ฉบับที่ 134 นมตรามะลิ ดูแลผู้บริโภคเกินร้อย

คุณนันทวัน เปิดร้านขายโยเกิร์ตสดและเต้าหู้นมสดแบบทำเองขายเอง เน้นสด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารกันบูดเคล็ดไม่ลับในการผลิตโยเกิร์ตสดของคุณนันทวัน คือใช้นมข้นกระป๋องผสมกับนมสดเป็นส่วนผสม ตั้งแต่เปิดร้านทำโยเกิร์ตสดขายเธอเลือกใช้ นมข้นแปลงไขมันหวานตรามะลิมาโดยตลอ“ร้านเราไม่ใส่สารกันบูดค่ะ เลยต้องทำให้พอดีขายไม่เก็บไว้นาน นมข้นกระป๋องที่เอามาใช้ผสมกับนมสดก็เลยซื้อมาน้อย ใช้ยี่ห้อนี้มานานแล้วไม่เคยมีปัญหาค่ะจนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2554 คุณนันทวันพบปัญหาในนมข้นหวานตรามะลิที่ซื้อมาใช้ ครั้งนั้นคุณนันทวันซื้อมา 1 แพ็คจำนวน 6 กระป๋อง ดูวันหมดอายุแล้วระบุไว้ที่กลางเดือนธันวาคม 255“เหมือนที่เคยทำมาทุกครั้งเวลาทำโยเกิร์ตสด เราจะเปิดฝากระป๋องด้านบนด้วยที่เปิดกระป๋อง แล้วเทนมข้นออกมาใส่ถ้วยเพื่อรอผสมกับนมสดที่เตรียมไว้ ไม่มีการเปิดกระป๋องค้างไว้ เมื่อเปิดเทจนเกือบหมดกระป๋องแล้ว จะใช้ช้อนขูดนมข้นส่วนที่เหลือติดอยู่ก้นกระป๋องออกมาใส่ถ้วยจนหมด ทำอย่างนี้ทุกกระป๋อง”ด้วยวิธีเปิดกระป๋องเอานมออกจนหมดกระป๋องนี่แหละ ทำให้คุณนันทวันพบปัญหา ปรากฏว่าในนมข้น 6 กระป๋อง มีอยู่กระป๋องหนึ่งที่ในเนื้อนมข้นมีก้อนสีเขียวคล้ายเชื้อราปนเปื้อนมาด้วย จึงแจ้งไปที่บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตนมตรามะลิเพื่อให้นำสินค้ากลับไปตรวจสอบ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ได้ตรวจสอบสินค้าแล้วแจ้งกลับมายังคุณนันทวันว่า เครื่องจักรขัดข้องระหว่างการบรรจุ ทำให้อากาศเข้าไปในกระป๋องนม จึงทำให้เกิดเชื้อราขึ้น บริษัทฯ ชดเชยความเสียหายของคุณนันทวันด้วยการเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ “พอเราได้รับคำชี้แจงและเอาสินค้ามาเปลี่ยนให้ใหม่แล้ว ก็ไม่ติดใจอะไรก็ซื้อนมยี่ห้อนี้ใช้ต่อมาอีกค่ะ”ต่อมาในราวปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ในเขตภาคกลาง คุณนันทวันได้ซื้อนมข้นมะลิมาใช้เหมือนเคยจำนวน 1 แพ็ค พอต้นเดือนสิงหาคมจึงนำมาเปิดพบกระป๋องหนึ่งเจอก้อนสีเขียว สีส้ม สีเหลือง และสีดำที่ก้นกระป๋อง โดยที่นมข้นยังไม่หมดอายุ จึงโทรแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ“พนักงานบอกว่า นมยังสามารถบริโภคได้”คุณนันทวันเธอก็เชื่อ อีกไม่กี่วันต่อมาเธอเปิดนมข้นกระป๋องใหม่มาใช้อีกครั้ง คราวนี้พบปัญหาในลักษณะเดิมทีเดียว 2 กระป๋อง คือมีก้อนสีดำตามตะเข็บกระป๋องด้านใน และมีสนิมขึ้นด้วย“เคยเอากระป๋องแช่น้ำไล่มดครั้งเดียวกระป๋องเดียวและก็ใช้น้ำแค่ระดับก้นกระป๋องเท่านั้นพอกันมดได้กระป๋องที่แช่น้ำก็มีสนิมเกิดขึ้นด้วย แต่กระป๋องอื่นไม่เคยเอากระป๋องแช่น้ำเลยค่ะก็มีปัญหาเห็นเป็นก้อนสีดำๆ ในนม”คุณนันทวันได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน และทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้นำนมข้นที่เปิดและที่ยังไม่เปิด ไปตรวจสอบพร้อมกับขอให้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2554 บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า ปัญหาคราบดำที่ตะเข็บก้นประป๋อง น่าจะเกิดจากคุณภาพกระป๋องบางกระป๋องที่มาจากซัพพลายเออร์ ได้เสนอให้ผู้บริหารพิจารณาปรับปรุงคุณภาพกระป๋องโดยการเคลือบกระป๋องด้านใน ตามมาตรฐานการผลิตกระป๋องบรรจุอาหาร เพื่อป้องกันปัญหาคราบดำแบบ 100% ส่วนปัญหาสนิมที่ก้นกระป๋องนั้น น่าจะเกิดจากการนำกระป๋องนมไปแช่น้ำ ตามมาตรฐานการจัดเก็บสินค้าให้จัดเก็บสินค้าไว้ในที่แห้งและสะอาด หากกระป๋องบรรจุผลิตภัณฑ์เปียกน้ำหรืออยู่ในสภาพที่ชื้น อาจทำให้เกิดสนิมได้ง่าย“ควรมีการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ในที่แห้งและสะอาด ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ที่ฉลากข้างกระป๋อง หากลูกค้าต้องการแช่น้ำเพื่อกันมด ควรนำผลิตภัณฑ์ใส่กล่องพลาสติกที่แห้งและสะอาดก่อนนำไปแช่น้ำ” บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้คำแนะนำพร้อมกับคำชี้แจงครั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย ได้มอบนมข้นให้ใหม่จำนวน 18 กระป๋อง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อเปิดใช้นมข้นกระป๋องตรามะลิอีกครั้งก็พบก้อนสีเหลือง สีส้มและสีของนมไม่ขาวเหมือนทุกครั้งและยังเหนียวข้นผิดปกติอีก เมื่อแจ้งไปที่บริษัทฯ ก็ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้นมกล่องยูเอชทีแทน พร้อมทั้งได้นำนมยูเอชทีมาให้คุณนันทวันจำนวน 3 ลัง“ดิฉันเจอปัญหาต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง ไม่ไหวแล้วค่ะ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือที” แนวทางแก้ไขปัญหาตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย หรือเป็นอาหารที่ได้ผลิต บรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะหรือ อาหารที่มีภาชนะบรรจุประกอบด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ อาหารที่มีลักษณะข้างต้นให้ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏลักษณะการเสียของนมข้นที่มีการร้องเรียนก็อาจเข้าข่ายของอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งห้ามไม่ให้ผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาในความเสียหายที่เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เราจึงได้เชิญตัวแทนบริษัทอุตสาหกรรมนมไทย ผู้ผลิตสินค้า และตัวแทนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย และท้ายที่สุดบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยได้ยินยอมชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับคุณนันทวันเป็นเงินรวม 30,000 บาท“เราไม่คิดว่าความเสียหายของเราจะเรียกค่าเสียหายได้ หากไม่ทราบเรื่องสิทธิของผู้บริโภคจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณมูลนิธิฯที่ให้ความช่วยเหลือค่ะ”คุณนันทวันขอบคุณเรา ซึ่งเราก็คงต้องส่งคำขอบคุณต่อไปยังบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ด้วยที่แสดงความรับผิดชอบกับผู้บริโภคอย่างเต็มกำลัง และหวังให้คุณภาพการผลิตสินค้าจะดียิ่งขึ้น เพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกคนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >