ฉบับที่ 247 จากแอชตัน อโศกถึงหมิงตี้ จากผังเมืองถึงชีวิตของเรา

ถ้าให้สรุปประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผังเมืองเพียงประโยคเดียวก็คงได้ประมาณนี้...        ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’         การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่สักแห่งไปจนถึงผังเมืองที่กำหนดว่าพื้นที่ต่างๆ จะถูกใช้สอยอย่างไรนั้นใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แต่ด้วยข้อกฎหมายอันซับซ้อน เรื่องราวเชิงเทคนิคที่ยากเข้าใจ บวกกับชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวอะไรด้วยยิ่งทำให้มองไม่เห็นความเชื่อมโยงที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเรา         กรณีแอชตัน อโศกถึงการระเบิดของโรงงานหมิงตี้เป็นตัวอย่างที่ดีประโยคสรุปปัญหาข้างต้น ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทั้งผู้บริโภคและชุมชนรอบข้าง กรณีแอชตัน อโศกเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ขณะที่ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 เกี่ยวพันกับกรณีโรงงานหมิงตี้ เหมือนเป็นคนละเรื่อง กฎหมายคนละฉบับ แต่...ไม่ใช่เลย จากแอชตัน อโศก...         กล่าวถึงกรณีแอชตัน อโศกอย่างรวบรัดได้ว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตรต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และยาวต่อเนื่องไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกรณีเกิดเพลิงไหม้หรือภัยพิบัติ แต่แอชตัน อโศกไม่มีพื้นที่นี้ตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองจึงวินิจฉัยให้เพิกถอนใบอนุญาต         ทั้งนี้ทางฝ่ายแอชตัน อโศก ชี้แจงว่าเดิมทีที่ดินดังกล่าวมีพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเจ้าของเดิมถูกเวนคืนที่ดินโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อสร้างรถไฟฟ้าจนกลายเป็นที่ดินตาบอด เจ้าของเดิมจึงฟ้องร้องและศาลฎีกาตัดสินให้ทำทางจำเป็นกว้าง 6.4 เมตร ผ่านที่ดินเวนคืนสำหรับออกสู่ถนนอโศก         เจ้าของโครงการแอชตัน อโศกจึงซื้อที่ดินผืนนี้โดยทำสัญญากับ รฟม. เพื่อสร้างทางเข้าออกโครงการให้มีความกว้างตามที่กฎหมายกำหนดโดยจ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม. แต่ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับวัตถุประสงค์การเวนคืนและไม่ใช่การใช้เพื่อกิจการรถไฟฟ้าจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งที่ดินของ รฟม. ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแอชตัน อโศก จึงทำให้การก่อสร้างโครงการไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คือไม่มีทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ นั่นเอง         “กรณีของแอชตันมีประเด็นที่น่าสนใจคือการเวนคืน” ภูดิท โทณผลิน ทนายความและกรรมการสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็น “ศาลจึงวินิจฉัยว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เพราะการที่หน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเวนคืนที่ดินและไปให้เอกชนเช่า ถึงแม้จะเป็นเงินเข้ารัฐก็ตาม แต่ศาลมองว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. เพราะไม่อย่างนั้นจะเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐทำแบบนี้โดยอ้างว่าเงินเข้ารัฐ แต่จะต้องให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุดด้วย จึงน่าสนใจว่าการที่เขาเอาที่ดิน รฟม. มารวมเพื่อขอใบอนุญาตผมเห็นด้วยในทางกฎหมายว่ามันไม่ตรงตามเจตนารมณ์และจะทำให้เกิดบรรทัดฐานที่หน่วยงานรัฐไปดำเนินการแบบนี้”         ภูดิทแนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายว่า ถ้ากรณีแอสตัน อโศกถูกห้ามใช้อาคารและต้องดำเนินการรื้อถอนโดยไม่สามารถขอใบอนุญาตได้แล้ว ผู้เสียหายสามารถฟ้องเพื่อเรียกร้องเงินที่ได้ชำระไปคืนกับทางเจ้าของโครงการพร้อมดอกเบี้ย 2 ส่วน ส่วนแรกคือดอกเบี้ยผิดนัดจากการผิดสัญญา ส่วนที่ 2 คือดอกเบี้ยธนาคารที่ผู้บริโภคกู้มา ตึกสูง ผังเมือง และเสียงที่ไม่ถูกได้ยิน         ยังมี พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 อีกฉบับที่เข้ามาพัวพันกับคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน กลุ่มคัดค้านร่างผังเมืองรวม กทม. อดีตเครือข่ายคนคอนโดเล่าว่า ปัญหาคอนโดมิเนียมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจนถึงปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับนิติบุคคล ประเด็นที่เขาพบมาตลอดการทำงาน 2 ทศวรรษคือ         “พระราชบัญญัติอาคารชุดปี 2522 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่มีการแก้ไขฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 ไม่ได้มีบทลงโทษกรณีที่ผู้จัดการนิติบุคคลไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง รวมทั้งเจ้าของโครงการมีการประกันทรัพย์ต่ำมากหรือไม่มีเลย ช่วงนั้นเครือข่ายคนคอนโดก็พยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติอาคารชุดเป็นฉบับที่ 4 ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษแล้วและให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการได้ สมัยก่อนที่บอกว่าไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่อาจจะมองว่าไม่มีการเขียนไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุดให้เจ้าหน้าที่ทำอะไร เขียนไว้แค่ให้เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนเท่านั้น”         ในช่วงหลังปฐมพงศ์ตระหนักว่าการกระจุกตัวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผังเมือง ทำให้เขาต้องหันมาสนใจเรื่องนี้ด้วย         “ถ้าเราโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ ผังเมืองจะพยายามเพิ่มความหนาแน่นของประชากร เขากำหนดเป็นนโยบายระดับจังหวัดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่ามันไปเพิ่มความหนาแน่นตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนที่จะเป็นฉบับที่ 4 นี้ จำนวนประชากรต่อพื้นที่มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการสร้างรถไฟฟ้าแล้วดันไปวางว่าพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าอนุญาตให้สร้างตึกสูงได้เกินกว่าที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารหรือผังเมืองกำหนดไว้เพราะฉะนั้นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็สร้างกัน”          และแม้ว่าจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อนำมาพิจารณา แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุให้ต้องนำความเห็นของประชาชนมาดำเนินการแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐยังคงดำเนินการไปตามที่ตนเห็นชอบอยู่ดี โดยทางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่กรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยอาคารสูง ซึ่งเวลานี้ก็ถือว่ามีมากเกินความจำเป็นแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การกระทบกระทั่งระหว่างคนข้างล่างกับคนข้างบน การแย่งกันใช้สาธารณูปโภค เป็นต้น แต่ควรใช้โครงข่ายรถไฟฟ้าให้เป็นประโยชน์ในการขนคนเข้ามาในเมืองเพื่อลดความแออัด         ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี สถาปนิกและตัวแทนชุมชนย่านศาลาแดงจากการสร้างอาคารผิดกฎหมาย เล่าจากประสบการณ์ของตนว่า         “เจ้าของโครงการไม่ได้รู้ลึกเรื่องกฎต่างๆ เขาก็โยนมาให้ผู้รู้เป็นคนศึกษาซึ่งก็คือสถาปนิก พอปฏิบัติจริงๆ เราต้องไปปรึกษากับพี่ใหญ่ซึ่งก็คือกรมโยธาธิการและผังเมือง เราก็ไปปรึกษาตามโยธาเขตขึ้นอยู่กับว่าอาคารนั้นๆ ขออนุญาตที่เขตหรือที่ กทม. ผมเรียกพวกนี้ว่าเป็นลูกพี่และเราก็ให้ความเคารพพวกนี้มาตลอดเพราะเราเข้าใจว่าสิ่งที่เขาตีความชี้ช่องบอกเรามาปฏิบัติได้ ถูกกฎหมาย สถาปนิกทำให้เกิดพื้นที่ขายให้เขาได้มากเท่าไหร่ คุณก็ได้ประโยชน์มากเท่านั้น สิ่งสำคัญคือจรรยาบรรณในวิชาชีพ ก็เจ้าหน้าที่บอกว่าทำได้ ขออนุญาตก็ผ่าน แล้วผิดตรงไหน”        ต้นตอสาเหตุปัญหาที่สำคัญ​คือ​ การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กทม.เกือบทั้งหมด ทั้งเรื่องการตรวจแบบ​ อนุมัติตีความตัดสินข้อบัญญัติ​ กฏหมาย​ กฏระทรวงต่างๆ​ การตรวจสอบทั้งระหว่างการก่อสร้าง​ ตั้งแต่เริ่มจนถึงสร้างเสร็จ​ และตรวจสอบเมื่อสร้างเสร็จ​ส่งมอบ​ เปิดใช้งาน​ ทำให้เกิดช่องว่างที่ไม่มีใครจะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น​ จึงเห็นว่าควรต้องแยกอำนาจในขั้นตอนต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการประชุมรับฟังความเห็นจากชุมชน​ประชาชนที่มีการตรวจสอบผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) และต้องเพิ่มการตรวจสอบ​ การมีส่วนร่วม​ จากภาคประชาชน​  และตัวแทนหน่วยงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง​ ทั้งจากสภาสถาปนิกและวิศวกรรม​ เข้าร่วมรับฟัง​ แสดงความเห็น​ และตรวจสอบได้​ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนถึงการเปิดใช้อาคาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส   ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย​ ที่ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆมาตั้งแต่ต้น กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์          นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเมื่อดูข้อกำหนดผังเมืองกรุงเทพฯ พบว่าไม่ได้มีการกำหนดโซนอาคารสูงในกรุงเทพฯ เอาไว้ ทำให้มีการก่อสร้างอาคารสูงผิดกฎหมายเกิดขึ้นจำนวนมาก        “พื้นที่พาณิชย์ในกรุงเทพฯ ถูกป้ายเป็นสีแดงทั้งหมด เพราะพยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เจริญ แล้วค่อยสร้างสาธารณูปโภค แต่ก่อนเขาบอกว่าเมืองต้องเจริญก่อน สาธารณูปโภคถึงจะมา ซึ่งมันไม่ใช่ หลักการคือเมื่อใดที่สาธารณูปโภคไปถึง เมืองจะเจริญเอง แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น อาศัยว่าถ้าคุณลงทุนในกรุงเทพฯ ได้คุณจะเป็นอภิมหาเศรษฐี เพราะในกรุงเทพฯ สาธารณูปโภคคุณไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องทำถนนเข้าโครงการหมู่บ้าน ไม่ต้องทำอาคารจอดรถ ทำแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ก็ได้เพราะกฎหมายล่าสุดที่แก้บอกว่าอาคารจอดรถให้ 25 เปอร์เซ็นต์ของอาคาร เขาบอกว่าเป็นการบังคับให้คนที่ซื้อคอนโดฯ ไม่มีรถ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”         เพราะผังเมืองเป็นนโยบายสาธารณะที่กำหนดการพัฒนาเชิงพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ โดยก่อนจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมืองในปี 2562 การทำผังเมืองเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่เน้นเชิงเทคนิค มุ่งประมาณการในอนาคต และนำมาวางแผนการพัฒนาพื้นที่ เป็นเหตุให้ประชาชนมักไม่ให้ความสนใจผังเมือง จนในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา การวางผังเมืองเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจึงมีการรวมกลุ่มของประชาชนติดตามการทำผังเมือง         “กฎหมายผังเมืองบ้านเราไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่คือไม่ค่อยมีผลในเชิงการบังคับใช้สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการบูรณะนิเวศ กล่าว “แต่อาจจะมีผลในการบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป แต่ในต่างประเทศกฎหมายผังเมืองค่อนข้างมีความศักดิ์สิทธิ์และเฉียบขาดในการบังคับใช้เพราะเขาจะให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ การพัฒนาเมือง การขยายตัวของเมือง แต่สำหรับประเทศไทยมันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพูดอย่างไรแล้วผังเมืองก็พร้อมจะเปลี่ยนตาม”ถึงหมิงตี้...         ไม่เพียงกฎหมายผังเมืองเท่านั้น ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีกฎหมายหลายฉบับและหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งยิ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์ กรณีโรงงานหมิงตี้ที่กิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ระเบิดเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้         เพ็ญโฉมอธิบายว่าผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการประกาศประมาณปี 2536 ขณะที่โรงงานหมิงตี้สร้างปี 2534 โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ต่อมาเมื่อผังเมืองประกาศใช้พื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงหมายถึงเป็นเขตพาณิชยกรรมและสีส้มคือเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน เท่ากับว่าผังเมืองประกาศทับที่ตั้งของโรงงาน ตามกระบวนการทางจังหวัดต้องจ่ายค่าชดใช้และทำการย้ายโรงงานไปยังพื้นที่สีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรม แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ         เมื่อมีโรงงานบวกกับเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ชุมชนจึงขยายตัวหนาแน่นขึ้น มีการสร้างบ้านจัดสรรเข้าไปชิดโรงงาน ซึ่งเพ็ญโฉมเห็นว่าเป็นความผิดร่วมกันระหว่างจังหวัดสมุทรปราการกับสำนักโยธาธิการและผังเมืองที่ไม่บังคับใช้กฎหมายผังเมืองระหว่างชุมชนกับโรงงานที่ต้องมี Buffer Zone         “แล้วการออกใบอนุญาตให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างหมู่บ้านจัดสรรก็เป็นความผิดของหน่วยงานใดก็แล้วแต่ที่อนุญาตให้มีการสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับโรงงานโดยไม่พิจารณาในแง่ความปลอดภัยจึงคิดว่ามันเป็นความผิดร่วมกันของผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ เริ่มแรกที่หมิงตี้ประกอบกิจการมีกำลังการผลิตที่ 24,000 ตัน แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมาออกใบอนุญาติให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 36,000 ตันในปี 2562 เท่ากับคุณรู้อยู่แล้วว่าผังเมืองไม่ใช่สีม่วงและชุมชนก็หนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิตให้เขาโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ถือว่าไม่ถูกต้อง นั่นหมายความว่าทางโรงงานจะต้องมีการเก็บสารเคมีอันตรายไว้ภายในโรงงานเยอะมากซึ่งอันตรายต่อชุมชนที่อยู่รายล้อม”         การบังคับใช้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่พอ กฎหมายผังเมืองปัจจุบันปี 2562 ยังขัดหลักการที่ควรจะเป็น กล่าวคือไม่แยกเรื่องทางเทคนิคกับนโยบายออกจากกัน เพ็ญโฉมอธิบายว่า เพราะโดยปกติการประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ไม่ควรผูกรวมกับกฎหมายผังเมือง เนื่องจากประชาชนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ แต่เมื่อนำนโยบายมาอยู่ภายใต้กฎหมายผังเมืองย่อมเท่ากับว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่กำลังทำผิดกฎหมายผังเมือง         จากแอชตัน อโศกถึงโรงงานหมิงตี้ จากอาคารแห่งหนึ่งถึงผังเมือง ผูกรัดกันอย่างวุ่นวายด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ หน่วยงานรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคดังที่แสดงให้เห็นแล้ว ทั้งหมดนี้ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว หากจะแก้ไขคงต้องมุ่งตัดรากเหง้าของปัญหา...         ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 บอกว่าไม่เอาห้องที่โดนบล็อกวิว

        คุณแสงเดือนเข้าชมโครงการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท ซึ่งตัวอาคารอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้ามาก เดินจากคอนโดไปสถานีเพียงแค่ 150 เมตร เป็นโครงการที่ตึกบางโซนสร้างเสร็จแล้วและมีผู้คนจับจองค่อนข้างมาก เมื่อสอบถามรายละเอียดจากพนักงานขาย โดยคุณแสงเดือนต้องการห้องชุดแบบหนึ่งห้องนอน ที่มีทัศนียภาพที่เปิดโล่ง (ไม่โดนบล็อกวิว) คือเมื่อมองจากห้องออกไปแล้วไม่มีอาคารหรือตึกสูงมาบดบังสายตา ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักที่เธอต้องการ         พนักงานแนะนำห้องในตึกโซนซีให้เธอ เมื่อเธอขอไปชมห้องเพื่อให้แน่ใจว่าได้อย่างที่แจ้งพนักงานไป ทางพนักงานปฏิเสธบอกว่า แม้อาคารโซนซีเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบไม่เปิดให้เข้าชมแต่ห้องที่แนะนำไม่ถูกบล็อกวิวแน่นอนเพราะอยู่ชั้น 10 ซึ่งรอบด้านอาคารมีตึกพาณิชย์ซึ่งสูงไม่เกินสี่ชั้น อย่างไรก็ตาม คุณแสงเดือนก็ขอให้พนักงานช่วยถ่ายรูปมาให้ดูได้ไหม ซึ่งพนักงานก็ปฏิเสธอ้างเรื่องที่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้         ด้วยทำเลที่ดีและราคาที่น่าสนใจอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการพอดี เธอจึงตัดสินใจซื้อสิทธิการจองห้องจากเจ้าของสิทธิเดิม และทำเรื่องราวสินเชื่อต่างๆ จนผ่าน และได้กรรมสิทธิในห้องชุดดังกล่าวที่เธอเลือกไว้ตามคำแนะนำของพนักงานขาย         แต่เมื่อได้เข้าตรวจดูห้องชุด กลับพบว่า ไม่เป็นตามที่ตั้งใจ เมื่อมองจากห้องก็เจออาคารพาณิชย์บดบังทัศนียภาพที่วาดหวังไว้ จึงแจ้งให้ทางโครงการฯ รับผิดชอบแก้ไขเรื่องให้เป็นตามวัตถุประสงค์ของเธอ ทางโครงการฯ ปฏิเสธอ้างว่า เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิในห้องชุดแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามเพื่อความสบายใจของผู้ร้องทางโครงการฯ ยินดีช่วยเหลือด้วยการติดต่อหาคนมาซื้อห้องชุดดังกล่าวให้         คุณแสงเดือนจึงทำหนังสือขอยกเลิกสัญญา และแจ้งร้องทุกข์กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต่อมา ทาง สคบ.แจ้งว่า ขอยุติเรื่องของเธอ เพราะไม่เข้าข่ายว่าคุณแสงเดือนเป็นผู้บริโภค ด้วยเหตุว่าห้องชุดดังกล่าวคุณแสงเดือนจะปล่อยเช่าให้กับชาวต่างชาติ เธอจึงนำเรื่องไปฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเอง         ต่อมาทางศาลเห็นว่าเธอฟ้องร้องแบบไม่มีทนายความ จึงให้เธอหาทนายมาว่าความเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ เธอจึงปรึกษาขอให้ทางศุนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        โดยหลักของประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 158 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคูกรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น ในส่วนทางคดียังอยู่ระหว่างพิจารณา

อ่านเพิ่มเติม >