ฉบับที่ 241 ตราบฟ้ามีตะวัน : ใครๆ ก็ไม่รักหนู ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย

                ในขณะที่บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายเคยผ่านช่วงชีวิตแบบวัยรุ่นกันมาแล้วทุกคน แต่ก็น่าแปลกใจว่า พอพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว เราก็มักจะพากันหลงลืมความทรงจำเมื่อครั้งที่เป็นวัยรุ่นแทบจะทั้งสิ้น         วัยรุ่นมักถูกมองว่า เป็นวัยแห่งความคึกคะนอง ชอบทำอะไรที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย เป็นช่วงอายุบนความคลุมเครือ จะเด็กก็ไม่ใช่ จะโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง มีวิถีปฏิบัติบางอย่างที่พร้อมจะ “ขบถ” และลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจที่กฎกติกาแห่งสังคมพยายามจะจัดระเบียบวินัยให้กับพวกเขาเหล่านี้         และด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ใหญ่ๆ หลายคนจึงมักมองวัยรุ่นด้วยสายตาแปลกๆ และเลือกที่จะหลงลืมความทรงจำแห่งสำนึกขบถต่อต้าน หรือแม้แต่ออกอาการรังเกียจต่อวัยรุ่น ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งพวกตนก็เคย “เป็นอยู่คือ” มาก่อน เพียงเพื่อจะบอกคนอื่นได้ว่า ตนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นคนดีของระบบไปแล้ว         อาการเกลียดกลัววัยรุ่นแบบนี้ กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักของละครโทรทัศน์เรื่อง “ตราบฟ้ามีตะวัน” ที่ผูกโยงชีวิตของนางเอก “วันฟ้าใหม่” หรือ “แป้ง” ผู้เจอมรสุมหนักหน่วงในช่วงวัยรุ่น จนกลายเป็นเด็กมีปัญหา ก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง แต่ทว่าลึกๆ ลงไปนั้น แป้งกลับเป็นเด็กที่ขาดความรักและรู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว         ละครเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปในอดีต แป้งเป็นบุตรสาวของครอบครัวเศรษฐีผู้มีอันจะกินอย่าง “ธราเทพ” และ “พิมนภา” แม้ว่าฉากหน้าพ่อและแม่ของแป้งจะเป็นคู่รักที่ใครๆ อิจฉา เพราะเพียบพร้อมทั้งฐานะเศรษฐกิจและสังคม แต่เบื้องลึกแล้ว ครอบครัวนี้กลับไม่ได้สมบูรณ์แบบดั่งฉากหน้าที่ฉาบเคลือบไว้         ธราเทพผู้เป็นบิดาที่วันๆ เอาแต่ทำงานกับงาน กับพิมนภามารดาผู้เป็นสาวสังคมที่โลดแล่น แต่ทั้งคู่ก็ละเลยต่อลูกสาวคนเดียว แป้งที่เติบโตมากับ “อึ่ง” ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นเด็กมีปัญหา และทำตัวขบถเรียกร้องเพื่อชดเชยความรักที่ขาดหายไปในชีวิตเธอ         จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อธราเทพและพิมนภาถูกฆาตกรรมเสียชีวิตลงกะทันหัน และแป้งได้เห็นภาพติดตาของร่างซึ่งไร้วิญญาณของพ่อแม่ที่จากเธอไป จากเด็กที่ยังเคยมีความน่ารักอยู่บ้าง ก็ยิ่งกลายเป็นเด็กที่เคยตัวและเอาแต่ใจตนเองอย่างสุดโต่ง         สถานการณ์ที่แป้งต้องเผชิญตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยแบบนี้ เหมือนจะบ่งบอกเป็นนัยว่า เผลอๆ แล้ว ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเยาวชน ก็อาจไม่ได้ฝังรากเนื้อแท้มาจากภายในจิตใจของเด็กเองหรอก ทว่าจุดเริ่มต้นของปัญหากลับมาจากสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ก่อขึ้น จนสั่งสมเป็นปมปัญหาที่พรากความฝันและจิตวิญญาณของเด็กรุ่นใหม่ให้สลายหายไป         และภายหลังจากบุพการีเสียชีวิตลง แป้งผู้ขบถก้าวร้าวก็ได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของ “ครองประทีป” เจ้าของไร่แสงตะวันผู้เป็นเพื่อนรักของธราเทพ ครองประทีปพาแป้งมาอยู่ที่ไร่ และให้ “อาทิตย์” บุตรชายคอยเฝ้าดูแลเด็กหญิง แป้งจึงเริ่มรู้สึกผูกพันยึดติดกับพี่อาทิตย์อย่างมาก จนเข้าใจว่า สิ่งที่พระเอกหนุ่มทำให้คือความรักที่เขามีต่อเธอ และเธอก็โหยหาความรักดังกล่าวนั้นอยู่         แม้ช่วงแรกพระเอกหนุ่มจะรู้สึกเอ็นดูและสงสารเด็กหญิง แต่เมื่ออาทิตย์ได้ทราบความจริงว่า บิดาได้แอบหมั้นหมายให้เขาแต่งงานกับแป้งตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับธราเทพก่อนตาย อาทิตย์ก็ตั้งแง่รังเกียจเด็กสาว ในทางตรงกันข้ามกับแป้งที่ยังคงยึดเหนี่ยวกับคำมั่นสัญญาของบิดา จนเลือกที่จะอาละวาดทุกคนในไร่ที่พยายามขัดขวางไม่ให้เธอได้แต่งงานกับพระเอกหนุ่ม         ในฉากที่เด็กนักเรียนมัธยมอย่างแป้งแสดงกิริยาดื้อดึง และออกปากว่าตนจะต้องแต่งงานกับอาทิตย์จงให้ได้ รวมไปถึงสร้างเรื่องราวว่าอาทิตย์จะใช้กำลังปลุกปล้ำกระทำชำเราเธอ ด้านหนึ่งก็อาจทำให้เราเข้าอกเข้าใจชีวิตเด็กวัยรุ่นที่ออกมาเรียกร้อง เพราะขาดความรักความไยดีจากคนรอบข้าง แบบที่แป้งกล่าวว่า “แป้งไม่มีอะไรจะเสีย พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย แป้งไม่ต้องการอะไรอีกแล้วนอกจากพี่อาทิตย์”         แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ภาพเดียวกันนี้ก็อาจทำให้สายตาของผู้คนในสังคมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับอากัปกิริยาที่เด็กหญิงคนหนึ่งได้ต่อต้านท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติว่าด้วยการแสดงความปรารถนาดิบลึกเชิงชู้สาวในที่สาธารณะเยี่ยงนี้ เฉกเช่นประโยคที่อาทิตย์ได้พูดกับแป้งแบบไม่เหลือเยื่อใยว่า “ต่อให้เหลือผู้หญิงคนเดียวในโลก ฉันก็ไม่เอาเธอมาทำเมีย”         เพราะเหตุผลของวัยรุ่นไม่ได้มีอำนาจและความชอบธรรมเท่ากับเหตุผลของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ดังนั้นด้วยนิสัยที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานเช่นนี้ ในที่สุดครองประทีปก็ตัดสินใจส่งแป้งไปศึกษาร่ำเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ห่างไกลจากอาทิตย์และไร่แสงตะวัน         และก็อย่างที่ทุกคนก็ตระหนักกันดี สถาบันการศึกษาหาใช่เพียงแหล่งผลิตและถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกที่ใช้เวลาเป็นปีๆ ในการขัดเกลาและจัดวินัยวัยรุ่นผู้มักมีจิตสำนึกขบถ ให้เข้ารีตเข้ารอย จนพร้อมจะกลายเป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” ที่อยู่ใต้อาณัติของกฎกติกาแห่งสังคม         ดังนั้น 6 ปีที่เธอจากไป หญิงสาวก็ได้หวนกลับมายังไร่แสงตะวันพร้อมกับความรู้สึก “สำนึกบาป” เป็นแป้งคนใหม่ ผู้ซึ่งผ่านการขัดและเกลาวินัยแห่งร่างกายและจิตใจมาแล้ว แต่เพราะใครต่อใครในไร่แสงตะวันก็ยังคงรำลึกและรังเกียจภาพวีรกรรมที่เธอเคยทำเอาไว้เมื่อครั้งอดีต เธอจึงต้องเผชิญกับบททดสอบจากประชาคมผู้คนในไร่ เพื่อจะยืนยันมั่นใจให้ได้ว่า แป้งได้กลับตัวกลับใจแบบ 360 องศาแล้วจริงๆ         ไม่ว่าจะเป็นบทลงโทษจากพี่อาทิตย์ที่ให้แป้งล้างคอกวัว ล้างจานชามของคนงานในไร่ทุกคน ขุดดินดายหญ้า ไม่ให้กินข้าวกินปลา ไม่ให้อาบน้ำอาบท่า ไม่ให้มีไฟฟ้าใช้ในบ้านพัก ไปจนถึงการลงทัณฑ์ให้เธอต้องกินข้าวในถาดของสุนัข         แม้จะมีบททดสอบที่สาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าสถานกักกันนักโทษ แต่เพราะวัยรุ่นเป็น “ข้อต่อข้อสุดท้าย” ก่อนที่จะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ บทลงทัณฑ์เหล่านี้จึงสรรค์สร้างขึ้นบนความชอบธรรมแห่งการจัดวินัยเพื่อดัดพฤตินิสัยว่า แป้งจักได้กลายเป็นคนดีหรือเป็น “คนที่เชื่องๆ” ไร้ซึ่งจิตสำนึกขบถนั่นเอง เหมือนที่แป้งก็มักจะพูดกับตนเองเป็นระยะๆ ว่า “เราต้องทนให้ได้ เรากำลังใช้กรรมอยู่”         ครั้นพอถึงในฉากจบ แน่นอนว่า หลังจาก “ชดใช้กรรม” เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองได้ปลอดคราบไคลจิตสำนึกขบถจากบรรทัดฐานแห่งสังคมไปแล้ว แป้งก็ได้รับการต้อนรับขับสู้จากประชาคมไร่แสงตะวัน และลงเอยครองคู่กับพี่อาทิตย์ตามสูตรของละครแนวโรแมนติกดรามาไปในที่สุด          ทุกวันนี้ แม้ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะยืนหยัดเชื่อมั่นในเหตุผลและกฎกติกาที่ตนได้ขีดเขียนเอาไว้ แต่ในอีกมุมหนึ่งแล้ว ตัวละครแบบแป้งผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีสำนึกขบถต่อต้านกฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็หาได้จางหายไปจากโลกแห่งความจริงไม่ ความเกลียดกลัววัยรุ่นก็ยังคงดำรงอยู่ และจะดำเนินต่อไป “ตราบฟ้ามีตะวัน” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >