ฉบับที่ 271 ซื้อบ้านทั้งที ต้องซ่อมยกหลังจน...อยู่ไม่ได้

        การซื้อบ้าน เป็นความฝันของใครหลายคนที่กว่าจะเป็นจริงได้ต้องทำงานอย่างหนัก และสำหรับบางคนอาจต้องใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตเพื่อให้ได้บ้านในฝันมาครอบครอง แต่การซื้อบ้านแม้เมื่อได้โอนบ้าน ครอบครองมีชื่อเป็นเจ้าของสมบูรณ์แล้ว ท่านอาจคิดว่าฝันเป็นจริงเสียที แต่เมื่อได้เข้าอยู่อาศัย จึงได้รู้ว่าฝันที่เป็นจริงนั้นกลับกลายเป็น ‘ฝันร้าย’ เมื่อบ้านที่เฝ้ารอกลับเป็นบ้านที่มีแต่จุดชำรุด ซ่อมเท่าไหร่ก็ไม่แล้วเสร็จ ซ้ำยังขยายให้เห็นจุดชำรุดเสียหายอื่นๆ ที่ยังหมกเม็ดให้เจ้าของบ้านได้เห็นอยู่เรื่อยๆ เช่น เรื่องราวของคุณหมูกรอบ        เรื่องราวคือ คุณหมูกรอบเข้าไปดูโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ย่านบางนา ตั้งแต่ในเดือนตุลาคมปี 2564 คุณหมูกรอบคิดว่าได้เข้ามาดูสภาพบ้านในช่วงหน้าฝนแล้ว ก็น่าจะสามารถพิสูจน์คุณภาพบ้านได้ ในเดือนพฤศจิกายนจึงทำสัญญาเริ่มผ่อนและมีการโอนบ้านในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน        หลังจากโอนแล้ว ขณะนั้นอยู่ระหว่างการตกแต่งภายใน คุณหมูกรอบจึงยังไม่ได้ย้ายเข้าไปอยู่อาศัย แต่ก็ได้เข้าไปตกแต่งและตรวจสอบสภาพบ้านสม่ำเสมอก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ในเดือนมิถุนายน ปี 2565         แล้วสัญญาณเตือนว่าบ้านที่ซื้อเต็มไปด้วยปัญหาก็เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 65 ที่รั้วบ้านทรุด แม้จะพยายามซ่อมแต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเป็นรั้วที่ให้ความปลอดภัยได้ ต่อมาในเดือนเมษายน หลังคาห้องครัวรั่วซึมจนฝนรั่วน้ำไหลลงมา ขณะนั้นคุณหมูกรอบยังไม่ได้เข้าอยู่อาศัย จึงแจ้งเรื่องให้ช่างเข้าซ่อมซึ่งตอนแรกช่างก็ตื่นตัวที่จะเข้ามาซ่อมให้อย่างรวดเร็วแต่เมื่อเข้าอยู่อาศัยท่าทีกลับเริ่มเปลี่ยนไป         นอกจากจุดที่แจ้งซ่อมยังแก้ไม่หายแล้ว เมื่อย้ายเข้าอยู่ในเดือนมิถุนายน จุดร้ายแรงที่พบอีก คือการชำรุดที่โรงรถซึ่งเกิดจาก ‘โครงสร้างไม่ถูกหลัก’ ทำให้น้ำรั่วซึมไหลเข้าไปทั่วบริเวณรอบๆ จนน้ำซึมไปทั่ว การซ่อมโรงรถทำให้ได้เห็นการก่อสร้างที่มีปัญหาหมกเม็ดอยู่ จุดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อีกหลายจุดและต่อมาหลังเข้าอยู่เพียงไม่กี่เดือน ผนังบันไดก็เกิดรอยร้าว แผ่นไม้ลูกราวบันไดแตกหัก         แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหา คุณหมูกรอบได้แจ้งซ่อมและให้ช่างของโครงการฯ ระบุปัญหาและสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาแต่กลับไม่มีการสื่อสารใดๆ เพียงแต่บอกรายละเอียดว่า ช่างจะเข้ามาซ่อมวัน เวลาใดเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอจะให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้บ้านของคุณหมูกรอบต้องซ่อมอยู่หลายครั้งได้         บ้านหลังดังกล่าวนี้ มูลค่ารวมกว่า 4.5 ล้านบาท คุณหมูกรอบผ่อนเดือนละประมาณ 25,000 บาท ปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนอย่างมากอยู่อาศัยอย่างไม่มีความสุข ซึ่งในโครงการฯ ไม่ใช่บ้านของคุณหมูกรอบหลังเดียวที่มีปัญหาแต่บ้านหลังอื่นๆ ก็ปัญหาด้วยกันเช่นเดียวกันกว่า 5- 6 หลัง ซึ่งเจ้าของบ้านที่เกิดปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดจึงได้รวมตัวกันเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา         หลังจากรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายทั้งหมด มูลนิธิฯ ได้ประสานกับตัวแทนของบริษัทเพื่อนัดหมายการเจรจาไกล่เกลี่ย เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา กรณีบ้านของคุณหมูกรอบที่แทบซ่อมตลอดระยะเวลาที่อยู่อาศัยได้เพียงไม่นานนั้น เธอยืนยันว่าเธอต้องการขอคืนบ้าน ไม่ประสงค์อยู่ต่อแล้ว ซึ่งทางตัวแทนบริษัทบอกจะนำข้อเสนอไปปรึกษากับผู้บริหาร อย่างไรก็ตามภายหลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ยเธอก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัทอีกเลย ทั้งนี้คุณหมูกรอบเธอยืนยันว่าหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้จบสิ้น ก็จะสู้คดีให้ถึงที่สุดต่อไป         จากกรณีปัญหาของคุณหมูกรอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องเรียนปัญหาจากการซื้อบ้านจัดสรรอีกหลายลักษณะ มูลนิธิฯ จึงมีคำแนะนำทั้งเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น และแนวทางรับมือเมื่อประสบกับปัญหาแล้วดังนี้         1.เมื่อสนใจและเข้าดูโครงการควรตรวจสอบรายละเอียดการสร้างบ้านว่าถูกต้องหรือไม่ และควรหารายละเอียดการใช้งานพื้นที่เดิมด้วย เช่น เคยเป็นพื้นที่ลุ่มหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุดได้         2.ผู้ซื้อบ้านจะต้องศึกษาสัญญาการซื้อบ้านโดยละเอียด เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า ส่วนใดของบ้านมีระยะเวลาประกันเท่าไหร่ ส่วนใดที่บริษัทรับประกันในระยะเวลา 5 ปี และ ส่วนใดที่บริษัทรับประกันเพียง 1 ปี เพื่อป้องกันการปัดความรับผิดชอบได้         3.ผู้ที่ยังไม่ซื้อบ้าน ยังไม่ได้รับโอนต้องหมั่นมาเช็คตรวจสอบสภาพบ้าน ซึ่งหากนัดเข้ามาบ่าย ช่างที่ดูแลอาจเก็บงานทำให้ไม่พบจุดที่เป็นปัญหาได้ จึงควรเข้ามาตรวจทั้งนัดหมายล่วงหน้า และการเข้าดูแบบไม่ให้รู้ก่อนด้วย         4.เมื่อถึงกำหนดโอนบ้านแต่บ้านยังไม่อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ผู้ซื้อไม่ควรจะรับโอนบ้าน แม้จะถูกหว่านล้อม โน้มน้าวด้วยโปรโมชั่นต่างๆ ในช่วงเวลาโอน หรือการถูกบอกกล่าวเชิงเตือนว่า ค่าโอนอาจเพิ่มสูงขึ้นในภายหลัง เพราะควรรับโอนเมื่อสภาพบ้าน สมบูรณ์แล้วเท่านั้นและหากบ้านยังคงมีปัญหาจนถึงกำหนดวันโอนและ ผู้บริโภคเป็นผู้เลื่อนกำหนดการรับโอน ผู้บริโภคควรเข้าไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานด้วยเพื่อยืนยันว่า ต้องเลื่อนการรับโอนเพราะสภาพบ้านยังมีปัญหาอยู่จริง         5.หากผู้ซื้อมีทุนทรัพย์เพียงพอ ควรจ้างบริษัทรับตรวจบ้านเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย         6.ทุกครั้งที่มีการแจ้งซ่อม การสื่อสาร ร้องเรียนถึงบริษัท ต้องมีการเก็บเป็นเอกสารหลักฐานถ่ายภาพก่อนซ่อม ระหว่างซ่อม และหลังซ่อมโดยละเอียด ลงบันทึกประจำวันไว้ให้ชัดเจน ทุกครั้งจึงดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ตกแต่งตาสองชั้นอย่างปลอดภัย

สาวเอเชียจำนวนมาก มักมีความกังวลเกี่ยวกับลักษณะดวงตาของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่จะมีตาชั้นเดียวหรือตาสองชั้นหลบใน ทำให้เวลาแต่งตาจะเห็นไม่ชัดเจนเท่าไร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและความสวยงามอย่างมาก หลายคนจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการศัลยกรรมตาสองชั้น แต่สำหรับใครที่กลัวการศัลยกรรมก็หันไปพึ่งวิธีง่ายๆ อย่าง การใช้เครื่องสำอางหรือกาวติดตาสองชั้นแทน ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญรู้จักกาวติดตาสองชั้นกันก่อนกาวติดตาสองชั้น (Double eyelid glue) เป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ซึ่งมีไว้ใช้กับเปลือกตาเพื่อตกแต่งให้เป็นตาสองชั้น มีลักษณะเป็นกาวสีใสและขาวขุ่น โดยส่วนใหญ่จะใช้ทาลงบนสติ๊กเกอร์ตาสองชั้น แล้วจึงนำไปติดลงบริเวณรอยพับของเปลือกตาก่อนหรือหลังตกแต่งดวงตาก็ได้ อย่างไรก็ตามสาวๆ หลายคนอาจเลือกใช้กาวติดขนตาปลอมแทนกาวติดตาสองชั้น เพราะหาซื้อได้ง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะใกล้เคียงกันกาวติดตาสองชั้นผลิตจากอะไรกาวติดตาสองชั้นมีส่วนประกอบสำคัญคล้ายกับกาวติดขนตาปลอม คือ Rubber, Latex, AMP-acrylates/ diacetoneacrylamide copolymer, Ethyl cyanoacrylate และ Acrylate copolymer กาวติดตาสองชั้นปลอดภัยจริงหรือแม้กาวติดตาสองชั้นจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นวิธีแก้ไขรูปตาที่สะดวกรวดเร็ว แต่ผู้ใช้งานหลายคนอาจพบกับอาการแพ้บริเวณเปลือกตาได้ เช่น มีอาการระคายเคือง คัน บวมแดงหรืออักเสบบริเวณผิวหนังรอบดวงตา ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการแพ้น้ำหอม สารกันบูดหรือสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่าง Latex (ยางธรรมชาติ) นั่นเอง เพราะสารดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังหรืออาการแพ้ได้มาก เลือกใช้กาวติดตาสองชั้นให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันอาการแพ้ที่ไม่พึงประสงค์ เราสามารถตรวจสอบกาวติดตาสองชั้นก่อนใช้งานด้วยวิธีเบื้องต้น ดังนี้1. ตรวจสอบฉลาก เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน ไม่มีส่วนประกอบต้องห้าม รวมทั้งมีสถานที่ผลิตหรือจัดจำหน่ายชัดเจน เราจึงควรตอบสอบฉลากก่อนซื้อ ซึ่งการแสดงฉลากที่ถูกต้อง ต้องเป็นภาษาไทยที่มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งชื่อที่ตั้ง สถานที่ผลิต วันเดือนปี การผลิต ฯลฯ 2. ตรวจสอบเลขที่จดแจ้งหากเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับมาตรฐาน จะต้องมีเลขที่จดแจ้งจำนวน 10 หลัก เพื่อเป็นการป้องกันสินค้าปลอมหรือลอกเลียนแบบ ซึ่งเราสามารถนำเลขที่จดแจ้งดังกล่าวตรวจสอบผ่านอินเทอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ของ อย. ในส่วนของระบบงานบริการตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ (http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx)  3. ใช้งานอย่างถูกวิธีบางครั้งอาการแพ้สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้งานผิดวิธี เช่น ใช้กาวมากเกินไป หรือล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด ทำให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรก ซึ่งเราควรล้างกาวติดตาสองชั้นด้วยผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางโดยเฉพาะ (Makeup remover) และไม่ควรดึงสติ๊กเกอร์ออกแรงเกินไป เพราะอาจทำให้เปลือกตาเป็นแผลและเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหากพบว่าเราใช้งานถูกวิธี หรือใช้สินค้าที่มีคุณภาพแล้ว แต่ยังเกิดอาการแพ้อยู่ อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากอาการแพ้เฉพาะบุคคล ซึ่งควรทดลองเปลี่ยนยี่ห้อ โดยอาจเลือกจากส่วนผสมที่ไม่มี Latex เพราะทำให้เกิดการแพ้ง่ายนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >