ฉบับที่ 206 โฆษณามั่วซั่วต้องตอบแทน (ตอนที่ 1)

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวอิศราได้ลงข่าวหนึ่งซึ่งผู้เขียนสนใจและเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ข่าวนั้นคือ “พบ 102 ผลิตภัณฑ์อาหารและยาโฆษณาเกินจริงในสื่อวิทยุชุมชน-เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม ผลิตภัณฑ์สุขภาพมากสุด 59% ‘สุภิญญา’ เผยเตรียมผุดโมเดล จว.นำร่อง ‘เพชรบุรี’ หวังจับมือท้องถิ่นแก้ปัญหา ชง รบ.บรรจุวาระชาติ กวาดล้างธุรกิจลวงผู้บริโภคจริงจัง” ข่าวดังกล่าวนั้นเป็นการจัดแถลงผลงานของสำนักงาน กสทช. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร ตามข้อตกลงความร่วมมือ ‘การสร้างเครือข่ายร้องเรียนการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์’ ระหว่างสำนักงาน กสทช. กับมหาวิทยาลัย 4 แห่ง รวมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 4 ภูมิภาค โดยทำการวิจัย (ธันวาคม 2555-กุมภาพันธ์ 2556) พบการโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางสื่อวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียมที่อวดอ้างสรรพคุณการบำบัดบรรเทาหรือป้องกันโรคตลอดจนบำรุงร่างกายทั้งสิ้น 102 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหา ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 ทุกผลิตภัณฑ์ สุดท้ายของข่าวคือ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวประมาณว่า หากรัฐบาลจะออกนโยบายประชานิยมที่ช่วยเหลือคนยากจนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ควรแสดงความจริงใจโดยมีนโยบายกวาดล้างธุรกิจเหล่านี้ และสนับสนุนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ช่วยดำเนินการด้วย มิใช่ตั้งเป้าเพียงคดีทางการเมือง เนื่องจากหลายธุรกิจมีส่วนโยงใยกับนักการเมืองท้องถิ่น”ผู้เขียนรู้สึกสะกิดใจทุกครั้งที่ย้อนไปอ่านข่าวนี้ว่า ได้พลาดการพบข่าวว่ามีหน่วยงานใดสนใจข่าวและมีการปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณสุภิญญาหรือเปล่า แต่ก็ได้ตอบตัวเองว่า ไม่น่าพลาดเพราะติดตามข่าวทำนองนี้มาตลอด อีกทั้งยังได้เห็นปรากฏการณ์ของโฆษณาตามลักษณะที่งานวิจัยข้างต้นพบนั้นตำตาอยู่ตลอดเวลา จนมีความรู้สึกว่า มันคงต้องเป็นเช่นนี้ตลอดไป ไม่มีที่สิ้นสุดแบบว่า คงต้องถอดใจในความหวังว่าจะมีการแก้ไขประเด็นปัญหานี้แล้วดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้และฉบับหน้า ผู้เขียนจะนำตัวอย่างการจัดการปัญหาสินค้าที่มีการโฆษณาตามใจบริษัทในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษมาเล่าเป็นตัวอย่างว่า มีชะตากรรมอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเริ่มต้นจากผู้บริโภคหรือองค์กรเอกชนแล้วสานต่อด้วยหน่วยงานรัฐที่ถูกกระตุ้นให้กระทำสหรัฐอเมริกาสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างสุดๆ พร้อมทั้งการบังคับใช้กฏหมายแบบ(แทบ) ไม่มีการยกเว้น ต่างจากบางประเทศที่พัฒนาแล้วได้เท่าที่เป็น(เพราะพัฒนาต่อไปไม่ไหว) โดยเรื่องราวต่อไปนี้เป็นตัวอย่างให้รู้ว่า การโฆษณาขายสินค้าแบบมั่วๆ ในสหรัฐอเมริกาทำไม่ได้นะ เพราะประเทศนี้ก็มีนักร้อง (เรียน) ระดับชาติเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคและบริโภค และศาลอเมริกันนั้นเอาจริงเสมอถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดผลประโยชน์ของผู้บริโภคหลายปีมาแล้วมีบริษัทหนึ่งขายรองเท้าที่โฆษณาว่าเป็น "รองเท้าที่ใส่แล้วเหมือนวิ่งด้วยเท้าเปล่า (Barefoot Running Shoe)" อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณเท้าและขาช่วงล่าง กระตุ้นการทำงานของประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสมดุลและความว่องไว อีกทั้งช่วยให้เท้าและลำตัวเคลื่อนไปเป็นธรรมชาติ รองเท้าที่ว่านี้ต่างจากรองเท้าอื่นเพราะออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนมีนิ้วเท้าห้านิ้วและส้นค่อนข้างบางมาก (FiveFingers shoes) นัยว่าเมื่อใส่แล้วควรรู้สึกเหมือนไม่ได้ใส่มีลูกค้าถึง 70 ล้านคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อรองเท้าประหลาดนี้ในราคาคู่ละเกือบ 100 เหรียญดอลลาห์สหรัฐ แต่สุดท้ายก็มีนักร้อง(เรียน) ชาวอเมริกันคนหนึ่งเอาเรื่องถึงศาล โดยกล่าวหาว่าบริษัททำโฆษณาแบบไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ เป็นการโฆษณามั่วซั่วเกี่ยวกับสุขภาพเท้าของประชาชน อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์สุขภาพบางคนกล่าวว่า รองเท้าประหลาดนี้อาจทำให้สุขภาพเท้าเสื่อมได้เมื่อใส่วิ่ง สุดท้ายในปี 2012 ศาลจึงตัดสินว่า บริษัทต้องจ่ายค่าปรับ 3.75 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐให้กระทรวงพาณิชย์(Federal Trade Commission) และต้องคืนเงินให้ลูกค้าที่ซื้อรองเท้าไปราวคู่ละ 20- 50 เหรียญ(คงเป็นไปตามสภาพรองเท้าที่เหลืออยู่)ในปี 2005 มีบริษัทผลิตน้ำบ้วนปากยี่ห้อหนึ่งถูก Federal Judge (น่าจะหมายถึง ศาลสูง) สั่งให้แพ้คดีที่บริษัทผลิตไหมขัดฟันฟ้องว่า โฆษณามั่วซั่วที่ไปอ้างว่า น้ำบ้วนปากที่ผลิตโดยบริษัทมีประสิทธิภาพดีเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันเพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกร่น ข่าวกล่าวว่า ผู้พิพากษาชาวอเมริกันเชื้อสายจีนตัดสินคดีพร้อมให้ความเห็นว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีการทำวิจัยก่อนกล่าวอ้างเอาเองแบบนี้ ซึ่งบริษัทขายน้ำบ้วนปากก็รับรู้จ่ายค่าปรับโดยดีเมื่อตามข่าวเกี่ยวกับน้ำบ้วนปากยี่ห้อดังกล่าวในทางลึกพบว่า เมื่อปี 1976 ซึ่งขณะนั้นบริษัทที่ผลิตน้ำบ้วนปากนี้เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ได้ถูกคำพิพากษาให้ใช้เงิน 10 ล้านเหรียญดอลลาร์ในการทำโฆษณาเผยแพร่ว่า โฆษณาเดิมที่อ้างว่า น้ำบ้วนปากยี่ห้อนี้ป้องกันหวัดและอาการเจ็บคอได้ นั้นไม่เป็นความจริงเรื่องที่สามนี้อาจเกี่ยวกับการที่เราพยายามเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่ โปรดพิจารณา เพราะมันเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟน โดยมีการอวดอ้างว่าการส่งภาพลามก(salacious pictures) ตลอดจนการเขียนหรือส่งต่อข้อความลามก(sexting) ผ่านแอปพลิเคชันหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือที่บริษัทหนึ่งเขียนขึ้นนั้นไม่มีใครสามารถเก็บไว้ได้(พูดง่ายๆ คือ ถ่อยกันได้เต็มที่ไม่ต้องกลัวว่ามีการเก็บไว้เป็นหลักฐานตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของแต่ละชาติ) เพราะมันจะถูกลบไปในเวลาสั้น ๆ ตามที่ผู้ส่งกำหนดไว้ สำหรับในบ้านเรานั้น มีการแนะนำแอปพลิเคชันนี้บนเว็บภาษาไทยโดยตอนหนึ่งกล่าวว่า “รูปที่ส่งไป หลังจากที่ผู้ใช้งานเปิดดูรูป จะมีเวลาจำกัดในการดูตามเวลาที่ถูกตั้งไว้ สามารถกด Replay ได้ 1 ครั้ง/1 วัน หลังจากนั้น รูปนั้นก็จะหายไปจากระบบตลอดกาล (แต่เราสามารถแคปเก็บไว้ได้นะครับ) อีกทั้งไม่ใช่เพียงแต่รูปที่หายไป แต่หากเราไม่ได้กดเซฟข้อความไว้ ข้อความที่เราคุยก็จะหายไปเช่นกัน” ข้อมูลจาก Wikipedia เล่าว่า แอปพลิเคชันของบริษัทที่ถูกร้องเรียนว่าหลอกลวงนี้ จัดอยู่ในโหมด Social Network ซึ่งก่อตั้งในปี 2011 โดยเริ่มแรกนั้นสื่อสารกันผ่านรูปถ่ายและคลิปสั้นๆ เป็นหลัก แต่ภายหลังเริ่มเพิ่มลูกเล่นเข้ามาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถ ส่งรูปถ่าย, คลิปสั้น, ข้อความ จนไปถึง Video callดังที่มีผู้อธิบายถึงการใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นภาษาไทยแล้วว่า ทั้งรูปและข้อความนั้นสามารถแคปเก็บไว้ได้ ผู้ใช้จึงควรคำนึงตลอดเวลาว่า ปรกติแล้วบนแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์นั้นมีปุ่ม PrtScn ไว้ให้เราเก็บสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนจอภาพอยู่แล้ว(ในกรณีที่สั่ง save ไม่ได้) สำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งผู้เขียนไม่ชำนาญนั้นก็คงมีปุ่มวิเศษลักษณะนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามที่ได้ปฏิบัติการในการส่งภาพหรือข้อเขียนที่สังคมไม่นิยมในที่แจ้ง (แต่อาจแอบดูในที่ลับ) ด้วยแอปพลิเคชันนี้แล้ว ก็ควรทำใจสบายๆ เกี่ยวกับผลกรรมที่อาจตามมาได้ในอนาคตตัวอย่างต่อมาคือ คำว่า Naked หรือเปลือยนั้น ได้ถูกนำไปรวมกับคำว่า น้ำผลไม้ แล้วจดทะเบียนการค้าเป็นสินค้าซึ่งจริงแล้วคือ น้ำผลไม้(คั้นสดหรือปั่น) ในชั้น premium grade สำหรับผู้ดื่มคอสูง เพราะเมื่อสำรวจราคาในอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า ขวด(1 ออนซ์) ราคาราว 5-25 เหรียญดอลลาร์ สินค้านี้เริ่มผลิตในปี 1983 เป็นน้ำผลไม้บรรจุขวดแช่เย็นไม่มีวัตถุกันเสีย ในลักษณะอุตสาหกรรมในครอบครัวเพื่อขายแก่ขานู้ด(เปลือย) ที่ชอบไปอาบแดดที่ชายหาด ซานตา-มอนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจขานู้ดที่มีอันจะกินทั้งหลาย จึงขายดีมากจนในปี 2001 บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่หนึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อสินค้าแล้วทำการ rebranding ขนานใหญ่เพื่อสร้างภาพ จนในปี 2012 ก็เจอดีโดนฟ้องเนื่องจากโฆษณาเกินจริง (ตามที่ระบุใน Wikipedia) ว่า "The product was 100% Juice, was "All Natural, contained Nothing Artificial, and was Non-GMO"  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีการเติมน้ำตาล และน้ำตาลเทียม ใยอาหาร กลิ่นรสสังเคราะห์ วิตามินสังเคราะห์ ซึ่งสุดท้ายบริษัทผู้ผลิตได้ยอมลบข้อความอวดอ้างเกินจริงออกจากฉลากอาหาร สำหรับในประเทศไทยนั้นสินค้าลักษณะดังกล่าวพร้อมโฆษณาคล้ายกัน ยังมีขายในอินเทอร์เน็ต เข้าใจว่าเพื่อสนองนโยบาย “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า” ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง (โปรดติดตามตอนต่อไปในเดือนหน้าครับ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลของสัญญาต่างตอบแทนที่ควรรู้

การทำสัญญาที่อยู่ใกล้ตัวทุกท่านอย่างหนึ่ง ก็คือสัญญาต่างตอบแทน ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสัญญาต่างตอบแทนคืออะไร มันคือสัญญาที่มีลักษณะที่คู่สัญญาต่างมีหนี้ต้องชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ในสัญญาเดียวกัน เช่น สัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งผู้ขายนอกจากมีหน้าที่ในฐานะลูกหนี้ต้องส่งมอบบ้านที่พร้อมอยู่อาศัยแก่ผู้ซื้อ ก็มีสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ที่จะได้รับเงินค่าขายบ้านจากผู้ซื้อด้วย นอกจากนี้ บรรดาสัญญาเช่าหอพัก สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ก็ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนทั้งสิ้น เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทำให้เกิดหนี้ที่ต้องตอบแทนกันทั้งสองฝ่าย ต่างจากสัญญาทั่วไป ที่เกิดหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ผลของสัญญาต่างตอบแทน คือ ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ได้เช่นเดียวกัน เว้นแต่หนี้ของฝ่ายแรกยังไม่ถึงกำหนด ซึ่งเพื่อให้เข้าใจง่าย ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาหนึ่ง ที่ผู้บริโภคไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรของโครงการแห่งหนึ่ง โดยผู้ประกอบการโฆษณาว่า โครงการจะมีการทำคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อม แต่เมื่อมีการติดต่อให้ผู้บริโภคไปรับโอน ปรากฎว่าผู้ประกอบการยังไม่ก่อสร้างสาธารณูปโภคตามที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภครายนี้จึงขอเลิกสัญญาและให้คืนเงิน ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่คืน จึงต้องมาฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งคดีนี้ ศาลได้ตัดสินไว้ว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน และผลคือเมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และจำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่ง รอบทะเลสาบและทะเลสาบซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้านซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกตัวอย่าง เป็นเรื่องของสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ ซึ่งศาลตีความว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้เช่าสามารถใช้งานได้ ดังนั้น ระหว่างที่ปรับปรุงโรงภาพยนตร์ ผู้เช่าจึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระค่าเช่าได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2535สัญญาเช่าโรงภาพยนตร์มีข้อความว่า ผู้เช่าสัญญาว่าจะจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่เช่าให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย และบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เสมอด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองหากมีการชำรุดบกพร่อง แตกหักเสียหายด้วยประการใด ๆ ผู้เช่าจะต้องรีบแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบทันที และดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมด้วย ค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองทั้งสิ้นนั้น หมายถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาตามปกติและเป็นการซ่อมแซมเล็กน้อยเท่านั้นผู้เช่าจึงจะมีหน้าที่ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า แต่อาคารโรงภาพยนตร์ทรุด และพื้นคอนกรีตแตกร้าวเสียหายมากหลายแห่ง เป็นความเสียหายร้ายแรงจนอาจเกิดการพังทลายเป็นอันตรายแก่ผู้เข้าชมภาพยนตร์ได้จึงเป็นเรื่องมีความจำเป็นและสมควรที่จะต้องซ่อมแซมใหญ่อย่างรีบด่วนเพื่อรักษาโรงภาพยนตร์ให้สามารถใช้การต่อไปไม่ให้พังทลายไปเสียก่อนมิใช่กรณีต้องซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 547หาใช่หน้าที่ของผู้เช่าไม่ โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าเดือนกันยายน 2525 แต่โจทก์รับค่าเช่าจากจำเลยโดยไม่ได้ทวงถามค่าเช่าสำหรับเดือนดังกล่าวจนล่วงเลยมาถึงเดือนกันยายน 2526 การรับเงินค่าเช่าโจทก์ได้ออกใบรับเงินให้จำเลยทุกครั้ง กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 ที่ว่า ในกรณีชำระดอกเบี้ยหรือชำระหนี้อย่างอื่นอันมีกำหนดชำระเป็นระยะเวลานั้นถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จรับเงินให้เพื่อระยะหนึ่งแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อน ๆ นั้นด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมาหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายนี้ได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยได้ชำระค่าเช่าเดือนกันยายน 2525 ให้โจทก์แล้ว โจทก์ปิดและบูรณะปรับปรุงโรงภาพยนตร์ที่ให้เช่า จำเลยผู้เช่าจึงไม่อาจใช้ฉายภาพยนตร์ได้ตามสิทธิการเช่าของตน สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระค่าเช่าในระหว่างที่โรงภาพยนตร์ต้องปิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369

อ่านเพิ่มเติม >