ฉบับที่ 180 ตามรักคืนใจ : ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงา กิ่งก้านมันไม่ได้สูงสักเท่าไร

ว่ากันว่า หากคนกลุ่มใดขึ้นมามีอำนาจเป็นชนชั้นนำ และมีพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสังคมแห่งยุคสมัยด้วยแล้ว พื้นที่ของละครโทรทัศน์จะกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทบทวนความเป็นอยู่และความเป็นไปของคนกลุ่มนี้ ก่อนที่จะฉายเป็นภาพผ่านหน้าจอทีวีช่วงไพรม์ไทม์     ด้วยคำอธิบายข้างต้นนี้ ก็ไม่ต่างจากภาพที่ส่องให้เราได้สำรวจตรวจสอบความเป็นจริงในชีวิตของกลุ่มทุนที่เป็นคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งผ่านละครโทรทัศน์เรื่อง “ตามรักคืนใจ” นั่นเอง     โดยโครงของเรื่องละคร ได้ฉายภาพชีวิตของ “นายวรรณ วรรณพาณิชย์” ประธานธนาคารอันดับต้นๆ ของประเทศ แม้นายวรรณจะประสบความสำเร็จในการสั่งสมทุนเศรษฐกิจจนมีฐานะมั่งคั่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป แต่กับชีวิตครอบครัวแล้ว นายวรรณ (หรืออาจจะอนุมานได้ถึงคนชั้นนำทางเศรษฐกิจคนอื่นๆ ในโลกจริง) กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง     นอกจากนายวรรณแล้ว ละครยังได้จำลองภาพตัวละครอีกสองเจนเนอเรชั่นถัดมาคือ รุ่นลูกและรุ่นหลานของท่านประธานธนาคารใหญ่ด้วยเช่นกัน     ในขณะที่นายวรรณมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นสร้างสมทุนเศรษฐกิจ เพราะคิดว่าความมั่นคงทางการเงินและธุรกิจเท่านั้นคือคำตอบของชีวิต แต่ทว่า ผลิตผลของความมุ่งมั่นดังกล่าวกลับกลายเป็นบุตรสาวอย่าง “รัศมี” ที่ไม่เพียงถูกเลี้ยงมาอยู่ในกรอบ แต่กลับเติบโตขึ้นด้วยจิตใจที่แห้งแล้งต่อคนรอบข้างและโลกรอบตัว     เมื่อยังสาว รัศมีได้พบรักกับ “ราม” และความรักของทั้งคู่ก็สุกงอมอย่างรวดเร็วท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนในตระกูลวรรณพาณิชย์ เพราะด้านหนึ่งนายวรรณก็เดียดฉันท์รามที่เป็นแค่หนุ่มชาวสวนธรรมดา ซึ่งฐานะไม่อาจเทียบเคียงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับลูกสาวของนายธนาคารใหญ่อย่างเขาได้เลย     แม้ในช่วงแรกที่รัศมีตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปอยู่กับราม เธอจะมีความสุขกับชีวิตคู่ และมีลูกสาวด้วยกันคือ “นารา” หรือ “หนูนา” แต่เพราะจริงๆ แล้ว เธอก็ไม่คุ้นเคยกับชีวิตลำบากแบบชาวสวน รัศมีจึงทิ้งรามและบ้านสวน โดยพรากหนูนาไปจากราม และบอกกับลูกสาวว่าบิดาของเธอได้ตายจากไปแล้ว     ภาพที่ถูกฉายออกมาในตอนต้นเรื่องดังกล่าว ก็คือการบอกผู้ชมเป็นนัยๆ ว่า เมื่อกลุ่มทุนเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา คนกลุ่มนี้ได้ละเลยและถีบตัวเองออกจากสถาบันที่เคยเป็นแรงเกาะเกี่ยวบางอย่างในชีวิตเอาไว้ด้วยเช่นกัน     หากสถาบันครอบครัวคือหน่วยเล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุดในสังคม คนกลุ่มดังกล่าวก็ได้ผลักให้สถาบันครอบครัวเปราะบางและอ่อนแอลง จนเข้าอยู่ในสภาวะความเสี่ยง เหมือนกับที่นายวรรณเองก็ได้สารภาพกับรัศมีในตอนท้ายเรื่องว่า “พ่อผิดเองที่เคยเห็นว่าการหาเงินทองมาให้ มันสำคัญกว่าการให้ความรักความเอาใจใส่ แล้วพอแกผิดพลาดไป พ่อก็ทำร้ายแก เพราะไม่อยากจะเห็นแกทำผิดพลาด แล้วต้องตกนรกทั้งเป็นอีก...”     เช่นเดียวกัน หากชุมชนชนบทคือรากที่ยึดเหนี่ยวสังคมไทยโดยรวมเอาไว้ วิถีชีวิตที่เติบโตมาในเมืองใหญ่ และยึดการสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสรณะ คนกลุ่มเดียวกันนี้ก็ได้ทอดทิ้งชนบทและชุมชนหมู่บ้าน ไม่ต่างจากอารมณ์ความรู้สึกที่นายวรรณตั้งแง่กับลูกเขยชาวสวนอย่างราม หรือรัศมีที่ลึกๆ ก็รังเกียจสถานะความเป็นภรรยาชาวไร่ชาวสวนที่จารึกอยู่ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอ     ดังนั้น เมื่อมาถึงรุ่นของหลานสาวนายวรรณ หนูนาผู้ที่เติบโตมาโดยไร้รากยึดเกี่ยว จึงมีสภาพไม่ต่างจากชีวิตที่อยู่ “ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงา กิ่งก้านมันไม่ได้สูงสักเท่าไร” หนูนาจึงเกิดความโหยหาและปรารถนาที่จะ “ตามรักคืนใจ” และตามรากที่หายไปให้กลับคืนสู่ชีวิตที่แห้งแล้งของเธอ     หลังจากที่หนูนารู้ความจริงว่าบิดายังไม่ตาย เธอก็ต้องการทราบเหตุผลว่าทำไมพ่อจึงทอดทิ้งตนและแม่ไป หนูนาจึงเดินทางมาที่ไร่บัวขาวของ “สีหนาท” หรือ “นายสิงห์” พระเอกของเรื่อง และสมัครเป็นคนงานของเขา เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกับรามซึ่งทำงานอยู่ในไร่เดียวกัน     แต่ทว่า เมื่อเติบโตมาในสังคมไร้รากหรือเป็น “ใต้ร่มไม้ที่ไร้ร่มเงา” หนูนาจึงเผชิญบททดสอบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต้องพยายามปรับตัวเข้ากับบรรยากาศวิถีการผลิตแบบเกษตรซึ่งไม่คุ้นเคยมาก่อน การได้เรียนรู้ชีวิตของบรรดาคนงานและความขัดแย้งอันต่างไปในสังคมชนบทที่เธอไม่เคยพบมาในสังคมเมืองใหญ่ ตลอดจนการพยายามประสานรอยร้าวในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ และคุณตา     แก้วที่มีรอยร้าว หรือสังคมที่เคยไร้ร่มเงา ใช่ว่าจะเยียวยาไม่ได้ เมื่อผ่านบททดสอบมากมาย คนชั้นกลางอย่างหนูนาที่เติบโตมาในบรรยากาศการมุ่งมั่นสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายชีวิต ก็สามารถ “ตามรักคืนใจ” และกอบกู้สายสัมพันธ์ที่เคยเปราะบางและขาดสะบั้นไปแล้วจากชีวิตและจิตใจของตัวละครต่างๆ ในท้องเรื่องได้เกือบทั้งหมด     ในขณะที่หนูนาได้ตกหลุมรักกับนายสิงห์ ได้บิดาที่พลัดพรากจากกันกลับคืนมา และได้รักษาบาดแผลความไม่เข้าใจระหว่างแม่กับคุณตา รัศมีเองก็ได้เรียนรู้ที่เห็นคุณค่าของครอบครัว และรู้จักที่จะไปคิดและยืนอยู่ในที่ที่คนอื่นเขาคิดและยืนอยู่กัน     และแม้แต่ตัวละครอย่างนายวรรณ ก็ได้ทบทวนบทเรียนความผิดพลาด และได้คำตอบในมุมมองใหม่ของชีวิตว่า “ความมั่นคงภายนอก” อย่างทรัพย์สินศฤงคารมากมาย อาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต เมื่อเทียบกับ “ความมั่นคงทางใจ” ซึ่งหมายถึงความรักและความเอาใจใส่ระหว่างกันและกันของคนในครอบครัวหรือของเพื่อนมนุษย์มากกว่า     ภายใต้สังคมที่กำลังไร้รากไร้กิ่งไร้ก้านและไร้ร่มเงาแบบนี้ ถ้าเรายังพอเหลือตัวเลือกอยู่บ้างระหว่าง “ความมั่นคงภายนอก” กับ “ความมั่นคงทางใจ” ภาพที่ละครฉายให้เราเห็นผ่านคนสามเจนเนอเรชั่นของตระกูลวรรณพาณิชย์ก็คงถามพวกเราเช่นกันว่า วันนี้เราจะเลือกสร้างความมั่นคงแบบใด เพื่อที่อนุชนรุ่นหลังๆ จะได้ไม่ต้องคอยวิ่ง “ตามรัก” กลับมา “คืนใจ” ในวันหน้ากันอีก                            

อ่านเพิ่มเติม >