ฉบับที่ 257 “เราทำกันเอง” ทศวรรษที่สูญหาย

        เพจ Club VI เอาโควทของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Money Chat Thailand มาเผยแพร่         “ดัชนีตรงนี้เกิดมาเมื่อเก้าปีกว่าแล้ว ถ้ายังอยู่แถวๆ นี้ก็คือ 10 ปีที่หายไป ซึ่งมันก็หายไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะที่ไม่ค่อยดีของประเทศไทย ต้องยอมรับอย่างนี้ว่าประเทศไทยแย่มากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะไปโทษใครก็ไม่ได้ เราทำกันเอง”                  มีคนเข้าไปเม้นท์กันหลากหลายเกี่ยวกับคำพูดนี้ จำนวนมากเลยพูดประมาณว่า อย่าใช้คำว่า ‘เรา’ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย มีแค่คนจำนวนหนึ่งที่ออกมาทำให้ประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้         ว่าแต่ ดร.นิเวศน์ พูดถึงอะไร         แกพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยหรือ SET INDEX ที่วนเวียนย่ำยืนอยู่กับที่มาเกือบ 10 ปี ถ้าดูของวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 SET INDEX อยู่ที่ 1,552.73 จุด ส่วนดัชนี SET 50 อยู่ที่ 950.20 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้นตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเพื่อนบ้านเดินหน้าทำนิวไฮกันตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา         แปลว่าคนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีมา 10 ปีนี่แทบไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นเลย ส่วนใครที่ลงทุนได้ไม่นาน ถ้าใจไม่นิ่งก็อาจถอดใจไปก่อนเพราะดัชนี SET 50 เต้นสามช่ากันทุกวัน ขึ้นหนึ่งลงสองอยู่แบบนี้จนน่าเหนื่อยใจ         อ้างอิงจากบีบีซีไทย ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) เดินทางมาไทยครั้งแรกปี 2557 หลังประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ตอนนั้น "เกิดความรู้สึกเชิงบวกอยู่มากในสังคม" และ "ผู้นำภาคธุรกิจหลายคนก็ให้การสนับสนุนรัฐบาล" เพราะมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไทย         แล้ววันนี้ล่ะ นักธุรกิจเหล่านั้นบอกว่า "ความรู้สึกด้านบวกเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว เหล่าผู้บริหารต่างบอกในผลสำรวจว่าพวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ"         รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันฉบับล่าสุด กลางเดือนมิถุนายน พบว่าประเทศไทยตกลงไป 2 อันดับ ผู้อำนวยการบริสบอกว่าที่น่ากังวลมากกว่าอันดับที่ลดลงของไทยคือปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่ที่ร่วงลงมาจากจุดที่ค่อนข้างดีมาถึงอันดับกลางตาราง เมื่อย้อนดู 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปีแรกที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา         เห็นไหมว่าการเก็บออม การลงทุน ความมั่นคงในชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี เกี่ยวข้องกับการเมืองมากแค่ไหน ‘เรา’ กำลังจมหายไปในทศวรรษที่สาบสูญและยังไม่รู้ว่าจะลอยพ้นน้ำได้เมื่อไหร่หากประชาธิปไตยยังง่อนแง่นแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ตลาดหุ้นไทย ผูกขาดจนสิ้นหวัง

        สำหรับสายนักลงทุนหุ้น งาน BETTER TRADE SYMPOSIUM 2021: WARP TO THE FUTURE ที่จัดไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ได้ยิน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนคุณค่า (Value Investor) ของไทยพูดว่า         “จากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากว่า 20 ปี ไม่เคยมีครั้งไหนรู้สึกสิ้นหวังกับตลาดหุ้นไทยเท่าครั้งนี้ เพราะตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหน แถมยังไม่มีหุ้นเด็ดๆ ถูกๆ น่าลงทุน” แถมแกก็หนีไปลงทุนหุ้นต่างประเทศเสียแล้ว ไม่เท่านั้น ยังชวนคนรุ่นใหม่ไปลงทุนหุ้นเมืองนอกด้วย         ฟังแล้วหลายคนสะดุ้ง ขนาดจิ้งจกทักยังลังเล นี่นักลงทุนคุณค่าอันดับต้นๆ ของไทยพูดขนาดนี้จะไม่ฟังเลยก็กระไรอยู่ จริงไหม? ข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานคำพูดของ ดร.นิเวศน์ อีกว่า ตลาดหุ้นไทยจะทนภาวะเลวร้ายต่อไปไม่ไหว เช่น คนแก่ตัวขึ้นมาก คนทำงานน้อยลง เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ในที่สุดตลาดหุ้นก็ไปต่อยาก                 พักเรื่องคนแก่ คนทำงานน้อยลง กับเศรษฐกิจแย่ๆ ไว้ก่อน แล้วใส่เครื่องหมายคำพูดที่ “ไม่มีความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการประกอบธุรกิจ ถ้าเราจะซื้อหุ้นสักบริษัทหนึ่งและถือยาวๆ แน่นอนว่าเราต้องอยากได้บริษัทที่จ่ายปันผลดีและมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำแบบนี้ได้ ตัวบริษัทก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มีความสามารถในการแข่งขัน ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา         หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ ผูกขาดหรือเกือบผูกขาด         บริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหุ้นไทยโดยมากใหญ่ได้จากวิธีหลัง ลองไปไล่ดูสิ น้ำมัน สนามบิน ขนส่ง ค้าปลีก การสื่อสาร ผูกขาดท้างงงน้านนน                 ในทางเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดคือความเลวร้ายขั้นสุด เพราะมันทำให้ผู้ที่ผูกขาดได้ค่าเช่าส่วนเกินจากเศรษฐกิจ ได้กำไรเกินพอดี ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ๆ อยู่เฉยๆ เงินก็มา เพราะไม่มีใครมาแข่งด้วย ในประเทศพัฒนาแล้วจึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านการผูกขาด             ไม่เหมือนไทย รัฐบาลกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการผูกขาด อย่างข่าวล่าสุดที่บริษัทมือถืออันดับ 2 กับ 3 จะควบรวมกัน นักวิชาการออกมาเตือนแล้วว่า เฮ้ย นี่มันผูกขาดนะ มันลดผู้เล่นในตลาดลงไปนะ สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือกและทำอะไรไม่ได้นะ เพราะมันมีแค่ 2 เจ้าให้เลือก         เหมือนรถไฟฟ้าเส้นหลัก ไม่ขึ้นเจ้านี้ ก็ไม่มีให้ขึ้น ไปนั่งรถเมล์โบราณนู่น         อย่าคิดว่ามีเงินลงทุนแล้วจะรวยได้แบบไม่แคร์สังคม เพราะถ้าสังคมมันห่วยจากรัฐที่ไม่ไยดีประชาชน แต่เอื้อนักธุรกิจ มันก็จะย้อนกลับมาทำร้ายผลตอบแทนจากการลงทุนในที่สุด         ...แล้วจะไม่สิ้นหวังได้ยังไง

อ่านเพิ่มเติม >