีเช่นการสแกนคิวอาร์โค้ด             2. ผู้ผลิตที่นำส้มมาแปรรูป ควรคำนึงถึงแหล่งที่มาตลอดจนการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์         ทางเลือกและการแก้ปัญหาของผู้บริโภค             • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากระบวนการผลิตที่ปลอดภัย             • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง            • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 224 เปลี่ยนวิธีคิด เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณ ใครก็ต้องการผักผลไม้ที่ปลอดภัย

        กรณีสารเคมี 3 ตัว พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเสต ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อคน จำนวนมากว่า หากเรายกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ มีคนได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ต้องตอบว่า องค์กรผู้บริโภคไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้วิธีหนีเสือปะจระเข้ แต่สนับสนุนวิธีการอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่มีอยู่จริงและหลากหลายทาง แต่จะก้าวพ้นความคิดที่มีมาตลอดในเวลา 50 ปี หากจะปลูกอะไรต้องรองสารเคมีก้นหลุม การใช้ เครื่องจักรกำจัดหญ้า สารกำจัดแมลงด้วยวิธีอินทรีย์ทั้งหลายที่มีมากขึ้น การเกษตรแบบอินทรีย์มีอยู่จริงและสามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร         อีกความเข้าใจผิดที่อ้างว่า หากยกเลิก 3 สารเคมีนี้ จะไม่มีพืชผักผลไม้รับประทานและราคาแพง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและไม่น่าจะเป็นความจริง หรือขณะที่เรามีสารเหล่านี้ใช้ ราคาผลไม้ที่ราคาถูกก็แพงจับใจในปัจจุบัน ปัญหาราคาคงมีเหตุผลอีกหลายปัจจัย ตราบเท่าที่เรายังมีพืชผักผลไม้ส่งออกหรือนำเข้าได้ ย่อมต้องมีจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน แถมหากยังใช้สารเคมีจะเป็นเหตุผลให้ส่งออกไม่ได้ คนไทยต้องได้รับอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างเหล่านี้มานาน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง พาร์กินสัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคอื่นๆอีกมากมาย          อันตรายชัดเจนต่อผู้บริโภคจากสารเคมีสามตัวที่ตกค้างในพืชผักผลไม้จากการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างและบางส่วนตกค้างเกินมาตรฐานหรือแม้กระทั่งการสำรวจล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าตกค้างสูงถึง 26.6 %         อันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ฉีดพ่น ซึ่งมีอาชีพรับจ้างพ่นสารเคมี คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกมาก เพราะเจ้าของสวนหรือไร่นา หรือแปลงขนาดใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการฉีดพ่นเอง ดังที่ในสหรัฐอเมริกา โดยศาลสั่งให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสารเคมีสำหรับการเกษตร จ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,619 ล้านบาท) ให้ ดีเวย์น จอห์นสัน ซึ่งฟ้องร้องเมื่อปี 2016 ว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืช แรนเจอร์ โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 5,000 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตมีส่วนก่อมะเร็ง https://www.posttoday.com/world/560676 การใช้ที่ถูกวิธีทำได้ลำบากและไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน อันตรายตกกับเกษตรกรรับจ้างพ่นสารเคมีอันตราย ซึ่งคำแนะนำในการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลก เสนอให้แก้ปัญหาที่ต้นทางคือการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายให้ได้มากที่สุด         ส่วนปัญหาราคาแพง หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภคที่ทำงานหนัก รายได้ต่ำ สินค้าเกษตรราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องมีราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาถูก ปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่ การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงในปัจจุบัน         ส่งผลกระทบที่เสียหายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างในดิน สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และกลับมาในห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุดส่วนปัญหาราคาแพง เช่นกรณีน้ำปู๋ที่พบการตกค้างสารเคมีกลุ่มนี้มากกว่าปูนา         ทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ชัดเจน         สุขภาพต้องมาก่อนการค้า หลักการป้องกันไว้ก่อน คงเป็นเหตุผลเพียงพอ ว่า ทำไมต้องเพิกถอนทะเบียน ห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สารเคมีตกค้าง

การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกสารเคมีหลายตัวที่หลายประเทศ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องจะดูใจเย็นกับเรื่องนี้เหลือเกินทั้งๆ มีรายงานตัวเลขผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในภาคเกษตรนับเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่หลักหลายพันคนต่อปี หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังผลผลิตที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะออกมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่น่าเป็นห่วงก็ตาม  ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้ข้อมูลกับ ฉลาดซื้อ ว่าแต่ละปีมีการสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ แตกต่างกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีการตรวจยาฆ่าแมลงแค่ 2 กลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็น 4 กลุ่มสารเคมี (organophosphates, carbamates, organochlorine  และ pyrethroids) ปัจจุบันมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลปที่อังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารเคมีได้มากกว่า 4 กลุ่ม ทำให้ช่วงหลังพบสารเคมีตกค้างมากขึ้น          สำหรับปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้จากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 41% ขณะที่สองปีก่อนส่งไปตรวจที่อังกฤษเหมือนกันพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 46% แต่ถ้าดูเฉพาะสารสี่กลุ่มที่ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ได้ จะพบปัญหาการตกค้างเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ เหลือ 30% จนกระทั่งล่าสุดเหลืออยู่ที่ 20% และไม่ลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ของไทยจะลดลงแต่ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ที่สามารถตรวจได้ในระดับเดียวกันกับอังกฤษ การพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ ประมาณ 1-3% สำหรับสารที่ปีนี้ที่พบมากสุดคือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นสารดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ ยกตัวอย่าง หากตกค้างใน “ส้ม” ถึงจะปอกเปลือกออก สารนี้ก็ยังอยู่ในเนื้อ  ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะทำให้คนที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเป็นหมัน  นางสาวปรกชล ยังบอกอีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในกลุ่ม “ผัก” ปัญหาจะหมุนเวียนชนิดกัน ขึ้นๆ ลงๆ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กระเพรา ผักชี ถั่วฝักยาว จะอยู่ในอันดับต้นๆ ทุกปี ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอันดับหนึ่งที่พบสารเคมีตกค้างมาตลอด คือส้ม ตามมาด้วย องุ่น สลับกับ ฝรั่ง หรือ มะละกอ ชมพู่ และมีความเป็นไปได้ ที่ผัก ผลไม้หนึ่งตัวอย่างจะเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิด         “อย่างสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 41% อีกเกินครึ่งก็เจอสารเคมีในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่ง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้มีสารเคมีตกค้างมากกว่าสองชนิดในหนึ่งตัวอย่าง มากสุดคือสารเคมีตกค้าง 20 ชนิดในหนึ่งตัวอย่าง ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีการประเมินความเสี่ยงสารตกค้างร่วมกับผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้เลยว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”         ที่น่าสังเกตคือเราพบว่าตัวอย่างผัก ผลไม้ที่ขายในห้างฯ มีสารเคมีตกค้างมากกว่าที่วางขายในตลาดสดเล็กน้อย  แม้ว่าผลผลิตที่ขายในห้างฯ จะมีตรารับรองมาตรฐาน อย่างเช่น Q หรือ Organic Thailand ยังพบว่าไม่มีความปลอดภัย สารตกค้างยังคงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าระบบการตรวจสอบรับรองยังคงมีช่องว่าง รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลหลังให้ใบรับรองไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่บางครั้งอาจจะไปถูกสวมสิทธิ์ที่ห้างหรือซับพลายเออร์ เท่ากับว่ากระบวนการให้ใบรับรองยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้เรายังมั่นใจไม่ได้ 100% กับสินค้าที่มีตรารับรอง             “การล้างทำความสะอาดสามารถล้างสารพิษออกได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นสารประเภทดูดซึมจะล้างไม่ออก ปีนี้เราพบสารพิษตกค้าง 90 ชนิด ในจำนวนนี้ 50 ชนิดเป็นสารตกค้างประเภทดูดซึม ล้างไม่ออกแน่ๆ ปอกเปลือกออกก็อยู่ในเนื้อ ส่วนที่ล้างออกประมาณ 40 ชนิด บางอย่างก็ล้างออกง่าย แค่เปิดน้ำไหลผ่าน การแช่ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ซึ่งสามารถขจัดสารเคมีได้แตกต่างกัน การล้างผัก ผลไม้จึงแค่เป็นการทำให้ตัวเองสบายใจ”         นางสาวปรกชล ระบุว่า เรื่องการใช้สารเคมีที่มีมากในประเทศไทยที่จริงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น 1.ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่มีการตรวจก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถแสดงความต้องการอาหารที่ปลอดภัย หรือความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพที่ไหนได้2. สารเคมีหลายตัวที่พบ เป็นสารที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่ผลิตสารเคมีเอง เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ประเทศไทยกลับยังนำเข้ามาใช้     แสดงว่าระบบการคัดกรองสารเคมีเหล่านี้ของประเทศไทยยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากสารเคมี 3 ตัวที่ขอให้แบนคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แล้ว ยังมีสารเคมีอีกกว่า 100 ชนิด ที่ต้องมีการจัดการเช่นเดียวกัน         “วันนี้จึงทำให้เราประสบภาวะที่ว่านอกจากสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วยังมีสารเคมีหลายตัวที่ร้ายแรงมาก” 3.เกษตรกรมองว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรคือคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริษัทนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะฉะนั้นราคามันเลยไม่ได้รวมผลกระทบภายนอกทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ดูเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจึงนิยมใช้ แถมยังไม่ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย จึงทำให้มีการใช้มากเกินความจำเป็น        เพราะฉะนั้น วันนี้ ทางเลือกของผู้บริโภคอาจจะต้อง “เหนื่อย” และต้องการข้อมูลของผัก ผลไม้ว่ามีที่มาที่ไปอย่าง ไร ผักประเภทไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะไม่สามารถดูได้จากหน้าตาผัก ผลไม้ ต่อให้มีรอยแมลงกัดก็ไม่สามารถการันตีอะไร ตรารับรองก็ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ 100% ที่จริงแล้วผู้บริโภคมีอำนาจเต็ม เพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะเป็นการแสดงเจตจำนงว่ากำลังสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี หรือจะสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาไม่ได้สูงเสมอไปหากไม่ซื้อในห้างฯ หรือให้เกษตรกรจัดส่งให้ที่บ้านก็ยังได้ ราคาถูกด้วย อีกทางหนึ่งควรปลูกผักกินเองบาง เช่น พริก กระเพรา เป็นต้น         นางสาวปรกชล ย้ำว่า สิ่งที่ไทยแพนอยากเห็นคือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้ามีสารเคมีตกค้างก็ต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันกดดันภาครัฐให้มีการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้เกินค่ามาตรฐาน แถมยังเคลมว่าปลอดภัย แล้วขายในราคาแพงๆ หรือกดดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีบางตัวที่หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ทำไมไทยถึงยังยอมให้เข้ามาในระบบอาหารของไทย และช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการมีข้อมูลที่ชี้ปัญหาจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้         อันที่จริงสถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น มีจำนวนเกษตรที่ลุกขึ้นมาปลูกผักที่ลดการใช้สารเคมี การเพิ่มตลาดสีเขียว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น  แต่ว่าในภาพใหญ่ระดับโครงสร้างนโยบายที่ยังคงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะยังต้องสู้กันอีกยาว ตรงนี้ต้องใช้พลังผู้บริโภคลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอาหารปลอดภัยและต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี และอุดหนุนให้หลากหลายเพื่อเปิดตลาดให้กว้าง         รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงฉลาก เช่น ใช้ก็บอก ไม่ใช่ก็บอก มีการเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลแจ้งบนถุงน้ำตาลเลยว่า อ้อยมาจากการปลูกโดยใช้พาราควอตหรือไม่ และผู้บริโภคจะตัดสินใจเอง นี่คือการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย         ด้าน นพ.พูนลาภ ฉันทวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปลูกผัก ผลไม้ในเมืองไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีอยู่ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้มากเกินไปจนเกิดการตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตเหล่านี้แล้วยังเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่ถ้าไม่ได้มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย เกิดการตรวจการเฝ้าระวัง         “หากจะให้ไม่มีสารเคมีเลยนั้นยอมรับว่ายังยาก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนคือไม่ว่าจะซื้อผักผลไม้จากแหล่งใดก็ตามจะต้องมีการนำมาล้างด้วยวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านหรือการแช่น้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดา สักช่วงเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีลงได้”         อย่างไรก็ตามในเรื่องของสารเคมีนั้นทางอย.ไม่ได้มีการดูโดยตรง และไม่เคยมีการออกตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองมาตรฐาน หรือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษแต่อย่างใด เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อย.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือกรณีที่มีการแบ่งบรรจุจำหน่ายผัก ผลไม้นั้น ให้ ทางห้างฯ ติดฉลากแหล่งที่มาของผลผลิตนั้นๆ ให้ชัดเจน เพราะหากตรวจเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและดำเนินการเอาผิดได้ ฐานเป็นอาหารไม่ปลอดภัย ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่ายังไม่มีการลงโทษถึงขั้นนั้นเนื่องจากเราต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้องปรามและการเฝ้าระวัง พยายามสร้างความตระหนักและทำให้เกษตรกร ไม่ใช้สารพิษในปริมาณที่มากเกินไปมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลผัก ผลไม้ที่มีการแบ่งบรรจุขายในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสดคิดเป็น 30% อีก 70% เป็นการขายส่ง ซึ่งผลจากแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการขอความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยกันสุ่มตรวจผัก ผลไม้ โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไข พ.ศ.2560 เข้ามาดำเนินการ ก็พบว่าปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ดีขึ้น อย่างที่ไทยแพนได้มีการสุ่มตรวจก็พบว่าน้อยลงเช่นกัน  ด้านกรมอนามัยได้มีการออกเอกสารเผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชน โดยใจความระบุว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจการล้างผักให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกซ์แฟมในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันโดยยังไม่ได้ดูในแง่ของสถิติจะพบว่ามีห้างสรรพสินค้ากว่า 3 พันสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าผู้บริโภคเลือกที่จะไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายไปครั้งเดียวก็ได้ของครบทุกอย่าง         ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ของสถิติ นอกจากการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังพบว่ามีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ตัวจะยังอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้บริโภคกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกมีความใกล้ชิดกัน อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าราวๆ 1-2 ครั้ง         สำหรับการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสด ผัก ผลไม้ นั้นทางอ็อกซ์แฟมยังไม่ได้มีการสำรวจและประเมิน จึงยังไม่สามารถบอกถึงความนิยมได้ เพราะที่มีประเมินอยู่คือ มิติทางด้านสังคม เช่น ความโปร่งใส เรื่องแรงงาน เรื่องเกษตรกรรายย่อย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นต้น          “ถ้าจับจากพฤติกรรมคนทั่วไปก็เห็นได้ว่า ทุกวันนี้คนนิยมซื้อสินค้าอาหารสด ผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แทนการเดินตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดสดเองก็เริ่มมีน้อยลง แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ สินค้าและความปลอดภัยแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันก็ค่อนข้างปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายและค่อนข้างมีการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค”          อย่างไรก็ตาม ประมาณปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563 จะมีการสำรวจ ประเมินมิติด้านความปลอดภัยทางอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อที่เป็นมิตร แต่สิ่งที่อ็อกซ์แฟมและภาคีเครือข่ายดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือการสนับสนุนให้ห้างฯ ซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่รับสินค้ามาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค มีนโยบายเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้แปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถ้ามีการออกเป็นนโยบายแล้วจะทำให้เกิดการปฏิบัติเหมือนกันของห้างฯ ทุกสาขา และมีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยยังคงเป็นแบบโครงการ กิจกรรมซีเอสอาร์ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เพียงแต่กรณีแบบนี้เมื่อจบโครงการก็คือจบ ถ้ามีการกำหนดเป็นนโยบายจะมีความยั่งยืนมากกว่า “นโยบายหมายความว่าจะต้องใช้กับทุกพื้นที่ ทุกผลิตภัณฑ์ และอยู่ถาวร มีการดึงมาสู่แผนงานแผนปฏิบัติ มี KPI หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปรับปรุง มีความยั่งยืน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ดังนั้นอยากให้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยั่งยืนถาวรมากขึ้น เชื่อว่าห้างค้าปลีกไทยมีศักยภาพที่จะทำ เพราะดูจากนวัตกรรมทางการตลาดและการขยายธุรกิจไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ หากเกิดนโยบายเชิงบวกเพื่อให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เนื้อหมูกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

เมื่อปีที่แล้ว เรารายงานไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 188 ตุลาคม 2559 ว่าพบ การตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน โดยพบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)  จากการสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 18 ตัวอย่าง ภายหลังการแถลงข่าวของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและฉลาดซื้อ ทางตัวแทนของซับเวย์ได้ติดต่อขอรายละเอียดและเมื่อได้พิจารณาผลการทดสอบของทางฉลาดซื้อแล้ว ได้ชี้แจงกลับมาว่า จะปรับปรุงเรื่องซับพลายเออ ซึ่งทางซับเวย์ในประเทศไทยใช้ซับพลายเออในประเทศ อีกทั้งยังให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทางซับเวย์จะวางนโยบายเลิกใช้เนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ  ต่อมาในเดือนมกราคม 2560 มีการทำข่าวเชิงลึกโดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เรื่อง อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มหมู โดยเฉพาะยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียในลำดับสุดท้ายที่โลกมีอยู่ในฟาร์มหมูอย่างไม่เหมาะสมและในปริมาณที่มากจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า การเลี้ยงหมูด้วยยาโคลิตินเป็นสาเหตุให้เกิดยีนดื้อยาที่เรียกว่า mcr-1   ซึ่งจะทำให้ยาโคลิสตินหมดประสิทธิภาพในการต้านหรือฆ่าเชื้อ หมายถึงเราจะไม่มียาสำหรับการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกต่อไป ดังนั้นฉลาดซื้อจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ เราขออาสาไปตรวจสอบเนื้อหมูสดในตลาดอีกรอบ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อหมูสันในจากตลาดสด 6 แห่งใน กรุงเทพฯ ห้างค้าปลีก 8 แห่ง และสั่งซื้อออนไลน์ 1 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้าง 5 ชนิด โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ผลการทดสอบพบ 2 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 13.3 มีการตกค้างของยา คลอร์เททระไซคลีน (Chlortetracycline) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยปริมาณที่พบ คือ 20.28 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   ในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดใหม่บางแค และ 42.57 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   และในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดยิ่งเจริญ  ถึงแม้จะไม่เกินมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ในทางวิชาการแล้ว ปริมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงพบว่ามีการตกค้าง ก็อาจหมายถึงสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อหมู(กล้ามเนื้อ) สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม---------------------------------------------------------รู้หรือไม่ว่า ในอาหารที่เรากิน เราอาจเจอได้ทั้ง ยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และยีนของเชื้อที่ดื้อยา ตัวหลังนี้สำคัญเพราะมันข้ามสายพันธุ์กันได้ในหมู่เชื้อ ทำให้เชื้อโรคต่างก็พากันดื้อยา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มียีนที่เรียกว่า mcr-1   เกิดขึ้นแล้วพบในจีน อเมริกา อินเดีย หรือในประเทศไทยอย่างน้อยก็มีรายงานว่าพบแล้วสามคน ที่มียีนดื้อยาอยู่ในร่างกาย ยีนตัวนี้สำคัญอย่างไร ยีนดื้อยาตัวนี้ มันไม่กลัวยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะตัวที่แรงสุดในปัจจุบันคือ ยาโคลิสติน เรียกว่า ถ้ายานี้เอาเชื้อโรคไม่อยู่แล้วก็หมดยาที่จะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ชั้นในชายสีดำ

ฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างเสื้อชั้นในสตรีสีดำมาตรวจหาสารตกค้างจากสีย้อมไปแล้ว คราวนี้ถึงคราวกางเกงชั้นในของผู้ชายกันบ้าง เราทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำที่ทำจากเส้นใยฝ้าย จำนวน 11 ตัวอย่าง สนนราคาตั้งแต่ 25 ถึง 890 บาท มีทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และนำเข้าจากต่างประเทศ (จีน ฮ่องกง และบังคลาเทศ) เราส่งตัวอย่างไปทดสอบในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  เพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) ค่าความเป็นกรด-ด่าง ในการทดสอบคราวนี้เราไม่พบสารเคมีก่อมะเร็งที่มากับสีย้อมในกางเกงชั้นในชาย 11 ตัวอย่าง  แต่มีอยู่ 2 ตัวอย่างได้แก่ Body Basic และ ZEG ที่ตรวจพบฟอร์มัลดีไฮด์แต่ไม่เกินปริมาณที่มาตรฐานกำหนดไว้ที่ 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ใน 4 ตัวอย่าง (Body Basic / ZEG / H&M และ F&F) ยังพบค่า pH สูงเกินเกณฑ์ด้วย ----------------------------------------------------------------------------------------------- ตลาดชุดชั้นในชายบ้านเรามีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท เป็นตลาดบนร้อยละ 25 และตลาดล่างร้อยละ 75 ผู้ชายซื้อชั้นในปีละไม่เกิน 2 ครั้ง แต่ซื้อครั้งละ 3 – 4 ตัวหรือซื้อยกโหล (กัลยา กมลรัตน์ 2553 ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อชุดชั้นในชายในกรุงเทพมหานคร ) -----------------------------------------------------------------------------------------------   กางเกงใน Rosso รุ่น TC-701 ราคา 129 บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่เกินมาตรฐาน ค่าความเป็นกรดด่าง 7.02     กางเกงใน Body Basic รุ่น Half brief ราคา 159 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ < 15 มก/กก. ค่าความเป็นกรดด่าง 7.76     กางเกงใน ZEG รุ่น บิกินี ราคา 270 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ < 15 มก/กก. ค่าความเป็นกรดด่าง 8.12     กางเกงใน GUNMAN ราคา 25 บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.23     กางเกงใน APPLE รุ่น 704 ราคา 49 บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.26     กางเกงใน ADDER ราคา 129 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.29     กางเกงใน H&M รุ่น Trunks Cotton Stretch ราคา 699 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 8.07   กางเกงใน J. PRESS รุ่น 9127A ราคา 179 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.41     กางเกงใน UNIQLO รุ่น Knit Boxer Trunks ราคา บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.70     กางเกงใน Calvin Klein รุ่น Hip Brief ราคา 890 บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.45     กางเกงใน F&F รุ่น FF-ES09MD ราคา บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้ายผสม สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.56 ----------------------------------------------------------------------------------------------- โดยทั่วไปผิวหนังคนเรามีความเป็นกรดเล็กน้อย (ค่า ph 5.5) ค่าความเป็นกรด-ด่างที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคสำหรับเสื้อผ้าที่สวมใส่ติดผิวหนัง ควรอยู่ระหว่าง 4 ถึง 7.5  ถ้าสูงกว่านั้นอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือเป็นผื่นได้ ตามมาตรฐานกางเกงชั้นในชาย ปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งจะต้องไม่เกิน 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม --------------------------------------------------------------------------------------------------- พฤติกรรมการซื้อกางเกงชั้นในของผู้ชายสามารถชี้วัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ หลายปีก่อน อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ เคยกล่าวไว้ว่าถ้ายอดขายกางเกงในชายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 -3 นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ในขาขึ้น นอกจากนี้บรรดาผู้สังเกตการณ์ด้านแฟชั่นของเว็บขายชั้นในชายแห่งหนึ่งในอังกฤษ ที่ทำสถิติยอดขายระหว่างในช่วงปี 2007 – 2011 ยังพบว่าในเวลาที่เศรษฐกิจดีผู้ชายจะซื้อกางเกงชั้นในที่มีสีสันมากขึ้น และในเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำพวกเขาจะกลับไปซื้อชั้นในสีขาว สีเทา และสีดำเหมือนเดิม ----------------------------------------------------------------------------------------------- ชั้นในมือสอง? ปี 2012 รัฐบาลประเทศซิมบับเว สั่งห้ามการขายหรือนำเข้าชั้นในในมือสอง เพื่อเป็นการปกป้องตลาดชุดชั้นในภายในประเทศและลดปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชากร ก่อนหน้านั้น ในปี 1994 ประเทศกานาก็ประกาศแบนชั้นในมือสองไปแล้วเช่นเดียวกัน ----------------------------------------------------------------------------------------------- จากผ้าเตี่ยวสู่กางเกงชั้นใน แฟชั่นไอเท็มชิ้นแรกของบรรพบุรุษมนุษย์ถ้ำคือผ้าเตี่ยว ซึ่งได้รับความนิยมต่อมาในอารยธรรมอิยิปต์และโรมันด้วย รายละเอียดเรื่องนี้ไม่ชัดเจน แต่จากการขุดค้นสุสานของกษัตริย์ตุตันคาเมน นักโบราณคดีเขาพบผ้าเตี่ยวหรือกางเกงชั้นในของตุตันคาเมนถึง 145 ตัวเลยทีเดียว กางเกงชั้นในแบบสวมเริ่มมีในศตวรรษที่ 13 และ “ชั้นใน” เริ่มมีพัฒนาการในหลายรูปแบบมากขึ้นในหมู่ชายไฮโซ (เช่น คอร์เซท ถุงน่อง) จนกระทั่งในศตวรรษที่ 18 เมื่อมีคนเรารู้จักนำลินินมาใช้ ชั้นในก็เริ่มมีบทบาททำให้ชาวบ้านทั่วไปที่ฐานะยากจนได้มีอายุขัยยืนยาวขึ้นด้วย เพราะการสวมชั้นในช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายต้องสัมผัสกับแบคทีเรียและเกิดการติดเชื้อง่ายเหมือนเมื่อก่อน พอถึงศตวรรษที่ 19 กางเกงชั้นในก็กลายเป็นไอเท็มจำเป็นของผู้คนทุกฐานะอาชีพไปในที่สุด ----------------------------------------------------------------------------------------------- ทำไมต้องสวมกางเกงในออกไปกู้โลก? การตูนเรื่องซูเปอร์แมนเล่มแรกออกวางขายในปี 1938 (หลังจากจ็อคกี้เปิดตัวกางเกงชั้นในรุ่นแรกได้ 3 ปี) คาแรคเตอร์นี้จะต้องสวมเสื้อผ้าเต็มตัว ในขณะเดียวกันก็ต้องโชว์กล้ามเนื้อของซูเปอร์ฮีโร่ตามแบบรูปปั้นคลาสสิก จะให้ฮีโร่ของเด็กๆ ดูโป้เปลือยมันก็กระไรอยู่ ผู้วาดจึงต้องสวมกางเกงให้เขาหนึ่งตัว แฟชั่นกูรูให้ความเห็นว่าสิ่งที่เขาสวมอยู่นั่นไม่ใช่กางเกงชั้นในอย่างที่เราคิดกัน ... ชั้นในที่ไหนจะมีเข็มขัดกันล่ะ ... มันเป็นกางเกงกีฬาว่ายน้ำต่างหาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 สารกันราตกค้าง ในเห็ดหอมแห้ง

“เห็ดหอม” เป็นส่วนประกอบสำคัญในเมนูอาหารต่างๆ โดยเฉพาะอาหารจีน บางคนยกย่องให้เป็นอาหารชั้นเลิศ เพราะมีความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีนว่า สามารถใช้บำรุงกำลัง และมีสรรพคุณทางยามากมาย สำหรับการนำมาปรุงอาหาร คนส่วนใหญ่จะนิยมใช้เห็ดหอมแห้ง เพราะให้กลิ่นหอมมากกว่าแบบสด บ้างว่านำมาเคี่ยวในน้ำ แล้วนำน้ำเห็ดที่เหลือไปใช้ปรุงอาหารต่อ เพราะให้รสชาติที่หวาน กลมกล่อม แต่จะมีใครเคยฉุกคิดกันไหมว่า กรรมวิธีก่อนที่จะมาเป็นเห็ดหอมแห้งนั้น ต้องผ่านสารอะไรมาบ้าง แล้วหากเรารับประทานเข้าไปจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เห็ดหอมแห้งเหล่านั้นไม่พ่วงสารปนเปื้อนอย่าง สารป้องกันกำจัดเชื้อรามาด้วย เมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา ฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างเห็ดหอมแห้ง 17 ตัวอย่าง จาก 8 จังหวัดมาทดสอบแล้ว ซึ่งผลการทดสอบครั้งนั้นพบว่า ตัวอย่างเห็ดหอมแห้งเกินครึ่งหนึ่งมีการปนเปื้อนยากันรา หรือคาร์เบนดาซิม (Carbendazim) อย่างไรก็ตามตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ที่กำหนดปริมาณขั้นต่ำของสารกันราแต่อย่างใด ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอทดสอบปริมาณสารกันราในเห็ดหอมแห้งอีกครั้ง เพราะเรายังเชื่อว่าสารดังกล่าว แม้จะยังไม่มีการควบคุมอย่างเป็นทางการ แต่ก็จัดเป็นสารเคมีทางการเกษตรที่อยู่ในกลุ่มกำจัดศัตรูพืช ที่ไม่ควรมีตกค้างมาอยู่ในพืชผักหรืออาหารที่เรารับประทาน โดยสุ่มเก็บตัวอย่างเห็ดหอมแห้งที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งตามตลาดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 13 ยี่ห้อ ซึ่งผลการทดสอบจะออกมาเป็นอย่างไร เราไปดูกันเลย   ผลทดสอบการปนเปื้อนสารป้องกันราในเห็ดหอมแห้งแต่ละยี่ห้อ               สรุปผลการทดสอบเห็ดหอมแห้งยี่ห้อไหน มีสารกำจัดเชื้อราปนเปื้อนมากที่สุด- ผลการทดสอบพบว่า จากตัวอย่างเห็ดหอมแห้งยี่ห้อ เอโร่ aro มีสารป้องกันราตกค้างมากที่สุด คือ 0.14 มก./กก.- ในขณะที่มีเพียงเห็ดหอมแห้ง 2 ยี่ห้อจากตัวอย่างทั้งหมด คือ ยี่ห้อปลาทอง และไม่มียี่ห้อ จากตลาดคลองเตยเท่านั้น ที่ไม่มีการปนเปื้อนของสารกันราเลย- นอกจากนี้ยังอีกมี 1 ตัวอย่างที่ฉลากแสดงปริมาณสุทธิบนใบเสร็จรับเงิน กับฉลากหน้าซองบรรจุภัณฑ์ ไม่ตรงกันคือ เห็ดหอมแห้ง ตรา บิ๊กซี ทำความรู้จักสารป้องกันกำจัดเชื้อราคาร์เบนดาซิม (Carbendazim) หรือ สารป้องกันกำจัดเชื้อรา นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นในพืชผัก พืชไร่ ข้าวและธัญพืช ผลไม้ และไม้ดอก เพราะช่วยป้องกันไม่ให้อาหารบูดเสียง่าย ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิด ซึ่งหากร่างกายของเราได้รับสารดังกล่าวเป็นประจำ ก็จะส่งผลให้กระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง น้ำหนักลด ท้องเสีย อาเจียน เกิดผื่นแดงบนผิวหนัง หรือเป็นโรคโลหิตจาง นอกจากนี้ยังเป็นสารอันตรายเมื่อถูกผิวหนัง สามารถสร้างความระคายเคืองต่อดวงตา และระบบทางเดินหายใจได้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา รายงานว่าจากการศึกษาในอเมริกาพบว่า สารคาร์เบนดาซิมมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มอัตราการเกิดโรคมะเร็ง และทำให้เป็นหมัน ที่มา: http://ww.foodinsight.org, 2015-------------------------------------------------------------------------------------------------------สาร Carbendazim ไม่มีการกำหนดค่า MRL ของเห็ดหอมแห้งในไทยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช)กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) ของคาร์เบนดาซิม(2556) ในสินค้าเกษตร 26 รายการกุยช่าย เงาะ ต้นหอม ถั่วเหลืองฝักสด หอมแดง องุ่น = 3 mg/kgถั่วเขียว มะเขือเทศ ถั่วเหลืองเมล็ดแห้ง = 0.5 mg/kgเมล็ดถั่วลิสง ใบหม่อน เมล็ดฝ้าย อ้อย เครื่องในสัตว์ปีก = 0.1 mg/kgข้าวสาร พริก มะม่วง หอมใหญ่ = 2 mg/kgเนื้อโค กระบือ เครื่องในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เนื้อสัตว์ปีก มันสัตว์ปีก ไข่ นม = 0.05 mg/kgเทคนิคการเลือกซื้ออาหารแห้งเราควรมีความระมัดระวังในการเลือกซื้ออาหารแห้ง ไม่ใช่แค่การเลือกซื้อเห็ดหอม เพราะอาหารแห้งทุกประเภทอาจมีสารตกค้างอยู่ได้เช่นกัน โดยใช้เทคนิคง่ายๆ คือ 1. ไม่ซื้ออาหารแห้งในปริมาณมาก เพราะหากใช้ไม่หมดอาจเกิดเชื้อราได้2. เลือกซื้ออาหารแห้งที่มีสีใกล้เคียงกับสีธรรมชาติของอาหารชนิดนั้น3. ไม่ซื้ออาหารแห้งที่มีกลิ่นหืน โดยควรเลือกอาหารแห้งที่มีลักษณะ สี ที่สดใหม่ ไม่แตกหัก4. ตรวจดูฉลากโภชนาการและวันหมดอายุ5. วิธีการเก็บรักษา ควรเก็บไว้ที่โปร่ง มีอากาศถ่ายเท หรือในตู้เย็น หากเป็นอาหารแห้งที่สามารถแช่เย็นได้6. สำหรับการรับประทานเห็ดหอมแห้งอย่างปลอดภัย คือไม่ควรนำน้ำที่แช่เห็ดหอมไว้มาปรุงอาหารต่อ เพราะ สารพิษที่มีอยู่ในเห็ดหอมแห้งนั้นจะยังปนเปื้อนในน้ำเหมือนเดิม และควรเว้นระยะการรับประทานอาหารแห้ง เพื่อให้ร่างกายกำจัดสารปนเปื้อนเหล่านั้นออกไปบ้าง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 องุ่นกับแตงโม เขาว่าสารเคมีเยอะจริงหรือ

ฉลาดซื้อพาแวะซื้อผลไม้อีกที คราวนี้ว่าด้วยองุ่นกับแตงโม ผลไม้ที่ใครต่อใครต่างก็ว่า มีสารเคมีการเกษตรตกค้างเยอะ ให้ระวังเวลากิน ก็เลยต้องพาไปพิสูจน์ครับ  องุ่นนั้น มีวิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และเกลือแร่อย่างเหล็ก แคลเซียม มาก และเพราะน้ำตาลในองุ่นเป็นน้ำตาลกลูโคส ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เลย กินองุ่นจึงทำให้รู้สึกสดชื่น อีกทั้งช่วยเร่งการเผาผลาญในร่างกาย ช่วยล้างและสร้างเม็ดเลือดกระตุ้นตับให้ทำหน้าที่ฟอกเลือดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นยาระบายอ่อนๆ  แต่จากการทดสอบหาปริมาณสารเคมีตกค้างในทุกหน่วยงาน องุ่นจัดว่าเป็นผลไม้ที่ติดอันดับท็อปห้าตลอดเรื่องมีการตกค้างของสารเคมีสูง ถึงขนาดมีคนบอกว่า ถ้ารักกันจริงต้องปอกเปลือกองุ่นให้กิน  ส่วนแตงโม จำไม่ได้แล้วว่าเป็นข้อมูลปีไหน แต่ว่ากันว่า แตงโม จะมีสารเคมีตกค้างอยู่มากถึง 11 ชนิด อันนี้ก็เป็นที่ล้อกันเล่นๆ ว่า ถ้าแตงโมไม่หวาน ก็ถือว่าดี เพราะลดสารเคมีลงไปได้ 1 ชนิด(ฮา)  ที่จริงแตงโมเป็นผลไม้ที่เหมาะกับเมืองร้อนเป็นที่สุด เพราะมีน้ำมาก กินแล้วช่วยให้เย็นและสดชื่นในขณะอากาศร้อนจัด แตงโมมีไลโคปีนและเบต้าแคโรทีนมาก ไลโคปีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้ผักผลไม้มีสีแดง คาดว่าช่วยป้องกันโรคหัวใจและมะเร็งได้บางชนิด ส่วนเบต้าแคโรทีนเป็นสารอาหารที่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ   ฉลาดซื้อทดสอบ องุ่น (ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ) เก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง รวม 16 ตัวอย่าง (ครั้งละ 8 ตัวอย่าง) ในเดือนพฤศจิกายน 2552 และเดือนมีนาคม 2553 จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และตลาดสดในพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล เพื่อทดสอบหาสารเคมีตกค้างทางการเกษตร 3 ประเภท คือ ยากันรา-คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) และยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethiod)   ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 12.5) ที่พบการตกค้างของสารเคมีทั้ง 3 กลุ่มได้แก่ ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยาจากการเก็บสินค้าทดสอบในเดือนพฤศจิกายน 2552 และตัวอย่างจากตลาดสด อำเภอเมือง จังหวัดสตูลจากการเก็บสินค้าทดสอบในเดือนมีนาคม 2553  2. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีใด ๆ เลยจากการเก็บสินค้าทดสอบทั้ง 2 ครั้งในเดือนพฤศจิกายน2552 และเดือนมีนาคม 2553 ได้แก่ ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส และจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม และตัวอย่างจากตลาดกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสังขลา   สรุปความเสี่ยงขององุ่น มีความเสี่ยงระดับปานกลาง (50 – 50) ที่จะพบผลิตภัณฑ์ที่มีการตกค้างของยาฆ่าแมลงอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่สำคัญว่าจะซื้อจากแหล่งจำหน่ายใดทั้งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และตลาดสด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในระดับพื้นที่ พื้นที่ภาคเหนือจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิดในแต่ละกลุ่มมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ  ขณะที่ภาคอื่น ๆ มีความเสี่ยงเท่าๆ กันในระดับปานกลาง ที่จะพบผลิตภัณฑ์ที่สารพิษตกค้าง ยกเว้นจังหวัดมหาสารคาม (อำเภอเมือง) และ จังหวังสงขลา (อำเภอหาดใหญ่) ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงต่ำมาก ส่วนความเสี่ยงจากการได้รับอันตรายจากยาฆ่าแมลงอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากปริมาณสารเคมีที่พบส่วนใหญ่ไม่สูงมากนัก (ไม่เกิน 1 มก./กก.   ผลวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารตามแผนการสุ่มตัวอย่างครั้งที่ 2 Carbendazim Organophosphate group Pyrethiod group   (พฤศจิกายน 2552)   (มก./กก.) (มก./กก.) (มก./กก.)   องุ่น (1)   ไม่ระบุ Profenofos 0.05  Triazophos 0.02 ไม่ระบุ         สารพิษตกค้าง 288         3 Chlorpyrifos 0.5 Deltamethrin 0.2 Fenpropathrin 5 Permethrin 2   จังหวัด สถานที่เก็บ ผู้ผลิต MRL CODEX   กรุงเทพ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน บ.เดอะมอลล์กรุ๊ป ไม่พบ ไม่พบ Fenpropathrin 0.05*   สมุทรสงคราม เทสโก้ โลตัส บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม ไม่พบ ไม่พบ Fenpropathrin 0.08*   ขอนแก่น ตลาดสดเทศบาล3 นำเข้าจากจีน 0.02* ไม่พบ ไม่พบ   มหาสารคาม บิ๊กซี นำเข้าจากจีน ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ   สตูล เทสโก้ โลตัส นำเข้าจากจีน < 0.005* ไม่พบ ไม่พบ   สงขลา ตลาดกิมหยง องุ่นอเมริกา ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ   เชียงใหม่ เทสโก้ โลตัส นำเข้าจากจีน ไม่พบ Chlorpyrifos 0.0061* Cyhalothrin 0.045**  Cyfluthrin 0.028** Cypermethrin 0.205** Fenvalerate 0.293**   พะเยา เทสโก้ โลตัส ไม่ระบุ < LOD (0.025)* Chlorpyrifos 0.0107* Cyhalothrin 0.127** Cypermethrin 0.032** Fenvalerate 0.121** Deltamethrin 0.037*         MRL มกอช.     3 มก./กก.       *ปริมาณที่ตรวจพบยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของประกาศ สธ. ฉบับที่ 288 พ.ศ. 2548 หรือ MRL CODEX     **ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และ CODEX       LOD = ปริมาณต่ำสุดเท่าที่เครื่องทดสอบปริมาณตกค้างของสารเคมีสามารถตรวจวัดได้         ผลวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารตามแผนการสุ่มตัวอย่าง Carbendazim Organophosphate Pyrethiod     ครั้งที่ 4 มีนาคม 2553 (มก./กก.) (มก./กก.) (มก./กก.)         ไม่ระบุ Profenofos 0.05  Triazophos 0.02 ไม่ระบุ     องุ่น (2)   สารพิษตกค้าง 288       3 Chlorpyrifos 0.5 Deltamethrin 0.2 Fenpropathrin 5 Permethrin 2     จังหวัด สถานที่เก็บ ผู้ผลิต MRL CODEX     กรุงเทพ บิ๊กซี สะพานควาย บมจ. บิ๊กซี ไม่พบ Chlopyrifos  0.04* ไม่พบ     สมุทรสงคราม เทสโก้ โลตัส บ.เอกชัยดิสทรีบิวชั่น ไม่พบ Chlopyrifos  0.91*** ไม่พบ     ขอนแก่น ตลาดรถไฟ ไม่ระบุ ไม่พบ Prothiophos 1.01** ไม่พบ     มหาสารคาม เทสโก้ โลตัส บ.เอกชัยดิสทรีบิวชั่น ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ     สงขลา ตลาดกิมหยง ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ     สตูล ตลาดสด อ.เมือง ไม่ระบุ 4.047*** Prothiophos 0.17** Cypermethrin 0.05**     เชียงใหม่ บิ๊กซี สาขาหางดง ห้างบิ๊กซี (สาขาหางดง) ไม่พบ ไม่พบ Cyhalothrin 0.017** Permethrin 0.028*  Cyfluthrin 0.038** Cypermethrin 0.026** Deltamethrin 0.007*     พะเยา เทสโก้ โลตัส ไม่ระบุ ไม่พบ Chlopyrifos  0.0211* Prothiofos 0.3086** Profenophos < LOD* Cyhalothrin 0.021** Cyfluthrin 0.012** Cypermethrin 0.006**           MRL มกอช. 3 มก./กก.         *ปริมาณที่ตรวจพบยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของประกาศ สธ. ฉบับที่ 288 พ.ศ. 2548 หรือ MRL CODEX     **ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และ CODEX       ***ปริมาณที่พบสูงเกินกว่ามาตรฐานกำหนด         LOD = ปริมาณต่ำสุดเท่าที่เครื่องทดสอบปริมาณตกค้างของสารเคมีสามารถตรวจวัดได้       คำแนะนำในการบริโภคองุ่น – ควรล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับอันตรายจากยาฆ่าแมลง และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเป็นเครื่องดื่มทั้งแบบคั้นสดและแบบปั่นหากไม่ได้ทำกินเอง เนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากยาฆ่าแมลงตกค้างหากไม่มีการล้างทำความสะอาดที่ดีพอได้   แตงโม เก็บตัวอย่างทดสอบทั้งสิ้น 1 ครั้ง เป็นจำนวน 8 ตัวอย่างเมื่อเดือนมีนาคม 2553 เพื่อทดสอบหาการตกค้างของยาฆ่าแมลง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มไพรีทอยด์ และกลุ่มคาร์บาเมต โดยเก็บตัวอย่างจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จำนวน 5 แห่ง และจากตลาดสด จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่ดำเนินงาน 8 จังหวัดเช่นเดียวกันกับองุ่น ผลการทดสอบปรากฏว่า   สรุปความเสี่ยงของแตงโมและคำแนะนำในการบริโภคมีความเสี่ยงต่อการพบยาฆ่าแมลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างทั้งหมดไม่พบการปนเปื้อนเลย ยกเว้นพื้นที่เขตภาคเหนือคือเชียงใหม่ และพะเยาที่มีโอกาสได้รับผลิตภัณฑ์ที่มียาฆ่าแมลงตกค้างสูงโดยเฉพาะสารเคมีกลุ่มไพรีทอยด์ที่พบมากกว่า 4 ชนิดในหนึ่งผลิตภัณฑ์   ผลวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารตามแผนการสุ่มตัวอย่างครั้งที่ 4 Organophosphate Pyrethiod Carbamate   มีนาคม 2553 (มก./กก.) (มก./กก.) (มก./กก.)   แตงโม ไม่ระบุ ไม่ระบุ Methomyl 0.2   สารพิษตกค้าง ฉบับที่ 288   AZINPHOS-METHYL 0.2 Fenvalerate 0.5 Methomyl 0.2   จังหวัด สถานที่เก็บ บริษัทผู้ผลิต/จำหน่าย MRL CODEX   กรุงเทพ คาร์ฟูร์ บางบอน บ. เซ็นคาร์ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ   สมุทรสงคราม เทสโก้ โลตัส บ.เอกชัยดิสทรีบิวชั่น ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ   ขอนแก่น ตลาดรถไฟ ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ   มหาสารคาม บิ๊กซี บมจ.บิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ   สงขลา ตลาดหาดใหญ่ ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ Methomyl 0.12*   สตูล ตลาดสด อ.เมือง ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ   เชียงใหม่ บิ๊กซี สาขาหางดง ไม่ระบุ ไม่พบ Cyhalothrin 0.039** Cypermethrin 0.159** Fenvalerate 1.705*** Deltamethrin 0.241** ไม่พบ   พะเยา เทสโก้ โลตัส ไม่ระบุ ไม่พบ Cyhalothrin 0.077** Permethrin 0.062**  Cyfluthrin 0.14** Cypermethrin 0.15** Fenvalerate 1.68*** Deltamethrin 0.214** ไม่พบ   *ปริมาณที่ตรวจพบยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของประกาศ สธ. ฉบับที่ 288 พ.ศ. 2548 หรือ MRL CODEX     **ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และ CODEX       ***ปริมาณที่พบสูงเกินกว่ามาตรฐานกำหนด           ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้น โดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่   คำแนะนำต่อการบริโภคกรุงเทพมหานครได้แถลงข่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ระบุไว้ว่ากว่าหนึ่งในสามของผลไม้รถเข็นไม่ผ่านมาตรฐานด้านจุลินทรีย์ก่อโรค ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการซื้อแตงโมจากร้านผลไม้รถเข็นที่ดูไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ไม่มีฝาครอบปิดมิดชิด หรือมีแต่ไม่ครอบปิด หรือไม่มีน้ำแข็งรักษาความเย็นของอาหาร (ชะลอการเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค) แนะนำให้ซื้อเป็นลูกใหญ่มาผ่ากินเองดีกว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 119 ลูกพลับกับสาลี่ ของดีจากเมืองจีน?

  ฉลาดซื้อพาแวะซื้อผลไม้อีกครั้ง คราวนี้เป็นสาลี่กับลูกพลับ ผลไม้นำเข้าจากเมืองจีน(ส่วนใหญ่) ว่ากันว่าเป็นของที่ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ต้องปอกเปลือกก่อนกินนะครับ  ลูกพลับนั้น มีสรรพคุณเป็นยาได้แก่ ลดอาการปวดท้องที่เกิดจากความเย็น เช่น ปวดประจำเดือน หรือปวดโรคบิด แก้ไอหรือเจ็บคอ และทีเด็ดของลูกพลับนั้นก็คือ ช่วยลดความดัน ส่วนสาลี่ก็เช่นกัน ว่ากันว่า ช่วยบำรุงร่างกายและอวัยวะภายใน ช่วยย่อยอาหาร ลดความร้อนในร่างกาย แก้ไอ ละลายเสมหะ (ข้อมูลจาก www.thaigoodview.com)   แต่ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นของดีต่อสุขภาพ หากแต่กระบวนการผลิตปัจจุบันอาจมีการแอบแฝงเข้ามาของสารเคมีกลุ่มยาฆ่าแมลงที่เหลือตกค้างอยู่ ดังนั้นก่อนรับประทานก็ต้องเลือกให้ดี และล้างให้สะอาดนะครับถ้ายังไงลองนำข้อมูลที่นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ทำสำรวจไว้เป็นแนวทางในการพิจารณาครับ   ฉลาดซื้อทดสอบ ทั้งลูกพลับและสาลี่ เก็บตัวอย่างภายใต้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ  ในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล   ลูกพลับ เก็บตัวอย่าง 1 ครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นจำนวน 6 ตัวอย่าง จากตลาดสดหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่   6 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม สงขลา และสตูล เพื่อส่งทดสอบหาการตกค้างของ   ยากันรา-คาร์เบนดาซิม ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มไพรีทอยด์ ผลการทดสอบพบว่า   1. มีการปนเปื้อนของยากันรา-คาร์เบนดาซิมในตัวอย่างจำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 83 โดยมีปริมาณสารเคมีที่พบอยู่ระหว่าง 0.02 – 0.54 มก./กก. แต่ไม่สามารถระบุถึงอันตรายได้ว่าปริมาณสารเคมีที่พบอันตรายเพียงใดเนื่องจากทั้งมาตรฐานภายในประเทศและมาตรฐานสากลไม่ได้ระบุปริมาณสารเคมีตกค้างสูงสุดที่ให้ใช้ได้ (Maximum Residue Limits: MRL) ไว้ในผลไม้ชนิดนี้  2. ไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในทุกตัวอย่าง  3. พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยพบสารเคมีจำนวน 2 ชนิดคือ แอล-ไซฮาโลทริน ที่ปริมาณต่ำกว่า 0.01 ถึง 0.01 มก./กก. และไซเปอร์เมทริน ที่ปริมาณ 0.01 – 0.05 มก./กก. แต่ไม่สามารถระบุถึงความอันตรายของสารเคมีที่พบได้เนื่องจากไม่มีมาตรฐานใดระบุค่า MRL ไว้ให้อ้างอิง   ข้อสังเกตมีเพียงตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสมุทรสงครามที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีใด ๆ ที่ทำการทดสอบเลย   ผลวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารตามแผนการสุ่มตัวอย่างครั้งที่ 2 (พ.ย. 52)         Carbendazim Organophosphate Pyrethiod พลับ   (mg/kg) (mg/kg) (mg/kg)     ไม่ระบุ ไม่ระบุ ไม่ระบุ จังหวัด สถานที่เก็บ ผู้ผลิต สารพิษตกค้าง 288 กรุงเทพ แผงลอยใกล้รถไฟฟ้าซอยอารีย์ ไม่ปรากฎ < 0.1** ไม่พบ Cypermethrin 0.04** สมุทรสงคราม Tesco Lotus บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ขอนแก่น ตลาดสดเทศบาล3 นำเข้าจากจีน 0.02** ไม่พบ Cyhalothrin  < 0.01**  Cypermethrin < 0.01** มหาสารคาม ตลาดสดอ.บรบือ นำเข้าจากจีน 0.08** ไม่พบ Cyhalothrin 0.01** Cypermethrin 0.05** สตูล Tesco Lotus นำเข้าจากจีน 0.545** ไม่พบ ไม่พบ สงขลา ตลาดกิมหยง นำเข้าจากเกาหลี 0.0272** ไม่พบ ไม่พบ   **ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และ CODEX     สรุปความเสี่ยงของลูกพลับและคำแนะนำในการบริโภคมีความเสี่ยงสูงต่อการพบยากันรา-คาร์เบนดาซิม และมีความเสี่ยงปานกลางต่อการพบยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ตกค้าง สำหรับความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารเคมีเมื่อบริโภคอยู่ในระดับต่ำถึงค่อนข้างต่ำ คำแนะนำในการบริโภค ควรปอกเปลือกและล้างทำความสะอาดก่อนการบริโภค --------------------------------------------------------------------------------------------------------  สาลี่ เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 2 ตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ตัวอย่าง ในเดือนพฤศจิกายน 2552 และเดือนมกราคม 2553 จากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยาเพื่อทดสอบหายากันรา-คาร์เบนดาซิม ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มไพรีทอยด์ ผลการทดสอบปรากฏว่า  1. ไม่พบการตกค้างของยากันรา-คาร์เบนดาซิมในตัวอย่างทั้ง 2 ตัวอย่าง  2. พบการตกค้างของสารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตชนิดคลอร์ไพริฟอสในตัวอย่างทั้ง 2 ตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างทั้งสองครั้งที่ปริมาณ 0.02 และ 0.008 มก./กก. ตามลำดับ แต่ไม่สามารถระบุระดับความอันตรายได้ว่ามากน้อยเพียงใดเนื่องจากไม่ได้ระบุไว้ในทั้งมาตรฐานของประเทศไทยและในมาตรฐานอาหารสากล  3. พบการตกค้างของสารเคมีกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างทั้ง 2 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 3 ชนิด โดยมีรายการสารเคมีที่พบคือ แอล-ไซฮาโลทริน ไซเปอร์เมทริน เฟนวาเลอเรท ไซฟลูทริน และเดลทาเมทริน และมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง ปริมาณขั้นต่ำสุดที่เครื่องตรวจวัดจะวัดได้ – 0.6 มก./กก.   เมื่อนำมาตรฐานมาประกอบการพิจารณาจะพบว่า 3 ชนิด ของสารเคมีในกลุ่มนี้ที่ตรวจพบจากการเก็บตัวอย่างทั้ง 2 ครั้ง ไม่ถูกระบุไว้ในค่า MRL ของ CODEX จึงไม่สามารถระบุความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมีสู่ร่างกายได้ และมีเพียง 2 ชนิดที่ระบุได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเนื่องจากปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในปริมาณที่น้อยมากจนแทบจะตรวจวัดไม่ได้ ได้แก่ ไซฟลูทริน และเดลทาเมทริน   ผลวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารตามแผนการสุ่มตัวอย่างครั้งที่ 2 (พฤศจิกายน 2552)       Carbendazim Organophosphate Pyrethiod สาลี่   (mg/kg) (mg/kg) (mg/kg)   ไม่กำหนด ไม่กำหนด ไม่กำหนด จังหวัด ยี่ห้อ/สถานที่เก็บ ผู้ผลิต/นำเข้า สารพิษตกค้าง 288 พะเยา Tesco Lotus นำเข้าจากจีน ไม่พบ Chlorpyrifos 0.022** Cyhalothrin 0.069**   Cypermethrin 0.07** Fenvalerate 0.585**   ผลวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารตามแผนการสุ่มตัวอย่างครั้งที่ 3 (มกราคม 2553)       Carbendazim Organophosphate Pyrethiod       (mg/kg) (mg/kg) (mg/kg)       ไม่กำหนด ไม่กำหนด NA จังหวัด ยี่ห้อ/สถานที่เก็บ ผู้ผลิต/นำเข้า สารพิษตกค้าง ฉบับที่ 288 พะเยา Tesco Lotus นำเข้าจากจีน ไม่พบ Chlopyriphos 0.0084** Fenvalerate 0.08** Cyfluthrin < LOQ* Deltamethrin < LOQ* *ปริมาณที่ตรวจพบยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของประกาศ สธ. ฉบับที่ 288 พ.ศ. 2548 หรือ MRL CODEX**ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และ CODEX ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้น โดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ ความเสี่ยงต่อสารพิษตกค้างในสาลี่  มีความเสี่ยงต่อการพบสารพิษตกค้างสูง และมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารพิษตกค้างอยู่ในระดับเดียวกับส้ม โดยเฉพาะในกลุ่มไพรีทอยด์ คำแนะนำในการบริโภคให้ปอกเปลือกและล้างทำความสะอาดทุกครั้งก่อนการบริโภคและหลีกเลี่ยงการบริโภคติดต่อกันเป็นประจำในปริมาณมาก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point