ฉบับที่ 149 กระแสต่างแดน

คุณบอกดาว! มาตรการใหม่จากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรของออสเตรเลียจะทำให้คุณแอบอิจฉา เพราะต่อไปนี้จะมีการ “ติดดาว” ให้กับอาหารสำเร็จรูปเพื่อบอกให้รู้ว่าอาหารนั้นดีต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด Health Star Rating ที่ว่านี้มีตั้งแต่ ครึ่ง ถึง 5 ดาว โดย 5 ดาวหมายถึงอาหารที่มีประโยชน์สุดๆ จะกี่ดาวไม่ว่า แต่เขากำหนดให้ผู้ผลิตนำเสนอดาวอย่างชัดเจนบนฉลากด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน กว่าจะตกลงกันได้ รัฐบาล ผู้ผลิต องค์กรด้านสุขภาพ และองค์กรผู้บริโภค ก็ใช้เวลาหลายปี ไหนจะมีการล็อบบี้จากอุตสาหกรรมอาหารเข้าแทรกเป็นระยะ   ด้านผู้ผลิตก็มีความหงุดหงิดอยู่บ้างเป็นธรรมดา เขาบอกว่าต้องใช้เงินถึง 200 ล้านบาท ในการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแพคเก็จ และยังบอกด้วยว่ายังไม่เห็นหลักฐานจากงานวิจัยที่บอกว่าการติดดาวนี้จะแก้ปัญหาโรคอ้วนได้ ออสเตรเลีย ซึ่งประชากร 10 ล้านคน (จากทั้งหมด 23 ล้านคน) อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน ตั้งเป้าจะลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรังและโรคอ้วนได้ด้วยวิธี “ติดดาว” ซึ่งถือเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ขั้นแรกเขาให้เป็นความสมัครใจของผู้ผลิต แต่ถ้าสองปีผ่านไปแล้วคนสมัครใจยังมีน้อยมาก ก็จะเปลี่ยนเป็นแบบบังคับกันล่ะครับผม   การศึกษาดีเริ่มที่บ้าน ที่เมืองจีนนั้นคุณจะไม่มีสิทธิเลือกโรงเรียนถ้าคุณต้องการให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล เพราะกฎหมายกำหนดให้คุณส่งลูกเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเท่านั้น แต่โรงเรียนดีๆ ที่สามารถการันตีอนาคตเด็กได้กลับมีน้อยมาก (คุ้นๆนะ) เรียกว่าถ้าใครมีบ้านอยู่ในเขตเดียวกับโรงเรียนดังก็เหมือนถูกหวยเลยทีเดียว ถึงไม่มีก็ไม่ยาก ถ้าคุณมีเงิน ในข่าวเขายกตัวอย่างของครอบครัวหนึ่งที่ตัดสินใจขายบ้านหลังใหญ่ ในย่านที่มีสภาพแวดล้อมยอดเยี่ยม เพื่อนำเงินมาซื้ออพาร์ตเมนต์ในเขตเดียวกับโรงเรียนที่หมายตาไว้ให้ลูก ซึ่งจะเข้าโรงเรียนในอีก 3 ปีข้างหน้า (กฎของเมืองเซี่ยงไฮ้กำหนดให้เด็กต้องมีชื่อเป็นผู้อาศัยในเขตเดียวกับโรงเรียนอย่างน้อย 3 ปี) แต่คุณต้องทำใจ เพราะที่อยู่อาศัยในเขตเดียวกับโรงเรียนดังนั้นจะมีราคาแพงกว่าที่อยู่นอกเขตเป็นเท่าตัว และยังไม่นับว่าสภาพก็ค่อนข้างจะย่ำแย่ด้วย อพาร์ตเมนท์ขนาด 28 ตารางเมตร ที่ครอบครัวนี้ตัดสินใจซื้อนั้น แม้จะอายุ 30 ปีแล้ว ก็ยังขายได้ราคาประมาณ 250,000 บาท (50,000 หยวน) ต่อตารางเมตร ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน พ่อแม่เหล่าก็ยินดีจ่ายโดยไม่ลังเล เพราะช้าเดี๋ยวหมดแล้วลูกจะอดเรียน ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจีนมีคอนโดสร้างใหม่ที่ไม่มีใครไปซื้ออยู่ ... คงเป็นเพราะไม่มาสร้างในย่านที่มีโรงเรียนดีๆ นี่เอง     คนรุ่นใหม่เชิดใส่บัตรเครดิต เรากำลังพูดถึงคนอเมริกันในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวที่กลัวการเป็นหนี้ ข้อมูลจาก FICO (คล้ายๆ บริษัทเครดิตบูโรที่บ้านเรา) ระบุว่า คนอายุระหว่าง 18 – 29 นิยมไม่มีบัตรเครดิตกันมากขึ้น ข้อมูลปี 2012 ระบุว่ามีถึงร้อยละ 16 และหนี้บัตรเครดิตของกลุ่มอายุนี้ก็ลดลงด้วย เมื่อ 5 ปีก่อนเป็นหนี้เฉลี่ยคนละ 3,073 เหรียญ (95,500 บาท) ปีที่แล้วลดลงมาเหลือ 2,087 เหรียญ (65,000 บาท) ข่าวบอกว่าสาเหตุหนึ่งคือ พ.ร.บ.บัตรเครดิต ที่ประกาศใช้เมื่อสี่ปีที่แล้วนั้นทำให้คนอายุต่ำกว่า 21 ปีขอมีบัตรเครดิตได้ยากขึ้นกว่าเดิม และภาวะฝืดเคืองยังทำให้หนุ่มสาวอเมริกันเลือกที่จะไม่ซื้อรถเพราะต้องการเก็บเงินสำรองไว้ยามจำเป็น และไม่ใช้บัตรเครดิตเพราะกลัวว่าจะเมื่อมีปัญหาไม่สามารถชำระเงินได้ ก็จะถูกบันทึกประวัติ ทำให้ไม่สามารถขอกู้เงินในยามฉุกเฉิน และคนกลุ่มนี้ยังนิยมใช้การจ่ายเงินผ่านมือถือหรือการหักบัญชีธนาคารกันมากขึ้นด้วย แต่เดี๋ยวก่อน ... แม้จะไม่มีหนี้บัตรเครดิต แต่หนุ่มสาวเหล่านี้กลับมีหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษามากขึ้น จากหนี้เฉลี่ยคนละ 6,500 เหรียญ (202,000 บาท) เมื่อ 5 ปีก่อน เพิ่มเป็น 11,500 เหรียญ (358,000 บาท) ในปี 2012   กีวีนิยมกินกล้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติของนิวซีแลนด์ระบุว่า ผลไม้ที่ชาวกีวีนิยมซื้อหามารับประทานมากที่สุดคือกล้วยหอม สถิติระบุว่า ประชากรหนึ่งคนจะบริโภคกล้วยหอมปีละ 18 กิโลกรัม (หรือสัปดาห์ละ 2 ลูก) และแต่ละครัวเรือนจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องกล้วยๆ ไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 บาท แซงหน้าแอปเปิ้ลและส้ม ซึ่งมียอดซื้ออยู่ที่ 1,500 และ 650 บาท ต่อครัวเรือนต่อปีไปขาดลอย อาจเป็นเพราะผู้คนรู้สึกว่ากล้วยเป็นอาหารที่คุ้มค่าเงินที่สุด ในขณะที่ราคาอาหารในนิวซีแลนด์พากันขึ้นราคาเป็นสามเท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กล้วยหอมมีราคาเพิ่มจากเดิมเพียงสองเท่าเท่านั้น (จาก 34 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 68 บาท) แถมกล้วยหอมยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ถูกใจคนที่ต้องการอิ่มท้องแต่ไม่ต้องเสียเงินมากอีกด้วย แต่ขอบอกว่านิวซีแลนด์ไม่ได้ปลูกกล้วยหอมเองเลย เขาต้องพึ่งพากล้วยหอมนำเข้าจากเอกวาดอร์และฟิลิปปินส์ ความต้องการเยอะขนาดนี้ เกษตรกรไทยสนใจจะปลูกไปขายเขาบ้างไหม?     ระวังผู้ติดตาม แม้ปัจจุบันการมีผู้ติดตาม หรือ Follower ในเว็บโซเชียลทั้งหลายจะไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนาจะมีให้มากไว้ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากคนอเมริกันจะถูกรัฐบาลแอบฟังเป็นประจำแล้ว (ตามที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนออกมาแฉ) แล้ว พวกเขายังเป็นเป้าหมายการติดตามของบรรดาเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอเนีย พบว่ามีคน “อยากรู้ว่าคุณอยากรู้อะไร” เพื่อนำไปประเมินหรือตีความว่าสุขภาพร่างกายจิตใจของคุณปกติดีหรือไม่ นักวิจัยทดลองใส่คำค้นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ อย่าง “โรคซึมเศร้า” หรือ “มะเร็ง” ลงไปในเว็บไซต์ด้านสุขภาพ เช่น เว็บของสถาบันสุขภาพ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ WebMD และ Weight Watcher แล้วใช้ซอฟต์แวร์ฟรี DoNotTrackMe และ Ghostery ตรวจจับว่าบุคคลที่สาม (Third Party) ในเว็บไซต์ที่เข้าไปมีใครบ้าง แล้วใช้ซอฟท์แวร์อีกตัวหนึ่งตรวจหาว่ามีการส่งต่อข้อมูลจากเว็บนั้นไปยัง Third Party ด้วยหรือไม่ ผลคือทุกเว็บที่สำรวจต่างก็มี “บุคคลที่สาม” และมีอยู่ 13 จากทั้งหมด 20 เว็บที่คอยติดตามข้อมูลผู้ใช้ สำคัญที่สุดคือมี 7 เว็บจาก 20 เว็บที่ส่งต่อข้อมูลการค้นหาของคุณออกไปให้คนอื่น ทั้งนี้ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า เว็บไซต์ต่างๆ ยังสามารถทำอย่างนี้ได้ก็เพราะกฎหมายของอเมริกายังไม่ชัดเจนเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นั่นเอง นักวิจัยเตือนว่า การถูกเปิดเผยว่าเรากำลังวิตกกับอาการเจ็บป่วยอะไรนั้นไม่ได้แค่ทำให้เราอับอาย แต่มันหมายถึงเราอาจถูกปฏิเสธโอกาสในการได้งานทำด้วย //

อ่านเพิ่มเติม >