ฉบับที่ 250 ตลาดถนอมมิตร กับแนวคิดอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

        เทรนด์กินรักษ์โลกยังมาแรง แต่ผู้บริโภคบางคนอาจหมดแรงซะก่อน เพราะหากเดินตามตลาดสดทั่วๆ ไป การหาซื้อผักและผลไม้สดปลอดสารเคมี เนื้อหมูไม่ใส่สารเร่งเนื้อแดง หรืออาหารทะเลสดๆ ไม่มีสารโลหะหนักปนเปื้อน ที่มีมาตรฐานการผลิตปลอดภัยจริงๆ ในราคาสมเหตุสมผลนั้น คงจะเหนื่อยหน่อย             ฉลาดซื้อรู้จักรู้ใจผู้บริโภคดี ฉบับนี้จึงพามาที่ ตลาดถนอมมิตร ตลาดสดยุคใหม่ย่านวัชรพล ในกรุงเทพฯ ซึ่งที่นี่มีพ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายวัตถุดิบอาหารออร์แกนิกคุณภาพดี มีให้เลือกหลากหลาย ในราคาที่ชาวบ้านอย่างเราๆ จ่ายได้ โดยเป็นผลงานการบริหารของคุณศุภกร กิจคณากร กรรมการผู้จัดการตลาดถนอมมิตร เจ้าของตลาดที่ตั้งใจบริการให้ลูกค้าเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้สะดวก พร้อมทั้งสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็งด้วยการทำร้านค้าออร์แกนิกในตลาดถนอมมิตรมีจุดเริ่มต้นอย่างไร         จริงๆ ทางเราก็ตั้งใจมานานมากแล้วที่จะหาสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาให้บริการกับลูกค้า แต่อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ เราเป็นเจ้าของสถานที่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าที่นำมาขาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราพยายามที่จะส่งเสริมผู้ค้าที่ขายสินค้าอยู่ในตลาด โดยชี้ช่องให้เขาเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแล้วนะ ทัศนคติ มุมมองของลูกค้าที่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยมีมากขึ้นเรื่อยๆ นะ ลูกค้าอาจจะยอมจ่ายแพงกว่าสินค้าเดิมทั่วไปนิดหน่อยได้นะ เราก็ค่อยๆ รวมกลุ่มผู้ค้า แล้วก็พยายามเสาะหาผู้ค้าใหม่ที่มีสินค้าตรงตามแนวทางที่เราตั้งใจไว้ให้เข้ามาด้วย มีวิธีคัดเลือกและควบคุมคุณภาพร้านค้าในตลาดอย่างไร         ทางตลาดของเราค่อนข้างให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้ค้าที่จะเข้ามาขายสินค้าในตลาด เรามีการพูดคุยสัมภาษณ์กันก่อนว่าขายสินค้าอะไร ขายราคาเท่าไหร่ มาขายเองไหม หรือจ้างลูกจ้างมา เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่มาขายนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีราคาสมเหตุสมผล แล้วที่สำคัญก็คือเรื่องของการให้บริการที่เราค่อนข้างที่จะกำชับกับผู้ค้าว่า ไม่ใช่เอาลูกจ้างต่างด้าวมาปล่อยแล้วก็มาเก็บเงินอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ทางเราก็จะไม่ให้เข้ามาตั้งแต่แรก         เรายังเน้นเรื่องความสะอาดมากๆ ด้วย เรามีเจ้าหน้าที่หลายคนเดินตรวจตลาดอยู่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ทางตลาดก็เข้มงวดเรื่องของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นสวมหมวก ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ทำความสะอาดแผงค้า และสินค้าปรุงสำเร็จต้องมีภาชนะคลุม นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด ทำไมถึงมีแนวคิดว่าควรมีร้านออร์แกนิคในตลาดสด         เราเองก็มองเห็นปัญหาเรื่องของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาตลอด เราโตมากับการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเรื่องของยาฆ่าแมลง เรื่องการจับปลาฤดูวางไข่ อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนก็รู้แหละ แต่ว่าเราไม่มีทางเลือกไง แล้วจะให้ทำยังไง โดยเฉพาะตลาดขายปลีกนี่ยิ่งไม่มีทางเลือกเข้าไปใหญ่เลย เพราะว่าผู้ค้าเราก็จะไปรับมาจากตลาดขายส่ง ซึ่งก็จะว่ากันด้วยเรื่องของราคากับคุณภาพสินค้า แม้ภาครัฐจะพยายามรณรงค์เรื่องยาฆ่าแมลง อะไรต่อมิอะไร แล้วก็มาจับที่ตลาดค้าปลีก เพราะง่ายดี ก็มาตรวจที่ตลาดค้าปลีก เราก็บอกว่าทำไมไม่ไปจับที่ต้นทาง ก็เป็นปัญหาวังวนอยู่อย่างนี้         แล้วก็มีเทรนด์เรื่องการตื่นตัวของกลุ่มเกษตรกรด้วย ที่ต้องการปลูกสินค้าคุณภาพไว้บริโภคเองส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็มาขาย โดยจะรวมกลุ่มกันมาขายเป็นหมู่คณะ แต่ที่ชัดเจนคือ คนปลูกกับคนขายไม่เจอกัน จะมีช่องว่างตรงนี้ คือคนปลูกก็ไม่รู้จะไปขายใคร คนซื้อก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน เราก็เห็นว่าตรงนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของตลาดสดที่จะเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ให้ได้ ก็คือเป็นที่ที่ผู้ปลูกมาขายให้กับแม่ค้าภายในตลาด แล้วแม่ค้าก็ขายให้กับลูกค้าที่เขาต้องการสินค้าลักษณะนี้         แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะว่ากว่าจะปรับ กว่าจะแนะนำให้รู้จักกัน กว่าจะเข้าถึงสินค้าประเภทนี้ กว่าเกษตรกรจะมาเจอกับผู้ขายในตลาดได้ เราทำมาจนถึงทุกวันนี้ก็น่าจะเกือบ 10 ปีแล้ว ลูกค้าให้การตอบรับดีไหม         ดีครับ เรามีลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร เพราะลูกค้าที่เขาเลือกที่จะบริโภคสินค้าลักษณะนี้ เขามีความต้องการที่ชัดเจน เขาต้องศึกษามาแล้วว่าสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ เป็นอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาที่ทางตลาดเจอคือ คนมักจะเข้าใจผิดว่า สินค้าออร์แกนิกต้องแพง แต่จริงๆ แล้วถ้าเราบริโภคตามฤดูกาล แล้วก็มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ไม่ได้ผ่านมาหลายต่อ ผักออร์แกนิกไม่ได้แพงกว่าผักเคลือบสารเคมีเท่าไหร่เลย หากซื้อมาเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน ส่วนต่างตรงนี้ไม่กี่เปอร์เซนต์หรอก ในฐานะเจ้าของตลาดมองเรื่องอาหารปลอดภัยในบ้านเราอย่างไร         เรื่องอาหารปลอดภัยนี้ก็เป็นโจทย์ที่ยังต้องช่วยกันอย่างมาก เพราะว่าซัพพลายที่เข้ามาอยู่ในตลาดนั้นเป็นสัดส่วนที่แทบจะเทียบกันไม่ได้เลย ระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตผักที่เรารู้กันอยู่ กับผักคุณภาพที่มีเสนอให้ผู้บริโภค ซึ่งปัญหาตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรที่เขาปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดภัย เขาก็ต้องเจอปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา การเข้าไม่ถึงแหล่งผู้ซื้อได้โดยตรง ยิ่งเป็นของสดนี่จะรอให้ค่อยๆ หาคนมาซื้อก็ไม่ได้ แล้วบางครั้งยังออกมาพร้อมๆ กันอีก เพราะฉะนั้นผมมองว่าเรื่องการบริหารจัดการที่ดี ตรงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่         ในฐานะเจ้าของตลาด เราก็อยากให้มีสินค้าดีๆ มาขาย แต่ปัญหาก็คือ เราเองก็ยังเข้าไม่ถึงเกษตรกรกลุ่มนั้น แล้วการที่เขาจะนำสินค้ามา หรือผู้ค้าในตลาดเราจะเข้าไปซื้อของเขา การเชื่อมต่อจุดต่างๆ นี่ก็ยังขาดๆ หายๆ อยู่ ในขณะเดียวกันก็มีของที่ราคาถูก รูปลักษณ์สวย มีให้กินทุกฤดูกาล ในราคาที่ไม่แพง ก็ซ้ำเข้ามาอีก ฉะนั้นการที่จะทำให้อาหารทางเลือกที่ปลอดภัยสามารถยืนได้อย่างแข็งแรง เราต้องช่วยกัน ผู้บริโภคเองก็ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย วางแผนจัดการร้านค้าออร์แกนิกในตลาดต่อไปอย่างไร         ตอนนี้ร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในตลาดเราก็อยู่ได้มั่นคง ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือ เราจะขยายกลุ่มผู้ค้าที่ขายสินค้าออร์แกนิกภายในตลาดให้มากขึ้น เราวางแผนไว้แล้ว อย่างเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราได้ประชุมร่วมกับทางมูลนิธิชีววิถี พี่เขาก็พากลุ่มเกษตรกรที่ปลูกออร์แกนิกมาสองกลุ่มใหญ่ เราก็เชิญผู้ค้าที่ขายผักโครงการหลวง ขายผักออร์แกนิกมา เพื่อให้พวกเขาได้คุยกัน ก็ยังอยู่ในช่วงของการติดต่อสื่อสารกันอยู่ ขนาดว่าแม่ค้าอยากซื้อ คนปลูกอยากขาย ก็ยังต้องคุยกันว่ามีอะไร ราคาเท่าไหร่ เล็งกันไปเล็งกันมา ช่วงนี้ยิ่งเจอปัญหาโควิด-19 ทางตลาดก็วุ่นเรื่องฉีดวัคซีน ตรวจ ATK กันอยู่ งานนี้เลยดีเลย์ไป 2 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็มีแพลนอยู่แล้วว่าเราจะผลักดันยังไงต่อไป           ที่ผ่านมา ตลาดของเราก็ทำปุ๋ยเองจากพวกเศษอาหาร เศษซากสัตว์ พุงปลา หัวกุ้ง หรือเปลือกผลไม้ เราดึงพวกนี้ออกมาจากระบบที่จะต้องขนไปทิ้งเป็นขยะ วันหนึ่งก็ได้ประมาณตันกว่า เราเอามาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ของเรา แล้วก็แจกลูกค้า ซึ่งจริงๆ แล้วเราตั้งใจว่าจะเอาปุ๋ยนี้ให้กับเกษตรกรที่เขาทำสินค้ามาให้กับผู้ค้าเรา แต่ผู้ค้าเราก็ยังไปรับมาจากแหล่งขายส่งอยู่ ซึ่งพอวันที่เราได้เจอกับกลุ่มเกษตรกรตัวจริง เราก็บอกว่า “พี่ เรามีปุ๋ยนะ วันที่พี่เอาผักมาส่งที่นี่ พี่ขนปุ๋ยเราไปได้เลย” นี่คือไอเดียที่เราคุยกันมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้เริ่มใช้จริงจัง ซึ่งถ้าเป็นไปได้อย่างนี้ ก็จะช่วยให้ต้นทุนของเกษตรกรถูกลงด้วย อยากให้ฝากถึงตลาดอื่นๆ ที่สนใจเปิดร้านออร์แกนิกในตลาดสด         จริงๆ แล้วในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ เราเห็นชัดเจนเลยว่าความต้องการของผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นเจ้าของตลาด การเปิดร้านขายสินค้าออร์แกนิกนี้ เราก็มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้มีสินค้าทางเลือก มาให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในตลาด ยิ่งมีสินค้าประเภทนี้มากก็จะทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องอาหารปลอดภัยเข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน แต่สิ่งที่เจ้าของตลาดต้องตีโจทย์ให้แตกคือ สินค้าที่นำมาขายนั้นจะต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานจริงๆ ถึงจะดึงลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ค้าเองต้องมีความน่าเชื่อถือ ตลาดเองก็ต้องคอยตรวจสอบการซื้อขาย และต้องเข้าไปดูอยู่เรื่อยๆ ว่าผู้ค้าเอาสินค้ามาจากไหนด้วย        ถ้าหากเกิดเป็นลักษณะของการย้อมแมวขายแล้ว ลูกค้าเขาไม่ได้ด่าแม่ค้านะ เขาด่าตลาด

อ่านเพิ่มเติม >