ฉบับที่ 257 “เราทำกันเอง” ทศวรรษที่สูญหาย

        เพจ Club VI เอาโควทของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Money Chat Thailand มาเผยแพร่         “ดัชนีตรงนี้เกิดมาเมื่อเก้าปีกว่าแล้ว ถ้ายังอยู่แถวๆ นี้ก็คือ 10 ปีที่หายไป ซึ่งมันก็หายไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะที่ไม่ค่อยดีของประเทศไทย ต้องยอมรับอย่างนี้ว่าประเทศไทยแย่มากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะไปโทษใครก็ไม่ได้ เราทำกันเอง”                  มีคนเข้าไปเม้นท์กันหลากหลายเกี่ยวกับคำพูดนี้ จำนวนมากเลยพูดประมาณว่า อย่าใช้คำว่า ‘เรา’ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย มีแค่คนจำนวนหนึ่งที่ออกมาทำให้ประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้         ว่าแต่ ดร.นิเวศน์ พูดถึงอะไร         แกพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยหรือ SET INDEX ที่วนเวียนย่ำยืนอยู่กับที่มาเกือบ 10 ปี ถ้าดูของวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 SET INDEX อยู่ที่ 1,552.73 จุด ส่วนดัชนี SET 50 อยู่ที่ 950.20 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้นตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเพื่อนบ้านเดินหน้าทำนิวไฮกันตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา         แปลว่าคนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีมา 10 ปีนี่แทบไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นเลย ส่วนใครที่ลงทุนได้ไม่นาน ถ้าใจไม่นิ่งก็อาจถอดใจไปก่อนเพราะดัชนี SET 50 เต้นสามช่ากันทุกวัน ขึ้นหนึ่งลงสองอยู่แบบนี้จนน่าเหนื่อยใจ         อ้างอิงจากบีบีซีไทย ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) เดินทางมาไทยครั้งแรกปี 2557 หลังประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ตอนนั้น "เกิดความรู้สึกเชิงบวกอยู่มากในสังคม" และ "ผู้นำภาคธุรกิจหลายคนก็ให้การสนับสนุนรัฐบาล" เพราะมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไทย         แล้ววันนี้ล่ะ นักธุรกิจเหล่านั้นบอกว่า "ความรู้สึกด้านบวกเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว เหล่าผู้บริหารต่างบอกในผลสำรวจว่าพวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ"         รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันฉบับล่าสุด กลางเดือนมิถุนายน พบว่าประเทศไทยตกลงไป 2 อันดับ ผู้อำนวยการบริสบอกว่าที่น่ากังวลมากกว่าอันดับที่ลดลงของไทยคือปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่ที่ร่วงลงมาจากจุดที่ค่อนข้างดีมาถึงอันดับกลางตาราง เมื่อย้อนดู 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปีแรกที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา         เห็นไหมว่าการเก็บออม การลงทุน ความมั่นคงในชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี เกี่ยวข้องกับการเมืองมากแค่ไหน ‘เรา’ กำลังจมหายไปในทศวรรษที่สาบสูญและยังไม่รู้ว่าจะลอยพ้นน้ำได้เมื่อไหร่หากประชาธิปไตยยังง่อนแง่นแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 เรื่องหมู ที่ไม่หมู

        สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ ให้นำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวแบบมีเงื่อนไขจากแหล่งผลิตที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น เร่งปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) และผลักดันท้องถิ่นให้สนับสนุนเกษตรรายย่อยเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ รวมทั้งผู้บริโภคต้องมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ หรือหมูหลุม เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ         สาเหตุของหมูแพงเชื่อว่าผู้บริโภคคงได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากข่าวสารต่างๆในสื่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกเนื้อหมูก่อนหน้า การเป็นโรคอหิวาต์แอฟริการของหมูทำให้มีหมูน้อยลงทั้งระบบ และรวมถึงการปกปิดข้อมูลทำให้การจัดการปัญหาล่าช้า และไม่ทันการณ์การจัดการโรคระบาดซึ่งโดยข้อมูลของหลายหน่วยงานแจ้งว่า ต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือน        ทางออกของผู้บริโภคในเรื่องนี้ซับซ้อนมาก ถึงแม้ข้อเสนอระยะสั้นที่ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยว่า อาจจะจำเป็นที่จะต้องนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวเนื่องจากปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และราคาแพงจนไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่การนำเข้าเนื้อหมูต้องกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนและสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการบริโภคของผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยจำกัดเฉพาะเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น         ส่วนข้อเสนอระยะยาว จะทำอย่างไรให้เกิดโครงสร้างการเลี้ยงหมูของเกษตรรายย่อย ในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผู้เลี้ยงหมูที่ล้มหายไปไม่น้อยกว่า 200,000 ราย เพื่อทำให้ไม่เกิดการผูกขาดและการกำหนดราคาที่ขึ้นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น ดังปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้บริโภคก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการที่จะทำให้เกิดกระบวนการเลี้ยงหมูที่ปลอดภัย ลดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นต้นตอของโรคในหมู ต้นตอของความไม่ปลอดภัยและเป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาในมนุษย์ในท้ายที่สุด         บทบาทของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานในระดับท้องถิ่นต่างๆที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดการสนับสนุนการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติที่รู้จักกันในนามหมูหลุม และผู้บริโภคจะสนับสนุนสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร         ส่วนปัญหาโครงสร้างราคาที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ว่า ราคาหมูเป็น 120 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อเป็นเนื้อหมูทำอาหารทำไมต้องกำหนดราคาเป็นสองเท่าของหมูเป็น และปัญหาวัตถุดิบในการเลี้ยงหมูซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของเกษตรกร นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงหมูในต่างประเทศ ความเป็นธรรมของราคาต่อผู้บริโภคและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จะมีการจัดการอย่างเป็นระบบอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 กระแสต่างแดน

คนเกาก็ชอบของก็อป         การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรืออุณหภูมิติดลบ ไม่สามารถลดความคึกคักของการค้าใน “ตลาดของก็อป” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี (กลุ่มเต็นท์สีเหลืองประมาณ 80 หลัง ใกล้ “ตลาดดงแดมุน” ศูนย์กลางเสื้อผ้าและแฟชั่นในกรุงโซล) ลงไปได้เลย         ช่วงเวลาระหว่างสามทุ่มถึงตีสอง ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวสายแฟที่มาหาซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือนาฬิกา “แบรนด์เนม”            อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อธิบายว่าคนเกาหลีอ่อนไหวต่อเทรนด์เป็นพิเศษ พวกเขาอยากมีเหมือนคนอื่น จะได้รู้สึกเข้าพวก และต้องมีอะไรที่ดีกว่า เพื่อจะได้เป็นที่อิจฉา พวกเขาต้องการครอบครองของที่ดู “แพง” เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงแทบไม่มีใครใส่ใจ         ตามกฎหมายเกาหลี คนซื้อไม่มีความผิด แต่คนขายที่ถูกจับได้อาจต้องจ่ายค่าปรับถึง 100 ล้านวอน และอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี         ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีระบุว่าตั้งแต่มกราคม 2017 จนถึงสิงหาคม 2021 มี “คดีกระเป๋าปลอม” 1,866 คดี   ลดอายุคนขับ         เดนมาร์กกำลังขาดแคลนพนักงานขับรถของเทศบาล (รถรับส่งผู้ป่วย รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น) เนื่องจากพนักงานจำนวนมากลาออกไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงมีที่ว่างกว่า 1,000 ตำแหน่ง ที่อาจว่างไปอีกนาน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจสมัคร         พรรคฝ่ายค้านมองว่านี่คือปัญหาเร่งด่วน ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ ปัญหานี้จะกระทบไปถึงรถสาธารณะในเมืองและรถข้ามจังหวัดด้วย ว่าแล้วก็เสนอให้ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถมีใบอนุญาตขับรถโดยสารเป็น 19 ปี (โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี)         จากเกณฑ์เดิมคือ 24 ปีสำหรับรถที่มีผู้โดยสาร ที่วิ่งในระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร และ 21 ปี สำหรับระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร         ด้านรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เขาให้เหตุผลว่าผู้โดยสารอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หากคนขับหน้าเด็กเกินไป เขาเสนอว่ากลุ่มสตรีผู้อพยพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสงานให้กับพวกเธอด้วย  คิดก่อนกู้         หนุ่มสาวฟินแลนด์ยุคนี้เป็นหนี้กันมากขึ้น นอกจากจะนิยมกู้เงินไปลงทุนทำกำไร ซึ่งทำผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกทั้งการขอกู้และการลงทุน พวกเขายังนิยมกู้เพื่อซื้อบ้าน/อพาร์ตเมนต์ อีกด้วย         สถิติในปีที่ผ่านมาระบุว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของคนหนุ่มสาวที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า         โอกาสซื้อที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์มีมากขึ้นเพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังโรคระบาด ทำให้เจ้าของบ้านที่เคยเก็บอพาร์ตเมนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านแอปฯ อย่าง Airbnb ก็เริ่มปล่อยของ ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จใหม่ในโซนที่มีการเดินทางสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของฟินแลนด์เริ่มกังวลกับสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จึงเสนอให้มีการกำหนดเพดานหนี้ ที่ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อปี และแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ/คิดให้รอบคอบก่อนจะเป็นหนี้ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหากลูกหนี้ขาดรายได้กะทันหันและไม่สามารถใช้หนี้ได้  ทั้งเพิ่มทั้งลด         วิถีชีวิตแบบดิจิทัลของเราทำให้เกิดความต้องการ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์เหล่านี้อยู่ถึง 7.2 ล้านศูนย์ทั่วโลก ประเทศที่มีมากที่สุดได้แก่อเมริกา (2,670 แห่ง) ตามด้วยอังกฤษ (452) เยอรมนี (443) อันดับต่อมาคือเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น          เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์เหล่านี้ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าร้อยละ 1 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในโลกคือพลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูล         ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2010 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15 เท่า         ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์พวกนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่าศูนย์ขนาดเล็ก ฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคาร ระบบระบายความร้อน และการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการนั่นเอง เอไอไม่แฟร์         การสำรวจความเห็นของ “แรงงานดิจิทัล” จำนวน 5,000 คน โดยสถาบันความเท่าเทียมทางเพศแห่งยุโรปพบว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นธรรมกับแรงงานหญิงเท่าที่ควร         องค์กรนี้พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกงานแบบนี้เพราะ “ความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน”  พวกเธอต้องการเวลาในการทำงานบ้านและดูแลครอบครัว แต่กลับถูก “หมางเมิน” หรือแม้แต่ “ลงโทษ” โดยเอไอของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเธอมีชั่วโมง “รับงาน” น้อยกว่าผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจแบบนี้         ปัจจุบันร้อยละ 16 ของแรงงานดิจิทัลในอังกฤษและสหภาพยุโรปเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้จะยิ่งน้อยลงในตำแหน่งที่สูงขึ้น         สถาบันฯ เสนอให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น และขอให้กำหนดความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเกณฑ์การ “ตัดสินใจ” ของเอไอ ไม่เช่นนั้นเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือการเลือกปฏิบัติและผลิตซ้ำอคตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ตลาดถนอมมิตร กับแนวคิดอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

        เทรนด์กินรักษ์โลกยังมาแรง แต่ผู้บริโภคบางคนอาจหมดแรงซะก่อน เพราะหากเดินตามตลาดสดทั่วๆ ไป การหาซื้อผักและผลไม้สดปลอดสารเคมี เนื้อหมูไม่ใส่สารเร่งเนื้อแดง หรืออาหารทะเลสดๆ ไม่มีสารโลหะหนักปนเปื้อน ที่มีมาตรฐานการผลิตปลอดภัยจริงๆ ในราคาสมเหตุสมผลนั้น คงจะเหนื่อยหน่อย             ฉลาดซื้อรู้จักรู้ใจผู้บริโภคดี ฉบับนี้จึงพามาที่ ตลาดถนอมมิตร ตลาดสดยุคใหม่ย่านวัชรพล ในกรุงเทพฯ ซึ่งที่นี่มีพ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายวัตถุดิบอาหารออร์แกนิกคุณภาพดี มีให้เลือกหลากหลาย ในราคาที่ชาวบ้านอย่างเราๆ จ่ายได้ โดยเป็นผลงานการบริหารของคุณศุภกร กิจคณากร กรรมการผู้จัดการตลาดถนอมมิตร เจ้าของตลาดที่ตั้งใจบริการให้ลูกค้าเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้สะดวก พร้อมทั้งสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็งด้วยการทำร้านค้าออร์แกนิกในตลาดถนอมมิตรมีจุดเริ่มต้นอย่างไร         จริงๆ ทางเราก็ตั้งใจมานานมากแล้วที่จะหาสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาให้บริการกับลูกค้า แต่อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ เราเป็นเจ้าของสถานที่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าที่นำมาขาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราพยายามที่จะส่งเสริมผู้ค้าที่ขายสินค้าอยู่ในตลาด โดยชี้ช่องให้เขาเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแล้วนะ ทัศนคติ มุมมองของลูกค้าที่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยมีมากขึ้นเรื่อยๆ นะ ลูกค้าอาจจะยอมจ่ายแพงกว่าสินค้าเดิมทั่วไปนิดหน่อยได้นะ เราก็ค่อยๆ รวมกลุ่มผู้ค้า แล้วก็พยายามเสาะหาผู้ค้าใหม่ที่มีสินค้าตรงตามแนวทางที่เราตั้งใจไว้ให้เข้ามาด้วย มีวิธีคัดเลือกและควบคุมคุณภาพร้านค้าในตลาดอย่างไร         ทางตลาดของเราค่อนข้างให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้ค้าที่จะเข้ามาขายสินค้าในตลาด เรามีการพูดคุยสัมภาษณ์กันก่อนว่าขายสินค้าอะไร ขายราคาเท่าไหร่ มาขายเองไหม หรือจ้างลูกจ้างมา เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่มาขายนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีราคาสมเหตุสมผล แล้วที่สำคัญก็คือเรื่องของการให้บริการที่เราค่อนข้างที่จะกำชับกับผู้ค้าว่า ไม่ใช่เอาลูกจ้างต่างด้าวมาปล่อยแล้วก็มาเก็บเงินอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ทางเราก็จะไม่ให้เข้ามาตั้งแต่แรก         เรายังเน้นเรื่องความสะอาดมากๆ ด้วย เรามีเจ้าหน้าที่หลายคนเดินตรวจตลาดอยู่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ทางตลาดก็เข้มงวดเรื่องของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นสวมหมวก ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ทำความสะอาดแผงค้า และสินค้าปรุงสำเร็จต้องมีภาชนะคลุม นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด ทำไมถึงมีแนวคิดว่าควรมีร้านออร์แกนิคในตลาดสด         เราเองก็มองเห็นปัญหาเรื่องของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาตลอด เราโตมากับการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเรื่องของยาฆ่าแมลง เรื่องการจับปลาฤดูวางไข่ อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนก็รู้แหละ แต่ว่าเราไม่มีทางเลือกไง แล้วจะให้ทำยังไง โดยเฉพาะตลาดขายปลีกนี่ยิ่งไม่มีทางเลือกเข้าไปใหญ่เลย เพราะว่าผู้ค้าเราก็จะไปรับมาจากตลาดขายส่ง ซึ่งก็จะว่ากันด้วยเรื่องของราคากับคุณภาพสินค้า แม้ภาครัฐจะพยายามรณรงค์เรื่องยาฆ่าแมลง อะไรต่อมิอะไร แล้วก็มาจับที่ตลาดค้าปลีก เพราะง่ายดี ก็มาตรวจที่ตลาดค้าปลีก เราก็บอกว่าทำไมไม่ไปจับที่ต้นทาง ก็เป็นปัญหาวังวนอยู่อย่างนี้         แล้วก็มีเทรนด์เรื่องการตื่นตัวของกลุ่มเกษตรกรด้วย ที่ต้องการปลูกสินค้าคุณภาพไว้บริโภคเองส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็มาขาย โดยจะรวมกลุ่มกันมาขายเป็นหมู่คณะ แต่ที่ชัดเจนคือ คนปลูกกับคนขายไม่เจอกัน จะมีช่องว่างตรงนี้ คือคนปลูกก็ไม่รู้จะไปขายใคร คนซื้อก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน เราก็เห็นว่าตรงนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของตลาดสดที่จะเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ให้ได้ ก็คือเป็นที่ที่ผู้ปลูกมาขายให้กับแม่ค้าภายในตลาด แล้วแม่ค้าก็ขายให้กับลูกค้าที่เขาต้องการสินค้าลักษณะนี้         แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะว่ากว่าจะปรับ กว่าจะแนะนำให้รู้จักกัน กว่าจะเข้าถึงสินค้าประเภทนี้ กว่าเกษตรกรจะมาเจอกับผู้ขายในตลาดได้ เราทำมาจนถึงทุกวันนี้ก็น่าจะเกือบ 10 ปีแล้ว ลูกค้าให้การตอบรับดีไหม         ดีครับ เรามีลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร เพราะลูกค้าที่เขาเลือกที่จะบริโภคสินค้าลักษณะนี้ เขามีความต้องการที่ชัดเจน เขาต้องศึกษามาแล้วว่าสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ เป็นอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาที่ทางตลาดเจอคือ คนมักจะเข้าใจผิดว่า สินค้าออร์แกนิกต้องแพง แต่จริงๆ แล้วถ้าเราบริโภคตามฤดูกาล แล้วก็มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ไม่ได้ผ่านมาหลายต่อ ผักออร์แกนิกไม่ได้แพงกว่าผักเคลือบสารเคมีเท่าไหร่เลย หากซื้อมาเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน ส่วนต่างตรงนี้ไม่กี่เปอร์เซนต์หรอก ในฐานะเจ้าของตลาดมองเรื่องอาหารปลอดภัยในบ้านเราอย่างไร         เรื่องอาหารปลอดภัยนี้ก็เป็นโจทย์ที่ยังต้องช่วยกันอย่างมาก เพราะว่าซัพพลายที่เข้ามาอยู่ในตลาดนั้นเป็นสัดส่วนที่แทบจะเทียบกันไม่ได้เลย ระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตผักที่เรารู้กันอยู่ กับผักคุณภาพที่มีเสนอให้ผู้บริโภค ซึ่งปัญหาตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรที่เขาปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดภัย เขาก็ต้องเจอปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา การเข้าไม่ถึงแหล่งผู้ซื้อได้โดยตรง ยิ่งเป็นของสดนี่จะรอให้ค่อยๆ หาคนมาซื้อก็ไม่ได้ แล้วบางครั้งยังออกมาพร้อมๆ กันอีก เพราะฉะนั้นผมมองว่าเรื่องการบริหารจัดการที่ดี ตรงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่         ในฐานะเจ้าของตลาด เราก็อยากให้มีสินค้าดีๆ มาขาย แต่ปัญหาก็คือ เราเองก็ยังเข้าไม่ถึงเกษตรกรกลุ่มนั้น แล้วการที่เขาจะนำสินค้ามา หรือผู้ค้าในตลาดเราจะเข้าไปซื้อของเขา การเชื่อมต่อจุดต่างๆ นี่ก็ยังขาดๆ หายๆ อยู่ ในขณะเดียวกันก็มีของที่ราคาถูก รูปลักษณ์สวย มีให้กินทุกฤดูกาล ในราคาที่ไม่แพง ก็ซ้ำเข้ามาอีก ฉะนั้นการที่จะทำให้อาหารทางเลือกที่ปลอดภัยสามารถยืนได้อย่างแข็งแรง เราต้องช่วยกัน ผู้บริโภคเองก็ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย วางแผนจัดการร้านค้าออร์แกนิกในตลาดต่อไปอย่างไร         ตอนนี้ร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในตลาดเราก็อยู่ได้มั่นคง ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือ เราจะขยายกลุ่มผู้ค้าที่ขายสินค้าออร์แกนิกภายในตลาดให้มากขึ้น เราวางแผนไว้แล้ว อย่างเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราได้ประชุมร่วมกับทางมูลนิธิชีววิถี พี่เขาก็พากลุ่มเกษตรกรที่ปลูกออร์แกนิกมาสองกลุ่มใหญ่ เราก็เชิญผู้ค้าที่ขายผักโครงการหลวง ขายผักออร์แกนิกมา เพื่อให้พวกเขาได้คุยกัน ก็ยังอยู่ในช่วงของการติดต่อสื่อสารกันอยู่ ขนาดว่าแม่ค้าอยากซื้อ คนปลูกอยากขาย ก็ยังต้องคุยกันว่ามีอะไร ราคาเท่าไหร่ เล็งกันไปเล็งกันมา ช่วงนี้ยิ่งเจอปัญหาโควิด-19 ทางตลาดก็วุ่นเรื่องฉีดวัคซีน ตรวจ ATK กันอยู่ งานนี้เลยดีเลย์ไป 2 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็มีแพลนอยู่แล้วว่าเราจะผลักดันยังไงต่อไป           ที่ผ่านมา ตลาดของเราก็ทำปุ๋ยเองจากพวกเศษอาหาร เศษซากสัตว์ พุงปลา หัวกุ้ง หรือเปลือกผลไม้ เราดึงพวกนี้ออกมาจากระบบที่จะต้องขนไปทิ้งเป็นขยะ วันหนึ่งก็ได้ประมาณตันกว่า เราเอามาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ของเรา แล้วก็แจกลูกค้า ซึ่งจริงๆ แล้วเราตั้งใจว่าจะเอาปุ๋ยนี้ให้กับเกษตรกรที่เขาทำสินค้ามาให้กับผู้ค้าเรา แต่ผู้ค้าเราก็ยังไปรับมาจากแหล่งขายส่งอยู่ ซึ่งพอวันที่เราได้เจอกับกลุ่มเกษตรกรตัวจริง เราก็บอกว่า “พี่ เรามีปุ๋ยนะ วันที่พี่เอาผักมาส่งที่นี่ พี่ขนปุ๋ยเราไปได้เลย” นี่คือไอเดียที่เราคุยกันมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้เริ่มใช้จริงจัง ซึ่งถ้าเป็นไปได้อย่างนี้ ก็จะช่วยให้ต้นทุนของเกษตรกรถูกลงด้วย อยากให้ฝากถึงตลาดอื่นๆ ที่สนใจเปิดร้านออร์แกนิกในตลาดสด         จริงๆ แล้วในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ เราเห็นชัดเจนเลยว่าความต้องการของผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นเจ้าของตลาด การเปิดร้านขายสินค้าออร์แกนิกนี้ เราก็มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้มีสินค้าทางเลือก มาให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในตลาด ยิ่งมีสินค้าประเภทนี้มากก็จะทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องอาหารปลอดภัยเข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน แต่สิ่งที่เจ้าของตลาดต้องตีโจทย์ให้แตกคือ สินค้าที่นำมาขายนั้นจะต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานจริงๆ ถึงจะดึงลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ค้าเองต้องมีความน่าเชื่อถือ ตลาดเองก็ต้องคอยตรวจสอบการซื้อขาย และต้องเข้าไปดูอยู่เรื่อยๆ ว่าผู้ค้าเอาสินค้ามาจากไหนด้วย        ถ้าหากเกิดเป็นลักษณะของการย้อมแมวขายแล้ว ลูกค้าเขาไม่ได้ด่าแม่ค้านะ เขาด่าตลาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ตลาดหุ้นไทย ผูกขาดจนสิ้นหวัง

        สำหรับสายนักลงทุนหุ้น งาน BETTER TRADE SYMPOSIUM 2021: WARP TO THE FUTURE ที่จัดไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ได้ยิน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนคุณค่า (Value Investor) ของไทยพูดว่า         “จากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากว่า 20 ปี ไม่เคยมีครั้งไหนรู้สึกสิ้นหวังกับตลาดหุ้นไทยเท่าครั้งนี้ เพราะตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหน แถมยังไม่มีหุ้นเด็ดๆ ถูกๆ น่าลงทุน” แถมแกก็หนีไปลงทุนหุ้นต่างประเทศเสียแล้ว ไม่เท่านั้น ยังชวนคนรุ่นใหม่ไปลงทุนหุ้นเมืองนอกด้วย         ฟังแล้วหลายคนสะดุ้ง ขนาดจิ้งจกทักยังลังเล นี่นักลงทุนคุณค่าอันดับต้นๆ ของไทยพูดขนาดนี้จะไม่ฟังเลยก็กระไรอยู่ จริงไหม? ข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานคำพูดของ ดร.นิเวศน์ อีกว่า ตลาดหุ้นไทยจะทนภาวะเลวร้ายต่อไปไม่ไหว เช่น คนแก่ตัวขึ้นมาก คนทำงานน้อยลง เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ในที่สุดตลาดหุ้นก็ไปต่อยาก                 พักเรื่องคนแก่ คนทำงานน้อยลง กับเศรษฐกิจแย่ๆ ไว้ก่อน แล้วใส่เครื่องหมายคำพูดที่ “ไม่มีความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการประกอบธุรกิจ ถ้าเราจะซื้อหุ้นสักบริษัทหนึ่งและถือยาวๆ แน่นอนว่าเราต้องอยากได้บริษัทที่จ่ายปันผลดีและมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำแบบนี้ได้ ตัวบริษัทก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มีความสามารถในการแข่งขัน ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา         หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ ผูกขาดหรือเกือบผูกขาด         บริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหุ้นไทยโดยมากใหญ่ได้จากวิธีหลัง ลองไปไล่ดูสิ น้ำมัน สนามบิน ขนส่ง ค้าปลีก การสื่อสาร ผูกขาดท้างงงน้านนน                 ในทางเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดคือความเลวร้ายขั้นสุด เพราะมันทำให้ผู้ที่ผูกขาดได้ค่าเช่าส่วนเกินจากเศรษฐกิจ ได้กำไรเกินพอดี ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ๆ อยู่เฉยๆ เงินก็มา เพราะไม่มีใครมาแข่งด้วย ในประเทศพัฒนาแล้วจึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านการผูกขาด             ไม่เหมือนไทย รัฐบาลกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการผูกขาด อย่างข่าวล่าสุดที่บริษัทมือถืออันดับ 2 กับ 3 จะควบรวมกัน นักวิชาการออกมาเตือนแล้วว่า เฮ้ย นี่มันผูกขาดนะ มันลดผู้เล่นในตลาดลงไปนะ สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือกและทำอะไรไม่ได้นะ เพราะมันมีแค่ 2 เจ้าให้เลือก         เหมือนรถไฟฟ้าเส้นหลัก ไม่ขึ้นเจ้านี้ ก็ไม่มีให้ขึ้น ไปนั่งรถเมล์โบราณนู่น         อย่าคิดว่ามีเงินลงทุนแล้วจะรวยได้แบบไม่แคร์สังคม เพราะถ้าสังคมมันห่วยจากรัฐที่ไม่ไยดีประชาชน แต่เอื้อนักธุรกิจ มันก็จะย้อนกลับมาทำร้ายผลตอบแทนจากการลงทุนในที่สุด         ...แล้วจะไม่สิ้นหวังได้ยังไง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ผลทดสอบสารบอแรกซ์และสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู

        เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับข้อความจากผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด ถึงความเป็นไปได้ในการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ผงกรอบ หรือ น้ำประสานทอง สารเคมีที่มักถูกนำไปผสมในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ รวมถึงสารเร่งเนื้อแดง ที่อาจถูกนำมาผสมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดปริมาณไขมันลง         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าอย่างสบายใจ ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่าง “หมูเนื้อแดง” จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าและเขียงหมูในตลาดสดพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, จ.นครปฐม, จ.ราชบุรี และ จ.ปทุมธานี ในเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 41 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax) และ สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-agonist) ได้แก่ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine)   สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อหมูทั้งหมด 41 ตัวอย่าง พบว่า ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax)         ส่วนการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้แก่ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine) นั้นพบว่า มีการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงจำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านเจ๊แหม่มหมูซิ่ง (ตลาดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ 5.80 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        2) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านค้า(เขียง) ข้างร้านสมใจ (ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ 4.41 ไมโครกรัม/กิโลกรัมและ  3) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านค้า (เขียง) หลังร้านเป็ดพะโล้ (ตลาดเทศบาล1 /ตลาดโอเดี่ยน จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ น้อยกว่า 0.30 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist) และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) ของสารดังกล่าวด้วย ผู้ที่ฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท         นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ยังระบุว่า “ห้ามใช้ ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ เกลือของเภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เช่น กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist)” อีกด้วย                    ข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมู        1. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าหรือตลาดสดที่น่าเชื่อถือ หรือได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์         2. ไม่ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงสดจนเกินไป หรือ มีไขมันน้อยจนผิดสังเกต เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะปนเปื้อนสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์เอกสารอ้างอิง- Borax / บอแรกซ์, ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร (www.foodnetworksolution.com)- บอแรกซ์ สารอันตรายที่แฝงอยู่ในอาหาร (www.pobpad.com)- สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (beta-agonist), ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย   สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/beta-agonist.pdf)- การปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง (กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์) ในเนื้อหมู  (https://www.ocpb.go.th/upvac_web/download/article/article_20171117141228.pdf)- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์- ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 226 สั่งซื้อชุดเครื่องนอนผ่านแอปแล้วผิดหวัง

        ตลาดออนไลน์นั้น ง่าย สะดวก แต่ก็ต้องรอบคอบเพราะไม่ได้เห็นสินค้าจริงหรือจับต้องก่อนจะตัดสินใจซื้อ อีกทั้งผู้ค้าที่หลอกลวงก็มีจำนวนมาก ความไม่พอใจที่เกิดจากการได้รับสินค้าที่ไม่ตรงปกหรือไม่ใช่อย่างที่ตั้งความหวังจึงมีสูง แล้วเราจะสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร        คุณชไมพร อยากได้ชุดเครื่องนอนใหม่ จึงเปิดแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ในมือถือ จนพบชุดเครื่องนอนจากร้านค้าแห่งหนึ่งที่สวยถูกใจ เป็นชุดประกอบด้วย ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มในราคา 570 บาท บวกค่าจัดส่ง 80 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 650 บาท คุณชไมพรได้เลือกชำระค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง หรือ COD (Cash on Delivery) เพราะต้องการความมั่นใจว่า จะได้รับสินค้าอย่างแน่นอนก่อนจ่ายเงิน โดยข้อมูลบนแอปฯ แจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้ภายใน 3 วัน คุณชไมพรจึงทำการสั่งซื้อ และรอการยืนยันจากทางร้าน         เวลาผ่านไป 5 วัน คุณชไมพรยังไม่มีวี่แววยืนยันการจัดส่งสินค้าจากทางร้านค้าดังกล่าว คุณชไมพรจึงได้เข้าไปทำการยกเลิกคำสั่งซื้อในแอปพลิเคชัน เพราะขาดความมั่นใจและได้หาซื้อชุดเครื่องนอนใหม่จากร้านค้าอื่นแทน         แต่เมื่อผ่านไปอีกสามวัน คุณชไมพรได้รับการติดต่อจากพนักงานของร้านค้าที่ได้ยกเลิกคำสั่งซื้อไปแล้วว่า ได้จัดส่งชุดเครื่องนอนให้คุณชไมพรเรียบร้อยแล้ว คุณชไมพร จึงตอบกลับไปว่า ตนได้สั่งซื้อชุดเครื่องนอนจากที่อื่นไปแล้ว พนักงานคนดังกล่าวก็แจ้งกลับว่า “ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะได้จัดส่งสินค้าไปให้แล้วค่ะ” แม้ว่าคุณชไมพรจะเสนอว่าจะจัดส่งสินค้ากลับไปให้ทางไปรษณีย์ โดยรับผิดชอบค่าส่งให้ แต่พนักงานก็ยังคงยืนยันว่าไม่รับคืนสินค้า         คุณชไมพรไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการต่ออย่างไร จึงขอคำปรึกษากับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน ได้ติดต่อไปยังร้านค้าดังกล่าวและปรึกษาเรื่องการคืนสินค้าของคุณชไมพร ซึ่งเป็นสิทธิผู้บริโภคที่กระทำได้ ซึ่งทางผู้จัดการร้านกล่าวขอโทษ ที่พนักงานของตนปฏิบัติไม่ถูกต้อง จึงดำเนินการเรียกคืนสินค้าที่คุณชไมพรได้ยกเลิกการสั่งซื้อ ทั้งนี้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งทางร้านได้ฝากขอโทษคุณชไมพรด้วยที่สร้างความกังวลใจให้และจะอบรมพนักงานของตนต่อไป          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         กรณีซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้  ถือว่าทางร้านค้าได้ทำผิดเงื่อนไข ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกคำสั่งซื้อได้ โดยทำการแจ้งยกเลิกในระบบเว็บไซต์ห้างออนไลน์ และไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากการจัดส่งสินค้าที่ได้แจ้งยกเลิกไว้แล้ว         ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ได้กำหนดหลักประกันความพึงพอใจ ไม่ว่าสินค้าจะชำรุดหรือไม่ หากผู้รับสินค้าเกิดความไม่พอใจ ก็สามารถคืนได้ภายใน 7 วัน (มาตรา 33) และผู้ขายต้องคืนเงินให้กับผู้ซื้อภายใน 15 วัน (มาตรา 36)         นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนถูกต้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงเป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้า และปลอดภัยจากการถูกหลอกถูกโกงมากขึ้น         หากผู้บริโภคต้องคำปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค ในพื้นที่ภาคเหนือท่านสามารถติดต่อที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน เลขที่ 9 ถนนรถแก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 51000 หรือ ติดต่อผ่านเฟสบุ๊คwww.facebook.com/consumerslamphun/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 ตลาดออนไลน์และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค

โพลล์เผย คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping แต่พบว่า  32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ที่มา นิตยสารฉลาดซื้อและบ้านสมเด็จโพลล์ปัจจุบันการจับจ่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับในประเทศไทย มูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาดิจิทัล ในปี 2559 มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท และปี 2560 พุ่งทะลุหมื่นล้านบาทไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การฉ้อโกง การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น ซึ่งปัญหาจะยิ่งร้ายแรงมากขึ้น หากการถูกหลอกลวง ฉ้อโกง นั้นเป็นเรื่องของโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ในสินค้าที่เกี่ยวพันกับสุขภาพ จนทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงตามมา ดังนั้นหากจะคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนถึงผู้ที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ควรที่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในงานสมัชชาผู้บริโภค ซึ่งถูกจัดขึ้นทุกปี(วันคุ้มครองผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม) โดยภาคประชาชนนั้น ประเด็นในปีนี้ทางผู้จัดได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อการตลาดออนไลน์ และจัดให้มีวงเสวนาที่เกี่ยวพันกับประเด็นดังกล่าวในหลายแง่มุม อย่างไรก็ตามทีมฉลาดซื้อจะขอสรุปบางส่วนของวงเสวนาสำคัญสองเรื่อง คือ “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” และ “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล” มานำเสนอในลำดับแรกก่อน เพราะเห็นว่าน่าจะช่วยให้ติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด และมีข้อมูลในส่วนของการแจ้งเตือนภัยที่ผู้บริโภคควรมีไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน   เสวนาเรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” วันพุธที่ 14 มีนาคม 2561สถานการณ์ปัญหาการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากมุมมองของผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากประชาชน ผู้แทนหน่วยงานรัฐ (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นักวิชาการ และตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นั้น พอสรุปได้ดังนี้  1.ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือกับสื่อโซเชียลที่มีคนจำนวนมากสนใจ เช่น มียอดแชร์ ยอดเข้าชมจำนวนมาก สินค้าได้รับการรีวิวจากบุคคลหลากหลายและหากมีการใช้บุคคลที่เป็นที่นิยมอย่างเน็ตไอดอล หรือดารา ศิลปิน จะเพิ่มความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น  2.แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในระบบออนไลน์ คือ ราคา ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ราคาที่ถูกกว่าหน้าร้านปกติ แต่ที่จริงแล้วสินค้าบางอย่างกลับมีราคาแพงกว่า 3.ส่วนใหญ่ของผู้เสียหาย มักถูกหลอกลวงด้วยโฆษณา ไม่ว่าจะด้วยภาพหรือคำบรรยาย ที่ไม่ตรงกับความจริง  4.ผู้บริโภคมักเข้าใจว่า สินค้าบางประเภทจัดทำและจำหน่ายโดยดาราหรือคนดัง ซึ่งพอติดต่อเพื่อซื้อจริงกลับกลายเป็นบุคคลอื่น   5.คำอ้างว่า สามารถเปลี่ยนคืนสินค้าได้ หากไม่พอใจ พอถึงเวลาจริงไม่สามารถทำได้ หรือบางครั้งเกิดจากข้อสัญญาที่ผู้บริโภคไม่ได้อ่านให้ชัดเจน ซึ่งระบุว่า ไม่คืนเงินในทุกกรณี  6.แม้มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ขายที่น่าเชื่อถือ เช่น การให้เลขบัตรประชาชน การได้รับคำชมจำนวนมาก หรือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้วยการบริการที่ดีในระยะแรกๆ ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่า ผู้ขายจะไม่ฉ้อโกงผู้ซื้อ   7..สินค้าที่ส่งมอบมีสภาพชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงกับคำสั่งซื้อ และสินค้ามีอันตราย แต่ไม่สามารถขอเปลี่ยนคืน ขอคืนเงิน หรือการชดเชยเยียวยาหากเกิดความเสียหายต่อสุขภาพ  8.กรณีเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า ผู้บริโภคต้องดิ้นรนเองมากๆ ต้องเข้าไปติดตามด้วยตัวเอง ประกาศแจ้ง เพื่อให้คนในโซเชียลมีเดียรับรู้ด้วยกัน บางส่วนไม่เก็บหลักฐานการซื้อขาย ทำให้เสียโอกาสการร้องเรียน หรือในหลายกรณีแม้มีหลักฐานสมบูรณ์ เมื่อนำไปแจ้งความ ขั้นตอนจะหยุดอยู่ที่การแจ้งความแต่เรื่องจะไม่ได้รับการประสานต่อ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย  หากร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐก็มีระยะเวลาดำเนินการถึง 90 วัน ซึ่งระหว่างนั้นผู้บริโภคจะไม่สามารถเช็คสถานะได้ว่าเรื่องร้องเรียนของตนเองอยู่ตรงจุดไหน มาตรการ นโยบาย ของหน่วยงานรัฐต่อกรณีการจัดการเพื่อให้เกิดธุรกิจตลาดออนไลน์ที่เป็นธรรม ปัจจุบันและอนาคต ดร.สรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวโดยสรุปว่า “การตลาดแบบออนไลน์มีสภาพคล้ายกับตลาดนัดทั่วไปหรือการเปิดท้ายขายของ คือ ผู้ค้าใช้ช่องทางบนโลกออนไลน์เป็นสถานที่ค้าขาย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ค้าเป็นล้านราย จึงไม่สามารถทำให้ทุกคนมาขึ้นทะเบียนได้ ผู้ค้าก็มีทั้งคนที่ตั้งใจดีและคนโกง กลุ่มคนที่โกงจะโหมโฆษณาสินค้าเพื่อหวังขายเอากำไรในระยะสั้น โดยใช้จุดขายเรื่องราคาถูก พอได้เงินแล้วก็หนีไปสักพักแล้วก็ไปเปิดตัวที่ใหม่ แนวคิดที่ว่าคนขายของทุกคนจะต้องมาจดทะเบียนธุรกิจไม่อาจเป็นจริงได้ แต่กลไกที่เป็นไปได้คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตลาดที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน หรือรูปแบบของการเป็นตัวกลาง ซึ่งคนกลางนี้ต้องเป็นผู้คอยดูแลปัญหา ทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้ารูปแบบที่น่าจะเป็นได้อีกอย่างหนึ่งคือการเชื่อมพลังของคนสองรุ่น คือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์กับวัยรุ่นที่อาจเผลอหรือไม่รู้เท่าทันการโฆษณาบนโลกออนไลน์ และที่สำคัญที่สุด คือการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้เกิดการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบพันตำรวจเอก ประทีป เจริญกัลป์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรง และการตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นำเสนอข้อมูลการทำงานของ สคบ.ว่า ในบทบาทของการรับเรื่องร้องเรียน พบว่า มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ จากการซื้อขายออนไลน์ แต่ไม่ได้ร้องเรียน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมูลค่าของสินค้าไม่มาก หรือไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานของภาครัฐ ส่วนที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญคือ เรื่อง ปัญหาเรื่องโครงสร้างด้านกฎหมาย ขณะนี้มีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือพ.ร.บ.ขายตรง ซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดเกี่ยวกับการขายออนไลน์น้อยมาก อีกทั้งบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายเขียนไว้ มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งรับจดทะเบียนบริษัท ในขณะเดียวกันหากเป็นธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซจะต้องไปจดทะเบียนในหมวดของอีคอมเมิร์ซด้วย และยังต้องจดทะเบียนกับ สคบ.อีกด้วย “ทุกวันนี้ผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีเป็นล้านราย จดทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้ามีจำนวนหลักหมื่นราย ส่วนที่จดทะเบียนขายตรงกับ สคบ. ก็มีเพียง 400 กว่าราย” แม้ สคบ. จะเป็นหน่วยงานกลางในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ตามความจริงแล้วจะมีหน่วยงานหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายแต่ละฉบับ เช่น อย.ก็มีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องอาหารและยา เป็นต้น แต่ทุกวันนี้ประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจ คิดว่า สคบ.จะต้องเข้าไปจัดการทุกเรื่องในส่วนของกลไกการเฝ้าระวังของต่างประเทศ คุณพลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการอิสระ นำเสนอว่า ในงานวิจัยของตนนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ จะมีระบบเรื่องการป้องกันว่า ทำอย่างไรที่เว็บไซต์ต่างๆ จะไม่มีการหลอกลวง โดยมีหน่วยงานที่คอยดูแลและตรวจสอบ และมีกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น เมื่อผู้บริโภคประสบปัญหา จะทราบได้ทันทีว่าต้องไปร้องเรียนที่ไหน และสามารถติดตามสถานะได้อย่างไร ซึ่งหากเป็นเรื่องการซื้อขายออนไลน์ ก็จะมีกลไกเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์และการติดตามสถานะของการร้องเรียนทางออนไลน์ ซึ่งจะสะดวกกับผู้บริโภคยกตัวอย่างประเทศจีน มีสมาคมผู้บริโภคจีน ซึ่งเป็นของภาครัฐ เมื่อผู้บริโภคมีปัญหา เขาก็จะติดต่อกับผู้ประกอบการก่อน ถ้าผู้ประกอบการสามารถทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจได้ด้วยการคืนสินค้า คืนเงิน เรื่องก็จบ แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการของการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไป ซึ่งจะมีการยื่นเอกสาร มีระบบการจัดการ รวมทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 90 วันในการดำเนินการ นอกจากนี้ หากผู้บริโภคไม่พอใจการติดตามของภาครัฐ เขาจะมีระบบอนุญาโตตุลาการออนไลน์อีกด้วย โดยจะคอยติดตามต่อ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว จะมีค่าดำเนินการไม่น้อยกว่า 4,000 หยวนส่วนในประเทศสิงคโปร์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ค้ากำไร ทำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการซื้อขายของออนไลน์ ผู้บริโภคต้องสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมและจ่ายค่าสมาชิก เมื่อผู้บริโภคมีปัญหาเขาก็จะดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนให้ด้วยภาพรวมของต่างประเทศก็คือ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีช่องทางร้องเรียน โดยมีทั้งออนไลน์และไม่ใช่ออนไลน์ อย่างเช่น สมาคมผู้บริโภคของประเทศจีนที่ได้กล่าวไปแล้ว ไม่ได้ออนไลน์ ผู้บริโภคจะต้องเข้าไปร้องเรียนด้วยตัวเอง แต่หากเป็นของภาคเอกชนก็สามารถติดต่อหรือร้องเรียนทางออนไลน์ได้ ทำให้เห็นได้ว่าในแต่ละประเทศจะมีกลไกในการร้องเรียนของผู้บริโภคที่สามารถติดตามได้“เรื่องระบบการป้องกัน หลายประเทศจะมีการคัดกรองตัวเว็บไซต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออยู่ในระบบที่ไม่สามารถให้บริการแก่ผู้รับบริการได้ เช่น อาจจะไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตน ไม่มีสถานที่ เขาก็จะสุ่มตรวจ และเมื่อเห็นก็จะโชว์เป็นตัวสีแดงให้ผู้บริโภคเห็น อีกเรื่องหนึ่งก็คือหน่วยงานภาครัฐมีการคัดกรองเรื่องนี้ให้ระดับหนึ่งคือ แจ้งให้รู้ว่าผู้ประกอบการรายไหนที่มีความสุ่มเสี่ยงกับการมีปัญหาหากผู้บริโภคจะไปซื้อของกับเขา ซึ่งการระบุแบบนี้ก็จะช่วยผู้บริโภคได้” -------------------------------------------------------------------- ข้อเสนอของสมัชชาผู้บริโภคต่อหน่วยงานภาครัฐ 1.ให้มีระบบตรวจสอบเว็บไซต์ซื้อขายที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ข้อมูลผู้ประกอบการไม่ครบถ้วน ไม่มีข้อมูลที่ติดต่อ ข้อมูลราคาไม่ครบถ้วน และมีการหลอกลวง เช่น การเปลี่ยนราคาของสินค้าที่ซื้อ 2.ให้จัดทำข้อมูลของผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย และเปิดเผยต่อผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย หรือใช้ในการแจ้งเตือนเพื่อดำเนินงานแบบเชิงรุก 3.ให้พัฒนากลไกการรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ และสามารถแก้ไขปัญหาแบบที่เดียวจบ  4.สนับสนุนสร้างความตื่นตัว และความเท่าทันให้กับผู้บริโภค 5.ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการกำกับการดูแลกันเอง   การเชื่อมโยงระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการเตือนภัยจากข้อเสนอที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่อง การถูกหลอกลวงจากการตลาดออนไลน์ คือเรื่องของการเฝ้าระวังภัย ด้วยการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งมีด้วยกันหลายหน่วยงาน และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ เช่นเดียวกับต่างประเทศ  ที่มีหน่วยงานภาครัฐคัดกรองให้ระดับหนึ่งคือ แจ้งให้รู้ว่าผู้ประกอบการรายไหนที่มีความสุ่มเสี่ยงกับการมีปัญหาหากผู้บริโภคจะไปซื้อของกับเขา อย่างที่คุณพลินี ได้กล่าวไว้ และเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลนี้ มีการพูดคุยกันอย่างเข้มข้นในวงเสวนาอีกห้องหนึ่งในวันเดียวกัน คือ การเสวนาเรื่อง “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิทัล” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผู้แทนจาก สคบ.  อย. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และอดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีช่องทางการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ของตนเองเริ่มจาก ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คุณพิฆเนศ ต๊ะปวง พูดถึงการทำหน้าที่ของ สคบ. ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในเรื่องของการเตือนภัย อยู่ในมาตรา 10(3) ในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยให้อำนาจคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียต่อสิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทำไปแล้ว และปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแจ้งชื่อผู้ประกอบการที่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโฆษณาเป็นเท็จ การทำสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง การพิจารณาเยียวยาความเสียหาย หรือการละเมิดต่อผู้บริโภค และมีการร้องเรียนมาที่ สคบ.ปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์สำหรับการเตือนภัย มี 2 แบบคือ อย่างแรกผู้ประกอบธุรกิจสมัครใจแจ้งข้อมูลการเตือนภัยขึ้นมาว่าสินค้าของเขาขายไปที่ไหนบ้าง และการแจ้งเบาะแสสินค้าไม่ปลอดภัย เป็นส่วนที่ประชาชนส่งข้อมูลมาให้ ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์ แล้วส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ในการศึกษาข้อมูลและรวบรวมกลับเข้ามาสู่ระบบแจ้งเตือนภัย ซึ่งส่วนนี้กำลังพัฒนาอยู่แบบที่สอง คือ การตรวจสอบข้อมูลสินค้า ส่วนนี้ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม เรียกว่าระบบบาร์โค้ด (GS1) จะใช้ตัวบาร์โค้ดแจ้งสถานะข้อมูลของผู้ประกอบการ โดยทั้งสองแบบนี้เกิดจากการประชุมยุทธศาสตร์อาเซียน ซึ่ง สคบ.มีบทบาทในส่วนนี้สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ นโยบายอาเซียนต้องการให้กระบวนการการจัดการเป็นไปภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละประเทศในส่วนของแนวทางที่ สคบ.กำลังพัฒนา คือ ศูนย์เตือนภัย นั้น ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะมีทั้งรับมาจากผู้บริโภค,องค์กรวิชาการต่างๆ ที่มีการศึกษาวิจัยและส่งข้อมูลเข้ามา,โรงพยาบาล,สถานีตำรวจ,ศูนย์ป้องกันภัยต่างๆ ก็จะส่งข้อมูลเข้ามาในศูนย์เตือนภัยนี้ ศูนย์นี้ก็จะวิเคราะห์ข้อมูลและแจ้งข้อมูล จัดลำดับการส่งข้อมูลเป็น 3 ระดับคือระดับต้น คือแจ้งข้อเท็จจริง คือข้อมูลที่เป็นจริง ตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริงก็แจ้งเข้าไประดับที่ 2 คือข้อมูลที่สามารถสื่อไปทางฝ่ายเฝ้าระวังได้ระดับที่ 3 คือข้อมูลที่จะนำไปสู่การจัดการ เช่น จัดการห้ามขาย จัดการเรียกคืน จัดการนำสิ่งค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศออกไป โดยจะมีกฎมายรองรับเรื่องเหล่านี้โดยข้อมูลต่างๆ ที่ สคบ.เผยแพร่ออกไปก็หวังให้ผู้บริโภคนำไปขยายต่อในวงกว้าง ภก.วิษณุ โรจน์เรืองไร นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มสารสนเทศ กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงงานในความรับผิดชอบว่า อย.ได้เตรียมช่องทางการสื่อสารดิจิทัล แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มแรก เป็นเว็บไซต์ มี 2 อันคือ www.fda.moph.go.th  เป็น official website ของ อย. มีข้อมูลที่หลากหลาย ให้บริการทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน ส่วนเว็บไซต์ที่ 2 จัดทำเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนโดยตรงคือ www.oryor.com เป็นเว็บไซต์ที่มีแต่ข้อมูลสำหรับประชาชนทั่วไปเป็นหลัก ถ้าเป็นผู้ประกอบการก็อาจจะไม่มีประโยชน์สักเท่าไร  ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นพวก แอปพลิเคชัน มีชื่อว่า oryorsmart application ปัจจุบันเป็นเวอร์ชันที่ 3 รองรับการใช้งานทั้งไอโอเอสและแอนดรอยด์ และจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันสมัยที่สุดกลุ่มที่ 3 เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย.ก็พยายามสร้างทางเลือก เพราะเข้าใจว่าทุกคนอาจไม่ได้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คที่เหมือนกันหมด จึงพยายามทำหลายช่องทางเพื่อรองรับ ปัจจุบันมีด้วยกัน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เฟสบุ๊ค,ทวิตเตอร์,ยูทูป,อินสตาแกรม,ไลน์ นี่คือช่องทางต่าง ๆ ที่อย.ใช้สำหรับการสื่อสารเตือนภัย --------------------------------------------------------------------- 5 แพลตฟอร์มของ อย. facebook.com/fdathai twitter.com/fdathai Instagram.com/fdathai YouTube.com/fdathai Line@fdathai ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ  เรื่องการแจ้งเตือนภัยในมุมมองของตัวเอง มองว่าเป็นการเสริมพลังในภาคประชาชนหรือผู้บริโภคและภาคี มีตัวอย่างสินค้าจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อประชาชน และกลุ่มผู้บริโภคหรือภาคีเครือข่ายเป็นผู้แจ้งเบาะแส แจ้งเตือนภัย ในฐานะที่เคยอยู่กรมวิทย์ฯ ผู้บริโภคสามารถเข้าไปดูผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยได้ที่ www.tumdee.org  ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในมุมมองของ ภก.วรวิทย์ มองว่า การแจ้งเตือนภัย ต้องมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้1.การแจ้งเตือนภัยถ้าทำอย่างล่าช้าก็จะไม่มีประโยชน์ ต้องทำให้ทันต่อเหตุการณ์ 2.การแจ้งเตือนภัยถ้าทำไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่มีประโยชน์  3.ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้สะดวก การเฝ้าระวังที่ดีก็จะนำมาซึ่งข้อมูลที่รวดเร็ว ทำให้สามารถเตือนภัยได้เร็ว จากนั้นก็ควรนำไปสู่การจัดการสินค้านั้นๆ พ.ต.อ.ทีนัฐกรณ์ วัฒนแสงประเสริฐ   ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด   เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.)“การแจ้งเตือนภัย ทุกหน่วยงานมีอยู่แล้ว ตำรวจเองก็มี แต่ว่าในเพจกองปราบปราม พบว่ามีผู้ติดตามเพียงพันกว่าคนเท่านั้น คิดว่าประชาชนคงอยากไปดูทางอย. หรือทาง สคบ.มากกว่าเพราะคิดว่าเขารับผิดชอบโดยตรง ข้อมูลที่ได้แสดงไว้ในเพจ คือผลลัพธ์ของการสืบสวนและมีการจับกุมแล้ว มีด้วยกัน 2 เพจบนเฟซบุ๊ค ชื่อ “รู้ทันภัยเครื่องสำอาง อาหาร และยา” และอีกเพจคือ “กองบังคับการปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค” และก็มีเพจส่วนตัว ชื่อว่า “ผกก.เติ้ล” จะมีสาระความรู้อยู่ในเพจนี้ เป็นการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนทุกรูปแบบ บางครั้งก็มีการเผยแพร่แบบไลฟ์ด้วย เช่น เกี่ยวกับเรื่องแชร์ลูกโซ่ เรื่องการขายตรง เป็นต้น” ในกรณีของสินค้าออนไลน์ สามารถเข้าไปแจ้งได้ มีเวรรับแจ้งตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ประชาชนมักกลัวการแจ้งความเพราะกลัวการขึ้นศาล ไม่กล้าลงชื่อเพราะกลัวเขาจะรู้ว่าตัวเองไปร้องเรียน ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีชื่อ เขาก็รับการร้องเรียน แต่จะต้องตรวจสอบข้อมูลว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ แต่หากมีชื่อหรือหมายเลขติดต่อก็จะสะดวก เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ เพื่อที่จะชี้ชัดเรื่องข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปตามหา อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหา สามารถโทรแจ้งที่สายด่วนได้เลย  เพราะหากไปแจ้งความตามโรงพักในต่างจังหวัด ตำรวจจะขาดความชำนาญเฉพาะทาง สายด่วน ปคบ.คือหมายเลข 1135 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กระแสต่างแดน

หยิบชิ้นปลามันชาวแคนาดาคือ คนกลุ่มแรกที่ได้ลิ้มรสปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรม เพราะแคนาดาเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้ตัวว่ารับประทานเข้าไปตอนไหน! ความแตกเมื่อรายงานประจำไตรมาสของบริษัทอควาบาวน์ตี้ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่บนเกาะพรินซ์เอ็ดเวิร์ด ระบุว่าได้ขายเนื้อปลาที่ว่านี้ไป 4,500 กิโลกรัมในระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน  แต่จนถึงขณะนี้บริษัทสัญชาติอเมริกันก็ไม่ยอมเปิดเผยว่าส่งไปขายที่เมืองใดบ้างแม้บริษัทจะได้รับอนุญาตให้ขายได้โดยไม่จำเป็นต้องติดฉลาก และได้รับการรับรองมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาคาใจคนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และในช่วง 20 ปีผ่านมารัฐบาลก็มีความโปร่งใสในเรื่องนี้น้อยมากล่าสุดกระทรวงสิ่งแวดล้อมออกมากำชับให้ “โรงงาน” บนเกาะดังกล่าว ซึ่งมีกำลังผลิตถึง 250 ตันต่อปีปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะถูกสั่งปิด   สถานีต่อไป..โลกรู้แล้วว่าตลาดปลาซึกิจิอันเลื่องชื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่ในเขตโกโตะ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจุดเดิมสองกิโลเมตร แต่บรรดาลูกค้าตัวจิ๋วที่เคยเดินทางมาด้วยระบบท่อระบายน้ำใต้ดินเพื่อกินเศษปลาและเศษผักในช่วงบ่ายๆ  จะย้ายไปที่ไหนใครรู้บ้างตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เทศบาลนครโตเกียวได้เริ่มปฏิบัติการกำจัดหนูเพื่อป้องกันไม่ให้มันยกครัวไปลงมือที่อื่น เขาบอกว่างานนี้ไม่ง่ายเลยเพราะยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และหนูส่วนใหญ่เป็นหนูสีน้ำตาลที่อาศัยอยู่ใกล้น้ำ ว่ายน้ำเก่ง และเท้าที่เปียกตลอดเวลาของมันก็ทำให้มันไม่ติดกับดักง่ายๆ อีกด้วยเฉลยนิด ว่าเป้าหมายใหม่ของมันคือ ย่านกินซ่าที่มีห้างสรรพสินค้ามากมายพร้อมศูนย์อาหาร ไหนจะร้านอาหารจำนวนมากที่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว กินซ่าห่างจากตลาดซึกิจิเดิมแค่หนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น ทวงออกสื่อเมืองมังกาลอร์ทางตอนใต้ของอินเดียมีทะเบียนผู้ซื้อน้ำดื่มจากเทศบาลประมาณ 85,000 ราย จากจำนวนนี้มีถึง 50,000 รายที่ยังค้างจ่าย คิดเป็นยอดหนี้รวมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านรูปีบางคนค้างค่าน้ำมาตั้งแต่ปี 2000 และมีอยู่ 166 รายที่มีหนี้รวมกันประมาณ 750,000 รูปี ข่าวบอกว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีฐานะดีมังกาลอร์ ซิตี้ คอร์ป ประกาศให้เวลาสองสัปดาห์ในการชำระหนี้ หากเกินกว่านั้นลูกหนี้จะได้เห็นชื่อตัวเองบนหน้าหนังสือพิมพ์ เมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอาหรับแห่งนี้มีวิกฤติน้ำดื่มมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา บางครั้งมีการปนเปื้อนของสารปรอท บางครั้งท่อน้ำชำรุด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้รับการแก้ไขชั่วคราว(ยังไม่มีวี่แววของมาตรการถาวร) ด้วยการจำกัดเวลาปล่อยน้ำในแต่ละพื้นที่ หลายรายคงไม่ยอมจ่ายเงินเพราะทนบริการแย่ๆ นี้ไม่ได้ บุญไร้ควันไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีมลภาวะทางอากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณรอบๆ วัดซึ่งมีอยู่ประมาณ 30,000 แห่งทั่วทั้งเกาะ ปีนี้มีผู้อยู่อาศัยที่เดือดร้อนเข้ามาร้องเรียนแล้วกว่า 3,000 รายรัฐบาลไต้หวันซึ่งครองแชมป์ประเทศที่มีวัดหนาแน่นที่สุดในโลก(ประชากรร้อยละ 70 นับถือพุทธหรือเต๋า) จึงเริ่มนโยบายจำกัดการใช้ธูปหรือเผากระดาษเงินกระดาษทองในการทำบุญเซ่นไหว้ ขณะนี้มีวัดที่ให้ความร่วมมือแล้ว 1,100 แห่ง บางแห่งยกเลิกการใช้ธูป หลายวัดขอให้ญาติโยมจุดธูปเพียง 1 ดอก(จากฉบับเต็ม 7 ดอก) ในขณะที่บางแห่งอนุญาตเฉพาะธูปชนิดควันน้อยที่ลูกศิษย์วัดเป็นผู้จุดให้เท่านั้นแต่มีคนนับหมื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ไปรวมตัวกันประท้วงที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี พวกเขามองว่า นี่คือการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา   จ่ายแล้วเป็น “สูญ”เรื่องปวดหัวอันดับหนึ่งของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์นาทีนี้คือ การสูญเงินดาวน์หรือไม่ได้รับบริการที่จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้ากรณีร้องเรียนแบบนี้เพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2014 สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ธุรกิจหลายแห่งปิดตัวลงและทำให้ผู้บริโภคต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคสิงคโปร์ มูลค่าการสูญเสียอันดับแรกคือ เงินดาวน์รถยนต์ (2.74 ล้านเหรียญ) ตามด้วยค่าสมาชิกบริการฟิตเนส (1.39 ล้านเหรียญ) และค่าบริการต่อเติมซ่อมแซมบ้าน (1.02 ล้านเหรียญ) และที่ต้องระวังเป็นพิเศษนอกจากนั้นคือ บริการท่องเที่ยว เสริมสวย และเฟอร์นิเจอร์ ทางออกคือ การขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการให้มีการ “คุ้มครองการจ่ายเงินล่วงหน้า” ซึ่งความจริงผู้ประกอบการหลายเจ้ามีทางเลือกนี้อยู่แล้วแต่ลูกค้าไม่นิยมเลือกเพราะต้องการของ “ถูก”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ใครบ้าง มีสิทธิร้องศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

เรื่องน่าสนใจคราวนี้เกี่ยวกับขั้นตอนการบังคับคดีหลังศาลมีคำพิพากษากันนะครับ  หลายคนอาจไม่ทราบ แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะหากวันหนึ่งเราตกเป็นลูกหนี้ แล้วถูกฟ้อง จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับผิด เราจะถูกบังคับคดี ซึ่งเราก็ควรรู้ขั้นตอนการบังคับคดีของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ ซึ่งในตอนนี้เป็นคดีที่มีผู้ร่วมรับผิดมากกว่าหนึ่งราย รู้ไว้เผื่อต้องใช้สิทธิต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้นะครับ   โดยประเด็นที่หยิบยกมาเล่า เป็นคดีที่มีเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยสี่คนร่วมรับผิดใช้เงิน ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระเงิน หากผิดนัดยอมให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำยึดที่ดินเพื่อนำออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดได้ ต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 จำนวน 131 แปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศเรื่องการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียต้องรับภาระหนี้ส่วนที่เหลือ ขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาด ซึ่งต่อมาคดีนี้ได้ขึ้นสู่ศาลฏีกา โดยมีประเด็นที่ศาลฏีกาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งการขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 3 ทราบ และมีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่  โดยศาลฏีกาได้ตัดสินว่า กรณีมีจำเลยหลายคนที่ต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ เฉพาะจำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเท่านั้น ที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดมีจำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นเจ้าของไม่ปรากฎชื่อจำเลยที่ 3 เป็นหรือร่วมมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึด แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นลูกหนี้ที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1   ก็ตาม ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีทรัพย์ที่ยึดโดยวิธีขายทอดตลาดไปเพียงแจ้งวันขายทอดตลาดและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศให้จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้เดียว จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มีเหตุเพิกถอน ตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 19419/2557คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19419/2557 คำร้องของจำเลยที่ 3 ระบุชัดว่าประสงค์จะให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้ตนทราบ เท่ากับเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะจำเลยที่ 3 เห็นว่าเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเห็นได้ว่าในมาตราดังกล่าว กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งการขายทอดตลาดให้เจ้าของหรือผู้มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ยึดได้ทราบถึงการขายทอดตลาดเท่านั้น หมายความว่า หากมีกรณีจำเลยหลายคนที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ เฉพาะจำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเท่านั้นที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ ด้วยเหตุนี้ ความในมาตรา 306 จึงบัญญัติไว้เพียงว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียน มิได้หมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในวิธีบังคับคดีตามมาตรา 280 แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 รับมาในคำร้องว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งทราบได้จากเอกสารท้ายคำร้องและเอกสารในสำนวนว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดมีจำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นเจ้าของไม่ปรากฎชื่อจำเลยที่ 3 เป็นหรือร่วมมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึด แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นลูกหนี้ที่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ก็ตาม ผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องแจ้งวัน เวลา และสถานที่ในการขายทอดตลาดจึงมีเพียงจำเลยที่ 1 ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีทรัพย์ที่ยึดโดยวิธีขายทอดตลาดไปเพียงแจ้งวันขายทอดตลาดและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศให้จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้เดียว จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เครื่องดื่มเกลือแร่ “หวาน” แค่ไหนกัน

อย่างที่เรารู้กันดีว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ มีไว้สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เพราะสามารถช่วยชดเชยน้ำ และเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปในระหว่างการออกกำลังกายได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเครื่องดื่มเกลือแร่หลายยี่ห้อได้ปรับภาพลักษณ์สินค้าใหม่ กลายเป็นเครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้แม้ไม่เสียเหงื่อ (Functional drink) โดยมีการเติมวิตามินหรือสารอาหารต่างๆ รวมทั้งน้ำตาลลงไป เพื่อปรับรสชาติให้ถูกปากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นประจำ เสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินความต้องการในแต่ละวันฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้สำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเกลือแร่ จากยี่ห้อยอดนิยมตามท้องตลาด จำนวน 14 ยี่ห้อ ซึ่งเจ้าไหนจะใส่น้ำตาลมากน้อยกว่ากัน เรามาดูผลทดสอบกันเลย  สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ พบว่า- ร้อยละ 50 หรือ 7 ยี่ห้อ พบมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 25 - 38.5 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่เราควรได้รับต่อวันคือ 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา ได้แก่ 1.สปอเรต (กลิ่นมิกซ์ฟรุท) มีปริมาณน้ำตาล 38.5 กรัม 2.เกเตอเรด กลิ่นมะนาว มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม 3.เอ็มสปอร์ต มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม 4.สปอนเซอร์ ออริจินัล มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม 5.สตาร์ท พลัส มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม 6.ซันโว มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม และ 7.สปอนเซอร์ บีเฟรช มีปริมาณน้ำตาล 25 กรัมยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ สปอเรต (กลิ่นมิกซ์ฟรุท) ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ พอคคา สปอร์ต วอเตอร์- เครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้ง ได้แก่ ยี่ห้อ ออราส, สตรอง-เค และ รอแยล-ดี มีการระบุปริมาณปริมาณกลูโคสและซูโครส ตรงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่195) พ.ศ.2543 คือ น้ำตาลกลูโคสหรือฟรุคโตส ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนัก หรือซูโครสไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของน้ำหนักข้อสังเกตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 195) พ.ศ.2543 นิยามความหมายของเครื่องดื่มเกลือแร่ว่า เครื่องดื่มที่มีเกลือแร่เป็นส่วนประกอบหลัก และหมายความรวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้งด้วย รวมทั้งไม่ให้ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในเครื่องดื่มดังกล่าว นอกจากนี้ในการแสดงฉลากเครื่องดื่มเกลือแร่ ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลาก โดยต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ ด้วยตัวอักษรขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร เห็นได้ชัดเจนในกรอบสี่เหลี่ยม สีแดง พื้นขาว 1.เด็กและทารกไม่ควรรับประทาน 2.เฉพาะผู้สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย 3.ไม่ควรรับประทานเกินวันละ … หน่วย (ความที่เว้นไว้ให้ระบุจำนวนหน่วยที่ควรบริโภค ทั้งนี้จำนวนดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกินวันละ 1 ลิตร)อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เรานำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ พบว่า -มีเพียง 9 ยี่ห้อที่เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ตรงตามประกาศข้างต้น ได้แก่ ยี่ห้อ 1.เกเตอเรด (กลิ่นมะนาว) 2.เอ็มสปอร์ต 3.สปอนเซอร์ (ออริจินัล) 4. สตาร์ท พลัส (เครื่องดื่มเกลือแร่ผสมซิงค์) 5.ซันโว (กลิ่นบลู พั้นซ์) 6.พอคคา สปอร์ต วอเตอร์ 7.ออราส 8.สตรอง-เค (ถาวร) และ 9.รอแยล-ดีตัวอย่างที่เหลืออีก 5 ยี่ห้อ แม้จะมีส่วนผสมของเกลือแร่ (โซเดียม/โพแทสเซียมคลอไรด์) แต่อาจไปเข้าข่ายเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ (Functional drink) หรือ เครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินหรือสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพลงไป ซึ่งแบ่งเป็น 2 ยี่ห้อที่มีการโฆษณาว่า ใช้วัตถุอื่นให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ 1. ยี่ห้อ100 พลัส โฆษณาว่าใช้สตีวิออลไกลโคไซตด์ เป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล 2.สปอนเซอร์ บีเฟรช โฆษณาว่าใช้ซูคราโลสเป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล และอีก 3 ยี่ห้อที่เหลือ ได้แก่ 1.เจเล่บิวตี้ ระบุว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้รสองุ่นขาว ผสมคาราจีแนน คอลลาเจนและเกลือแร่ 2.สปอเรต ระบุว่าเป็นน้ำรสองุ่น และ 3.อควาเรียส ระบุว่าเป็นน้ำผลไม้รวม----------------------------------------------------------------------------------เกลือแร่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1. เกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) เหมาะสำหรับผู้ที่เสียน้ำจากอาการท้องเสีย ซึ่งร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ทันที ทำให้เกลือแร่ชนิดนี้มีส่วนประกอบของเกลือแร่หรือโซเดียมสูง และ2.เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy หรือ ORT) เหมาะสำหรับผู้ที่เสียน้ำหรือเหงื่อจากการออกกำลังกาย ซึ่งร่างกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก โดยจะเสียเกลือแร่ในปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นเกลือแร่ชนิดนี้จะมีปริมาณน้ำตาลสูง อย่างไรก็ตามสำหรับเครื่องดื่มเกลือแร่บางยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เราสามารถผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของความหวานลงได้----------------------------------------------------------------------------------เรา (ไม่) จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อน ซึ่งส่วนประกอบของเหงื่อ คือ น้ำกว่าร้อยละ 99 ที่เหลือร้อยละ 1 คือ โซเดียมคลอไรด์ โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็กหรือกรดอะมิโนบางชนิด ดังนั้นเมื่อเราเสียเหงื่อ จึงควรชดเชยน้ำให้กับร่างกายเป็นอันดับแรก ซึ่งการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาถือว่าเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สูญเสียน้ำในปริมาณมากและต่อเนื่อง หรือนักกีฬาที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งมาราธอน ขี่จักรยานไกล หรือว่ายน้ำระยะไกล อาจจำเป็นที่ต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เนื่องจากในเครื่องดื่มดังกล่าวมีส่วนประกอบของ น้ำตาลกลูโคสและโซเดียม/โพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งช่วยให้น้ำเข้าสู่เซลล์ได้เร็วขึ้น----------------------------------------------------------------------------------ผู้นำตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ คือ ยี่ห้อสปอนเซอร์ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 80% ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นยี่ห้อ เอ็มสปอร์ต 12% และยี่ห้อ ซันโว 8% โดยสำหรับผู้ที่ดื่มเครื่องเกลือแร่มากที่สุด 70% คือกลุ่มผู้แรงงาน ตามด้วยผู้ออกกำลังกาย 30% ทั้งนี้ตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 4,500 ล้านบาทข้อมูลอ้างอิง: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่195) พ.ศ.2543 เรื่อง เครื่องดื่มเกลือแร่ http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P195.pdf , ตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ http://marketeer.co.th/archives/43534

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 187 เรื่องทดสอบ อะฟลาท็อกซิน ในกราโนล่าและมูสลี

อะฟลาท็อกซิน ในกราโนล่าและมูสลีกราโนล่าและมูสลี่ (Granola, Muesli) ถือเป็นอาหารเช้ายอดนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เพราะประกอบไปด้วยธัญพืชหลากชนิด เช่น ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ หรือผลไม้แห้งต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามด้วยส่วนผสมดังกล่าว อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้เช่นกัน หากมีการปนเปื้อนของสารพิษ อะฟลาท็อกซินอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นจากเชื้อรา และมักปนเปื้อนอยู่ในอาหารจำพวกแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เช่น แป้งข้าวโอ๊ต  แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด รวมทั้งเมล็ดธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด นอกจากนี้ยังพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารแห้ง เช่น ผัก ผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง งาหรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งหากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารดังกล่าวในปริมาณมากหรือเป็นประจำ สามารถส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียนหรือมะเร็งตับได้ หลายประเทศจึงมีการกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในอาหาร ซึ่งในประเทศไทยกำหนดให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529)ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสารดังกล่าว ฉลาดซื้อจึงได้สุ่มทดสอบสารอะฟลาท็อกซิน ในกราโนล่าและมูสลี จำนวน 14 ยี่ห้อยอดนิยม (หลังจากฉบับที่แล้วเราเคยเสนอผลทดสอบสารดังกล่าวในถั่วลิสงไป) รวมทั้งทดสอบปริมาณน้ำตาล ใยอาหาร และพลังงานที่จะได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคจากแต่ละยี่ห้อ ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยสรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างกราโนล่าและมูสลี่ที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ตัวอย่างพบว่าทุกยี่ห้อไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินมี 2 ยี่ห้อที่ไม่แสดงฉลากโภชนาการ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลทางโภชนาการได้ ได้แก่ ยี่ห้อ Diamond Grains (ไดมอนด์ เกรนส์) และ My Choice (มายชอยส์) อย่างไรก็ตามสำหรับตัวอย่างที่เหลือ มี 5 ยี่ห้อที่แสดงฉลากโภชนาการภาษาไทย และอีก 7 ยี่ห้อที่แสดงฉลากโภชนาการภาษาต่างประเทศ ซึ่งพบว่า- ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด คือ McGarrett (แม็กกาเร็ต) มีปริมาณน้ำตาล 6 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค (33 กรัม) และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด คือยี่ห้อ Hahne (ฮาทเน่) มีปริมาณน้ำตาล 22.4 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค (100 กรัม)- ยี่ห้อที่มีปริมาณใยอาหารมากที่สุด คือ Tilo's (ทิโลส์) 9.6 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค (100 กรัม) และยี่ห้อที่มีปริมาณใยอาหารน้อยที่สุด คือ McGarrett (แม็กกาเร็ต), Nestlé (เนสท์เล่) และ Kellogg’s (เคลล็อกส์) มีปริมาณใยอาหาร 2 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค- ยีห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ McGarrett (แม็กกาเร็ต) ให้พลังงานทั้งหมด 130 กิโลแคลอรี/หนึ่งหน่วยบริโภค และยี่ห้อที่ให้พลังงานมากที่สุด คือ ยี่ห้อ Sanitarium (แซนนิทาเรี่ยม) 657กิโลแคลอรี/หนึ่งหน่วยบริโภค (45 กรัม)ข้อสังเกตการแสดงฉลากโภชนาการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่องฉลากโภชนาการ กำหนดให้อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ มี 4 ประเภท คือ 1.อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ 2.อาหารที่มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย 3.อาหารที่ระบุกลุ่มผู้บริโภคในการส่งเสริมการขาย และ 4.อาหารอื่นตามที่สำนักคณะกรรมการอาหารและยากำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารทั้งนี้สำหรับข้อ 2.อาหารที่มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย หมายถึง อาหารที่มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับคุณประโยชน์หรือหน้าที่ของตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบหรือสารอาหารอย่างหนึ่งอย่างใดของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อร่างกายหรือสุขภาพ มาใช้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย การแสดงฉลากโภชนาการจะต้องแสดงข้อความภาษาไทย แต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ทำให้อาหารประเภทกราโนล่าและมูสลี่ที่ส่วนใหญ่โฆษณาว่ามีใยอาหารสูง และมีส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจเข้าข่ายที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคในการเปรียบเทียบ เลือกซื้อและบริโภคอาหารตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและสุขภาพ อาหารประเภทนี้ ไม่ใช่อาหารพลังงานต่ำเสมอไป เพราะจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบว่า บางยี่ห้อให้พลังงานสูงถึง 657 กิโลแคลอรี/หนึ่งหน่วยบริโภค เทียบเท่ากับการบริโภคข้าวผัดกะเพราหมูกรอบ 1 จาน ที่ให้พลังงาน 650 กิโลแคลอรี่ อย่างไรก็ตามหากเทียบกับขนมไทยอย่างกระยาสารท ที่มีส่วนผสมของธัญพืชเช่นกัน พบว่าในกระยาสารท 1x3 นิ้ว ให้พลังงาน 210 กิโลแคลอรี่ ซึ่งให้พลังงานมากกว่าตัวอย่างกราโนล่าและมูสลี่ที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่ เนื่องจากมีส่วนผสมของกะทิและน้ำตาลมากกว่ากราโนล่าและมูสลี่ มีความคล้ายกันในส่วนผสมที่มาจากธัญพืชและผลไม้อบแห้ง แต่มีความแตกต่างกันตรงที่กราโนล่าจะเพิ่มส่วนผสมอย่างน้ำผึ้ง ไซรัป น้ำตาลหรือช็อกโกแลตเข้าไป เพื่อทำให้รสชาติหวานและรับประทานได้ง่ายขึ้น ทำให้มีแคลอรีสูงกว่ามูสลี่ที่ไม่เน้นการปรุงแต่ง ผู้บริโภคจึงควรเลือกประเภทและตรวจสอบฉลากโภชนาการก่อนนำมาประทาน เพื่อให้ได้คุณประโยชน์อย่างที่ต้องการ เรื่องน่ารู้เล็กน้อยเกี่ยวกับกราโนล่าและมูสลี่กราโนลาและมูสลี่ อยู่ในประเภทซีเรียล (cereal) สำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งได้จากการแปรรูปธัญพืช ทำให้มีคาร์โบไฮเดรตคล้ายกลุ่มขนมปัง และมีวิตามินรวมทั้งใยอาหารจากถั่วหรือผลไม้แห้งอื่นๆ ที่ผสมเพิ่มลงไป ทำให้เรารู้สึกอิ่มได้เหมือนกับการรับประทานอาหารชนิดอื่น อย่างไรก็ตามเราควรรับประทานในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรีทั้งนี้ด้านการเติบโตของตลาดซีเรียลสำหรับผู้ใหญ่ในประเทศไทยปีที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่า 784 ล้านบาท โดยเติบโตขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 10.8 ต่อปี เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งผู้นำทางการตลาดมี 2 ราย คือ บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 43 และบริษัท เคลล็อก (ประเทศไทย) จำกัด ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 33แหล่งข้อมูลอ้างอิง: http://fic.nfi.or.th/MarketOverviewDomesticDetail.php?id=85

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 137 กระแสในประเทศ

เหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2555 สคบ.เตรียมคุมเข้มธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจสร้างบ้าน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาปวดใจของผู้บริโภคยุคนี้ วัดได้จากข้อมูลสถิติการร้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่สูงสูสีพอๆ กับปริมาณหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดที่เกิดขึ้นเต็มเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สคบ. จึงเตรียมผลักดันให้ธุรกิจสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเจอกับปัญหาสั่งสร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างหวัง หรือได้บ้านแต่เป็นบ้านที่ไม่มีคุณภาพ มาจากธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่มีสัญญาควบคุมอย่างเป็นมาตรฐาน แม้มีหน่วยงานอย่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านที่มีสัญญากลางไว้ช่วยกำกับดูแล แต่ปัญหาผู้รับเหมาผิดสัญญาผู้ซื้อบ้านก็ยังก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของ สคบ. ที่ต้องรีบจัดทำสัญญามาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างกระทำผิดหรือหาช่องละเมิดผู้บริโภค และช่วยให้มีเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐานก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมา โดยทาง สคบ. ตั้งใจดำเนินการเรื่องการควบคุมสัญญาให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้   คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้านให้ อันดับแรกควรศึกษาประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผู้ประกอบธุรกิจ ว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน และอย่าลืมตรวจสัญญาให้ดีว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบก่อนที่จะเซ็นสัญญา หรือหากมีข้อข้องใจเรื่องการทำสัญญาสามารถขอคำแนะนำได้ที่ สคบ. โดยกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา โทร. 02-629-7065-66 ----------------------------------------------------------- สัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. ได้ออกข้อบังคับให้ต่อนี้ไป ธนาคารต่างๆ ต้องแสดงข้อความ ลงในผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทต่างๆ ที่ได้รับความคุ้มครองว่า “เงินฝากนี้ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝากของผู้ที่มาใช้บริการ ให้ได้รับรู้สิทธิของตัวเอง ซึ่งการคุ้มครองเงินฝากถือเป็นสิทธิสำคัญของผู้ฝากเงินกรณีที่ธนาคารที่เราฝากเงินไว้ปิดกิจการ ตั้งแต่ 11 ส.ค. 55 นี้เป็นต้นไป จำนวนเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองจะอยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่เคยคุ้มครองสูงถึง 50 ล้านบาท โดยประเภทของเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน เฉพาะที่เป็นเงินบาท เพราะฉะนั้นใครที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกิน 1 ล้านบาทก็อย่านิ่งนอนใจ ต้องมั่นติดตามข่าวสารสถานการณ์การเงินของธนาคารที่เราฝากเงินไว้อยู่เรื่อยๆ แต่อย่างน้อยๆ การที่ สคฝ. ออกมาตรการให้ธนาคารต้องแสดงสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก ก็เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ฝากเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิของเราจะได้รับการดูแล ใครที่มีปัญหาหรือสงสัยเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก www.dpa.or.th ----------------------------------------------------------------------- จัดระเบียบตลาดนัด ตลาดนัดกับคนไทยเป็นของคู่กัน เรียกว่าไปที่ไหนก็เจอ พูดได้เลยว่าตลาดนัดถือเป็นครัวหลักของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะเป็นแหล่งรวมของอาหารการกิน แต่หลายคนมีอคติกับตลาดนัดที่เรื่องความสกปรก กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมจัดระเบียบตลาดนัดทั่วประเทศที่มีกว่า 10,000 แห่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยในอาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลาดนัดถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ผู้ประกอบการตลาดนัดจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และต้องผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3 ประการได้แก่ 1.สถานที่สะอาด 2.อาหารที่วางขายต้องไม่มีสารปนเปื้อนอันตรายอย่างน้อย 6 ชนิด ได้แก่ สารบอแรกซ์ สารกันรา สารฟอร์มาลีน สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สารฟอกขาว และสารเร่งเนื้อแดง และ 3.ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น มีตาชั่งมาตรฐานเที่ยงตรง ราคายุติธรรม มีชุดตรวจสอบการปนเปื้อนทางเคมี ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งตรวจสอบตลาดนัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้ปรับปรุงตลาดให้เข้ากับเกณฑ์ที่กระทรวงตั้งไว้ เพื่อให้คนไทยได้ชิมช้อปกันอย่างปลอดภัย -----------------------------------------------------------------------------   กสทช.สั่งแบนมือถือ 280 รุ่น ถือเป็นเรื่องน่าตกใจ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาเปิดเผยว่าได้สั่งเพิกถอนในรับรองโทรศัพท์มือถือ 280 รุ่น จาก 27 บริษัท เนื่องจากตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารข้อมูลรายงานการทดสอบจากห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ซึ่งคำสั่งเพิกถอนนี้มีผลทำให้ห้ามมีการนำเข้าและจำหน่ายมือถือทั้ง 280 รุ่นต่อไป แม้มาตรการที่มีต่อผู้ประกอบการจะค่อนข้างชัดเจน คือการระงับการจำหน่ายสินค้าที่ถูกยกเลิกทะเบียน แต่ในมุมของผู้บริโภคกลับไม่มีมาตรการรับผิดชอบใดๆ โดย น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยหลักการไม่มีหลักฐานว่าเครื่องไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ได้มีการพิสูจน์ เพียงแต่ผู้ขอใบอนุญาตในการนำเข้าใช้เอกสารปลอม หากมือถือที่ใช้อยู่ไม่เกิดปัญหาก็ยังสามารถใช้ได้ต่อไป เพียงแต่หากผู้บริโภคใช้โทรศัพท์ที่ถูกยกเลิกแล้วมีปัญหาก็สามารถฟ้องร้องเป็นกรณีไป ซึ่งโทรศัพท์มือถือที่มีปัญหาหลายๆ รุ่น ว่าขายมาตั้งแต่ 2 – 3 ปีก่อน คาดว่าน่าจะมีคนที่ซื้อไปใช้แล้วเป็นจำนวนมาก ใครที่อยากรู้ว่าโทรศัพท์มือถือที่ถูกสั่งห้ามจำหน่ายทั้ง 280 รุ่นมีรุ่นใดบ้าง สามารถสอบถามได้ที่ กสทช. Call Center 1200 ---------------------------------------------------------------------------- กินหน่อไม้ดิบ ระวังชีวิตดับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนอย่ากินหน่อไม้ดิบ เพราะอาจได้รับอันตรายจากพิษไซยาไนด์ในหน่อไม้ตามธรรมชาติ ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หลายคนยังเข้าใจผิดว่าหน่อไม้บางสายพันธุ์สามารถกินดิบๆ ได้ ซึ่งความจริงถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะตามธรรมชาติในหน่อไม้จะมีสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ถ้าหากได้รับในปริมาณไม่มากสารก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่หากได้รับในปริมาณมากสารไซยาไนด์ก็จะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้หมดสติและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกินหน่อไม้ ต้องต้มให้สุกทุกครั้ง โดย นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร แนะนำให้ต้มหน่อไม้ทิ้งไว้ในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที เพราะจะช่วยลดสารไซยาไนด์ที่อยู่ในหน่อไม้ได้ถึงร้อยละ 90.5 เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 จากตลาดสีเขียวเมืองกรุง สู่ fair trade ชุมชนสนามชัยเขต

วันแถลงข่าวเปิดตัวมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 ที่จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 2 – 6 กันยายน 52 ที่เมืองทองธานีนั้น  ปีนี้มีชื่อคอนเซ็ปต์งานว่า “ผักพื้นบ้าน สร้างเศรษฐกิจไทย  กู้ภัยหวัด”   ในงานมีลานวัฒนธรรมที่นำเสนอ “ลานผักพื้นบ้าน  อาหารกู้โลก”  ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับองค์กรชุมชนในแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร  กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา   ซึ่งใกล้กรุงเทพฯ กว่าใครรับอาสาเป็นตัวแทนของเพื่อนๆ นำเสนอผักพื้นบ้านกว่า 130 ชนิด และเมนูจากผักพื้นบ้านมาแสดง  อย่างคับคั่ง รวมทั้งเปิดตัวกับสื่อสาธารณะทั้งในรายการทีวี และสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่างคึกคัก ชาวบ้านกลุ่มนี้ นับเป็นกลุ่มร่วมบุกเบิกเปิดตลาดสีเขียวกับเครือข่ายตลาดสีเขียว ซึ่งมีการนำสินค้าออร์แกนิคมาจำหน่ายกับผู้สนใจที่ตึกรีเจนท์ ราชดำริในทุกวันพฤหัสมาเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วตะลอนไปขายกับเครือข่ายในทุกงานที่มีโอกาส เพื่อให้เกิดการขยายตัวของการตอบรับของผู้บริโภคเรียกว่าเป็นหน่วยผลิตแนวหน้ากล้าตายที่สามารถสู้กับตลาดกระแสหลักได้ทั้งในเรื่องข้าว ผักเศรษฐกิจ และผักพื้นบ้าน  ก่อนงานมหกรรมฯ ทีมทำสื่อได้ยกโขยงกันไประดมถ่ายรูปผักและเมนูอาหารกู้โลกเพื่อนำมาผลิตเป็นการ์ดเซ็ตสวยๆ ขายราคาต้นทุนในลานผักพื้นบ้านฯ  ฉันเลยได้ติดสอยห้อยตามเขาไปดูกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคู้ยายหมี ที่อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กับเขาด้วยตอนไปถึงเป็นช่วงก่อนมื้อเที่ยงเล็กน้อย กับข้าวหลายอย่างออกมาวางเรียงรายรอช่างภาพมาถ่ายภาพ  ทำให้ฉันที่เป็นคุณพลอยเลยได้เก็บรูปมากะเขาด้วยหลายผัก หลายตำรับ  ทั้งข้าวสวยสีฟักข้าวแดงระเรื่อ ต้มหมูชะมวง  ต้มข่าอ่อนไก่บ้าน  ต้มยำไก่บ้านใส่เต่ารั้ง  ต้มกะทิสายบัวลูกมะดัน  แกงขี้เหล็กกับหอยจุ๊บไม่ใส่กะทิ  แกงขี้เหล็กใส่กะทิกับข่าอ่อน  ตอนที่ไปถึงแม่ครัวเรากำลังผัดสายบัวกับกุ้งแม่น้ำพอดี  และยังมีการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องปรุงสาธิตสดๆ การยำเต่ารั้งสูตรมังสวิรัติ และตำผลไม้ใส่มะอึก  เห็นกับข้าวจากวัตถุดิบดีๆ ฝีมือปรุงดีๆ อย่างนี้ทำเอาน้ำลายสอ กลืนลงคอถี่ๆ และอยากให้ภาระกิจการถ่ายภาพเหล่านี้เสร็จสิ้นโดยไวกันทั้งคณะ   ถ่ายภาพอาหารและผักที่เตรียมตัดมารอไว้เสร็จ ทีมงานก็เดินลุยแดดเปรี้ยงๆ ลงไปในสวนอีก 2 – 3 สวน  เพื่อเก็บภาพให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้ง  ฉันเองเดินไปได้แค่รอบๆ อาคารสำนักงาน กับสวนด้านหลัง ก็เหน็ดเหนื่อยกับแดดแผดร้อนมหาโหดพอแรง  นั่งบ่นเรื่องอากาศร้อนๆ อยู่ พี่ยุพิน คะเสนา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มบอกว่าปีนี้แล้งเหลือหลาย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวนจนไม่แน่ใจว่าปีหน้าจะมีข้าวพอกินหรือเปล่า?  จริงสินะ....ขนาดชาวบ้านที่สร้างอาหารตัวเองได้รายรอบบ้านแบบนี้ยังมีความตื่นตัวเพราะใกล้ชิดและเห็นผลพวงที่ปรากฏตามธรรมชาติ  แต่เราที่อยู่กันแบบห่างไกลจนใกล้จะเรียกว่าตัดขาดจากสภาพธรรมชาติที่แท้กับไม่รับรู้  ลืมและหลงระหว่างรอทีมช่างภาพกลับมา  ฉันเลยมานั่งคุยกับพี่นันทวัน หาญดี เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม ซึ่งควบรวมตำแหน่งผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีสมาชิก 350 ครัวเรือนใน 9 หมู่บ้าน 3 ตัวบน ของอำเภอพนมสารคาม โดยใน 350 ครอบครัวนี้มี 50 ครอบครัวที่เป็นแหล่งผลิต ข้าว ผัก ปลา หมูอินทรีย์ ในพื้นที่รวม 1,300 ไร่   ที่บ้านคู้ยายหมีที่เรามานี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มเท่านั้นด้วยกำลังผลิตประมาณนี้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่ จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้ฉันไม่แปลกใจเลยที่จะมีผลผลิตดีๆ ออกไปจำหน่ายอย่างต่อเนื่องที่ตลาดสีเขียวในกรุงเทพฯ โดยพี่ต้อย พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ช่วยประสานการวางแผนงานตลาดคนเมือง  แต่กลุ่มจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายที่แท้ที่กลุ่มอยากสร้างคือ “ตลาดท้องถิ่นของชุมชน”“เราอยากให้ทั้งคนมีและคนจนในชุมชนของเราเข้าถึงอาหารคุณภาพดีๆ ที่เราผลิตได้ในราคาที่ไม่แพง แต่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อที่คนกินจะได้หันมากินของดีๆ ของเรา  ได้รู้จัก พูดคุย สร้างความสัมพันธ์และเข้าใจอันดีต่อกัน” สั้นๆ ง่ายๆ ที่พี่นันบอกมาพี่นันยังเล่าอีกว่า มีพี่จิ๋ม หรือเภสัชกรหญิงศิริพร จิตประสิทธิ์ศิริ ที่ทำงานร่วมกันมาได้ช่วยกันผลักดันโดยนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับ นายแพทย์สมคิด วิระเทพสุภรณ์  ผอ.รพ.สนามชัยเขต  จนทำให้เกิดมีตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาลทุกวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่สำรวจพบว่ามีผู้เข้ามารับบริการจากโรงพยาบาลมากที่สุด โดยเริ่มจำหน่ายกันมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว  สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นอาหารปรุงสำเร็จ และอาหารตามสั่ง และมีเมนูเด็ดที่ขายประจำคือขนมจีน 4 สี จากข้าวเหลืองประทิวอินทรีย์ที่ยอดจำหน่ายเริ่มพุ่งจากจันทร์ละ 15 กก.เป็น 18 กก. โดยมีน้ำยา 3 รส คือน้ำยาหวาน น้ำยากะทิ และน้ำยาป่าเป็นตัวยืน  เมนูอีกอันที่ฮิตติดกระแสคือยำผักกูด ซึ่งตอนนี้กำลังขยายความคุ้นเคยของผู้บริโภคไปสู่ยำผักพื้นบ้านสมุนไพรตัวอื่นๆ อย่างยำสี่สหายและยำเต่ารั้ง แผนที่จะทำกับกลุ่มโรงพยาบาลต่อ คือโครงการเมนูสุขภาพ  ซึ่งเครือข่ายจะเตรียมจัดเมนูอาหารกลางวันอินทรีย์ดีๆ อร่อยๆ ให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีประมาณ 200 กว่าคน ให้ได้รับประทานกันในราคาประหยัด  ในทุกวันทำงานตั้งแต่จันทร์ – ศุกร์  ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มในกลางเดือนกันยายนนี้และคาดหวังว่าแผนการดีๆ อย่างนี้จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้เกิดการขยายตัวในการผลิตอาหารอินทรีย์ของกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายเพิ่มขึ้น    ยำสี่หสายเมนูรสเยี่ยม เปี่ยมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่รับประกันว่ารับประทานแล้วช่วยให้สวยตลอดเรือนร่างเพราะเป็นเมนูไร้ไขมัน จาก ผักกูด (แก้อ่อนเพลีย แก้ไข้ แก้ไอ) , ดอกอัญชัน (บำรุงดวงตา ทำให้ตาสว่าง) , พริก หอม กระเทียม (ช่วยลดโคเลสเตอรอลและแก้ไขหวัด) , คื่นฉ่าย (ช่วยสร้างภูมิต้านทาน) ดอกโสน (อุดมด้วยสารเบต้าแคโรทีน) , เห็ดนางฟ้าลวก (เสริมโปรตีนจากพืชผัก) , ไผ่ตง (ขับปัสสาวะ และเต่ารั้ง (โปรตีนและธาตุสังกะสีสูง) การเตรียมผัก ผักที่ลวกสุกได้แก่ ผักกูด และหอมแดง และเห็ดนางฟ้า ผักที่ต้มได้แก่หน่อไม้ไผ่ตง ผักกินสดได้แก่ ดอกอัญชัน โสน คื่นฉ่าย น้ำยำ : ใช้พริกขี้หนูโขลกกับกระเทียมพอแหลก ปรุงรสด้วยน้ำกระเทียมดอง เกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำตาล และมะนาว ตามชอบใจ การยำ : ใส่ทุกอย่างเท่าๆ กัน แล้วตักน้ำยำราด คลุกเคล้าให้ทั่ว โรยหน้าด้วยงาขาว งาดำ คั่วใหม่ๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 ค่าจอดรถแสนแพงที่ตลาด อ.ต.ก.?

การจอดรถนานไปหน่อย...ถ้าจอดแถวที่บ้านคงไม่เป็นไร แต่ถ้ามาจอดในสถานที่ที่มีการเรียกเก็บค่าจอด ควรตรวจสอบราคาค่าจอดให้แน่ใจเสียก่อน เผลอจอดนานไปมีสิทธิเจอค่าจอดประเภทที่ใช้จัดการคนชอบจอดรถนาน เจ็บกระเป๋าแน่คุณสุเทพ ร้องเรียนมาว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ตนเข้าไปจอดรถที่ตลาด อ.ต.ก.ตรงข้ามสวนจตุจักรตอนเข้าไปพนักงานให้บัตรจอดรถ  ตอกเวลา 11.23 น. คุณสุเทพบอกว่าไปรับประทานอาหาร ทำธุระจนถึงเวลา 17.58 น. จึงได้ขับรถออกแล้วยื่นบัตรจอดรถให้เจ้าหน้าที่เก็บบัตร“พนักงานเก็บบัตรบอกผมว่า ค่าจอดรถ 500 บาท ผมตกใจมาก อะไรจะแพงขนาดนั้น ขนาดสนามบินสุวรรณภูมิ จอดทั้งวันยังไม่ถึง 300 บาทเลย”“เขาบอกเป็นระเบียบที่นี่ ผมเหลือบไปเห็นที่ป้ายข้างป้อมของเจ้าหน้าที่เก็บบัตรก็ตกใจอีก จอด 15 นาที ฟรี , 15 นาที -  ชม. 100 บ. ,1-2 ชม. 200 บ. 2-3 ชม. 300 บ. 3-4 ชม.400 บ. 4-5 ชม. 500 บ. นี้ประเทศไทยหรือเปล่า และที่แห่งนี้ก็เป็นตลาดเพื่อเกษตรกร มาขูดรีดกับประชาชนในการเก็บค่าจอดรถ แต่ยังไงผมก็จ่าย 500 บ.ให้พนักงานเพื่อตัดปัญหา”“ผมลองโทรไปถาม ทาง ผอ.ตลาด อ.ต.ก. ว่าเก็บค่าจอดแพงเกินไป ผมจะร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เขาบอกเชิญเลย ดังนั้นผมขอร้องเรียนมา ณ ที่นี้เพื่อให้ นำข้อมูลที่ผมแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่ประสบความเดือดร้อนเช่นผม” แนวทางแก้ไขปัญหา จากรายละเอียดที่ได้แจ้งมาพบว่า คุณสุเทพใช้เวลาจอดรถนานถึง 6 ชั่วโมง 35 นาทีการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน เราได้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์พบว่าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ได้ออกประกาศเรื่องอัตราค่าบริการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ในวันธรรมดา-วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งใช้เรียกเก็บกับบุคคลทั่วไปตามนี้(1)   30 นาทีแรก ไม่คิดค่าจอด(2)   เกิน 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง          คิดค่าจอดคันละ 10 บาท(3)   เกิน 1 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 20 บาท(4)   เกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 40 บาท(5)   เกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 100 บาท(6)   เกิน 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 200 บาท(7)   เกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 400 บาท(8)   เกินกว่า 6 ชั่วโมง                              คิดค่าจอดคันละ 500 บาทกรณีบัตรหาย คิดค่าปรับใบละ 300 บาท (ไม่รวมค่าจอดรถยนต์)ประกาศดังกล่าว เป็นประกาศที่มีการแก้ไขจากประกาศฉบับเดิม ซึ่งป้ายราคาค่าจอดรถยังคงปรากฏอยู่  ณ ที่ช่องทางเก็บค่าจอดรถของตลาด อ.ต.ก.นั้นยังเป็นอัตราราคาเดิม ซึ่งมีช่วงเวลาจอดรถที่ผู้จอดรถได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่แน่ ๆ หากจอดรถนานเกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไปจะถูกเก็บค่าจอดคันละ 500 บาทเรามีหนังสือไปที่ อ.ต.ก. เพื่อสอบถามถึงโครงสร้างราคาค่าจอดรถ ได้รับคำชี้แจงจาก อ.ต.ก.ว่าประการที่หนึ่ง ตามประกาศดังกล่าว จะเห็นว่าค่าจอดรถยนต์ของตลาด อ.ต.ก.คิดราคาไม่สูงเกินกว่า 10-40 บาท หากจอดไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอสำหรับการใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 95 จอดภายในเวลานี้ประการที่สอง อ.ต.ก.จำเป็นจะต้องกำหนดราคาจอดรถยนต์ให้สูงมากหลังจากช่วงเวลานี้ เนื่องจาก อ.ต.ก.มีที่จอดรถยนต์จำกัดเพียง 580 คัน แต่มีผู้มาใช้บริการวันละ 1,500 – 2,500 คัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้มาใช้ลานจอดรถยนต์เพื่อเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่การใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และทำให้ที่จอดรถยนต์ไม่มีเพียงพอ สำหรับผู้มาใช้บริการตลาดคนอื่นๆประการที่สาม กรณีนี้ผู้ใช้บริการจอดรถยนต์นานกว่า 6 ชั่วโมง โดยอาจจะไม่ทราบว่าจะต้องเสียค่าจอดสูงหากจอดเกินกว่าหกชั่วโมง ซึ่งหากมาใช้บริการตลาด อ.ต.ก.เป็นเวลานานมากเช่นนี้ อาจติดต่อขอให้ อ.ต.ก.พิจารณาลดหย่อนเป็นกรณีๆ ต่อไปใครที่จะจอดรถนานๆ นานแบบปาเข้าไปครึ่งค่อนวันกับตลาด อ.ต.ก. ทราบแล้วเปลี่ยน...เปลี่ยนที่จอดด่วน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 เราพบอะไรในชุดชั้นในสีดำ

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวว่าในต่างประเทศมีการทดสอบเสื้อชั้นในสีดำและพบสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง และอาจสงสัยว่าเสื้อชั้นในสีดำที่ขายอยู่ในบ้านเรามีสารดังกล่าวหรือไม่ ฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างเสื้อในชั้นสีดำทั้งจากตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง* ทั้งหมด 10 ตัวอย่าง (ราคาตั้งแต่ 50 - 790 บาท ทั้งหมดผลิตในประเทศไทย ยกเว้นยูนิโคล่ รุ่นไวร์เลส ที่ผลิตจากประเทศจีน) ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แล้วส่งเข้าทดสอบในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อไขข้อข้องใจในประเด็นเหล่านี้ ชนิดของเส้นใยที่ใช้เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลากหรือไม่ มีฟอร์มาลดีไฮด์ (สารที่ใช้เพื่อป้องกันผ้าย่น หรือยับ) หรือไม่ ค่าความเป็นกรด-ด่างเกินมาตรฐานหรือไม่ สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง จากผลทดสอบในภาพรวม เสื้อชั้นในส่วนใหญ่ผลิตจากเส้นใยตามที่ได้แจ้งไว้ มีเพียงยี่ห้อ Princess ที่ระบุบนฉลากว่าเป็น “ฝ้าย 100%” แต่ทดสอบแล้วพบว่าเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ส่วนชุดชั้นในอีก 3 ยี่ห้อที่ไม่ระบุเส้นใยที่ใช้ก็เป็นโพลีเอสเตอร์ หรือโพลีเอสเตอร์ผสมฝ้าย ซึ่งเรื่องของเส้นใยนั้นต้องแล้วแต่ความชอบของผู้บริโภคแต่ละคน ใครเน้นสวมใส่สบาย ระบายอากาศดีก็เลือกที่เป็นเส้นใยจากฝ้าย แต่ถ้าใครเน้นซักง่ายแห้งเร็วก็คงจะเลือกเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สำคัญตรงที่ผู้ผลิตมีการแจ้งต่อต่อผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมาเพื่อการพิจารณานั่นเอง ------------------------------------------------------------------------------- ตลาดชุดชั้นในสตรีในบ้านเราซึ่งมีมูลค่าการตลาดไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ : ข้อมูลจากงานวิจัยปี พ.ศ. 2552 โดย ผุสดี ใจแก้วทิ  เรื่อง กลยุทธ์ธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกซื้อชุดชั้นในสตรีของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร: กรณีศึกษา บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ลิขสิทธิ์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ------------------------------------------------------------------------------- จากงานวิจัยเดียวกัน สีเสื้อชั้นในที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือสีเนื้อ (ร้อยละ 37.5) ตามด้วยสีขาว (ร้อยละ 32) สีชมพู (ร้อยละ 13.5) และสีดำ (ร้อยละ 10.5) -------------------------------------------------------------------------------   เสื้อชั้นใน Ne’s bra รุ่น 8802 ราคา 50 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.52 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Princess รุ่น 191 ราคา 79 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก Cotton 100% ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.72 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Sister hood รุ่น Sport 072 ราคา 89 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ / ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.09 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Jintana รุ่น Jina Teen JB 2850 ราคา 260 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 7.16 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Sabina รุ่น SBN Sport SBB 374 BK ราคา 440 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.44 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน POP line รุ่น WL 1799 ราคา 450 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไนลอน ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 6.10 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Wacoal รุ่น WH 2M03 T-Shrunk ราคา 550 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.95 สารก่อมะเร็งในสีย้อม 4-chloroaniline 15.35 มก./กก.     เสื้อชั้นใน Elle รุ่น LB 8502 ราคา 650 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไนลอน ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 7.16 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน UNIQLO รุ่น Wireless Bra Light ราคา 790 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก โพลีเอสเตอร์ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.85 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Triumph รุ่น Sloggi Organic Cotton ราคา 790 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 6.84 สารก่อมะเร็งในสีย้อม 4-chloroaniline 15.09 มก./กก.   ------------------------------------------------------------------------ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ชุดชั้นในสตรี มผช. 837/ 2554 กำหนดไว้ว่า ปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ ต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ค่าความเป็นกรด-ด่าง ต้องอยู่ระหว่าง 5 ถึง 7.5 สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว ต้องไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ผลการวิเคราะห์ ในการทดสอบคราวนี้เราไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์ในทั้ง 10 ตัวอย่าง และค่าความเป็นกรดด่างของเสื้อชั้นในส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ ยกเว้นวาโก้ WH 2M03 T-Shrunk ที่มีค่า pH สูงเกินเกณฑ์ไปเล็กน้อย   นอกจากนี้เรายังพบสาร 4-คลอโรแอนิลีน (4-chloroaniline) ในชุดชั้นใน 2 รุ่นได้แก่ วาโก้ WH 2M03 T-Shrunk และ ไทรอัมพ์ Sloggi Organic Cotton ในปริมาณ 15.35 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม และ 15.09 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม ตามลำดับ ปริมาณดังกล่าวถือว่าไม่เกินมาตรฐานที่ประเทศไทย หรือเกณฑ์เบื้องต้นของยุโรปกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม)   อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวเป็นหนึ่งในสารอะโรแมติกแอมีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ถ้าอ้างอิงเกณฑ์ของฉลากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของยุโรป จะต้องไม่มีสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์   ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ ซื่อสัตย์ ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “สีย้อมประเภทเอโซเป็นสีกลุ่มที่แตกตัวให้สาร Aromatic amine เมื่อย้อมติดบนผลิตภัณฑ์ ไม่ควรก่อให้เกิดสาร Aromatic amine ชนิดที่อยู่ในข่ายสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติในมนุษย์ ในปริมาณเกินกว่า 30 ppm สำหรับสาร 4-chloroaniline ที่ตรวจพบในผลิตภัณฑ์เสื้อชั้นในข้างต้น เป็นสารที่ห้ามใช้หรือไม่ควรพบตกค้างในผลิตภัณฑ์สิ่งทอเลยเนื่องจากเป็นสารอันตราย ดังนั้นจึงถือว่าผลิตภัณฑ์เสื้อชั้นในที่ตรวจพบสารดังกล่าวอยู่ในข่ายที่สามารถก่ออันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสผิวหนังโดยตรงเช่นนี้”   วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารเคมี ระบุว่า “ตามเอกสารขององค์การอนามัยโลกและกฎหมายของสหภาพยุโรปที่ออกตามกฎหมาย REACH นั้น สหภาพยุโรปจำกัดการใช้สีย้อมประเภทเอโซ (ซึ่งสาร 4-chloroaniline รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) คือห้ามใช้สีย้อมเอโซที่อาจปล่อยสารแอมีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งออกมาจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเข้าสู่ผู้ใช้ได้ แต่ถ้าเป็นเอโซที่ไม่ปล่อยสารแอมีน จะยอมให้มีในแต่ละส่วนประกอบได้ไม่เกิน 30 พีพีเอ็ม สำหรับเอโซที่ปล่อยสาร 4-chloroaniline ออกมานั้นอยู่ในรายการห้ามใช้เลย ------------------------------------------------------------------------   เรื่องจากคนเย็บชุดชั้นใน -          ปัจจุบันนี้ เสื้อชั้นในหนึ่งตัว มีชิ้นส่วนประมาณ 20 ชิ้น และมีขั้นตอนการเย็บประมาณ 50 ขั้นตอน -          ถ้าเป็นเสื้อชั้นในแบบธรรมดาๆ พนักงาน 50 คน จะสามารถเย็บได้ วันละ 2,000 ตัว แต่ปัจจุบันเริ่มมีชิ้นงานแบบหรูหรา ที่ขายปลีกตัวละ 7,000 – 8,000 บาท พนักงานกลุ่มเดิมสามารถเย็บได้เพียงวันละไม่เกิน 400 ตัว -          ชิ้นงานสีดำหรือสีเข้มอื่นๆ ค่อนข้างลำบากต่อคนทำงาน เพราะมองไม่ค่อยเห็น จึงต้องส่องไฟเพิ่มซึ่งทำให้เกิดแสงสะท้อนเข้าตา -          ก่อนหน้านี้เคยมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าพบปลายเข็มในเสื้อชั้นใน ซึ่งน่าจะเกิดจากเข็มที่หักในขั้นตอนการตัดเย็บ ในสายการผลิตจึงมีข้อกำหนดว่าจะต้องหาปลายเข็มที่หักให้เจอก่อนเสมอเมื่อเกิดกรณีที่เข็มหัก นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้พนักงานนำโลหะชิ้นเล็กๆ เช่นลวดเย็บ หรือดินสอกด เข้าไปบริเวณที่ทำงาน -          ขั้นตอนที่มีความเสี่ยง ขั้นตอนการประกอบลูกไม้/ผ้า เข้ากับฟองน้ำด้วยเครื่องพ่นกาว การขึ้นรูปผ้ากับฟองน้ำให้เป็นรูปโค้งตามขนาดคัพ ของเสื้อชั้นใน -          ครึ่งหนึ่งของราคาชุดชั้นในที่เราจ่าย คือค่าแบรนด์ -          เสื้อชั้นในที่เราเห็นนำมาลดราคาตามห้างนั้น ความจริงแล้วก็เป็นไปตามราคาขั้นต่ำที่เขากำหนดไว้แต่แรก บางครั้งการลดราคาก็เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้กับรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะผลิตออกมา หรือของค้างที่เก็บไว้ก็มีแต่จะเสื่อมราคาจึงต้องรีบขายออกไป อีกกลุ่มที่นำมาลดราคาคือสินค้าที่มีขนาดไม่ครบนั่นเอง -          ส่วนเสื้อชั้นในที่นำมาขายลดราคาให้กับพนักงงานในโรงงานนั้นอาจมาจากสินค้าตกเครื่องบิน (หรือตกเรือ) เพราะส่งไม่ทันเวลา บางครั้งเป็นสินค้ามีตำหนิ หรือสินค้าตัวอย่าง หรือสินค้าที่ไม่ผ่านคุณภาพส่งออก (เช่นมีสารก่อมะเร็ง) เป็นต้น ขอบคุณ คุณจิตรา คชเดช และคุณวิภา มัจฉาชาติ ผู้ประสานงานและผู้จัดการฝ่ายผลิตชุดชั้นในทางเลือก Try Arm ผู้ให้ข้อมูล  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 ผักสดในตลาด กับการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง

เนื่องด้วยเกิดความผิดพลาดขึ้นใน นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 136 มิถุนายน 2555 ในคอลัมน์ทดสอบ “ผักขึ้นห้าง วางใจได้แค่ไหนเรื่องสารเคมี” ซึ่งเนื้อหาในส่วนของผลวิเคราะห์ ที่มีการรายงานปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในตัวอย่างผักที่ทดสอบเป็นหน่วย มล./กก. หรือ มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ต้องใช้หน่วยเป็น มก./กก. หรือ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามที่แสดงไว้ในตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ กองบรรณาธิการต้องขออภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะเพิ่มความรอบคอบในการตรวจทานแก้ไขให้มากยิ่งขึ้น จึงเรียนขออภัยมา ณ ที่นี้   หลังจากเราพาไปสำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในผักสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตกันเมื่อฉบับที่แล้ว คราวนี้ก็มาถึงภาคต่อที่ฉลาดซื้อขอเปลี่ยนบรรยากาศพาไปตะลุยตลาดสด ลองไปดูกันสิว่าผักสดจากตลาดจะปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่?   ฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างผักที่ขายในตลาดสด 2 แห่ง คือ ตลาดห้วยขวาง และตลาดประชานิเวศน์ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าแมลง โดยผักที่เราเลือกมาทดสอบประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา (เช่นเดียวกับที่เราทดสอบผักจากห้างค้าปลีก) ลองไปดูกันสิว่าผักที่เรารับประทานกันอยู่เป็นประจำทั้ง 7 ชนิดนี้ จะปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงมากน้อยแค่ไหน “ผักบุ้ง” ปลอดภัยไร้สารตกค้าง อย่างน้อยก็มีเรื่องน่าดีใจ เมื่อผลการวิเคราะห์ที่ได้บอกกับเราว่า ตัวอย่าง ผักบุ้งจีน จากทั้ง 2 ตลาด ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งถ้าใครยังจำผลการวิเคราะห์ผักสดที่วางขายในห้างเมื่อฉบับที่แล้วได้ ตัวผักบุ้งจีนที่เก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งตัวอย่างที่เป็นตราห้างและตัวอย่างที่ได้เครื่องหมาย Q ก็ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผักสดอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่พบยาฆ่าแมลง นั่นคือ กะหล่ำปลี จากตลาดประชานิเวศน์ ส่วนตัวอย่างกะหล่ำปลีจากตลาดห้วยขวาง พบการปนเปื้อนของสาร คาร์โบฟูราน (Carbofuran) แต่ไม่เกินระดับมาตรฐาน   สารตกค้างที่พบส่วนใหญ่ไม่มีเกณฑ์ในไทย ถ้าลองดูจากผลวิเคราะห์จะเห็นว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบในตัวอย่างผักสดที่เรานำมาวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่มีในเกณฑ์ “มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ” (มกอช.) ซึ่งเท่ากับว่าไม่ควรพบการตกค้าง แต่ที่ยังพบการปนเปื้อนอยู่ก็เป็นการบอกให้รู้ถึงปัญหาของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรา ที่ยังคงมีการใช้กันเป็นจำนวนมาก แถมชนิดของสารเคมีที่ใช้กันก็มีหลากหลาย พูดได้เลยสุขภาพของคนไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง   “ผักชี” และ “พริกจินดา” ความเสี่ยงสูง ตัวอย่าง ผักชี และ พริกจินดา จากทั้ง 2 ตลาด ถือเป็นตัวอย่างผักสดที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีมากจนน่าตกใจ โดยในหนึ่งตัวอย่างพบการปนเปื้อนสารเคมี 3 – 4 ชนิด แถมสารเคมีที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับเกินมาตรฐาน ซึ่งผักซีเป็นผักที่ มกอช. ไม่ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานกำกับไว้ ดังนั้นจึงไม่ควรพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง แม้หลายคนอาจจะมองว่าผักทั้งสองชนิดถ้าคิดเป็นต่อหนึ่งมื้อเราจะรับประทานในปริมาณที่น้อยมาก แต่ผลร้ายของการใช้ยาฆ่าแมลงมันมีมากกว่าที่เราคิด ทั้งผลของการสะสมในระยะยาวที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้สารโดยตรง คุณภาพของดินและระบบนิเวศวิทยาที่จะถูกทำลายจากการใช้สารเคมี นี่ยังไม่นับรวมถึงผลเสียของเศรษฐกิจที่เราต้องขาดดุลจากการนำเข้าสารเคมี และการที่ผักของประเทศไทยถูกห้ามนำเข้าไปขายยังต่างประเทศเพราะเขาตรวจพบว่าผักของเรามีการปนเปื้อนสารเคมีเกินมาตรฐาน เป็นสารเฝ้าระวังแท้ๆ แต่ว่าเจอเพียบ สารเคมีกำจัดศัตรูที่เราตรวจพบในตัวอย่างผักสดทั้ง 14 ตัวอย่าง จากตลาดสดทั้ง 2 ตลาด ไม่ว่าจะเป็น อัลดิคาร์บ (aldicarb), คาร์โบฟูราน (carbofuran), ไดโครโตฟอส (dicrotophos), อ๊อกซามิล (oxamyl), อีพีเอ็น (EPN), เมโทมิล (methomyl) และ เมทิดาไธออน (methidathion) จัดเป็นสารเคมีที่อยู่ใน “รายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง” ซึ่งหมายถึงสารเคมีที่ต้องมีการแจ้งการนำเข้า การผลิต ส่งออก และต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง เพราะจัดเป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง ออกฤทธิ์แบบเฉียบพลัน เป็นอันตรายกับผู้ที่ได้รับสารแม้เพียงปริมาณไม่มาก ซึ่งทั้งๆ ที่เป็นสารเคมีอันตราย แม้จะไม่ได้มีการห้ามใช้แบบเด็ดขาด แต่ก็น่าจะมีการควบคุมการใช้ที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่จากผลวิเคราะห์เห็นได้ชัดเลยว่าบรรดาสารเคมีที่อยู่ในการเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เกษตรกรยังคงหาซื้อมาใช้กันเป็นจำนวนมาก เรียกว่ายังคงใช้กันเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาต้อง “แบน” เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai – PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ที่มาจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการด้านการเกษตร เกษตรกร กำลังช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐยกเลิกการนำเข้าและผลิตสารเคมีในประเทศไทย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran), เมโทมิล (methomyl), ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN) ซึ่งจากการวิเคราะห์เราพบสารทั้ง 4 ชนิดนี้ กระจายอยู่ในตัวอย่างผักสดที่เราสุ่มเก็บมาทดสอบเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่สารเหล่านี้เป็นกลุ่มเฝ้าระวังเพราะมีอันตรายมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว แต่ประเทศไทยเรากลับยังมียอดการนำเข้าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากยังไม่มีการยกเลิกการนำเข้าและการประกาศห้ามใช้ เรียกว่าสุขภาพของคนไทยก็ยังคงต้องเสี่ยงกับอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อไป ตัวอย่างประเทศที่ประกาศห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด รายชื่อสารเคมี ประเทศที่ประกาศห้าม คาร์โบฟูราน (carbofuran) สหภาพยุโรป อเมริกา เมโทมิล (methomyl) สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ ตุรกี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย (ยกเลิกบางสูตร) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อีพีเอ็น (EPN) อเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า นิวซีแลนด์ เวียดนาม อินเดีย   ทีมา: ข้อมูลพื้นฐานของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด โดย มูลนิธิชีววิถี   ผักแพง เพราะอะไร ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวคราวที่ชวนให้หลายๆ คนปวดใจ โดยเฉพาะคนที่รักสุขภาพและชื่นชอบการรับประทานผัก เมื่อข้าวของต่างๆ เดินหน้าขึ้นราคา พืชผักต่างๆ ก็ไม่ยอมตกเทรนด์ขอเกาะขบวนกลายเป็นสินค้าราคาแพงกับเขาด้วย หลายๆ คนสงสัยว่าบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรมแท้ๆ แต่ไหงผักถึงราคาแพง เหตุผลที่เราได้ยินได้ฟังมาเขาบอกว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งภัยธรรมชาติ น้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเมื่อรวมกันก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุน” แล้วรู้กันหรือว่าเปล่าอีกหนึ่งต้นทุนสำคัญที่ส่งผลต่อราคาผักที่หลายคนบ่นว่าแพงทุกวันนี้ก็คือ “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช”   ผักแพง ยาฆ่าแมลงก็มีส่วน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสารเคมีทางการเกษตรเป็นสารพิษที่ส่งผลเสียกับร่างกาย แม้มันจะเป็นตัวช่วยให้กับเกษตรกรในการป้องกันรักษาพืชผักที่ปลูกไม่ให้ถูกรบกวนจากแมลงหรือวัชพืช แต่ก็เสี่ยงกับการที่สารเคมีจะตกค้างในผัก ข้อมูลสถิติการนำเข้าวัตถุอันตราย ของสำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานเอาไว้เมื่อปี 2553 ประเทศไทยเรามีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากถึงเกือบ 120 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นเงินที่เราต้องเสียไปกว่า 18,000 ล้านบาท (รู้แล้วใช่มั้ยว่าทำไมเราถึงกินผักราคาแพง) ซึ่งถ้าลองนำตัวเลขการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาเทียบกันในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการนำเข้ามีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังเพิ่มมากขึ้น 2 – 3 เท่าตัวเลยทีเดียว (ปี 2543 สถิติการนำเข้าจะอยู่ที่แค่ประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมเท่านั้น)   ปัญหายาฆ่าแมลงในผัก ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ แม้เราจะเริ่มรู้สึกตรงกันแล้วว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรานั้นอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะมันอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยเราป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้น แต่แนวทางการแก้ไขเพื่อลดปริมาณการใช้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน เกษตรกรเองก็ยังต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกษตรกรมีกำไร (ว่ากันว่าทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรต้องจ่ายคิดได้เท่ากับ 10 – 30% ของต้นทุนทั้งหมด) ภาครัฐเองก็อาจยังมีการส่งเสริมเรื่องความเข้าใจในการใช้สารเคมีและรวมถึงแนวคิดการทำเกษตรปลอดสารแก่เกษตรกรน้อยเกินไป แถมยังไม่มีมาตรการที่ใช้คุมเข้มการขาย การโฆษณา สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับเกษตรกร แม้แต่ผู้บริโภคอย่างเราเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร เพราะทุกวันนี้เราแทบไม่ได้สนใจกันแล้วว่าผักชนิดไหนออกช่วงฤดูกาลอะไร เราเลือกกินแต่ผักชนิดเดิมๆ ตลอดทั้งปี (เช่น คะน้า ผักกาด ถั่วฝักยาว ฯลฯ) เกษตรกรเองจึงเลือกปลูกแต่ผักตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นผักแค่ไม่กี่ชนิด ลองคิดดูแล้วกันว่าผักชนิดเดิมๆ ที่มีให้เรากินตลอดเวลา จะต้องพึ่งสารเคมีมากแค่ไหนถึงปลูกให้เรากินได้ทั้งปี   ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดห้วยขวาง) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ Carbofuran น้อยกว่า 0.01 Carbofuran 0.2 Carbofuran 0.02   คะน้า   Dicrotophos 2.02 Oxamyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Oxamyl 0.01 Dicrotophos ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ถั่วฝักยาว Acephate น้อยกว่า 0.05 EPN 0.34 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Acephate 0.02 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 Methomyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 Methomyl 0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี Chlorpyrifos 0.10 EPN 1.02 Methidathion 0.06 Methomyl 0.04 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.02 Methomyl 0.3 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) พริกจินดา Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.11 Carbaryl 0.01 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดประชานิเวศน์) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ ไม่พบ - - คะน้า ไม่พบ Aldicarb น้อยกว่า 0.01 Methiocarb 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Aldicarb 0.02 Methiocarb 0.1 ถั่วฝักยาว Omethoate 0.07 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) แต่หากลองเทียบกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง มีการกำหนดเกณฑ์การตกค้างของ Omethoate ไว้ในผักหลายชนิด (แต่ไม่มีถั่วฝักยาว) ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 0.05 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี   Chlorpyrifos น้อยกว่า 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 1.13 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 0.02 พริกจินดา   Chlorpyrifos 0.07 Methidathion 0.10 Triazophos 0.05 Carbaryl 0.02 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion และ Triazopho ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 Triazopho 0.01   : เก็บตัวอย่างเมื่อ เดือนมีนาคม 2555 : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น : วิเคราะห์ผลโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 86 พริกแกงเผ็ด แน่ใจ? ว่าไม่มีของแถม

พริกแกงเผ็ด เป็นเครื่องปรุงสำคัญในอาหารไทยหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงเผ็ดต่างๆ ทอดมัน ห่อหมก ผัดพริกแกง ฯลฯ ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนเป็น กับข้าวยอดนิยม ที่ทุกคนต้องเคยรับประทาน แต่พริกแกงเผ็ดที่มาจากฝีมือโขลกเองกับมือ หาได้ยากเต็มที่ ส่วนใหญ่เรานิยมซื้อหาเอาจากตลาดใกล้บ้านหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะราคาไม่แพงและไม่เสียแรงมากด้วย แต่…คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พริกแกงฝีมือคนอื่นนั้นจะไม่มีของแถม “ไม่พึงประสงค์” ปะปนเข้ามาด้วย ฉลาดซื้อเลยส่งอาสาสมัครไปตลาดสด 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดมหานาค ตลาดบางกะปิ ตลาดเทเวศน์และตลาดคลองเตย ซื้อพริกแกงเผ็ดมาทดสอบหาของ “ไม่พึงประสงค์” 3 อย่าง ได้แก่  สารกันรา (ซาลิไซลิค แอซิด) ผงชูรส (โมโนโซเดียม กลูตาเมต) และอะฟลาท็อกซิน สารพิษตัวร้ายที่มาจากเชื้อรา โชคดีที่พบว่า พริกแกงที่เราสุ่มตัวอย่างมา ไม่พบทั้งสารกันราและผงชูรส แต่มีอยู่ 2 เจ้า ที่พบ อะฟลาท็อกซิน แม้จะมีปริมาณไม่มากเกินกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ แต่ก็ต้องขอเตือนให้ระวัง เพราะการสะสม อะฟลาท็อกซินไว้ในร่างกาย ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้าย อย่างมะเร็งตับได้เช่นกัน  พริกแกงเผ็ดพริกแกงอยู่กับสังคมไทยมานานหลายร้อยปี สืบสาวไปก็คงประมาณสมัยอยุธยา โดยมีพ่อค้าชาวตะวันตกหอบหิ้ว พริกเทศ เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ ก่อนหน้านั้นเรามีพริกไทย เป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดร้อน ส่วนพริกที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้นั้น มีถิ่นกำเนิดแท้จริงอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ แต่เราก็รับพริกเทศเข้ามาปรับแปลงเป็นอาหารไทย จนถึงชนิดที่ขาดไม่ได้กันไปเสียแล้ว สุดท้ายจึงเหลือเพียงคำว่า “พริก” เท่านั้นอาหารไทยขาดพริกไม่ได้ ทุกวันนี้ปริมาณการผลิตพริกในประเทศก็ไม่เพียงพอต้องนำเข้าจากอินโดนีเซีย พม่าและจีน ปีละมากๆ สถิติการส่งออกและการนำเข้าของกรมศุลกากรปี 2549 พบว่า การส่งออกพริกมีทั้งรูปผลสด ซอสพริก พริกแห้ง เครื่องแกงสำเร็จรูป และพริกป่น เป็นปริมาณรวม 34,653 ตัน มูลค่า 2,139 ล้านบาท สถิติส่งออกเป็นมูลค่ามาก 3 ลำดับแรก คือ พริกแกง (1,082 ล้านบาท) ซอสพริก (866 ล้านบาท) และพริกสดหรือแช่เย็น (86 ล้านบาท) แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ต้องนำเข้าพริกเป็นมูลค่าสูงถึง 693 ล้านบาทด้วยเช่นกันแกงไทยทุกชนิดใส่พริก ในน้ำพริกและเครื่องจิ้มต่างๆ ก็ใส่พริก ซึ่งไม่เพียงพริกสดเท่านั้น เรายังนิยมพริกแห้งด้วยเช่นกัน กินก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่พริกป่นนี่ หมดอร่อยกันทีเดียว แกงเผ็ด ก็เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม แน่นอนว่า ส่วนประกอบสำคัญคือ พริกแกงเผ็ด ซึ่งมีสูตรที่ไม่ยาก ตำกินเองได้ง่าย (ส่วนประกอบพริกแกงเผ็ด ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม ตะไคร้ ข่า กะปิ เกลือและผิวมะกรูด) แต่ด้วยสภาพการใช้ชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบไปทุกอย่าง ทำให้มีคนหัวใสทำพริกแกงสำเร็จรูปมาวางขายในตลาดจนกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้งาม ทุกตลาด ทุกรถเร่ขายกับข้าว ต้องมีพริกแกงสำเร็จขาย  ผู้บริโภคอย่างเราก็แค่ซื้อมาทำกับข้าวเท่านั้น ช่างสะดวกสบายจริงๆ     แต่ความสะดวก อาจทำให้เสี่ยงอันตราย เพราะไม่ใช่ผู้ผลิตทุกคนจะรับผิดชอบกับผู้บริโภค “ผมเห็นกับตาว่าเขาเทพริกจากกระสอบใส่ลงในเครื่องบด ไม่มีล้างหรือคัดเอาที่เสียๆ ออกเลย” นั่นเป็นหนึ่งในหลายเสียงที่ผู้บริโภคบอกมากับฉลาดซื้อ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ฉลาดซื้อจึงเลือกสุ่มตัวอย่างพริกแกงเผ็ดจากตลาดสดที่มีประชาชนไปจับจ่ายซื้อของจำนวนมาก 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดมหานาค ตลาดบางกะปิ ตลาดเทเวศน์และตลาดคลองเตย เพื่อทดสอบดูว่าพริกแกงเผ็ดนั้นมีอะไรที่ไม่พึงประสงค์ซ่อนอยู่หรือเปล่า 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 รักเกิดในตลาดสด : พหุวัฒนธรรมของบรรดา

“รับไหมครับ ความรักดีดี ที่ไม่มีขายอยู่ทั่วไป รับไหมครับ ตัวผมจริงใจ อยากให้คุณไปฟรีฟรี...” เมื่อเพลง “รักดีดีไม่มีขาย” ของพี่โจ๊กโซคูลดังขึ้น คอแฟนละครโทรทัศน์ก็คงจะรู้ในทันทีว่า ละครเรื่อง “รักเกิดในตลาดสด” ได้เริ่มเปิดแผงออกอากาศแล้ว โดยมีพ่อค้าขายผักจอมยียวนอย่างต๋อง และแม่ค้าขายปลาหน้าหมวยอย่างกิมลั้ง เป็นตัวละครเอกที่ต้องฝ่าด่านเจ๊กิมฮวยผู้ปากร้ายใจดี กว่าที่ “รัก” ของตัวละครทั้งคู่จะ “เกิด” และลงเอย “ในตลาดสด” กันด้วยดี แล้วเหตุไฉน ความรักดีดีจึงไม่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ได้ถูกจำลองภาพเอาไว้ให้มาเกิดกันอยู่ใน “ตลาดสด” เช่นนี้ด้วย ? หากอธิบายตามหลักทางเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น “ตลาด” เป็นพื้นที่ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ยิ่งกับสังคมไทยด้วยแล้ว ตลาดเป็นส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรมที่แยกไม่ออกจากชีวิตของคนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา   แม้เราจะเชื่อกันว่า กระบวนการทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของ “การผลิต” และ “การบริโภค” สินค้าหรือวัตถุต่างๆ เป็นหลัก แต่ถ้ากระบวนการทางเศรษฐกิจขาดซึ่งช่องทางของ “การแพร่กระจาย” ไปเสียแล้ว สินค้าหรือวัตถุต่างๆ ที่ได้รับการผลิตขึ้นมาเสียดิบดี ก็ไม่มีวันจะเข้าถึงมือของผู้บริโภคไปได้ บนพื้นฐานของวิถีการผลิตเยี่ยงนี้นี่เอง “ตลาด” ก็คือกลไกสำคัญที่เป็นข้อต่อซึ่งเชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าหากัน หรือกล่าวง่ายๆ ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักหรือชาวประมงที่หาปลามาได้ในแต่ละวัน ก็ล้วนต้องอาศัยทั้งต๋อง กิมลั้ง กิมฮวย และพ่อค้าแม่ขายทั้งหลาย มาเป็นสะพานเชื่อมต่อผลผลิตของเขาเหล่านั้นไปสู่ห้องครัวของผู้บริโภค และเมื่อตลาดได้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญของกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ “ความรัก” เท่านั้นที่จะบังเกิดขึ้นในตลาด หากแต่ถ้าเรามองภาพในระดับที่กว้างขึ้น ก็จะพบว่า สังคมไทยของเรานั้นก็น่าจะก่อรูปก่อร่างสร้างวัฒนธรรมและระบบความสัมพันธ์อันแตกต่างหลากหลายขึ้นมาจากพื้นที่ของตลาดสดด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คงไม่แตกต่างไปจากชื่อของ “ตลาดร่วมใจเกื้อ” ที่เป็นพื้นที่การใช้ชีวิตของตัวละครต่างๆ ในท้องเรื่องนั่นเอง ในตลาดสดร่วมใจเกื้อนั้น ก็เป็นภาพจำลองของสังคมไทยซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย หรือที่เรียกกันแบบกิ๊บเก๋ได้ว่าเป็น “สังคมแบบพหุวัฒนธรรม” ที่ตัวละครจะมีทั้งรักกันบ้าง แง่งอนกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็เกื้อกูลกันอยู่เป็นระยะๆ เพราะฉะนั้น ตลาดสดจึงมีตั้งแต่ตัวละครวัยรุ่นแบบต๋อง กิมลั้ง กิมแช จาตุรงค์ และกลุ่มก๊วนของต๋อง ที่ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบวัยรุ่นขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดอีเว้นท์คอนเสิร์ตของต๋องกันกลางตลาด การจัดส่งน้องกิมแชไปแข่งขันประกวดนักร้องล่าฝัน หรือแม้แต่แง่มุมเล็กๆ อย่างการโพสท่ายกนิ้วถ่ายรูปแบบวัยรุ่นผ่านมือถือไอโฟนที่เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ในขณะเดียวกัน ตลาดร่วมใจเกื้อก็ยังมีการดำเนินไปของอีกหลากหลายชีวิต เริ่มตั้งแต่บรรดาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่ ทั้งแบบไทย แบบจีน แบบแขก ไปจนถึงกระแสท้องถิ่นนิยมแบบตัวละครสาวเหนืออย่างเครือฟ้าที่อู้กำเมืองอยู่ตลอดเวลาที่มาตลาด หรืออ้ายคำมูลพ่อค้าส้มตำอีสานที่ก็เว้าลาวโลดอยู่เป็นเนืองๆ ชุมชนตลาดสดยังมีวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกหล่อเลี้ยงไว้ แบบที่เราเองก็เห็นได้จากตัวละครอย่างคนทรงเจ้าที่ “ทำเพื่อลูก” อย่างน้าจะเด็ด ที่แม้ตอนต้นจะทรงเจ้าเข้าผีหลอกลวงต้มตุ๋นชาวบ้านอยู่ทุกวี่วัน แต่ตอนหลังก็กลับใจมาใช้ศาสตร์แห่งพิธีกรรมเป็นภูมิปัญญาให้คนในตลาดยึดมั่นทำแต่ความดี และในส่วนแง่มุมเล็กๆ อื่นๆ ของละคร ตลาดสดแห่งนี้ก็ยังฉายภาพสังคมพหุวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่มีการโคจรมาพบกันระหว่างวิถีชีวิตของชนชั้นที่แตกต่าง หรือระหว่างเจ้าของตลาดสดอย่างคุณสดศรีและณดา กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าผู้เช่าแผง กลุ่มวัฒนธรรมของเพศที่สามอย่างคิตตี้กะเทยสาวที่ต้องแอบเก็บงำความลับเรื่องรสนิยมทางเพศของเธอไว้ไม่ให้บิดารับรู้ กลุ่มวัฒนธรรมของผู้พิการทางร่างกายอย่างน้อยหน่าช่างเสริมสวยที่ต่อสู้ชีวิตอย่างเข้มแข็ง และอีกหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรมที่ “ร่วมใจเกื้อ” และต่างก็มีเหตุผลในการสร้างและดำเนินชีวิตของพวกเขาในแบบที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าในด้านหนึ่ง ละครจะได้ชี้ให้เห็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่ว่า ตลาดสดทุกวันนี้ไม่ได้เป็นชุมชนที่ผูกขาดการเป็นข้อต่อของโลกแห่งการผลิตและโลกแห่งการบริโภคเอาไว้อยู่เพียงเจ้าเดียว เพราะชุมชนตลาดสดต้องอยู่ในภาวะการต่อสู้ดิ้นรนกับการเกิดขึ้นของพื้นที่ค้าขายใหม่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า ที่พยายามใช้เล่ห์กลทุกอย่างที่จะฮุบตลาดสดออกไปจากเส้นทางเศรษฐกิจของตน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นริ้วรอยแห่งการเปลี่ยนผ่านลบล้างคราบไคลของตลาดสดในแบบวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม มาสู่วิถีการผลิตแบบใหม่ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่กระแสธารแห่งความทันสมัย นับตั้งแต่การจัดรูปลักษณ์ของแผงค้าขายให้ดูดึงดูดและทันสมัยมากขึ้น การสร้างตลาดสดให้สะอาดสะอ้านไม่เป็นแหล่งเพาะหนูและเชื้อโรค การรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ขายสวมหมวกคลุมผมให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย และการผลิตวัฒนธรรมใหม่ๆ อีกมากมายเพื่อป้อนออกสู่ชุมชนตลาดสดร่วมใจเกื้อแห่งนี้ ภาพของตลาดร่วมใจเกื้อแบบนี้ก็คงไม่แตกต่างไปจากภาพรวมของสังคมไทยเท่าใดนัก เพราะเราเองก็กำลังก้าวผ่านจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม สู่สังคมที่เจริญก้าวหน้าภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สังคมไทยแบบ “ร่วมใจเกื้อ” พึงรำลึกเสมอก็คือ บนเส้นทางสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจนั้น สังคมเราอาจไม่ได้มีหน้าตาเป็นแบบมวลรวม หากแต่ฉากหลังก็ยังคงหล่อหลอมความแตกต่างหลากหลายแบบ “พหุวัฒนธรรม” เอาไว้ด้วยเช่นกัน และหากพ่อค้าแม่ขายพลพรรคของต๋องและกิมลั้งร่วมใจเกื้อกูลและสร้าง “รักให้บังเกิดในตลาดสด” ขึ้นมาได้ฉันใด กลุ่มวัฒนธรรมอันหลากหลายก็น่าที่จะสร้าง “ความแตกต่างที่ไม่แตกแยก” ให้กับสังคมไทยได้เช่นกันฉันนั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point