ฉบับที่ 261 หากลูกหนี้โดนข่มขู่ทวงหนี้ แจ้งความได้

        คุณชัดเจนเป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด ถือคติ “ติดหนี้ ต้องจ่าย” แต่บังเอิญเกิดเหตุสภาพคล่องทางการเงินสะดุดอย่างสุดวิสัย จนชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ต่อมาเขาโดนโทรศัพท์ตามขมขู่ทวงหนี้แบบหยาบคายมากๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         เรื่องของเรื่องคือ คุณชัดเจนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบิ๊กไบท์มาในราคาประมาณ 300,000 บาท จากบริษัทลิซซิ่งแห่งหนึ่งต้องส่งค่างวดทั้งหมด 60 งวด งวดละ 5000 กว่าบาท ซึ่งเขาก็ส่งตรงกำหนดตลอด จนกระทั่งเขามีปัญหาทางการเงินอย่างกะทันหัน หมุนเงินไม่ทัน เขาจึงผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อมา 2 งวด หลังจากนั้นพนักงานของบริษัทรับจ้างทวงหนี้ สมมติชื่อบริษัท เอ็ม ก็โทรศัพท์ติดต่อมาทวงค่างวดรถที่เขายังค้างส่งอยู่ พนักงานคนนี้พูดจาหยาบคาย ข่มขู่ให้เขาเร่งจ่ายหนี้แบบไม่ไว้หน้ากันเลย แม้เขาจะเตือนอีกฝ่ายว่าการพูดทวงหนี้แบบนี้ผิดกฎหมายนะ แต่พนักงานก็ยังคงท้าทายและด่าเขาไม่หยุด เขาจึงอยากรู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพวกที่ทวงหนี้ผิดกฎหมายแบบนี้ได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหา         ตาม “กฎหมายทวงหนี้” ที่ออกมาคุ้มครองลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ระบุไว้ ห้ามดุด่า พูดจาหยาบคาย หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3 ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดตามกฎหมายอาญา ถือเป็นการประจานหรือหมิ่นประมาท มีโทษขั้นต่ำจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        ในกรณีนี้ ได้แนะนำให้คุณชัดเจนไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ เพราะการกระทำของพนักงานจากบริษัททวงหนี้คนนี้เข้าข่ายการทวงหนี้ผิดกฎหมาย โดยให้อัดเสียงสนทนาในโทรศัพท์ที่พนักงานพูดจาข่มขู่ทวงหนี้หยาบคายเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน แล้วในวันที่ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองเป็นหนี้ เพราะตำรวจจะไม่รับเรื่อง แต่ให้บอกว่ามาแจ้งความในเรื่องทวงหนี้ผิดกฎหมาย         หากคุณชัดเจนไม่สะดวกจะไปแจ้งความ ก็ยังสามารถร้องเรียนไปได้ที่คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ที่มีทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อแจ้งการกระทำความผิดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ติดหนี้เพราะเสาไฟฟ้า

เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เสาไฟฟ้าเป็นเหตุหนึ่งของการเกิดหนี้ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องไปเสาะหาเหตุผลให้ปวดขมองครับ เพราะผู้ร้องรายนี้ดันขับรถไปชนเสาไฟฟ้าของกรมทางหลวงเข้าเลยต้องถูกเรียกค่าเสียหายไปตามระเบียบ แต่ที่หนักหนาสาหัสคือยอดหนี้เป็นแสนนี่สิจะรับผิดชอบอย่างไรดีเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 ที่คุณพิรมไปพลาดพลั้งขับรถไปชนเสาไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแขวงการทางระยอง กรมทางหลวง ซึ่งได้ประเมินเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 123,579 บาท แขวงการทางระยองทำหนังสือแจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายมา 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เรื่อยมาจนถึงปี 2552 เห็นหนังสือทวงหนี้ เห็นค่าเสียหายแต่ละครั้งหัวใจแทบหล่น แต่ก็จนปัญญาอยากเป็นพลเมืองดีก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาชดใช้ได้ นอกจากประกันภัยชั้นหนึ่งที่ได้ทำให้กับรถไว้แต่บริษัทประกันก็ไม่ยอมจ่ายสักทีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาคุณพิรมจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมทางหลวง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 437 ถึงแม้ว่าคดีจะขาดอายุความภายใน 1 ปีตามมาตรา 448 แต่หากยังไม่มีการทำเรื่องจากแขวงการทางระยองเสนอขออนุมัติฟ้องไปยังอธิบดีกรมทางหลวงก็ถือว่ากรมทางหลวงในฐานะผู้เสียหายโดยตรงยังไม่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดก็เป็นได้ จึงไม่ควรประมาทในจุดนี้ แต่เมื่อรถของคุณพิรมทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด ซึ่งสัญญาตามหน้ากรมธรรม์ที่จะรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจำนวน 2.5 ล้านบาทต่อครั้ง ดังนั้นคุณพิรม จึงควรส่งสำเนาจดหมายของแขวงการทางระยองที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนแสนกว่าบาทนี้ให้ประกันภัยจ่ายค่าสินไหมแทนตามสัญญาประกันภัย หากมีการประวิงเวลา ไม่จ่ายค่าสินไหมคุณพิรมสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทรสายด่วน 1186หากคุณพิรมถูกกรมทางหลวงฟ้องร้องในชั้นศาล ให้เรียกบริษัทประกันภัยเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีทันทีเพื่อให้ไปจ่ายค่าเสียหายแทนในชั้นศาลต่อไปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และในมาตรา 437 บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแก่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >